ท่ามกลางผลงานของนักออกแบบสัญชาติญี่ปุ่นในงาน Graphic Trial 2018 ที่ Printing Museum Tokyo มีผลงานของนักออกแบบไทยปรากฏอยู่

นี่เป็นครั้งแรกที่นักออกแบบกราฟิกไทยได้รับเชิญไปร่วมสร้างและแสดงงาน

เจ้าของผลงานนั้นคือ สันติ ลอรัชวี

ตั้งแต่วันแรกที่เข้าวงการจนถึงวันนี้และวันหน้า สันติบอกว่าเขาคือ กราฟิกดีไซเนอร์

“ผมจะพยายามเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในประเทศไทยที่ทำจนตาย” เขาเอ่ยประโยคนี้ระหว่างที่เรานั่งคุยกันในร้านกาแฟใกล้ๆ PRACTICAL Design Studio ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง

ผลงานที่ผ่านมาของเขามากมายเกินกว่าจะไล่เรียงได้หมดภายในย่อหน้าเดียว ในปี 2015 เขาได้รับรางวัล Designer of the Year สาขาการออกแบบกราฟิกจากนิตยสาร Wallpaper* และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

แต่หากจะให้ยกตัวอย่าง ผลงานล่าสุดของเขาที่น่าจะคุ้นตานักอ่านคือหน้าปกหนังสือ The Wisdom Series ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ทุกเล่ม ไล่ตั้งแต่ ปัญญาอนาคต, ปัญญาอดีต และปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น

เมื่อรู้ว่าเขาได้รับเชิญไปแสดงงานที่ญี่ปุ่น ผมจึงนัดพบเขาในบ่ายวันหนึ่งเพื่อคุยกันถึงสิ่งที่เขาได้ค้นพบจากดินแดนที่งานออกแบบกราฟิกก้าวหน้าและชวนตื่นตาที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และยังเป็นดินแดนที่สิ่งพิมพ์ยังปักหลักแข็งแรงที่สุดดินแดนหนึ่ง

แล้วก็เหมือนทุกๆ ครั้งที่เจอกัน เรื่องเล่าของเขามีพลังเสมอ

และนี่คือเรื่องเล่าโดยสันติ

สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

คิดว่าอะไรทำให้หนึ่งในโรงพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นตัดสินใจชวนดีไซเนอร์ไทยอย่างคุณไปแสดงในงานนี้

เขาได้รับคำแนะนำมาหลายคน แล้วเขาก็เลือกจากผลงาน ซึ่งผมก็ถือว่าได้เกียรติเกินตัวนะ เราอาจจะไม่คิดว่าเราอยู่ในระดับที่จะแสดงงานนี้ในตอนแรก มาสเตอร์ของญี่ปุ่นหลายคนเขาเคยผ่านรายการนี้มาหมดแล้ว

งาน Graphic Trial สำคัญยังไง ขับเคลื่อนเรื่องอะไรในญี่ปุ่น

งานนี้จัดทุกปี ปีนี้ปีที่ 13 แล้ว โดย Toppan ซึ่งเป็นโรงพิมพ์เก่าแก่ในญี่ปุ่น

Toppan เขาทำ Printing Museum ของตัวเองด้วยที่โตเกียว เก็บสิ่งต่างๆ ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการเกี่ยวกับการพิมพ์ มีทั้งภาพพิมพ์หิน มีเครื่องของกูเตนเบิร์ก เขาเก็บ Archive ทุกอย่างอยู่ในนั้น และนอกเหนือจากทำ Printing Museum เขาก็ทำนิทรรศการประจำปีของเขาชื่อ Graphic Trial คอนเซปต์มันก็ตามชื่อเลย เขาต้องการทดลอง

เขาเชื่อว่า คนที่จะทำให้โรงพิมพ์ทำงานไปได้ไกลขึ้น ขยายขอบเขตของงานพิมพ์ไปได้ไกลขึ้น คือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่เขาทำก็คือคัดเลือกนักออกแบบ 4 คนทุกปี โดยที่ 10 ปีแรกเป็นคนญี่ปุ่นล้วน ซึ่งคนที่เขาชวนมาแต่ละคนก็จะมาตั้งสมมติฐานถึงเรื่องที่ตัวเองสนใจและอยากจะทดลองกับงานพิมพ์ ดีไซเนอร์ในญี่ปุ่นก็มาดูว่า การพิมพ์ในระบบอุตสาหกรรมทุกวันนี้ทำอะไรได้บ้าง มันไปถึงไหนแล้ว ในเวลาที่ไม่มีขอบเขต ไม่ต้องสนใจงบประมาณ งานพิมพ์สามารถทำได้ขนาดไหน แน่นอนว่าขอบเขตของงานพิมพ์ที่มันกว้างขึ้น มันก็จะไปขยายขอบเขตการใช้งานของลูกค้าที่มันกว้างขึ้น

สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์
สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

แล้วคุณได้รับโจทย์อะไร

โจทย์กว้างมาก เขาจะมีธีมหลวมๆ ให้แต่ละปี ธีมในปีนี้คือ Passion เงื่อนไขที่เขาให้ผมทำคือ โปสเตอร์ 5 ใบ โดยใช้กระดาษอะไรก็ได้ในญี่ปุ่น และห้ามพิมพ์เกิน 10 เลเยอร์ นั่นคืองบประมาณที่เขาตั้งไว้ให้ ซึ่งแค่นี้ก็ใช้ไม่หมดแล้ว (หัวเราะ)

ผมก็ถามตัวเองว่า โอกาสที่ดีที่สุดของตัวเราที่ได้มางานนี้ เราจะตักตวงอะไร ผมก็เลยคิดว่า ในเมื่อเราได้ทำงานกับ Print Director ที่เขาคลุกอยู่ในประเทศที่มีงานพิมพ์ที่นับว่าดีที่สุดในโลก ถ้าคิดแต่จะทำงานแล้วมึงไม่คิดจะเรียนรู้ มึงก็โง่เต็มทนแล้ว ผมก็เลยตั้งโจทย์ว่า ครึ่งหนึ่งผมจะสร้างกลไกลการเรียนรู้ของตัวเอง ต้องขยายสิ่งที่เรารู้ ผมก็เลือกที่จะเอาแพสชันที่ผมมีต่องานขาวดำมาทำงานชุดนี้ ผมอยากจะขยายความรู้ตัวเองเรื่องนี้ให้เคลียร์ไปเลยว่าในอุตสาหกรรมนี้งานขาวดำทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าเป็นในแง่เทคนิค การทำงานนี้ทำให้ผมมี Swatch สีขาวดำทั้งหมดในโลกนี้ หมายความว่า เวลาทดลองเขาจะทดลองทั้งหมด ทั้งการสีดำพิมพ์หนึ่งครั้ง สองครั้ง สามครั้ง สี่ครั้ง เอาสกรีนทับ เอาฟอยล์ทับ

สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์
สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

โปสเตอร์ที่ผมทำถ้าเราดูระยะไกล เราจะเห็นแค่หน้าคนยิ้ม โกรธ เกลียด แต่ถ้าเราดูในระยะใกล้ เราจะเห็นรายละเอียด หรือถ้าเรียกง่ายๆ ก็คือว่าเราจะเห็นเลยว่าทำไมเขาถึงยิ้ม แล้วผมอยากเห็นภาพคนดูงานในระยะประชิด ปรัชญาของโปสเตอร์นี้คือ เราอาจจะต้องพยายามเข้าใจว่าทำไมคนนี้ถึงพอใจ คนนี้ถึงโกรธ คนนี้ถึงเกลียด พอเราเข้าใจบางทีเราก็จะรับมือหรือจะความสัมพันธ์กับเขาได้ดีขึ้น แต่ถ้าคุณดูระยะไกล คุณก็จะเห็นเพียงแค่ว่าคนนี้ยิ้มอยู่ โกรธอยู่ ไม่รู้ที่มา

คุณเคยตั้งสเตตัสว่า คุณไปด้วยคำถามมากมาย แล้วการไปงานนี้ก็ให้คำตอบบางอย่าง คำถามที่เกิดขึ้นก่อนไปคืออะไร

เป็นคำถามที่เราเคยโดนถามนั่นแหละว่างานพิมพ์ในบ้านเราจะอยู่ยังไง ผมไปอยู่ที่นั่นอาทิตย์หนึ่ง เชื่อมั้ย ไม่มีคำว่า Print is dead ไม่มีบทสนทนานี้ว่างานพิมพ์จะอยู่ยังไง

สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์
สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

เขาไม่กลัวหรืออะไร

ผมเชื่อว่าเขายังไม่รู้สึกอะไรกับผลกระทบ กับปริมาณการใช้การพิมพ์ อาจจะด้วยช่องทางการใช้ที่หลากหลาย แล้วคงไม่ใช่เพราะว่าไม่กลัว แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเขามีทางออกทางธุรกิจแล้ว

มีเรื่องหนึ่งที่ผมทึ่ง เขาพาผมไปเดิน Printing Museum แล้วหลังจากเวิร์กช็อปในมิวเซียมอะไรเรียบร้อย เขาก็บอกผมว่า ยังไม่จบ เดี๋ยวไปที่ห้องฉายหนัง เราก็คิดว่าสงสัยจะให้ดูประวัติโรงพิมพ์ เขาก็ให้ผมนั่งตรงกลางห้อง แล้วเขาก็บอกว่านี่คือ VR (Virtual reality) นี่คือธุรกิจใหม่ของ Toppan

ย้อนกลับไป ก่อนจะมาถึงห้อง VR ตรงปลายพิพิธภัณฑ์ที่ผมไปดู มันมีตู้อยู่ตู้หนึ่ง เป็นหนังสือเก่าระดับก่อนยุคที่จะมีงานพิมพ์ แล้วเขาพบว่ามันทำสำเนายากมาก เพราะว่าหนังสือมันอ่อนแอมาก สแกนเนอร์กดลงไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันต้องการสแกนเนอร์แบบลอยตัว เป็น 3D Scanner เขาเลยพัฒนา Camera Scanner ขึ้นมาเพื่อที่จะสแกนหนังสือเก่า แล้วก็ไปร่วมกับนักประวัติศาสตร์ทั่วโลกเพื่อที่จะเก็บหนังสือเก่าให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดูความทะเยอทะยานเขาสิ แล้วเขาก็เอากล้องตัวนี้ไปถ่ายสถานที่ต่างๆ โดย VR ที่เป็นตัวสาธิตในห้องที่ผมได้ดู คือโบสถ์ Sistine ในวาติกัน ที่มีงานของ ไมเคิล แอนเจโล อยู่ เขาใช้กล้องตัวนี้สแกนทั้งหมด แล้วก็เอามาร้อยใหม่ ฉะนั้น คุณแค่ถือกล้อง แล้วโยกจอยสติ๊ก มันก็เหมือนคุณเดิน คุณลอย คุณดูใกล้มากๆ ก็ได้ จนผมเห็นงานไมเคิล แอนเจโล ใกล้กว่าคนที่ไปดูที่โบสถ์อีก

ผมก็ถามว่า แล้วเริ่มดำเนินการยังไงบ้าง เขาบอกว่าเขาถ่ายสถานที่สำคัญของโลกไปมากกว่า 40 แห่งแล้ว โดยร่วมกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ผมถามเขาว่า แล้วประเทศไทยล่ะ เขาบอกว่า ประเทศไทยคุยแล้ว จะทำที่อยุธยากับกระทรวงวัฒนธรรม นี่เป็นธุรกิจใหม่ของโรงพิมพ์

เทคโนโลยี VR กับโรงพิมพ์เชื่อมโยงกันยังไง

มันไม่ได้เชื่อมโยงหรอก แต่ผมมองว่า อะไรที่เขาต่อยอดได้เขาก็ทำ เขารักสิ่งพิมพ์เขาถึงได้กล้องตัวนี้มา คำถามคือเมื่อคุณคิดกล้องแบบนี้ได้ กล้องตัวนี้ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เมื่อตอบว่ากล้องตัวนี้ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เขาก็เอาไปใช้ต่อยอดธุรกิจอื่นต่อ แล้วถ้าไปทำตรงนั้นแล้วมันเกิดสร้างรายได้สำคัญขึ้นมา เขาก็อาจพยุงงานพิมพ์ให้มันผ่านวิกฤต จนกระทั่งโลกมันเคลียร์แล้วว่า สถานะของสิ่งพิมพ์จะเป็นยังไง

คุณต้องไม่ปฏิเสธว่าคุณจะต้องอยู่ในสภาพเศรษฐกิจให้ได้ก่อน คุณถึงรักษาฝันคุณไว้ได้ ถ้าเรามีแพสชันมากพอ เราจะพยายามหาวิธีเพื่อที่จะทำให้งานสิ่งพิมพ์ที่เรารักมันยังอยู่ได้ จนกว่ามันจะผ่านมรสุมนี้ไป คำถามคือในวันหนึ่งเมื่อฟ้ามันเปิด เรารู้แล้วว่าสิ่งพิมพ์จะอยู่อย่างไร ตอนนั้นเราจะยังอยู่มั้ย หรือวันนั้นเราออกจากเกาะไปแล้ว

คือเราทุกคนเชื่ออยู่แล้วว่าสิ่งพิมพ์มันไม่ตาย แต่มันจะอยู่ยังไงเท่านั้นเอง ผมว่าสิ่งพิมพ์มันก็จะปรับตำแหน่งของมันจนกระทั่งมีที่ทางของมัน เพียงแต่ว่าแน่นอนบางทีขนาดของธุรกิจมันอาจจะลดลง ทำให้ผู้คนต้องย้ายออกไป แต่มันไม่ได้แปลว่ามันจะตาย แล้วประเทศที่เก่งที่สุดในการรักษาพื้นที่ก็คือญี่ปุ่น เรายังเห็นร้านกาแฟอายุ 60 ปี 70 ปี เรายังเห็นธุรกิจที่ทำอย่างเดียว ทำอยู่อย่างนั้นตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แล้วญี่ปุ่นรักษาของเก่งด้วย มึงจะไปไหนก็ไป แต่กูยังอยู่ แล้ววันหนึ่งกูก็กลับมาได้ แล้วคนทั่วโลกก็มากิน แล้วอยู่ดีๆ ก็ขยายสาขาอีกที

แล้วญี่ปุ่นมีวิธีเอาตัวรอดในยุคสมัยที่สิ่งพิมพ์สั่นคลอนอย่างไร

ผมไม่รู้วิธีเขาหรอก แต่ผมรู้ว่าคนญี่ปุ่นลำบาก เขาต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง ผ่านสงคราม เลยมาถึงความตึงเครียดอื่นๆ ผมว่าเซนส์ของการเอาตัวรอดมันจึงอยู่ในสายเลือด มันคือสัญชาตญาณ สองเรื่องหลักๆ ที่เขาเจออย่างภัยธรรมชาติกับสงครามมันเป็นเรื่องใหญ่มาก มันทำให้ส่งจิตวิญญาณมาสู่การทำธุรกิจ ซึ่งตรงนั้นมันซื้อหาไม่ได้ แล้วมันก็ราคาแพงเกินไป ถามว่าเอามั้ย ให้คนไทยเป็นแบบนั้นเลย ทุกคนจะเป็นระเบียบหมดเลย แต่ว่าต้องเจอภัยธรรมชาติสองสามครั้ง ไม่รู้ว่าญาติพี่น้องใครจะต้องจากไปบ้าง ที่ดินใครจะต้องสูญเสียไปบ้าง หรือมีสงครามที่ต้องแลกมากับการที่ประเทศแตกสลาย ถ้าแลกได้คุณจะแลกมั้ยล่ะ

แต่เราเรียนรู้จากเขาได้ว่า การที่เราละเอียดต่อการใช้ชีวิต ละเอียดต่อการคิดทั้งในแง่ของตัวเราและบุคคลอื่น มันเป็นคุณสมบัติที่ดีในการที่เราจะทำอะไรสักอย่าง ผมมองตรงนั้น ผมไม่ได้รู้ว่าเขามีเทคนิคอะไรในการเอาตัวรอดหรอก เขาก็ทำตามนิสัยเขา

สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

แล้วคุณมองงานพิมพ์ในไทยอย่างไร

เราอาจจะเดินตามกระแสลมที่เข้ามารวดเร็วไปหน่อย ทั้งกระแสทางธุรกิจก็ดี ทั้งโลกาภิวัตน์ก็ดี โรงพิมพ์บ้านเราอาจจะปรับตัวเร็วเกินไป

เปรียบเทียบสมมติเราเป็นปลาอยู่ในน้ำ พอมีอาการอะไรบางอย่างที่ผิดปกติเราก็ดีดตัวเองขึ้นจากน้ำ แล้วเผอิญว่ามาตกอยู่บนบก ถามว่าเราจะต้องทำยังไงต่อ ทุกคนก็บอกว่าต้องดีดกลับลงน้ำ เพราะว่าบนบกมันไม่ใช่ที่ที่เราอยู่ เรารู้สึกอึดอัด เราต้องดีดกลับลงน้ำ โอเค ถ้าคุณดีดกลับลงน้ำไปได้ นั่นถูกทาง แต่ถ้าไม่ถูกทาง คุณก็จะไกลน้ำมากขึ้น เพราะฉะนั้น การดีดตัวครั้งแรกโคตรสำคัญ ว่าคุณจะดีดไปทางไหน ถ้ามันไกลขึ้น คุณต้องดีด 2 ทีแล้วนะ ถ้ายังผิดเหมือนเดิมอีก ทีนี้เตรียมตัวตายได้แล้ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้สำคัญมาก บางทีพอเราเจอสถานการณ์ในชีวิต เราควรจะต้องคิดก่อนมั้ยว่าเราจะปรับตัวยังไง บางทีสถานการณ์นั้นมันอาจจะเป็นช่วงเวลาครู่เดียวแล้วมันก็ผ่านไป เราแค่ทนให้ได้ แล้วมันก็ผ่านไป บางทีเราไม่ต้องปรับตัวก็ได้ มันมีหลายวิธี

ผมคิดว่าบ้านเราเร็วต่อกระแสต่างๆ เช่น มีเครื่องรุ่นนี้เข้ามาใหม่ แล้วมันดูเหมือนจะมีคนจ้างงาน เราก็อาจจะกู้เงินหรือโถมอะไรต่างๆ เข้าไป หรือเครื่องนี้ไม่ได้ใช้แล้ว ขายทิ้งดีกว่า แทนที่จะรักษามันไว้ แล้วก็เก็บลูกค้าที่ยังใช้อยู่ พัฒนาให้มันยังดีอยู่

ประมาณ 30 ปีที่แล้วมีเครื่อง Letterpress เต็มเมืองเลย วันนี้มันไปไหนหมด เขาทิ้งหมด เมื่อสี่ห้าสิบปีก่อนมีโรงพิมพ์ตะกั่วเต็มเมืองเลย ไปไหนหมด เขาขายเป็นของเก่าหมด ชั่งกิโลขายหมด นั่นคือการดีดตัวที่ผมว่า เขาอาจจะมองว่ามันไม่มีค่าแล้ว คือโดยธรรมชาติเราไม่รู้จะเก็บไปเพื่ออะไร คนอย่างอาจารย์เอนกที่บอกว่า เก็บวันนี้มันก็จะเก่าวันหน้า มันจะมีค่าขึ้น มันมีอยู่แค่ไม่กี่คน

เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า ทันสมัยกว่า ฟังเผินๆ ก็ถูกต้องแล้วไม่ใช่เหรอ มีอะไรที่คนลืมมอง

มันใหม่กว่า เร็วกว่า แต่เผอิญว่ารอบมันก็เร็วด้วย เมื่อก่อนเราซื้อเพลย์สเตชันรุ่นแรกเราอยู่ได้หลายปี พอซื้อรุ่น 2 ไม่นานรุ่น 3 ก็ออก โทรศัพท์มือถือยิ่งเห็นชัด คือรอบมันก็เร็วด้วย คราวนี้ถ้าคุณจะวิ่งตาม คุณก็ต้องใช้เงินมหาศาล แล้วคุณก็ต้องได้งานมหาศาล ทุกอย่างมันก็สวนทางกันหรือเปล่า ในเมื่องานมันลดลง คุณต้องทำให้รอบมันช้าขึ้นหรือเปล่า

มันก็มีฉากที่น่าสนใจแต่ไม่มีทางเป็นไปได้คือ สมมติถ้าเรารู้ เรานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปได้ แล้วเราก็ไปบอกโรงพิมพ์ว่าคุณเก็บเครื่อง Letterpress ให้หมดเลยนะ แล้วอีก 30 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นเมือง Letterpress โลก มีทุกอย่างสมบูรณ์หมดเลย ครบทุกฟอนต์ แล้วมันจะมีช่วงที่ประเทศอื่นทิ้งเครื่อง ไปกว้านซื้อมาให้หมด คิดดูว่าประเทศเราตอนนี้จะเป็นยังไง

จะไม่ล้าหลังใช่ไหม

ก็ดูที่เบอร์ลินตอนนี้สิ สตูดิโอ Letterpress ขึ้นมาเต็มไปหมดเลย

อย่างตอนนี้คนก็พาการสกรีนกลับมาได้แล้ว แน่นอน คนจะออกจากเวทีไปจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าเรายังอยากเป็นคนที่อยู่ในเวที เราก็อาจจะต้องเก็บรักษา เหมือน The Archivist ที่เป็นสตูดิโอที่ทำงานสกรีน ซึ่งความเป็น Craftsmanship จะสูงขึ้น การที่คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญจะสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ทำเป็น แต่ต้องทำเก่ง ทำละเอียด รู้ลึก พอมันยกที่ทางตัวเองในแง่มูลค่า อาชีพมันก็ไปต่อได้

สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

จากการได้ร่วมงานกับโรงพิมพ์ญี่ปุ่นครั้งนี้ เขามองงานพิมพ์ต่างจากที่คุณเคยเจอในไทยไหม

เรื่องเดียวกัน เรื่องเดิม ก็คือทัศนคติต่อสังคม ต่อหน้าที่ต่างกัน

ในญี่ปุ่นความประณีตไม่ได้อยู่ในเฉพาะคนสายศิลปะ แต่ความประณีตอยู่ในทุกอาชีพ มันน่าสนใจตรงที่ว่า เรื่องประณีต เรื่องคำว่าวิจิตร เรื่องคำว่าละเอียดอ่อน ในบ้านเราไปแบ่งกันตอนไหนก็ไม่รู้ มันอาจจะมาจากตอนที่เราแบ่งสายวิทย์สายศิลป์หรือเปล่า เช่น บางคนบอกว่ากูไม่ไหว กูไม่หัวศิลป์พอ กูไม่มีฝีมือ

เราสรุปทุกอย่างเป็นก้อนๆ ไปหมดเลย คือเราจะเห็นคนทำก๋วยเตี๋ยวบางเจ้าเขาก็ประณีต คือความประณีตมันฝังอยู่ในทุกๆ อย่าง ความประณีตหรือคำว่า Craft มันไม่ได้จำกัดกิจกรรม เวลาเราวิ่งแล้วตั้งใจจับความเร็วนั่นก็ประณีต ทุกอย่างมันต้องเสริมสร้างความประณีตมากขึ้น ไม่ใช่เราไปครอบครองอยู่กับกลุ่มคนที่ทำงานศิลปะ

แล้วความประณีตมันจะยิ่งออกดอกออกผลในสาขาวิชาที่ต้องการมันสูง งานของญี่ปุ่นอย่าง Hokusai ที่เขาทำเป็นบล็อกไม้ ทำภาพพิมพ์โดยการแกะไม้ นั่นก็เป็นความประณีต ซึ่งสมัยนั้นเขาคงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นศิลปินหรอก เขาก็เป็นช่างที่ต้องทำสิ่งนี้ขาย วางขายข้างทาง แต่นั่นก็คือความประณีต

คือคุณมองว่าความประณีตควรจะอยู่ในทุกคน ทุกสิ่ง

ความประณีตมันเป็นคำขยายการกระทำ มันไม่ใช่ผลลัพธ์ มีนักศึกษาบอกผมว่าอยากทำงานคราฟต์ ผมบอกว่า งานคราฟต์คือทุกอย่างที่คุณทำ เพราะคราฟต์มันเป็นคำขยายกิริยา ผมไม่ได้มองว่าคราฟต์เป็นผลลัพธ์ ไม่ได้มองว่ามันจะต้องเป็นงานที่มีรายละเอียด มันอาจจะเรียบมากก็ได้ อาจจะเป็นแค่ไม้เหลี่ยมๆ ก้อนหนึ่ง แต่ถ้ามันขัดอย่างประณีต ไม้เหลี่ยมๆ ก้อนนั้นมันก็พิเศษมาก คุณสัมผัสแล้วเสี้ยนไม่มีเลย ขนาดพอดี เลือกไม้มาอย่างดี หรืออะไรก็แล้วแต่

ผมว่าทุกอย่างมันประณีตได้ คราฟต์ได้ แต่ถ้าเราไปให้คำจำกัดความเรื่องคราฟต์ว่ามันจะต้องมีรายละเอียดยุบยิบ มันก็ให้มุมมองต่อคำว่าคราฟต์ในแค่มิติเดียว

แล้วในมุมมองของคุณ วงการนักออกแบบในญี่ปุ่นทุกวันนี้เป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากบ้านเราไหม

ในแง่มนุษย์ไม่ต่างกันมากหรอก แต่สภาพแวดล้อม โครงสร้าง เขาต่างกับเราเยอะ ตลาดบนเขาดีกว่าเรา อย่างเช่นกลุ่มนักออกแบบที่เก่งเขาก็จะเก่งมาก เพราะว่าเขามีโอกาสที่ได้ทำอะไรในสนามที่ต่อให้เราบอกว่า ‘กูก็ทำได้’ แต่มึงก็ทำไม่ได้หรอก เพราะมึงไม่ได้ทำ (หัวเราะ) คือคุณทำได้ ก็ยังไม่นับว่าคุณทำได้ เพราะคุณไม่ได้ทำ

รอบนี้ที่ผมไปดูงานผมไปอะควาเรียมก็มีดีไซน์เนอร์ไปออกแบบตู้ปลาชื่อ Waterscape มันจะมีที่ไหนให้ทำ สมมติคุณนึกออกว่า ตู้ปลาถ้าเอากราฟิกมาเดินแบบนี้ ทำตู้แบบนี้ แล้วมันจะทำให้การดูปลาตู้มันพิเศษขึ้น แต่แล้วยังไงต่อ เราก็ไม่มีไอเดียว่าจะไปยังไงต่อเพราะว่าบรรยากาศรอบข้างในไทยมันยังไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่ว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องแย่ แค่เราต้องเข้าใจว่าโครงสร้างทางสังคมมันต่างกัน ในประเทศที่เจริญมากๆ แน่นอนว่านักออกแบบของเขาย่อมต้องมีประสบการณ์ต่อสิ่งเหล่านั้นสูงกว่า ซึ่งเราก็ต้องศึกษาเขา

 สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

เท่าที่สังเกต ชีวิตของกราฟิกดีไซน์เนอร์ของญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง ชีวิตเขาสบายกว่าเราไหม

ดีไซน์เนอร์มันมีระดับ ซึ่งมันละเอียดมากและช่องว่างมันห่างมาก เราก็จะเจอทั้งสองแบบ มีทั้งแบบที่เสกทองเสกเงินได้หมดเลย พูดอะไรก็โอเคหมด มีความคิดสร้างสรรค์ ทำไมอายุ 80 แล้วยังทำงานได้ แข็งแรง มีความคิดที่แยบยลมาก เอาตัวธรรมชาติของวัฒนธรรมตัวเองมาผสมกับโลกสมัยใหม่ได้แบบกลมกล่อม แล้วก็มีหลักการ อันนั้นเป็นสิ่งที่เราทึ่ง ในขณะเดียวกันดีไซน์เนอร์กลุ่มที่บ่นหรือว่าอิจฉาบ้านเราก็มีไม่น้อย

การทำงานในญี่ปุ่นเขายังมีระดับอาวุโส มีตำแหน่ง มีอะไรค่อนข้างเข้มข้น แล้วงานเขาก็เยอะ ถ้าเกิดคุณเป็นสตูดิโอเล็กๆ แล้วอยู่นอกโตเกียวหรือว่าอยู่ในโตเกียวก็ตามแต่ว่ายังไม่ได้ตัวใหญ่มาก คุณก็ต้องทำงานหนักมาก หรือต่อให้บริษัทใหญ่ก็ต้องทำงานหนัก คนญี่ปุ่นยังมีทัศนคติกับงานค่อนข้างตึง ตึงหมายความว่ามันคือชีวิต เพื่อนชาวญี่ปุ่นของผมที่มาทำงานเมืองไทยสักพักแล้วต้องกลับไปญี่ปุ่นยังบอกว่า ผมเพิ่งเข้าใจว่าชีวิตคืออะไร ที่ผ่านมาผมเข้าใจว่าชีวิตคืองาน ผมเพิ่งเข้าใจว่าชีวิตคือชีวิต

กลายเป็นว่าประเทศไทยทำให้เขาค้นพบสิ่งสำคัญ

ใช่ เขาบอกว่าคนไทยชีวิตดีมาก เพราะทุกคนพยายามจะสบาย และนั่นคือจุดหนึ่งที่ชีวิตต้องการ ท้ายที่สุดเราต้องการสบายไม่ใช่เหรอ เราถึงชอบหลงทาง ออกนอกลู่นอกทางไปสู่เรื่องที่จรรโลง

แต่เหตุผลที่เราออกนอกลู่นอกทางได้มากหน่อยเพราะว่าเราอาจจะไม่มีเรื่องที่ต้องกังวลขนาดเขา เรายังไม่ได้เป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูงขนาดอยู่ไม่ได้ เราไม่ได้มีอุทกภัย ไม่ได้มีภัยพิบัติ ไอ้ความสบายของเราบางทีมันก็เลยออกนอกลู่นอกทางจนเกิดเป็นความไร้ทิศไร้ทาง

แต่ความสบายของเราจริงๆ มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกอิจฉาเราอยู่ก็ได้ โห เพื่อนผมมาแล้วไม่มีใครอยากกลับประเทศตัวเองเลย ผมเจอร้อยเปอร์เซ็นต์เลยนะ เขาอยากจะอยู่ อยากต่อสัญญา เขารู้สึกว่าเขาได้ชีวิตส่วนตัวคืนมา เขาไม่ต้องระวัง อย่างที่ผมบอกน่ะ มันก็ต้องแลกกัน พอเราเห็นมากๆ มันก็ดีเหมือนกัน

พอเห็นอย่างนั้นมันทำให้คุณกลับมาชอบบ้านเมืองที่เราอยู่มากขึ้นไหม

จริงๆ ผมก็ไม่เคยรังเกียจประเทศตัวเอง มันแค่ต่างกัน แล้วบ้านคนอื่นดีกว่าเสมอแหละ เมียคนอื่นสวยกว่าเสมอ (หัวเราะ) คือมันเป็นธรรมชาติมนุษย์

เห็นว่าคุณเจอศิลปินญี่ปุ่นหลายคน ได้เรียนรู้อะไรจากคนเหล่านั้นบ้าง

ผมได้คุยกับหลายคน คนหนึ่งคือ Akira Uno ซึ่งผมเป็นแฟนงานเขาอยู่แล้ว ท่านอากิระซังน่าจะอายุ 80 กว่าแล้ว เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขาไม่รู้ว่าเขาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เพราะว่าเขาทำงานเป็นช่างเขียนมาตั้งแต่ยุคสงครามโลก เขาก็เป็นคนเขียนรูป ทำโปสเตอร์ พอถึงวัยกลางคนก็ถูกเรียกว่ากราฟิกดีไซเนอร์ ก็เลยต้องเรียนรู้ว่าต้องทำงานยังไงเพิ่มเติม

ทุกวันนี้เขาก็ยังทำงานเหมือนเดิม แล้วก็ยังมีงานให้ทำ เป็นสตูดิโอที่เปรี้ยวมาก อาจจะเป็นเพราะว่าอุตสาหกรรมกราฟิกดีไซน์ในญี่ปุ่นมันเติบโต ทำให้มันมีพื้นที่ทางอาชีพ แล้วก็ทำให้เขาเดินต่อไปได้เรื่อยๆ แม้กระทั่งการเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากแอนะล็อกมาสู่ดิจิทัล ก็ไม่ทำให้คนพวกนี้ต้องเลิกอาชีพไป บ้านเขาก็เลยเกิดมาสเตอร์ขึ้นได้ แต่ถ้าคุณไม่สร้างสะพานข้ามยุคสมัยให้ผู้คน คุณก็จะสูญเสียบุคลากรไปจำนวนหนึ่ง

บ้านเราสูญเสียบุคลากรไปเท่าไหร่ตอนที่เราเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปสู่คอมพิวเตอร์ แล้วคนที่หายไปเขาสั่งสมอะไรมามากมายแต่เขาเดินต่อไม่ได้ แล้วพวกผมก็เป็นพวกเริ่มต้นในยุคที่เป็นยุครอยต่อ ไม่มีภูมิประสบการณ์ในอดีตของยุคสมัยที่ข้ามมา โอเค เรามีอาจารย์มานพ ศรีสมพร ที่ออกแบบมานพติก้า ที่เรายังสนทนากับแกได้อยู่ แต่เรามีน้อยเกินไปหน่อย

 สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

คุณเสียดายไหมที่เราไม่มีสะพานให้คนยุคก่อนข้ามมา

เสียดาย แต่ไม่ได้เสียดายในระดับที่ต้องคิดอะไรมาก ผมแค่คิดว่า แล้วเราจะเสียอีกมั้ยล่ะ

ผมมีน้องคนหนึ่งที่เขาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์กราฟิกแล้วก็กลับไปหางานเก่า ผมบอกว่า ดีมากเลยนะ แต่เขาก็จะบ่นว่าเขาหาอะไรไม่ค่อยได้มากนัก ผมก็จะบอกว่า เพราะคนรุ่นผมมันไม่เก็บกันไง คนรุ่นคุณเลยต้องข้ามสองต่อเพื่อไปหา ผมก็พยายามให้กำลังใจ แล้วบอกว่า ถ้ามันเหนื่อยมากก็เก็บที่มีอยู่ตอนนี้สิ เพราะว่าคนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่หมดเลย แล้วก็ยังโลดแล่นอยู่ อย่างเช่น ยุคสามหน่อ ที่เป็นกราฟิกสตูดิโอยุคบุกเบิก คือตั้งแต่ยุค 2520 กว่าไล่มา คนพวกนี้ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด อาจจะเลี้ยงหลานบ้าง ทำนั่นทำนี่บ้าง แต่เขาก็จะมีคลังบางอย่าง แล้วเขาก็อาจจะไม่รู้ว่ามีใครต้องการหรือเปล่า

แล้วคุณคิดว่าอะไรทำให้กราฟิกดีไซเนอร์คนหนึ่งถึงทำงานอยู่จนถึงอายุ 80 กว่าได้

จริงๆ ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นเป็นแรงบันดาลใจผมในแง่นี้มาโดยตลอด ผมเคยคุยกับดีไซเนอร์ท่านหนึ่ง เป็นคุณพ่อของ จิโร่ เอ็นโด แกเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่มีความสามารถมาก แล้วครั้งแรกที่ผมไปญี่ปุ่น ผมโชคดีที่ผมได้ไปพักที่สตูดิโอแก ที่อยู่อาโอยาม่า ผมก็ถามแกไปว่า ‘ทำยังไงครับ ที่ยังทำงานอยู่จนถึงอายุเท่านี้’

เขาก็บอกผมว่า คนญี่ปุ่น ถึงจุดหนึ่งจะทำงานเพื่อสังคม เพราะว่ายิ่งคุณอายุมากเท่าไหร่ คุณอยู่ในอาชีพหนึ่งมากเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องการเหตุผลในการประกอบอาชีพมากขึ้น เพราะเหตุผลนั้นมันไม่ใช่เงินแล้ว เพราะฉะนั้นคุณจะยืนระยะได้ คุณต้องให้เหตุผลตัวเองให้ได้ว่า คุณจะทำมันไปทำไม คนที่เลิกคือคนที่หาเหตุผลให้ตัวเองไม่ได้แล้วว่าจะทำไปทำไม ถ้าคุณหาได้ คุณก็ทำต่อได้

ผมจำได้แม่น แล้วผมก็บอกว่า ‘ครับ ผมจะทำ ผมจะพยายามเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในประเทศไทยที่ทำจนตาย’ ก็คือผมจะทำจนไม่ไหว เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงในชีวิตเราจำเป็นมาก เราต้องยืนอยู่ให้ได้ ไม่ว่าจะยืนขาเดียวหรือยืนยังไง แต่ทั้งหมดก็ถูกออกแบบมาแล้วว่าจะยืนต่อ จะไปต่อ

ผมยังบอกพวกน้องๆ อยู่เลยว่า “พวกคุณโชคดีนะ มันมีเจตจำนงบางอย่างให้คุณทำไปได้เรื่อยๆ” คือสมมติคุณเป็นนักบัญชี คุณจะทำอะไรถ้าไม่มีใครให้คุณทำ หรือมาจ้างคุณ มันมีอีกหลายอาชีพที่ผมคิดว่า มันไปสัมพันธ์อยู่กับกลไกการว่าจ้างงานแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บางอาชีพอย่างเช่นนักออกแบบ มันเดินไปด้วยตัวมันเอง

อย่างกราฟิกดีไซเนอร์ ถ้าไม่มีคนมาจ้างงาน มันจะต่างจากนักบัญชีที่ไม่มีคนมาจ้างงานมั้ย

ผมว่าน่าจะสัก 30 ปีที่แล้วเป็นแบบนั้น แต่ว่าช่วงนี้มันคงเปลี่ยนแล้ว เพราะว่าเรารู้แล้วว่ากราฟิกมันไปรองรับกับอะไรได้บ้าง

ผมมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง วันที่ผมกลับไปเป็นอาจารย์ แล้วผมขึ้นไปบนสตูดิโออาจารย์ภาคทัศนศิลป์ ผมก็ถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่า ‘จะแสดงงานเหรออาจารย์’ แกก็บอก ‘เปล่าๆ’ ผมก็ถามว่า ‘มีคนมาซื้อเหรอ’ แกก็บอก ‘เปล่าๆ’ ผมก็ถามว่า ‘แล้วเขียนอะไร’ แกบอกว่า ‘ผมเป็นศิลปิน ผมก็ต้องทำงานศิลปะ’

คือเขาให้คำตอบที่โคตรเรียบง่าย แต่ทำไมกูไม่เข้าใจวะ ถามไปได้ยังไงวะ แล้วผมก็บอกแกว่า ผมไม่เคยทำงานออกแบบโดยไม่มีใครมาจ้าง เวลาผมจะทำโลโก้หรือกราฟิก ผมต้องมีโจทย์ มีคนมาจ้าง แต่ผมไม่เคยนึกเลยว่า ผมเป็นนักออกแบบ ผมก็ต้องออกแบบสิวะ มันเรียบง่ายแค่นั้นเอง

นั่นคือจุดประกายที่ทำให้ผมทำนิทรรศการครั้งแรกในรั้วมหาวิทยาลัย แล้วผมเริ่มมองหาว่า จุดประสงค์ของการออกแบบมันคืออะไร เริ่มตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่ทำตามขนบว่านายจบอันนี้มาก็ทำอาชีพนี้ ก็ไปอยู่บริษัทนี้ แต่มันเป็นคำถามที่มากกว่านั้นว่า เมื่อคุณมีทักษะนี้อยู่กับตัว จุดประสงค์มันคืออะไร กลับมาที่ตัวคุณว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งผมก็ต้องขอบคุณอาจารย์คนนั้น นึกย้อนกลับไปผมรู้สึกว่าตัวเองโคตรปัญญาอ่อนเลย ไปถามอะไร คุณควรจะตกใจเมื่อเขาไม่ทำมากกว่า

สันติ ลอรัชวี, กราฟิกดีไซเนอร์, ญี่ปุ่น, วงการสิ่งพิมพ์

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล