คำว่า ‘หลงรัก’ อาจอธิบายความรู้สึกได้น้อยไป แต่ถ้า ‘หลงใหล’ คงพออธิบายได้ว่าทำไมคอนโดของ เอก-ทวีป ฤทธินภากร จึงได้ให้ความรู้สึกเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่มีคลังสมบัติอายุเฉลี่ยนับร้อยปีวางดาษดื่นขนาดนี้

เอก ทวีป ไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าลุนตยา แต่เขาคือนักสะสมผู้ใช้ความหลงใหลและเวลากว่า 20 ปี ทุ่มเทเก็บเกี่ยวทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับพม่า ตั้งใจร่ำเรียนตำราด้วยตัวเอง และถึงขั้นเรียนภาษาพม่านาน 3 ปี เพื่อให้อ่านหลักฐานที่พบได้เข้าใจ

วันนี้ ความชอบไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เขาได้ต้อนรับแขกผู้สนใจมากถึง 5 คนในคราวเดียว แต่เพราะเอกเป็นทั้งภัณฑารักษ์ผู้รอบรู้ (สำหรับเรา) นักเรียนดีเด่นผู้ไม่เคยหยุดศึกษา และนักเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงสิ่งของทุกชิ้นเข้าหากันด้วยประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิตของเขา

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี

เอกเติบโตมาในปี 1980 มีบ้านอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขับรถไปไม่เกินชั่วโมงก็จะข้ามพรมแดนสู่ดินแดนแห่งทองคำ เขาเล่าว่าตอนเด็กเคยได้ยินเสียงคนยิงกันดังไกลถึงอำเภอฝาง เมื่อถามผู้ใหญ่ก็ได้คำตอบว่าเป็นชาวไทใหญ่ ไม่ก็ชาวเขา 

นั่นคือภาพจำในยุคที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักประเทศพม่า นอกจากคำอธิบายว่าเป็น ‘เพื่อนบ้านที่ยากจนและมีปัญหาการเมือง’ เมื่อโตขึ้นเข้าระบบการศึกษา พม่าก็เปลี่ยนเป็นคู่แค้นที่เผากรุงศรีอยุธยาและขนทองกลับไป

ไม่ผิดที่มีการถ่ายทอดให้คนจดจำเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องของการเล่าประวัติศาสตร์ในยุคหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วบ้านใกล้เรือนเคียงมีอะไรให้ศึกษาและทำความเข้าใจมากกว่านั้น ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งพม่าเคยรุ่งเรืองเป็นเมืองท่าที่ไฮโซไม่ต่างจากสิงคโปร์ และผู้ดีเมืองไทยต้องเดินทางไปช้อปปิ้งถึงที่นั่น

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี

“ผมจึงอยากแสดงให้คนเห็นมุมที่หลากหลายขึ้นจากสิ่งของที่สะสม โดยเริ่มศึกษาจากสิ่งที่เก็บ เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่มีคืออะไร มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนใช้ ทำไมต้องสีนี้ มีความเชื่ออะไรอยู่ในนั้น” เจ้าของห้องบอกต่อว่า ความเข้าใจน้อยและเข้าใจผิดที่เคยมีคือปมที่ทำให้เขาขวนขวายศึกษา

โดยทั้งหมดเริ่มจากเพียงความชอบใน ‘ผ้าลุนตยาอเชะ’ แต่เมื่ออ่านเอกสารมากเข้า กลับพบว่าข้อมูลยังไม่พอแก่ใจที่ต้องการ เขาจึงตีตั๋วลงพื้นที่ถึงโรงทอที่พม่าเพื่อทำการวิจัยขั้นปฐมภูมิ ขยันไปหาเหล่าช่างทอ 4 – 5 ครั้ง แม้จะพูดภาษาเขาไม่ได้ จนในที่สุดกำแพงแห่งความไม่ไว้ใจก็ถูกทลาย กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ทั้งมิตรภาพและความรู้

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
ช่วงปี 1980 – 1990 ผ้าลุนตยาอเชะเข้ามาในไทยผ่านทางแม่สายเป็นจำนวนมาก เพราะมีตลาดทางเชียงใหม่ที่ต้องการ
'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี

ลุน แปลว่า กระสวย ตยา (ตะ-ยา) แปลว่า หนึ่งร้อย รวมกัน ลุนตยา แปลว่า ร้อยกระสวย อเชะ (อะ-เชะ) แปลว่า เกาะเกี่ยว มาจากวิธีการทอผ้าที่ใช้กระสวยพุ่ง สีละกระสวย เมื่อพุ่งไปถึงจุดที่ต้องการจึงผูกปมเอาไว้ แล้วพุ่งกระสวยอันถัดไปต่อ หากผ้ามีสีมากก็ยิ่งใช้กระสวยเยอะ สมมติ เรากางผ้าออกมาดู มีลายที่ใช้สีแดงสลับกับสีเหลือง 40 ครั้ง แปลว่า มีกระสวยสีแดง 20 อัน และกระสวยสีเหลือง 20 อัน รวมเป็น 40 อัน แต่ผ้าจริงที่เราเห็นมีรายละเอียดเยอะกว่านั้น

เรามองผ้าลุนตยาอเชะทั้งเก่าและใหม่ที่เอกเปิดให้ดู นี่คืองานหัตถกรรมชั้นครูที่น่าภูมิใจของพม่า

“เส้นที่โค้งสวยแปลว่าคนทอเก่งมาก บางทีสีเดียวกันจะใช้กระสวยอันเดียวก็ได้ แต่คนทอต้องไขว้เส้นให้เป็น ไม่อย่างนั้นพันกันยุ่งเหยิง ระดับครูเก่ง ๆ ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน เป็นผ้าชั้นสูงจึงมีราคาแพงมาแต่โบราณ ปัจจุบันราคาหลายหมื่นต่อผืน”

เมื่อต้นทางถูกสงวนให้ใช้แค่ในราชสำนัก เหล่าช่างทอจึงได้รับการปูนบำเหน็จเสร็จสรรพ แต่เมื่อราชสำนักล่มสลาย มียุคหนึ่งที่ช่างทอต้องเผชิญปัญหา เพราะทำอาชีพอื่นไม่เป็น ขายเองก็ไม่เคยคิดเรื่องต้นทุนมาก่อน แต่หลังจากนั้นผ้าลุนตยากลายเป็นสินค้าไฮโซสำหรับคนที่อยากมีไว้ประดับบารมี ช่างทอจึงกลับมามีอาชีพอีกครั้ง

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
ผ้าลุนตยาอเชะอาจถูกตัดหลังเจ้าของเสียเพื่อทำเป็นผ้าห่อคัมภีร์ถวายวัด
'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
เนื่องจากเป็นของแพง บางคนจึงมีเพียงผืนเดียวทั้งชีวิตเพื่อใช้ใส่ตอนออกเรือนหรือในพิธีสำคัญ ใช้ได้ทั้งชายและหญิง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ สี และลาย

แม้จะได้ข้อมูลมากกว่าในตำรา แต่ชายคนนี้ยังไม่คลายความสงสัย เขาอยากรู้ว่าคนสมัยก่อนนุ่งห่มผ้ากันอย่างไรจึงไปหาภาพถ่ายโบราณมาชม เมื่อเจอแล้วก็อยากเห็นอีก กลายเป็นเก็บมาเรื่อย ๆ กว่า 1,000 ใบ ส่วนใหญ่ได้มาจากโลกออนไลน์ส่งตรงจากยุโรป ซึ่งบางทีมีปีและสถานที่เขียนด้วย

“ที่พม่ามีภาพน้อย เพราะสภาพอากาศไม่ดี รูปพังไปเยอะ ดังนั้น ที่เราเจอในประเทศจะถอยกลับไปแค่ยุค 30 – 50 แต่เก่ากว่านั้นจะไม่เจอ”

เอกเล่าว่าสมัยโบราณการถ่ายภาพเป็นเรื่องยาก ผู้ที่ถือกล้องจึงต้องเป็นช่างภาพผู้เชี่ยวชาญหาใช่มือสมัครเล่น โดยคอลเลกชันแรกที่เขาหยิบออกจากกล่องไม้มาให้ชมเป็นของช่างภาพชาวเยอรมันชื่อ Philip Adolphe Klier ถ่ายไว้ประมาณปี 1870 – 1890 

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี

“ในยุคแรกเขาถ่ายเพราะเป็นของแปลก เพื่อนำรูปไปทำการค้า Klier จะนำฟิล์มกระจกที่ถ่ายภาพรวบรวมไว้เป็นคอลเลกชันของสตูดิโอตัวเอง เขามีที่มะละแหม่งก่อนย้ายไปย่างกุ้ง เวลามีนักท่องเที่ยวมาก็จะได้อัดภาพขายตามออเดอร์เป็นของที่ระลึก”

ชาวพม่ามีความหวาดกลัวกล้องถ่ายรูปไม่ต่างจากชาวไทยโบราณที่กลัวถ่ายแล้ววิญญาณหลุดออกจากร่าง ในยุคแรกที่กล้องเข้ามาจึงมีแต่ชาวต่างชาติเข้าไปใช้บริการ แต่เมื่อผ่านไปเป็นปี ชาวบ้านเรียนรู้ว่าคนที่เคยถูกถ่ายยังไม่มีใครเสียชีวิต ประกอบกับเริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้น พวกเขาจึงเริ่มนิยมถ่ายภาพกันมากขึ้น

กระทั่งเข้าสู่ช่วงปี 1900 – 1920 ฟิล์ม Kodak เริ่มเป็นที่แพร่หลาย กล้องขนาดเล็กมาพร้อมช่างภาพมือสมัครเล่นที่เผยแพร่ภาพแนว Candid กดชัตเตอร์ตามความสนใจ ไม่มีการเซ็ตอัป

“อันนี้ผมได้ฟิล์มมาจากอังกฤษ เป็นการซื้อออนไลน์โดยไม่รู้ว่าเป็นรูปอะไร คนขายบอกแค่เป็นภาพพม่า ผมก็เลยเอาฟิล์มไปอัดที่ร้านฉายาจิตรกร”

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
อัลบัมที่เอกนำฟิล์มไปล้างและอัดออกมาเป็นรูป

“นี่คือ หม่องชอว์ลู อยู่ที่มะละแหม่ง แล้วไปเข้ารีตได้ทุนไปกัลกัตตาและไปเรียนต่อถึงอเมริกา เรียนจบเป็นแพทย์คนแรกของพม่า ภาพนี้เขียนไว้ว่าถ่ายที่คลีฟแลนด์ โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา 

“ส่วนอันนี้เป็นเสนาบดีพม่าที่ถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ยุโรปแล้วถ่ายภาพที่อิตาลี ผมไปเจอภาพนี้ที่ร้านขายหนังสือเก่าที่อิตาลี เขาเขียนอธิบายไว้ว่า Exotic asian gentleman in costume แต่เราเห็นแล้วรู้เลยว่านี่คนพม่าระดับสูง หาข้อมูลเพิ่มก็พบว่าพระเจ้ามินดงส่งเขาไปเรียนเมืองนอกเป็นคนแรก ๆ จบวิศวกรที่ฝรั่งเศส ตำแหน่งเขาชื่อ บัน แชะก์ หวุ่น ฝรั่งเขียนเอาไว้ว่า เขาเป็นคนที่เก่งมาก พูดฝรั่งเศสเก่ง อังกฤษดี เวลามีฝรั่งมา คนนี้เป็นคนรับแขกหมดเลย เห็นแต่งตัวแบบพม่า แต่กริยาเป็นตะวันตก”

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
บัน แชะก์ หวุ่น

“พม่าน่าสนใจเพราะทุกวันนี้เรายังรู้จักเขาแบบผิว ๆ สิ่งที่ผมสะสมส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่ใช้ประดับตกแต่งได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพหรือผ้า มันน่าสนใจเพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน เราเหมือนเรียนรู้ชีวิตและสังคมของเขาไปด้วย”

ต่อมาเอกหยิบภาพที่หลายคนอาจคุ้นตา เพราะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพจากละครโทรทัศน์เรื่อง เพลิงพระนาง นั่นคือภาพของพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต ถ่ายในพระราชวังที่มัณฑะเลย์ ด้านหลังเขียนอธิบายไว้โดยลูกหลานเจ้าของภาพที่นำมาขาย ความว่า ต้นตระกูลเป็นชาวอังกฤษ ประกอบอาชีพทนายอยู่ที่รัตนคีรีและกัลกัตตา เป็นผู้เจรจาเรื่องเงินบำเหน็จให้กับพระเจ้าสีป่อและรัฐบาลอังกฤษ พระเจ้าสีป่อจึงพระราชภาพนี้ให้

“การที่ท่านพระราชทานให้ เราก็เดาว่าภาพนี้ถ่ายในประเทศและนำติดตัวไปตอนเนรเทศ” เอกเสริม โดยพระเจ้าสีป่อคือพระมหากษัตริย์พม่าองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์คองบองหรืออลองพญา ถูกเนรเทศไปอินเดียหลังจบสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3 

พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต
'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
ภาพผู้มีภาวะขนดกในอดีต

“ความเศร้าคือเวลาที่เจ้าของเดิมเสียไป ลูกหลานขายภาพออกมา พ่อค้าส่วนมากมักจะตัดภาพจากอัลบั้มมาขายแยกทีละแผ่น อย่างอันนี้คาดว่าเป็นอัลบัมหรือ Scrapbook (สมุดติดรูปหรือข่าวที่ตัดมาจากสื่อสิ่งพิมพ์) แต่เราได้มาแค่ 2 แผ่น แล้วมีเอกสารติดมาด้วย

“สมัยนั้นมีสมาคมยานยนต์ของพม่า นี่คือเอกสารบอกเส้นทางสำหรับคนขับรถไปเอง เมืองไหนห่างไปกี่กิโลเมตร จะเจออะไรบ้าง ต้องเลี้ยวซ้ายหรือขวา”

เรียกว่านี่คือ Google Maps เมื่อ 100 ปีก่อนที่พม่ามีออกไปจนถึงชายแดนก็คงได้

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี

นอกจากภาพทิวทัศน์ภายนอก เอกหยิบภาพเด็กชาวต่างชาติคนหนึ่งในชุดพม่าขึ้นมาให้ชม ดูแล้วก็พอทราบได้ว่าพ่อแม่คงพาไปถ่ายรูปในสตูดิโอ 

เขาเสริมว่า ภาพถ่ายในสตูดิโอหลายต่อหลายใบในยุคแรก ๆ คนในภาพอาจไม่เคยเห็นก็ได้ เพราะพวกเขาอาจถูกจ้างมาเป็นแบบ และนำภาพไปทำโปสการ์ดส่งขาย เนื่องจากสมัยก่อนเป็นช่องทางที่คนสื่อสารถึงกันอย่างแพร่หลาย 

อีกคอลเลกชันที่นำมาให้ชมคือซีรีส์ขายดีของโปสการ์ดปี 1900 – 1910 จัดทำโดย D.A.Ahuja (ห้างแขกที่ทั้งถ่ายรูป ทำสตูดิโอ และผลิตโปสการ์ด) ซึ่งร่วมมือกับเยอรมนี โดยส่งไปพิมพ์และลงสีที่เยอรมนี แต่ด้วยความที่คนทางนั้นไม่เคยเห็นว่าผ้านุ่งที่แท้จริงสีอะไร บางภาพจึงมีสีสดใสให้พวกเราแปลกใจเล่น เพราะไม่เหมือนจริงเลย

'เอก-ทวีป ฤทธินภากร' จากผ้าลุนตยาสู่คลังภาพโบราณ 1,000 ใบและของสะสมพม่าอายุนับร้อยปี
คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ

“พวกนี้เป็นบัตรเชิญสมัยโบราณ นามบัตร หนังสือแนะนำทัวร์ด้วยรถไฟ ลามไปจนถึงเอกสาร หนังสือของที่ระลึกสมัยโบราณ โบรชัวร์เที่ยวพม่าของ โทมัส คุก บริษัทท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ อันนี้ปี 1933 – 1934 ซึ่งยุคทองของโลกคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเทคโนโลยีดี เดินทางง่าย ไม่ลำบาก โลกเชื่อมโยงกัน โปรแกรมทัวร์จึงเกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าร้อยปีที่แล้วเขาเที่ยวกันอย่างไร”

เจ้าของห้องเล่าต่อว่า แต่เดิมพม่าใช้เกวียนในการคมนาคม แม่น้ำอิรวดีมีเรือพื้นบ้านลอยล่อง เมื่ออังกฤษเข้ามาจึงเกิดกาารพัฒนาระบบคมนาคม สร้างรางรถไฟ และระบบขนส่งทางน้ำ มีเรือกลไฟเข้ามา ช่วงแรกบริษัทอิรวดี โฟลทิลล่า (Irrawaddy Flotilla) ตั้งขึ้นเพื่อขนยุทธภัณฑ์ จากนั้นจึงพัฒนาเป็นการค้าจริงจัง ขนตั้งแต่ย่างกุ้งขึ้นไปถึงต้นแม่น้ำมราติดกับชายแดนเมืองจีน เกิดเป็นระบบไปรษณีย์ขึ้นมา เรือบางลำเป็นเหมือนตลาดนัดที่มีคนขายของด้านบน เมื่อมาเทียบท่า ชาวบ้านก็แห่ลงไปซื้อของ

คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ
คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ

“ทุกครั้งที่ศึกษาวัฒนธรรมของคนอื่นลึกซึ้งขึ้น มันทำให้เราไม่ตัดสินและเข้าใจเขาในแบบที่เป็นเขามากกว่าเดิม ยกตัวอย่าง พี่น้องชาวพม่าที่มาทำงานบ้านเรา เขาไม่ใช่เชื้อชาติพม่า แค่ถือสัญชาติเมียนมา ในแง่ชาติพันธุ์อาจเป็นไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ซึ่งเราไม่ได้สนใจ แถมยังมองเป็นก้อนเดียว

“วันนี้กลับบ้านไป ลองถามพวกเขาดูสิว่าเป็นคนที่ไหน ถ้าเราเริ่มสนใจเรื่องเหล่านี้ของเขา เขาก็จะดีใจว่าเราไม่ได้เหมารวม”

พม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย กลุ่มหลักชื่อว่า บะม๊า (Bamar) อาศัยอยู่เยอะทางตอนกลางของประเทศ แถมลุ่มแม่น้ำอิรวดี ตั้งแต่มัณฑะเลย์ลงมาถึงพุกาม หากลงไปย่างกุ้งหรือต่ำกว่านั้นเป็นพื้นที่ของชาวมอญ ส่วนพื้นที่ทางกาญจนบุรีเป็นชาวกะเหรี่ยง และทางเชียงใหม่ เชียงราย เป็นของชาวรัฐฉานหรือชาวไทใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ กระจายอยู่ทั่วไป

“ของที่ผมเก็บจะชอบของมอญ บะม๊า ไทใหญ่ และสนใจเป็นพิเศษกับสิ่งของช่วงสมัยอาณานิคม เพราะเห็นภาพของโลกาภิวัตน์ว่ามีมานานแล้ว ไหนจะเรื่องการเชื่อมโลก การค้าขาย แลกเปลี่ยน อย่างภาพถ่ายที่ผมเก็บ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากจักรวรรดินิยมที่นำเทคโนโลยีการถ่ายภาพเข้ามา”

ที่เคยกล่าวว่าคอนโดของเอกไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์นั้นไม่เกินจริง เพราะเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องล้วนเป็นของสะสมจากต่างชาติทั้งสิ้น เช่น เก้าอี้ที่ฝรั่งสั่งทำโดยผสมผสานสไตล์ยุโรปเข้ากับศิลปะพม่า เอกเปรียบว่าเป็น La-Z-Boy เมื่อ 100 ปีก่อน

คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ

“ฝรั่งมักอินกับเรื่องท้องถิ่นเหล่านี้ พอเข้าไปประเทศไหนก็สั่งทำหมด” เขาเปิดตู้ (ที่มาจากพม่า) โชว์เครื่องเงินลายนูนสูงให้ชม

คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ
คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ

เราค้นพบว่าเครื่องเงินเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ชาวพม่าทำขายคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหยือกนม กาน้ำชา แก้วเบียร์ ถาดใส่อาหาร จิ๊กเกอร์ค็อกเทล ที่เสียบเมนู หรือกล่องใส่บุหรี่ ส่วนสิ่งที่คนพม่าทำมาใช้งานจริงคือขัน โดยลายที่นิยมก็หนีไม่พ้นเรื่อง รามเกียรติ์ พระเวสสันดร รวมไปถึงชาดกต่าง ๆ

ลายบนขันที่เอกหยิบขึ้นมาคือเรื่องราวของภิกษุณี พระปฏาจาราเถรี เดิมนางเป็นธิดาของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งหลงรักคนรับใช้จึงหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยกัน แต่หลังจากนั้นชีวิตของนางกลับทุกข์ทรมานแสนสาหัส สามีถูกงูกัดตาย ลูก 2 คนและบิดามารดาเสียชีวิต สุดท้ายนางเสียสติวิ่งแก้ผ้าอย่างไม่รู้ตัวจนพบพระพุทธเจ้า ภายหลังจึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ศึกษาพระธรรมจนสำเร็จเป็นภิกษุณี

คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ
คุยเรื่องเมืองพม่าที่น้อยคนจะรู้กับ 'ทวีป ฤทธินภากร' ผู้ศึกษาจากการสะสมผ้าลุนตยา ลามถึงภาพถ่ายโบราณกว่า 1,000 ใบ
J. & M. P. Bell & Co.Ltd. จานจากสกอตแลนด์ส่งมาขายที่พม่า โดยทำลายตามที่ชาวเอเชียนิยม

สมบัติใจทั้งหมดในห้องเริ่มต้นจากความต้องการรู้ สานต่อด้วยความใฝ่รู้ที่ไม่มีทางสิ้นสุดของเจ้าตัว 

เอกบอกว่าประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมของการสะสมมาตั้งแต่ต้น ขณะที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มเก็บสิ่งของตามแนวคิดของต่างชาติที่ปลูกฝังเรื่องนี้มานานแล้ว เช่น เริ่มสอนให้เด็กรู้จักสะสมอะไรก็ได้ เพราะการสะสมสร้างนิสัยของความอยากรู้ อยากศึกษาอะไรบางอย่างให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หลังใช้เวลา 4 ชั่วโมงลงลึกไปกับพม่าอย่างสนุกสนาน เราบอกลาเจ้าของห้องด้วยความอิ่มเอมใจ และตั้งใจกลับบ้านให้เร็ว เพื่อไปเปิดบทสนทนากับพี่สาวข้างบ้านว่า เล่าเรื่องที่บ้านของพี่ให้ฟังหน่อยสิ

การสะสมคือการต่อยอดการเรียนรู้ ความสงสัยพาเราไปหาผู้คนและค้นพบโลกกว้าง บางครั้งก็พาคนที่สนใจมาหาเพื่อให้เราส่งต่อความรู้ 

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับพม่าและชมภาพโบราณเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Unseen Burma โดย เอก-ทวีป ฤทธินภากร จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ ริเวอร์บุ๊คส์

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล