เนื่องจากไม่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้าน การนัดคุยกับอาจารย์อารยา คือการที่ผมต้องเขียนอีเมลไปหาคุณธาม หนึ่งในทีมงานของ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ แกลเลอรี่ที่จัดแสดงนิทรรศการและพิมพ์หนังสือเล่มล่าสุดของอาจารย์ จากนั้นเขาก็จะส่งจดหมายต่อไปยังอาจารย์เพื่อขออนุญาตและสรุปวันเวลากับสถานที่นัดหมาย เมื่อผู้ถูกสัมภาษณ์รับทราบ คุณธามก็จะเป็นฝ่ายโทรศัพท์มาแจ้งผมถึงวันและเวลาที่สะดวก ผมเหลือบดูปฏิทินตั้งโต๊ะให้แน่ใจว่าเวลาดังกล่าวยังว่าง ก่อนจะตอบรับยืนยัน สุดท้ายคุณธามก็จะเขียนอีเมลไปแจ้งยืนยันเวลากับอาจารย์อีกครั้ง

กระบวนการนัดหมายที่ผมใช้พื้นที่ถึงหนึ่งย่อหน้าเอกสารในการอธิบายจึงสิ้นสุด

ดูเหมือนจะยุ่งยาก แต่เอาเข้าจริง การนัดเจอที่ต้องผ่านคนกลางและไร้ซึ่งบทสนทนาจากทั้งสองฝั่งฟากก็เป็นไปอย่างราบรื่น เราพบกันที่ร้านกาแฟใต้อาคารของภาควิชาสหศาสตร์ศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาใหม่ที่เธอเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อราว 4 ปีก่อน ก็ดีเหมือนกัน พออีกฝ่ายไม่มีโทรศัพท์ ก็เป็นผมที่เคร่งครัดกับเวลามากกว่าทุกครั้ง ผมมาก่อนเวลานัด 15 นาที ขณะที่อาจารย์เดินลงบันไดมาจากอาคารตรงเวลาพอดี

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข คือศิลปินที่ผู้คนในโลกศิลปะทั้งรักและเกลียด เธอเริ่มสร้างชื่อจากการเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่กวาดรางวัลทางศิลปะภายในประเทศแทบทุกเวที ได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนีถึง 2 ครั้ง ก่อนจะเดินสายแสดงงานในเทศกาลศิลปะระดับโลกมากมาย ผลงานของอาจารย์อารยามีหลากหลาย ตั้งแต่งานภาพพิมพ์ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ภาพเคลื่อนไหว และวิดีโอ

ท่ามกลางเทคนิคการสร้างงานที่แตกต่าง ดูเหมือนจุดร่วมเดียวในผลงานของเธอคือลักษณะของเนื้อหาที่ปั่นป่วนค่านิยมทางสังคมและกรอบสูงส่งของศิลปะ (ซึ่งชวนให้ทั้งเหล่าศิลปินใหญ่และนักวิชาการหลายรายขัดข้องหมองใจ) ตั้งแต่เนื้อหาที่ว่าด้วยความตายของคนใกล้ตัว การให้ผู้ป่วยจิตเวชมาเป็นคนเล่าเรื่อง การถ่ายทอดช่วงเวลาสุดท้ายของสรรพสัตว์ในโรงฆ่า หรือกระทั่งการชวนชาวบ้านและพระสงฆ์มาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของโลก และงานที่ฮือฮาที่สุดคือซีรีส์ที่เธอมีปฏิสัมพันธ์กับศพ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านบทกวี สอนหนังสือ ไปจนถึงการลูบไล้แต่งตัว เป็นต้น

ไม่เพียงการสร้างงานที่วนเวียนอยู่กับความมืดมนและความตาย อาจารย์ยังเป็นศิลปินที่ยั่วล้อต่อการเกิด ครั้งหนึ่งเธอเคยเดินท้องโย้กลางๆ มาสอนหนังสือ โดยปล่อยให้เพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์เข้าใจว่าสาวโสดวัยสี่สิบเศษผู้นี้กำลังตั้งครรภ์ สร้างความฮือฮาและความอิ่มเอมในวงสนทนาทั่วทั้งคณะ กระนั้น 2 สัปดาห์ต่อมาเธอก็เฉลยว่าเธอไม่ได้ท้อง และทั้งหมดนี้คือโครงการศิลปะชิ้นหนึ่ง (เธอให้ทีมงานตามแอบถ่ายบทสนทนาที่คนอื่นๆ มีต่อเธอระหว่างตั้งครรภ์) แน่นอน ไม่มีใครยินดีต่อการถูกทำให้เข้าใจผิด โดยเฉพาะกับเรื่องละเอียดอ่อนอย่างการเป็นแม่และการให้กำเนิด

ความที่ผมเคยเรียนอยู่ในตึกใกล้ๆ กับที่อาจารย์สอน จึงมีโอกาสเดินสวนกันอยู่ไม่น้อยครั้ง (ผู้หญิงผมสีขาวในเสื้อและกางเกงสีดำ และมีฝูงสุนัขจรจัดติดสอยห้อยตามเธออยู่เสมอทั้งในที่สาธารณะและในชั้นเรียน) แต่ผมก็ไม่เคยได้คุยกับอาจารย์เสียที กระทั่งมีโอกาสได้เจอกันวันนี้ บทสนทนาแรกที่เรามีคือเรื่องความตายของเจ้าหนูดี สุนัขจรจัดประจำคณะที่อาจารย์นำไปดูแลที่บ้าน มันป่วยหนักเกินเยียวยา อาจารย์จึงตัดสินใจพามันไปหาหมอเพื่อฉีดยาให้นอนหลับ อาจารย์พาร่างของมันกลับบ้าน ขุดหลุมฝังด้วยตัวเอง (เธอมักจะขุดหลุมฝังศพหมาที่เลี้ยงด้วยตัวเองทุกครั้งเพื่อเป็นการร่ำลา) ก่อนจะออกบ้านไปซื้อเบียร์และขนมขบเคี้ยวมาเฉลิมฉลอง

ที่หนูดีตายเพราะเขากินอาหารขยะ อาจารย์เลยซื้อมากินบ้างฉลองที่เขาตาย เพราะอาจารย์ทำให้เขาตาย… นี่ก็ยังไม่ได้จ่ายเงินหมอเลย” อาจารย์พูดด้วยเสียงเรียบเย็น ไม่ได้เศร้า หากก็ไม่ปรากฏว่านั่นคือท่าทีของการพูดเล่น

เมื่อกลางปีที่แล้วล่วงมาถึงต้นปีที่ผ่านมา อาจารย์อารยาได้จัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด และถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่จัดในประเทศไทยที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’นิทรรศการที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปี ประหนึ่งงานแซยิดของอาจารย์

ทั้งนี้ในวันสุดท้ายของการจัดงาน ยังมีการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด ผุดเกิดมาลาร่ำ–นวนิยายเล่มแรกของศิลปิน หนังสือที่ถือเป็นอีกชิ้นงานอันเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

หากใครติดตามผลงานของอาจารย์อารยาคงทราบดีว่านอกจากงานศิลปะ เธอยังเป็นนักเขียนที่แพรวพราวด้วยสำบัดสำนวน พอๆ กับเนื้อหาอันปั่นกวนชวนทะเลาะ เริ่มจากบันทึกชีวิตของนักเรียนศิลปะในเยอรมนี (บันทึกผู้หญิงตะวันออก พ.ศ. 2536) บันทึกชีวิตของผู้หญิงขายบริการในยุโรปที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร ลลนา, รวมเรื่องสั้นอีโรติก (คืนสิ้นกลิ่นกามรส พ.ศ.2543) และบทความทางศิลปะที่ทำให้คนอ่านหลายคนพร้อมใจกันส่งจดหมายด่าแนบไวรัสมาที่กล่องข้อความอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เขียนชื่อ ((ผม) เป็นศิลปิน พ.ศ.2548 และ ศิลปะกับถ้อยความ พ.ศ. 2549) และอื่นๆ

ครั้งหนึ่งเธอเคยเขียนคอลัมน์ประจำให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ รวมกัน 7 บทความต่อเดือน ก่อนที่เธอจะหยุดงานเขียนทุกทางเพื่อเอาเวลาไปทุ่มเทกับงานศิลปะและการก่อตั้งสาขาวิชาทัศนศิลป์ในระดับปริญญาโท และสหศาสตร์ศิลป์ในระดับปริญญาตรี (ซึ่งกระทั่งงานด้านวิชาการอย่างการก่อตั้งสาขาวิชา ก็ยังไม่วายสร้างความขัดแย้งให้กับเพื่อนคณาจารย์สาขาวิชาอื่นๆ ในแง่ของมุมมองอีก) อาจารย์เล่าให้ผมฟังว่า ผุดเกิดมาลาร่ำ ไม่ใช่แค่ผลพวงจากการแสดงงานศิลปะ แต่เป็นผลลัพธ์ของความกระหายอยากกลับไปเป็นนักเขียนของเธอ หลังจากร้างลามานานปี

ไม่งั้นจะตั้งชื่อนิทรรศการว่า ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียนทำไม” เธอกล่าว

ในเรื่องราวและรูปเล่มที่พร่าเลือนระหว่างวรรณกรรมที่ดูคล้ายอัตชีวประวัติ (นิยายพูดถึงช่วงชีวิต 3 วัยของศิลปินหญิงคนหนึ่ง) กับหนังสือศิลปะที่ดูเหมือนไม่แยแสผู้อ่าน ล่าสุด ผุดเกิดมาลาร่ำ เป็นหนึ่งในนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)

โอเค การร่วมลุ้นซีไรต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ถึงจะไม่ใช่เพราะกระแสของรางวัล ก็ถือเป็นความจำเป็นของสังคมเรา ที่ต้องมีใครสักคนพูดคุยกับศิลปินคนนี้ในบทบาทของนักเขียน เพื่อเรียบเรียงเป็นบทบันทึกให้คนอื่นๆ ได้อ่านกัน

ผมรู้สึกดีที่ได้รับเกียรตินั้น-เกียรติที่ได้มีโอกาสคุยกับศิลปินในเรื่องของงานเขียนและตัวละครของเธอ

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

1

ผุดเกิด

เมื่ออ่านนิยายของอาจารย์จบรู้สึกได้ถึงความร้าวรานและเปราะบาง ขณะเดียวกันก็สัมผัสถึงอารมณ์ขันร้ายที่ดีชะมัด แต่สารภาพตามตรง ผมรู้สึกทรมานกับตัวอักษรที่เล็กมากจนต้องเพ่งจ้อง อยากรู้ว่านี่คืออุบายของคนเขียนที่ต้องการทรมานคนอ่านหรือเปล่า

ไม่ใช่เลยค่ะ อาจารย์ก็ทรมานเหมือนกัน (หัวเราะ) รูปเล่มอันนี้แกลเลอรี่เป็นคนใช้นักออกแบบของเขาทำ ทั้งคนเขียน แกลเลอรี่ และนักออกแบบ ก็มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง และอาจารย์ก็แพ้ในเรื่องจริตของงานออกแบบ เธอว่าหนังสือมันต้องเรียวยาว ถ้าไม่ย่อเล็ก จำนวนหน้าก็จะหนาเกินจนดูคล้ายจะเป็นคัมภีร์ ตอนหนังสือออกมาก็งงๆ เหมือนกัน เพราะเราก็อายุมากแล้ว ถึงกับต้องซื้อแว่นขยายแบบซื้อหนึ่งแถมหนึ่งมาใส่

ความที่อาจารย์เป็นคนก่อตั้งสาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์ ซึ่งมุ่งหมายผลิตนักศึกษาไม่ให้ยึดติดกับมุมมองหรือจารีตเดิมๆ ของเทคนิคในการสร้างงานศิลปะ แต่นิทรรศการล่าสุดที่ชื่อ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ อันเป็นต้นทางของนวนิยายเล่มนี้ เหมือนตั้งใจจะแยกชัดระหว่างความเป็น ‘ศิลปิน’ และ ‘นักเขียน’ ไม่คิดว่านี่เป็นการนิยามที่ย้อนแย้งในตัวเองบ้างหรือครับ

มองว่านี่คืออุบายในการสร้างงานอย่างหนึ่งมากกว่า คือหนังสือเล่มนี้มันพร่าเลือนระหว่างความเป็นวรรณกรรมกับงานศิลปะมากเลยล่ะ ในตัวบทเราก็เขียนถึงส่วนซึ่งเป็นศิลปะ อย่างบทหนึ่งที่เราพยายามจะใช้เรื่องเล่าทดแทนการวาดด้วยดินสอกับพู่กัน คล้ายทำวาดเส้นกับจิตรกรรมด้วยภาษา บทต่อๆ มาก็มีทั้งงานเพอร์ฟอร์มานซ์ อินสตอลเลชัน กระทั่งบทหลังคล้ายฉากละครเวทีก็ข้ามศาสตร์นะ มองว่าทำเป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษาที่เรียนวิชาสหศาสตร์ศิลป์ด้วย

ส่วนการแยกนิยามของศิลปินกับนักเขียนในชื่องาน นี่ก็เป็นอุบายสะพาน เป็นอุบายให้แกลเลอรี่พิมพ์หนังสือของเราให้เป็นนิยาย (หัวเราะ) เพราะปกติเขาพิมพ์แต่สูจิบัตร คราวนี้เขาต้องเจอโจทย์ใหม่ ต้องออกแบบให้ครอบคลุมทั้งสองฝั่ง คุยกันว่าให้ไหลเทเข้าหากัน เหลื่อมกลืนกัน แกลเลอรี่ร่วมมือเพราะหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ

กรรมที่มีคือ เขาทำไม่สวยไม่ได้ เพราะเขาเป็นแกลเลอรี่ เลยออกมาแพง ดูเป็นอาร์ต Object กว่าจะเป็นหนังสือธรรมดา

ตั้งใจให้เป็นนวนิยายที่บอกเล่าชีวประวัติของศิลปิน

ไม่เลย ไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เป็นอัตชีวประวัติเลย

ถ้าอ่านในแต่ละห้วงเวลา ทั้งสถานที่เกิดของตัวละครที่เหมือนจังหวัดตราดบ้านเกิดของอาจารย์ สถาบันการศึกษาที่ชื่อพ้องกับมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมไปถึงเบื้องหลังของงานศิลปะที่ทำ ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือชีวิตอาจารย์นี่ครับ

จริงๆ แล้วตัวบทมาจากการที่ใครคนหนึ่งกลับไปสำรวจความนึกคิดตัวเองในแต่ละช่วงวัยมากกว่า หนังสือเล่มนี้เกิดจากที่เราอยากกลับมาเขียนหนังสืออีกครั้ง เคยตั้งใจว่าพอเกษียณจะใช้เวลาหลังจากนั้นเขียนหนังสือ แต่พอถึงเวลาเกษียณจริงก็ต้องมีการจัดนิทรรศการเป็นพิธีใช่ไหม ปกติเขาก็จะจัดงานกันที่หอศิลป์ของมหาวิทยาลัย แต่คิดว่าไหนๆ ก็จะทำแล้ว น่าจะจัดให้เป็นสาธารณะ เป็นอาชีพจริงๆ ไปเลยดีกว่า ก็จัดที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ แล้วก็บอกทางแกลเลอรี่ว่าจะมีนิยายประกอบเป็นส่วนปลายของโครงงานศิลปะ

เข้ามาสู่คำตอบเรื่องประวัติส่วนตัว ตอนที่บอกเขาว่าจะเขียนนิยายเราก็ไม่มีคอนเซปต์หรือพล็อตเรื่องอะไร แค่อยากเขียน ก็ด้นสดไปเรื่อย อย่างบรรทัดสุดท้ายของบทนำก็ยังถาม “เรื่องควรเริ่มตรงไหนดีเล่า เริ่มโดยตัวเรื่องเองได้หรือ” จากนั้นเรื่องก็ไหลเทจากความทรงจำจางขุ่นของเราเอง เหมือนสายน้ำไหลไปตามที่ทางของมัน น่าจะอธิบายได้อย่างนั้น ใครด้นอะไรยาว 300 หน้าในเวลาไม่นานก็คงเป็นส่วนที่ตัวเองคุ้นเคยที่สุด จึงอาจเข้าไปใกล้ประวัติได้ง่ายมาก แบบไม่ตั้งใจก็เป็น

เป็นเหมือนการรำลึกห้วงเวลาในชีวิต

เรื่องเริ่มจากความทรงจำวัยเด็ก แล้วด้นสดต่อไปเรื่อยๆ ทีนี้วิธีที่จะคุมการด้นสดให้อยู่คือการวางกรอบเวลา ซึ่งจะทำให้เราไม่หลง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจจะเขียนถึงชีวิตของตัวละครใด แต่เขียนถึงภวังค์ เขียนถึงห้วงคำนึงมากกว่าจะเป็นพล็อตเรื่อง คือเขียนเพื่อสะท้อนความรู้สึก ไม่รู้ว่าคุณอ่านแล้วรู้สึกอย่างนั้นไหม

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

ไม่เชิงครับ ผมอ่านด้วยความคิดว่านี่คืออัตชีวประวัติกึ่งเรื่องแต่งไปก่อนแล้ว กลายเป็นว่าอ่านด้วยความอยากรู้อยากเห็นในเนื้อเรื่องมากกว่า

อาจเป็นธรรมชาติความสอดรู้เสือกเห็นของมนุษย์ สำหรับคนมองย้อนกลับไปอาจคล้ายๆ การสังเคราะห์ พิเคราะห์ตระหนักรู้ที่ผ่านมา หันกลับไปมองส่วนที่ผ่านมาในฐานะคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ เคยร่วมในประสบการณ์นั้นอย่างไร แม้ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ แต่จริงๆ แล้วงานเขียนนี้เกิดจากความหิวกระหายในการเขียนตามใจตัว มาจากความอัดอั้นของนักวิชาการศิลปะกับศิลปินที่ต้องคอยเขียน Proposal Concept เขียนวัตถุประสงค์ที่คาดว่าจะได้รับ ละลายได้โดยการทำเป็นว่าจะเขียนนิยาย พอลงมือเขียน นึกคิดกับอารมณ์ภาษาก็พรูพรวดออกมา ค่อยๆ จับสัญญาณนึกรู้สึกไปเป็นปล้องๆ

เหมือนนี่คืองานเขียนเล่มแรกที่อาจารย์ปล่อยให้ภวังค์มันนำเรื่องเล่าด้วยหรือเปล่า

พูดอย่างนั้นก็ได้ โตและแก่พอที่ไม่ต้องพึ่งสิ่ง ส่วน และข้ออ้าง ไม่ใช่ช่วงเวลาของภูมิรู้ เป็นผลึก ไม่ทั้งหมดทั้งมวล แต่เป็นเศษเป็นเสี้ยวตะกอน

ยังจำเรื่องแรกที่ตัวเองเขียนได้ไหมว่าคือเรื่องอะไร และเขียนด้วยความรู้สึกแบบไหน

จำได้ แต่จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเขียนเรื่องสั้นที่ตั้งคำถามต่อกิจกรรมรับน้องใหม่ แล้วก็ได้ตีพิมพ์ในวารสารของมหาวิทยาลัย ดีใจมากๆ สมัยนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรกับพิธีกรรมรับน้องใหม่นี่เป็นเรื่องจริงจังมาก หรือสมัยนี้ด้วย แต่เราเผอิญได้คุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เขาต่อต้านการรับน้อง และเขาก็พูดกับเราประมาณว่า “การรับน้องฯ นี่ถึงกับฆ่าคนได้” ชอบสำนวนรุ่นพี่คนนั้น และประกอบกับที่เราก็สัมผัสด้วยตัวเองว่าการรับน้องใหม่กินเวลามากเลย ต้องเรียนหนังสือทั้งวัน ตกเย็นต้องไปเข้าแถวต่อทำกิจกรรมนู่นนี่ถึง 2 ทุ่มกลับถึงหอพักก็ดึกดื่นเพื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าไปเข้าเรียน ไม่มีเวลาทำการบ้าน อ่านทวนอะไรเลย เราอยากมาเรียน ก็เลยมีคำถาม

อาจารย์เป็นคนหัวแข็งตั้งแต่ตอนนั้นเลยหรือ

หัวอ่อนแต่กำเนิด ลืมตาดูโลกก็หัวอ่อนน่วมเหลวมาเลย คือก็เข้าร่วมกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยตามเกม แต่ถ้าเจอครั้งไหนรับน้องแรงๆ หรือไม่มีเหตุผลมากๆ เราก็หยุดทวนสักหน่อย ความหัวแข็งเพิ่งมาถึงหัวตอนไปเรียนที่เยอรมนี ตอนอยู่ศิลปากรเป็นเด็กเรียน ได้คะแนนท็อปของชั้นเรียนจนไม่ต้องดูคะแนนเองเลย มีเพื่อนมาบอก

อาจารย์เรียนศิลปะ แต่ทำไมตอนนั้นถึงเลือกถ่ายทอดความรู้สึกต่อต้านการรับน้องด้วยการเขียน

วาดไม่เป็น แต่เป็นหนอนหนังสือน่ะ อ่านเรื่องแปลเยอะ ไปไหนก็พกหนังสือติดไปด้วยตลอด จนโดนเพื่อนผู้ชายที่เขาทำกิจกรรมมากๆ เขาแซว บอกว่าเรามีชีวิตอยู่แต่ในโลกหนังสือ ไม่มีชีวิตอยู่บนโลกจริง ซึ่งพอมองย้อนกลับไปก็ตลกดี ขำ อยู่มานานถึงตอนนี้อยากมีชีวิตอยู่ในโลกของหนังสือ ไม่อยากอยู่ในโลกจริงเลย

อ่านอะไรบ้างตอนนั้น

คุณปู่เป็นปลัดจังหวัด เป็นนักอ่าน พอคุณปู่เสีย พ่อก็เก็บหนังสือปู่ไว้ในตู้เต็ม เราเป็นลูกโทน ไม่มีเพื่อนเล่นนัก เพราะฉะนั้น โลกตอนปิดเทอมคืออยู่กับบ้านอ่านหนังสือ ตอนเด็กอ่าน ห้วงมหรรณพ, ผิวเหลืองผิวขาว, ผู้บริสุทธิ์, บางตอนของ ผู้ชนะสิบทิศ ตอนเรียนศิลปากรก็อ่านวรรณกรรมแปลที่นักศึกษายุคนั้นเขาอ่านกัน ไม่ต่างกันหรอก อัลแบร์ กามู, ลีโอ ตอลสตอย ส่วน ออร์ฮาน ปามุก มีคนส่งเล่มภาษาอังกฤษมานานหลายปีแล้ว เหมือน Orlando ของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ ที่ตัวละครตื่นมาเป็นอีกเพศ เพื่อนเยอรมันส่งมาให้ ส่วนงานคนไทยเคยท่องกลอน วิทยากร เชียงกูล ตอนที่เขายังตั้งคำถามที่ท้าทายต่อสังคมอยู่ ทมยันตีก็อ่านนะ ความเจ็บแค้นฝังจำของผู้หญิง เพื่อนอยู่บางลำพูชวนไปเช่าอ่านหลังเลิกเรียนที่ช่างศิลป์ ไปนั่งอ่านในร้าน ขดกันคนละมุมจนเย็นค่ำ เราอ่านหนังสือโดยไม่มีรสนิยมหรือความเอียงข้างทางการเมืองเลย อ่านดะ ไม่มีฝั่งฝ่าย แต่ช่วง 14 ตุลาฯ ก็ไปเดินขบวนกับเขา ยังวิ่งหนีกระสุนที่ราชดำเนิน ไปซ่อนตัวอยู่ที่ร้านผ้าแถวบางลำพูเลย ไม่อยากเอางานศิลปะมาหนุนการแยกข้าง เอาไว้หล่อเลี้ยงจินตนาการ แค่นี้ก็ยากเข็ญแล้ว

เคยมีความคิดอยากเป็นนักเขียนบ้างไหม

ไม่มีเลย ตอนนั้นสนุกกับการเป็นนักอ่านอย่างเดียว

แล้วเป็นแอคทิวิสต์ตามสมัยนิยมในยุคนั้นมั้ยครับ

ไม่เลย เราเรียนศิลปะก็เพราะอยากเป็นศิลปิน ไม่ได้อยากเป็นอย่างอื่นเลย (นิ่งคิด) สมัยเรียนคิดแค่ว่าเราอยากเรียนให้รู้มากกว่า ศิลปะเรียนยากนะ

ความเอียงข้าง การทุ่มเทเพื่ออุดมการณ์อะไรมันไม่มากเท่ากับความกระหายที่จะบ่มเพาะความเข้าใจ  แต่ในทางกลับกัน ก็อ่อนไหวและสะเทือนใจกับแง่มุมชีวิตมากนะ พ่อเป็นหมอ เป็นสาธารณสุขจังหวัดที่อุบลราชธานี พื้นที่ที่แดดเป็นเปลวยึกยักในหน้าร้อน น้ำแม่มูลท่วมฝั่งในหน้าฝน พอมีเวลาว่าง ปิดเทอม ก็จะตามพ่อไปออกหน่วยลงพื้นที่ เห็นภาพคนยากจนฝ่าแล้งฝ่าฝุ่นดินแต่งตัวมอมแมมอุ้มลูกหลานมารอรักษา ซึ่งสมัยนั้นแล้งแร้นแค้นคือแร้นแค้นจริงๆ ความสะเทือนใจของเราจึงไม่ได้เกิดจากหนังสือหรือลัทธิทางการเมืองอะไร แต่เกิดจากภาพในอวลอากาศจริงที่เรามีโอกาสอยู่ในภาพนั้นด้วย เป็นสิ่งที่อยู่ในมุมมองเราทุกวันนี้ คือเราไม่ได้ให้คุณค่ากับจุดยืนทางการเมืองของใคร มากไปกว่าการให้ค่าในฐานะของความเป็นมนุษย์ เผื่อแผ่ต่อกลุ่มคนอื่นๆ และสปีชีส์อื่นๆ ได้

ทำไมจึงเลือกเรียนศิลปะ

อาจารย์เพิ่งกลับมาจากอุบลฯ คือความที่เราเขียนนิยายโดยไม่ได้ค้นเรื่องสถานที่อะไรเลย พอเขียนจบเราก็เลยอยากกลับไปดูสถานที่ที่เราเคยมีชีวิตในวัยเด็กว่าตรงหรือคล้ายกับที่เราคิดจริงไหม ก็มีโอกาสได้นัดเจอเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่สมัยอนุบาล คุยรำลึกความหลังกัน แล้วนึกขึ้นได้ว่าสมัยเรียน ป.5 มีครูสอนศิลปะชื่อครูอำพร ครูอำพรเคยสั่งงานให้เราวาดรูปผลไม้ในตะกร้า เราก็วาดรูปผลไม้เท่ากับขอบของตะกร้าเลย ซึ่งครูก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผลไม้จะขอบเท่ากันกับขอบตะกร้า (หัวเราะ)“หนู ผลไม้ที่ใส่ตะกร้ามันต้องเกินตะกร้ามาสิ มันจะพอดีกันได้ยังไง” ยังจำจนถึงวันนี้ จำได้แม่นอีกเรื่องคือครูให้เราแต่งนิยายและวาดภาพประกอบด้วย ลองคิดดูสิว่าครูประถมต่างจังหวัดทำไมสั่งงานก้าวหน้าอย่างนั้น ตอนนั้นนั่งเขียนเรื่องนายไข่เน่าส่งครู และก็พบว่าชอบการแต่งเรื่องและวาดรูปประกอบนี้มากๆ พ่อเรียกไปพบอย่างเป็นทางการ บอกว่า เห็นลูกทำการบ้านที่โต๊ะทำงานมาหนึ่งอาทิตย์ ไม่เคยทำการบ้านวิชาอื่นเลยนอกจากวิชาศิลปะ

พอจบ ป.7 ก็ไปเข้าโรงเรียนประจำที่เขมะสิริอนุสสรณ์ ในวิชาวาดเขียน เรารับอาสาวาดรูปให้กับเพื่อนทั้งชั้นเรียน ครูสั่งให้วาดรูปดอกดาวกระจายมาส่ง เราก็วาดเลย 40 ดอกให้เพื่อน 40 คน เรียนไปเรียนมา ความที่เราไม่เคยอยู่กับเพื่อนทั้งวันทั้งคืนอย่างนี้มาก่อน ก็นึกสนุก ชวนกันหนีออกจากโรงเรียนประจำ ทำหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายจำได้ว่าปีนรั้วหนีไปตอนตี 4 รอนั่งเรือข้ามเจ้าพระยาไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ธรรมศาสตร์ ก่อนที่ครูจะพาตำรวจไปรับที่หน้าห้างสรรพสินค้าในตอนบ่ายแล้วก็โดนเขาไล่ออก พอโดนออกก็ต้องหาที่เรียนใหม่ คุณป้าเห็นว่าเราชอบวิชาศิลปะก็เลยส่งให้ไปสอบช่างศิลป์ ก็เรียนช่างศิลป์แล้วไปต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามลำดับ

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561 อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

2

แขวน-วาง ‘ความไร้รัก’

หลังจากเรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขียนสมัยเรียนปี 1 ศิลปากร อาจารย์ได้เขียนอะไรอีกไหมก่อนจะมีหนังสือเล่มแรก

(นิ่งคิด) เขียนบันทึก บทกวี ไม่จริงจังอะไร พอเรียนหนังสือก็มีชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เที่ยวเตร่บ้าง มาเขียนเรื่องสั้นอีกทีคือตอนเรียนจบปริญญาโท แล้วย้ายขึ้นมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นช่วงเดียวกับที่คุณยายเสียพอดี เศร้ามาก ร้องห่มร้องไห้ ไม่เคยเศร้าเท่านี้ เศร้าจนเขียนเรื่องสั้นระบายความรู้สึก จำชื่อเรื่องได้ว่า นึกถึงยาย ตีพิมพ์ใน ลลนา ลลนา ยังขอรูปงานภาพพิมพ์ไปเป็นภาพประกอบเรื่องเลย   

พอสอนหนังสือที่ มช. ได้ 3 เดือน รับผลสอบทุนไปเรียนต่อที่เยอรมนี (Hochschule für Bildende Künste Braunschweig เมืองเบราชไวก์–ผู้สัมภาษณ์) ทำให้ไปนั่งเขียนหนังสืออยู่ไกลบ้าน เขียนจดหมายถึงยายที่ตายแล้วส่งกลับมาตีพิมพ์เป็นตอนๆ จนต่อมารวมเล่มเป็นหนังสือ บันทึกผู้หญิงตะวันออก (สำนักพิมพ์สามัญชน ก่อนจะมีการรีพรินต์ พร้อมเพิ่มบทสัมภาษณ์เป็นหนังสือ วันใบไม้ร่วงของคนไกลบ้าน โดยสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม พ.ศ. 2551) เขียนงานแปลและทำสัมภาษณ์ลงนิตยสาร City Life และก็ได้โอกาสไปติดตามชีวิตของผู้หญิงที่มาทำงานโสเภณีในยุโรป ก็ไปสัมภาษณ์เขาเรียบเรียงเขียนออกมาเป็นตอนๆ ส่งไปลงมติชนสุดสัปดาห์ ช่วงที่อยู่เยอรมนีได้เขียนหนังสือเยอะ ทำอยู่ไม่กี่อย่าง ศิลปะ เขียน แล้วก็เดินทางดูงานแสดง ดูตึก ดูเมือง อ่านกวีไปด้วย

อาจารย์บอกว่าชีวิตที่เยอรมนีทำให้ทัศนคติเปลี่ยน

เปลี่ยน ไม่ชัดว่าเหตุการณ์หรือช่วงเวลาใดเดียวทำให้เปลี่ยน เขาค่อยๆ บ่มค่อยๆ ปลูกฝังเรา ที่จำได้ดีคือที่นั่นมีวันที่หนาว ฟ้าเป็นสีเทาทึบ และฝนตกพรมบางๆ เยือกหนาวจับใจ เดี๋ยวนี้ในรอบ 1 ปี ช่วงรอยต่อของฤดูฝนกับหนาว เชียงใหม่ก็จะมีวันที่เป็นแบบนี้ 1 วัน 2 วัน พอเจอเหมือนไข้จะขึ้นเลย อากาศสีเทาและเย็นเยือกอย่างนั้นกลับมาห่มมาคลุม คล้ายๆ บางประสบการณ์ที่นั่นเข้าสิงเรา ไม่ต่างจากในแง่ของคุณภาพ วินัยในการทำงาน ความลำพังตัว ความหัวแข็ง มากันเป็นชุด มาหล่อหลอมชีวิตเรานับแต่นั้น

เป็นความรู้สึกที่ทำให้อาจารย์เขียน บันทึกผู้หญิงตะวันออก หรือเปล่า

คำผู้หญิงตะวันออกบอกความแบ่งแยก ความรู้สึกก็ด้วย แต่เพราะที่นั่นมันหนาวน่ะ ไม่อยากออกไปไหน ก็เลยเขียนหนังสือ (ยิ้ม) จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกได้รวมเล่มตีพิมพ์ออกมาตอนที่เราเรียนจบจากเยอรมนีรอบแรก กลับมาสอนหนังสือต่อที่เชียงใหม่ และพ่อก็เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายพอดี ที่จำได้เพราะอาจารย์เอาหนังสือตัวเองไปอวดพ่อที่โรงพยาบาลศิริราช ชีวิตช่วงนั้นคือเย็นวันพฤหัสบดี เราจะต้องนั่งรถไฟจากเชียงใหม่ไปนอนโรงพยาบาลเป็นเพื่อนพ่อคืนวันศุกร์และเสาร์ คืนวันอาทิตย์นั่งรถไฟกลับมาสอนวันจันทร์ ทำอย่างนี้หมุนเวียนกันเป็นปีเลยก่อนพ่อจะเสีย อ่านเรื่องให้พ่อฟัง พ่อทำมือวาดในอากาศ (พ่อพูดไม่ได้) ว่า Too long ก่อนจะหลับตา แบบว่าทนฟังมาจนจบ

ช่วงที่พ่ออาจารย์เสีย ได้เขียนอะไรไว้ไหม

คืนที่พ่อเสียนั่งเขียนบทบรรยายที่จะไปพูดที่ Art Asia Pacific Triennial ครั้งที่หนึ่ง ปี 1993 ไปตอนเขาสวดศพพ่อ ขณะบรรยายคือขณะที่กำลังเผาร่างพ่อ

ตอนก่อนเสียก็ทำงานศิลปะ เป็นงานชุด Dinner with Cancer มาจากตอนที่นั่งกินข้าวอยู่ที่ปลายเตียงพ่อ (งานอินสตอลเลชันจัดแสดงข้าวของเครื่องรักษาของพ่อที่เราจะเอาใส่กระเป๋าขึ้นรถไฟกลับมาทุกเช้าวันจันทร์ ขวดยา ขวดกับสายน้ำเกลือ แม้กระทั่งผ้าก็อซ) ล่าสุดไปค้นบ้านยังเจอขวดน้ำเกลือพ่ออยู่เลย ขวดยา สำลี ผ้าก๊อซอยู่ เป็นก้อนขุ่นๆ มอมๆ ของความทรงจำ ซึ่งพอมาย้อนคิดดู ก็พบว่าได้ทำออกมาเป็นงานศิลปะก็ดีแล้ว ตอนนั้นอายุยังไม่มาก ยังมีพลังทำอินสตอลเลชัน ยกเตียง ปีนแขวนขวดน้ำเกลือสายระโยงโน่นนี่

งานเขียนกับงานศิลปะอันไหนใช้พลังมากกว่ากัน

แล้วแต่งาน อย่างการเขียนนิยายเล่มนี้ (ผุดเกิดมาลาร่ำ) นี่ปางตายสำหรับเราเลยเหตุเพราะวางเกมดวลกับเวลาด้วย หาเรื่องเอง เขียนหนังสือสามร้อยกว่าหน้าภายในเวลา 3 เดือนครึ่งโดยที่ไม่รู้ว่าพล็อตคืออะไร ตัวละครคือใคร เขียนอย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้แดดรู้ฝน ตั้งง่ายๆ ไว้ว่าลืมตาคือเขียน ตอนนั้นเลิกออกกำลังกาย เล่นกับฝูงหมาน้อยลง ปรับตารางสอนที่มหาวิทยาลัยล่วงหน้า เพื่ออยู่กับเรื่องที่เราเขียน หนักกว่าวันเก่าๆ ครั้งเขียนบทความ ‘(ผม)เป็นศิลปิน’ ให้กับ มติชน สัปดาห์ละตอน ควบคู่ไปกับคอลัมน์ที่ ดิฉัน และ จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ทั้งหมด ตอนนั้นตื่นมาเขียนตี 4 เข้านอน 4 ทุ่ม จนถึงจุดหนึ่งที่ว่าเราควรหยุดไปทำงานอื่นได้แล้ว

คิดว่าถ้างานเขียนแบบไม่มีกรอบของเวลา มีความพึงพอใจเมื่อไหร่ก็จะเขียน อาจไม่ต้องรีดเค้นพลังเท่ากับนิยายเรื่องนี้ หรือเท่ากับการทำศิลปะที่ฟั่นเฟือนในบางชิ้น นั่นก็โหด

ถึงแม้อาจารย์จะบอกว่า ผุดเกิดมาลาร่ำ ไม่ใช่ประวัติชีวิตของอาจารย์ แต่ด้วยความสอดคล้องกับชีวิตส่วนตัวหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเน้นย้ำสถานะของตนเองในการถือบวชในเรื่องเพศ เลยอยากรู้ว่าชีวิตจริงอาจารย์ก็ถือบวชจริงไหม

เป็นมุมมองหนึ่งที่อาจารย์ได้มาจากตอนเรียนที่เยอรมนี ประสบการณ์ที่นั่นทำให้เราพบคุณค่าของมนุษย์ในเชิงของการเป็นนักคิด ของการเป็นผู้สร้างสรรค์ มากกว่าที่จะเป็นคนที่อยู่ไปตามฮอร์โมนสามัญ เลยไม่ค่อยแยแสกับเรื่องรักใคร่ อาจารย์ไปอุบลฯ เที่ยวนี้ไปเจอเพื่อนเก่า แล้วเขาคุยกันเรื่องครอบครัว มีลูกกันกี่คน มีสามี ภรรยาเป็นไงบ้าง แล้วอาจารย์ก็มองกลับมาที่สถานะตัวคนเดียวของเรา แต่กลับไม่รู้สึกขาดหายอะไร พบว่าตัวเองอยู่ไกลความสัมพันธ์แบบนั้นมากๆ แล้วก็ยินดีกับสถานะที่เราอยู่ รื่นรมย์แข็งแรงดี

ถ้าเทียบลำดับเวลาในนิยาย มีช่วงเวลาหนึ่งที่ตัวละครเอกที่ผมวิสาสะเหมาว่านั่นคือตัวอาจารย์ พบว่าคนรักของตัวเองลอบคบหากับเพื่อนสนิทในระหว่างเรียนปริญญาโท จากนั้นเมื่อทุกอย่างสะสางและต่างแยกย้าย ชีวิตในนิยายก็ไม่กล่าวถึงความรักใคร่อีกเลย คือชีวิตรักจริงๆ ของอาจารย์มันสิ้นสุดตอนนั้นด้วยหรือเปล่าครับ

ไม่หรอก ก็ยังมีบ้าง ตอนไปเรียนเยอรมนี มีเพื่อนคนหนึ่งเขานามสกุลเฮสเส คือนามสกุลเดียวกับเฮอร์มาน เฮสเส อาจารย์ก็เลยคิดว่า เอ๋ย ถ้าเราหลงใหลบทกวีของเฮสเส เราควรจะอินเลิฟกับคนที่นามสกุลเฮสเสนะ ผลปรากฏว่าคนนามสกุลเฮสเสในเยอรมนีมีเต็มไปหมดเลย (หัวเราะ) ก็เลยชวดไป ไม่ไหว เยอะเกิน

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

ไม่มีคนรักจริงจังเลยหรือ

มีคนรัก แต่เข้าใจความเป็นไปว่าไม่ยั่งไม่ยืน… วันจากก็ยอมรับว่าจาก ว่าจบ เอาอย่างนี้ หลายปีก่อน อาจารย์ไปแสดงงานที่ฟินแลนด์ ตอนนั้นหิมะตก อากาศหนาวจัด จำได้ว่าเป็นเวลาประมาณตี 5 กว่า อาจารย์ลงมานั่งดื่มกาแฟพลางมองรถกำลังตักหิมะอยู่ข้างนอกโรงแรม อ่านบทความศิลปะหนึ่งบท จู่ๆ ก็คิดงาน The Two Planets ได้ (โครงการศิลปะที่ศิลปินชวนชาวบ้านและผู้คนในวิถีชนบทมาชมและวิพากษ์วิจารณ์งานศิลปะมาสเตอร์พีชของโลก) พอคิดงานนี้ออก รู้สึกเหมือนตัวเองอิ่มทิพย์ ตระหนักว่าเรื่องดาษดื่นของชีวิต การทำมาหากิน หรือความรักใคร่ หรือการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มันไม่ใช่แก่นสารการมีอยู่ คือถ้าไปถึงจุดหนึ่งของการทำงานสร้างสรรค์ จะพบเจออะไรที่พิเศษ แล้วเราไม่อยากกลับไปอยู่ตรงนั้นตกตมเดิมๆ อีก แล้วจากวันนั้นน่ะ ก็เลยตั้งใจปวารณาตัวว่าจะบวชในทางเพศ แล้วก็ทำได้ ไม่มีรักใคร่เลยจนถึงวันนี้

ศิลปินจำเป็นต้องมุ่งมั่นกับการทำงานถึงกับตัดขาดจากความรักใคร่หรือเรื่องอื่นๆ ขนาดนี้เลยหรือครับ

ไม่ต้องหรอก แค่ปรารถนาจะทำอย่างที่ฉันตกลงใจเท่านั้นเอง

ก็มีความรักต่อเพื่อน ต่อมนุษย์ ต่อหมาที่เราเลี้ยงดูอยู่ แค่ไม่คิดว่าชีวิตต้องมีความรักใคร่แบบเป็นคู่รักหรือครอบครัวก็ได้ มีกว้างขวางกว่าเดิมเสียอีก

อาจารย์มีความรู้สึกเหงาไหมครับ

ตอนสาวๆ เหงาสิ

ศิลปินจัดการกับความเหงาอย่างไร

ดูละคร

อะไรนะครับ

เปิดโทรทัศน์ ดูละครนั่นแหละค่ะ เป็นตอนสมัยสาวๆ พอเรามาสอนที่เชียงใหม่ใหม่ๆ ใช่ไหม เลิกงานก็กลับถึงบ้านเร็ว ไม่เคยกลับบ้านเร็วเลยตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยทดลองดูละคร ใครถามว่าอาจารย์ดูทีวีด้วยเหรอ อาจารย์ดู แล้วก็อินด้วยนะ จนหมาที่นอนด้วยกันลุกจากห้องนอน มานั่งจ้องหน้า “ทำไมไม่ไปนอนเสียที” แล้วยกเท้ามาเขี่ยเรา เขี่ยไปเรื่อยๆ ตามให้ไปนอนได้แล้ว ดึกแล้ว อันนี้ออกมาเป็นงาน The Treachery of the Moon ที่อาจารย์นั่งกับหมาแล้วดูละครไง

เหมือนการดูละครก็เป็นอุบายหนึ่งของการทำงานศิลปะ ไม่ใช่การจัดการความเหงาจริงๆ นี่ครับ

งานศิลปะก็เรื่องหนึ่ง แต่ดูละครเพื่อฆ่าเวลาด้วย ได้งานด้วย ตอนโตนี่ไม่เหงาเลย งานเยอะจริง เหงาคืออย่างไรกัน

ทุกวันนี้ยังดูอยู่

ไม่ดูมานานหลายปีแล้วค่ะ

แล้วปัจจุบันจัดการกับความเหงาอย่างไร

ทำงาน ลองตั้งหลักสูตรที่คนไม่เห็นด้วยในมหาวิทยาลัยดูสักสองหลักสูตรอย่างอาจารย์สิ ไม่เหงาเลย แถมยังโดนผู้คนถล่มเสียเละ เพื่อนทะเลาะเต็มไปหมด ทุกซอกมุมและทุกๆ ย่างก้าว

อีกเรื่องที่ไม่รู้จะตอบคำถามนี้ได้ไหม คือเปลี่ยนโหมดชีวิตประจำวัน มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์เคยขับรถอยู่แถวหน้ามหาวิทยาลัย ช่วงนั้นรถติดมากเพราะเขามีพิธีเดินขึ้นดอยสุเทพกัน อาจารย์ก็เลี้ยวหนีรถติดลงกรุงเทพฯ ไปแวะกินข้าวต้มที่อยุธยาหลงโพล้เพล้อีก 1 ชั่วโมง แล้วก็เข้ากรุงเทพฯ คนเดียวโดยก็ไม่มีแผนด้วยว่าเราจะมาทำไม และจากนั้นก็เคยเป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ คือขับรถไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ขนหมาที่บ้านติดรถไปด้วย จอดกินข้าวกลางทาง ในป่ากับผู้ร่วมกรรม

หรืออย่างตอนเขียนผุดเกิดฯ อาจารย์ก็ใช้การขับรถนี่แหละแก้ปัญหาเขียนเรื่องไม่ออก คือขับขึ้นไปนอนที่เชียงราย สุโขทัย อยุธยา ตราด หัวหิน เกาะช้าง ลงไปจนถึงกุยบุรี กระบี่ด้วย พอตอนขับรถนิ่งๆ สมองก็คิดงานน่ะ พอถึงโรงแรมก็แค่เปิดแล็ปท็อป เขียนเรื่อง เอาโคมไฟสวยติดรถไปด้วย หล่อวิญญาณยามค่ำ กว่าจะจบนิยายเล่มนี้ได้ หมดเงินมากโขค่าโรงแรมกับค่ากินดีอยู่ดีของนักเขียนที่ทุรนร่านในการเขียน

ความที่อาจารย์บอกว่าเป็นคนที่ไม่สนเรื่องรักใคร่มาแต่ไหน แต่หนังสือเล่มที่ 2 คืนสิ้นกลิ่นกามรส เป็นรวมเรื่องสั้นอีโรติก อาจารย์ใช้แพสชันอะไรเขียนมันออกมา

ต้องเท้าความก่อนว่าตอนนั้นบรรณาธิการสำนักพิมพ์สามสีเขาอยากให้อาจารย์รวมเรื่องสั้นอีโรติก และการเขียนงานอีโรติกของนักเขียนหญิงยุคนั้น (ราวต้นปี 2540–ผู้สัมภาษณ์) มันเป็นทางออกนะ ก่อนหน้านี้ผู้หญิงติดอยู่ในกรอบของการเป็นลูกสาวที่น่ารัก เด็กหญิงที่เรียบร้อย เป็นภรรยาที่เพียบพร้อมของสามี อะไรอย่างนี้ นักเขียนหญิงรุ่นหนึ่งก็พยายามจะสร้างงานเพื่อบอกว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ ออกจากของนันทวัน ของดอกไม้สด (นามปากกานักเขียนหญิง)

ในงานเขียนของเราก็คล้ายๆ ทางออก เขียนเรื่องอีโรติกจริง แต่เป็นเนื้อหาที่ขบถต่อชีวิตคู่ หรือความสมบูรณ์แบบของครอบครัว เหมือนเรากราดเกรี้ยวกับค่านิยมร่วมหอลงโรงและพิธีกรรม ทำไมพิธีแต่งงานกับพิธีศพจึงใช้ดอกไม้มากมาย ปริมาณของดอกไม้กับจำนวนแขกทำไมใช้ทรัพยากรไม่ต่างกันเลย

ชีวิตมีเลศมีนัยไปมากกว่านี้มั้ย หรือไม่ก็ไม่มีอะไรเลย

สิบกว่าปีที่แล้วอาจารย์เคยแกล้งทำเป็นตั้งครรภ์มาสอนหนังสือ และก็มีเพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์ที่เชื่อว่าอาจารย์ตั้งครรภ์จริงๆ จนสุดท้ายอาจารย์มาเฉลยว่ามันเป็นงานศิลปะ และหลายคนก็โกรธอาจารย์ การที่เราไม่เชื่อเรื่องการมีครอบครัวที่สมบูรณ์เนี่ย เราจำเป็นต้องไปล้อเล่นกับความรู้สึกของคนอื่นด้วยหรือครับ

ไม่ล้อเล่นหรอก ทำจริงๆ เป็นความรู้สึกส่วนตัว ประหนึ่งว่าฉันในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งสงสัยการถูกจองจำในวัฒนธรรมอันดีงามเลยอยากเย้าแหย่ครอบงำของพวกผู้หญิงผ่านนินทากาเลของผู้ชายบ้าง คิดว่านี่คือบทบาทของเราในฐานะศิลปินที่ต้องตั้งคำถามต่อค่านิยมบางอย่างที่ไม่ค่อยถูกถาม ทำไมการท้องถึงเป็นเรื่องจริงจังของสังคม ทั้งๆที่มันเกิดจากขณะสั้นเดี๋ยวเดียว

เหตุผลหนึ่งที่เลือกที่จะไม่มีครอบครัว คือการที่เราเป็นคนทำงานศิลปะ ไม่อยากต้องคาดหวังขายงานเพื่อเลี้ยงลูก หรือเขียนหนังสือก็ไม่ได้มีรายได้มากมายเลย คุณจะต้องเขียนงานอย่างหนักเพื่อเอาค่าเรื่องไปเลี้ยงครอบครัว แล้วถ้าคุณไม่จัดการกับชีวิต เผลอตกบ่วงฮอร์โมนติดสัดซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้นนิดของชีวิตยืนยาว กลายเป็นภาระผูกพันจนทำให้ต้องเลือกทำงานที่ตอบโจทย์กับรสนิยม มากกว่าจะเป็นการสร้างงานตามปรารถนาราคะของคนทำงานเอง เสียเชิงศิลปินและคนเขียนหนังสืออยู่เหมือนกัน

คิดบ้างไหมว่านี่คือความสุดโต่งของภาวะศิลปิน

กับการทำงานศิลปะ ไม่ค่อยยืดหยุ่นกับตัวเองหรือใครๆ เท่าไหร่ ไม่ได้บอกว่าศิลปินควรจะเป็นแบบนี้ มองแค่ตัวเองว่าหากเราจะทุ่มเทกับงานสร้างสรรค์ อาจไม่ควรจำยอมต่อสภาวะเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรมกลุ่มหมู่ กับอีกเรื่องซึ่งสำคัญมากสำหรับขณะนี้ คือตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ ‘สิ่งต่างๆ’ ในชีวิต คือการบริโภค ไม่อยากให้มีคนมากขึ้น ใช้ทรัพยากรเปลืองขึ้น ทำร้ายชีวิตอื่นมากขึ้นโดยไม่ฉุกคิดอะไรเลย เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตตนที่บางครั้งก็ไม่งามพอ แล้วตอนตายยังใช้ทรัพยากรเปลืองอีกเพื่อพิธีกรรมการจากลา

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561 อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

3

ศิลปินกำลังขับเคลื่อนชีวิตด้วยความตาย

เคยอ่านเจอในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งว่าอาจารย์มีความรู้สึกอยากตายมาตั้งแต่เด็ก และยิ่งไปอ่านในนิยายที่วนเวียนอยู่กับความตายตั้งแต่แรก คิดว่านี่เป็นเพราะชีวิตที่อาจารย์ต้องเสียแม่ไปตั้งแต่วัยเด็กด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้ต่อมา ‘ความตาย’ ดูจะเป็นสาส์นสำคัญของการทำงานสร้างสรรค์ของอาจารย์

ถ้าเทียบจากชีวิตในนิยาย ไม่น่าจะมีผลอะไรมากนัก มันเกิดขึ้นและจบลงตั้งแต่วัยเด็ก อาจเป็นเศษสร้อยเสริมนิดๆ ต่อการทำงานในยุคต่อมาของเราเท่านั้น จริงๆ ชีวิตในวัยเด็กของเราค่อนข้างราบรื่นดีเลยนะ เป็นเด็กนักเรียนที่มีรถมารับส่งไปโรงเรียน เป็นคุณหนูไฮโซเลยล่ะ (หัวเราะ) ถามว่าชีวิตขาดพร่องไหม ก็ขาดพร่องความอบอุ่นอ่อนโยนในฐานะผู้เยาว์ แต่ชีวิตก็มีส่วนอื่นมาทดแทนเสมอ มีโลกของเด็ก มีกิจกรรมที่เล่นกับเพื่อน มีนก มีหมา ที่ทำให้เรารักพวกเขา ทุกอย่างดูเหมือนเอาอยู่หมด คิดว่าที่เขียนในนิยายออกมาด้วยค่าตั้งต้นแบบทุกข์ระทมอย่างนั้น น่าจะเป็นกลไกของการด้นสดที่มีตรรกะในตัวเอง ในตัวบท คือทำงานศิลปะก็ต้องตั้งค่าอะไรสักอย่าง แม้ไม่ตั้งใจหรือรู้ตัวนัก

แล้วที่เคยบอกว่าอยากตายตั้งแต่เด็กเลยล่ะ

โตมาหน่อยก็จำได้ว่ายายมาบอกว่าตอนเล็กๆ เราเป็นเด็กที่ชอบเล่นพิเรนทร์รอบๆ บ่อน้ำ เหมือนจะพยายามกระโดดลงไป มาย้อนคิดดู ก็พบว่าเราตั้งคำถามกับความตายมาตั้งแต่ตอนนั้น คือพิศวงกับความตาย คือทางออกหรือ คิดว่าการสำรวจนั้นก็ดีในเชิงความเข้าใจ คือตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่าความตายคือความมืดมนอะไรนักหรอก บทหนึ่งในนิยายมีฉากงานศพของแม่ ซึ่งงานศพของแม่สวยนะ มีดอกไม้สวยๆ เต็มไปหมด คนแต่งตัวอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นเราอาจมองความตายในเชิงสว่างไสวฟู่ฟ่าด้วยซ้ำ

แล้วตั้งแต่นั้นก็คิดถึงความตายมาโดยตลอดเลยหรือเปล่าครับ

เมื่อวานที่อาจารย์เพิ่งให้หนูดีหลับไป ก็ขับรถกลับบ้านมาพร้อมกับศพหนูดี อ้วนท้วนส่งกลิ่นยากลิ่นฉี่อยู่ข้างๆ เรา แล้วก็ใคร่ครวญว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้ ทำไมตอนจบของชีวิตหนึ่งที่เริงร่ามาเสมอและเค้าทำให้เราร่าเริงด้วยนี่ ถึงต้องทุรนทุราย อเนจอนาถ หรือย้อนกลับไปตอนที่เราทำให้มะกรูดตายเพราะมุ่งมั่นชั่วขณะของเราเนี่ย (ในบทท้ายของ ผุดเกิดมาลาร่ำ อาจารย์เขียนถึงมะกรูด หมาจรจัดป่วยสาหัสที่ตัวละครเก็บมาเลี้ยง วันหนึ่งมะกรูดดื้อหนักและเอาแต่แทะผ้าพันแผลจนผิวหนังที่ขาหลุดเกือบหมด ตัวละครผู้นั้นพบว่าตัวเองรับเรื่องนี้ไม่ไหว จึงอุ้มมะกรูดพาไปหาคลินิกหมอประจำ ให้สัตวแพทย์ฉีดยาให้มะกรูดหลับโดยไม่ต้องฟื้นขึ้นมาอีกเลย–ผู้สัมภาษณ์) ทุกวันนี้ก็ยังเป็นบาดแผลในใจเราเสมอมา เป็นถึงขนาดพอหัดนั่งสมาธิ เราจะไม่ท่องพุทโธเลย เราท่องชื่อหมาเราที่ตายไป มะกรูด มะกรูด ชื่อยาวไปเปลี่ยนเป็นชื่อเล่นว่า กุ๊ดจิ ท่องง่ายกว่า เสียงสั้นๆ พึมพำว่า กุ๊ดจิ กุ๊ดจิ

มองความตายในแต่ละช่วงวัยต่างกันไหม

(นิ่งคิด) ตอนนี้ถ้าเกิดจะมีการจากลากันเกิดขึ้น อาจารย์มองว่าเราควรต้องไปด้วยความสมบูรณ์พร้อม ไม่ผิดหวัง ไม่เศร้า ต้องเป็นความตั้งใจที่สะพรั่ง งาม ที่เหมือนกับว่าเรากำลังจะเขียนหนังสือหรือทำงานศิลปะ เพราะฉะนั้น ก็ต่างนะ ต่างจากตอนเด็กที่ชอบวิ่งวนอยู่ริมบ่อน้ำแล้วคิดถึงความตายด้วยความกระหายรู้ แม่ไปไหน หายไปอย่างไร หรือตอนไปเยอรมันแล้วเราชอบหาเวลาไปเดินเล่นและคิดคำนึงอยู่ในสุสาน อันนั้นงามโศกๆ ความตายได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

แล้วตอนที่เริ่มทำงานเกี่ยวกับศพล่ะครับ เพราะคำนึงถึงชะตากรรมตัวเองด้วยไหม

ตอนนั้นศิลปะมาก่อน คือคิดแต่ว่าจะทำงานศิลปะอย่างเดียว อาจารย์อยู่กับศพช่วงกลางคืนแล้วกลิ่นศพติดตัวกลับมาบ้านทุกวัน ความที่เราใช้ชีวิตอยู่คนเดียวด้วย พอออกจากโรงพยาบาลมา กลับบ้านก็มีความรู้สึกกลัวผี ไม่ได้กลัวความตายอะไรเลย กลัวผี แต่ถึงกลิ่นศพจะติดตัวเรากลับบ้านทุกวัน แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงความตายของตัวเราเองเลย คือเราเป็นชีวิตหนึ่งท่ามกลางร่างไร้ชีวิตที่นอนอยู่ ไม่ได้คิดอยากตายกลายเป็นศพสักครั้ง คิดแต่ว่างานจะเป็นยังไง เรียกว่าคิดถึงชะตากรรมของศิลปินมากกว่าตัวเอง

พบว่ามันมี 2 ประเด็นอยู่ในชีวิตของอาจารย์ คือการที่ตัวเองคำนึงถึงความตายอยู่เสมอ กับความกระหายอยากที่จะตายอยู่เสมอ อย่างหลังนี่เป็นความรู้สึกจริงๆ หรือเป็นอุบายทางศิลปะ

อย่างที่เขียนบอกไว้ในนิยาย ตัวละครคิดถึงรูปแบบการตายของตัวเองอยู่ตลอด จมน้ำ กินยา หรือรมแก๊สแบบกวีหญิงอเมริกัน แล้วเอาเข้าจริงก็อย่างที่เขียนในนิยายอีกนั่นแหละ อาจารย์ทำบ้านให้พร้อมกับการจากไปแล้วด้วย ทำสระน้ำไว้ลอย เปลี่ยนประตูและหน้าต่างห้องครัวให้ทึบให้หายใจไม่สะดวก คิดจนไม่ตายจริงไปได้ มัวแต่ออกแบบ แต่ก็อย่างที่เขียนไปเลยว่าปัญหาของการเป็นศิลปินคือจะทำอย่างไรให้เราจากไปให้สวย ให้การจากสวย ให้ดูเป็นงานศิลปะ ยังไม่พบเลยสักวิธี นึกกระทั่งตัวละครของสุวรรณีที่เดินลุยทะเลตอนกลางคืน ค่อยๆ หายไปในอากาศมืดเคล้าเสียงคลื่นระฝั่ง

แล้วอย่างในนิยายที่ตัวละครตระเวนไปหาจิตแพทย์พร้อมกันถึง 5 คน และขอให้จิตแพทย์แต่ละคนออกใบรับรองว่าตัวเองไม่อยากจะมีชีวิตอยู่จริงๆ เพื่อไปยื่นต่อองค์กรการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์ล่ะครับ

ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เขามีองค์กรที่ได้รับรองตามกฎหมายว่าสามารถทำการุณยฆาตได้ถ้าได้เอกสารรับรองสถานะการป่วยที่มีน้ำหนักพอ อาจารย์ไปหาจิตแพทย์เพื่อรวบรวมใบรับรองเพราะอยากตายแบบสวยๆ และนุ่มนวลน่ะ เหมือนที่เราทำการุณฆาตให้หมาเรา รวบรวมเอกสารได้หมดแล้ว แต่พอส่งไป ทางนั้นเขากลับไม่รับเคสเรา

เพราะเขารู้ว่าอาจารย์เป็นศิลปินหรือเปล่า คือเหมือนว่านี่คือโครงการทางศิลปะอีกแล้ว

เปล่า ช่วงนั้นองค์กรเขาโดนประท้วงเหมือนกัน หนังสือพิมพ์ที่นั่นพาดหัวข่าวใช้สำนวนทัวร์ฆ่าตัวตายจากทั่วโลกมุ่งสู่สวิตเซอร์แลนด์ กำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างน่าหวาดเสียวต่อองค์กรพอดี บางกรณีเกี่ยวกับจิตเขาเคยรับ อย่างความผิดยุคสมัย การปรับตัวของผู้อาวุโสกับโลกดิจิทัลก็ยังได้เลย

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

การไปหาจิตแพทย์ 5 คน อาจารย์โน้มน้าวเขาอย่างไรให้เขารับรองว่าอาจารย์ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อแล้วจริงๆ

ไปอย่างเป็นคนไข้หัวอ่อน ไปตามนัดทุกนัด ฟังและจดที่หมอแนะนำ ไปอย่างเป็นเรา คนที่เคยตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ที่สลับไปหาหลายๆ คนพร้อมกัน ก็เพราะอยากรู้ด้วยว่าภาษาทางการวิเคราะห์จิตเนี่ยมันเป็นอย่างไร และแต่ละคนพาเราไปได้ลึกแค่ไหน 

เป็นไงบ้างครับ

ก็พบว่าเขาเอื้ออารีกับคนไข้มากไป จนไม่สนุก ออกจากหมอมาเศร้าไปอีกแบบ พวกเขาต่างมีจรรยาบรรณและความหวังดี คนไข้หวังว่าเขาจะขุดคุ้ยจิตใจให้ลึกที่สุด กลับกลายเป็นว่าพวกเขาแนะนำให้หาทางออกจากความซึมเศร้าด้วยการไปนั่งสมาธิหรือทานยา เลิกเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ ไม่ต้องตรงเวลามากนัก คือเขาดูแลจิตใจเราดี แต่เราไม่ได้ต้องการการดูแลอย่างนั้น และเราก็ไม่ได้ต้องการจะนั่งสมาธิด้วย ไม่รู้จะหยุดความรับผิดชอบท่วมท้นของความช่างสมบูรณ์ได้ยังไง จริงๆ เราหิววิชาการจิตเวชมากกว่า อยากเอามานึกมาคิดต่อ

ถ้าปรากฏว่าถ้าองค์กรที่สวิตเซอร์แลนด์เขารับเคสอาจารย์ นี่จะไปตายจริงไหม

ไปสิ นึกภาพกระเป๋าใบเล็กสีแดงจัดออกเลย ปกติใช้สีดำแต่ถ้าไปอย่างนั้นขอใช้สีแดงเฉิดฉาย เพราะไปติดใจฉากสุดท้ายในชีวิตของ อ็องตวน เดอ แซ็งแตก-ซูว์เปอรี นักเขียนเรื่อง เจ้าชายน้อย ที่เขาขับเครื่องบินแล้วหายไป อยากให้ตัวเองบินแล้วหายไป ตั้งพล็อตชีวิตไว้อย่างนั้น คือนั่งเครื่องบินจากบ้านไปที่ไหนสักแห่งแล้วไม่กลับมาอีก

ที่ยังคงมีชีวิตอยู่นี่ เพราะเลือกความตายที่มีสุนทรียะอย่างที่เราพอใจไม่ได้ หรือเพราะยังอยากทำศิลปะและเขียนหนังสือต่อกันแน่ครับ

นั่นสิ ในทางกลับกัน อาจารย์ก็พบว่าที่มีพลังในการขับเคลื่อนชีวิตต่อ มีพลังที่จะทำงานศิลปะหรือเขียน หรือสอนหนังสือ ก็เพราะความหมกมุ่นที่จะตายน่ะ คือถ้าไม่หมกมุ่นว่าตัวเองจะตายยังไง ตายด้วยรูปแบบไหน และมันงดงามเพียงพอไหม เราอาจจะตายไปแบบง่ายๆ แล้วก็ได้ หรือไม่ก็อยู่อย่างเนือยๆ จะบอกว่าชีวิตเราถูกขับเคลื่อนด้วยความตายก็ได้ เหมือนที่เขียนคำโปรยหลังปกหนังสือว่า “ความตายถมเติมชีวิต” นั่นแหละค่ะ

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

4

หลังการสัมภาษณ์

อาจารย์มีความรู้สึกโกรธบ่อยไหม

ก็เหมือนคนทั่วไป มีโกรธ มีอารมณ์ชั่ววูบ อย่างเรื่องมะกรูดที่เขียนในนิยายไง คือแค่อารมณ์ชั่ววูบแล้วมันกู่ไม่กลับเลย รู้สึกผิดมหันต์ เป็นตราบาปที่สุดในชีวิตเลย

แล้วความรู้สึกเคืองแค้นล่ะครับ

อันนี้ไม่ค่อยมี คือโกรธก็โกรธ แล้วก็จบได้เร็ว ปลงหายไปเร็ว ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งหัวเราะง่าย

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูงานที่อาจารย์ทำวิดีโอชื่อ ‘อำมหิต’ ที่เหมือนจะพาดพิงเหตุการณ์ที่อาจารย์ถูกปฏิเสธตำแหน่งทางวิชาการถึง 2 ครั้ง นี่ก็เหมือนเป็นวิธีการแก้แค้นกันด้วยศิลปะเลยนะครับ   

(อาจารย์เคยถูกปฏิเสธการขอตำแหน่งศาสตราจารย์จากคณะกรรมการ เพราะคณะกรรมการมองว่าผลงานของอาจารย์ที่เกี่ยวพันกับศพ กับผู้ป่วยจิตเวช หรือกระทั่งการตั้งครรภ์ ไม่มีคุณค่าพอต่อตำแหน่งวิชาการ จนการขอตำแหน่งรอบที่ 3 ซึ่งมีอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เป็นหนึ่งในกรรมการ จึงได้รับการอนุมัติตำแหน่ง หลังจากนั้นอาจารย์ก็ทำวิดีโอศิลปะขึ้นมาหนึ่งชุด จำลองเหตุการณ์ที่มีตัวแสดงเป็นศิลปินใหญ่เพศชายกำลังวิจารณ์ผลงานของเธอด้วยท่าทีทรงภูมิ ท่ามกลางกลุ่มผู้ฟังที่เป็นชาวบ้านและพระภิกษุกำลังฉันเพล-ผู้สัมภาษณ์)

ตั้งใจจะถามเรื่องนี้ใช่ไหม (ยิ้ม) เปล่าเลย อันนี้คือทำไปด้วยความขำ ไม่ได้ตั้งใจประชดอะไรด้วย เป็นงานอารมณ์ดีของเราชิ้นหนึ่ง ทำไปขำไปเพราะคนแสดงคือลูกศิษย์ ให้เขาได้ทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วเขาก็บอกเราในส่วนแปลกๆ เช่นการพูดตามบทแปร่งสำหรับเขามากเมื่อเทียบกับคำสนทนาในชั้น คงเหมือนร่างทรง

ที่น่าสนใจกว่าความเจ็บแค้น อยากรู้ว่าทำไมศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างอาจารย์ถึงต้องสู้เพื่อตำแหน่งทางวิชาการกับระบบเก่าแก่นี้ด้วย

คล้ายๆ การสร้างพื้นที่ให้กับคนทำงานศิลปะที่เป็นผู้หญิงน่ะ อย่างที่ทราบกันว่าวงการศิลปะไทยถือครองด้วยผู้ชายเป็นใหญ่ จำนวนมากกว่าของศิลปินเพศชาย ผู้ทรงคุณวุฒิเพศชาย นักวิชาการชาย คุณค่าทางศิลปะในมุมมองของพวกผู้ชาย หากเราทำได้ทั้งในเชิงงานศิลปะและงานวิชาการ เพื่อสร้างหรือขยายพื้นที่ของคนทำงานเพศหญิงและเพศอื่นๆ ได้ก็ควรจะทำไม่ใช่หรือ บางทีก็น่าหัวเราะบทหัวหมู่ทะลวงฟัน ดูไม่ค่อยฉลาด บทนี้ เปลืองเวลาด้วยแต่ก็เป็นพลังประหลาดๆ กลับมา

รู้มาก่อนไหมว่าสำนักพิมพ์เขาส่งหนังสืออาจารย์ประกวดซีไรต์ด้วย

รู้สิ อันนี้เราคุยกับแกลเลอรี่แล้วว่าเราควรต้องร่วมเกมวรรณกรรมไปกับเขาด้วย ไม่งั้นเราไม่ข้ามศาสตร์จริงๆ ข้ามไปสู่บริบทของอีกศาสตร์ วางความแปลกต่างไว้เชิงบันไดแวดวงวรรณกรรม ให้พิจารณาดูความเป็นไปได้ในแบบอื่นที่ไม่ใช่ความสำเร็จรูปสมบูรณ์ในแบบที่วรรณกรรมเป็น แบบเป็นนิจเนืองๆ นานมา

คาดหวังกับมันไหม

ตอนเข้ารอบสุดท้าย คนจากแกลเลอรี่เขาแสดงความยินดีกัน บอกว่าเขาลุ้น แต่เราก็บอกว่าคุณอย่าหลงทางสิ ขายหนังสือกี่เล่มกว่าจะได้เงินเท่าที่คุณขายงานศิลปะหนึ่งชิ้น (หัวเราะ) ในบทของคุณเอง

แต่ถ้าเกิดได้ขึ้นมา

ก็แสดงว่าเกมที่เราเล่นเขาไปต่อในที่ทางของเขาได้อีกขยักหนึ่ง ศิลปะหรือวรรณกรรมมีที่ทางมีชีวิตของตัวพวกเขาเอง อีกเรื่องคือถ้าได้ก็จะทะลุวัตถุประสงค์แฝงหนึ่ง เพราะว่าวงการอะไรเขาชอบอ้างถึงคนรุ่นใหม่กัน หลักการรางวัลวรรณกรรมนี้ก็อ้างไว้แต่ต้นเลยเรื่องคนรุ่นใหม่ แล้วค่อยมาแถกความไต่ความทีหลังต่างๆ นานา มีความรู้สึกเบื่อสำนวนต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ คนแก่เลยไปอยู่แต่ในรายการลุยไม่รู้โรย อาจเพราะเราหนุนคนรุ่นหลังอยู่แล้วโดยอาชีพเพราะเป็นคนสอนหนังสือ เลยเอ็นดูคำสำนวนนี้มากกว่าจะถือจริงจัง

ระหว่างงานวรรณกรรมกับงานศิลปะ อาจารย์พบว่างานไหนมีอิทธิพลต่อผู้ชมมากกว่ากัน

ถ้าวัดเฉพาะในเมืองไทย ก็ต้องงานเขียนค่ะ คนไทยไม่ค่อยดูงานศิลปะ หรือดูแล้วก็ไม่รู้ว่าจะกระทบรับรู้สึกยังไง ตอนเขียน (ผม) เป็นศิลปิน นี่ถึงกับมีคนอ่านส่งจดหมายมาด่า คิดว่าด่า ส่งไวรัสแนบมาบ้างก็มี จดหมายด่าหยาบบนโต๊ะทำงานพับวางอีก เขาคงเกลียดท่าทีการเขียนหรือมุมมองของเรา แต่ถ้าเป็นงานศิลปะแบบของอาจารย์ ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับจากคนในบ้าน เคยมีบ่นว่าทำไมไปนั่งฝั่งหัวของศพ ส่วนเวทีต่างประเทศมีคำวิจารณ์คมๆ บทวิจารณ์หลังๆ กล้าใช้ความจริงใจใสๆ กล้ายั่วล้อ ส่วนใหญ่ได้ความรู้ใหม่ แง่มุมใหม่ในท่าทีการเขียนกลับมามากกว่าเรื่องจริยธรรมคำซ้ำ ความควรไม่ควร ได้กระทั่งการเขียนถึงศิลปะที่แอ็ดเจคทีฟซ้อนกันแบบไม่หยุดขยายนามน่ะ

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

ทำไมถึงเลิกใช้โทรศัพท์มือถือแล้ว

ก็..ไม่คิดว่ามันเข้ากับชีวิต ครั้งสุดท้ายที่ใช้มันก็หลายปีแล้ว มันดังแผ่วเหมือนจะขาดใจอยู่ในบ้าน แล้วก็หาไม่เจอว่ามันอยู่ไหน สุดท้ายมาเจอตอนไปเปิดตู้เย็นหาผลไม้ เขาอยู่ในถุงมะยงชิดราคาแพงในกล่องเก็บผัก ก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่บนหลังคารถเหมือนแก้วกาแฟ คนที่รถติดด้วยกันออกมาชี้โบ๊เบ๊ไปบนหลังคารถตรงสี่แยก ว่าลืมแก้วกาแฟกับมือถือไว้บนหลังคา เคยอยู่ในสวน เคยลืมไว้ตามที่ต่างๆ บ่อยๆ จนครั้งสุดท้ายที่อยู่ในตู้เย็นนี่แหละที่ทำให้อาจารย์พบว่าไม่ต้องใช้มือถือก็ได้ โทรศัพท์บ้านก็เหมือนกัน มันดีๆ หายๆ ก็ไปยกเลิก ทุกวันนี้จะติดต่อคนอื่นก็เช็กอีเมล อาจารย์เช็กอีเมลทุกวัน  

ไม่คิดว่ามันทำให้เราไม่สะดวกสบายหรือครับ

ก็นิดหน่อย เคยไปเยี่ยมเพื่อนที่แอลเอ นัดไว้เวลานี้ แต่เพื่อนติดธุระมาสาย 2 ชั่วโมง เพื่อนก็ไม่รู้จะบอกเรายังไง เราก็ต้องรอที่สนามบินไป 2 ชั่วโมงอย่างนั้นจนกว่าเพื่อนจะมา ไม่ได้จดที่อยู่อะไรไว้ด้วย อีกครั้งหนึ่งมีเพื่อนจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมอาจารย์ที่เชียงใหม่ ก็นัดเจอกัน แล้วอาจารย์ไปไม่เจอเขา ก็ขับรถกลับบ้าน ไปเอาเบอร์โทรศัพท์เพื่อนที่จดไว้ในสมุด แล้วก็ขับกลับมายังที่นัด เพื่อหยอดตู้โทรหา คือไม่สะดวกสบายหรอก ครั้งหนึ่งเพื่อนจากกรุงเทพฯ อีกคนแยกกันเดินห้างแล้วหายไปก็เลย เธอไปช้อปเพลิน เลยไปขอให้ประชาสัมพันธ์ห้างประกาศหาชื่อ ชื่อเพื่อนถูกประกาศดังไปทั่วห้าง คุณ…ขอเชิญมาพบคุณอารยาตรงเคาน์เตอร์นาฬิกา ขำ แต่มันก็ไม่บ่อยนัก อาจารย์อยู่แบบนี้ได้ คิดว่าการไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ทำให้การรอคอยของเราสงัดสงบดี พอได้รอ ก็ได้เห็นโน่นนี่ แล้วก็ไม่ต้องไปเสพติดอะไร

อาจารย์แยกออกไหมว่าชีวิตเราอันไหนคือการเลือกใช้ชีวิตจริงๆ อันไหนคืออุบายทางศิลปะ หรืออันไหนคือเพอร์ฟอร์มานซ์

ไม่เคยนึกแยกเลย เขาอยู่ปนๆ กันนะ การใช้ชีวิตปนไปกับความเป็นศิลปะ ทั้งอุบายในการทำงาน ทั้งเพอร์ฟอร์มานซ์ ก็หลอมรวมกับชีวิตเราไปด้วย ไม่รู้อันไหนจริงอันไหนอุบาย แต่ทำไมต้องแยกเล่า ตอนให้สัมภาษณ์เก็บข้อมูลใน Archive ของพิพิธภัณฑ์หนึ่ง คำถามเริ่มว่า “คุณยังคงติดต่อกับเพื่อนศิลปินและภัณฑารักษ์นานาชาติที่ทำนิทรรศการ No Country (ชื่อนิทรรศการสัญจรหลายประเทศ) หรือเปล่า”

ตอบว่า “ทำไมคุณมาถามฉันเรื่องคนแปลกหน้า ทำไมถึงไม่ถามฉันเรื่องหมาล่ะ” คนสัมภาษณ์หัวเราะ

หรือในชีวิตจริงที่พราง เช้าตรู่หนึ่งต้องออกไปแต่มืด เลยซื้ออาหารเลี้ยวรถเข้าวัดกะจะไปตักบาตร เจอหมาวัดผอมแต่ทักทายมีไมตรี เลยไม่ได้ทำบุญ เทข้าวทำทานให้ฝูงหมาอยู่ตรงพื้นหน้าวัด ยังเห็นเณรกวาดลานวัดอยู่ไหวๆ อะไรจริงทำบุญหรือทำทาน ความตั้งใจหรืออุบัติเหตุ

การที่เลือกจะไม่ใช้โทรศัพท์มือถือก็ด้วย

อันนี้เป็นความตั้งใจในชีวิตที่จะไม่ใช้มันมากกว่าค่ะ เหมือนอีกหลายๆ ความตั้งใจ บางทีเริ่มตรงบังเอิญ บังเอิญบ่อยๆ ก็เลยกลายเป็นจริงอย่างยั่งยืน

แล้วการตอบบทสัมภาษณ์นี้ก็เป็นโครงการศิลปะอย่างหนึ่งด้วยหรือเปล่า

(หัวเราะ)

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, รางวัลซีไรต์ 2561

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

ประกอบอาชีพรับจ้างทำหนังสือ แปลหนังสือ และผลิตสื่อ ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานอดิเรกคือเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'