The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย

สตีฟ โจ และจัมโช่

คือชื่อผู้ชาย 3 คนที่ผมพบช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ได้รู้จักและมีโอกาสร่วมงานกันระยะเวลาหนึ่ง

สตีฟ ช่างภาพวัยอาวุโส พูดเสียงดังฟังชัด มาจากนิตยสาร National Geographic เขามาทำเรื่องเสือโคร่ง โดยเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อศึกษาชีวิตสัตว์ป่า นั่นคืองานที่นักวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำทำมานาน โดยเฉพาะการติดตามเสือโคร่ง งานจับสัตว์ป่าเพื่อติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ ทำกันทั่วไปในโลก ซึ่งการศึกษาเรื่องเสือโคร่งมายาวนานอย่างเอาจริงของที่นี่ได้รับความเชื่อถือยอมรับในระดับนานาชาติ

ส่วนโจ ชายหนุ่มผู้สุภาพเงียบขรึมวัย 30 ต้นๆ มาในฐานะผู้ช่วยช่างภาพ

วันหนึ่ง พวกเขามาพบเราที่แคมป์

“ขอมาอยู่ด้วยสักหนึ่งเดือนนะครับ” สตีฟพูดตอนพบกัน เราอยู่ในแคมป์ริมลำห้วย ตอนกลางๆ ป่าห้วยขาแข้ง เฝ้ารอเสือมาแล้วกว่าครึ่งเดือน นักวิจัยเรียกภารกิจนี้ว่า ‘เปิดกรง’

“ทำไมมาทำเรื่องเสือที่นี่ล่ะครับ” ผมถามสตีฟ

“ที่รัสเซีย เนปาล ยิ่งอินเดีย ก็ทำมาตั้งนานแล้ว” ผมถามต่อ

“เหตุผลเดียวครับ” สตีฟตอบ ดวงตาสีฟ้าส่งประกายจริงจัง

“ผมอยากให้โลกรู้ว่า ถึงวันนี้ประเทศไทยเอาจริง และก้าวหน้าในการศึกษาดูแลเสือโคร่งมากแค่ไหน”

คมเขี้ยวเสือห้วยขาแข้ง รอยที่สอนช่างภาพ NG และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภูฏานด้วยวิถีสัตว์ป่า, สารคดีสัญชาติไทย, ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ
คมเขี้ยวเสือห้วยขาแข้ง รอยที่สอนช่างภาพ NG และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภูฏานด้วยวิถีสัตว์ป่า, สารคดีสัญชาติไทย, ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาวในแอฟริกาหรือในประเทศไทย พวกมันทำหน้าที่เมือนกัน คือควบคุมจำนวนสัตว์กินพืช

สตีฟเชี่ยวชาญในการใช้กล้องดักถ่าย ภาพเสือดาวหิมะที่เขาดักถ่ายได้แถบชายแดนปากีสถานเคยได้รับรางวัลภาพสัตว์ป่ายอดเยี่ยมในการประกวดระดับโลก

งานนี้เขาก็จะใช้กล้องดักถ่ายเสือโคร่งเป็นหลัก 

สำหรับผม นี่นับเป็นโอกาสที่ดี ได้ศึกษาเรียนรู้ร่วมงานกับช่างภาพมากประสบการณ์เช่นนี้ 

แคมป์เราคึกคักขึ้น สตีฟคุยสนุก มีเรื่องเล่ามาก เขาเดินทางไปทำงานเกือบทุกมุมโลก

ผมสอบถามเขาเรื่องเสือดาวหิมะ เพราะตั้งใจว่าวันหนึ่งหากมีโอกาสจะไปทำงานนี้

“ไม่น่าแปลกใจหรอกครับ” สตีฟว่า 

“เสือดาวหิมะอยู่ในใจช่างภาพสัตว์ป่าทั้งโลกแหละ”

 โจนั้นไม่เพียงเงียบๆ เขาขยัน ช่วยงานถาวรในแคมป์ทุกอย่าง ตั้งแต่ทำกับข้าว ล้างจาน รับยาเส้นที่ถาวรมวนให้มาสูบ รวมทั้งนั่งกินเหล้าขาวเป็นเพื่อน

“นี่เป็นการเข้าป่าจริงๆ ครั้งแรกของผมเลยครับ” โจบอก เสื้อ กางเกง รองเท้า สำหรับทำงานในป่าใหม่เอี่ยม

 โจแบกของเตรียมกล้อง ชาร์จแบต ดูแลสตีฟทุกอย่าง เขาไม่ทำอย่างเดียว คือกดชัตเตอร์

“ผมถูกจ้างมาในฐานะผู้ช่วยช่างภาพ ไม่มีหน้าที่กดชัตเตอร์”

ความตั้งใจของโจคือเป็นช่างภาพ

“ตอนนี้เป็นเวลาเรียนรู้ หาประสบการณ์ และเป็นผู้ช่วยที่ดีครับ” โจพูด

ระหว่างช่วงเวลาจับเสือ หรือที่เรียกว่า ‘เปิดกรง’ ไม่มีใครบอกได้หรอกว่าเมื่อไหร่งานจะเสร็จ

“บางทีเวลาเดือนหนึ่งของผมอาจน้อยไป” ผ่านไปหลายวัน สตีฟพูดกับผม

กลางวัน อ่อนสากับถาวร ผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งทำงานมานานพาเราไปสำรวจตามด่าน สตีฟหาจุดเหมาะๆ ตั้งกล้อง ขณะเดิน สตีฟจะเดินหลังสุด   

“ภรรยาผมสั่งไว้ว่า ให้ระวังตัวอย่าให้โดนเสือกัด ผมจึงเลือกเดินหลัง” เขาหัวเราะชอบใจ

อาจเพราะวัยใกล้เคียงและอยู่ในสายอาชีพเดียวกันละมั้ง เราจึงคุ้นเคยและสนิทสนมเร็ว ราวกับคบหามานานปี

เช้าวันหนึ่ง ผมกับถาวรพบวัวแดงตัวผู้ตัวหนึ่งนอนตะแคงแน่นิ่งอยู่กลางโป่งน้ำซับ ตรงหน้าซุ้มบังไพรที่เราทำไว้นานแล้ว จากร่องรอย เราพบว่าเป็นฝีมือเสือโคร่ง มีรอยเขี้ยวตรงคอและเนื้อช่วงก้นถูกกินไปพอสมควร

เมื่อวาน อ่อนสาพาสตีฟและโจกลับไปสถานี  ผมรีบแจ้งข่าวให้รู้ทางวิทยุสื่อสาร

พวกเขากลับมาวางกล้องดักถ่าย เรารีบทำงานและกลับออกจากที่นั่น

คมเขี้ยวเสือห้วยขาแข้ง รอยที่สอนช่างภาพ NG และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภูฏานด้วยวิถีสัตว์ป่า, สารคดีสัญชาติไทย, ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ
 งาช้างเป็นที่ต้องการในตลาดค้าสัตว์ป่า มีมูลค่าสูง งาช้าง รวมทั้งชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ป่า ไม่ว่าจะอยู่ในมุมใดของโลก ปลายทางอยู่ในตลาดเดียวกัน

ก่อนออกจากโป่ง สตีฟยืนมองซากนิ่งๆ ยกมือไหว้ พึมพำเบาๆ

กองไฟไหววูบวาบ ฝนตกตอนเย็น ทำให้ค่ำนี้อากาศชื้นและเย็น

เรานั่งข้างกองไฟ โจจิบเหล้าขาว สตีฟพ่นควันยาเส้น

“มันจะเป็นรูปที่สวยมากๆ เลย” สตีฟหมายถึงถ้าเสือกลับมากินซากต่อ

“ตอนบ่ายคุณทำอะไร เห็นยกมือไหว้พึมพำ”  ผมชวนคุย

“ผมขอบคุณเจ้าป่าเจ้าเขาที่ทำให้พบซาก” เขาพูดเบาๆ

 เขาปรับตัวได้เร็ว หรือการมีโอกาสเดินทางไปทั่วโลก ทำให้เขาพบเจอความเชื่อหลากหลาย 

ผมมองสตีฟ นาทีนั้นผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งที่คล้ายจะอยู่ในป่ามานานแล้ว 

จัมโช่ ชายหนุ่มวัยต้น 30 มาจากประเทศภูฏาน เขาเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาเมืองไทยเพื่อศึกษาต่อในภาควิชาสัตว์ป่า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เขามีเวลาว่าง 1 เดือนก่อนกลับ จัมโช่ขอเข้ามาฝึกงานที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า

จัมโช่คล้ายๆ โจ คือเงียบขรึม สุภาพเรียบร้อย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

“ท่าทางคุณเหมือนลามะที่ผมเคยพบเชิงเขาหิมาลัยมาก” ผมพูดกับเขา 

จัมโช่ยิ้มๆ

มาถึงวันแรกจัมโช่ก็พบกับงานหนัก เขาไปกับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง ที่มีภารกิจเก็บกล้องดักถ่ายที่ติดตั้งไว้ กว่าเดือนแล้ว

พวกเขาต้องแบกอุปกรณ์หนักๆ เดินป่ายาวไกลในช่วงเวลาที่ฝนตกมากที่สุดในรอบปี ไม่ใช่เรื่องน่าสนุก

ไม่เพียงแต่มีลักษณะคล้ายลามะผู้สำรวม แต่จัมโช่มีบุคลิกของผู้มาจากประเทศที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวัตถุอย่างแท้จริง

“เวลาทำงานในป่าเราใช้การเดิน ที่โน่นเราไม่ค่อยใช้รถหรอก นอกจากถนนไม่ดี ประเทศเราก็ไม่ค่อยมีเงินครับ” จัมโช่พูดอย่างถ่อมตัว

“แต่เป็นประเทศในฝันที่คนอยากไปนะครับ” ผมพูด

จัมโช่สนใจการศึกษาเรื่องเสือ ในป่าบ้านเขามีเสือโคร่งเบงกอลและเสือดาวหิมะ

กระนั้น เสือที่นั่นก็หลบเลี่ยงไม้พ้นกับการถูกไล่ล่า

“แถบชายแดนที่มีผืนป่าติดต่อกันจะมีปัญหามากครับ มีการล่าสัตว์ป่าเพื่อนำไปขาย และชาวบ้านล่าไปบริโภคเองก็มาก” จัมโช่เล่า

เสือ รวมทั้งสัตว์ป่าในดินแดนอุดมคติดูเหมือนกำลังเผชิญกับชะตากรรมไม่ต่างจากสัตว์ป่าในพื้นที่อื่นๆ ของโลก

ฝนกลางปีตกต่อเนื่อง ระดับน้ำในลำห้วยสูง กลางคืนท้องฟ้าไร้ดาว มีเพียงเมฆดำ

ข้างกองไฟ ผมนั่งคุยกับจัมโช่ ชายหนุ่มผู้มาจากประเทศที่รู้ดีว่าวันนี้โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วเพียงใด แต่พวกเขา เลือกที่จะเดินตามไปอย่างช้าๆ

“แล้วไปเดินป่าที่บ้านผมนะครับ ไปถ่ายรูปเสือดาวหิมะกัน” จัมโช่ชวน ผมพยักหน้า การไปเยือนดินแดนแห่งอุดมคตินับเป็นเรื่องดี

สตีฟ โจ และจัมโช่ ผมพบพวกเขาในป่า ในบ้านของสัตว์ป่า

สัตว์ป่าสอนเราผ่านการดำเนินตามวิถีของพวกมัน ซึ่งดำเนินเช่นนี้มาเนิ่นนาน พวกมันทำให้เรารับรู้ว่าการเดินตามโลกไปช้าๆ ก็ใช่ว่าจะเดินอยู่ข้างหลัง

ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก

ในสภาพที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ดูเหมือนนี่เป็นการเดินไปเบื้องหน้าเสียด้วยซ้ำ…

สารคดีสัญชาติไทย

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน