The Cloud x GC Circular Living

เราติดตามเฟซบุ๊กเพจที่ชื่อว่า ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป มาราวๆ ปีนิดๆ จากการแนะนำของเพื่อนคนหนึ่ง ช่วงแรก เราแค่รู้สึกสนุกไปกับการอ่านคอนเทนต์ของเพจในแต่ละวัน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าตัวเราเองก็สนุกกับการนำวิธีแยกขยะและดูแลโลกแบบง่ายๆ มาปรับใช้โดยไม่รู้ตัว

รู้ตัวอีกที เจ้าของเพจที่ชวนคนมารักษ์โลกด้วยวิธีน่ารักผู้นี้ ก็นั่งอยู่ตรงหน้าของเราแล้ว

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ คือชายหนุ่มผู้ทำเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ เขายังไม่แก่ แถมยังเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป, เปรม พฤกษ์ทยานนท์

ครั้งหนึ่งในสมัยมัธยมปลาย เขาเคยอยากเป็นหมอเพราะชอบบรรยากาศในโรงพยาบาล แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเรียนต่อ Computer Engineering ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเขาหลงใหลในการเล่นเกม

ก่อนหน้านี้ แทบไม่มีมุมไหนเลยที่เขาจะสนใจทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นในทุกวันนี้ เว้นเสียแต่ว่าเขาคือลูกชายของครอบครัวที่ทำธุรกิจรับซื้อขยะ และคลุกคลีกับการรีไซเคิลสิ่งที่ไม่มีค่าให้กลับมามีค่าอีกครั้ง

หลังจากเรียนจบ เขาก็เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ ในฐานะ Quality Assurance Engineer ของบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งนานกว่า 4 ปี เส้นทางการทำงานสายนี้ของเขากำลังเบ่งบานอย่างสวยงาม ชายหนุ่มคนนี้มีอนาคตที่ไกลมากรอเขาอยู่

ระหว่างนั้น เขาทำงานควบคู่ไปกับการเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เมื่อเรียนจบเขาต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตัวเองอีกครั้ง ยอมทิ้งหน้าที่การงานในเมืองหลวง ย้ายกลับมาบ้านเกิด เพื่อรับช่วงต่อกิจการรับซื้อขยะของที่บ้าน แม้มันคือสิ่งที่เขาพยายามหนีมาตลอดชีวิต แต่ทว่ามันเป็นชะตาที่ลูกชายคนหนึ่งของครอบครัวไม่อาจเลี่ยงได้

ปัจจุบัน หน้าที่หลักของเขาในโรงงานรับซื้อขยะ คือการตรวจบิล จ่ายเงิน ดูแลทุกอย่างในโรงงาน เขาใช้ชีวิตที่นี่ 6 วันต่อสัปดาห์ ทุกเช้าหลังอาบน้ำกินข้าวเสร็จ เขาจะเดินทางโดยเท้าแค่ไม่กี่ก้าวก็ถึงโต๊ะทำงานของตัวเอง แล้วเริ่มต้นงานของวันนั้นๆ จนถึงเย็น  

ช่วงเวลาว่าง คือเวลาสำหรับการทำคอนเทนท์ในเฟซบุ๊กเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เขาชวนคนมารักโลกและรับผิดชอบขยะด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มทุกวัย และด้วยยอด Follower กว่าห้าหมื่นคนตลอดระยะเวลาปีกว่า แสดงให้เห็นว่าชายคนนี้กำลังทำมันได้อย่างถูกต้อง 

ล่าสุดเรามีโอกาสได้ฟังเปรมพูดในงาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our planet งานเสวนาที่จุดประกายความคิดในการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรในทุกวันให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เขาเล่าว่า กำลังปั้นสตาร์ทอัพของตัวเองชื่อว่า Green2Get แอปพลิเคชันที่เหมาะสำหรับคนอยากแยกขยะทั้งมือใหม่และมือเซียน เป็น Circular Economy Platform ที่ให้ความรู้และการจัดการขยะรีไซเคิล เขาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยเหตุผลที่ว่า การจัดการขยะมันควรเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้บริโภค

นี่คือบทสนทนาที่พาเราไปรู้จักตัวตนของลุงซาเล้งคนนี้มากขึ้น

ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป, เปรม พฤกษ์ทยานนท์

ตอนนี้คุณกำลังสานต่อกิจการรับซื้อขยะของครอบครัว ย้อนเวลาหน่อย ธุรกิจนี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

ครอบครัวเราทำธุรกิจรับซื้อขยะมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 50 ปีแล้วครับ สมัยก่อนธุรกิจนี้กำไรดีมากเพราะว่ามันไม่มีคนทำ บางทีเราก็ได้ของมาฟรี แต่เดี๋ยวนี้เริ่มแข่งขันกันสูงแล้ว ในความทรงจำของเราคือ ที่บ้านจะมีกองขยะเป็นที่เล่นของเราตอนเด็กๆ เรามีกองกระดาษเป็นที่กระโดดเล่น มีกองพลาสติกให้เราเข้าไปคุ้ยตุ๊กตาพลาสติกเอามาเล่นต่อ พอเป็นวัยรุ่นเราก็เริ่มรู้แล้วว่ามันสกปรก ร่างกายเราก็ไม่ค่อยแข็งแรงด้วยเพราะเราแพ้ฝุ่น พอเรารู้สึกสกปรกเราก็ไม่ชอบ พอไม่ชอบเราก็พยายามจะหนี สัญญากับตัวเองว่าตอนเข้ามหาลัยจะไปเรียนคณะที่เราจะได้ทำงานอย่างอื่น เรารู้สึกว่าไม่อยากยุ่งกับมันอีก

แต่สุดท้ายคุณก็กลับมาทำมันต่อ

ใช่ครับ สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เราต้องกลับมาช่วยเพราะบ้านเรามีหนี้ ถ้าเราออกไปทำอย่างอื่นก็เหมือนเอาเปรียบพี่สาวที่ตอนนั้นกำลังทำงานนี้อยู่ เราอยากให้หนี้มันหมดก็เลยมาช่วยกัน

เราพยายามศึกษาว่าธุรกิจนี้มันเป็นยังไง มีมุมไหนอีกบ้างที่เราไม่เคยเห็น และพบว่าธุรกิจนี้มันมีข้อดีนะ มันช่วยโลกไปด้วยพร้อมกับทำกำไรไปด้วย มันเจ๋งตรงที่มันไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องไปเอาทรัพยากรมาเพิ่มมูลค่าแล้วเอาไปขายต่อ แล้วก็ต้องทำการตลาดอีก แต่ธุรกิจนี้มันก็แค่คุณขายขยะมาสิ แล้วเราก็ให้เงินคุณกลับไป แล้วเราก็ช่วยโลกลดขยะด้วย มองทางไหนมันก็ดีนะ

เล่าถึงเส้นทางของการรับซื้อขยะให้ฟังหน่อย

ธุรกิจนี้มันมีหลายชั้นมากแล้วแต่ว่าเรามีกำลังขนาดไหน ตั้งแต่เดินเก็บขยะ เป็นรถซาเล้งหรือกระบะสักคันขับไปรับซื้อขยะ ไปจนถึงเปิดร้าน ถ้าใหญ่กว่านั้นก็คือมีเครื่องจักร สามารถรับซื้อได้เยอะขึ้น พอมีเครื่องจักรเราก็สามารถทำน้ำหนักได้ แล้วก็ไปส่งโรงงาน ธุรกิจของเราอยู่ในจุดที่มีเครื่องจักรแล้วครับ เรารับซื้อจากร้านเล็กๆ ให้เค้าคัดแยกมาก่อนหรือไม่ก็มาคัดแยกเอง แล้วเราก็ส่งไปโรงงานรีไซเคิลต่อ

ในกระบวนการคัดแยก ก็ยังใช้คนคัดแยกด้วยมือ เพราะจะได้รู้ว่าอันไหนขายได้อันไหนไม่ได้ ต้องบอกว่าอาชีพนี้ถ้าใครไม่ยอมมือเปื้อนก็ทำไม่ได้ ต้องมือเปื้อนกันทุกคน เราจะมีคติว่าถ้าวันไหนไม่ได้แผลแสดงว่าไม่ได้เดินเข้าไปในโรงงาน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ยังคล้ายๆ เดิมอยู่ ที่ผ่านมาแทบไม่มีเทคโนโลยีอะไรมาช่วยเลย อาจจะแค่มีเครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้นนิดหน่อย แต่ว่ารูปแบบก็ยังเป็นเหมือนเดิม

ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

ซึ่งพอคัดแยกขยะเสร็จแล้ว ขยะก็จะถูกส่งไปตามโรงงานอื่นต่อตามชนิดของมัน

ใช่ครับ อย่างเช่นกระดาษ เราก็จะส่งต่อให้โรงงานเยื่อกระดาษ ซึ่งก็มีอยู่หลายโรงในประเทศไทย ส่วนพลาสติกก็ไปโรงหล่อพลาสติก ก่อนส่งไปก็ต้องแยกเกรดเพราะพลาสติกแต่ละเกรดมันใช้อุณหภูมิในการหล่อที่แตกต่างกัน พลาสติกนี่ถ้ามีร้อยเกรดก็ต้องส่งให้โรงงานร้อยโรง เพราะฉะนั้นพลาสติกมันเลยยากหน่อย หรือแม้กระทั้งเกรดเดียวกันก็ตามอย่าง Polypropylene ที่เป็นถุงกับเป็นชิ้นก็มีคุณสมบัติต่างกันแล้ว เราก็ต้องส่งไปคนละโรงงาน ส่วนขยะประเภทโลหะจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ เหล็กที่เป็นโลหะหลักของโลกกับโลหะอื่นๆ ที่เป็นโลหะมีค่า เช่น ทองแดง ทองเหลือง อะลูมิเนียม โลหะประเภทเหล็กก็จะมีโรงงานหลอมเยอะในประเทศไทย เอาไปทำเหล็กเส้นสำหรับก่อสร้างได้ ส่วนโลหะอื่นๆ เราก็จะเน้นส่งออก เพราะโรงงานหลอมในไทยก็ยังมีไม่เยอะ

แล้วเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไปมีที่มายังไง

ตอนแรกที่เรากลับมาช่วยที่บ้าน เรารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างตามสไตล์ของคน Gen Y แต่กลายเป็นว่าเราเปลี่ยนไม่ได้เพราะเป็นธุรกิจครอบครัว เราไม่สามารถชี้ซ้ายชี้ขวาได้ มันก็เลยเป็นเหมือนปมในใจว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น เราเลยลองดูว่ามีวิธีไหนมั้ยที่พอจะทำได้ เลยเริ่มจากทำสตาร์ทอัพก่อน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เราเลยมาคิดอีกทีว่าในฐานะที่เราเป็นคนธรรมดาจะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง เราคิดว่าเรามีพลังของโซเชียลมีเดียนะ อยากลองดูว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มั้ย ถ้าเราส่งต่อเรื่องนี้มันจะมีใครสนใจมั้ย เราตั้งใจไว้ว่าจะลองโพสต์แค่วันละโพสต์เป็นเวลาสักปีหนึ่ง ถ้าสุดท้ายแล้วไม่มีคนสนใจเลยเราก็จะเลิก

แต่กลายเป็นว่าผลตอบรับมันดี บางทีเราก็ตกใจเวลามีคนมาอินบ็อกซ์มาถามเพราะเขาสนใจ เราได้เห็นว่ามีคนที่จริงจังมากๆ กับเรื่องนี้เหมือนกัน เช่นเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีหลายคนเหมือนกันที่ซื้อแกงถุงมากินแล้วล้างถุงเอาไปตากแยกไว้ด้วย เขาก็ถ่ายรูปส่งมาให้เราดู ถ้าคนเริ่มล้างเค้าก็จะรู้ว่ามันลำบาก แล้วก็จะรู้สึกว่าไม่ใช้ดีกว่า พกปิ่นโตดีกว่าเพราะง่ายกว่าเยอะ

ซึ่งจริงๆ ของพวกนี้ถ้าเราจัดการอย่างถูกวิธีมันก็เข้าสู่กระบวนการได้ง่าย

ใช่ครับ เราเคยเจอคนเก็บขวดน้ำที่ทั้งกรีดฉลาก เก็บฝา ทำดีมากเลย เขาจริงจังมาก แต่เราคิดว่าบางทีมันก็ใช้พลังงานเยอะเกินไป จริงๆ มันไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้นะ บางอย่างอาจจะจำเป็นแต่บางอย่างไม่ต้องก็ได้ เช่น ขวด PET คุณไม่ต้องกรีดฉลากหรือแกะฝาก็ได้ มันมีโรงงานที่ใช้เครื่องจักรทำให้อยู่แล้ว แค่คุณทิ้งให้ถูกถังหรือเก็บรวมไว้ก็พอ

ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป, เปรม พฤกษ์ทยานนท์

ตั้งแต่ทำเพจมา เรื่องไหนที่เรารู้สึกชื่นใจที่สุด

         ทุกครั้งที่แฟนเพจอินบ็อกซ์เข้ามาว่าเค้าปรับยังไงบ้างเราก็รู้สึกดีใจนะ คือดีใจมากเลยแหละว่าเราทำตรงนี้มันเป็นประโยชน์ ตอนก่อนทำเพจเราก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนอินกับอะไรแบบนี้รึเปล่า โพสต์แรกๆ ของเราเป็นโพสต์สอนแยกขยะ แล้วมีคอมเมนต์แรกเลยนะบอกว่าคงไม่มีใครทำขนานนั้นน่ะสิ แปลได้ง่ายๆ ว่าคงไม่มีใครบ้ามาแยกละเอียดขนาดนี้ แต่สุดท้ายก็พบว่ามันมีคนทำตามที่เราบอกด้วยจริงๆ

คนทั่วไปอย่างเราจะช่วยให้งานแยกขยะของลุงซาเล้งง่ายขึ้นได้ยังไงบ้าง  

เราแนะนำว่าคุณไม่ต้องแยกขยะทุกอย่าง เริ่มจากแยกแค่อย่างเดียวก็พอ นอกนั้นทิ้ง จากนั้นคุณต้องหาที่ไปให้มันให้ได้ สมมติที่ออฟฟิศคุณอยากแยกขยะ ให้ไปถามแม่บ้านเลยครับ ขวดน้ำนี้ขายได้มั้ย กระดาษแบบนี้ขายได้มั้ย ถ้าขายได้ค่อยแยกเฉพาะชนิดไป แล้วอย่าไปทิ้งลงถังขยะอื่น ต้องทิ้งลงถังสำหรับอันนี้เท่านั้น อย่างอื่นถ้ายังแยกไม่เป็นใส่รวมกันไว้ก่อน เอาที่คุณชัวร์แค่อย่างเดียวก็ลดขยะไปได้เยอะมากแล้วครับ ส่วนถังขยะที่ไว้ใส่ก็ควรนิยามแบบแคบๆ จะดีกว่า เช่น ถังสำหรับขวดพลาสติกใสไม่มีสี หรือถังขยะสำหรับกระดาษเท่านั้นไม่เอากระดาษเคลือบพลาสติก อะไรแบบนี้

ต้องบอกว่าการแยกขยะมันแยกยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมาทำ ถ้าจะบอกให้ประชาชนทั่วไปแยกขยะแบบดีๆ ให้หน่อย มันก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปสอนคนตั้งกี่ล้านให้เข้าใจการแยกที่ถูกต้องตามหลักธุรกิจ ปัญหาตอนนี้ที่เจอคือขยะมันสกปรกรวมกันเละเทะจนคุณภาพมันต่ำลงไป เพราะว่าคนเอาขยะอินทรีย์ไปรวมกับขยะรีไซเคิล แนะนำว่าให้แบ่งเป็นขยะ 3 กลุ่มง่ายๆ เลยครับคือ ขยะอินทรีย์หรือขยะที่ย่อยสลายได้ให้แยกออกไปก่อน พร้อมกับขยะทั่วไปที่ขายไม่ได้ พวกนี้ต้องเอาไปลงแลนด์ฟิลล์ แล้วสุดท้ายคือขยะมีมูลค่าที่เอาไปขายได้

แล้วอย่างคนในเมืองที่ยังต้องพึ่งพาร้านสะดวกซื้อ ยังต้องใช้ถ้วยพลาสติก หรือถุงพลาสติก มีวิธีไหนมั้ยที่เราจะช่วยรับผิดชอบขยะเหล่านั้นได้มากขึ้น

เราพยายามทำสตาร์ทอัพมาตอบโจทย์ตรงนี้ มันไม่ควรจะไปลำบากผู้บริโภคเกินไป ผู้บริโภคควรจะมีทางออกที่มันง่าย เรามองว่าเรื่องนี้จะไปโทษผู้บริโภคอย่างเดียวก็ไม่ถูก ภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยตรงนี้ อย่างบรรจุภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นหรือยุโรป เขาจะบอกชัดเจนเลยว่าขยะชิ้นนี้เผาได้หรือเผาไม่ได้ หนึ่งคือ รัฐบาลเซ็ตระบบก่อนว่าขยะส่วนหนึ่งจะเอาไปเผา และขยะอีกส่วนที่จะเอาไปรีไซเคิลมีอะไรบ้าง แล้วให้ทุกคนทำตามข้อบังคับนี้ เพราะฉะนั้น บรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นจึงบอกละเอียด แต่ของไทยบางทีมีแค่เครื่องหมายรีไซเคิลเปล่าๆ หรือบางทีก็ไม่มีเลย คือมันไม่มีประโยชน์เลยมันไม่ต้องใส่มาก็ได้ ประกอบกับไม่มีแนวทางชัดเจนด้วย ทางที่ง่ายที่สุดคือให้หน้าที่การแยกยกให้เป็นหน้าที่ของร้านเถอะ แต่คุณเก็บของดีมาให้ได้ก่อน เช่น พลาสติกเกรด PP กับ PE แยกมายังไงก็ขายได้

เปรม พฤกษ์ทยานนท์

จริงๆ ระบบที่ดีมันมีส่วนในการปรับพฤติกรรมคนได้มากอยู่เหมือนกัน คุณมีประเทศตัวอย่างไหม

เราว่าไต้หวันเหมาะที่จะเป็น Role Model ของไทยนะ เพราะว่าคนและระบบเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน เมืองก็คล้ายกัน ที่ไต้หวันจะเป็นระบบแบบ Pay as your throw คือคุณทิ้งเท่าไหร่คุณจ่ายเท่านั้น เขาจะมีถุงสำหรับใส่ขยะ ให้คุณซื้อถุงมาแล้วก็อัดของใส่เต็มที่เลย มันช่วยประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง จากนั้นจะมีรถเก็บขยะ 2 คัน คือรถขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไปมารับขยะเพื่อให้ทิ้งตามเวลา ขยะทั่วไปคือขยะที่คุณต้องจ่ายตังค์เพื่อทิ้ง พอเป็นอย่างนี้คนก็จะพยายามรีไซเคิลได้มากที่สุด ซึ่งเราคิดว่ามันน่าจะพอทำได้ในประเทศไทย เราคงไม่ต้องทำเทคโนโลยีเหมือนสวีเดนหรือเยอรมนีอะไรขนาดนั้น เราว่ามันยากไปนะ แต่ว่าระบบนี้ดีตรงที่คุณเอารถคันเดิมที่มีมาใช้ก็ได้ คันหนึ่งเป็นรีไซเคิล คันหนึ่งเป็นย่อยสลาย ขับไปคู่กัน

ในภาพรวมคุณคิดว่าการจัดการขยะของบ้านเรามีทิศทางเป็นยังไง

คือพอเราทำงานในฐานะแอดมินเพจ เราก็รู้สึกว่ามันดีขึ้น เพราะว่าคนที่ตามเพจเราเค้าก็จัดการขยะได้ดีขึ้นทุกคน แต่พอเราไปเดินตลาด เรากลับไม่เห็นคนเปลี่ยนแปลงเลยนะ แต่ก็เชื่อว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ ปรับกันไป มันคงไม่เลวลงหรอก มันคงดีขึ้นแต่อยู่ที่ว่าจะเร็วจะช้าขนาดไหน

อะไรทำให้คุณเชื่ออย่างนั้น

เพราะว่าตอนนี้มันกำลังจะถึงช่วงที่วิกฤต มันก็อยู่ที่คุณแล้วว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนมันก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ตอนนี้คนเริ่มรู้สึกได้เพราะว่าเริ่มมีควันพิษ มันเริ่มไม่ไหวแล้วนะ พอเป็นอย่างนี้คนก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ประเด็นก็คือว่าถ้าถึงตอนที่เราทุกคนทนไม่ไหวแล้วจริงๆ มันก็จะแก้อะไรไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันถึงจุด Point of no return แล้ว แต่ถ้าตอนนี้ยังพอทำได้ เพราะงั้นเราเชื่อว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือการจัดการขยะมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าพวกเราจะทำให้มันส่งผลได้ทันเวลารึเปล่า ซึ่งตอนนี้ UN ออกมาประกาศแล้วว่าเหลือเวลาอีกแค่ 11 ปี หลังจากนั้นก็ถือทำอะไรไม่ได้แล้วนะ คุณก็หาตัวรอดเอาเองแล้วกัน (หัวเราะ)

กลับมาที่ตัวคุณบ้าง แพลนในอนาคตต่อไปของคุณจะเป็นยังไง ทั้งธุรกิจครอบครัวและงานของตัวเอง

ธุรกิจครอบครัวเราคงช่วยงานไปเรื่อยๆ ธุรกิจดั้งเดิมมันเปลี่ยนค่อนข้างยาก แต่ที่อยากทำคืออยากเพิ่มประเภทขยะที่จะรับซื้อให้มากขึ้น ร้านรับซื้อขยะขนาดเล็กเค้ายังรับซื้อของได้ไม่เยอะและหลากหลายเพราะว่ามันยังขาดโรงงานที่จะรับซื้อต่อ ซึ่งถ้าเราเพิ่มประเภทขยะให้มากขึ้นได้ ร้านเล็กๆ เค้าก็จะสามารถรับซื้อได้มากขึ้น คนก็แยกได้มากขึ้น เราเลยอยากทำตรงนี้

ในฐานะเจ้าของเพจ เราก็คงทำเพจต่อไปแต่ว่าลดความถี่ลง ตอนแรกเรากะจะทำแค่ 1 ปี อันนี้มันเกินปีแล้วก็เลยขอขี้เกียจบ้าง จริงๆ เราอยากทำเป็นคลิปวิดีโอเลยนะ เนื้อหาการสอนคนแยกขยะมันควรเป็นคลิปวิดีโอ แต่ว่าการตัดต่อมันนานไปสำหรับเรา เราเคยลองทำแล้วใช้เวลาตั้ง 6 ชั่วโมง ซึ่งเราก็ไม่มีเวลาขนาดนั้น

ส่วนสตาร์ทอัพ เราอยากจะผลักดันในเรื่องนี้โดยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อยากให้คนทำทุกอย่างได้ง่ายขึ้นและออกแรงให้น้อยที่สุด Core Idea ของสตาร์ทอัพตัวนี้คือให้เข้าถึงคนหมู่มากให้ได้ เพราะถ้าไม่ได้แตะแมสมันแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเราทำแต่กับสายกรีนมันก็จะไม่ได้ผลอะไรเลยเพราะจำนวนคนมันมีไม่เยอะ ไอเดียของเราคือให้คนธรรมดาที่ไม่ได้แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากสามารถทำสิ่งนี้ได้เหมือนกัน มีระบบดีๆ ให้เขา มันเหมือนการบังคับให้เขาทำกลายๆ โดยที่เขาไม่รู้สึกลำบากใจ อันนี้คือไอเดียที่ว่าจะต้องทำให้ได้ ไม่งั้นมันไม่สามารถไดรฟ์อะไรได้เลย

บางทีเราก็รู้สึกว่าเหนื่อยเหลือเกิน แต่สุดท้ายเราก็ได้ข้อสรุปว่าไม่ต้องรีบก็ได้ คือเราก็คงทำไปเรื่อยๆ นั่นแหละ ถ้าเหนื่อยก็หยุดพักบ้าง แต่คงไม่ได้เปลี่ยนเส้นทาง เพราะแพสชันมันเปลี่ยนกันยาก เราคงค่อยๆ ทำไปแล้วลองดูว่าสุดท้ายมันจบที่ไหนมากกว่า สุดท้ายเราอาจจะแค่ทำเพจ แต่มันมีอิมแพคก็โอเคแล้ว

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คุณอยากเห็นที่สุดในเรื่องการจัดการขยะของบ้านเราคืออะไร

เราอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าขยะเป็นของพวกคุณ คือตอนนี้ทุกคนไม่ได้รู้สึกว่าขยะเป็นของพวกคุณ ทุกคนเห็นขยะเป็นเรื่องที่ต้องให้คนอื่นจัดการ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเข้าใจว่าขยะมันเป็นของฉันนะ วิธีการจัดการขยะของทุกคนก็จะเปลี่ยนไป

เปรม พฤกษ์ทยานนท์

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี

Photographer

Avatar

เดโช เกิดเดโช

หนุ่มเชียงใหม่ที่พูดคำเมืองไม่ได้เลย เรียนถ่ายภาพ ชอบศิลปะ แต่ที่ชอบมากกว่าศิลปะคือชอบหาของกินอร่อยๆ