ในชั่วโมงนี้ หันไปทางไหนก็คงจะไม่มีใครไม่เคยเต้นรับบท TikTok Creator หรือร้องเพลงฮิตใน TikTok Challenge ที่สุดแสนจะติดหูไปทั้งวัน

แต่แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้มีเพียงแค่คอนเทนต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นนี้ยังโดดเด่นด้านการศึกษาที่เติบโตขึ้นมาเกือบ 400 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 1 ปี หรือจริง ๆ สามารถพูดได้ว่า คอนเทนต์การศึกษาบนแพลตฟอร์มนี้ คือ ‘การเรียนรู้คู่ความสนุก’ แบบที่เราไม่รู้สึกว่ากำลังเรียนอยู่

เป็นโอกาสดีครบรอบ 2 ปีของ #TikTokUni ที่เราจะมาพูดคุยกับ กานจิ-สิริประภา วีระไชยสิงห์ Campaign and Content Operations Lead จาก TikTok แบบหมดเปลือก ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้บน TikTok ที่เสพง่าย แปลกใหม่ และน่าจับตาว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้สมัยใหม่นี้จะมาเปลี่ยนแปลงวงการการศึกษาหรือบุคคลธรรมดาได้อย่างไร

ถึงแม้บทความนี้จะเล่าเรื่องราวทั้งหมดไม่จบในวิดีโอสั้นเหมือนบนแพลตฟอร์ม แต่หลังจากจบบทความนี้ เวลาบน TikTok ของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

TikTok เติบโต

TikTok เริ่มเข้ามาในประเทศไทยช่วงปี 2018 ด้วยลักษณะเนื้อหาที่กระชับและเป็นวิดีโอสั้น จึงดึงดูดความสนใจได้อยู่หมัด แค่กดดู ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาได้เลยทันที จึงไม่ใช่แพลตฟอร์มแค่ของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งอย่างเดียว แต่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในผู้ใช้งานทุก ๆ วัย 

“ที่ลักษณะคอนเทนต์กว้างขึ้น เพราะว่าเครื่องมือของเราง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ ไม่ยุ่งยาก ถ่ายเสร็จแล้วสามารถลงได้เลย กลายเป็น 1 คอนเทนต์” 

โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา เราต้องอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนต่างมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ การพัฒนาตนเอง แต่ไม่รู้จะไปไหน ไม่ว่าหันไปทางไหนเราจะเห็นน้อง ๆ มัธยมเต้นกันอย่างสนุกสนาน เหมือนกับที่คุณลุงคุณป้ามาแชร์เทคนิคการปลูกต้นไม้ใหม่ ๆ ในบ้านอย่างเพลิดเพลิน

เราจะเห็นคอนเทนต์หลากหลายประเภท ตั้งแต่การร้องเล่นเต้นรำ ขายของ ละครสั้น พากย์เสียง แต่งหน้า พากิน หรือแม้กระทั่งคอนเทนต์ในเชิงการศึกษา อย่างภาษา วิทยาศาสตร์ และความรู้รอบตัว

“เวลาคนนึกถึงคอนเทนต์ใน TikTok เชิงความรู้จะนึกถึงอะไร นึกถึงสอนภาษา บทสนทนาในชีวิตประจำวัน ภาษาเกาหลีที่แปลจากซีนละคร”

ปีที่ผ่านมาคอนเทนต์เชิงการศึกษาโตขึ้น 385 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก เป็นตัวเลขที่บอกนัยยะได้ว่า การเรียนรู้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้คนไปแล้ว

การเรียนรู้ที่สอดไส้มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี้เอง ที่ทำให้การได้ท่องไปแพลตฟอร์มนี้น่าเพลิดเพลินและกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ในตัวเรา

เมื่อเทียบกับปี 2021 แล้ว ผู้คนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มมากขึ้นถึง 71 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 52 นาทีต่อคนต่อวัน ระบบนิเวศของ TikTok กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มการเติบโตของคอนเทนต์เชิงการศึกษา 3 ส่วน

ส่วนแรก ความกระชับ (Conciseness) หากผู้ใช้อยากเรียนรู้เรื่องเศษส่วน ก็ดูคอนเทนต์เรื่องเศษส่วนเลย หรือว่ามีปัญหาภาษาอังกฤษ สั่ง Starbucks ยังไง ต้องเข้าเรื่องการสั่งเป็นภาษาอังกฤษเลย นี่คือความกระชับของคอนเทนต์ที่หาที่ไหนไม่ได้มาก่อน

ส่วนที่สอง ความสร้างสรรค์ (Creativity) คือความสร้างสรรค์ในการถ่ายทอด และความครีเอทีฟของคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มที่ทำให้เราทึ่ง พร้อมทั้งเครื่องมือตัดต่อที่ทุกคนใช้งานได้ง่าย ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้การเล่าเรื่องไม่ธรรมดาอีกต่อไปด้วย Effects, Stickers หรือการ Duet และ Stitch ที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับบทเรียนนั้น ๆ ได้เพิ่มขึ้นไปอีก

ส่วนสุดท้าย ความบันเทิง (Entertainment) ทุก ๆ คอนเทนต์ ไม่ว่าจะ Foodtainment หรือ Shoppertainment ต่างมีความเป็น ‘-tainment’ อยู่ในนั้น เพราะการเรียนรู้อยู่คู่ความสนุกได้จริง ๆ ซึ่งเป็นจุดเด่นและดีเอ็นเอสำคัญของคอนเทนต์เชิงความรู้บนแพลตฟอร์มนี้

TikTok Culture

เราอยู่ในยุคสมัยที่เทรนด์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการแต่งหน้า แต่งตัว เพลงฮิต หรือการกินราเม็ง ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจาก TikTok ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้มาจากชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็น ‘วัฒนธรรม TikTok’

วัฒนธรรมที่ทุกคนสามารถเป็นตัวเอง จุดประกายความคิด และนำความสุขสนุกมาให้กับคนอื่น ๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนมาจากภายในองค์กรโดยตรง

บทสนทนาแรกทุกเช้าในออฟฟิศของ TikTok อาจจะไม่ใช่ ‘กินข้าวมาหรือยัง’ แต่เป็น ‘เล่นไวรัลอันนี้หรือยัง’

“สิ่งสำคัญคือ เราก็อยากพัฒนาให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาตัวเองเข้าไปเป็นผู้ใช้คนหนึ่ง เวลาเจอกัน เราจะเห็นทีมงานถ่ายไวรัลเหมือนกันกับทุกคนนี่แหละค่ะ” กานจิหัวเราะ

เธอเล่าต่อว่า กว่าจะออกมาเป็น 1 แคมเปญต้องประกอบด้วย Creativity, Entertainment และ Innovation กลายเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึง และสร้างผลกระทบเชิงบวกกับผู้ใช้หรือคนในสังคม ซึ่งสิ่งนี้เป็น Vision และ Mission ของคนที่นี่

เมื่อสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาเป็นวัฒนธรรมเชิงบวก เราจึงได้เห็นคอนเทนต์เชิงการศึกษาที่ไม่ได้มีเพียงคุณครูมาสอน แต่ทุก ๆ คนมาเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์ และเป็นตัวเองได้โดยไม่มีใครมาตัดสิน เพราะใจความสำคัญคือการส่งต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับคอมมูนิตี้ และเมื่อส่งต่อไปเรื่อย ๆ ก็กลายเป็นการสร้าง Know-how บางอย่างให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว

“มี TikTok Creator เป็นคุณน้ากวาดถนนของ กทม. เขาจะบอกวันนี้เขากวาดพื้นที่ตรงนี้ เล่าอย่างแฮปปี้ในสิ่งที่เขาทำงาน เช่น ‘ทุกคน รู้ไหมว่าตัวการที่ทำให้ขยะตันคืออะไร’ หรือ ‘ป้าอยู่หน้างานเจอเหตุการณ์แบบนี้’

“กลายเป็นว่าเราเจออะไรแบบนี้จากคนที่รู้จริง คนที่มีประสบการณ์แล้วมาเล่าต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็ไม่เคยรู้มาก่อนเหมือนกัน”

หรือแม้แต่การ ‘สวัสดีวันจันทร์’ ในยุคนี้ ก็ถูกเปลี่ยนไปในรูปแบบของการส่งวิดีโอดูแลสุขภาพ แชร์วิดีโอนักกายภาพบำบัด แทนคำทักทายในรูปดอกไม้เป็นความห่วงใยให้คนที่เรารักไม่ปวดคอ บ่า ไหล่

ยินดีต้อนรับทุกคนสู่ TikTok Culture ณ บัดนี้

เรียนรู้คู่ TikTok

เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน แต่รวมถึงการเลื่อนหน้าจอดูวิดีโอสั้น การ ‘เรียนรู้คู่ความสนุก’ จึงเป็นคอนเซ็ปต์ที่ทีมปรินต์แปะไว้เตือนใจข้างฝาบ้าน

นิยามของการเรียนรู้สำหรับพวกเขา คือการได้นำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ และการบอกต่อ ส่งต่อข้อมูล ทั้งที่เป็นข้อมูลข่าวสารและข้อมูลความรู้ ให้กับผู้คนโดยที่เขาไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวนั้นมาก่อน

รวมไปถึงการสร้างนิสัยหรือทักษะใหม่ ๆ ให้ทุก ๆ คนนำไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ 

“บางคนเข้ามาเรียนรู้แบบอยู่ดี ๆ รู้เรื่องนี้ได้ยังไงนะ อันนี้คือทางอ้อม หรือบางคนตั้งใจเข้ามาค้นหาการเรียนเรื่องนี้ หาคำตอบ

 “เดี๋ยวนี้คนใช้ TikTok ค้นหา How-to ในอัตราที่เพิ่มขึ้นเยอะมาก เช่น ล็อกประตูยังไงให้ปลอดภัย เพราะคนอาจจะเคยเห็นในฟีดว่า วิธีป้องกันโจรเวลาไปพักที่ต่างจังหวัดมักจะเป็นแบบนี้ เป็นต้น”

ซึ่งการจะไปสู่ภาพการเรียนรู้เปิดกว้างที่วาดเอาไว้ จะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มให้ยืดหยุ่นและเอื้อต่อหลากหลายรูปแบบการเรียน

เรียนต่อไม่สะดุด – หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับวิดีโอขนาดสั้น แต่ตอนนี้โพสต์วิดีโอได้ยาวถึง 10 นาที เพื่อรองรับแนวโน้มของคอนเทนต์ที่เติบโตมากขึ้น เช่น How-to และ Tutorial เพราะในทุก ๆ รูปแบบของคอนเทนต์ล้วนมีความเหมาะสมในเรื่องของความยาวและรูปแบบแตกต่างกัน

เป็นมิตรต่อการเรียนรู้ – เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้ จึงมีทีม Content Moderator คอยดูแลตรวจสอบ ใช้ Algorithm คัดกรองคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมในด่านแรก และมีหน่วย Human Review เป็นด่านที่สองเพิ่มความรัดกุมในการคัดกรอง

การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด – ด้วยพื้นฐานการเป็นแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนโดยคอมมูนิตี้ เหล่า Creator จึงเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ผู้คนได้มาเจอคอนเทนต์ที่ตัวเองกำลังมองหา ต้องการเรียนรู้ หรือหากไม่ได้ต้องการเรียนรู้ ก็จะได้คำตอบอะไรบางอย่างกลับไป แม้แต่โฆษณาบนแพลตฟอร์มเองก็มาในรูปแบบคอนเทนต์เชิงการศึกษา อย่างข้อคิดจากหนัง หรือ วิธีการถ่ายภาพเจ๋ง ๆ จากกล้องโทรศัพท์

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ – การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัย

“Mission ของ TikTok คืออยากให้พื้นที่นี้เป็น Trusted Entertainment Platform เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนที่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและความสุข

“ถ้าเขาเกิดรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกไม่สบายใจที่จะแชร์ ก็จะไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นดีเอ็นเอและพื้นฐานสำคัญของแพลตฟอร์มเรา”

ทีมจึงต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ที่ลดระดับความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์หรือคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการขยาย Creator Ecosystem และสร้าง Digital Literacy ให้กับทั้งแพลตฟอร์มเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลหรือผลกระทบของคอนเทนต์ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

#สอนให้รู้ว่า…

ตลอด 2 ปีของ #TikTokUni เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้บนแพลตฟอร์มนี้

ทุก ๆ เดือนจะมีแคมเปญต่าง ๆ กระตุ้นให้คนออกมาแชร์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นภาษา ความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย ซึ่งในโอกาสครบรอบ 2 ปีนี้ TikTok มาในธีม #สอนให้รู้ว่า

“ไม่ใช่แค่ TikTokUni สอนให้รู้ว่าอะไร แต่เราต้องการให้แรงบันดาลใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ” หรืออีกนัยหนึ่งก็เปรียบเหมือนการตั้งโจทย์ให้เราลองถามตัวเอง แล้วมองไปรอบ ๆ ตัวว่า สิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องราวเหล่านี้ส่งผลกระทบกับเรายังไงบ้าง

ตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวอย่างการบริการประชาชนของภาครัฐ อย่างที่กระทรวงต่างประเทศจัดทำวิดีโอสอนทำพาสปอร์ตที่มาบุญครองภายใน 10 นาที หรือการประชาสัมพันธ์พาสปอร์ต 10 ปี คอนเทนต์นี้คว้ายอดวิวสูงถึง 5 ล้านวิว โดยไม่ต้องพึ่งบูสต์หรือยิง Ads ใด ๆ 

“อันนี้เป็นจุดที่ถูกทาง เหมือน Right tool, Right content ที่คนมองหา แล้วเป็นเรื่องที่เราช่วยให้ข้อมูลหรือความรู้เขาในรูปแบบใหม่ ทำให้เห็นว่ายังมีอีกหลากหลายวิธีในการบริการข้อมูลให้กับประชาชน” 

นอกจากนี้ TikTok ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งพิพิธภัณฑ์ ภาคการศึกษา และหน่วยงานรัฐเพื่อสร้างปรากฏการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ ในการทลายข้อจำกัดการเรียนรู้รูปแบบเดิม ๆ TikTok ทำงานร่วมกันกับมิวเซียม 3 แห่งในไทย คือ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ มิวเซียมสยาม และ TK Park

“ในฝั่งของแหล่งการเรียนรู้ข้างต้น เขาอาจจะมีข้อจำกัดในการพัฒนา Innovation ทำยังไงให้มีความตื่นตาตื่นใจ สามารถชักชวนคนรุ่นใหม่เข้ามา Join ได้บ้าง ก็ตรงกับสิ่งที่เราทำพอดี”

เมื่อโจทย์ที่มีมาลงตัวกับรูปแบบคอนเทนต์ที่ทั้งกระชับ สร้างสรรค์ และสนุกโดนใจวัยรุ่น จึงเกิดเป็นการร่วมงานกับ Top Creator มากกว่า 20 – 30 คน มาร่วมเล่าเรื่องแบบใหม่ในมิวเซียม เหมือนมีเพื่อนมาเล่าให้ฟังระหว่างเดินชมพิพิธภัณฑ์ แม้สิ่งนี้อาจเคยเกิดขึ้นแล้วในพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่าง Lourve หรือ The Met แต่ก็เป็นก้าวแรกของมิวเซียมในไทยที่จะสร้างภาพการเรียนรู้ใหม่ ๆ และออกจากกรอบที่เคยมี

หรือแคมเปญสนุก ๆ ที่ร่วมมือกับ TK Park เปิดตำราวิชาแนะให้แนว ชวนเหล่าวัยรุ่นมาค้นหาคำถามที่ใช่กับตัวเอง เพื่อหาเส้นทางอาชีพในอนาคต ผ่าน #TikTokแนะแนว ตอบคำถามโดยรุ่นพี่หลากสายอาชีพด้วยเครื่องมือของ TikTok ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่าง Q&A Feature ชวนทุกคนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้น้อง ๆ ผ่านวิดีโอ

และเพื่อเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ก็ยังจับมือกับ InsKru และ กสศ. ในกิจกรรมเวิร์กชอปให้คุณครูกว่า 400 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้ครูกลุ่มนี้เป็นเหมือน Teacher Changemaker ในการนำเสนอวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ และจุดประกายกลุ่มครูด้วยกัน ขยายผลไปสู่โรงเรียนในทุก ๆ ตำบล ทุก ๆ จังหวัด

“เราพยายามอย่างเต็มที่ในการร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง อาจไม่ใช่ทั้งโครงสร้าง แต่อย่างน้อยในคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วสร้างผลกระทบทางอ้อมให้แผ่ออกไปเป็นวงกว้าง ให้สิ่งที่เราทำไปได้ไกลมากขึ้น”

Lifelong Learning สำหรับทุกคน

#TikTokUni ทำให้ทิศทางการเรียนรู้บนแพลตฟอร์มนี้แตกย่อยได้มากขึ้น ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ทั้งยังสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ให้กับผู้คน

“เราจะพยายามถามตัวเองอยู่เสมอว่า นอกจากเรียนรู้คู่ความสนุกแล้ว เราสร้างอิมแพ็คให้การศึกษาไทยยังไงบ้าง”

ถึงจะผ่านมาแค่ 2 ปี แต่ผลกระทบของโครงการนี้ก็เริ่มออกดอกออกผลในวงการการศึกษาไทย แม้อาจยังไม่ใช่ระดับโครงสร้างหรือนโยบาย แต่คนหน้างานอย่างคุณครูและนักเรียนกำลังได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวจากแพลตฟอร์ม คุณครูได้เกร็ดความรู้ในการสอน การเข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ จากการแบ่งปันประสบการณ์ในคอมมูนิตี้ของครูทั่วโลก นักเรียนเองก็ได้เห็นช่องทางในการพัฒนาตน โยงไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนในห้อง เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคต

ในระยะยาว โจทย์สำคัญในการขยายการเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่เพียงเพิ่มจำนวนผู้ใช้ แต่รวมไปถึงการทำให้คอนเทนต์ขยายแผ่กิ่งก้านสาขา เพื่อนิสิตนักศึกษา บัณฑิตที่จบมาแล้ว คนทำงาน พ่อแม่ และคนทุก ๆ วัย เกิดเป็น Lifelong Learning บนแพลตฟอร์มอย่างแท้จริง

“สุดท้ายแล้ว เรามองว่าจุดหนึ่งที่เติมเต็มการทำงานของเราคือ เวลาที่มีคนคนหนึ่งมาบอกว่า ‘พี่ หนูได้งานจากการพัฒนาตัวเอง การเรียนภาษาผ่าน TikTok และ การทำ Resume’

“หรืออีกคนบอกว่า เขาสามารถดูแลตัวเองได้ในช่วงที่เขาติดโควิด-19 ผ่านการดูคอนเทนต์ของคุณหมอคนหนึ่งบนแพลตฟอร์มของเรา”

การได้สร้างอิมแพ็คในเชิงการใช้ชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ผู้คนได้พัฒนาตัวเองในแบบที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน หรือการได้เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่จะมาร่วมผลักดันและเปลี่ยนแปลงวงการการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้า เป็นสิ่งที่ทีมงานภูมิใจและมุ่งผลักดันให้ TikTok เป็นอีกหนึ่ง Tools สำหรับการเรียนรู้และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เชิงบวก เพื่อให้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริม Lifelong Learning ให้กับทุกคนอย่างแท้จริง

Writer

Avatar

ธฤดี อุดมธนะไพบูลย์

นักคิดเต็มเวลา นักเขียนบางเวลา รักวิทยาศาสตร์ ภาษา ศิลปะ และการได้นั่งคุยกับผู้คนในวันฝนตก

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์