6 กุมภาพันธ์ 2019
4 K

ผมโชคดี

เกิดเป็นเด็ก ‘บ้านนอก’

ถึงปัจจุบันผมอยู่ในอาชีพซึ่งทำให้รู้ว่านอกจากโชคดีที่ได้เกิดและใช้ชีวิตตอนเด็กๆ ที่บ้านนอกแล้ว ผมยังมีความโชคดีอีกชั้นหนึ่งที่มีโอกาสได้เห็นเสือโคร่งจริงๆ ในป่าตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ

ผมเล่าเรื่องนี้ให้หลายคนฟัง

ค่ำวันนั้น บนรถจี๊ปที่พ่อกำลังขับ บนเส้นทางลาดยางเรียบในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

เสือโคร่งโตเต็มวัยตัวหนึ่งนั่งอยู่ข้างทาง

รถหยุด ผมมองไม่เห็นอะไร จนกระทั่งผู้ใหญ่บนรถชี้ให้ดู เสือลุกขึ้นยืน เขม้นมองมาทางเรา ก่อนหันหลังเดินช้าๆ ลับหายเข้าชายป่า

“เสือพรางตัวเก่ง” พ่อพูดเมื่อผมบอกว่า มองไม่เห็นเสือ จนมีคนชี้ให้ดู

“ลายมันเข้ากับที่อยู่ ถ้าเสืออยู่นิ่งๆ เราไม่ค่อยเห็นมันหรอก” พ่ออธิบาย

นั่นเป็นวันที่ผมมีโอกาสเห็นเสือในธรรมชาติ

แต่อีกนานผมจึงเข้าใจความหมายของลายเสือ

เสือโคร่ง

เสือล่าโดยวิธีซุ่มรอ ใช้ลายอำพรางตัวและกระโจนเข้าหาเมื่อเหยื่อเข้ามาในระยะเหมาะสม

“โลกนี้ไม่ได้มีเสือตัวเดียว”

เป็นประโยคที่ไม่ได้หมายถึงจำนวนเสือ แต่หมายถึงว่าเสือบนโลกใบนี้ไม่มีสักตัวที่มีลายเหมือนกัน

ไม่เพียงเสือต่างชนิด ในเสือชนิดเดียวกัน ลายก็แตกต่างในรายละเอียด

เสือทุกชนิด ไม่ว่าลายขนจะเป็นลายดอก ลายจุด ลายทางยาว หรือสีขนเรียบๆ ไม่มีลวดลายเห็นชัดก็ตาม

ความแตกต่างของลายเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เสืออยู่

เสือใช้ประโยชน์จากลายสีขนปกปิดตัวเองจากศัตรูและอำพรางตัวไม่ให้เหยื่อเห็น

 

เสือคือนักล่าหมายเลขหนึ่ง นี่เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย ร่างกายถูกออกแบบมาเพื่อการล่า

เช่น

ดวงตามองเห็นในความมืด เห็นเป็นภาพมุมกว้าง กะระยะได้แม่น

มีประสาทหูที่ไว จับความเคลื่อนไหวเหยื่อที่อยู่ไกลๆ ได้

มีฟันและกรามแข็งแรง กัดได้แรง อีกทั้งเล็บแหลมคมสามารถซ่อนไว้ในอุ้งตีนได้ ช่วยให้เดินย่องเข้าหาเหยื่ออย่างเงียบกริบ และจะกางเล็บออกเมื่อกระโจนเข้าตะปบหรือขณะวิ่งเพื่อช่วยการเกาะพื้น

แต่ก็เถอะ แม้จะมีร่างกายรวมทั้งทักษะอันเหมาะสม แต่ใช่ว่าการล่าจะประสบความสำเร็จทุกครั้ง

ลงมือ 10 ครั้ง อาจสำเร็จแค่ครั้งเดียว

งานของเสือไม่ง่าย

เกิดเป็นเสือไม่ง่ายดาย

เสือโคร่ง เสือโคร่ง

ลูกเสือโคร่งและแม่มีลายที่แตกต่างกัน

ผมนึกถึงเสือตัวแรกที่พบตอนเด็กเมื่อทำงานอยู่แถบทิวเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส แม้ว่าตลอดเวลาปีกว่าเกือบ 2 ปีที่นั่นผมไม่เคยพบรอยตีนหรือร่องรอยใดๆ ของเสือ รวมทั้งร่องรอยสัตว์ผู้ล่าตัวอื่นๆ

นอกจากรอยหมูป่า หมูหริ่ง และสัตว์ฟันแทะอื่น  

บนพื้นเฉอะแฉะ ใบไม้ทับถม ทากชูตัวสลอน

หมูป่าขุดคุ้ยหากินรากไม้ กระทั่งดินร่วนซุย ไม่ต่างจากการพรวนดินไว้รอรับเมล็ดผลไม้ที่จะหล่นปะปนอยู่ในขี้ นกเงือก

จำนวนมากไปของหมูป่าทำให้ลูกไม้เล็กๆ เสียหาย หลายฝูงลงไปในสวนยาง แปลงแตงโม แปลงผักใกล้หมู่บ้าน

คนในหมู่บ้านหลายคนเริ่มทำแร้วดักหมู บางคนแบกปืนขึ้นภูเขายิงหมูป่ามาขายให้ทหารที่เข้ามารักษาความสงบ

หมูป่าไม่ใช่อาหารของคนพื้นที่

แต่การเข้ามาทำลายพืชผลคือสิ่งที่ยอมไม่ได้

หลายครั้ง ขณะเดินลงจากภูเขา ผมพบแร้วดักหมู บางครั้งเสียงปืนดังใกล้ๆ บางทีผมหลบข้างทางหลีกให้คน แบกซากหมูผ่านไป หลบสายตาจากร่างไร้วิญญาณ

บนภูเขา ไม่มีสัตว์ผู้ล่า

มีเพียงคน ซึ่งทำหน้าที่แทน

เขาบูโดสูงชัน ไม่มีที่ราบๆ ให้เดิน การตั้งแคมป์อยู่ข้างบนโดยไม่ต้องเดินขึ้นลงคือวิธีที่เราเลือก แต่แคมป์ริมลำห้วยที่เราอยู่ก็ห่างจากรังนกชนหินในระยะการเดินขึ้นชันๆ อีกราว 2 ชั่วโมง แคมป์อยู่ไม่ไกลจากด่านที่มีคนใช้ประจำ คืนหนึ่งหลังกินข้าว ฝนตกพรำๆ มีแสงไฟวับแวม ผู้ชายหลายคนเดินเข้ามา พวกเขายืนพูดกับกอเซ็ม หันมองมาทางผมเป็นระยะ ก่อนพยักหน้า หันมาสบตา และทยอยเดินหายไปในเงามืด

“พวกขึ้นมาล่าหมู” กอเซ็มบอกสั้นๆ

อีกคืนหนึ่งเราขึ้นเปลนอนแล้ว มีผู้ชาย 4 คนเดินเข้ามาท่ามกลางสายฝน

ผมและกอเซ็มลงจากเปล กองไฟใต้ฟลายชีทมอดดับ

ผมก่อไฟ ต้มน้ำเพื่อชงน้ำชา

พวกเขาพูดคุยด้วยภาษายาวีอันเป็นภาษาถิ่น ผมจับความได้บางคำ

ทั้งสี่คนยิ้มทักทายด้วยสายตาเป็นมิตร

“พวกเลื่อยไม้” กอเซ็มบอกผมสั้นๆ เช่นเคย

ฝนลงเม็ดหนา ผมกลับขึ้นเปล

คืนนั้นผมได้รับความรู้สึกอย่างหนึ่ง

อยู่ในป่าไม่มีร่องรอย ไม่พบรอยตีน

ไม่ได้หมายความว่า ป่านั้นจะไม่มีเสือ

เสือโคร่ง, หมาใน

หมาใน นักล่าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ไม่มีลวดลาย ขนสีแดงของพวกมันช่วยพรางตัวเวลาอยู่นิ่งๆ

นักวิทยาศาสตร์อธิบายง่ายๆ ว่า ลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตถูกกำหนดจากสารพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน ซึ่งอยู่ในเซลล์ทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต โดยทุกๆ เซลล์มียีนจำนวนมากมายมหาศาล และยีนแต่ละตัวก็ทำหน้าที่กำหนดลักษณะปลีกย่อยต่างๆ กัน

ลายของเสือเกิดจากการแสดงออกร่วมกันของลักษณะปลีกย่อยหลาย อย่างเช่นรูปแบบของลาย ความเข้มของสี   ลักษณะปลีกย่อยเหล่านี้ถูกควบคุมจากยีนต่างชนิดกัน

คาดกันว่ามียีนอยู่ไม่น้อยกว่า 8 ชนิดที่ควบคุมให้เกิดลายเสือ

ลายเสือไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดกระทั่งโตเต็มวัย

แต่สีจะเข้มขึ้นและจางลงเมื่อชราภาพ

        

ในป่าทิวเขาบูโดไม่มีร่องรอยของเสือให้พบเห็น

เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ผมได้เข้าใจความหมายของลายเสือ…

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน