“ชีวิตเราอยู่กับการสร้างภาพ”

เย็นวันหนึ่งในร้านกาแฟย่านอ่อนนุช เข้-จุฬญาณนนท์ ศิริผล เอ่ยประโยคนี้ระหว่างการสนทนา ความเงียบเกิดขึ้นเสี้ยววินาที ก่อนเสียงหัวเราะของฉันจะดังขึ้นตามด้วยเสียงหัวเราะของเขา

ช่วยไม่ได้, คำนี้ฟังดูความหมายเชิงลบในทีแรก แต่เมื่อพิจารณาอีกที ฉันก็เห็นว่ามันสะท้อนตัวตนเข้ในเชิงบวกได้อย่างดี เพราะพอร์ตโฟลิโอของชายหนุ่มที่ระบุสถานะตัวเองในเฟซบุ๊กว่าเป็น artist/filmmaker คนนี้เต็มไปด้วยผลงานหนังสั้นยาวเหยียด แทบทุกเรื่องมีรางวัลและประวัติการได้รับคัดเลือกไปฉายในต่างประเทศพ่วงท้าย ยังไม่นับงานศิลปะที่เล่าเรื่องผ่านภาพซึ่งจัดแสดงใน BACC และแกลเลอรี่น้อยใหญ่

ตัวอย่างเช่นงานใหญ่ล่าสุดที่ชื่อ Museum of Kirati ใน BANGKOK CITYCITY GALLERY ซึ่งเข้เลือกหยิบบทประพันธ์อมตะของศรีบูรพาอย่าง ข้างหลังภาพ มาเล่าด้วยน้ำเสียงใหม่ผ่านการสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์’ ที่เปรียบเหมือนอนุสรณ์รำลึกถึงคุณหญิงกีรติ

ถ้าว่ากันในน้ำเนื้อของงาน เข้เติบโตจากเด็กหนุ่มที่ทำหนังสั้นด้วยประเด็นส่วนตัวอย่างครอบครัว สู่ศิลปินหนุ่มที่ชวนคนสนทนาถึงประเด็นใหญ่เข้มข้นอย่างความเชื่อ สังคมและการเมือง ซึ่งหากถามว่าจะแยกเขาออกจากคนอีกนับร้อยพันที่พูดเรื่องนี้อย่างไร คำตอบคือ ‘วิธีเล่า’ ของเข้นั้นโดดเด่นจนเห็นครั้งแรกก็รับรองว่าจะจำแม่นไปอีกนาน

ไวยกรณ์เชิงทดลอง ความแปลกประหลาด และอารมณ์ขันเชิงเสียดสีคือสิ่งที่อบอวลอยู่ในงานเขาเสมอ

ล่าสุด เข้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม Ten Years Thailand โปรเจกต์หนังสั้นที่ชวนผู้กำกับมองอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าของเมืองไทย ซึ่งมีผู้กำกับรุ่นพี่ชั่วโมงบินสูงเป็นสมาชิกอีก 3 คนคือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และ อาทิตย์ อัสสรัตน์ โปรเจกต์นี้ได้รับการคัดเลือกให้ฉายในรอบปฐมทัศน์ของงานยักษ์สำหรับสายหนังอย่างเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้

แน่นอน หนังสั้นซึ่งเขานิยามว่าเป็นแนว ‘ไซไฟย้อนยุค’ ย่อมกรุ่นกลิ่นอายเรื่องสังคมการเมือง

และนี่คือบทสนทนาของฉันกับเข้ที่ไม่มีศัพท์เชิงเทคนิคซับซ้อน แต่ว่าด้วยเรื่องโลกศิลปะและบ้านเมืองในสายตา ‘นักสร้างภาพ’ รุ่นใหม่ผู้ได้รับการยอมรับจากเวทีทั้งในและนอกประเทศ

ก่อนเข้จะบินสู่ฝรั่งเศส พาภาพที่เขาสร้างสู่สายตาผู้ชม

เข้ จุฬญาณนนท์

จากเด็กมัธยมปลายที่ทำหนังสั้นจากเรื่องในครอบครัว อะไรทำให้คุณหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจัง

เราเริ่มสนใจการเมืองตอนประมาณ พ.ศ. 2552 ที่มีการชุมนุมคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพราะรู้สึกว่าการเมืองเริ่มใกล้ตัวมากขึ้น มีการปิดถนน ชุมนุม ในพื้นที่ที่เป็นการสัญจรสาธารณะซึ่งส่งผลกับตัวเรามาก เราที่เป็นคนกรุงเทพฯ ก็เริ่มตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีการชุมนุม ทำไมคนต่างจังหวัดถึงเสียเวลายอมเข้ามาในกรุงเทพฯ มีอะไรที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังที่เราไม่รู้หรือเปล่า

 เราเลยทำหนังสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะทำอย่างอื่นไม่ได้ เช่น หนังสั้นเรื่อง A Brief History of Memory หรือประวัติศาสตร์ขนาดย่อของความทรงจำ เราไปสัมภาษณ์แม่ที่ลูกชายโดนยิงตอน พ.ศ. 2552 ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์ปี 2553 เข้ามาอยู่ด้วย เป็นการพยายามเอามุมของคนตัวเล็กในสังคมที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์การเมืองมาเพื่อให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น พูดถึงความสูญเสีย พูดถึงความเศร้า

ทำไมถึงคิดว่าสิ่งที่ทำได้คือการสร้างหนังเท่านั้น  

ตอนเด็กเราชอบวาดรูป โตมาชอบถ่ายรูป แล้วก็มาทำหนัง ชีวิตอยู่กับการสร้างภาพ เราก็เลยคิดว่างานที่ทำจะเป็นอะไรได้บ้าง เราเชื่อในพลังของภาพเคลื่อนไหว แล้วก็มองว่าภาพยนตร์สื่อสารกับคนจำนวนหนึ่งผ่านแพลตฟอร์มยุคปัจจุบันอย่างยูทูบได้ รวมถึงมีวิธีสื่อสารกับคนต่างประเทศได้ด้วย เช่น การส่งหนังไปตามเทศกาลต่างๆ ทำให้เขาเข้าใจว่าเราคิดยังไงต่อประเทศตัวเอง ซึ่งมันอาจผิด อาจมีคนไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่เราว่าโอกาสที่ได้พูดเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อรูปแบบของหนังเชื่อมโยงตัวเรา ตัวหนัง โลก และผู้คนในโลกเข้าหากันได้ เราเลยเลือกวัสดุนี้เพื่อสื่อสารสิ่งที่เราคิด

 

คุณให้สัมภาษณ์ว่าหนังสั้นในโปรเจกต์ Ten Years Thailand ได้แรงบันดาลใจจากการเมืองไทยในอดีต ทำไมเมื่อทำหนังที่พูดถึงอนาคต คุณถึงไม่มองไปข้างหน้าจากปัจจุบันเลย

โจทย์ที่ให้พูดถึงอนาคตยากในแง่ที่ว่าจะไม่ยึดโยงกับอดีตหรือปัจจุบันเลยไม่ได้ มันจะเป็นหนังมาเลยแล้วบอกว่านี่เป็น Ten Years Thailand ก็จะงงๆ ซึ่งเรามองว่าอนาคตคือผลพวงจากปัจจุบัน และปัจจุบันก็เป็นผลพวงจากอดีตอีกที  

ผลพวงที่เราคิดคืออำนาจรัฐที่ถูกเขียนขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ มันน่าจะยังมีสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ แล้วเราก็อาจมองโลกในแง่ร้าย เพราะตอนนี้เราอยู่ในลูปของการรัฐประหาร เลือกตั้ง แล้วก็รัฐประหารอีก เราคิดว่าอนาคตก็อาจเป็นไปได้ที่ยังอยู่ในลูปนี้ ก็เลยเลือกทำหนังสั้นที่เล่าถึงอนาคตซึ่งย้อนรอยกลับไปเหมือนอดีตที่เป็นโลกยุคแอนะล็อกก่อนมีอินเตอร์เน็ต ผ่านการดำเนินเรื่องของตัวละครที่เป็นเด็กมัธยม 

Ten Years Thailand

Ten Years Thailand

แล้วทำไมต้องเล่าผ่านรูปแบบหนังไซไฟ

เรานิยามหนังสั้นเรื่องนี้ว่าเป็นไซไฟย้อนยุค ที่เลือกทำแนวนี้เพราะอยากท้าทายวาทกรรมที่บอกว่าหนังไซไฟเป็นประเภทหนังที่ทำไม่ค่อยได้ในเมืองไทย เพราะทำแล้วคนดูจะไม่เชื่อว่าสังคมไทยจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีตรรกะเหตุผลขนาดนั้น ซึ่งเราอยากจะท้าทายวาทกรรมตรงนั้งเราเลือกทำไซไฟแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ในแบบสังคมเรา คือมีเรื่องความเชื่อ มีเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติมาเกี่ยวข้องด้วย

 

เราเห็นเรื่องสังคมและการเมืองแทรกอยู่ในงานคุณเสมอ คุณมองว่าการทำงานศิลปะหรือทำหนังต้องรับใช้สังคมมั้ย

เราว่าคนทำงานสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องแบกภาระว่าต้องเปลี่ยนโลกขนาดนั้น ศิลปะทุกแบบมีประโยชน์ใช้สอยของมัน มีงานศิลปะแบบที่บางคนมองว่าสวยดี ใช้เป็นของตกแต่งได้ ขณะเดียวกัน ศิลปะกับการเมืองก็มีประโยชน์อีกรูปแบบ นั่นคือการขับเคลื่อนความคิดหรือตั้งคำถามกับกรอบที่สังคมมีอยู่ ไม่จำเป็นต้องมาตัดสินว่าอะไรดีกว่ากัน และไม่จำเป็นต้องประท้วง ไม่จำเป็นต้องแหกขนบก็เป็นงานศิลปะที่ดีได้

 

แล้วเวลาสร้างงานที่เกี่ยวกับสังคมและการเมือง คุณเองรู้สึกว่าแบกภาระไว้บนหลังมั้ย

ทุกครั้งที่เราสร้างงานออกมาโดยเฉพาะงานภาพเคลื่อนไหว เรารู้สึกว่าคนดูเป็นส่วนหนึ่งของงานที่กำลังสร้าง เราจะคิดว่าคนดูรู้สึกหรือคิดอะไรกับงาน เพราะอย่างนี้เลยมีคนพูดว่า ที่จริงแล้ว เราไม่ได้กำกับหนัง แต่กำกับความคิดความรู้สึกของคนดูที่มีต่อหนังที่กำลังทำ ซึ่งถ้างานศิลปะแบบอื่น เช่น ภาพวาด ศิลปินอาจคิดแค่ว่าจะลงสีลงเส้นภาพที่อยู่ตรงหน้ายังไง เหมือนเป็นบทสนทนาระหว่างตัวผลงานกับคนสร้าง แต่เราว่าหนังเป็นอีกแบบหนึ่ง มันจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับผู้ชม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราใส่ใจคือผู้ชมจะได้อะไรจากงาน แล้วตัวหนังไปเชื่อมโยงในชีวิตของคนดูยังไงบ้าง

จุฬญาณนนท์ ศิริผล

 

แต่คุณเคยคิดมั้ยว่างานตัวเองเป็นงานแนวทดลองที่ดูยาก

มีงานแนวทดลองที่ดูง่ายมั้ย (หัวเราะ)

 

แค่สงสัยว่าถ้าคุณคิดถึงคนดูแต่นำเสนอสารผ่านงานที่เข้าใจยาก บางทีคนที่เข้าใจอาจเป็นแค่ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า คนดูทั่วไปจะเข้าใจมั้ย

เราใส่ใจคนดู แต่อาจไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่บอกว่าหนังอาจไม่เหมือนภาพวาดคือมีคนดูเข้ามาร่วมดูผลงานชิ้นนี้ด้วย เพราะฉะนั้น เราเลยไม่ได้เปิดเผยสารในงานให้คนดูเห็นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเปิดแค่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งคือความสนุกที่จะให้คนเข้ามาสร้างเรื่องราวของตัวเอง ทำความเข้าใจกับงานผ่านประสบการณ์ที่ต่างกันตามภูมิหลังชีวิต คนมาดูงานของเราจึงต้องเป็นคนดูที่ Active ในการมาร่วมตั้งคำถาม มาร่วมต่อจิ๊กซอว์ ไม่ใช่เด็กที่เราจะป้อนทุกอย่างให้กิน

ขณะเดียวกัน ถ้าปกปิดอะไรบางอย่างแล้วบอกว่า มันเป็นศิลปะครับ พูดอย่างนั้นมันก็ดูง่าย แต่เราว่าศิลปินหรือคนทำหนังควรต้องอธิบายชุดความคิดได้ว่าโครงสร้างงานนี้เป็นยังไงหรือเป็นอะไรได้บ้าง เราคิดว่ามิติของงานที่ลึกลงไปกว่าสิ่งที่มองเห็นเป็นสิ่งน่าสนใจมาก

 

เสน่ห์ของการทำงานแนวทดลองอยู่ตรงไหน

มันมีคำว่าหนังตลาด คือหนังที่มีสูตรสำเร็จว่าทำแบบนี้แล้วต้องได้ตังค์แน่นอน ทำแบบนี้แล้วต้องดัง แต่เราชอบตรงที่หนังทดลองเป็นการก้าวออกไปจากขอบเขตของความกลัวการไม่ประสบความสำเร็จ หรือขอบเขตของความไม่ปลอดภัย เพราะเมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเราจะทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่การทดลองเป็นการท้าทายกรอบที่เคยมีอยู่ ซึ่งส่วนมากคือกรอบของความเป็นภาพยนตร์ สมมติว่าวัสดุในการสร้างภาพยนตร์ต้องใช้กล้อง ต้องใช้ฟิล์ม ก็มีคนทำหนังทดลองที่ตั้งคำถามว่า เราไม่ใช้กล้องได้มั้ย แค่ใช้เหล็กมาขูดบนฟิล์มให้เป็นภาพได้มั้ย ในขณะเดียวกัน หนังทดลองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองด้วย เช่น ในอดีตฝั่งตะวันตกใช้หนังทดลองเป็นหนังใต้ดินที่สามารถพูดในสิ่งที่สังคมไม่อยากให้พูด หรือว่าท้าทายกรอบหรือขนบทางสังคม ตัวรูปแบบกับเนื้อหาของมันเลยไปด้วยกัน

จุฬญาณนนท์ ศิริผล

นอกจากแนวทดลอง เราว่าหนังคุณยังมีความไม่ค่อยปกติอยู่ด้วยนะ

เพราะว่าเราไม่ปกติ (หัวเราะ) คือเราอยู่ในสังคมที่ไม่ปกติเท่าไหร่ เมื่อวานก็คุยกับคนทำหนังด้วยกันว่าสังคมไทยมีความ Magical Realism หมายถึงตรรกะในบ้านเราไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ถึงแม้เราอยู่ในเมืองที่มีเหตุผลของมัน แต่ในเหตุผลนั้นก็มีความประนีประนอม ความหย่อนยาน มีพื้นที่ทับซ้อน เลยเหมือนพูดไม่ได้ว่าเหตุผลจริงๆ คืออะไรกันแน่ และอาจไม่ได้มีเหตุผลเดียวด้วย มีสิ่งที่ดำมืดอยู่ เราก็เลยมีวัตถุดิบเยอะมากเพราะมีเรื่องที่ไม่ปกติซึ่งหยิบมาทำเป็นงานได้เกิดขึ้นในประเทศทุกวัน แล้วเวลานำเสนอ เราก็นำเสนอออกมาด้วยท่าทีไม่ปกติ

แต่งานเราจะมีอารมณ์ขันอยู่เยอะด้วย ซึ่งคงเป็นวิธีการที่เราเอาตัวรอดในโลกที่ไม่ปกติ เราคิดว่าอารมณ์ขัน การเสียดสี หรือการตั้งคำถามแบบขำๆ เป็นเครื่องมือในการนำเสนอเรื่องราวที่อ่อนไหว และตั้งคำถามกับสิ่งที่ปกติเราอาจไม่กล้าตั้งคำถาม

เข้ จุฬญาณนนท์

กลัวมั้ยว่าพูดด้วยท่าทีตลกแล้วคนจะไม่จริงจังกับเรื่องที่คุณกำลังสื่อสาร

มีคนวิจารณ์เหมือนกันว่างานเราตลก ดูไม่จริงจังกับสิ่งที่ทำ แต่เราคิดว่าการนำเสนอด้วยวิธีการเดิมซ้ำๆ ตลกทุกเรื่อง ความตลกตรงนั้นจะกลายเป็นความจริงจัง เช่น เราทำ Museum of Kirati ซึ่งสื่อสารว่าประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นผ่านมิวเซียมมีอำนาจ เช่น มิวเซียมของบุคคลสำคัญสักคนก็มีคนที่มีอำนาจมาเลือกว่าจะจดจำบุคคลนั้นยังไง เราก็เริ่มต้นจากรีเมกหนังเรื่อง ข้างหลังภาพ ที่ญี่ปุ่น พอมีคนญี่ปุ่นมาดูหรือคนไทยมาเห็น เขาก็บอกว่าตลกดี เพราะเราทำหนังที่เล่นเป็น 2 ตัวละครเลย แอ็กติ้งก็ห่วยๆ แข็งๆ  ซึ่งเขาอาจมองว่ามันเป็นงานศิลปะที่แย่ แต่ในฐานะคนทำงาน เรารู้สึกว่าต้องยืนหยัดที่จะทำงานให้มันตลก ต้องมั่นใจว่าความตลกตรงนี้คือความซีเรียสของเรา เราก็เลยสร้างความตลกนี้ต่อเนื่องมาตลอด 3-4 ปี จนมาถึงนิทรรศการซึ่งเป็นงานจบที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY มันกลายเป็นความไม่ปกติซึ่งจริงจังมาก เราต้องทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาจริงๆ ต้องนิมนต์พระมาสวดมนต์เปิด พรมน้ำมนต์ เจิมประติมากรรม มันไม่ใช่การตลกไปวันๆ และเราต้องมั่นใจด้วยว่าสิ่งที่ทำจะสร้างบางอย่างขึ้นมาได้

คนที่เป็นศิลปินมักไม่ค่อยมั่นใจว่างานเราจะดีมั้ย คนอื่นจะคิดยังไงกับเรา แต่ตอนที่เราเรียนปริญญาโทด้าน Visual Art ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ซึ่งเป็นศิลปินเหมือนกันบอกว่าคุณต้องยืนยันว่างานคุณต้องเป็นแบบนี้ เราก็เลยคิดว่า โอเค เราจะตลกไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเรายอมแพ้ตั้งแต่แรกว่างานแค่ตลกไปวันๆ ไม่ทำต่อ มันก็จะไม่เกิดความไม่ปกติตรงนี้ ซึ่งพอเราจริงจัง คนดูก็จะเข้าใจได้ว่าเราจริงจังแค่เล่าผ่านรูปแบบของความตลก ความตลกนี้ก็จะมีพลังของมันเอง

Museum of Kirati

BANGKOK CITYCITY GALLERY

งานของคุณได้รางวัลมาเยอะ แต่การเป็นงานนอกกระแสอาจทำให้คนไทยไม่ค่อยตอบรับเท่าที่ควร เวลาเจอปฏิกิริยาแบบนั้นคุณท้อใจบ้างมั้ย

ผลตอบรับที่เราได้ยังมาจากกลุ่มคนที่สนใจวัฒนธรรมทางเลือก ซึ่งส่วนมากเขาก็รู้สึกว่างานเราน่าสนใจ สำหรับเราเท่านี้ถือว่าโอเคแล้ว แต่ถ้าพูดถึงการจะไปไกลกว่านั้น เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหากับการไปสู่คนวงกว้างนะ แค่การจะไปตรงนั้นต้องมีสิ่งที่เราเชื่อหรือสนใจอยู่ด้วย เราเปลี่ยนไปทำสิ่งที่ตลาดต้องการเพื่อให้มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักโดยปราศจากสิ่งที่สนใจจริงๆ ไม่ได้ และคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปไกลขนาดนั้น ถ้าตัวเราจะหายไป

 

ซึ่งนั่นเรียกว่ามีปัญหากับการไปสู่คนวงกว้างหรือเปล่า

ก็จริง ถ้าอย่างนั้นคงมีปัญหาแหละ (หัวเราะ)

 

แต่คุณเลือกแล้ว

ใช่ ทำสิ่งที่อาจดูไม่ปกติในสายตาคนทั่วไปแต่เรามีความสุขน่าจะดีกว่า

เข้ จุฬญาณนนท์ ศิริผล

ถ้าหยิบโจทย์แบบ Ten Years  Thailand มาใช้กับโลกศิลปะไทย คุณว่าอีก 10 ปีความสัมพันธ์ของคนไทยกับศิลปะจะดีขึ้นกว่านี้มั้ย

ก็ยังเดาไม่ค่อยได้เท่าไหร่ (หัวเราะ) เรามองว่าสิ่งที่ควรทำคือทำให้ระบบนิเวศของงานสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ครบวงจร เช่น มีภัณฑารักษ์ ผู้จัดการด้านศิลปะ สื่อที่สนใจ และนักวิจารณ์ ถ้าทุกตำแหน่งมีครบ แล้วอธิบายคนทั่วไปได้ว่างานศิลปะของศิลปินเหล่านี้สำคัญกับคนดูยังไง ทำไมต้องมาเสพงาน เสพแล้วความเข้าใจหรือความคิดของคุณจะเปลี่ยนไปยังไง คนก็จะเห็นความสำคัญของศิลปะมากขึ้น

แต่ปีนี้ก็จะมีเทศกาลศิลปะใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายงาน ซึ่งเราคิดว่างานเหล่านี้จะทำให้คนในวงการศิลปะได้มาทำงานร่วมกัน รวมถึงน่าจะถูกพูดผ่านสื่อ ผ่านสาธารณชนเยอะ และบางงานก็จะจัดทุก 2 ปี เพราะฉะนั้น ในอนาคตทุก 2 ปีจะมีการนำเสนองานศิลปะของทั้งศิลปินไทยเองและศิลปินต่างประเทศที่เชิญมา ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ศิลปะร่วมสมัยกับคนในสังคมใกล้กันมากขึ้น และคนก็น่าจะได้เห็นว่าศิลปะกับคนที่อยู่ในวันนี้ เวลานี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน

จุฬญาณนนท์ ศิริผล

Facebook l 10 Years Thailand 

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ