ตั้งแต่ปี 2538 บุญส่ง นาคภู่ เป็นทั้งนักแสดง แอคติ้งโค้ช และอาจารย์หนังตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

เขาโผล่หน้ามาในหนังเรื่อง 15 ค่ำเดือน 11, เฉือน และ พุ่มพวง เคยเป็นผู้ฝึกสอนนักแสดงในเรื่อง คืนบาปพรหมพิราม, บางระจัน และ ทวิภพ รวมถึงทำงานอยู่หลังผู้กำกับ กล้อง และห้องตัดต่อ ในไทยอีกมากมาย

เมื่อถึงปี 2553 บุญส่ง นาคภู่ ตัดสินใจหันมากำกับหนังนอกกระแสของตัวเอง

ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เขาทดลองทำหนังนอกกระแสมาเรื่อยๆ ตั้งใจเล่าเรื่องชาวบ้านและความเป็นอยู่ในชนบทที่อาจไม่สวยหรู ขมปนขำ และเคล้าไปด้วยความจริง หนังเรื่องที่อาจเคยผ่านหูคุณคือเรื่อง ธุดงควัตร ในปี 2559 ว่าด้วยชายคนหนึ่งที่ตั้งใจใช้การบวชเป็นพระก้าวข้ามผ่านความทุกข์ หนังเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์หลายสาขา ตั้งแต่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมมาครอง

บุญส่ง นาคภู่

มาถึงปี 2561 บุญส่ง นาคภู่ ทำหนังของตัวเองเป็นเรื่องที่ 7 เณรกระโดดกำแพง หนังกึ่งอัตชีวประวัติของเขา ที่ตั้งใจบันทึกเรื่องราวการตามฝันตั้งแต่วัยเด็ก หนังทั้งสมจริงและเหนือจริง ชวนให้หัวเราะ ขบคิด และตั้งคำถาม หากมองในแง่ลึกลงไปอีก ตัวหนังยังตั้งคำถามถึงการอยู่รอดของอุดมการณ์ในสังคมไทยอีกด้วย

ในวาระที่มีหนังเกี่ยวกับหนังของ บุญส่ง นาคภู่ เราขอชวนเขามาสะท้อนย้อนความคิด เปิดเผยบางส่วนของชีวิตการทำหนังอินดี้ และทบทวนบทเรียนที่เขาค้นพบระหว่างทาง

ที่ผ่านมาคุณทำหนังในกระแสหลักมาตลอด ตอนไหนที่คุณรู้สึกว่าเริ่มทำหนังเพื่อตัวเองได้

ทำหนังตัวเอง หมายความว่าทำเพื่อสนองนี้ดตัวเองเหรอ ถ้าอย่างนั้นผมก็ไม่เคยทำหนังเพื่อตัวเอง เพราะผมไม่ได้มองว่ามันเป็นศิลปะส่วนบุคคลที่สนองแต่ความปรารถนาของคนทำ ผมมองหนังเป็นพลังสื่อสารที่ต้องให้คนอื่นรู้ ต้องพัฒนาสังคม พัฒนาจิตใจคน กระตุ้นสติปัญญา ผมเลยไม่ได้ทำหนังสนองนี้ดตัวเอง ผมแค่ทำหนังที่จริงใจกับตัวเอง ผมอินเรื่องไหนผมก็ทำเรื่องนั้น

ทำสิ่งที่เป็นตัวเอง ไม่เท่ากับทำเพื่อตัวเอง

ถูก ถ้ามองผิวเผินอาจเหมือนเราทำสนองนี้ด แต่นั่นเป็นการมองแค่เปลือก ความจริงคือศิลปะของแต่ละคนต่างกัน อภิชาติพงษ์ก็แบบหนึ่ง อโนชาก็อีกแบบ ของผมก็อีกแบบ ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่แต่ละคนทำมันเป็นการทำเพื่อตัวเอง

บุญส่ง นาคภู่

แล้วถ้าอย่างนั้น เมื่อไหร่จะทำหนังที่เป็นตัวเองได้

ถ้าแบบผม ผมพยายามทำหนังที่ผมรู้สึก ผมเชื่อมาตลอดนะ ทำในรูปแบบต่างๆ ทำแบบที่ผมคิดว่าใช่ แม้กระทั่งหนังแมสอย่าง 191 1/2 มือปราบทราบแล้วป่วน ก็เป็นหนังแมสแบบที่ผมเชื่อนี่แหละ หรือใน หลอน ผมทำเรื่องผีปอบก็ทำแบบของผม เพียงแต่ว่า เวลานั้นๆ จังหวะโอกาส มันถึงเวลาหรือยัง

คำว่าถึงเวลานี่สำคัญนะ เวลาเราบอกว่าเราพร้อม เราพร้อมจริงหรือเปล่า ที่ผมพร้อมเพราะสังคมไทยมันพร้อม องค์ประกอบแวดล้อมมันพร้อม หนังเป็นเครื่องมือผมแล้ว ผมมีเพื่อนเยอะที่ไว้วางใจกันได้ ถ่ายหนังให้เราได้ถึงขั้นมาตรฐานสากลแล้ว ผมมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำหนังพร้อมแล้ว ผมมีช่องทางในการฉายเยอะ ผมมีโซเชียลในการโปรโมตหนังแล้ว ช่องทางการฉายก็มี BKKSR มี Doc Club มี Cinema Oasis มีที่ทางเยอะแยะ ผมจะทำโรงหนังเองก็ได้แล้ว นี่คือความพร้อม และอินดี้จริงๆ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อทุกอย่างลงตัวแบบนี้

ในองค์ประกอบต่างๆ ที่ว่ามา คุณคิดว่าอันไหนสำคัญที่สุด

สำคัญที่สุดคืออุดมการณ์ คุณต้องกล้าที่จะทำ

ยุคนี้เขามองว่าคนมีอุดมการณ์คือคนที่จน แต่สำหรับผม อุดมการณ์จะเลี้ยงคุณ เพราะมันคือตัวตนของคุณ ผมว่าในโลกแห่งความหลากหลายเนี่ย ตัวตนเฉพาะเท่านั้นที่จะอยู่ได้ ผู้กำกับหนังที่มีลักษณะเฉพาะ รักหนัง เข้าใจหนังจริงๆ เท่านั้นจะอยู่ได้ แล้วอุดมการณ์เนี่ยแหละที่เป็นตัวสร้างตัวตน

บุญส่ง นาคภู่

ไม่คิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือทุนในการสร้างหนังเหรอ

ทุกคนมีอิสรภาพในการสู้ในระบบทุนนิยมเสรีนี้ทั้งนั้น เงินอยู่ในอากาศ แค่คุณคว้ามาได้หรือเปล่า แต่ทุนของผมไม่ใช่เงินอย่างเดียว เงินมีไหม เงินต้องมีบ้าง แต่ทุนอื่นๆ ก็มีหลายอย่าง ทุนพลัง ทุนสติปัญญา ทุนความวิริยะ และทุนสำคัญคือทุนเพื่อน

ผมทำหนังทุกเรื่องเสร็จได้เพราะเพื่อน ผมมีเพื่อนทั้งวงการแมส วงการอินดี้ และวงการอะไรต่อมิอะไร มีลูกศิษย์ทั่วฟ้าเมืองไทย พันธมิตรที่รักใคร่กลมเกลียวกัน ทุกคนเห็นว่าผมมุ่งมั่นตั้งใจก็ยินดีช่วย

ทุกวันนี้ผมทำงาน ไม่จำเป็นต้องหากล้องแล้วนะ ถึงขั้นว่าผมรู้จักกับ ห่านสิทธิพงษ์ กองทอง ช่างกล้องและนักวิชาการถ่ายภาพ ซึ่งเขารู้จักกับพานาโซนิก เขาช่วยดีลให้จนผมได้ใช้กล้องเดโม่ หรือเวลาผมชวนเพื่อนมาถ่ายหนังด้วยกัน แลกกับการที่มันได้มาลองอะไรใหม่ๆ ที่มันอยากทำ เพื่อนก็มาพร้อมอุปกรณ์เลย กล้องไม่ใช่ปัญหาอะไรอีกแล้ว เวลาถ่ายทำก็วางแผนถ่ายให้ตรงกับพระอาทิตย์ ไฟก็จะไม่ใช่ปัญหาอะไรอีกแล้ว

ส่วนเรื่องโลเคชัน หนังปกติก็คือจะมีทีมหาโดยเฉพาะ ถ้าโลเคชันเยอะก็จะใช้เวลาสองสามเดือน เอามาขายผู้กำกับเสร็จ ผู้กำกับให้ผ่านก็ขึ้นรถไปดูกันอีกรอบ ส่วนผมใช้วิธีขึ้นรถ ขับไปเองเลย อย่าง เณรกะโดดกำแพง นี่ง่ายสุดคือสุโขทัยบ้านผม กลับบ้านด้วย กินนอนบ้านผมเลย ถ้าบทไม่เข้ากับโลเคชันนี้ ผมปรับบทให้เข้ากับโลเคชันนี้เลย

พอถ่ายทำ หนังปกติส่วนใหญ่จะจ่ายวันละสองแสนห้า ผมจ่ายวันละหมื่นถึงสองหมื่นอย่างมาก นอนบ้านผม นักแสดงเป็นชาวบ้าน ไม่ต้องเปลืองอะไรเลย ทำอาหารกินเอง เอาชาวบ้านที่ฝีมือดีมาทำอาหาร มื้อเท่าไรเหมาเลย ไปจัดการให้หน่อย เขาไปหาผักหลังบ้านมา หาปลามา ออร์แกนิกสุดๆ

คือใช้วิธีอื่นแทนการใช้เงิน

ถูก คนจะทำหนังอินดี้ได้ ต้องเข้าใจหนังจริงๆ ให้ทะลุทุกกระบวนการหนัง แล้วก็ต้องมีความบ้า ถึงจะทำหนังย้อนยุค 30 ปีด้วยงบ 7 แสนแบบผมได้ (หัวเราะ)

บุญส่ง นาคภู่

หนังคุณโดดเด่นที่สุดเรื่องความสมจริงของการแสดง เป็นเพราะชาวบ้านแต่ละคนเล่นบทที่สะท้อนชีวิตตัวเองใช่ไหม

ไม่ใช่ ผมแคสต์เขานะ ทุกคนผ่านการแคสติ้ง แล้วก็มาสวมบทบาท มาเปลี่ยนชุด คือสเต็ปการทำหนังปกติเลย

เขาไม่เขินกล้องกันเหรอ

ไม่เขิน ถ่ายผมก็ถ่ายเหมือนหนังปกติเลยนะ ถ่ายกว้าง ถ่ายเจาะ ดอลลี่เข้า ตอนผมถ่ายแม่ผมงี้ กล้องจ่อตรงหน้าเลย พอตีสเลตใส่หน้า ร้องแอคชั่นปั๊บ แม่เหมือนเดิมเป๊ะ!

ทำได้อย่างไร

ผมมองหนัง มองชีวิต มองการแสดงเป็นอีกแบบ เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่การปั้นหน้าปั้นตา ไม่ใช่การรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ การแสดงคือ Action และ Reaction คือการอยู่กับปัจจุบันขณะ ทำอะไรอยู่ตอนนี้ โทรศัพท์อยู่ก็คุยโทรศัพท์ไปสิ วิ่งอยู่ก็วิ่งให้เร็วที่สุด ไม่ต้องสนใจกล้อง นี่แหละการแสดง แล้วพอคนเล่นถือความจริงระดับพื้นผิวสุดไว้ คือความจริงระดับการกระทำ เดี๋ยวคนดูจะรู้สึกเอง

ผมเคยเป็นแอคติ้งโค้ชของหนังเรื่อง คืนบาปพรหมพิราม มีฉากผู้หญิงถูกผู้ชาย 5 คนรุมข่มขืนในป่า ผู้กำกับกังวลมากว่าจะให้คนดูรู้สึกได้อย่างไร ผมบอกง่ายมากเลย คือบอกให้ผู้หญิงหนีให้ได้ แค่นี้ ต้องหนีให้ได้ แล้วก็บอกแก๊ง 5 คนว่า จับให้ได้ จับเขาให้ได้ เทกเดียวผ่านเลย ความรู้สึกของคนดูคือเจ็บปวด เศร้า แต่ความจริงคือนักแสดงไล่จับอย่างเดียว (หัวเราะ) แล้วคนที่เล่นเรื่องนั้นคือ มีนางเอกคนเดียวที่เป็นดารา นอกนั้นคือคนขายปลาทู คนขับแท็กซี่ แล้วผมมีเวลาสอนเขาแค่ 7 วันด้วย

บุญส่ง นาคภู่

ในเวลาแค่นั้น ทำอย่างไรถึงสอนคนที่ไม่เคยเล่นหนังเลยได้

วิธีการแสดงในแบบของผมคือ ทุกอย่างของเรามาจากคนอื่น คำพูด ความรู้สึก การกระทำ ผมมองหน้าคุณปุ๊บ เออ ผมมีสิ่งที่อยากพูด ตอนยิ้มดูดีนะ แว่นคุณเหมาะกับหน้าคุณนะ คุณทำให้ผมต้องคิด ต้องรู้สึก ต้องพูด จะเกิดสภาวะอย่างนี้ได้ถ้าคุณมีพุทธภาวะ คือคุณตื่นรู้ เกิดมาจากความว่าง คือสุญญตา เมื่อมีสมาธิจดจ่ออยู่ที่อื่น คุณก็ไม่มีตัวตน

เวลาทำหนัง หน้าที่ของผมในฐานะผู้กำกับมีเพียงการสร้าง Action สร้างสถานการณ์ เอากล้องตั้งในจุดที่เหมาะสมที่สุด ใช้แสงที่เหมาะสมที่สุด พอสั่งแอคชั่นแล้ว Reaction จะเป็นอย่างไรก็ลุ้นเอา

แสดงว่าคุณนำธรรมะมาใช้กับการแสดง

ผมเคยบวชมา 10 ปี เข้าใจธรรมะอย่างทะลุปรุโปร่ง ผมเก็ตมัน แล้วผมรู้สึกว่าพุทธธรรมมันคือสัจธรรม อย่างเช่นหลักการแสดง ที่เหมือนหลักอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนั้น เพราะมีสิ่งนั้นจึงมีสิ่งต่อไป เพราะคุณพูดผมเลยตอบ ซึ่ง .สดใส พันธุมโกมล อาจารย์ของผมตอนอยู่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรียกสิ่งนี้ว่าการรับส่ง ความหมายคืออันเดียวกัน

แต่เรื่องพุทธภาวะนี่เป็นเรื่องใหม่ ทุกคนบอกว่าต้องเชื่อ แต่ถ้าเชื่อมันก็ไม่ว่างแล้ว ก่อนแสดงต้องคอยคิดว่ากูเป็นใคร กูต้องการอะไร พอแสดงก็ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน อยู่แต่กับตัวเอง ผมกลับมองว่า เวลาเราตั้งเป้าหมาย เราต้องการอะไร ใจเราอยู่ที่นั่น มันก็คือแปลว่าตัวเราว่าง ไม่ได้เกี่ยวกับเราแล้ว ทุกเปอร์เซ็นต์ของจิตใจเราลงไปอยู่ตรงนั้น

บุญส่ง นาคภู่

บุญส่ง นาคภู่

ใจไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ตรงสิ่งที่เราอยากจะทำ

ถูก

สังเกตว่าหนังผมจริง แต่ไม่เป็นธรรมชาติ ทำไมมันจริง ผมมองว่า เมื่อคุณแอคชั่น ไม่ว่าอย่างไรคุณก็เป็นธรรมชาติไม่ได้ ดังนั้น คุณไม่ต้องพยายามเป็นธรรมชาติ คุณเอาความจริง คนอยากดูความจริง คนเล่นถือความจริงไว้ก็พอ

หมายความว่าคุณอยากให้หนังเล่าความจริง

ผมเชื่อมั่นในศิลปะหนัง หนังทำให้คนฉลาดขึ้นได้ หนังทำให้สังคมดีขึ้นได้ หนังทำให้คนเข้าใจโลก เข้าใจซึ่งกันและกัน มันเป็นสะพานที่สำคัญมากเลยนะ

หนังที่จะเป็นแบบนี้ได้ก็ต้องเกาะติดผู้คน ถ้าคุณต้องการให้สังคมดีขึ้น คุณต้องทำหนังที่เป็นประเด็นสังคม ต้องทำให้คนธรรมดาดู ผมไม่เคยคิดว่าหนังผมต้องฉายในหอศิลป์ มันเป็นหนัง มันก็ต้องฉายในโรง หรือวัด มากกว่าหอศิลป์ด้วยซ้ำ

อยากให้คนธรรมดาดู แต่หนังของคุณดูยากน่ะสิ

จริงๆ หนังผมดูง่ายมากนะ มีมายาคติอยู่ว่า หนังอินดี้ต้องดูยาก หนังอินดี้ต้องจริงจัง คนไทยไม่ชอบคิด เราเคยชินกับหนังที่พูดให้ฟัง สอนชัดๆ ผมเลยคิดว่าต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่มีจุดประสงค์คือทำให้คนดูตื่นตัว และเกิดปัญญาด้วยตัวเอง ถ้าศึกษาธรรมคุณก็จะพบว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนใครตรงๆ พระองค์ต้องหากุศโลบายให้เขาเข้าถึงและบรรลุธรรมด้วยตัวเอง

คุณคิดว่าจะสร้างวัฒนธรรมใหม่นี้อย่างไร

บ่อแรกของการค้นพบทางปัญญาคือความสนุก ความสนุกเป็นด่านแรก ไม่สนุกคนดูก็หลับสิครับ ความสนุกเป็นกุศโลบายให้คนดูจนจบ สนุกเสร็จปั๊บ ต้องเกิดอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ตาม สะเทือนใจ สะใจ เศร้า สังเวช แล้วหลังจากอารมณ์เหล่านั้น จึงจะเป็นปัญญา นี่คือการทำหนังที่ผมอยากทำ

แล้วหนังที่โดนจริงๆ ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน นั่นคือสาเหตุที่ว่าในแต่ละเรื่อง ธีมของผมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าในเวลานั้นกำลังสะเทือนใจเรื่องอะไร ผมมองสังคมนี้ว่าคือมหาสมุทร มีปลาเยอะแยะหลายชนิด ผมแค่หาปลาช่อนหัวแด่นตัวเดียวตรงกลางน้ำ หยิบหินก้อนหนึ่งขว้าง ให้โดนตัวนี้ตัวเดียวพอ พอมันดิ้นพล่าน กระแสน้ำก็กระเพื่อมออกไปกระทบปลาตัวอื่น หนังทุกเรื่องผมจะเล่าให้คนคนเดียว เหมือนปลาตัวนี้แหละ แล้วให้มันกระเพื่อมออกไป คนมีประสบการณ์เป๊ะเหมือนผมจะอินมาก ถ้าห่างๆ ไปนิดหนึ่งก็จะรู้สึกบางลงๆ ความเข้มข้นในการอินไม่เหมือนกัน แต่มันมีแรงกระเพื่อมอยู่ นั่นคือแรงของภาพยนตร์

บุญส่ง นาคภู่

แล้วความสะเทือนใจของ เณรกระโดดกำแพง คืออะไร

เณรกระโดดกำแพง พูดเรื่องความฝันและความเจ็บปวด ทุกคนมีฝันใช่มั้ย แต่กี่คนที่ฝันจะเป็นจริง และในความรู้สึกผม คนที่ฝันเป็นจริง มันต้องเจ็บปวดและทำร้ายคนอื่น ในความทะเยอทะยานเพื่อไปสู่ความฝันนั้น ความเจ็บปวดนี้ ไม่ใช่มีแค่ในวัยรุ่น แต่คือทุกคนที่เคยพยายามทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ

ผมมีความจริงข้อนี้ในหัวใจ ผมฝันมาตั้งแต่ตอนอยู่ ม.3 ว่าอยากเป็นนักแสดง อยากเป็นผู้กำกับ และในการตามฝัน ผมก็ทิ้งแม่ ทิ้งคนที่ผมรัก ทิ้งญาติพี่น้องไว้ ถึงวันนี้ผมไม่ได้กลับไปหาเลย โดยเฉพาะหลานผมที่เคยเอามาเล่นหนังตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย มันก็รักหนังมาก อยากเป็นดารา ผมหวังว่าจะสร้างสตูดิโอหนังที่บ้านนอก แล้วทำหนังให้มันเล่น ปั้นมันเป็นนักแสดง หว่านฝันไปเรื่อยๆ แบบนี้ แล้วเราก็ดิ้นรนแทบประดาตาย ทิ้งคนข้างหลังไว้เป็นเบือเลย ผมทำร้ายคนเป็นเบือ

ความจริงนี้มันโดนคนเยอะมาก น่าจะแทบทุกคนเลยด้วยซ้ำ สำหรับใครที่มีความจริงเรื่องนี้ คุณไปดูเถอะ แล้วคุณจะจุกอกเหมือนผมนี่แหละ

คือคุณเอาความจริงของตัวเองมาทำเป็นหนัง

เพราะผมจริงใจกับตัวเอง ทุกคนในโลกนี้ถ้าจริงใจกับตัวเองปั๊บ คุณจะรู้จักคนไม่กี่คน อินกับเมสเสจบางอย่างเท่านั้น ไม่ได้จำเป็นต้องทำเรื่องทุกอย่างบนโลกนี้ได้ แค่เล่าบางเรื่องที่คุณอินเท่านั้น

อีกอย่างคือที่ผมเลือกเล่าเรื่องตัวเองเพราะผมควบคุมมันได้มากที่สุดแล้ว ถึงขั้นว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายที่วัดที่เคยบวชอยู่ เพราะที่นั่นเรารู้จักดี มีคอนเนกชัน ทุกคนช่วยเราได้หมด

บุญส่ง นาคภู่

คนแบบไหนที่ควรไปดูหนังของคุณ

ผมคำนวณสังเคราะห์ว่าน่าจะเป็นคนที่ผ่านวัยวันมาพอสมควร ถ้าเป็นหนุ่มสาวก็เป็นหนุ่มสาวที่มีอะไรในหัว มีรสนิยม มีทัศนคติ การมองโลกอีกแบบนึง เริ่มแสวงหาโอกาสใหม่ เสพเยอะแต่เลือกเสพ

ซึ่งในไทยมีคนกลุ่มนี้เยอะมั้ย

มี แต่ก็ยังไม่เยอะ

เพราะอะไรถึงยังไม่เยอะ

คิดไปอีกที คนกลุ่มนี้อาจจะเยอะเหมือนกัน แต่ไม่ออกมาดูหนัง เพราะการออกจากบ้านมาดูหนังมันใช้เวลาเยอะ ใช้พลังเยอะ การฝ่ารถติดไปดูหนังที่ House RCA นี่มันต้องใช้พลังเยอะมากเลยนะ ไม่มอเตอร์ไซค์ก็ต้องรถยนต์ ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี กลับบ้านดูสตรีมมิ่งดีกว่า พลังความอยากดูมันสู้ปัญหาอุปสรรครอบๆ ตัวไม่ได้ มีคนเยอะที่อยากดูหนังทางเลือก เบื่อหนังฮอลลีวูด แต่พลังการออกมาดูหนังยังไม่มากพอ

บุญส่ง นาคภู่

เคยคิดไหมว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

หนังทุกวันนี้รอให้คนไปดู ทำตัวเป็น Passive ผมเศร้าทุกครั้งที่ฉายหนัง ยืนๆ นั่งๆ รอหน้าโรงหนังว่าเมื่อไรคนดูจะมา โรงหนังจะตายในเวลาอันรวดเร็วถ้าเป็นแบบนี้ โรงหนังมันต้อง Active ต้องไปหาคนดู

ผมมีโปรเจกต์ที่ฝันไว้ ว่าจะทำหน่วยหนังกลางแปลงที่มีจอมาตรฐาน มีเครื่องเสียงที่ดี มีเครื่องฉาย Digital Master แล้วคนดูอยู่ไหน เดี๋ยวเราเดินทางไปหา แล้วเราต้องทำให้หนังกลางแปลงมีพลังเหมือนโรงชั้นหนึ่ง ทำเหมือนเครือหนังใหญ่เลย หนังเข้าพร้อมกัน มีระบบการจ่ายโรงแบบเดียวกัน แต่ Movable อีกอย่างคือต้องไม่ฉายหนังทับไลน์ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ที่ผูกขาดหนังไปแล้ว ไม่งั้นจะเจอตอใหญ่มาก ถ้าจะให้ดีคือต้องทำหนังเพื่อกลางแปลงโดยเฉพาะ ถ้าอยากดู ต้องมาดูกับเราเท่านั้น

แล้วเท่าที่ทำมาเกิดความเปลี่ยนแปลงบ้างหรือยัง

ความเปลี่ยนแปลงมันเป็นนามธรรม และมันเชื่องช้ามาก โดยเฉพาะสังคมแบบนี้ สังคมไทยเป็นสังคมตามกระแส ตามน้ำกันหมด งานของผมเลยต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เราก็มองโลกแบบมีความหวัง และเราก็ไม่หยุดนิ่ง

นี่คือที่มาของชื่อสตูดิโอปลาเป็นว่ายทวนน้ำหรือเปล่า

สังเกตว่าปลาของเราว่ายทวนน้ำ ไม่ได้ว่ายสวนน้ำ ปลาเป็นว่ายท่วนน้ำคือปลาที่มีปัญญา ปลาที่รู้ว่าตัวเองคือใคร และกำลังจะไปไหน ชัดเจนในตัวเอง และฟันฝ่าด้วยความมุ่งมั่นไป เพื่อไปวางไข่ในจุดที่ท้าทายที่สุด แต่ถ้าปลาว่ายสวนน้ำ สวนกระแสเฉยๆ ก็จะเป็นแค่อารมณ์วูบวาบ ว่ายไปก็หมดแรง ผมไม่ได้สวนกระแสแต่ทวนกระแส เพราะแบบนี้ถึงยังทำได้อยู่มา 8 ปีแล้ว

เณรกระโดดกำแพง ฉายแล้ววันนี้ที่ House RCA, Doc Club Theatre และ Bangkok Screening Room

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ