แม้ พิ-พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน จะเริ่มบ่นว่าอยากให้คนจดจำตัวเขาในแบบอื่นบ้าง แต่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจท่านผู้อ่าน ฉันขออนุญาตตั้งต้นเล่าเรื่องพิด้วยสิ่งนี้

อย่างที่รู้กัน TEDxBangkok เป็นการยก TED-เวทีทอล์กอันโด่งดังระดับโลกซึ่งชวนบุคคลน่าสนใจขึ้นมาเล่าเรื่องสร้างแรงบันดาลใจ-มาสู่กรุงเทพฯ และพิคืออดีตอาสาสมัครในงาน TEDxChiangmai ที่ได้แรงบันดาลใจจนร่วมทำให้เวทีนี้เกิดขึ้นจริง เขารับบทเป็น ‘Story Curator’ หรือภัณฑารักษ์คัดสรรและขัดเกลาเรื่องทั้งหมดที่จะถูกเล่าบนเวที

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

TEDxBangkok เริ่มต้นในปี 2015 อาจกล่าวได้ว่าเป็นงานที่สร้างกระแสให้เกิดเวที TEDx อีกมากมายในไทย และเป็นงานที่ทำให้คนเริ่มรู้จัก ‘พิ TEDx’ เพราะสิ่งที่เขาทำใหม่มาก ใหญ่มาก และเขาก็ทำได้ดีมากทั้งที่เพิ่งอายุ 23 ปี

แต่เรื่องของพิไม่ได้จบอยู่เท่านั้น

‘Welcome glowers’ คือข้อความบนกระดาษโน้ตที่แปะอยู่ตรงประตูทางเข้า Glow Story เอเจนซี่แนวใหม่ของไทยที่พิร่วมก่อตั้งกับเพื่อนคือ ป่าน-ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ และ บี๋-นภัส มุทุตานนท์ หลังจบ TEDxBangkok ปีแรก

Glow ตั้งใจแก้โจทย์จากลูกค้าและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วย ‘การเล่าเรื่อง’ เฉพาะเจาะจงลงไปอีก มันคือการเล่าเรื่องที่ไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบ

ลูกค้าต้องการคุยเรื่อง ‘ป่า’ โกลว์บิดมันกลายเป็นงาน ‘มาหาสมบัติ’ ที่เล่าเรื่องป่าให้คนเมืองฟังผ่านนิทรรศการ กิจกรรมสำหรับเด็ก จนถึงทอล์กหลากระดับความเข้มข้น อีกกรณีพวกเขาจัดทริป ‘เกิดอะไรขึ้นที่น่าน’ พา Influencer ลงพื้นที่สำรวจป่า เพื่อนำเรื่องราวกลับไปเผยแพร่สู่คนทั่วไป

กระทั่งประเด็นหนักหน่วงอย่าง  ‘ความตาย’ โกลว์ก็หีบห่อมันเป็น Last Talk งานที่ชวนวัยรุ่นคุยเรื่องความตายผ่านทอล์กน่าสนใจและโลงศพ

เท่านี้น่าจะพอสำหรับการจัดพิเข้าสู่หมวดเด็กรุ่นใหม่ที่ ‘น่าสนใจมาก’ แต่แล้วในปีนี้ ฉันก็เห็นเขาตั้งเป้าอยากให้งานของ Glow สร้างผลกระทบไกลกว่าแค่แรงบันดาลใจ ส่วนฟาก TEDx  ก็มีการนำเวที TEDx เข้าสู่โรงเรียนมัธยมในชื่อ TED Club และเลิกจัดงาน TEDx หลักบนเวทีใหญ่ แต่กระจายไปจัดเป็นเวทีเล็กในหลายสถานที่ในชื่อ TEDxBangkok Adventures

บ้าพลังขนาดนี้ จะไม่ให้ฉันมานั่งลงคุยกับเขาได้อย่างไร

และด้านล่างนี้ก็คือเรื่องเล่าเปี่ยมพลังจากชีวิตนักเล่าเรื่องวัย 26 ที่บอกว่าตัวเองคือปลาซึ่งเดินหน้ากระโดดสู่บ่อที่ใหญ่ขึ้นเสมอ

เรื่องเล่าที่อาจทำให้คุณต้องมอง ‘เด็กสมัยนี้’ ด้วยสายตาใหม่

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

จำโมเมนต์แรกที่คุณเริ่มตกหลุมรักการเล่าเรื่องได้มั้ย

น่าจะเป็นตอนประถมเลยนะ ที่บ้านเราค่อนข้างเป็นบ้านที่คุยกันจริงจัง ตอนพ่อขับรถมาส่งที่โรงเรียนก็ไม่ได้เปิดเพลง แต่ถามนู่นถามนี่กับเรา เช่น เห็นคนขับซาเล้งแล้วคิดยังไง หรือเล่าเรื่องตลก รวมถึงไปดูข่าวแล้วมาเล่าให้เราฟัง เราก็เอาเรื่องที่พ่อเล่าไปคุยกับเพื่อน เพื่อนก็จะบอกว่า เออ ไอ้พิมันเล่าเรื่องสนุกดี ตลกดี เราก็เริ่มสนุกกับการเล่าเรื่อง รู้สึกว่าสร้างความบันเทิงให้คนได้ และทำให้เราที่เป็นไอ้แว่นตัวเล็ก น่าแกล้งได้รับการยอมรับ

คุณสนใจหัดเล่าเรื่องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เป็นหัวหน้าห้อง ประธานรุ่น เข้าชมรมโต้วาทีของมหาวิทยาลัย จนถึงเวที TEDx ที่จริงแล้ว ความสนุกของการเล่าเรื่องอยู่ตรงไหน  

เราเป็นคนประเภท Extrovert ที่จะได้รับพลังจากมนุษย์ ซึ่งการเป็นคนเล่าเรื่องไม่ว่าจะในรูปแบบไหน มันได้ปฏิสัมพันธ์กับคน เราก็สนุกและได้พลังจากมัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นคอนเสิร์ตแล้วบอกคนว่ากรี๊ดหน่อย ขอเสียงหน่อย เราพูดประโยคหนึ่งแล้วคนกรี๊ดว่ะ หรือการทำทอล์กอย่างทอล์กบนเวที TEDxBangkok ของน้าต๋อย เซมเบ้ เราเห็นคนเช็ดน้ำตากันครึ่งฮอลล์แล้วก็รู้สึกว่ามันคือเนื้อหาที่เราคัดสรรมา ทีมช่วยกันผลักดันจนทำปฏิกิริยาบางอย่างกับคน

ถ้าถามว่าเรามีนิสัยอะไรที่ชัดกว่าคนอื่น เราคิดว่าตัวเองเป็นคนอยากรู้อยากเห็นอย่างจริงจัง คือเราจบเอกจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเรียนเราชอบวิชาปรัชญาจีนมาก มีประโยคหนึ่งของขงจื๊อที่ใช้ในการทำงานตลอดซึ่งแปลเป็นไทยว่า ในถนนเส้นหนึ่ง 3 คนที่เดินมา ทุกคนเป็นครูเราได้ ถ้าเขามีข้อดีก็เรียนรู้ไว้ ถ้ามีข้อเสียก็ทบทวนว่าตัวเองมีสิ่งนั้นหรือเปล่า เรารู้สึกว่าเรื่องนี้โคตรจริง เราเป็นสายซี้กับป้าแม่บ้าน ซี้กับพี่ยาม รู้สึกว่าทุกคนมีเรื่องเจ๋งๆ หมด และมันคือชุดความคิดเดียวกับเวลาไปคุยหาข้อมูลจากสัปเหร่อ คุยกับชาวบ้านว่าทำไมพี่ถึงเผาป่า เราแค่อยากเข้าไปเข้าใจคนมากขึ้น แล้วช่วยหามุมเล่าเพื่อไปบอกคนอื่นอีกทีว่ามีคนทำสิ่งนี้อยู่นะ

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

ทำไมคุณไม่เลือกทำอาชีพที่ได้เล่าเรื่องอย่างการเป็นสื่อ แต่กลับเลือกเปิดเอเจนซี่

เราอาจไม่ได้ตั้งต้นว่าฉันจะเป็นนักเล่าเรื่องขนาดนั้น ทุกอย่างเริ่มจากต้นทุนที่มี ตอนเราทำ TEDxBangkok ปีแรกจบ มีพี่ที่องค์กร Creative Move ซึ่งตอนนั้นกำลังจะจัดงาน Creative Citizen Talk มาถามว่าช่วยทำคอนเทนต์ได้มั้ย เราก็คิดว่าทำสิ่งนี้แบบได้ตังค์ก็ได้ด้วย รู้สึกว่ามีโอกาสในตลาด มีคนที่มองเห็นว่างานเสวนาที่ไม่ได้ทำแค่บอกวิทยากรว่า มาพูดให้ผมวันนี้หน่อยนะครับ แต่มีคนเข้าไปจัดเรียงให้เรื่องราวชัดขึ้น มันจะเพิ่มคุณค่าของเนื้อหาอีกมาก สร้างการเปลี่ยนแปลงได้เยอะขึ้นมาก

แล้วพอเราเจอเพื่อนร่วมก่อตั้ง Glow Story ซึ่งเป็นคนสายดีไซน์ที่บอกเราว่า TED ไม่ใช่แค่เรื่องบนเวที แต่รวมถึงเนื้อหาที่เจอหลังออกมาจากทอล์ก เช่น งานออกแบบ กลิ่น สี ซึ่งทำให้คนเข้าใจเนื้อหามากขึ้น พวกเราเลยใช้เวลา 2 – 3 เดือนในการสำรวจว่ามีโมเดลอะไรบ้างที่เราได้ทำสิ่งที่ชอบทั้งคู่แล้วก็น่าจะหาเงินได้ด้วย จนออกมาเป็น Glow Story ซึ่งตอนแรกเรียกตัวเองว่าเป็น Talk Event Organizer แต่แล้วเราก็รู้สึกว่า อ้าว ทริปก็ทำได้ นิทรรศการก็ทำได้ เพราะฉะนั้น แก่นไม่ใช่แค่เรื่องทอล์กแล้ว แต่แก่นคือการเล่าเรื่อง เราก็เลยเป็นเอเจนซี่ที่ลายเซ็นน่าจะเป็นเรื่องการไร้รูปแบบ ทอล์กไม่ได้เวิร์กเสมอไป รูปแบบทริปไม่ได้เวิร์กเสมอไป เราจับคู่รูปแบบที่ถูกต้องกับคนดู แล้วหาวิธีขัดเกลาให้ทั้งสองอย่างตรงกัน

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

Glow Story เล่าได้ทุกเรื่องมั้ย

เส้นที่เราจะพยายามรักษาไว้ตลอดเวลาคือ ความจริง หมายถึงว่าสิ่งที่คนซึ่งจะมาเล่าเรื่องสบายใจที่จะเล่า สมมติว่าคุยกับพี่คนนี้ ได้เส้นเรื่องมาประมาณนี้ ถ้าเกิดเติมมุมนี้เข้าไปนะหล่อเลย แต่เขาบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่พี่เชื่อ เราจะไม่ข้ามเส้นนั้นเด็ดขาด แม้จะทำให้ Output ออกมาดีงามมากก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ของเราในหลายรูปแบบ เราไม่ได้เล่าเองทั้งหมด คนที่มาเล่าต้องเชื่อในสิ่งที่เราเสนอ ปรับเข้าปาก แล้วนำเสนอด้วยตัวเอง อย่างวิทยากรของ TED เราไม่อยากให้เขากลับมาดูแล้วคิดว่าไม่น่าพูดสิ่งนั้นไปเลย เราว่ามันน่าจะเป็นความรับผิดชอบของเราในฐานะคนทำคอนเทนต์แบบนี้ด้วย

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

คุณว่านักเล่าเรื่องที่ดีควรเป็นยังไง

รู้จักคนฟัง หมายถึงเราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่ามีแพชชันกับอะไร สิ่งนี้สำคัญมาก แล้วเข้าใจว่าตัวเองจะคุยกับใคร ปัจจุบันนี้ทุกคนมีพื้นที่ให้พูดเยอะไปหมด แต่พอเขาไม่เห็นหน้าคนที่คุยด้วย การสื่อสารมันก็ลอยหายไป มันอาจเวิร์กกับคนกลุ่มหนึ่งก็ได้ แต่เขายิงไปไม่ถูกจุดหรือพุ่งไปไม่ถูกประเด็น อย่างเราเอง ทุกครั้งที่จะเขียนสเตตัสเฟซบุ๊ก เรามานั่งจดก่อนเลยว่าโพสต์นี้จะคุยกับใคร เช่น โพสต์นี้คนอ่านหลักคือวิทยากรเก่าที่เคยทำงานด้วย อาจเพราะเรารู้ชัดว่าคนที่ตามเราคาดหวังอะไรหรือเราจะพาเขาไปอีกจุดจากฐานเดิมได้ยังไง แล้ววิธีนี้ก็เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจด้วย บริษัทเราแทบไม่จ้างพีอาร์เลยในหลายงาน เป็นเฟซบุ๊กเราเสียส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ

ตอนนี้เทรนด์การเล่าเรื่องของโลกกำลังไปทางไหน

เรารู้สึกว่ารูปแบบของเนื้อหาคงหลากหลายขึ้น เพราะเมื่อคอนเทนต์เยอะไปหมด วิธีการรับแบบที่มีอยู่ไม่พอแล้ว ซึ่งเราเชื่อในความออฟไลน์ของการสื่อสาร เชื่อเรื่องประสบการณ์มาก เช่น ถ้าอวดสิ่งของในอินสตาแกรมคือเสี่ยวเลย แต่ถ้าอวดประสบการณ์ เราไปเที่ยวที่แปลก มาชูปิกชู มันคือความเท่ของยุคสมัย ทุกคนก็พยายามให้คุณค่ากับประสบการณ์กันมากขึ้น

อย่างที่สองคือ ความสนใจของคนสั้นลง ตัวอย่างเช่น เวลาทำ TEDx เราจะมีการโทรประชุมกับทีม TED ใหญ่ทุกปี ปีที่ผ่านมาเขาก็แชร์สถิติหลังบ้าน แต่ก่อน TED คือเวทีทอล์กความยาวไม่เกิน 18 นาที เพราะเกินกว่านี้คนไม่สนใจแล้ว แต่ทีม TED บอกว่าสถิติหลังบ้านของช่องยูทูบปีนี้ ’12 is the new 18′ คือเกิน 12 นาทีคนหลุดแล้ว นี่คือเนื้อหาของ TED ที่ขัดเกลาวิทยากรกันแรมปีนะ เวลาลดไปขนาดนี้ ซึ่งการที่ความสนใจของคนสั้นดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้นะ แต่นักเล่าเรื่องต้องปรับตัวแน่นอน ต้องมีรูปแบบที่อิสระมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่ารูปแบบเดียวไม่สามารถเล่าทุกเรื่องได้ดีเสมอไป

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

เคยกลัวมั้ยว่าคอนเทนต์ยุคนี้จะเยอะจนไม่ว่าคุณเล่าเรื่องอะไร ในรูปแบบไหน คนก็อาจมาฟังมาดู แต่พรุ่งนี้ก็จะลืม

กลัวนะ Glow Story เลยเรียกตัวเองว่าเป็น Glow 1.0 คือเราทำในส่วนของการสื่อสาร สิ่งที่เราอยากไปแต่ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า มันคือคำนี้ (ชี้ไปตรงกระดาษจดงานแผ่นใหญ่ที่แปะอยู่ในออฟฟิศ) ‘Provoke Behaviour Change for Better Society’ เรารู้สึกว่าที่ผ่านมาพอเราเป็น Story Telling Agency เราก็เป็นมือปืนรับจ้างที่บอกว่ากระสุนผมจะเล่าเรื่องได้ดีที่สุด ผมจะตั้งใจค้นคว้าข้อมูล ตั้งใจขัดเกลา แล้วนำเสนอออกมาให้ดีที่สุด เราสัญญาในส่วนเรื่องเล่า แต่เรารู้สึกว่าอยากมอบคุณค่าอีกขั้นให้สังคมหรือคนที่เราไปช่วยเล่าเรื่อง นั่นคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

เรามี TED Talk เรื่องหนึ่งที่ชอบมากของ Joe Smith เขาเป็น NGOs สายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พอขึ้นเวที เขาไม่พูดเรื่องหมีขาว แต่บนนั้นมีโต๊ะตัวหนึ่ง มีกะละมังใส่น้ำแล้วก็มีกระดาษทิชชูกองเต็มเลย เขาเอามือจุ่มน้ำ สะบัด 12 ที เพื่อสาธิตว่าด้วยวิธีนี้ เขาใช้ทิชชูแค่ 1 แผ่น ทำอย่างนี้ประมาณ 3 รอบแล้วเดินลง เรารู้สึกว่าโคตรพีก ทุกวันนี้เวลาเข้าห้องน้ำก็ยังล้างมือแล้วสะบัดมือ 12 ที มันคือ 4 นาทีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของไอ้เด็กแว่นคนหนึ่งที่อยู่เมืองไทย แล้วถ้าเกิดมันนับได้ มีกี่คนที่เปลี่ยนพฤติกรรมเพราะเขา

เราอยากทำคอนเทนต์แบบนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน นำสังคมไปข้างหน้ามากกว่าแค่ปรับความเข้าใจและสร้างการตระหนักรู้ ตอนนี้ทีมเราก็โฟกัสเรื่อง Behavioral Economics หรือ Behavior Study มากๆ สิ่งที่อยากทำก็มีทั้งในเชิงของการออกแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือในเชิงการเป็นพาร์ตเนอร์เพื่อขยายกระแสสังคม

โพสต์อิต TEDxBangkok

ในบรรดาประเด็นที่คุณเล่า คุณเคยบอกว่าสนใจเรื่องการศึกษามากเป็นพิเศษ ความสนใจนี้เริ่มจากไหน

เราเคยเรียนในโรงเรียนที่มีเพื่อนโทรมาเล่าให้ฟังว่า ‘มึง กูไปทำแท้งมา’ แล้วเราก็บังเอิญได้ข้ามสะพานไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง คือฝั่งเด็กที่ได้รับโอกาสดีหน่อย รวมถึงได้ไปเห็นโอกาสในเมืองนอก เราเลยได้เห็นว่าเพื่อนเราที่อยู่ตรงนั้นเหมือนจะใกล้กัน แต่ความเหลื่อมล้ำเยอะมาก แล้วก็รู้สึกว่าตรงนั้นเป็นจุดตัดมากๆ สำหรับการกำหนดอนาคตของคน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งถ้าเป้าหมายของเราคือการเปลี่ยนแปลง เราก็รู้สึกว่าการลงทุนในเรื่องการศึกษาคุ้มที่สุดแล้ว แม้มันอาจดูเป็นการลงทุนระยะยาว

ทำไมถึงนำเวที TED เข้าไปในโรงเรียน มันช่วยแก้ปัญหาอะไร

TED คือพื้นที่ และ Glow ไม่ได้เป็นนักทำคอนเทนต์ที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่เราถนัดคือการสร้างพื้นที่ที่หลากหลายทั้งประเด็นและรูปแบบ เพราะฉะนั้น ถ้าองค์ความรู้ของ Glow กลับไปพัฒนา TED เราว่าการสร้างพื้นที่น่าจะเป็นจุดเด่นหรือจุดแข็งสำคัญที่ทำให้แบรนด์ TED ออกไปจากลิมิตของคำว่าแรงบันดาลใจได้ เราอยากแหกกรอบนี้ออกไป ตั้งคำถามว่าหลังจากนี้เราขยายผลได้หรือเปล่า

แล้วเราคิดว่ากลุ่มผู้ชมที่เป็นคนเมืองปัญญาชนไม่รู้สึกว่า TED เท่เหมือนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่มีผู้ชมอีกกลุ่มที่มี Pain Point มากๆ คือกลุ่มเด็ก เราคิดว่าพวกเขาก็เหมือนเรา แค่อยากได้พื้นที่ที่ได้รับการยอมรับ แต่พอระบบการศึกษามีพื้นที่แค่สำหรับเด็กหน้าห้อง ที่เหลือคือเด็กเลวเพราะเกรดไม่ดี เขาก็ไปหาพื้นที่อื่น ถ้ามันเป็นการขับรถเสียงดังตอนกลางคืนแล้วมีคนเฮให้ เขาก็ทำไปเรื่อยๆ มันเลยเป็นที่มาของ TED Club เราอยากเอาครูเข้ามาแล้วบ่มให้เห็นว่าการสร้างพื้นที่ตรงนี้ในโรงเรียนของคุณทำได้ยังไงบ้าง ปีนี้รับได้แค่ 30 คนก่อน แต่นั่นแปลว่าถ้าเราให้เขาสัญญาว่าจะกลับไปทำ TED Club ที่โรงเรียน สมมติมีแค่ 10 ทอล์กต่อโรงเรียน มันคือ 300 ทอล์กซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่แค่ในเชิงเนื้อหา แต่เพิ่มความมั่นใจของเด็กคนหนึ่งที่ถ้าไม่ได้ขึ้นเวทีนี้จะไปเสพยาแล้วนะ

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

แล้วทำไมปีนี้เวทีหลักของ TEDxBangkok ถึงไม่ได้เป็นเวทีใหญ่ การกระจายเวทีไปตามพื้นที่ต่างๆ สำคัญยังไง

เราและทีมเป็นส่วนเล็กๆ ในการผลักดันให้มีกระแส TEDx ในเมืองไทย เรามองว่าจุดนั้นอิ่มตัวแล้ว และเริ่มเสียดายคนเก่งๆ ที่มาอาสาสมัคร เพราะรูปแบบอีเวนต์ไม่ได้ตอบศักยภาพพวกเขาเท่าที่ควร เช่น เราเอาคนระดับดอกเตอร์มาเปิดประตู หรือเฌอปราง BNK 48 มาโบกไฟฉายให้ผู้ชม ซึ่ง TEDxBangkok มีความเป็นผู้บุกเบิกอยู่ในตัว ปีนี้เราเลยอยากบุกป่าไปหารูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้ไอเดียสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าเดิม อย่างที่บอกว่าเราเชื่อเรื่องประสบการณ์ เชื่อเรื่องพื้นที่ เพราะฉะนั้น TED Club มันตอบในเรื่องฝั่งพื้นที่ของระบบการศึกษา ส่วน TEDxBangkok Adventures ก็ให้รูปแบบประสบการณ์ที่ต่างไป เราเชื่อว่าถ้าขยายสิ่งนี้ได้จะดึงศักยภาพอาสาสมัครได้อีกเยอะมาก สมมติว่าธีมปีนี้คือการคมนาคม ถ้าเกิดมันมี 8 สายล่ะ เช่น เทคโนโลยี ขยะ และอาหาร แล้วคนก็ไปสัมผัสไอเดียในห้องครัว ในกองขยะ ในโรงเรียนร้าง รวมถึงทำให้เกิดผลที่เป็นการกระทำได้มากขึ้น เราว่าน่าจะเป็นการใช้เวลาของทุกคนได้คุ้มที่สุด

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

ในวัย 26 คุณมองว่าตัวเองเป็นคนประสบความสำเร็จเร็วมั้ย

เรื่องที่เราประสบความสำเร็จเร็วที่สุดน่าจะเป็นการเข้าใจตัวเอง เช่น เรารู้ว่าชอบอยู่กับคนแบบไหน ชอบทำงานที่มีเนื้อหาแบบไหน ซึ่งที่จริงแต่ละยุคมีนิยามความสำเร็จของคนส่วนใหญ่ต่างกันไป เช่น คนยุคพ่อแม่เราพาลูกไปกินข้าวร้านอาหารดีๆ ได้คือความฟินแล้ว แต่ยุคเรามีข้าวกินแล้วมั้ง ก็เลยมองหาความสำเร็จหรือคุณค่าในชีวิตที่ต่างไป การเข้าใจตัวเองก็ช่วยตรงนี้ ทำให้รู้ว่าเราจะทุ่มเทกำลัง ทุ่มเทเวลาไปกับอะไร

เราเชื่อว่าทรัพยากรของตัวเองที่มีค่ามากที่สุดไม่ใช่เงิน แต่คือ Time กับ Trust เราอยากลงทุนเพื่อให้ได้เวลามากขึ้น และเชื่อว่าความเชื่อใจเป็นทรัพยากรสำคัญมาก เพราะเราทำงานกับตัวท็อปของทุกวงการ ซึ่งถ้าเขามองว่าน้องคนนี้ใช้ได้ก็จะนำมาซึ่งงานหรือความเชื่อใจจากผู้ใหญ่ แต่ถ้าเขาบอกว่าน้องคนนี้ห่วยก็จบเหมือนกัน เราก็นิยามความสำเร็จตัวเองจาก 2 ปัจจัยนี้ด้วย ถ้าลงทุนไปกับอะไรแล้วได้ 2 สิ่งนี้กลับมา โดยสิ่งที่ไปลงทุนเป็นความสุขของเราและช่วยให้ได้ดูแลคนรอบตัวเท่าที่ทำได้ เราก็โอเคแล้ว

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

เป็นคนชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไรแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรหรือเปล่า

น่าจะเป็นการเลี้ยงดูจากพ่อที่เรารู้สึกว่าเขาโคตรเจ๋ง เขาเป็นคนพิการนะ กระดูกสันหลังคด เคยต้องใส่เฝือกเป็นเหมือนเสื้อเกราะ ต้องนั่งอยู่ในห้องดูเพื่อนเตะบอล ระหว่างนั้น สิ่งที่เขาทำได้ก็คืออ่านหนังสือเรียนหรือคิด เพราะฉะนั้น เขาจะเป็นคนที่คิดล่วงหน้าตลอดว่า ขั้นตอนต่อไปของตัวเองจะเป็นยังไงต่อ เพราะเสี่ยงมากไม่ได้ แล้วตอนเราเด็กๆ เขาเลยชวนคิดตลอดว่า เทอมนี้อยากได้อะไร เป้าหมายคืออะไร สิ่งนี้ค่อนข้างฝึกเรา เราเลยจะไม่ค่อย Hakuna Matata เท่าไหร่ (หัวเราะ)

อีกอย่างคือการวางแผนทำให้เราไม่พะวงหลัง อย่างน้อยพอเราเลือกทางที่มันยาก เสี่ยง ไม่รู้จะเป็นยังไง เราจะได้บอกคนข้างหลังได้ว่า โอเค รอเราหน่อย ตอนนี้อาจยังไม่ได้เป็นลูกชายที่ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจนะ แต่เรากำลังจะก้าวไปในเส้นทางนี้ และนี่คือเส้นที่เราชอบ เรามีความสำเร็จระหว่างทางไปให้เขาสบายใจ เช่น พอได้ลงในสื่อ เราก็เอาไปวางบนโต๊ะกินข้าว เขาดูแล้วก็ไม่พูดอะไร แต่ญาติมาก็อวดว่านี่ลูก การมีแผนทำให้เราวิ่งไปข้างหน้า ไปทางที่เราไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงได้สุดกว่า

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

แล้วเคยรู้สึกว่าความเป็นเด็กเป็นข้อจำกัดมั้ย

เราว่าเป็นข้อดี เพราะเราค้นพบสิ่งหนึ่งคือผู้ใหญ่ชอบให้เด็กมาก ยิ่งเด็กยิ่งได้ การที่เราเริ่มต้นตอนยังเด็กเลยได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่มาก แต่ขณะเดียวกัน เด็กก็มีเยอะและก็มีผู้ใหญ่บ่นว่าเด็กสมัยนี้เห็นแก่ตัว เอะอะลาออก แต่พอ Glow ชัดเจนมากว่าผมทำธุรกิจ ไม่ใช่กิจการเพื่อสังคมด้วยนะ ผมอยากสบายแต่อยากทำงานที่มีความสุขด้วยคืองานที่ช่วยคนแบบพี่ ผู้ใหญ่เขาก็จะเอ็นดู จะรู้สึกว่าเด็กมันตั้งใจ

เพื่อนที่ร่วมตั้ง Glow คยสอนเราเรื่องหนึ่งว่า ตอนทำงาน มี 2 ก้อน ก้อนแรกคือ Process ก้อนที่สองคือ Output ซึ่งทั้ง 2 ก้อนนี้ระเบิดพร้อมกันไม่ได้ บึ้มได้แค่ก้อนเดียว เช่น ถ้าระหว่างกระบวนการรู้สึกว่าน้องคนนี้เต็มที่มาก ถึงงานล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ให้โอกาสเขา หรือระหว่างกระบวนการพวกน้องติดต่อยาก แต่ถ้างานออกมาดี ก็โอเค ถือว่าไปทุ่มทำงานมา แต่ถ้าระเบิด 2 อันพร้อมกันเมื่อไหร่นี่ฉิบหาย คือระหว่างทางมึงไม่ตั้งใจ และงานก็ออกมาห่วยด้วย มีการบอกปากต่อปากแน่ว่าอย่าไปใช้เจ้านี้ เพราะฉะนั้น เราว่าความเป็นเด็กมีข้อได้เปรียบในเชิงของคนพร้อมสนับสนุน แต่ถ้าเราไม่สามารถรักษาสมดุล 2 ก้อนนี้ ทำบึ้มพร้อมกันบ่อยๆ เราก็จะเป็นแค่เด็กที่ไม่มีฝีมือ เด็กที่ขาดประสบการณ์ เด็กที่ไม่เอาไหน เหมือนที่ผู้ใหญ่หลายคนเข้าพูดกัน

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

จากวันที่เล่าเรื่องให้เพื่อนฟังตอนประถม ความสุขในการเล่าเรื่องเปลี่ยนไปจากตอนเด็กๆ มั้ย

เรายังทำเพื่อตัวเองอยู่เสมอแหละ แต่ถ้าพูดในเชิงของแก่นคือ เมื่อก่อนเรามองหาการยอมรับจากคนภายนอก แต่พอโตขึ้นมาเราเริ่มช่างแม่งมากขึ้น สนใจว่าคนนอกจะมองยังไงน้อยลง ให้ความสำคัญกับคนข้างในมากขึ้น

แก่เร็วนะเนี่ย

อาจเพราะได้รับการยอมรับเร็วมั้ง แล้วพอไปถึงตรงนั้นปุ๊บก็รู้สึกว่า อ้าว มันเท่านี้เหรอ มันคือการค้นชื่อตัวเองในกูเกิ้ลแล้วเจอบทความเพิ่มขึ้นมา 1 อันอย่างนี้เหรอ แล้วแต่ก่อนเราเป็นคนที่ไม่น่าทำงานด้วย เป็นคนที่แสวงหาความสำเร็จมาก ตอนทำค่ายอาสาจะบอกคนว่า ‘เฮ้ย ทำอันนี้ได้หรือเปล่า ทำไม่ได้ออกไปเลย’ คือเรารู้สึกว่าเราทำเพื่อประชาชน จะด้วยวิธีการอะไรไม่สนหรอก อีกคนต้องเสียใจก็ช่างมัน แต่ตอนนี้เราเริ่มเรียนรู้ว่าสุดท้ายคนที่อยู่กับเราก็คือคนรอบๆ นี่แหละ เราไปสร้างการเปลี่ยนแปลง ไปช่วยทุกคนเล่าเรื่องทีละคนไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือมอบความรักและเป็นคนสนับสนุนให้ 3 คนในทีม Glow หรือ 10 คน 50 คนในทีม TED แล้วให้เขาไปมอบความรักกับผู้ชมอีกเป็นพันคน ครูอีกเป็นร้อยคนได้ แบบนี้มันขยายผลได้มากกว่า

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

สิ่งนี้เป็นการตกตะกอนจากช่วงเกณฑ์ทหารหลังเปิดบริษัทได้สักพัก เราเคยคิดว่าตัวเองทำสิ่งยิ่งใหญ่มาก เป็นพิ TEDx โคตรคูลเลย แต่มาค้นพบความจริงตอนเป็นทหารว่าสิ่งที่เราทำเป็นหยดน้ำเล็กๆ ในมหาสมุทรที่มืดมิด ในขณะที่เราบิลด์คนว่ามีแรงบันดาลใจนะ นึกถึงฝันในวัยเด็กกับน้าต๋อยกันนะครับ หรือมีคนดูทอล์กในคลิปหลักล้านวิว แต่ละปีมีผู้ชายเป็นแสนๆ คนเข้าไปในระบบหนึ่งแล้วมันล้างสมองเขาว่า มึงอย่าแหลม มึงเจริญด้วยความสามารถไม่ได้หรอก คนพวกนี้คือหัวหน้าครอบครัว คือคนหนุ่มที่จะกลับไปทำงานปีละเป็นแสนคน แล้วเราทำไอ้ทอล์กสิบแปดนาทีมันเปลี่ยนโลกจริงเหรอ แรงบันดาลใจมันไม่ทัน แล้วเราทำได้มากกว่านี้หรือเปล่า จากแต่ก่อนที่เรามองผลลัพธ์มาก มีทอล์กน้าต๋อย คนน้ำตาไหล เลยเห็นว่าอย่างนั้นมันไม่ยั่งยืน มันขยายไม่ได้ทั้งในเชิงการเปลี่ยนแปลงและในเชิงธุรกิจด้วย

เพราะฉะนั้น วิธีการทำงานของเราก็จะสร้างคนมากขึ้น สร้างแพลตฟอร์มมากขึ้น ในห้องเรามีโพสต์อิตแปะว่า ปีนี้เป้าหมายหลักคืออยากเป็นผู้สนับสนุนที่ดี หมายถึงรับฟังคนอื่นและให้เขามีความเป็นเจ้าของกับสิ่งที่ทำ เราเตือนตัวเองเสมอว่ามึงไม่ได้เก่งที่สุด

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan