ทุกวันนี้ ภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ คงทำให้หลายคนจิตตกและไม่มีกะจิตกะใจอยากทำอะไร เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีกำลังหรือทรัพยากรมากพอที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่ชายคนหนึ่งได้ทำหลังจากดูข่าวความยากลำบากที่เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ คือการตั้งคำถามว่า ตัวเองนั้นพอจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับสถานการณ์เช่นนี้ได้บ้าง 

นั่นคือที่มาของ ‘เตียงพร้อม’ แอปพลิเคชันจับคู่ผู้ป่วยกับเตียง จากแรงกายและแรงใจของนักพัฒนาโปรแกรมหนุ่มเลือดอีสานอารมณ์ดี กบ-ถาวร ศรีเสนพิลา 

‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 โดยโปรแกรมเมอร์อุบลฯ เพื่อช่วยประชาชนกันเอง

กบทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดบ้านเกิด ลงทุนด้าน Cryptocurrency และยังมีงานรับจ้างทำแอปพลิเคชัน เขียนซอฟต์แวร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจกับความอิสระในการลุกขึ้นมาทำแอปฯ ได้ทันที และยังใช้ต้นทุนของตัวเอง ทั้งคอนเนกชันคนมากมายผ่านการทำงานเป็นนายหน้า ทั้งความชำนาญในการเขียนโค้ด เพื่อลงมือทำ ‘เตียงพร้อม’ ให้ทำงานได้จริงอย่างรวดเร็ว 

แต่สิ่งที่เขาทำได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมคนธรรมดาทั่วไปอย่างเขา ถึงต้องมาลงมือแก้ไขปัญหาระดับชาติอย่างนี้ด้วยตัวเอง

‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 โดยโปรแกรมเมอร์อุบลฯ เพื่อช่วยประชาชนกันเอง
‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 โดยโปรแกรมเมอร์อุบลฯ เพื่อช่วยประชาชนกันเอง

ลงมือทำ

“เห็นข่าวคนนอนรอเตียงทุกวันจนทนไม่ไหว รู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง” 

นั่นคือความตั้งใจแรกของกบ และเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘เตียงพร้อม’ ซึ่งเขาลงมือเขียนโค้ดให้เกิดขึ้นในห้องทำงานของเขาวันนั้นเลย 

ความตั้งใจแรกของเขาไม่ได้อยากสร้างแอปพลิเคชันใหญ่โต แต่อยากทำเพื่อให้ภาครัฐรับรู้ และเป็นช่องทางขอความช่วยเหลือ ให้คนที่มีกำลังหรืออยากบริจาคได้เจอกับคนที่กำลังเดือดร้อน 

หลักการของเตียงพร้อมไม่มีอะไรซับซ้อน คอนเซ็ปต์เหมือนแอปฯ จับคู่ ให้คนเข้ามากรอกข้อมูลส่วนตัวและความต้องการ โดยเน้นไปที่เรื่องเตียงเป็นสำคัญ เพราะในตอนนี้ภาวะเตียงขาดแคลนมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

เขาลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนได้รู้จักและได้ใช้ประโยชน์จากแอปฯ ที่ตั้งใจเขียนทั้งวันทั้งคืน 

“เราเอาความถนัดของเรากับการที่ได้เจอคนเยอะๆ มารวมกัน เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้คนด้วยเทคโนโลยีดีกว่า เพราะยุคนี้ทุกคนรู้จักแอปฯ หมด เข้าใจง่าย แค่โหลดก็ใช้ได้เลย” ถาวรกล่าวเพื่อสรุปแนวคิดของตัวเอง

เรารู้ว่าเวลาโปรแกรมเมอร์ทำงาน ต้องมีการวัดผลที่เป็นรูปธรรม เพราะจำเป็นต่อการรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินความสำเร็จของแอปฯ แต่ในเมื่อ ‘เตียงพร้อม’ เกิดจากอารมณ์เพียงชั่ววูบของโปรแกรมเมอร์คนเดียว แล้วเขาจะใช้อะไรเป็นการวัดผลความสำเร็จกันแน่

“จริงๆ มันควรต้องมีใช่ไหม” เขาหัวเราะ “ผมไม่ได้คิดเลยตอนแรก เรื่องพวกนี้มันตามมาทีหลังตอนที่เริ่มช่วยคนได้บ้างแล้ว ถึงค่อยคิดว่าจะเอาข้อมูลที่มีมาต่อยอดยังไงได้บ้าง เพราะตอนแรกเลยที่เปิดคอมฯ ทำงาน คิดแค่ว่าถ้าช่วยคนให้หาเตียงได้สักคนก็เพียงพอ ผมถือว่านอนหลับลงแล้ว” 

ตลอดการสัมภาษณ์ กบออกตัวอยู่บ่อยครั้งว่านี่ไม่ใช่แอปพลิเคชันที่เสร็จสมบูรณ์ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ‘เตียงพร้อม’ เกิดขึ้นด้วยอารมณ์และแรงฮึดของโปรแกรมเมอร์เพียงคนเดียว หลังจากทำมาได้สักพักและเริ่มรู้กระบวนการทำงานแล้ว เขาคิดว่ายังต้องพัฒนากันอีกเยอะ

‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 โดยโปรแกรมเมอร์อุบลฯ เพื่อช่วยประชาชนกันเอง
‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 โดยโปรแกรมเมอร์อุบลฯ เพื่อช่วยประชาชนกันเอง

แอปฯ ชนแอปฯ 

“ก่อนหน้านี้ยังมีเคสไม่เยอะ แล้วส่วนใหญ่จังหวัดผม (อุบลราชธานี) ยังไม่ถึงขั้นคนล้นโรงพยาบาล แต่ก็หนักขึ้นเรื่อยๆ เราก็รับเคสมาแล้วประสานต่อแค่นั้น ยังไม่มีจุดที่ถึงขั้นร้ายแรง” 

ตอนแรกดูเหมือนจะไม่มีเรื่องน่ากังวลนัก แต่พอยกตัวอย่างเคสที่ผ่านมา ก็พอจะเห็นความกดดันและความเครียดที่เขาได้พบระหว่างการทำงานมากขึ้น อาทิ ผู้หญิงท้อง 6 เดือนกำลังรอเตียงและร้อนใจมาก จากความเป็นห่วงลูกในท้อง กบจึงรวบรวมข้อมูลให้เขาอย่างละเอียด เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานและเพจที่มีศักยภาพทำได้ และติดตามต่อจนผู้ป่วยได้เตียงเรียบร้อย 

หรืออีกเคสหนึ่ง ผู้ติดเชื้ออยู่บ้านกับลูกเล็กรวมกัน 6 คน รีบส่งข้อมูลมาให้เพราะห่วงลูก กบต้องประสานกับหน่วยงานและหาเตียงให้ด้วยตัวเอง แต่ในระยะเวลาที่รอ จากตอนแรกแม่ติดแค่คนเดียว กลายเป็นติดกันทั้งบ้าน แต่สุดท้ายก็พยายามจนหาเตียงให้กับคุณแม่ในที่สุด

‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 โดยโปรแกรมเมอร์อุบลฯ เพื่อช่วยประชาชนกันเอง

ในเมื่อตอนนี้ปัญหาเรื่องจัดการกับไวรัสยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคนคิดหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ กบทำอย่างไรให้ ‘เตียงพร้อม’ ไม่ทับซ้อนกับคนอื่น และวางแผนการพัฒนาต่อยอดเอาไว้อย่างไรบ้าง 

“จริงๆ ผมคิดไว้อยู่แล้ว เพราะการเขียนแอปฯ นี้ไม่ยากเลย ใช้เวลานิดเดียวก็ทำเสร็จ ความยากคือการเชื่อมต่อข้อมูลกับคนอื่น เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้รวบรวมเป็น Big Data” 

เขามองว่าถ้ามีหน่วยงานรวบรวมให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกันหมด คงจะเป็นประโยชน์ สำหรับนักพัฒนาที่มองเห็นปัญหา และหยิบข้อมูลเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่ตัวเองทำได้เลย แต่ปัญหาที่นักพัฒนาโปรแกรมกำลังเจอคือ การที่ไม่มีหน่วยงานรวบรวมข้อมูล ทำให้เกิดความกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ เขาเชื่อว่ายังมีนักพัฒนาโปรแกรมหลายคนกำลังติดอยู่ในกระบวนการนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะมีไอเดียอยากพัฒนาแอปฯ ด้านไหน ก็ติดขัดเรื่องนี้ 

‘วันนี้เราหวังพึ่งอะไรกับใครได้ หากไม่พึ่งพากันเอง’ คุยกับโปรแกรมเมอร์อีสาน ผู้พัฒนา ‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงสำหรับผู้ติดโควิด-19

สำหรับการต่อยอด ถาวรวางแผนเพิ่มฟีเจอร์การรับเรื่องให้กับผู้ที่ประสงค์จะกลับบ้าน และรวบรวมข้อมูลเรื่องศูนย์พักคอยให้คนที่จะกลับบ้านต่างจังหวัดได้รู้ เพราะเขาเห็นใจคนที่อยากกลับมารักษาตัวที่บ้าน แต่ไม่รู้ว่าจังหวัดบ้านเกิดมีมาตรการอย่างไร แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำศูนย์ข้อมูลออกอย่างชัดเจน เป็นธุระที่ผู้ป่วยต้องคอยประสานกับทางจังหวัดเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ 

นอกจากนี้ เขากำลังวางแผนที่ทำให้แอปฯ มีเรื่องสัตว์เลี้ยงถูกทิ้ง หรือเด็กกำพร้าที่ผู้ปกครองเสียชีวิตเพราะโควิด-19 แล้วยังไม่มีใครเข้าไปดูแล โดยในทุกกระบวนการทั้งที่กำลังทำอยู่และวางแผนจะทำนั้น ตั้งใจทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานรัฐเข้ามารับช่วงต่อได้อย่างราบรื่น

Developer ลูกน้ำมูล

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กบสามารถทำงานอาสาได้อย่างรวดเร็ว เขาบอกว่าอาจเพราะเขาอยู่ต่างจังหวัด ลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปได้หลายอย่าง จนมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น 

“ผมเกิดและเรียนจนจบที่อุบลราชธานี รู้สึกคุ้นเคย ไปไหนก็ง่าย ทำอะไรก็ง่าย ไม่ใช่ไม่เคยไปอยู่กรุงเทพฯ นะ หนุ่มๆ ก็อยากเข้าเมืองเหมือนกัน แต่พอไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ปีครึ่ง มันยากไปหมดสำหรับผม 

“ข้อดีแรกที่คิดออกน่าจะเป็นเรื่องอากาศ อยู่ที่นี่อากาศปลอดโปร่ง ผมว่ามันส่งผลกับการทำงานด้วยนะ ข้อสองก็อย่างเรื่องการเดินทาง ผมอยู่ที่นี่ จะไปไหนมาไหน ต่อให้ไกลสัก ยี่สิบกิโลฯ เลย ผมใช้แค่สิบนาทีเท่านั้นเอง กรุงเทพฯ ยี่สิบกิโลฯ คงครึ่งวัน ข้อสามก็คงเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกมาก วันละร้อยเดียวก็อยู่ได้ คำว่าอยู่ได้คืออยู่ทั้งวัน ออกไปทำธุระ กลับบ้าน แต่ลองเป็นกรุงเทพฯ มีสองร้อยอาจจะออกได้ แต่ไม่รู้จะกลับได้หรือเปล่า”

แต่การเป็นนักพัฒนาโปรแกรมย่อมต้องทันเทคโนโลยี การเป็นนักพัฒนาโปรแกรมที่ประจำอยู่ต่างจังหวัดก็มีข้อเสียเช่นกัน ซึ่งเขามองว่าก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ 

“ข้อเสียคือสังคมมันเล็ก เจอหน้ากันอยู่ไม่กี่คน ที่กรุงเทพฯ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เสวนา ประชุมอัปเดตกันตลอด ก็ทำให้เร็วกว่านิดหนึ่ง แต่สำหรับผม การเจอหน้ากันสำคัญกว่า ในแง่ที่ว่าผมสามารถยกโน้ตบุ๊กไปเปิดแล้วถามเขาได้เลยตรงนั้น สำหรับผมมันเข้าใจง่ายกว่า ผมเลยอาจคุ้นเคยกับแบบนี้มากกว่า”

‘วันนี้เราหวังพึ่งอะไรกับใครได้ หากไม่พึ่งพากันเอง’ คุยกับโปรแกรมเมอร์อีสาน ผู้พัฒนา ‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงสำหรับผู้ติดโควิด-19

จังหวัดพร้อม

ในฐานะนักพัฒนาโปรแกรมที่คร่ำหวอดอยู่ในสายอาชีพนี้มายาวนานกว่า 20 ปี วงการ Developer เมืองไทยในสายตาเขาแบ่งเป็น 2 เรื่อง หนึ่ง การเพิ่มพูนทักษะส่วนตัวของ Developer เอง และสอง การร่วมมือกันกระจายองค์ความรู้ในระดับชาติ ซึ่งในความคิดเห็นของเขานั้น ยังมีน้อยเกินไป

“เมืองไทยเรามีโปรแกรมเมอร์เยอะ ทำสตาร์ทอัพกันเยอะ เป็นเทรนด์ของรุ่นใหม่ ซึ่งก็ดีเพราะทำให้เกิดการจ้างงาน รุ่นพี่สอนรุ่นน้องไปเรื่อยๆ แต่จุดอ่อนคือเรื่องสมองไหล มือโปรหรือคนเก่งจริงๆ ไปอยู่ต่างประเทศกันเยอะ และโปรแกรมเมอร์หลายคนก็ยังอ่อนเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นมาก 

“ส่วนเรื่องการกระจายความรู้ ก็คือพอมีอะไรก็เริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อน ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก แต่จริงๆ ถ้าเรามองออกไป หลายเมืองก็มีศักยภาพนะ อย่างถ้าผมอยากอัปเดตเทรนด์หรือดูพวกอุปกรณ์ใหม่ๆ ผมก็ขับรถไปขอนแก่นที่เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภาคอีสาน โปรแกรมเมอร์เก่งๆ อยู่กันเยอะ เริ่มมีเสวนา มีงานประชุมอะไรกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยากให้มีการสนับสนุนอย่างจริงจังขึ้นมาบ้าง หลายๆ จังหวัดพร้อมแล้ว 

“อีกเรื่องของโปรแกรมเมอร์ คือการคิดให้ต่าง คิดนอกกรอบให้ได้ อย่าไปคิดว่าคำพวกนี้มันของครีเอทีฟหรือคนทำงานศิลปะ มันควรเป็นของโปรแกรมเมอร์ด้วย ผมเคยไปดูงานของนักศึกษาที่จบคณะหรือภาควิชาคล้ายๆ กับผม ดูกี่ที กี่รุ่น ก็ทำหุ่นยนต์เดินตามเส้น เหมือนกับตอนที่ผมจบมาตั้งนานแล้ว ไม่ค่อยกล้าคิดให้แหวกแนวออกมา น่าเสียดายนะ น่าจะคิดให้ต่างจากที่เคยเป็นมา”

‘วันนี้เราหวังพึ่งอะไรกับใครได้ หากไม่พึ่งพากันเอง’ คุยกับโปรแกรมเมอร์อีสาน ผู้พัฒนา ‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงสำหรับผู้ติดโควิด-19
‘วันนี้เราหวังพึ่งอะไรกับใครได้ หากไม่พึ่งพากันเอง’ คุยกับโปรแกรมเมอร์อีสาน ผู้พัฒนา ‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงสำหรับผู้ติดโควิด-19

คุณค่าในงาน

งาน Developer คือการเสกสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์จากอากาศด้วยการเขียน Code ซึ่งกบบอกว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ Developer หลายคนเน้นไปที่ผลลัพธ์การทำงานของแอปฯ หรือเว็บไซต์ที่ตัวเองพัฒนา โดยมองข้ามมิติเชิงสังคมและสิ่งที่ผลงานของพวกเขาจะสร้างผลกระทบต่อมา

“นอกจากการนั่งเขียนโค้ดแล้ว Developer ต้องคิดถึงคน คิดถึงชุมชน อย่าง
แอปฯ ใหญ่ที่เขาให้คนขับรถส่งอาหารน่ะ อาจจะเห็นว่ามีคนที่ได้ประโยชน์แค่เจ้าของ แต่จริงๆ แล้วในนั้นมันก็มีคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้ประโยชน์ เกิดการจ้างงาน ร้านค้ารายย่อยลืมตาอ้าปากได้ เด็กหนุ่มๆ ก็มีงานเสริมทำ ให้พวกเขาเห็นว่า สิ่งที่พวกเขากำลังมีส่วนร่วม ไม่ได้มีแค่ตัวโปรแกรมอย่างเดียว แต่มันส่งผลกระทบต่อชีวิตคนและสังคมอย่างไร”

ในทุกกระบวนการคิด เขาตั้งใจจะส่งสารถึงหน่วยงานรัฐและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ โดยนอกจากสิ่งที่เขาได้เรียกร้องกับหน่วยงานรัฐในเรื่องความพร้อมของเตียงผู้ป่วยข้างต้นแล้ว เขายังรู้สึกว่ามีอีกหลายองค์กรที่สามารถลงมือทำอะไรสักอย่างได้

“ผมคนเดียวก็ทำได้แค่นี้ แต่ถ้ามีหน่วยงานคอยประสาน ผมว่าโปรแกรมเมอร์ไทยเก่งๆ เยอะ เราน่าจะทำอะไรได้อีกมาก”

‘วันนี้เราหวังพึ่งอะไรกับใครได้ หากไม่พึ่งพากันเอง’ คุยกับโปรแกรมเมอร์อีสาน ผู้พัฒนา ‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงสำหรับผู้ติดโควิด-19

พร้อมไปต่อ

กบสรุปใจความได้ว่า เขาไม่แน่ใจนักว่าแอปฯ นี้จะสร้างผลกระทบอะไรได้บ้าง เพราะแค่การช่วยเหลือประจำวันก็เป็นเรื่องหนักหนาแล้วสำหรับเขา เขาเน้นย้ำประเด็นที่อยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยประสาน และอำนวยความสะดวกเวลาติดต่อขอข้อมูลให้มากขึ้น 

สำหรับในอนาคตที่มองไว้ เขาได้เริ่มลงมือกำลังพัฒนาส่วนต่อไปแล้ว นั่นคือการติดตามผู้ป่วยที่ได้เตียงไปว่ารักษาตัวเสร็จเรียบร้อยดีหรือไม่ ได้ออกจากโรงพยาบาลแล้วหรือยัง เพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบหลังจากติดเชื้อ เนื่องจากมีหลายกรณีที่ผู้เชื้อต้องตกงาน เป็นผู้ป่วยเรื้อรั้ง อย่างที่เรียกกันว่า Long COVID-19

“ผมตั้งใจจะพัฒนาอีกส่วนให้เป็นศูนย์รวมผู้ที่ได้ผลกระทบจากโรคระบาด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เอาข้อมูลไปดำเนินการต่อ จริงๆ ก่อนมาคุยกัน ผมก็พึ่งคุยกับเคสล่าสุดคือไม่มียา แต่ยังไม่รู้จะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะมันอันตราย แล้วยาก็ยังไม่พอใช่ไหมตอนนี้ ต้องเขียนแอปฯ ‘ยาพร้อม’ อีกหรือเปล่า”

ตลอดบทสนทนากับกบ มีแต่คำหยอกล้อและเสียงหัวเราะ ซึ่งผิดจากที่คาดในตอนแรก เนื่องจากเรากลัวว่าจะรบกวนตารางเวลาทำงานที่แน่นหนาของเขา และนึกภาพเอาไว้ในใจว่า Developer ที่ลุกขึ้นมาเขียนแอปฯ สเกลใหญ่ขนาดนี้ด้วยตัวเอง อาจจะมีแต่ความจริงจังและเต็มไปด้วยความไม่พอใจเป็นที่ตั้ง

เมื่อถึงเวลากล่าวขอบคุณและบอกลากบ ซึ่งขอตัวไปคุยกับเคสหายาที่เขาพูดถึง เขาถึงกับเปลี่ยนเวลาการสัมภาษณ์ครั้งนี้ในแทบจะวินาทีสุดท้าย เพื่อประสานเบื้องต้นให้ผู้เดือดร้อนก่อน 

หรือนี่อาจจะเป็นวิธีการเตรียมใจให้พร้อมของคนที่ใช้แรงใจของตัวเอง ต่อสู้กับความไม่พร้อมหลายๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านเราในตอนนี้

‘วันนี้เราหวังพึ่งอะไรกับใครได้ หากไม่พึ่งพากันเอง’ คุยกับโปรแกรมเมอร์อีสาน ผู้พัฒนา ‘เตียงพร้อม’ แอปฯ หาเตียงสำหรับผู้ติดโควิด-19

Writer

Avatar

นรินทร์ จีนเชื่อม

จบรัฐศาสตร์ ชอบอ่านวรรณกรรมคลาสสิค หลงใหลการโต้เถียงแบบมีอารยะ กินกาแฟดำเหมือนนักเขียนรุ่นใหญ่ แต่ใจจริงชอบแฟรบปูชิโน่คาราเมลเพิ่มไซรัป

Photographer

Avatar

วิรัตน์ รุ่งเรืองมีทรัพย์

ช่างภาพเบื้องหลังที่สนใจทุกอย่างที่มีเรื่องราวของแสง เหมือนกับรสชาติของกาแฟ