“ลองยกดูสิ”

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล บอกให้ผมลองยกอุปรณ์ที่เขาแบกตลอดการเดินทางถ่ายทำรายการ เถื่อน Travel

หลังจากเอื้อมมือไปพยุงกระเป๋าเป้ใบโตจึงรู้ว่าสัมภาระของเขานั้นหนักมาก หากแต่นั่นเป็นเพียงสิ่งที่ผมและคนนอกมองเห็นด้วยตาเปล่า เมื่อเราได้นั่งลงสนทนากันในร้านอาหารญี่ปุ่นใจกลางเมืองโดยมีอาหารมื้อกลางวันของเขาเป็นพยาน ผมก็พบว่ามีสิ่งที่เขาต้องแบกรับอยู่ภายในอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าไม่เบา

นี่เป็นครั้งที่ 3 ในชีวิตที่ผมได้สัมภาษณ์ชายผู้นี้ ครั้งแรกผมสัมภาษณ์เขาในฐานะนักเขียน ครั้งที่สองผมสัมภาษณ์เขาในฐานะนักดนตรี และครั้งนี้ผมสัมภาษณ์เขาในฐานะนักทำสารคดี

การพูดคุยแต่ละครั้งนอกจากบทบาทที่เปลี่ยนแปลง ผมยังเห็นเป้าหมายในชีวิตของเขาที่เปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งเขาอยากให้โลกจดจำ ครั้งสองเขาอยากทำตามแพสชันส่วนตัว แต่ครั้งนี้เขาฝันถึงสิ่งที่ต่างออกไป

ระยะไมล์ในการเดินทางทำให้ข้างในของเขาเติบโต

13 ทริปต่อปี คือค่าเฉลี่ยการเดินทางของเขาในช่วงปีหลัง ตอนที่เราคุยกัน เขาบอกว่าปลายเดือนนี้จะต้องบินไปประเทศเอธิโอเปีย พื้นที่ที่ร้อนที่สุดในโลก อุณหภูมิสูงสุด 53 องศา (แค่คิดก็เหงื่อออกแล้ว) เพื่อถ่ายรายการ เถื่อน Travel ซีซั่น 2 ซึ่งเป็นซีซั่นที่เขาว่า ‘เถื่อน’ กว่าซีซั่นแรกเสียอีก

เถื่อนขนาดที่ว่า เขาบรรจุประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกอันดับที่หนึ่ง ที่สอง และที่สี่ อยู่ในลิสต์การเดินทางซีซั่นนี้

ไม่ต้องถามหรอกว่าเขากลัวตายมั้ย-ใครมันจะไม่กลัว จริงไหม

สิ่งที่ผมสงสัยมีมากกว่านั้น

วรรณสิงห์, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, เถื่อน Travel

คุณทำประกันชีวิตหรือเปล่า

ทำ แต่ไม่ได้ทำเพราะเหตุผลเรื่องความเสี่ยง ทำเพื่อลดภาษีมากกว่า สุดท้ายเราทำก็ไม่ได้ใช้เงินอยู่ดี เราก็ให้แม่ แต่จริงๆ แม่ไม่ได้อยากให้ลูกทำประกันหรอก เขาอยากให้ลูกไม่ไปมากกว่า

แม่ไม่อยากให้ไปแล้วคุณบอกแม่ยังไง

ในเมื่อห้ามกันไม่ได้เราก็พยายามอธิบายให้ฟังว่าแผนการเป็นยังไง ไปอยู่โซนไหนบ้าง บริหารความเสี่ยงอย่างไร พอเขารู้ว่าเราเตรียมตัวไปดี แล้วจากซีซั่นแรกเขาก็เข้าใจแล้วว่า I know what I’m doing. เขาก็ค่อนข้างปล่อยมากขึ้น วางใจในงานของเรามากขึ้น ส่วนพวกประกันการเดินทาง ประเทศพวกนี้ที่ผมไปเขาไม่รับเคลมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องทำก็ได้ ทำไปก็เท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นเกิดเป็นอะไรไป ใช้คำว่าตายฟรีได้มั้ย

ไม่ฟรีหรอก เราก็ได้งานออกมา คือถ้าเราไปคิดว่าตายแล้วได้ตังค์เราจะไปทำไม แต่ที่ไปเราได้งานที่เรารู้สึกภาคภูมิใจกับมันมากๆ แล้วในชีวิตคนคนหนึ่ง ในเฟสนี้ของชีวิต การมองงานของตัวเองแล้วรู้สึกแบบกอดอกแล้วก็พยักหน้ากับมันได้ เราว่ามันก็เป็นความรู้สึกที่ดีมากอีกอย่างหนึ่ง

มันทั้งเติมเต็มตัวเรา เติมเต็มคนดู คนดูเขาก็ได้สร้างคอมมูนิตี้ของเขาเอง เรารู้สึกดีที่เราได้เริ่มอะไรบางอย่างแล้วก็มีเด็กๆ ที่อยากทำแบบนี้ คำแนะนำแรกของเราคือ น้องแน่ใจนะว่าจะทำ (หัวเราะ) แต่เราก็ดีใจว่ามันเกิดเจเนอเรชันของเด็กที่อยากเป็นอย่างอื่น นอกจากนักร้อง นักแสดง เฮ้ย มาเป็นนักทำสารคดีมั้ย มันก็คูลได้เหมือนกัน

คุยกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เรื่องเบื้องหลัง 'เถื่อน Travel' สารคดีท่องเที่ยวที่เถื่อนที่สุด และการตามหาความหมายของชีวิต

วรรณสิงห์, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, เถื่อน Travel

เห็นว่าคุณไปประเทศที่อันตรายอันดับ 1 – 4 ของโลกมาครบแล้ว คุณสนใจอะไรในความอันตราย

อย่างแรกเลยคือเราต้องย้ำว่า เราไม่ได้ไปท้าดวงตัวเอง ไม่ได้ไปเพื่อบอกว่ากูแน่ เรารู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้แน่ และก็ไม่ได้ไปเพื่อพิสูจน์ความกล้า แต่ว่าที่ไปเพราะที่เหล่านี้มีเรื่องที่น่าสนใจโคตรๆ

คนมักคิดว่า War Zone เหมือนกันหมด จริงๆ แต่ละประเทศมันไม่เหมือนกันเลย สถานการณ์ไม่เหมือนกัน ชีวิตไม่เหมือนกัน อย่างเช่นอิรักกับอัฟกานิสถาน อัฟกานิสถานสถานการณ์แย่กว่าอิรักเยอะ เพราะอิรักมีน้ำมัน แปลว่าภายใต้เสียงระเบิดเสียงปืน อิรักยังมีห้างขนาดใหญ่เท่าสยามพารากอน มีสวนสนุกขนาดมหึมา มีรถใหม่ๆ ขับกันทั้งเมือง ขณะที่อัฟกานิสถานเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ส่วนโซมาเลียไม่มีแม้กระทั่งรัฐบาล อัฟกานิสถานยังมีรัฐบาลนะ แล้วลองคิดสภาพบ้านเมืองที่ไม่มีใครรักษากฎหมายดูสิ อย่างโซมาเลียเราจะได้เห็นว่าแต่ละเขตจะมี Warlord แล้ว Warlord แต่ละคนก็จะมีกองทัพของตัวเอง ในเมืองเดียวกันเราจะเห็นเครื่องแบบทหารประมาณสิบยี่สิบแบบ แล้วก็สู้รบกันบนถนน

ระหว่างถ่ายทำคุณเข้าใกล้ความตายที่สุดตอนไหน

ตอนที่เราไปกรุงคาบูล ที่อัฟกานิสถาน เขาบอกว่าจะเกิดเหตุอาทิตย์ละครั้ง ผมไป 2 อาทิตย์ก็เกิดเหตุ 2 ครั้งพอดี ครั้งแรกคือมีคนไปกราดยิงในมหาวิทยาลัย นักศึกษาและอาจารย์ตายไปเยอะมาก แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้ใกล้เราเท่าไหร่ ส่วนครั้งที่สอง ตอนนั้นเราเพิ่งขึ้นเครื่องบินออกจากกรุงคาบูลเพื่อไปต่อเครื่องที่อิสตันบูล พอเครื่องลงจอดที่อิสตันบูลเราก็เช็กข่าว ปรากฏว่าเพิ่งมีระเบิดลงที่กรุงคาบูล คนตายไป 90 คน แล้วระเบิดลงตรงถนนเส้นที่ผมขับรถผ่านทุกเช้าพอดี

คุณห้อยพระอะไร

(หัวเราะ) เผอิญไม่ค่อยเชื่อก็เลยไม่ได้ห้อย

ถ้าไม่ได้ห้อยพระ อะไรคือสิ่งยึดเหนี่ยวระหว่างทาง

มันคืองาน ระหว่างเราไปทำงานความกลัวมันหายไป เพราะเราโฟกัสอยู่กับงานร้อยเปอร์เซ็นต์ พอโฟกัสมากๆ มันก็เหมือนทำสมาธิไปในตัว หัวก็ไม่ฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่น ความนอยด์ ความโกรธ ความกลัว มันหายไปหมด เหลือแค่โฟกัสเท่านั้น

เราคิดแค่ว่าช็อตต่อไปต้องถ่ายอะไร สัมภาษณ์ตรงนี้ได้ประเด็นพอหรือยัง เดี๋ยวต้องพูดอะไรบ้าง เดี๋ยวเฟรมนี้ต้องต่อเฟรมนี้นะ ตัดต่อในหัวไปด้วยตลอดเวลา มันเต็มความจุในหัวเราแล้ว ไม่มีเวลาไปกลัวหรอก ซึ่งผมว่าในสภาพสงคราม พวก War Journalist ทั้งหลาย เวลาทำงานก็คงประมาณนี้เหมือนกัน พอโฟกัสอยู่ที่ภารกิจตรงหน้ามันก็ชัตดาวน์สมองส่วนหนึ่งไปได้ เราเอาตัวไปอยู่ตรงนั้นเอง ก็ต้องทำให้เสร็จ ไม่อย่างนั้นจะไปทำไม เสียเที่ยว

วรรณสิงห์, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, เถื่อน Travel
วรรณสิงห์, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, เถื่อน Travel

อย่าง War Zone ดูเผินๆ เหมือนไกลตัวคนไทย ทำไมถึงต้องไปดูไปเห็นในสิ่งที่ไกลตัวเราขนาดนั้น

จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวนะ ถ้าเรามองในเชิงสถานการณ์การเมืองมันไกล แต่ถ้าเรามองเรื่อง Human Nature ความขัดแย้งมันมีทุกที่ ประเทศไทยไม่กี่ปีก่อนเกือบมีสงครามการเมืองแล้ว ความเกลียดชังก็ยังคงอยู่ในสังคม ซึ่งความเกลียดชังพวกนี้มันถูกออกแบบมา มันมีความเชื่อมโยงกันในกระบวนการสร้างความเกลียดชังในเชิงการเมืองในหลายๆ สังคม เพราะฉะนั้น การเข้าใจความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงว่า หนึ่ง เงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งคืออะไรในเชิงการเมืองและสังคม สอง กระบวนการสร้างความเกลียดชังในระดับสังคมและปัจเจกบุคคลเป็นยังไง มันก็ทำให้เราเข้าใจสังคมเราเองมากขึ้น

Conflict Study และ Conflict Resolution Study มันเป็นการศึกษาที่เป็นสากล เท่าที่ผมเห็นมา ความขัดแย้งในทุกประเทศ จุดเริ่มมันก็ไม่ได้ต่างกันมากมายนัก เมื่อคนในสังคมมีอำนาจในการเจรจาไม่เท่าเทียมกัน สุดท้ายปืนก็เป็นอำนาจต่อรองในการเจรจา แล้วมันก็ฉายซ้ำอย่างนี้ในแทบทุกประเทศ แล้วปืนพออยู่ไปนานๆ ก็เป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว หรืออย่างเรื่องขั้วโลก คนคิดว่าไกลตัวมาก เมื่อวานพอผมนำเสนอเรื่องที่ธารน้ำแข็งละลายไปเยอะมาก แล้วถ้าละลายทั้งหมดน้ำจะสูงขึ้น 7 เมตร ซึ่งเมืองเมืองหนึ่งที่จะโดนท่วมแน่นอนคือกรุงเทพฯ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว

การที่เราเดินทางเยอะๆ สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกับเราคือเราไม่ได้มองว่าโลกมันเป็นโลกที่กว้าง แต่มันคือสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด และเราก็จะได้เห็นว่าสิ่งที่เราเล่าตรงนี้มันมีผลกระทบกับด้านนั้นยังไง การเมืองประเทศนี้ส่งผลกับการเมืองประเทศนั้นยังไง สิ่งหนึ่งที่ เถื่อน Travel อาจจะทำให้คนดูรู้สึกเองก็คือ การรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก แล้วก็ตระหนักถึงประเด็นปัญหาในระดับที่ใหญ่กว่าประเทศไทยออกไป

วรรณสิงห์, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, เถื่อน Travel

เห็นคุณโปรโมตรายการว่า ‘รายการท่องเที่ยวที่เถื่อนที่สุดในเมืองไทย ไปคนเดียว ถ่ายคนเดียว ในที่ที่คนดีๆ เขาไม่ไปกัน’ แล้วคุณเป็นคนแบบไหนกันถึงไป

เป็นคนแบบนี้ (หัวเราะ) คือเราได้รับอิทธิพลจากครอบครัว สิ่งหนึ่งที่เราได้จากพ่อแม่คือความรู้สึกที่ว่าไม่พอใจที่จะใช้ชีวิตอย่างตื้นเขิน ไม่พึงพอใจที่จะแค่มีงานทำหรือมีแค่เงินก็พอแล้ว ไม่รู้สิ การคุยกับพ่อคุยกับแม่ทุกวันมันทำให้รู้สึกได้เองว่าชีวิตมีอะไรมากกว่านั้นเยอะเลย เพราะฉะนั้น ความต้องการค้นหาความหมายของชีวิต การอยากเข้าใจโลกเข้าใจจักรวาลที่อยู่รอบตัวเรามันมาจากครอบครัว ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นการเดินทางเท่านั้น เพียงแค่สำหรับเรามันออกมาในรูปแบบนี้ สำหรับพี่ชายผม (แทนไท ประเสริฐกุล) เขาก็ออกมาในรูปแบบของวิทยาศาสตร์

เราเองอยากเข้าใจอะไรมากกว่าสิ่งที่เราถูกสร้างมาในโครงสร้างสังคม ถ้าเราพึงพอใจกับความสำเร็จทางโลกทางสังคมอย่างเดียว เราว่าเราก็สำเร็จตรงนั้นไปแล้ว ชื่อเสียงเงินทองอะไรมันก็พอแล้วใช่ไหม แต่ว่าเราอยากได้มากกว่านั้น เราอยากมีชีวิตที่ลึกกว่านั้น อยากเข้าใจอะไรได้ลึกกว่านั้น อยากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรา

       

พอพ่อแม่ได้ดู เถื่อน Travel  เขาว่าอะไรบ้างไหม

อย่างแม่เขาก็จะแชร์ในเฟซบุ๊กตลอดว่าลูกฉัน ส่วนพ่อเขาเป็นคนไม่ค่อยชมลูกอยู่แล้ว แต่ว่าผมจำได้ประโยคหนึ่ง ตอนนั้นคุยอะไรกันอยู่ไม่รู้ แล้วพ่อก็พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า “ไอ้อย่างที่เธอทำ พ่อก็ทำไม่ได้หรอก” ซึ่งประโยคนี้มันมีความหมายกับเรามาก เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราก็ไม่แน่ใจว่าพ่อยอมรับในตัวเราหรือเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์มีคุณค่าขนาดไหน ซึ่งประโยคนี้เขาพูดมาแล้วก็ผ่านไป โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะชมอะไรเรามากมาย แต่มันอยู่กับเรามาก เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเขาเคารพงานเราแล้ว

การถ่ายรายการ เถื่อน Travel ดูลำบากมาก แต่ดูคุณเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างพร้อม แล้วคุณเรียนรู้ความลำบากจากไหน

เริ่มจากเราไม่ได้รู้สึกว่ามันลำบาก เรารู้สึกว่าเราสนุกและตลกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถามว่าในมาตรฐานของคนทั่วไปมันคงลำบากแหละ เช่น เดินป่าที่ปาปัวนิวกินีโคลนขึ้นมาถึงขา แมลงอะไรเกาะตัวเต็มไปหมด หรืออย่างเทปที่ไปกรีนแลนด์ที่กำลังจะออกอากาศอุณหภูมิ -32 องศา แล้วผมต้องถ่ายตลอดเวลา ห้ามกลับเข้าบ้าน เพราะถ้าเข้าบ้านก็เท่ากับไม่ได้งาน เราก็ต้องอยู่ข้างนอกตลอดเวลา ขี้มูกแข็งเป็นน้ำแข็ง ฉี่ก็เป็นละอองน้ำแข็ง คือจะมองว่าลำบากก็ได้ จะมองให้มันมหัศจรรย์ก็ได้ เฮ้ย ขี้มูกกูเป็นน้ำแข็งว่ะ

แล้วเดี๋ยวปลายเดือนนี้เราจะบินไปถ่ายที่เอธิโอเปีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ร้อนที่สุดในโลก อุณหภมิ 53 องศา ก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง คนเขาบอกว่าอย่าไปเดือนนี้ เดือนนี้เป็นหน้าร้อน ผมก็เลือกไปเดือนนี้เลย เพราะว่าอยากรู้ว่าร้อนที่สุดจริงๆ เป็นยังไง

คือถ้าพูดถึงเรื่องความสมบุกสมบัน เราก็อาจจะสูงกว่าคนอื่นเขาหน่อย แต่ถามว่าเรารู้สึกลำบากไหม เราไม่ค่อยรู้สึกขนาดนั้น เราแค่รู้สึกยิ่งเจอยิ่งสนุกมากกว่า

คุยกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เรื่องเบื้องหลัง 'เถื่อน Travel' สารคดีท่องเที่ยวที่เถื่อนที่สุด และการตามหาความหมายของชีวิต
คุยกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เรื่องเบื้องหลัง 'เถื่อน Travel' สารคดีท่องเที่ยวที่เถื่อนที่สุด และการตามหาความหมายของชีวิต

เคยชั่งไหมว่าน้ำหนักสิ่งของบนตัวที่ต้องแบกหนักแค่ไหน

รวมทั้งหมดก็ 17 กิโลกรัม

นอกจากสิ่งของที่แบกไป ข้างในคุณแบกอะไรอยู่บ้างไหมระหว่างเดินทาง

ตอนซีซั่น 1 กับซีซั่น 2 ต่างกันเยอะ ซีซั่น 1 ไม่ได้แบกอะไรเลย ไปเพื่อรักษาตัวเอง ไปเพื่อให้มีความสุข ไปโดยไม่คิดว่าต้องมีคนดู ไปโดยไม่ได้คิดว่าฉันต้องประสบความสำเร็จอะไร ตอนเริ่มมีคนดูซีซั่นแรกเราก็งงว่ามีคนดูด้วยเหรอวะ เพราะไม่ได้คาดหวังเลย ทำตามกิเลสตัวเองล้วนๆ แล้วพอรายการเริ่มโต เริ่มมีคอมมูนิตี้ของคนที่ชอบรายการนี้ ในแง่หนึ่งเราก็ดีใจ แต่ในอีกแง่ การแบกเป้ไปคนเดียวกลางทะเลทราย กลางขั้วโลก มันต้องลืมสิ่งเหล่านั้น มันต้องอย่าคิดว่าจะทำยังไงให้คนนิยม จะทำยังไงให้คนชอบ จะทำยังไงให้สปอนเซอร์เข้า พอคิดแล้วมันจะเสียรสชาติของการทำงาน มันจะทำให้ความรู้สึกผจญภัยที่เรามีในตอนแรกหายไป กลายเป็นว่าเราไปทำงาน ไปเพื่ออะไรสักอย่าง มากกว่าที่จะไปดูโลกใบนี้

แต่ว่ามันก็ลบไม่ได้ทั้งหมดหรอกไอ้ความรู้สึกพวกนี้ เราก็พยายามที่จะลืมๆ ไปว่าคนดูเขาเคยชอบอะไร แล้วไปค้นหาสิ่งที่เจอตรงหน้าจริงๆ โดยรวมก็ยังรู้สึกว่ามันก็เป็นการผจญภัยจริงๆ อยู่ แค่อาจจะไม่เท่าซีซั่นแรก ถึงแม้ว่าในทีวีมันจะดูโหดกว่าเดิม ฮาร์ดคอร์กว่าเดิม แต่ว่าในใจเรารู้สึกถึงความเป็นงานมากกว่าเดิมเยอะ ซีซั่นแรกมันคือคิดแค่ว่ากูจะไป มีอะไรมั้ย

ความกลัวน้อยลงไหม

เรียกว่าชิลล์เกินไปแล้ว ซีซั่นแรกตอนไปอัฟกานิสถานเรากลัวมากเลย ตบหัวตัวเองว่ากูจะมาทำไมวะ (หัวเราะ) ยิ่งตอนเครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าเหนือกรุงคาบูล แล้วเราเห็นข้างล่างเป็น War Zone ของจริง มันแห้งแล้ง มีแต่ซากนั่นซากนี่ เราก็คิดในใจว่ากลับได้มั้ย แต่พอลงไปถ่ายจริงมันกลับมาเป็นทริปที่ดีที่สุดทริปหนึ่งในชีวิต เพราะได้มิตรภาพที่ดีมาก ได้เรียนรู้เรื่องที่สงสัยมานานแล้วว่า War Zone เป็นยังไง แล้วความขัดแย้งเป็นยังไง ทำไมคนถึงเป็นอย่างนี้

ซีซั่น 2 พอมีเรื่องซีเรีย อิรัก โซมาเลีย เข้ามา ซึ่งอันดับใน Global Peace Index ความอันตรายสูงกว่า แต่เราชิลล์กว่าเดิมเยอะ เพราะเราเข้าใจแล้วว่ามันไม่ใช่ว่าระเบิดลงตลอดเวลา มันคือความเสี่ยงที่คุณบริหารจัดการได้ ถ้าเราระมัดระวังตัวหน่อย ไม่เอาตัวไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมาย โอกาสจะโดนมันก็น้อยมาก ขณะเดียวกันระหว่างทางเต็มไปด้วยความน่าสนใจของเรื่องราวที่สามารถเล่าได้ในพื้นที่เหล่านั้น ก็เลยเปลี่ยนจากความหวาดกลัวกลายเป็นความตื่นเต้นมากกว่า

ระหว่างทางมีใครที่คุณจดจำได้แม่นยำบ้างไหม

มีคนหนึ่งคนซึ่งผมยังคงจดจำใบหน้าและสีหน้าเขาได้ เป็นคนซึ่งจุดประกายให้เราอยากเข้าใจเรื่องทั้งหมดให้มากกว่านี้

ตอนนั้นผมไปที่รวันดา ไปดูเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างชาวทุตซี (Tutsi) และฮูตู (Hutu) ซึ่งมันโหดร้ายมาก คนตายประมาณล้านกว่าคน แล้วพิพิธภัณฑ์ที่เขาเก็บเรื่องเหล่านี้และเก็บศพเหล่านั้นไว้ต้องการย้ำเตือนคนว่าเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง ศพเหล่านี้โดนทิ้งให้เน่าอยู่ริมถนน ไม่มีใครเก็บ ไม่มีการฝังใดๆ เขาเอาศพเหล่านี้มาทำให้กลายเป็นเหมือนศพตากแห้งด้วยการใช้ปูนขาว แล้ววางอยู่บนเตียงเหล็ก ในห้องหนึ่งมีร้อยสองร้อยศพ ยังจำตอนที่เราเข้าไปได้จนถึงทุกวันนี้

แล้วผมก็ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ด้วยแววตาที่ดูกึ่งมุ่งมั่นกึ่งเศร้า ดูเหมือนทั้งเก็บอะไรเอาไว้ข้างในแต่ขณะเดียวกันก็สงบนิ่ง แล้วสักพักอีกคนหนึ่งที่เดินทางไปกับผมก็บอกว่าผู้หญิงคนนี้ สามีกับลูกเธอก็ถูกฆ่าในเหตุการณ์นั้น แล้วศพของพวกเขาก็ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ว่าเธอไม่รู้ว่าศพไหน เพราะว่าทุกศพแห้งกรังหมดแล้ว เธอก็เลยมาทำงานที่นี่เพื่อดูแลสามีและลูกที่ตอนนี้คือศพไหนก็ไม่รู้ ตอนนั้นในหัวคือคิดว่าโลกมันเกิดสิ่งแบบนี้ขึ้นได้ยังไง ความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงนั้นมันเป็นยังไง อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้สังคมมันไปสู่จุดนั้นได้ แล้วก็อาจจะเป็น หนึ่งในการพบเจอที่มีผลกระทบกับเรามากที่สุดอันหนึ่ง ในแง่ที่ทำให้เรารู้สึกสงสัยมากยิ่งขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นในโลกได้ยังไง

หลังจากเดินทางกลับมา คนใกล้ตัวทักไหมว่าวรรณสิงห์เปลี่ยนไป

เขาไม่ได้ทักอย่างชัดเจน แต่ว่าความสัมพันธ์ที่เรามีมันก็เปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลง คือคนที่เปลี่ยนไม่ใช่ผมคนเดียว เขาเองก็ไม่ได้อยู่นิ่งเหมือนกัน เขาก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

เมื่อก่อนผมจะเป็นคนลุกลี้ลุกลน ต้องการค้นหาอยู่ตลอดเวลาว่ามีอะไรอยู่ข้างนอกบ้าง ที่เราคิดว่ามันน่าสนใจ ที่มันคือสิ่งที่ลึกซึ้งและลี้ลับสูงส่ง แต่ตอนนี้ไอ้สิ่งธรรมดาทั้งหลายที่เรามีมาตลอดทั้งชีวิต ไอ้เรื่องนั่งหัวเราะกับแม่ หัวเราะกับพี่ชาย อะไรที่มันสามัญมากๆ แล้วเป็นธรรมชาติมากๆ เรากลับเห็นคุณค่าของมันมากเลย เพราะมันคือความสุขที่เรามีได้โดยไม่ต้องขนเป้ไปไหนเลย ในขณะที่ความสุขที่มีก่อนหน้านี้กว่าจะมีได้ กว่าจะไปถึงจุดนั้นมันยากมาก

นอกจากความสุข มีอะไรที่เปลี่ยนไปอีก

คือเราไปมาหลายทริปมาก เดินทางปีละ 12 – 13 ทริป ทุกทริปเมื่อเรากลับมาเราจะรู้สึกว่ามีสิ่งใหม่ในตัวเองเสมอ มันมีทั้งสิ่งที่ได้จากการเดินทาง และสิ่งที่ได้จากความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ซึ่งต่างกัน

การเดินทางคือการเห็นสิ่งภายนอก ซึ่งเราค้นพบอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ ส่วนความรู้สึกระหว่างการเดินทาง คือการสำรวจภายใน เราแบกเป้มานานแล้ว เราถึงจุดไหนในชีวิตแล้ว ฉันรู้สึกยังไงกับการขยับเคลื่อนไหวไปตลอดเวลาอย่างนี้ มันจึงไม่ใช่ว่าเริ่มเดินทางกับหลังเดินทางแล้วมันจะเป็นคนละคนกันเลย มันคือการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเกิดขึ้นทีละนิดทีละหน่อย

คุยกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เรื่องเบื้องหลัง 'เถื่อน Travel' สารคดีท่องเที่ยวที่เถื่อนที่สุด และการตามหาความหมายของชีวิต

เต๋อ นวพล เคยแชร์วิดีโอรายการของคุณแล้วบอกว่า ‘ชีวิตสิงห์คุ้มแล้ว’ คุณเองคิดอย่างนั้นไหม

ถ้าในเชิงการทำตามแพสชันและความฝัน ก็บอกได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้อายุ 34 ก็ไม่เคยปล่อยให้ฝันไหนมันหายไปเฉยๆ เราพยายามทำตามมันทุกอย่าง บางอันอาจจะสำเร็จ บางอันอาจจะล้มเหลว แต่ว่าเราทำมันอยู่เสมอ ส่วนถ้าพูดถึงเรื่องชีวิตคุ้มแล้ว ตอนเราเริ่มต้นตอนแรกๆ เรารู้สึกเหมือนกันว่าการเดินทางจะทำให้เราใช้ชีวิตคุ้ม เวลาในโลกมีจำกัด ไปเห็นมันให้หมด ไปดูมันให้หมด แต่คำถามคือ ไอเดียที่ว่าคนใช้ชีวิตคุ้มคือต้องมีประสบการณ์ทุกอย่าง เห็นทุกอย่าง มันมาจากไหนนะ

ผมก็มานั่งคิดดูเหมือนกันว่าเราคิดกันเองหรือเปล่า หรือว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งที่สังคมร่วมกันคิดว่าชีวิตที่คุ้มคือชีวิตที่ได้เห็นหมดแล้ว ได้จับหมดแล้ว ได้สัมผัสหมดแล้ว ได้มองเห็นวิวทั้งหมดแล้ว ซึ่งถ้าผมไม่ได้มาจนสุดทางของผมตรงนี้ ผมเองก็คงจะไม่มีเวลามานั่งตกผลึกแล้วสงสัยว่า เออว่ะ มันมาจากไหน มันจะยังไงต่อนะ คุ้มแล้วมันมีความสุขหรือเปล่า คุ้มแล้วมันต้องเท่ากับความสุขหรือเปล่า ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ใช่

อย่างผมแบกเป้ไปช่วงแรกๆ มันก็ตื่นเต้น สิ่งต่างๆ น่าสนใจมาก แต่เดี๋ยวนี้บางครั้งอยากจะขว้างเป้ทิ้ง (หัวเราะ) มันหนักมากกว่าจะถ่ายเสร็จแต่ละตอน คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ได้นำเสนอ มันก็ยังน่าสนใจเสมอนะ มันทำให้เราว้าวได้เสมอ แต่ว่าในกระบวนการเดินทาง การออกไปถ่ายทำ มันไม่ได้ทำให้เรามีความสุขหรือว่ายิ้มแย้มเท่าแต่ก่อนแล้ว เพราะมันก็มีความเต็มของมัน เหมือนทุกสิ่งบนโลก

ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ทำอะไรอย่างนี้ พอเขาได้ทำครั้งแรกเขาก็จะมองว่า โห มันสุดยอดเลย แต่ว่าพอเราทำมันเป็นงาน พอถึงจุดหนึ่งเราก็กลับมาถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งต่อไปในชีวิตนี้ คือการนิยามชีวิตว่าคือการออกไปเดินทางให้เห็นทั้งหมดแล้ว คุ้มแล้ว จบแล้ว พอแล้ว เราว่ามันค่อนข้างน้อยเกินไปในมิติการมีชีวิตของคน คือทั้งจังหวะนิ่ง จังหวะขยับ มันคือความสมดุลกัน ซึ่งคนเราต้องการทั้งสองอย่าง

คุยกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เรื่องเบื้องหลัง 'เถื่อน Travel' สารคดีท่องเที่ยวที่เถื่อนที่สุด และการตามหาความหมายของชีวิต

แล้วกับคำถามที่คุณเองสงสัยอย่างความหมายของชีวิตคืออะไร มนุษย์เราเกิดมาทำไม คุณได้คำตอบจากระหว่างทางบ้างไหม

อันนี้เป็นคำถามที่ยากมากนะ

ตอนเด็กๆ เราก็จะคิดว่าชีวิตคือการวิ่งตามความฝัน การทำตามแพสชัน หรือตอนเด็กกว่านั้นก็คิดว่าคือการสร้างชื่อให้กึกก้องไปหลังจากเราตาย ให้มีคนจำเราได้ แต่ว่าเรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นเปลือกนอกอยู่ดี ตอนนี้เราอยู่ในช่วงชีวิตที่กำลังค้นหาความสมดุล คือบางทีชีวิตอาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อค้นหาความหมายหรือความสุขเสียทีเดียว แต่มันคือการค้นหาความสมดุลตรงนี้ แล้วบางทีการทำประโยชน์สูงสุดคือการสร้าง Harmony ให้กับชีวิตเรา บางทีอาจจะไม่ต้องออกไปทำนั่นทำนี่ก็ได้ แค่สร้าง Harmony ให้เราอยู่ร่วมอย่างสงบสุขได้กับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลอื่น สังคมที่เราอยู่ หรือว่าโลกใบนี้ บางทีนี่อาจจะเป็นการทำประโยชน์ที่ดีที่สุดหรือเปล่า

บางทีการกลายเป็นแค่คนที่แค่ทำอะไรซ้ำๆ ทุกวัน อยู่กับที่แล้วไม่เดือดร้อนใคร อาจจะเป็นแก่นแท้สุดท้ายของชีวิต แต่ว่าเรายังหาคำตอบเหล่านี้ไม่ได้หรอก เพียงแค่ก่อนหน้านี้ชีวิตเราเหวี่ยงไปในทางที่ออกไปค้นหา ออกไปทำเยอะมาก ตอนนี้เรากำลังค้นหาสมดุลของเราอีกทาง ซึ่งบางทีอาจจะเจอทางตรงกลางในอนาคต

คุณเคยคิดเล่นๆ ไหมว่าชีวิตนี้ตายได้หรือยัง

คำว่าตายได้แล้วมันเหมือนกับมิชชันในโลกนี้มันจบแล้ว แต่เรายังไม่รู้สึกอย่างนั้น ในแง่หนึ่งเราอาจจะทำตามแพสชันและความฝันของตัวเองได้สุดแล้ว แต่ว่าเรายังไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับโลกนี้เท่าที่เราอยากทำ แล้วเราก็ยังไม่ได้มีครอบครัว ยังไม่ได้อุ้มลูกสักคน

ถามว่าตายได้ไหม คนเราตายได้ตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยากตายหรือไม่ แต่ว่าเราก็ยังมีสิ่งที่อยากทำอยู่หลายๆ อย่าง ซึ่งมันไม่ใช่การไล่ตามความฝันอะไรแล้ว เพราะอะไรพวกนั้นเราทำมาหมดแล้ว  เราค้นหาจนได้ค้นพบหลายอย่าง แต่ว่าสิ่งที่เราตามหาตอนนี้คือ หนึ่งคือ ความสมดุล และสองคือ ความหมายของชีวิต

ความหมายในที่นี้อาจจะไม่ได้มาจากการตามหาแค่ความฝันของตัวเอง แต่มาจากความหมายผ่านการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นมากที่สุดก็ได้ คือผมเพิ่งเสียคุณตาไป แล้วคุณตาคุณยายเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้พวกเรามีโอกาสตามแพสชันในทุกวันนี้ เพราะว่าถ้าไม่มีคุณตาคุณยายคอยสนับสนุนด้านวัตถุ พวกเราก็คงไม่ได้พร้อมแบบนี้ เราก็คงไม่ได้มีเวลามาพูดเรื่องแพสชันกัน เราก็คงต้องไปทำมาหาเลี้ยงชีพ ต้องคิดว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร เดือนหน้าจะผ่อนรถยังไง คือการที่เราพูดแต่เรื่องแพสชัน พูดแต่เรื่องความฝัน แล้วก็บอกว่าคนอย่างเรามันเท่ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เพราะว่าคนอย่างผมมันก็เหยียบอยู่บนหลังคนรุ่นก่อนๆ คุณตาคุณยายคือคนที่ไม่ได้ออกไปทำตามแพสชัน ไม่ได้มีความฝัน เขาเปิดร้านแล้วก็ทำสิ่งเดิมมาตลอด 60 ปี 70 ปี ไปนั่งโต๊ะตัวเดิม ขายอยู่ที่ร้านเดิม แต่ว่าสิ่งที่เขาทำคือ เขาอนุญาตให้คนอื่นตามฝันของตัวเองได้

แล้วคุณคิดว่าการใช้ชีวิตแบบคุณตาคุณยายที่ไม่ได้ออกไปทำตามความฝันนับว่าเป็นชีวิตที่คุ้มค่าไหม

ผมว่าคุ้มนะ เพราะว่าแม้คุณตาท่านจะเสียไปแล้ว แต่ว่าคุณตาท่านยังอยู่ในตัวพวกเราทุกคน เพราะว่าสิ่งที่แกทำมันทำให้พวกเรามีทุกวันนี้จริงๆ

สิ่งที่เราทำอาจจะไม่ต้องอยู่ข้างในรุ่นของเราก็ได้ มันอาจจะส่งผลต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมมองว่าเราก็มาสุดทางในการทำเพื่อตัวเอง แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเราบกพร่อง เรายังไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นอย่างจริงจังนัก ซึ่งการทำเพื่อคนอื่นอาจจะหมายถึงการไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนทุกเช้าก็ได้ เราไม่ได้คิดเลยว่าอะไรมันสนุกกว่าอะไร อะไรฮาร์ดคอร์กว่ากัน โอเค มันอาจจะไม่ได้น่าตื่นตาตื่นใจเท่ากับการแบกเป้ไปตะลุยทั่วโลก แต่ว่ามันก็เป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ผมพยายามหาอยู่

คุยกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เรื่องเบื้องหลัง 'เถื่อน Travel' สารคดีท่องเที่ยวที่เถื่อนที่สุด และการตามหาความหมายของชีวิต

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล