The Cloud x THE WISDOM

ผมเห็นต้นไม้ใหญ่เรียงรายให้ร่มเงาอยู่ในสนามเด็กเล่น ระหว่างนั่งรอ ครูอ้อน-บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ครูใหญ่และผู้ก่อตั้ง โรงเรียนทอสี

ที่ผ่านมา ผมรู้จักโรงเรียนแห่งนี้ผ่านชื่อเสียงและคำบอกเล่า หาได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง

ใครหลายคนรู้จัก โรงเรียนทอสี ในฐานะโรงเรียนทางเลือก เน้นให้เด็กเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและนำหลักการของพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยโรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2534 เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ก่อนที่ภายหลังจะเปิดชั้นเรียนระดับประถมศึกษาใน พ.ศ. 2542

หลังจากผมได้พบเจอและนั่งคุยกับครูอ้อน กับโปรเจกต์ FORWARD YOUR WISDOM ในโอกาสครบรอบ 10 ปี บริการ THE WISDOM ของธนาคารกสิกรไทย ผมพบว่าสิ่งที่ โรงเรียนทอสี คิดและทำ ทำให้เห็นถึงคุณค่าของวิชาชีวิต แทนที่จะมุ่งเน้นการสอนวิชาการแบบโรงเรียนที่เราคุ้นเคย

ครูอ้อนบอกว่า โรงเรียนแห่งนี้เน้นสอนวิชาชีวิต ชีวิตคือความสัมพันธ์ ทุกสิ่งต่างมีพลังต่อกันและกัน ทั้งกับมนุษย์ด้วยกันเอง ธรรมชาติ เทคโนโลยี ทุกนาทีตั้งแต่เหยียบเข้าโรงเรียนคือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้
แทนที่จะสอนแต่วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โรงเรียนทอสียังมีวิชาอื่นๆ ที่ออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กรู้จักพึ่งพาตัวเองและคิดถึงผู้อื่น ครูใหญ่โรงเรียนแห่งนี้บอกว่ามีวิชาหนึ่งชื่อ ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’

แค่ฟังชื่อก็อยากย้อนเวลากลับไปเรียนใหม่

แม้ใครหลายคนจะนิยามว่าโรงเรียนทอสีเป็นโรงเรียนทางเลือก แต่ครูอ้อนยืนยันว่านี่คือโรงเรียนทางหลัก เพราะวิชาชีวิตคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เหล่าเด็กน้อยมีรากคือใจที่แข็งแรง สมบูรณ์ เมื่อรากแข็งแรง การเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาผู้อื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก

เหมือนต้นไม้ใหญ่ในสนามเด็กเล่น

ครูบุบผาสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสีที่สอนให้เด็กเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต

ส่วนตัวครูมีความเชื่ออะไรเกี่ยวกับโรงเรียนบ้างไหม

ตอนแรกที่ทำโรงเรียนเพียงแค่มีความสุขกับเด็ก เพราะว่าเคยเป็นครูพาร์ตไทม์สอนหนังสือเด็กอนุบาล ประถม และมหาวิทยาลัย สอง เราก็นั่งนึก สมัยที่เราเรียนหนังสือ เรารู้สึกว่าเราเรียนด้วยความยากลำบาก เพราะเราเป็นคนไม่ชอบท่องจำ แต่เราเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เราลงมือปฏิบัติเรารู้สึกว่าเราเรียนรู้ได้ดี แต่ถ้าให้มานั่งท่องจำเรารู้สึกว่าสอบเสร็จแล้วก็จบแค่นั้น ความรู้แทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลย ครูอ้อนรู้สึกว่าการศึกษาไทยมีปัญหา พอตอนที่เปิดโรงเรียนครูอ้อนเลยเปิดแนวเตรียมความพร้อม ไม่เปิดแนววิชาการ

พอคิดว่าจะเปิดโรงเรียนเพื่อเตรียมความพร้อม ทำให้วิธีการสอนต่างไปไหม

ตอนเริ่มต้นทำโรงเรียนอนุบาลสิบปีแรก เราทำโรงเรียนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม เป็น Active Learning เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ สมัยนั้นมีสอนทำอาหาร มีเกม มีสื่อการสอนให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำ ไม่ใช่นั่งฟังครูอย่างเดียว แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันมีบางอย่างที่ขาดหายไป จิ๊กซอว์มันยังไม่ครบ หลังจากนั้นครูอ้อนเริ่มปฏิบัติธรรม แต่ก็ยังไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรม เรื่องของพุทธศาสนา เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างไร จนกระทั่งวันหนึ่งเรามีความคิดอยากจะทำโรงเรียนประถม

วันที่ประชุมตอนจะทำโรงเรียนประถม เราก็เชิญคนที่สนใจการศึกษามาหลายท่าน หลังฟังทุกคนเสร็จเรียบร้อย พระอาจารย์ชยสาโรก็เล่าให้ฟังว่า ในพุทธศาสนามีระบบการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด คือหลักไตรสิกขา คือการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ท่านแจกแจงให้ดูว่ามันเป็นยังไง มีวิธีการและการวัดผลอย่างไร แล้วท่านก็พูดประโยคหนึ่งว่า ‘ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต’ ซึ่งมันโดนใจเรามาก ทำให้มุมมองการทำการศึกษาเปลี่ยนไปทันที

ที่ผ่านมาเราทำการศึกษาเฉพาะในห้องเรียน เราไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เอาวิชาเอาตารางสอนเป็นตัวตั้ง เด็กไทยจะเก่งได้ยังไง ในชีวิตเรามียี่สิบสี่ชั่วโมง หมดไปแล้วกับการนอนแปดชั่วโมง อีกแปดชั่วโมงอยู่บ้าน อีกแปดชั่วโมงอยู่โรงเรียน และเวลาที่เราเรียนในห้องเรียนคือแค่ห้าชั่วโมง เราเลยเปลี่ยนใหม่ทันที นับตั้งแต่ก้าวที่เด็กเข้ามาในโรงเรียนคือการเรียนรู้ นี่คือในส่วนที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ตารางชีวิตของเด็กจึงเปลี่ยน

พอวิธีคิดเปลี่ยนวิธีปฏิบัติก็เปลี่ยน

ใช่ เราหันกลับมาดูที่ตารางชีวิตและวิถีชีวิต ทำอย่างไรจะให้เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นที่พึ่งของตนเองได้ เมื่อก่อนเราไม่ได้สนใจ พ่อแม่จะอุ้มลูกเข้ามา จะถอดรองเท้าให้ลูก ก็ทำได้ ตอนหลังเราบอกพ่อแม่ว่า เราจะต้องฝึกเด็กให้เป็นที่พึ่งของตัวเอง เพราะปรัชญาโรงเรียนเราคือแบบนั้น ‘สร้างที่พึ่งแห่งตน เร่งฝึกฝนตนเป็นบัณฑิต’ เราพยายามให้เขาได้ทำอะไรด้วยตนเองตั้งแต่เขาก้าวเข้ามาโรงเรียน ตามระดับความสามารถของเขา พ่อแม่และครูต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น

โรงเรียนทอสี
โรงเรียนทอสี

การที่เด็กทำเองต่างจากการที่พ่อแม่ทำให้ยังไง

เมื่อเด็กทำอะไรได้ด้วยตัวเองเขาจะภูมิใจ ในพุทธศาสนามีพละ 5 ตัวตั้งต้นคือ ศรัทธา โดยปกติเด็กเขาจะมีศรัทธาในตัวผู้สอน ศรัทธาในพ่อแม่ แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้เขาศรัทธาในตัวเอง

หากในเวลาที่เขาจะต้องทำอะไรแล้วเขามีคนเข้ามาช่วยตลอดเวลา ก็ไม่มีโอกาสได้สร้างศรัทธาในตัวเอง เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เขาต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา เขารู้อย่างเดียวว่าเขากดปุ่มใครได้บ้าง แต่นั่นคือการทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวเอง

ความศรัทธาในตัวเองสำคัญด้วยหรือกับเด็กชั้นอนุบาล เด็กชั้นประถม

ความศรัทธามันจะทำให้เกิดพลังในการเพียรพยายาม พละ 5 คือพลังห้าประการ ประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

เด็กไทยเรียนเก่งนะ แต่ไม่ค่อยมีศรัทธาในตัวเอง ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เรียนก็เก่ง แต่พอเวลาไปอยู่ที่อื่นทำไมไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก เพราะเขาไม่มีศรัทธาในตัวเอง เขาเก่งเฉพาะวิชาการเท่านั้นเฉพาะเวลาสอบ แต่พอเขาต้องแสดงความคิดความสามารถเขาทำไม่ได้ เขาไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะชีวิตเขาไม่เคยได้รับโจทย์ที่หลากหลาย เขาได้รับโจทย์เฉพาะในตำรา ยิ่งเขาได้บทเรียนในการแก้ปัญหาจากการเผชิญสิ่งต่างๆ มันจะยิ่งทำให้เขามีความสามารถในการมองสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าผู้ใหญ่ทุกคนคอยแก้ปัญหาในชีวิตให้เขาหมด เขาก็จะเก่งเฉพาะแก้ปัญหาในโจทย์ที่ครูให้บนกระดาน ในแบบฝึกหัดเท่านั้น แต่ที่โรงเรียนทอสีเราให้โจทย์ชีวิตมากมายให้ช่วยกันระดมคิด

โจทย์ในชีวิตที่เด็กโรงเรียนทอสีได้รับเป็นอย่างไร ครูพอจะยกตัวอย่างได้ไหม

พอท่านอาจารย์พูดว่า “ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต“ ครูอ้อนถึงปิ๊งทันทีเลยว่า บทเรียนในชีวิตของเด็กมันไม่ต้องจำกัดเฉพาะในห้องเรียน

บทเรียนชีวิตนี้จะต้องเริ่มตั้งแต่เขาก้าวเข้ามาในโรงเรียน เขาต้องถือข้าวของเข้ามาด้วยตัวเอง ทั้งแบกเป้และถุงนอน ต้องสวัสดีทักทายคุณครู เมื่อถึงห้องเรียน เขาต้องแยกของต่างๆ เข้าในตะกร้า รินนมถั่วเหลืองอย่างไรไม่ให้หก การกะปริมาณที่ตัวเองจะตัก การใส่ผ้าปูที่นอนปลอกหมอน การจัดวางที่นอนอย่างไรในพื้นที่จำกัดและอีกมากมายจนกระทั่งเขากลับบ้าน ที่โรงเรียนเราเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ดูแลตัวเอง ช่วยเหลือกันและกันตลอดเวลา

ส่วนที่บ้านนั้น พ่อแม่หลายบ้านยังมีความเชื่อผิดๆ ว่าให้ลูกมีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว งานส่วนอื่นๆ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และแม่บ้าน เด็กจึงทำงานชีวิตไม่เป็นแม้กระทั่งการจับไม้กวาด การจับมีด มันดูเก้งก้างไปหมด ท้ังๆ ที่มันเป็นเรื่องง่ายที่สร้างความมั่นใจให้กับเด็กได้ นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ทำร้ายลูกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ครูมองว่าการจับไม้กวาดไม่เป็นเป็นเรื่องใหญ่

มันเป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างเล็กๆ ในชีวิตที่สามารถสร้างความภูมิใจให้กับตัวเองได้ทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละวัน ไม่ใช่ต้องรอผลสอบ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คนที่แน่ใจได้ว่าผลสอบจะออกมาดี

โรงเรียนทอสี
โรงเรียนทอสี
โรงเรียนทอสี

แล้วถ้าเขาเก่งมากๆ ในห้องเรียน

ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เขาต้องเก่งชีวิตด้วย ไม่ใช่เก่งแบบความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ทุกข์ง่าย สุขยาก การศึกษาพุทธปัญญาเราต้องพัฒนาเรื่องจิตใจและเรื่องปัญญา ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเรียนวิชาอะไร วิทยาศาสตร์ ไทย เลข เรียนแล้วต้องนำมาพัฒนาชีวิตได้ เรียนเรื่องโภชนาการต้องกินเป็นอยู่เป็น คือต้องไม่เป็นโทษเป็นภัยต่อร่างกาย เรียนเลขแล้วต้องรู้จักอดออม รู้จักประมาณตน ไม่สุรุ่ยสุร่าย เรียนภาษาแล้วต้องสื่อสารให้เกิดสันติภาพ ไม่สร้างความแตกแยก เราต้องไม่แยกส่วนวิชาการออกจากชีวิต เราต้องทำให้มันเป็นเนื้อเดียวกัน เรียนแล้วต้องพัฒนาชีวิตทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ไม่ใช่เรียนแค่รู้ แต่ต้องเป็นเพื่อการพัฒนาชีวิตให้งดงามขึ้น

เราค่อยเรียนรู้ชีวิตตอนโตไม่ได้เหรอ ทำไมต้องรู้จักชีวิตตั้งแต่เด็ก

ไม้แก่ดัดยากไม้อ่อนดัดง่าย หากเราไม่รีบชิงสร้างพฤติกรรมคุ้นเคยที่ดีงามกันตั้งแต่เล็กๆ พฤติกรรมที่ไม่ดีงามก็จะมาแทนที่ เขาจะมีคำถามมากมาย ทำไมต้องล้างจาน ทำไมต้องกินข้าวให้หมด ทำไมต้องนั่งพับเพียบ ทำไมต้องสวัสดี ต้องกราบ เราจึงต้องรีบชิงสร้างพฤติกรรมคุ้นเคยที่ดีงามก่อนที่จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีงาม ซึ่งไม่ต้องฝึกและไม่ต้องฝืนเลย เพราะธรรมชาติของคนจะไหลตามกิเลส

เราจะต้องฝึกเด็กให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแม้ไม่ถูกใจ และไม่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้ถูกใจ การฝึกให้เด็กเป็นที่พึ่งตัวเองตั้งแต่เล็กๆ เพราะเขาทำหลายอย่างได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ใหญ่ห่วงและเอ็นดูพร้อมจะโอบอุ้มตลอดเวลา ไม่ยอมให้เผชิญความทุกข์ยากใดๆ เพราะคิดว่าเขายังเล็กเกินไป ไว้ค่อยให้เขาโตเขาค่อยช่วยตัวเอง เมื่อนั้นก็สายเสียแล้ว เพราะเขาจะปฏิเสธที่จะเป็นที่พึ่งพาของตัวเองเพราะชินกับการโอบอุ้มแบบนี้เสียแล้ว

ที่ครูบอกว่าให้เด็กทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้ครูของโรงเรียนทอสีสบายกว่าครูโรงเรียนอื่นไหม

การให้เด็กพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองนั้นไม่เป็นเรื่องง่ายเลย การที่เราสั่งเขามันง่าย เด็กก็จะทำตามในตอนแรก แต่ภายหลังเขาจะเกิดคำถามว่าทำไมต้องทำ ในเมื่อเราเป็นโรงเรียนพุทธปัญญา เราต้องทำให้เขามีปัญญา ต้องทำให้เขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ครูต้องคิดว่าจะพูดหรือทำอย่างไรให้เด็กทานข้าวให้หมด ไม่ใช่สั่งว่าลูกต้องทานให้หมด แต่เราต้องพาให้เขาเห็นว่ากว่าจะได้ข้าวมานั้นมันยากเย็นอย่างไร หรือถ้าเขาทำน้ำหกจะพูดอย่างไรให้เขาลุกไปหยิบผ้ามาเช็ดโดยไม่ต้องสั่ง ครูต้องมีสติที่จะไม่สั่ง ไม่ทำให้ ครูต้องหยุดและคิด ตั้งคำถามชวนคิด บ่อยเข้าเขาก็จะทำเป็นอัตโนมัติ ครูทอสีจึงต้องพัฒนาสติและทักษะการคิดอย่างมากที่จะไม่ทำตามความเคยชินเดิมๆ

ปกติคุณครูโรงเรียนทอสีตีเด็กไหมครับ ผมโตมากับการโดนตี

เราไม่อนุญาตให้ครูตี

ครูบุบผาสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสีที่สอนให้เด็กเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต
ครูบุบผาสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสีที่สอนให้เด็กเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต

ไม่เชื่อในการตี

ไม่เชื่อในการตี พ่อแม่อาจจะตีได้นะ แต่สำหรับครูมันมีคำว่า ‘บารมีของความเป็นครู’ ที่ทำให้เด็กเกรงใจ แล้วมันอยู่ที่ตัวเราด้วย ถ้าเราปฏิบัติต่อเด็กด้วยเมตตา จริงใจ ไม่ลำเอียงเพราะรักหรือชัง ครูอ้อนเชื่อว่าเราพูดอะไรเขาก็พร้อมจะรับฟัง

แล้วในแง่วิชาการ โรงเรียนทอสีเหมือนกับโรงเรียนอื่นไหม มีวิชาต่างๆ เหมือนกันไหม

เหมือนในแง่ที่เราอิงหลักสูตรกระทรวงที่เป็นบทเรียนวิชาการ แต่ที่ไม่เหมือนคือบทเรียนวิชาชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบทเรียนในวิถีชีวิต เช่น การดูแลข้าวของ สถานที่ คนในชุมชน การสวดมนต์เจริญสติในแต่ละวัน และบทเรียนชีวิตที่เราเรียกว่า ‘วิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ซึ่งเราต้องคิดว่าในแต่ละชั้นเราควรจะปลูกฝังอะไรให้กับเขา

สอนอะไร

สอนทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม ทั้งสองเรื่องนี้แยกออกจากกันไม่ได้ ทางโลกคือวิชาการต่างๆ ส่วนทางธรรมคือบทเรียนชีวิต เราอยากจะปลูกฝังสิ่งดีงามอะไรในแต่ละวัย เช่น ชั้น ป.1 เราอยากให้เขาเป็นที่พึ่งของตัวเอง เราก็ตั้งชื่อบทเรียนว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ เด็กจะได้ฝึกการดูแลตนเองให้เป็นผู้ที่พร้อมเป็นนักเรียนมืออาชีพ หรือของ ป.6 บทเรียนมีชื่อว่า ‘แกะสลักชีวิต’ เพราะต้องการให้ฝึกแกะสิ่งที่ไม่ดีงามอะไรออกไป เช่นเดียวกับมีเกลันเจโล ที่เขาแกะสลักม้าได้สวยงาม เพราะเขาแกะส่วนที่ไม่เป็นม้าออกไป

แล้วสอนยังไง

สอนด้วยการพาทำ พาดู และพาคิด เช่น บทเรียนที่ 2 มีชื่อว่า ‘หนี้ศักดิ์สิทธิ์’ เช่น เราตั้งคำถามว่าเด็กๆ คิดว่าหนี้ศักดิ์สิทธิ์หมายถึงอะไร และทำไมต้องเรียนเรื่องนี้ ทุกอย่างที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ข้าวของ ฯลฯ เราได้มาอย่างไร เราต้องอาศัยใครบ้างกว่าจะโตมาได้ทุกวันนี้ เราตอบแทนบุญคุณท่านได้อย่างไร ครูสอนเขาให้บริการพ่อแม่ด้วยการนวด ล้างเท้า กราบเท้าพ่อแม่ เพื่อที่เขาจะได้กลับไปทำให้พ่อแม่ชื่นใจ เราปลุกพลังงานที่ทุกคนมีอยู่ให้เติบโต การสอนแบบนี้ได้ทั้งวิชาการ วิชาชีวิต ได้พัฒนาชีวิต สร้างประโยชน์และความสุขให้แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นการสอนแบบองค์รวม ไม่แยกส่วน

ครูบุบผาสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสีที่สอนให้เด็กเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต
ครูบุบผาสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสีที่สอนให้เด็กเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต

แล้วที่พระอาจารย์ชยสาโรเคยบอกว่า “เราต้องจัดการศึกษาให้เด็กปกป้องความฉลาดไม่ให้ความโง่ครอบงำจิตได้” อยากรู้ว่าความฉลาดในนิยามของครูคืออะไร

ความฉลาดเมื่อก่อนครูอ้อนคิดว่าเป็นเรื่องทางวิชาการ เป็นความฉลาดทางโลก แต่มันมีความฉลาดอีกประเภทคือฉลาดทางธรรม ที่จะทำให้รู้และเข้าใจชีวิตและปฏิบัติต่อมันได้อย่างถูกต้อง เช่น ฉลาดที่จะสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ในโลกวัตถุ ไม่กลายเป็นทาสของมัน ฉลาดที่จะสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน สื่อสารเป็น สร้างสัมพันธภาพมากกว่าทำลายมิตรภาพ ฉลาดที่จะดูแลอารมณ์และฉลาดคิดไม่เข้าข้างตัวเอง แต่มองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง

ความฉลาดที่แท้จริงนั้นต้องทั้งเก่งและดี ถ้าเก่งแต่ไม่ดีไม่ถือว่าฉลาดจริงในความหมายทางพุทธ เพราะถ้าเก่งและเอารัดเอาเปรียบ คดโกง อาจดูฉลาดในระยะแรก แต่ในระยะยาวเขาต้องหนีผลกรรมไม่พ้น อย่างนี้ไม่ถือว่าฉลาดจริง

สุดท้ายครูเชื่อไหมว่าการปลูกฝังเด็กแบบโรงเรียนทอสีจะสามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเราได้

มันต้องเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากหน่วยเล็กที่สุด คือครอบครัว และเราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีงามในหลายครอบครัวในทอสี เพราะถ้าแต่ละครอบครัวมีหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ไม่ไหลไปตามกระแส และพยายามพัฒนากาย วาจา ใจ ตนเองได้ เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครูต้องกลับมาดูว่าทำอย่างไรเราจะเป็นพ่อแม่มืออาชีพหรือครูมืออาชีพได้ มีสิ่งใดที่เราต้องแก้ไขปรับปรุง มีสิ่งดีงามใดที่เราต้องรักษาไว้ ถึงแม้ทอสีจะเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ ในสังคม แต่เราทุกคนมีหน้าที่ต่อประเทศชาติ การทำการศึกษาที่ถูกต้องที่พัฒนาคนให้เป็มนุษย์ผู้มีใจสูง คือตัวตั้งต้นที่จะช่วยกันแก้ปัญหาสังคมและโลกใบนี้ เราจึงพยายามทำการศึกษาวิถีพุทธปัญญาให้เป็นต้นแบบและพร้อมที่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ความสำเร็จของโรงเรียนทอสีคืออะไร

การพิสูจน์ด้วยตนเองว่าหลักการของพระพุทธเจ้าที่เรานำสู่การปฏิบัตินั้นทำได้จริง ไม่ล้าสมัย และผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญคือ ครู ครูทอสีไม่ใช่เพียงแค่สอนหนังสือหรือทำแต่งาน แต่ครูทอสีมีอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการกล้าที่จะให้เสียงสะท้อนแก่กันและกัน ทั้งที่อาจจะถูกใจและไม่ถูกใจอย่างเป็นกัลยาณมิตร เป็นสิ่งที่ช่วยฝึกให้เราเติบโตทั้งกายและใจ

นอกจากนี้ สิ่งที่ปรากฏคือ ผู้ปกครองกลับมามองตัวเองมากขึ้น ไม่ไปเพ่งโทษที่ลูก เป็นนักจับถูกมากขึ้น เห็นการพัฒนาตนเองของผู้ปกครองที่พร้อมรับฟังและเป็นผู้เรียนรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในยุคนี้ ส่วนนักเรียนเราก็เห็นความเป็นผู้คิดเป็นมากขึ้น เวลาจะทำอะไร เขาจะมองได้กว้างและลึกขึ้น ไม่ได้มองเฉพาะตัวเองอย่างเดียว

แล้วความสุขของคนเป็นครูคืออะไร

ในการทำการศึกษาพุทธปัญญาเราจะกลายเป็นคนที่สุขง่ายขึ้น เราไม่ต้องรอให้ผลสอบออกมาก่อนว่านักเรียนทุกคนผ่าน เราจึงจะภูมิใจ เห็นอะไรดีงามแม้เพียงเล็กน้อยในวิถีชีวิตก็สามารถทำให้เราชื่นใจได้อยู่ตลอดเวลา แค่การที่เห็นเด็กอนุบาลเดินถือถุงผ้าเข้ามาพยายามเป็นที่พึ่งตนเอง ไหว้สวยงาม ช่วยครูถือกระเป๋า ล้างจานข้าวให้ครู อดทนใจสู้สิ่งยาก การรู้จักขอบคุณ มีน้ำใจ ขอโทษเป็น ให้อภัยกัน พยายามฝึกฝนสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และอีกมากมายที่สามารถทำให้เราคุณครูทั้งหลายเป็นสุขและภูมิใจในตัวเด็กๆ และในการเป็นครู

ถ้าให้ย้อนมอง คิดว่าชีวิตนี้คิดถูกไหมที่เลือกเป็นครู

คิดถูก คิดถูกมาก ชาติหน้าถ้าเราได้เกิดมาเป็นคนอีก เราก็อยากจะเป็นครูอีก เวลาใดที่เราเหนื่อยล้าเราก็จะเดินไปบอกเด็กๆ ว่าครูหมดแรง ช่วยเติมพลังให้ครูหน่อย แล้วเราก็กอดกัน ไม่คิดว่ามีอาชีพใดจะมีความสุขใจได้เช่นนี้

ครูบุบผาสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสีที่สอนให้เด็กเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต

‘FORWARD YOUR WISDOM’

ชีวิตที่มีคุณค่า มีนิยามมากไปกว่าความสำเร็จของตนเอง

นั่นคือ THE WISDOM ที่มิอาจประเมินค่าได้

ในทัศนะของ 10 บุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

และยังเป็นผู้จุดประกายพลังแห่งการสรรค์สร้าง ถ่ายทอด แบ่งปัน

ส่งต่อสิ่งที่มีคุณค่า ทั้งแนวคิด ความรู้ และประสบการณ์ มอบให้ผู้คนมากมาย

ติดตามเรื่องราวของทั้ง 10 บุคคลได้ที่นี่

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan