ในวันที่ฉันนัดพูดคุยกับ เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน ผู้ช่วยของเธอบอกในตอนแรกว่า พี่เจี๊ยบอาจมาช้าเล็กน้อย เพราะต้องไปส่งลูกก่อน

ฉันนึกทบทวนถึง เจี๊ยบ วรรธนา ในความทรงจำ นอกจากเธอคือนักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียนบท เจ้าของผลงานที่เราคุ้นเคยดีอย่างเพลง เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม และ เก็บไว้ให้เธอ ฉันยังจำได้ว่าในมิติชีวิตส่วนตัว เจี๊ยบคือแม่ของลูก 2 คนซึ่งมีชื่อแสนเป็นเอกลักษณ์ว่าเนปาลและทิเบต

วันนี้ ฉันได้นั่งคุยกับเธอในบทบาทนั้น

เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน

เจี๊ยบ วรรธนา กำลังรับบทเป็น Camp Director ของ ‘WoodWood Acoustic Camp’ ร่วมกับ ทศเทพ วงศ์หนองเตย ผู้จัดงาน Bangkok Street Show โดยมี ชาญชัย พินทุเสน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มาให้คำปรึกษาสำคัญ รวมถึงดูแลทั้งกิจกรรมศึกษาธรรมชาติและอีกหลายส่วน

อธิบายโปรเจกต์นี้แบบสั้นง่าย มันคือแคมป์กลางป่าบริเวณอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ช่วงวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นงานที่ตั้งใจเป็นพื้นที่ให้ทุกคนในครอบครัวมาใช้เวลาทำกิจกรรมสนุกร่วมกันในอ้อมกอดธรรมชาติ

ตอนแรกฉันตั้งใจจะคุยกับเธอถึงรายละเอียดของแคมป์ ในฐานะโปรเจกต์ใหม่ของนักร้องนักแต่งเพลงคนนี้ แต่ระหว่างบรรทัดบทสนทนา สิ่งที่ฉันเห็นว่าเปล่งประกายเจิดจ้าในนั้น คือความเป็นแม่ของผู้หญิงที่นั่งตรงหน้า และคำว่า ครอบครัว

WoodWood Acoustic Camp คืองานสำหรับครอบครัวโดยคนที่เห็นความสำคัญของคำนี้ งานสำหรับเด็กโดยพ่อแม่ที่เข้าอกเข้าใจปัญหาของพ่อแม่รุ่นใหม่

ฉันเองไม่ใช่เด็กเล็กติดพ่อแม่ ไม่เคยมีลูก และใช้ชีวิตในยุคสมัยที่หนุ่มสาวพอใจกับชีวิตคู่ที่หมายถึง 2 คนเต็มความหมาย แต่ภาพที่เจี๊ยบชี้ชวนให้ดูจับใจฉันมาก

อาจเพราะความงามของความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องสากล

ในความหมายนั้น เจี๊ยบ วรรธนา เป็นแม่และสมาชิกครอบครัวที่ ‘คูล’ มาก-นี่คือสิ่งที่ฉันอยากบอก (ด้วยน้ำเสียงอิจฉาเนปาลกับธิเบตนิดหน่อย)

ด้านล่างนี้คือ เรื่องราวผลงานใหม่ของเธอที่สะท้อนสิ่งเหล่านั้น

เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน

ตอนนี้องค์ประกอบหลักของชีวิตคุณคืออะไรบ้าง

ตอนนี้เราดำรงชีวิตด้วยการเขียนบทเป็นหลัก รองลงมาคือการทำเพลง แต่ถ้าเป็นชีวิตส่วนตัวคือการเป็นแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มากเท่าที่จะทำได้ และเพราะอย่างนั้น เราเลยแบ่งสัดส่วนงานเป็นงานที่ต้องทำมากกว่างานที่อยากทำ

แล้วอะไรทำให้คุณผละจากสมุดเขียนเพลงและสคริปต์บทมาจัดแคมป์

การพูดคุยกันกับทศเทพ ทำให้เรานึกออกถึงช่องว่างว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีลูก ไม่รู้จะพาลูกไปไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกรุงเทพฯ ซึ่งการเล่นเป็นต้นทุนทางความสุขของเด็ก และการเล่นที่ดีคือ การเล่นที่ได้เล่นกับพ่อแม่ แต่ในช่วงเวลาคุณภาพก็ต้องมีกิจกรรมคุณภาพ แต่บางทีพ่อแม่รุ่นใหม่ก็ไม่รู้จะเอาลูกไปไหน มันไม่มีพื้นที่ให้เด็กทำอะไรสักเท่าไร อีกอย่างคือ เรากับทศเคยคุยกันเรื่องพฤติกรรมของพ่อแม่ไทยที่มักจะแยกความสุขของตัวเองกับลูกไว้คนละที่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น ถ้าเรามีสถานที่ให้เขาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เราจะเห็นฝรั่งแบกลูกวัย 6 เดือนมาเดินดูวัดพระแก้ว ลูกไม่ได้รู้จักวัดพระแก้วหรอก แต่พ่อแม่ก็รู้สึกว่า นี่คือลูกของเขา นี่คือทริปของฉัน นี่คือชีวิตของเรา เราไปพร้อมกันได้

เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน

ซึ่งช่องว่างที่เห็นกลายมาเป็นแคมป์นี้

คือเรากับทศนั่งคุยกันว่า สร้างพื้นที่ให้ทุกคนมีความสุขร่วมกันในพื้นที่เดียวกันดีมั้ย ซึ่งคำว่าทุกคน เรานึกถึงครอบครัวชนชั้นกลางที่พ่อ แม่ ลูก มีปู่ย่าตายาย เวลาไปไหน เราจะยกโขยงกันไป แล้วจะพบว่าต้องมีใครสักคนนั่งแกร่ว ส่วนใหญ่จะเป็นปู่ย่าตายาย ไม่ก็แม่ที่ต้องนั่งเฝ้าลูก เรารู้สึกว่า ถ้ามีที่ที่ลูกได้เล่นทุกอย่าง ส่วนแม่ได้นั่งนวดเท้า คุณยายนอนอ่านหนังสือใต้ต้นไม้ พอตกค่ำ เด็กนอนแล้ว พ่อแม่จูงมือกันไปดูคอนเสิร์ต จิบไวน์ เราว่าความสุข ไลฟ์สไตล์ยังอยู่ครบ แค่ต้องมีที่แบบนั้นให้เขา แล้วเราก็มีบุคคลที่3 มาเกี่ยวข้อง คือพี่อ๋อย ชาญชัย พินทุเสน เพราะเรากับทศรู้จักพี่อ๋อยมานาน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำกิจกรรมกับเด็กโดยเชื่อมโยงเข้าสู่ธรรมชาติ เพราะเราคิดว่า ในยุคสมัยนี้ ความเชื่อ ความศรัทธา ของคนเปลี่ยน ความคิดใหม่กำลังเข้ามา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสากล ยั่งยืน และจริงกว่าสิ่งอื่นก็คือธรรมชาติ

 

จากพื้นที่ในฝันกลายมาเป็นพื้นที่แบบไหนในความเป็นจริง

คำว่า ทุกคนมีความสุขร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน ฟังดูเรียบง่ายนะ แต่ในแง่รายละเอียดมันยากมาก เพราะความต่างของอายุที่เราต้องดูแลมันเยอะ ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงคนแก่ เราเลยต้องตรวจสอบทุกเรื่อง รถเข็นเข้าได้หรือเปล่า  จะให้เอาสัตว์เลี้ยงเข้ามั้ย แล้วก็นำกิจกรรมทุกชนิดออกมาเพื่อรองรับทุกคนกิจกรรมฝั่งคุณแม่ เราจะมีการทำขนมปังออร์แกนิก มัดย้อม จนถึงเวิร์กช็อปเซรามิก ฝั่งคุณพ่อก็จะมีกิจกรรมอย่างเครื่องหนัง นอกจากนี้ เรื่องอาหารเราก็จะมีบาร์บีคิว แล้วก็มีปิ้งมาร์ชเมลโล่แน่ๆ เพราะมันคือโลกในอุดมคติของเด็ก

WoodWood Acoustic Camp

ส่วนกิจกรรมสำหรับเด็ก เราแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือกิจกรรมกระตุ้นความคึกคัก และกิจกรรมสร้างความสงบ ฝั่งแรกมีไว้สำหรับเด็กที่ไม่เคยได้เล่นอะไรเลย ไม่เคยได้เดินเท้าเปล่า ไม่เคยได้เปียกน้ำ เช่น ยิงธนู ไต่เชือก เดินสำรวจป่า ล่องแก่ง อีกฝั่งคือกิจกรรมนิ่งสงบที่พี่อ๋อยคิดมาสำหรับเด็กที่มีโลกส่วนตัว โอเค งั้นเราจะวาดรูป นั่งอ่านหนังสือ นั่งดูโชว์ ซึ่งในส่วนนี้ เราต้องการให้มันทำงานทางใดทางหนึ่งกับเด็กโดยไม่ต้องสอน แคมป์ไม่ใช่ค่ายเยาวชน ไม่ใช่ค่ายเด็กกินผักน่ะ เราเป็นพื้นที่ของความสุข ซึ่งความสุขเป็นสิ่งที่ต้องประยุกต์แล้ว ยัดเยียดไม่ได้ ความรู้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตรงกลางคือความบันเทิงที่มีสาระซ่อนอยู่ข้างใน พี่เลี้ยงดูแลกิจกรรมของเราก็เลยไม่ใช่พี่เลี้ยงในแง่ของการออกแรงอย่างเดียว แต่เป็นพี่เลี้ยงทางองค์ความรู้ด้วย ทุกคนมีความรู้หมด ครูที่สอนสนุกกับครูที่สอนน่าเบื่อเราจำใคร นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความรู้ทุกอย่างผ่านความสนุกกับความเข้าใจ แล้วเราลงไปสัมผัสกับมัน ไม่ใช่เรียนบนกระดาน มองผ่านไอแพด อย่างเวลาเด็กปีนเชือก มันเรียนรู้จากกล้ามเนื้อของเขา อีกวันหนึ่งเขาปวดตัวมาก องค์ความรู้นี้ก็จะเข้าไปอยู่ในตัวทันทีเลย

WoodWood Acoustic Camp

WoodWood Acoustic Camp

แล้วสถานที่ที่เหมาะเป็นพื้นที่ความสุขคือที่แบบไหน

เราตระเวนดูพื้นที่หลายที่ แล้วก็มาจบที่ Bonsai Village เพราะพื้นที่นี้มีลำธาร มีเรื่องการเรียนรู้ทางธรรมชาติที่ชัดเจน มีที่กว้างสำหรับการจัดคอนเสิร์ต ที่สำหรับการตั้งเต็นท์ รวมถึงนำเข้าสาธารณูปโภคเพิ่มเติมได้ องค์รวมของมันน่าจะรองรับสิ่งที่เราต้องการได้ ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของคุณมนตรี เจ้าของสถานที่ เขาชอบสิ่งที่เรากำลังจะทำให้เกิดขึ้นมาก เห็นความสำคัญของพื้นที่แห่งความสุขเหมือนเรา และยินดีมากที่จะให้พื้นที่เขามีส่วนร่วมกับสิ่งนี้

ส่วนเรื่องที่พัก เราตั้งใจจะรองรับคนมากที่สุดที่ 2,200 คน โดยมีพื้นที่เต็นท์ให้สำหรับประมาณ 500 คนที่อยากเสพบรรยากาศแบบจริงจัง มีอาหารเช้าให้ ขณะเดียวกัน ด้านนอกสถานที่จัดงานก็ยังมีรีสอร์ทในสวนผึ้งอีกจำนวนไม่น้อยให้้ผู้มาร่วมงานเลือกพักเองได้ตามสะดวก เพราะเชื่อว่าทุกคนไม่ได้อยากนอนเต็นท์ สุดท้ายพอเหนื่อยแล้วอยากอาบน้ำร้อน นอนเตียง แล้วตื่นสายๆ มาร่วมงาน

WoodWood Acoustic Camp

เทศกาลสำหรับครอบครัวต่างกับเทศกาลที่เราชวนเพื่อนไปมากมั้ย

เราขอบอกเลยว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่พื้นที่หนึ่งมีเด็ก พื้นที่นั้นจะพิเศษ ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีลูก พื้นที่นั้นต้องพิเศษสำหรับลูกคุณ เพราะฉะนั้น มันต่างกันตรงที่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเห็นเด็กเล่นแล้วมันเป็นการเล่นที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย สนุก มันจะเป็นการเล่นที่สมบูรณ์แบบ บรรยากาศโดยรวมก็เลยจะต้องดี ต้องไม่มีสิ่งใดที่ดูแล้วไม่เหมาะกับเด็ก พื้นที่ดื่มแอลกอฮอล์ของเราจะแยกออกไปอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ส่วนพื้นที่คอนเสิร์ต เด็กจะเข้าไปดูก็ได้ หรือจะนอนอยู่บนที่นอนก็ได้ คำว่าอะคูสติกของเราไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องเล่นกีตาร์ตัวเดียว ทุกคนมาเต็มรูปแบบได้เสมอ แต่เราคุมให้เดซิเบลของดนตรีไม่ให้รุนแรงเกินไป และอีกอย่างที่เราพูดกับทศตลอดคือเรื่องความปลอดภัย ความคลายใจ ในงานต้องมีจุดลงทะเบียน มีป้ายห้อยคอ มีสตาฟฟ์แต่งตัวชัดเจน พร้อมติดต่อพ่อแม่ให้ได้

 

เรียกว่างานนี้มีเด็กเป็นแกนหมุน

ใช่ เด็กคือคนที่สำคัญที่สุดในงานนี้ แต่เรารู้สึกว่า ถ้าพ่อแม่ที่มีความสุข ลูกจะมีความสุข เพราะฉะนั้น มันเชื่อมโยงกัน เราไม่ควรแยกคำว่าพ่อ แม่ ลูก ด้วยซ้ำ คำว่าครอบครัวต่างหากที่เราต้องนับเป็นหนึ่ง ลูกไม่มีความสุขหรอกถ้าพ่อแม่เคร่งเครียดเกินไป เฝ้าดูแต่ลูกเกินไป แล้วเวลาเด็กอยู่นอกสายตาผู้ปกครอง เขาเป็นคนละคนเหมือนกันนะ ลูกเราก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่เราปล่อยให้เขาเป็นแบบที่เขาเป็น ในแง่ดีคือเราได้มองเห็นด้วยนะว่าเขาเป็นยังไง

แล้วลองคลายใจที่จะมีความสุขพร้อมกัน ลองเอาเด็กนอนดึกสักวันมั้ย นั่งดูคอนเสิร์ตกันมั้ย สักสี่ทุ่ม เห็นคุณพ่อจิบไวน์ คุณพ่อเราก็เท่ดีนะ คือมันเป็นหนึ่ง อย่าไปแยกว่านี่คือลูก นี่คือเรา ลูกต้องไม่เห็นเราทำอะไร หรือแม่ลุกขึ้นเต้นอย่างนี้ ไม่เห็นแปลกเลย ลูกชอบมากเลยนะเวลาเห็นแม่หลุด ก็ฉีกกรอบตัวเอง ไม่ได้ฉีกกรอบจากออฟฟิศหรือบ้าน แต่ฉีกกรอบบางๆ ที่ตัวเองกั้นไว้ระหว่างกันและกัน เราว่าดี เราเชื่อแบบนั้น

เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน

การพาเด็กมาที่นี่จะต่างกับให้เขาปิ้งมาร์ชเมลโลว์กินเองที่บ้านมากมั้ย

ต่างสิ เพราะมีเพื่อนอีกเยอะ แล้วจะมีการเหล่ว่า เธอว่าเด็กนั่นเอามาร์ชเมลโลว์เยอะไปป้ะ (หัวเราะ) ไม่หรอก คือเวลาเด็กเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน ฉันอยากดูการ์ตูนเน็ตเวิร์ก ฉันต้องได้ดู ฉันอยากทำอะไร ฉันต้องได้ทำ ฉันอยากอาบน้ำนานที่สุด แต่พอเด็กมาอยู่ร่วมกับคนอื่น เขาจะเรียนรู้การอยู่ด้วยกัน เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่น ลดความต้องการของตัวเอง และแบ่งปันพื้นที่ให้คนอื่น การนั่งดูโชว์ 1 โชว์ เขาจะต้องเรียนรู้ว่า เขาเสียงดังแล้วเด็กทุกคนจะหันขวับมาที่เขา ทำหน้าว่าทำไมเธอเสียงดัง ด้วยสายตาเด็กด้วยกัน ไม่ใช่สายตาผู้ใหญ่ที่จุ๊ปาก มันมีการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมของการแบ่งปัน ของการเสพ มารยาทจะเกิดโดยที่ไม่ต้องสอน เราเชื่อว่าอย่างนั้น ทุกคนเงียบ เขาจะเงียบ เพราะมันไม่ใช่คนในบ้านเขาอย่างเดียว แล้วถ้าอยู่ที่บ้าน เขาจะปิ้งมาร์ชเมลโลว์กิน หันไปทางขวาก็เจอพ่อที่กำลังเล่นโทรศัพท์ แต่ในขณะที่แคมป์นี้ มันมีคน มีพื้นที่ที่เล่นด้วยกันได้ เยอะกว่าก็สนุกกว่าแหละ

เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน

การสร้างพื้นที่ดีๆ ให้ทุกคนมีช่วงเวลาที่ดีร่วมกันนำไปสู่อะไร

เราขอยกตัวอย่าง เราชอบวันหนึ่งที่เราทำงานทั้งปีเพื่อพาลูกไปเที่ยวภูเขาฟูจิ วันที่ไปถึงที่นั้น เรากำลังเดินๆ อยู่ พอเงยหน้าขึ้นก็เห็นฟูจิแบบเต็มรูปแบบ แล้วเนปาลกับทิเบตก็เงยหน้าขึ้น ร้องว่า “ฟูจิซัง!” มันเป็นช่วงเวลาที่เราเชื่อว่า ตอนแก่ๆ เมื่อนั่งรถเข็นแล้ว เสียบท่อช่วยหายใจแล้ว เราจะนึกถึงวันนั้น คือนึกถึงวันที่เรามีความสุขด้วยกัน วันที่เราได้เจออะไรพร้อมกัน เวลาเรารักใคร เราอยากให้เขาอยู่ด้วยในเวลาที่เรามีความสุข ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้าไปที่ WoodWood Acoustic Camp ทุกคนจะรู้สึกดี เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข แล้วหันมาก็เจอคนที่เรารัก ไม่ใช่แค่สามีภรรยา ไม่ใช่แค่เพื่อน แต่มีลูกฉัน มีหลานฉัน มีอากงฉันที่ยอมออกจากบ้านมานั่งเหยียดเท้าอยู่ใต้ต้นไม้ด้วย

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan