เราคุยกันตั้งแต่ ‘สว่าง’ ยัน ‘มืด’

ผมหมายถึงทั้งช่วงเวลาที่เราพูดคุยและหัวข้อของบทสนทนา

วันนั้นเรานั่งคุยกันตั้งแต่ช่วงเย็นย่ำไปจนกระทั่งค่ำมืด และเราถกกันตั้งแต่เรื่องความสว่างไสวของชีวิตไปจนถึงความมืดมิดของยุคสมัย

ผมนัดพบ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ หรือ ‘พี่อ๋อง’ ของน้องๆ ในวงการ ที่ออฟฟิศของเขาย่านศูนย์วิจัย

โดยตำแหน่งหน้าที่เขาคือบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร a day BULLETIN มีแฟนประจำไม่น้อยที่คอยตามอ่านบทบรรณาธิการของเขาซึ่งมักหยิบยกสิ่งที่เราต่างต้องเผชิญหน้าในยุคสมัยปัจจุบันมาบอกเล่าอย่างคมคาย บาดลึก

นอกเหนือจากบทบาทบรรณาธิการเขายังเป็นนักเขียน ล่าสุดเขาคือผู้แปลหนังสือ The Little Book of Ikigai หรือในชื่อไทยว่า อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่

คงคล้ายเรื่องละเอียดอ่อนในชีวิตอื่นๆ-เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายคำว่า ‘อิคิไก’ ให้เข้าใจภายในไม่กี่บรรทัด แต่หากจะกล่าวอย่างรวบรัด อิคิไกคือคุณค่าของการมีชีวิต คือสิ่งที่เป็นเหตุผลของการตื่นในทุกเช้า ซึ่งโดยทั่วไปอิคิไกมักถูกทำความเข้าใจผ่านการหาจุดตัดของวงกลม 4 วง อันได้แก่ สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราทำได้ดี สิ่งที่สร้างรายได้ให้เรา และสิ่งที่โลกต้องการ

“สำหรับผมการเขียนคืออิคิไก คือความหมาย” เขาว่าอย่างนั้นในห้องที่ตัวเองมักจะมานั่งเขียนงานเงียบๆ เพียงลำพัง

ไม่แน่ใจว่าสำหรับคนอื่นการเขียนมีความสลักสำคัญอย่างไร แต่กับวุฒิชัย เขาทำงานเขียนเพื่อทำความเข้าใจชีวิต และบทสนทนาต่อไปนี้ คือความคิดที่เขาค้นพบจากการทำความเข้าใจนั้น

ความหมายของการมีชีวิตอยู่ของ อ๋อง วุฒิชัย ผู้แปล ‘อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

การแปลหนังสือ อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทำให้คุณเข้าใจชีวิตเปลี่ยนไปไหม

ไม่เปลี่ยน มันค่อนข้างลงรอยกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดี มันทำให้เวลาเราแปลยิ่งตอกย้ำความเชื่อหรือว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน มันทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันโอเคแล้ว

ตอนนี้คิดว่าตัวเองเข้าใจอิคิไกอย่างถ่องแท้หรือยัง

ยัง แล้วผมรู้สึกว่าถ้าเราพูดถึงมันบ่อยๆ อีกสักพักมันจะเป็นคำที่เกร่อ อีกสักพักคนจะเกลียดมัน อีกสักพักคนจะมองว่ามันดัดจริต โลกสวย อีกสักพักมันจะสาธารณ์ แล้วอีกสักพักมันจะพัง

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจเรื่องนี้ผ่านวงกลม 4 วง คือ หนึ่ง-สิ่งที่เรารัก สอง-สิ่งที่เราถนัด สาม-สิ่งที่เราทำแล้วได้เงิน และสี่-สิ่งที่โลกต้องการ ถ้าทั้งสี่วงกลมมันมา Intersect กันสิ่งนั้นคืออิคิไก แต่พอเราพูดว่าเราจะต้องหาสิ่งนี้ให้เจอ ผมว่ามันจะกลายเป็นภารกิจอะไรบางอย่าง ซึ่งมันจะพาเราออกห่างจากความเป็นจริงของชีวิต

สมมติตอนอายุ 20 กว่าๆ เราเรียนจบมา เราไม่มีทางรู้จริงๆ หรอกว่าเราถนัดอะไร เรารักอะไร แต่ถ้าคุณไปถามคนที่เรียนจบปริญญาตรีว่าคุณรักอะไร เขาจะตอบว่าหนูรักการท่องเที่ยว เสร็จแล้วถามว่าคุณถนัดอะไร อ๋อ หนูชอบถ่ายรูป เขียนรีวิวท่องเที่ยวได้ แล้วถามว่าอะไรที่คุณจะได้ตังค์ อ๋อ ถ้าอย่างนั้นหนูเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวดีมั้ย เสร็จแล้วถามว่าอะไรล่ะที่โลกต้องการ อ๋อ แน่นอน โลกต้องการบทความท่องเที่ยวของหนู แล้วถ้าคุณมาวงกลม 4 วง ณ วันนั้น มนุษย์ทุกคนบนโลกจะต้องเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว เพราะว่าทุกคนตอนอายุ 20 ก็อยากเที่ยวไง เราหลุดมาจากกรงของระบบการศึกษาปริญญาตรี มันเป็นเวลาของเรา เราอาจจะไม่ได้อยากเริ่มทำงาน

แสดงว่ามีสิ่งที่เราต้องระวังในการทำความเข้าใจเรื่องอิคิไก

เพราะเวลาที่มนุษย์รับรู้โลก เรามักจะสร้างภาพแทนอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายความจริงให้ชัดเจน ซึ่งตัวมันเองไม่ใช่ความจริงแล้วนะ มันเป็นเพียงภาพแทน เหมือนเรื่องเวลา มันไม่มีความจริงเรื่องเวลา สมมติตื่นเช้ามาพระอาทิตย์ขึ้น ตอนกลางวันแดดร้อน ตอนเย็นแดดร่ม ตอนกลางคืนก็พระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งมันเป็นธรรมชาติ แต่พอคุณสร้างคอนเซปต์ความคิดเรื่องเวลาขึ้นมา คุณก็สร้างนาฬิกาขึ้นมาเป็นภาพแทน มันก็เหมือนกับแผนผัง 4 วงของอิคิไก ถามว่าตอนนี้นาฬิกาคุณกี่โมง

18.26 น.

ของผม 18.28 น. แล้วอันไหนจริงล่ะครับ คือสุดท้ายมันเป็นเพียงภาพแทน แล้วมันไม่มี 18.26 หรือ 18.28 ของจริง มันเป็นแค่ความรับรู้ของเราว่าเรารับรู้ปัจจุบันขณะตรงนี้ยังไง

ถามว่าการตีความอิคิไกมันอันตรายยังไง คือสุดท้ายมันก็จะถูกขายเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้คุณดิ้นรน กระวีกระวาด ขวนขวาย ทะเยอทะยาน เพื่อที่จะหาอิคิไกให้เจอ หรือไม่อีกทางหนึ่งมันก็จะทำให้คุณ romanticize ชีวิตแบบที่มันอาจจะไม่ได้เป็นจริงแบบนั้น Alain de Botton พูดไว้ใน TED Talks หัวข้อหนึ่งชื่อว่า ‘A kinder, gentler philosophy of success’ เขาพูดประมาณว่าหนังสือพัฒนาตนเองทั้งโลก สอนคุณอยู่ 2 อย่าง คือ ‘คุณทำได้’ และอีกอย่างคือ ‘ไม่เป็นไรหรอก คุณก็เป็นอย่างที่คุณเป็น’ ซึ่งการตีความ 2 อย่างนี้มันเสี่ยงถ้าเราตีความผิด ถ้าบอกว่า ‘คุณทำได้’ แสดงว่าใครก็ตามที่รู้เรื่องนี้ รู้เรื่องวงกลม 4 วง คุณจะค้นพบว่าต้องทำอะไรในชีวิต แล้วไอ้มนุษย์คนที่ยังไม่พบก็จะคิดว่า โอ้โห คนอื่นค้นพบกันหมดแล้วเหรอวะ ตายห่า กูยังไม่พบเลย เสาร์อาทิตย์นี้ต้องไปร้านหนังสือแล้ว ไปซื้อหนังสือเล่มนี้ที่ผมแปล ซึ่งมันก็เป็นเพียงการแปลไอเดีย แปลคุณค่าบางอย่างให้กลายเป็นสินค้า

ในความเป็นจริงผมรู้สึกว่าอะไรก็ตาม เราแค่อยู่กับสิ่งที่เราทำ ยอมรับตัวเอง เข้าใจตัวเอง แล้วก็อยู่กับคนอื่นอย่างสอดคล้อง และไม่ว่ายังไงก็ตาม ไม่ว่ามันจะเป็นอิคิไกหรือไม่ใช่อิคิไก ไม่ว่ามันจะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ ไม่ว่าโลกจะต้องการหรือโลกไม่ต้องการ ฉันก็จะยืนหยัดที่จะทำงานที่ฉันอยากทำต่อไป

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

แล้วคุณคิดว่าอะไรทำให้ช่วงนี้จึงมีหนังสือที่พูดเรื่องปรัชญาความสุขออกมามากมาย ทั้งอิคิไก ฮุกกะ ลากอม

ผมไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า องค์รวมอันแฝงเร้น เขียนโดย Parker J. Palmer แปลโดย พินทุสร ติวุตานนท์ เขาบอกว่าคนเราออกจากตัวเองไปไกลมาก เขาเปรียบเทียบชีวิตคนเราเหมือนกับชาวนาที่อยู่ในชนบทอันแร้นแค้นและหนาวเหน็บ ซึ่งในฤดูหนาวตอนกลางคืนจะมืดสนิทและจะหนาวจัดมาก ถ้าคุณออกจากบ้านเพื่อจะเดินไปหยิบของที่โรงนา คุณจะหลงทางท่ามกลางความมืดและพายุหิมะ จนไม่สามารถจะไปถึงโรงนา และไม่สามารถจะกลับเข้าบ้านได้อีก แล้วก็ตายอยู่กลางทาง ชาวนาจึงต้องผูกเชือกที่กลอนประตูบ้านโยงไปที่กลอนประตูของโรงนา เพื่อที่เปิดประตูออกมาแล้วเขาจะได้สาวเชือกออกไป พอหยิบของเสร็จเขาจะได้สาวเชือกกลับบ้าน ผมว่ามนุษย์ทุกวันนี้เรามาอยู่ท่ามกลางของพายุหิมะในทุกมิติ

เงื่อนไขการแข่งขันในโลกปัจจุบัน โลกธุรกิจ และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มันตัดขาดเราออกจากความเป็นจริง เราหลงทางอยู่กับกลของโครงสร้างอะไรบางอย่างที่มันสร้างขึ้นมาปลอมๆ แล้วเราก็ติดอยู่ตรงนี้ แล้วเราก็เหนื่อย แล้วเราก็ท้อ กลับก็กลับไม่ได้ ไปก็ไปไม่ถึง และเราก็ไม่มีเชือก สมมติคุณอยากเปิดร้านอาหาร คุณรักการกินเนื้อวัวมากเลยนะ คุณอยากทำร้านเนื้อย่างที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่สภาพทุกวันนี้ ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ด้วยเงื่อนไขของวัตถุดิบการผลิต ด้วยเงื่อนไขของรสนิยมการกิน ด้วยเงื่อนไขของไลฟ์สไตล์ผู้คน ด้วยเงื่อนไขของค่าเช่า ด้วยเงื่อนไขของทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะถล่มเข้ามาใส่คุณ เสร็จแล้วสิ่งที่คุณทำคืออะไร ร้านเนื้อกระทะแบบบุฟเฟต์ การแข่งขันมันทำให้เราเปิดประตูออกจากบ้านท่ามกลางพายุหิมะในคืนฤดูหนาว แล้วเดินมุ่งหน้าไปที่โรงนา มองที่ไหนไม่เจอ แล้วถามว่าจุดมุ่งหมายในการทำงานจริงๆ ของคุณคืออะไรวะ

ผมว่าหนังสือที่ว่ามันก็คือเชือกแหละ อย่างเล่มที่ผมแปลมันจะไม่ใช่เล่มที่บอกให้คุณไปหาอิคิไก แต่มันจะทำให้คุณสาวเชือกกลับบ้าน มันอาจจะไม่ได้ทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่มันแค่ทำให้คุณรู้สึกว่าโอเค อยากทำอะไรก็ทำ แล้วก็ยืนหยัดทำไป ถ้ายังไม่ค่อยได้อะไร คุณก็กลับบ้าน แค่นั้นเอง ชวนกลับบ้าน หาความสุข มีอิคิไก มีฮุกกะ มาปลอบประโลม คือในโลกปัจจุบันถ้าคุณไม่กระโจนไปหาความสำเร็จ คุณก็ต้องกระโจนไปหาความสุข มันก็เป็นสองขั้ว

แล้วคุณเองเชื่อในขั้วไหน ความสำเร็จหรือความสุข

ที่จริงแล้วผมกลับเชื่อหนังสืออีกเล่มซึ่งผมไม่ได้เป็นคนแปล หนังสือเล่มนั้นชื่อ Man’s Search for Meaning ชีวิตไม่ไร้ความหมาย เขียนโดย Viktor E. Frankl แปลโดยอาจารย์นพมาส แววหงส์

ไม่ใช่ความสุข ไม่ใช่ความสำเร็จ หนังสือเล่มนี้เขาบอกว่ามนุษย์แท้จริงแล้ว สิ่งที่เป็นปลายทางของเราคือความหมาย ผมเชื่อเรื่องความหมาย เรามีเสรีภาพที่จะกำหนดความหมายกับตัวเรา กับชีวิตเรา กับครอบครัวเรา กับงานของเรา กับบริบททั้งชีวิต กับสภาพแวดล้อมกับภูมิประเทศทั้งหมด ภูมิอากาศทั้งหมดรอบตัวเรา เราให้ความหมายกับมันยังไง ทุกสิ่งอย่างมันขึ้นอยู่กับเรา

คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจิตแพทย์ชาวยิวที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาถูกนาซีกวาดต้อนเข้าค่ายรมแก๊ส แล้วเขาบอกว่าในชีวิตแบบนั้น ชีวิตมันเหมือนไม่มีความหมายอะไรเหลืออยู่ ในสภาวะแบบนั้นคุณจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร เขาเคยเป็นจิตแพทย์ที่มีฐานะร่ำรวย มีงานวิชาการ เขียนหนังสือ ได้รับการยอมรับ มีครอบครัวที่ดี มีพ่อแม่ มีเมียมีลูก มีเพื่อนฝูง ทุกคนกำหนดความหมายให้กับชีวิตเขาว่าเป็นชีวิตที่ดี แต่พอเข้าไปอยู่ในค่าย เขาถูกยึดทุกสิ่งทุกอย่าง พ่อแม่ เพื่อนฝูง ลูกเมีย ก็ถูกพรากไป สิ่งเดียวที่เขาติดตัวไปคืองานวิจัยเล่มสุดท้ายที่เขากำลังทำอยู่ แล้วเขาคาดหวังว่ามันจะต้องถูกตีพิมพ์ เพราะมันจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ต่อมวลมนุษยชาติ แล้วเขาเก็บงานชิ้นนี้ไว้กับตัว เป็นสิ่งสุดท้ายที่กำหนดความหมายของเขา เขาเลยค้นพบว่าจริงๆ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับมุมมองที่คุณมีต่อชีวิต ถ้าคุณมองว่ามันมีความหมายมันก็ยังมีความหมาย แต่ถ้าคุณมองว่ามันไร้ความหมายไปแล้ว คุณก็อยู่ไปวันๆ รอวันตาย

เขาบอกว่าในค่ายกักกัน วันที่คนล้มตายมากที่สุดคือวันอะไรรู้ไหม

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

วันอะไร

วันคริสต์มาส เพราะพอถึงวันคริสต์มาสทุกคนจะคาดหวังว่าจะต้องมีบางอย่างมหัศจรรย์ พระเจ้าจะต้องดลบันดาลให้สงครามนี้ยุติ หรือไม่นาซีกับอเมริกาจะต้องประกาศยุติสงคราม แต่พอพ้นคริสต์มาสไปสงครามไม่หยุด ท่ามกลางฤดูหนาวคนก็เริ่มล้มตาย เพราะมันไม่มีความหมายเหลืออยู่ในชีวิตอีกต่อไป แล้วคนที่เขาเขียนหนังสือ Man’s Search for Meaning ที่อยู่ในค่ายนาซี ที่มันสิ้นหวัง ไร้เหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่เขายังยืนหยัดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เขาบอกว่าทุกเช้าที่เขาตื่นขึ้นมาแล้วเขาไม่ป่วยเขาโคตรดีใจเลย เพราะว่าถ้าเขาป่วยแปลว่าวันนั้นเขาจะต้องเข้าห้องรมแก๊ส แต่ถ้าเขาตื่นขึ้นมาแล้วเขาไม่ป่วย แปลว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ตื่นเช้ามาเขาแฮปปี้แล้ว แต่ในขณะที่เราทุกคนวันนี้คุณตื่นเช้ามาคุณแฮปปี้หรือเปล่า

ที่ผ่านมาคุณเองเคยรู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมายบ้างไหม

ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นแบบนั้น ชีวิตเราครั้งหนึ่งเคยโรแมนติกอยู่กับความล่องลอย แล้วก็บ่น ตำหนิติเตียนโลก แล้วสุดท้ายมันไม่ได้นำพาคุณไปสู่อะไรเลย

คุณเคยดูเรื่อง Memory of Matsuko มั้ย ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเขาตีความหนังเรื่องนี้กันยังไงนะ แต่ผมคิดว่ามัตสึโกะเขาหล่อเลี้ยงด้วยความพึงพอใจของคนอื่นหมดเลย มัตสึโกะตอนเด็กๆ พ่อไม่รัก มัตสึโกะพยายามทำให้พ่อรักด้วยการทำหน้าตลก เขาสละทุกความสุขในชีวิตเพื่อให้คนอื่นมีความสุขด้วย จนสุดท้ายเขากลายเป็นผู้หญิงที่ไม่เหลืออะไรเลยในชีวิต แล้วเขาก็บอกว่าขอโทษด้วยที่ฉันเกิดมา ขอโทษด้วยที่ฉันเกิดมา ขอโทษด้วยที่ฉันเกิดมา คือมัตสึโกะมองไม่เห็นเลยว่าทั้งหมดทั้งปวงที่ตัวเองทำ ที่มีชีวิตอยู่ มันโคตรมีความหมายกับคนอื่นเลย แต่คุณไม่เข้าใจว่าคุณมีความหมายกับตัวคุณเองยังไง เขาทำให้พ่อมีความสุข ทำให้แฟนมีความสุข ทุกคนชีวิตเปลี่ยนไป มัตสึโกะมีความหมายกับทุกคนเลยนะ แต่มัตสึโกะไม่พบความหมายของตัวเอง

แล้วคุณค้นพบหรือยังว่า ความหมายของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์คืออะไร

ผมค้นพบว่า คำว่า ‘ความหมาย’ ในภาษาอังกฤษมันจะมีคำว่า Meaning และมันจะมีอีกคำ คือคำว่า Significant 

คำว่า Meaning มันเหมือนกับว่าความหมายมันสถิต เหมือนว่าเราเกิดมามีความหมายความหมายหนึ่ง แล้วคุณก็ถามผมว่าความหมายนั้นคืออะไร อยากรู้มากเลย ซึ่งโคว้ทนี้จะต้องได้พันไลก์ เพราะว่าผมสามารถจะสรุปความหมายของชีวิตให้กับสรรพชีวิตที่อยู่บนโลก ซึ่งไม่มีหรอก ความหมายมันเป็นเรื่อง Significant มันอยู่ที่แต่ละคนกำหนด

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

แล้วมีเหตุการณ์ไหนไหมที่ทำให้คุณรู้สึกค้นพบว่าชีวิตมีความหมาย

ตอนนั้นแม่ผมไม่สบาย อยู่ๆ แม่ไม่มีความรู้สึกที่ปลายเท้า แล้วแม่เริ่มเดินไม่ได้ แม่กับพ่อเลยย้ายไปอยู่กับพี่ชายที่ต่างจังหวัด ในขณะที่ผมครอบครองบ้านที่กรุงเทพฯ คนเดียว ตอนนั้นผมเป็นฟรีแลนซ์ ก็รับจ๊อบเขียนงาน ดูซีรีส์ อยู่ไปวันๆ ชีวิตไร้ความหมาย แล้วเรามีพี่ชายอีกคนซึ่งเขาพิการเพราะตอนเกิดมาเขาถูกกระทบกระเทือนทางสมอง พี่ชายคนนี้อยู่ที่ศูนย์ฝากเลี้ยงแห่งหนึ่ง แต่ละเดือนที่บ้านจะต้องจ่ายตังค์ให้ศูนย์นี้มหาศาล ทั้งค่าแรง ค่าที่ ค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร แล้ววันนั้นแม่ที่ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดก็โทรมาหาผม บอกว่า ‘อ๋อง เอาเลขบัญชีมา แม่จะโอนตังค์ค่าเลี้ยงพี่ชายให้’ เพราะแม่เห็นว่าผมตกงาน แล้วแม่ก็ถามว่า ‘อ๋อง กินข้าวหรือยัง อยู่บ้านคนเดียวหาข้าวปลากินยังไง’

ตอนนั้นผมก็บอกแม่ว่า ‘ไม่เป็นไร ผมมีเงินอยู่ แม่ไม่ต้องโอนเงินมา แล้วเดี๋ยวผมหาข้าวหาปลากิน แม่ไม่ต้องเป็นห่วง’ เสร็จแล้วผมก็ขับรถไปธนาคาร เบิกเงินมาปึกหนึ่ง ขับรถข้ามสะพานพระราม 5 ไปยังสถานที่ที่ดูแลพี่ชายเราอยู่ ไอ้โมเมนต์ที่ผมขับรถข้ามสะพานพระราม 5 มันเหมือนกับฟ้าสว่าง เหมือนเราเข้าใจแล้วว่าเราเกิดมาทำไม พ่อเราสอนเราขับรถเมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อที่วันหนึ่งเมื่อเขาไม่อยู่บ้านเราจะได้ขับรถไปดูแลพี่เรา พ่อแม่เราส่งเสียเราจนเรียนจบเพื่อที่เราจะได้มาเป็นนักเขียน เพื่อที่เราจะได้มีเงิน เพื่อที่เราจะได้ตัดเงินแต่ละเดือนเพื่อไปจ่ายเงินให้กับคนดูแล ตอนนั้นมันไม่มีคำถามเลยว่าเกิดมาทำไม ความหมายของชีวิตแค่นี้แหละ แค่นี้เลย เพื่อที่จะขับรถมา ณ ตรงนี้ ตอนนี้ เพื่อที่จะให้พี่ชายมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 1 เดือน

คำถามคือ แล้วพี่ชายผมมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ในขณะที่เขาไม่มีความสามารถในการผลิตอะไรได้อีกแล้ว ในโลกของทุนนิยมคุณไม่มีประโยชน์แล้ว คุณคิดว่าชีวิตที่นอนอยู่บนเตียง แล้วเวลาที่ผมไปเยี่ยมก็ได้แต่ปรบมือดีใจ ชีวิตแบบนี้มีประโยชน์อะไร ผมไม่รู้ แต่ผมว่ามันเป็นชีวิตที่หนักมาก แล้วเขาเองจะต้องหาความหมายในชีวิตของเขาให้เจอ

คือคุณเชื่อว่าทุกคนต้องหาความหมายในชีวิตของตัวเองให้พบ

เสรีภาพเดียวที่เรามีคือเสรีภาพที่เราจะกำหนดความหมายชีวิตของเราเอง ทุกอย่างมันวนกลับไปเรื่องเดิมที่เราคุยกัน คือข้างนอกเป็นพายุหิมะ เราเคว้งคว้าง สมมติวันนี้เราตื่นเช้ามา เราสัมภาษณ์ลง The Cloud เรากดแชร์ไปได้มา 300 ไลก์ เราก็อาจจะดีใจ แต่ความหมายของชีวิตมันไม่ได้ขึ้นกับสิ่งเหล่านั้นน่ะคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับเรา ว่าเราอนุญาตให้คนอื่นมากำหนดความหมายของเราได้แค่ไหน

ทุกวันนี้มันเป็นเรื่องสุญญากาศของอัตถิภาวะ คือคุณไม่สามารถจะรู้เลยว่าคุณคือใคร ภายในนี่ว่างเปล่ามากเลย เป็นสุญญากาศ จนกระทั่งมีคนอื่นมาบอกว่าคุณเป็นใคร จนกระทั่งมีคนอื่นมาประเมินค่าคุณว่าวันนี้คุณได้ 400 ไลก์ คุณหลับได้หรือยังล่ะ เจ็บปวดหรือเปล่า เหมือนในหนังสือเรื่อง คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ คุณไม่ได้เป็นใครเลย นอกจากเป็นขี้ปากชาวบ้าน คุณไม่ได้เอาเมียน้อยพ่อด้วยนะ แต่แค่ชาวบ้านลือกันไปคุณก็เลวแล้ว ชีวิตที่ต้องเลี้ยงตัวเองอยู่บนความพึงพอใจของชาวบ้านมันเจ็บปวด

แต่งานสื่อที่คุณทำอยู่ก็ต้องการการถูกมองเห็นในโลกออนไลน์และจำนวนไลก์ในการวัดผล คุณรู้สึกย้อนแย้งบ้างมั้ย

ใช่ไง มันถึงทำให้พวกเราเป็นแบบนี้กันทุกคน ถามว่าตอนนี้พวกเราได้ทำงานที่เราอยากทำกันจริงๆ หรือเปล่า คือพูดแบบนี้ไปคนก็คงบอกว่า อ๋อ ก็คุณทำสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ไง ก็เลยมานั่งแซะพวกที่ทำออนไลน์ แล้วมันก็วนกลับมาอย่างนี้ เช้ามาก็อวดงาน เย็นก็บ่นเหนื่อย ท้อแท้ แล้วเพื่อนก็มาช่วยกันปลอบ แล้วตื่นเช้ามาก็อวดงานกันอีก แล้วก็บ่นเหนื่อย วนกันอยู่เป็นวัฏจักร ซึ่งที่ผมพูด ผมพูดถึงทั้งวงการ และพูดถึงสภาวะจิตใจของผมเองที่ผมกำลังดีลกับมันอยู่ด้วย บางทีผมก็ต้องดีลกับสภาวะแบบนี้เหมือนกัน

ที่ผมตัดสินใจตอบรับให้มาสัมภาษณ์วันนี้ ส่วนหนึ่งมันก็อยู่บนฐานความคิดว่าเราคาดหวังว่าจะอยู่ในสปอตไลต์เหมือนกันนั่นแหละ ซึ่งผมก็ต้องแลกมันมาด้วยการไม่กินข้าวเย็น เพราะว่าถ้าตอนนี้เราคุยกันแล้วกินข้าวไปด้วย ผมก็จะไม่มีสมาธิในการคุย แล้วก็ผมก็จะไม่สามารถผลิตคำคมให้คุณเอาไปเขียน แล้วผมก็ไม่สามารถจะมีสปอตไลต์ฉายที่ The Cloud ได้ แล้วมันเจ็บปวดมั้ยวะ ที่คนคนหนึ่งไม่ได้กินข้าวเย็นเพียงเพื่อแลกมากับสิ่งนั้น ชีวิตต้องแลกเยอะมากกับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราต้องการมันจริงๆ หรือเปล่า

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

แล้วทุกวันนี้เวลาโพสต์อะไรแล้วคนกดไลก์น้อย คุณทุกข์ร้อนบ้างไหม

ผมว่าถ้าเราย้ายความหมายออกจากมัน แล้วรักษาความหมายเอาไว้ที่ตัวเราเอง นานวันเข้าเราก็จะไม่สนใจกับอะไรพวกนั้น แต่ถ้าคุณไปใช้มันเป็นความหมายของชีวิตคุณ คุณก็จะต้องอยู่กับตรงนั้นตลอดไป คุณก็จะเป็นเหมือนไอ้ฟัก ตอนที่ไอ้ฟักบวช ชาวบ้านรักมันมากเลยนะ เป็นพระที่เคร่งครัด เทศน์เพราะ จนกระทั่งสึกออกมา พ่อตาย แล้วก็อยู่บ้านกับแม่เลี้ยงที่เป็นบ้า คือวันหนึ่งมันจะต้องถึงโมเมนต์ที่คนเกลียดคุณ คุณเลี้ยงตัวตนเทียมๆ ตลอดไปไม่ได้หรอก เราจะไม่มีความสุขหรอกถ้าเราพิงความหมายไว้กับสิ่งนี้

ถ้าถึงยุคสมัยหนึ่งที่เราต้องย้ายทั้งชีวิตไปอยู่ในโซเชียลฯ เราต้องย้ายความหมายทั้งหลายทั้งปวงมาอยู่บนนี้ คุณจัดการมันไหวเหรอ สมมติว่าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ เกิดและเติบโตมาในวันที่มีไฮไฟว์ มีเฟซบุ๊ก มีทวิตเตอร์ แล้วคุณถ่ายทอดตัวเองตลอดเวลา คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าตัวตนที่แท้จริงของคุณคืออะไร การที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องแสดงตลอดเวลาและถูกมองตลอดเวลา ชีวิตแบบนั้นคุณคือใครนะ คุณอบอุ่นเหรอที่ตื่นเช้ามาแล้วก็เข้าเฟซบุ๊กเช็กยอดไลก์ คุณอาจจะไม่เคยรู้ซึ้งถึงครั้งหนึ่งที่มนุษย์คนหนึ่งได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ว่าเมื่อนั้นเป็นอย่างไร

       

มันเป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัยหรือเปล่า ที่มนุษย์ต้องการการถูกมองเห็น

ใช่ มนุษย์ว่างเปล่าภายในมาทุกยุคทุกสมัยแหละ แต่ยุคก่อนมันมีช่องว่าง มันไม่มีฟีดแบ็กทันทีทันใด มันจึงทำให้เรางมอยู่กับอะไรบางอย่างได้สักพักใหญ่ๆ โดยที่เรายังไม่ต้องได้รับความพึงพอใจแบบทันทีทันใด แต่ทุกวันนี้มันจะต้องรีบคว้าอะไรมาใส่ข้างใน

คือผมเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับอะไรแบบนี้ว่าแล้วแท้ที่จริงของเราคืออะไร แต่การตั้งคำถามแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันไม่ดีหรอก มันจะทำให้คุณยิ่งเคว้งคว้าง แล้วเวลาคุณตั้งคำถามกับชีวิตว่าจริงๆ มันคืออะไร มันจะทำให้คุณสามารถผลิตงานที่มีมนตร์เสน่ห์บางอย่าง ยิ่งคุณว่างเปล่างานเขียนคุณกลับยิ่งดึงดูดคนอ่านบางแบบที่เขาก็รู้สึกว่างเปล่าเหมือนกับคุณเข้ามา ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องดีหรอก

แล้วคุณพอจะเห็นทางออกมั้ยว่าพวกเราจะหลุดพ้นจากสภาวะนี้ไปได้ยังไง เราจะพบความหมายในชีวิตได้ยังไง

(นิ่งคิดนาน) ไม่หรอก ถ้าคุณหลุดจากหน้าจอคุณก็ไปติดอย่างอื่นอยู่ดีแหละ มนุษย์มันว่างเปล่าน่ะ มันเป็นสุญญากาศของอัตถิภาวะ ถ้าคุณไม่ได้เอาจอมาเติมเต็ม คุณก็ต้องไปหาอย่างอื่นมาเติมเต็ม มันต้องติดอะไรบางอย่าง บางคนก็ติดดี ขึ้นธรรมาสน์เทศนาคนอื่นตลอดเวลา สุดท้ายก็ต้องหาอะไรบางอย่างมาเติมเต็ม ซึ่งสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวก็แตกต่างกัน แล้วมันก็นำพาให้เรามาทะเลาะกัน คนนี้ไม่เชื่อ แซะ แล้วก็ดราม่า คนหนึ่งก็บอกว่าปล่อยวางเถอะ อีกคนก็บอกสำเร็จสิ อีกคนโกชนบท อีกคนก็บอกว่าไม่สิ เราต้องทันสมัยสิ แล้วคุณค่าของแต่ละคนก็มาตีกัน ก็กลับมาเรื่องเดิม

โดยส่วนใหญ่วิธีคิดผม ผมเป็นคนที่พยายามมองหาแพตเทิร์น ผมไม่ได้มองหาวิธีการหลุดพ้น ฉะนั้น ถ้าคุณถามว่าวิธีการคืออะไร ผมก็จะบอกว่าผมไม่รู้ แต่ผมมองเห็นว่ามันเป็นรูปแบบนี้ ดังนั้น ผมจึงมองเห็นรูปแบบของเชือก มองเห็นรูปแบบของความหมายของอะไรหลายๆ อย่าง มองเห็นตัวอย่างของอะไรหลายๆ เรื่อง แล้วเมื่อคุณเห็นรูปแบบเหล่านี้ มันก็ท้าทายว่าแต่ละคนจะไปหาทางออกกันยังไง

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ