“คุณไม่ควรมาร้องเพลงหมอลำที่นี่ เพราะว่าที่นี่มันเป็นที่ของชนชั้นสูง แต่เพลงหมอลำของคุณคือเพลงของชนชั้นต่ำ”

ครั้งหนึ่ง รัสมี เวระนะ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ รัสมี Isan Soul เคยพูดถึงประโยคนี้ที่เธอเคยได้รับในอดีต

รัสมีเกิดและเติบโตที่จังหวัดอุบลราชธานี จิตวิญญาณของเธอถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมดนตรีทางภาคอีสานอย่างหมอลำและลูกทุ่งมาตั้งแต่จำความได้ คุณพ่อของเธอเป็นทั้งนักแต่งเพลงและนักดนตรีเจรียง ซึ่งเป็นศิลปะการขับร้องและแสดงของเขมร และช่วงวัยรุ่นเธอเคยใช้ชีวิตอยู่ในวงหมอลำราว 6 – 7 ปี

‘รากเหง้า’ และ ‘จิตวิญญาณ’ คือ 2 คำที่รัสมีใช้บ่อยจนสังเกตได้ในการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่ผ่านมา

และเธอก็เน้นย้ำทุกครั้งว่า หมอลำคือรากเหง้าและจิตวิญญาณของเธอ

จุดเปลี่ยนของชีวิตมาเยือนเมื่อโชคชะตาพัดพาให้เธอไปปักหลักในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นั่นเองที่ทำให้เธอพบเจอนักดนตรีหลากหลาย และหมอลำซึ่งอยู่อาศัยในตัวเธอมานานได้เปล่งประกายอีกครั้งในรูปแบบใหม่หรือที่ใครๆ เรียกว่า หมอลำร่วมสมัย

อัลบั้มแรกของเธอที่ชื่อ Isan Soul EP. ที่เธอทำร่วมกับ สาธุการ ทิยาธิรา มือกีตาร์ มีส่วนผสมทั้งกลิ่นดนตรีท้องถิ่นและกลิ่นของดนตรีสากล แม้จะไม่เหมือนหมอลำแบบดั้งเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ใครได้ฟังย่อมสัมผัสได้ถึงรากเหง้าและจิตวิญญาณของเธอที่สะท้อนอยู่ในท่วงทำนองเหล่านั้น

ผมเองไม่แน่ใจว่าเป็นหมอลำที่พาเธอมาไกลขนาดนี้ หรือเป็นเธอเองที่พาหมอลำมาสู่จุดที่ผู้คนยอมรับกันแน่

ปีที่แล้วเธอเพิ่งคว้ารางวัลใหญ่จากเวทีคมชัดลึก อวอร์ด มาครอง 3 สาขา ทั้งสาขาศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม  และรางวัลเพลงยอดเยี่ยม จากเพลง มายา ซึ่งเคยขึ้นอันดับ 1 ในคลื่นวิทยุอย่าง Cat Radio มาแล้ว

ล่าสุดเมื่อรู้ว่าเธอกำลังทำซิงเกิลใหม่ที่ชื่อ อารมณ์ ผมจึงนัดพบเธอในช่วงบ่ายที่โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ก่อนจะถึงเวลาที่เธอต้องไปร้องในงานงานหนึ่งที่สยามพารากอน

“คุณไม่ควรมาร้องเพลงหมอลำที่นี่ เพราะว่าที่นี่มันเป็นที่ของชนชั้นสูง แต่เพลงหมอลำของคุณคือเพลงของชนชั้นต่ำ”

แล้วการได้พบเธอวันนี้ ก็ทำให้ผมนึกถึงประโยคนั้นที่เธอพูดบนเวที TEDxBuengKaenNakorn

รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย
รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย

เวลาย้อนมองกลับไปวันแรกๆ คุณรู้สึกว่าตัวเองพาหมอลำมาไกลกว่าเดิมไหม

เรารู้สึกว่าเราทำให้หมอลำเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในที่นี้เราไม่ได้ว่าหมอลำดั้งเดิมหรือหมอลำอย่างอื่นไม่ดีนะ คือสำหรับเรา มันรู้สึกดีเวลาที่เราได้เห็นรูปตัวเองในนิตยสารดีๆ เราไม่ได้คิดตรงนี้มาก่อนด้วยมั้งว่าจะต้องประสบผลสำเร็จอะไร แต่พอเป็นแบบนี้เรารู้สึกว่าดอกไม้มันบานเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ได้กลับบ้านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีบ้างไหม

กลับบ้าง เวลามีงาน มีคอนเสิร์ตแถวๆ อีสาน เราก็จะขับรถกลับบ้าน เพราะบ้านเราอยู่นอกจากตัวเมืองไปประมาณร้อยกิโล

เวลากลับบ้าน กลับอีสาน คนที่นั่นเขาเข้าใจสิ่งที่คุณทำไหม

ไม่เข้าใจ บางทีเป็นญาติตัวเองด้วยที่ไม่เข้าใจ อย่างที่อีสานจะมีพิธีผูกแขนใช่ไหม ผู้ใหญ่บางคนก็จะบอกว่า ‘ไม่ผูกแขนให้ ไม่ชอบเพลง’ คือเหมือนพูดเล่นนั่นแหละ พูดเล่นแกมจริง เราก็ถามเขาว่า ‘จริงเหรอคุณอา’ เขาก็ ‘เออ ไม่ชอบ ทำเพลงอะไร’ แต่สุดท้ายเขาก็มาผูกแขนให้เรานั่นแหละ คือมันจะมีอย่างนี้บ้าง มีคำถามว่า ทำไม ทำเพลงอะไร ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แต่บางคนก็เป็นอีกฟากหนึ่งไปเลย บอกว่านี่แหละดี ก็ไม่ต้องไปสนใจ มีทั้งสองอย่าง

ที่ว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ รู้ไหมทำไมเขาไม่เข้าใจ

เราว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคย ไม่เคยได้ยิน เหมือนเขากินหวานมาตลอดชีวิต แล้วอยู่ๆ เรามาใส่รสเค็มเข้าไป เฮ้ย มันคืออะไร มันแปลก เขารู้สึกว่าเขาไม่ชอบ แต่เราเชื่อว่าพอเรากินเข้าไปจนชินจะรู้สึกว่ามันโอเคนะ เราคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องความไม่เคยชินของเขามากกว่า ที่เขาเคยฟังเพลงแบบนี้ หมอลำอย่างนี้ มาทั้งชีวิตหรือครึ่งชีวิต แต่วันหนึ่งเราซึ่งเป็นคนที่เกิดมากับเขาอยู่ๆ ก็เปลี่ยน

มีประโยคไหนที่ได้ยินแล้วกระทบใจบ้างมั้ย

เคยมีครั้งหนึ่ง มีคนพูดประมาณว่า คุณกำลังถูกวัฒนธรรมตะวันตกกลืนกินอยู่คุณรู้มั้ย ปกติเราจะไม่ค่อยตอบโต้ผู้ใหญ่ แต่พอเจอแบบนี้เรารู้สึกว่า ทำไมเหรอคะ หมายความว่ายังไง หมายความว่าเพลงที่เราทำอยู่เราโดนกลืนเหรอ ไม่ใช่นะ เราทำให้ดนตรีเขาดีต่างหาก เรามองคนละมุม

เมื่อก่อนพ่อเราก็ว่านะ คือพ่อเราแต่งเพลงให้ แต่เราไม่ได้บอกพ่อว่าเอาเพลงมาทำแบบนี้ ครั้งแรกจำได้ พ่อลงมาคอนเสิร์ตแล้วแกได้ยินเราร้อง แกก็มีติ เราก็รู้สึกสะเทือนเพราะเป็นคนใกล้ตัว แต่ไม่เป็นไร เราจะไม่ท้อถอย เราต้องยืนหยัด แรกๆ ก็ต่อต้านกันเยอะ

เราทำเพื่อต่อยอดหมอลำแท้ๆ แต่กลายเป็นว่าคนที่เป็นรากเขาไม่ได้ยอมรับเรา คุณรู้สึกยังไง

การที่คนเฒ่าคนแก่เขาจะมาพูดแบบนี้เราก็โอเคในความคิดของเขา แต่เราจะพูดตลอดว่า เราไม่ได้ลบหลู่ครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์นั่นแหละที่ทำให้เรามีวันนี้ เพราะคุณทำมาดีไง งานของคุณดีเราจึงหยิบงานนั้นมาใช้ต่อง่าย เราว่าเพลงหมอลำถูกดัดแปลงมาก่อนเราอีก มันมีมาตั้งแต่คนที่ทำหมอลำเรกเก้ในยุคสมัยหนึ่งซึ่งนานแล้ว

รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย
รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย

คือคุณไม่ได้มองว่าหมอลำแบบเดิมมันเชยจึงเอามาเปลี่ยนใช่ไหม

ไม่เลย สำหรับเราเรารู้สึกว่าหมอลำเท่มาก เราเองฟังเพลงทุกประเภท ฟังมาหมด แต่พอกลับไปฟังหมอลำเราก็ยังรู้สึกมันเท่ ไม่แพ้เพลงใดๆ เลย

คุณรู้สึกว่าหมอลำเท่ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ชีวิตรู้จักหมอลำเลยมั้ย

โห กว่าจะรู้ก็โตแล้วนะ เมื่อก่อนเราก็ยังรู้สึกอาย ตอนเป็นหมอลำไปประกวดรู้สึกว่าสายเพลงลูกทุ่งสายหมอลำสู้สายเพลงป๊อปหรือเพลงสากลไม่ได้เลยนะ เรารู้สึกว่ามันไม่เท่เลย

แล้วมันเกิดจากหลายๆ อย่างด้วย เหมือนที่เราพูดบนเวที TEDx เรื่องกำแพงต่างๆ เราเป็นคนอีสาน ร้องหมอลำ และเป็นคนไม่สวย จะเป็นนักร้องได้ยังไง แต่ว่าตอนนี้กำแพงเหล่านั้นเราทำลายมันหมดแล้ว มันไม่มีแล้ว

                                                             

คุณทำลายกำแพงที่ว่ายังไง เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นคุณก็เปลี่ยนมันไม่ได้

เราไม่ค่อยได้สนใจมัน เราเป็นคนที่เมื่อเขียนเพลงก็รู้สึกว่าเราได้ปลดปล่อยแล้ว อย่างเวลาเราเจออะไร เราจะชอบแต่งกลอน เขียนเพลง แค่นี้เราโอเคแล้ว เราได้เยียวยาตัวเอง

คนที่เขาดูถูก มีอะไรเขาพูดออกมาใช่มั้ย นี่เป็นความเห็นในเรื่องของอีสานของเขาใช่มั้ย ฉันอาจจะเสียงดังไม่เท่าคุณนะ แต่ฉันขอเขียนแบบนี้แล้วกัน วันหนึ่งมันอาจจะดังกว่าเสียงที่คุณพูดมา มันก็เหมือนกับการตอบโต้ของคนสองคน เพียงแต่ว่าเราใช้อาวุธคนละอย่าง

การเขียนเพลงเป็นอาวุธได้เหรอ

แน่นอน แน่นอน แน่นอน (เน้นเสียง) มันเป็นลูกปืนได้เลย เพลงนี่เปลี่ยนแต่ละยุคแต่ละสมัยมามากแล้วนะ เรื่องสีผิวในสหรัฐอมเริกาหรือที่อื่นๆ มันเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง ถ้าใช้ให้ถูก

สำหรับคุณการเป็นคนอีสานมีอะไรที่น่าเจ็บปวดมั้ย

มันก็มี สิ่งที่เราไม่โอเคกับมันก็เยอะ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องวัฒนธรรมนะ บางทีเรารู้สึกว่าอีสานถูกครอบงำโดยอะไรบางอย่างหรือโดยสื่อ ทำให้คนหลงลืมความเรียบง่ายจริงๆ ของชีวิต ทำไมเราต้องดิ้นรนหาเงินเยอะแยะเพื่อไปผ่อนรถคันใหญ่ๆ มาทำงานกรุงเทพฯ ส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ บางทีเรากลับบ้านเรามักจะได้ยินคนสอนลูกว่าโตเร็วๆ จะได้ไปทำงานหาเงินส่งมาทางบ้าน อันนี้คือไม่ต้องไปไหนไกลเลย บ้านเราก็เป็น ตรงนี้เรามองเห็นแล้วเราเจ็บปวดนะ

มันน่าเจ็บปวดยังไง

เรารู้สึกว่าการพูดแบบนี้ ถามว่าตัวคนที่โดนผลักดันเขามีความสุขจริงๆ หรือเปล่า ไปทำงานเขาไปเจออะไร ไปทำงานอะไร ค้ายาหรือเปล่า ขายตัวหรือเปล่า เพื่อที่จะส่งเงินกลับมา เรารู้สึกไม่โอเคเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไหร่ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูอะไรนะ มันคนละเรื่อง และเราก็ไม่ได้บอกว่าคุณต้องกลับบ้านไปปลูกผักหรืออะไร แต่ถ้าความคิดของคนมันเปลี่ยน มันอาจจะมีทางออกบางอย่าง

รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย
รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย

ย้อนกลับไปเรื่องหมอลำ อยากรู้ว่าจริงๆ แล้วคุณเชื่อในการประยุกต์เพื่อให้มันอยู่รอดหรือเชื่อว่าต้องคงความเป็นรากเหง้าแท้ๆ เอาไว้กันแน่

เราว่าประยุกต์มันก็ดี อย่างเราเอามาประยุกต์ก็ทำให้คนที่ฟังหลากหลายมากขึ้น ฝรั่งก็ฟัง คนไทยภาคกลาง ภาคใต้ก็ฟัง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคนอีสานอย่างเดียว อย่างที่บอก ครูก็คือครู อยู่บนหิ้งอยู่แล้ว แต่ขอหยิบของครูออกจากช่องแช่แข็งมาได้มั้ย แล้วเราไม่ได้ทำอะไรที่เสียหายอยู่แล้ว เราแค่อยากพิสูจน์ว่าหมอลำเป็นเพลงที่เข้าไปอยู่กับดนตรีประเภทไหนก็ได้

ตอนที่ทำเพลงในชุดอีสานโซล เราพยายามหาหมอแคนหามือพิณนะ แต่ด้วยความที่เราอยู่เชียงใหม่ การจะหาคนมาเล่นมันยากมาก แล้วอย่างหมอแคนเวลาเราโทรหาเขาก็จะถามว่าเราทำทำไม จุดประสงค์ทำไปเพื่ออะไร โอเค มันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะถาม เพียงแต่เรารู้สึกว่าเราไม่มีเหตุผลในการทำว่าทำทำไม มันมีอย่างเดียวคืออยากทำ คือหนูไม่รู้เหมือนกันว่าหนูทำเพื่ออะไร ทำทำไม อย่างเดียวที่รู้คืออยากทำเพลงค่ะพี่ แค่นี้เลย ไม่ได้ใช่มั้ย โอเค พอคนนี้ปฏิเสธ ไม่เป็นไร ถ้าอย่างนั้นเป็นกีตาร์ก็ได้ ใครก็ได้ แล้วเชียงใหม่มีนักดนตรีหลากหลาย ทั้งมือเปียโน คนเป่าแซ็กโซโฟน แล้วคุณสาธุการ ทิยาธิรา (มือกีตาร์ที่ทำอัลบั้มร่วมกัน) เขาเป็นคนเปิด เราก็เป็นคนเปิด อะไรก็ได้ ผนวกกับก่อนหน้านี้เราเคยร้องบลูส์ ร้องแจ๊ส มาก่อนด้วย เราเลยหยิบมาใช้กับตรงนี้ แล้วกลายเป็นความบังเอิญที่ลงตัวพอดี

แล้วมีอะไรที่คุณตั้งใจไม่แตะต้องมั้ย

เรามีสิ่งที่คงไว้ด้วย หลังๆ เราก็เดินทางไปหามือพิณ มือแคน ตามอีสานนะ ตอนนี้เรามีไซด์โปรเจกต์ด้วย ทำเป็นหมอลำแบบเพียวๆ เลย เพราะเราไม่อยากให้คนหาว่าเราว่าร้องหมอลำไม่ได้แล้วมาทำอะไร เราไปหานักดนตรีแถวอีสาน ไปอยู่กิน 2 – 3 วัน แต่งเพลง จากที่ไม่เคยแต่งลำเพลินเลย ก็ลองแต่ง หมอแคนเขาก็จะบอกสอนเรา เราจะไปหาหมอลำแบบที่เรายังไม่เคยแต่งเลย อย่างลำเพลิน ลำต่างหวาย มันสนุกตรงที่เรารู้ว่ามีหมอลำประเภทนี้ด้วยเหรอ แล้วร้องยังไง แต่งยังไง แล้วมันอาจจจะเป็นอัลบั้มอีพีเล็กๆ ออกมาสัก 4 – 5 เพลง หรืออาจจะเป็นอัลบั้ม เรายังไม่รู้ แต่ทุกวันนี้ถ้ามีเวลาว่างหรือมีทุน เราก็จะเดินทางไปที่ต่างๆ พยายามทำทั้งสองอย่างควบคู่ไปด้วยกัน เพราะเราไม่ได้รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับหมอลำ เพราะฉะนั้น เราต้องไปเสาะแสวงหาจากผู้รู้

ตอนที่ไปอยู่ในหมอลำแบบดั้งเดิมคุณอึดอัดบ้างมั้ย

จริงๆ มันก็ไม่ได้อยู่ในกรอบขนาดนั้น เพราะเราก็ทำกับเด็กวัยรุ่นที่ค่อนข้างจะเปิด บอกว่าให้เขาสอนพี่หน่อย ไลน์นี้เรียกยังไง แล้วเราพยายามทำดนตรีให้น้อยชิ้นที่สุด เช่น มีแค่เสียงเรากับแคนเลย หรือเล่นพิณ ก็คือยังคงมีความประยุกต์ แต่ว่า 80 – 90 เปอร์เซ็นต์เป็นหมอลำประเภทนั้นแบบดั้งเดิมแหละ แต่เราขอตวัดตรงหางหน่อย ให้มันเป็นแบบนี้ได้มั้ย หยุดแบบนี้ได้มั้ย แล้วน้องเขาก็จะงงกับเรา เอาอย่างนี้จริงๆ เหรอพี่ เราก็บอกว่าเอาอย่างนี้แหละ เขาก็ถามเราว่าจะโดนด่ามั้ย (หัวเราะ) เราก็บอกไม่เป็นไรหรอกๆ เราขอตวัดนิดนึง

ทุกวันนี้คุณเข้าใจหรือยังว่าหมอลำคืออะไร

เราว่ามันคือของเก่า ของเก่าที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนถ้าเราไปพูดคนเขาอาจจะไม่ฟังก็ได้ แต่ถ้าเราลองแต่งเป็นกาพย์เป็นกลอนสวยๆ มีเมโลดี้แคนอยู่ข้างหลัง คนอาจจะฟังเรามากขึ้นก็ได้ และอีกอย่าง สำหรับเราหมอลำคือการเยียวยาจิตใจ รักษาจิตใจ และเป็นคำสอนด้วย ฟังแล้วได้อะไรบางอย่าง มีทั้งเรื่องศาสนาด้วย

หมอลำเยียวยาจิตใจได้ด้วยเหรอ

มีหมอลำอยู่ประเภทหนึ่งที่ไม่มีอะไรเลย นอกจากเสียงร้อง เคยได้ยินสรภัญญะมั้ย จะมีคนร้องเป็นสิบยี่สิบคน ใช้ในศาสนา เป็นคำสอนของพระเวสสันดร ก็จะเป็นเรื่องราวคำสอน แล้วพอได้ฟังมันสะกดเรามาก

หรือเวลาเราไปนั่งดูคนแก่ๆ เขาร้องหมอลำ เป่าแคน เรารู้สึกว่ามันขลัง มันไม่ใช่การเอนเตอร์เทนเลยนะ นึกออกไหม เราไปนั่งฟังอะไรที่มันน่าเบื่อด้วยซ้ำสำหรับเด็กรุ่นใหม่ มีแค่แคนตัวเดียว แล้วก็ลุงแก่ๆ นั่งร้อง แต่พอเรามาถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่เราไปนั่งตรงนั้นแล้วเรารู้สึกว่านี่คือสุดยอด

รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย
รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย

เห็นว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่คุณหันเหไปร้องเพลงสากล ตอนนั้นตั้งใจเลิกร้องหมอลำเลยหรือเปล่า

ไม่ มันแค่เป็นวิธีการอยู่รอดอย่างหนึ่งของเรา เพลงสากลมันหากินได้ ถ้าเราคัฟเวอร์ได้สัก 20 เพลงเราก็ร้องในโรงแรมได้ทุกที่ แต่เราเบื่อมากเลยนะ เพราะเราต้องไปร้องในโรงแรมหรูๆ แล้วต้องร้องแต่เพลงสากล บางวันเราอยากร้องเพลงไทย พอเราร้องเพลงไทยเขาก็เดินมาบอกเราว่าอย่าร้องเพลงไทย เราก็โมโหนะ นี่ประเทศไทยใช่มั้ย ทำไมเราร้องไม่ได้วะ ตลกมาก

แล้วตอนไหนที่คุณเริ่มรู้สึกว่าการร้องหมอลำของตัวเองได้รับการยอมรับ

น่าจะเป็นช่วงแรกๆ ที่ได้รับรางวัลคมชัดลึก อวอร์ด

รางวัลนั้นสำคัญยังไง

เรารู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว เรามีคนที่เห็นคุณค่างานเรา มีบรมจารย์มาให้รางวัลเรา ซึ่งเราทำอะไรไม่รู้ก๊อกๆ แก๊กๆ ทำเพื่อตอบสนองตัวเอง แต่ว่ากลับมีบางคนที่เห็นคุณค่า เราเริ่มรู้สึกว่ามันเริ่มดีนะ แล้วมีคนซื้อซีดีเรา สั่งซีดี ตามดูคอนเสิร์ต หลังจากนั้นงานเยอะขึ้น แทบทุกสุดสัปดาห์เราต้องมาเล่นที่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนแรกๆ เรารับงานไม่เลือกเลย แต่เดี๋ยวนี้เราเลือกเฉพาะงานที่เหมาะกับเรา

งานแบบไหนที่เหมาะกับหมอลำแบบคุณ

งานที่คนเห็นค่ามัน ใครจะรู้ว่าลำเต้ยของเราจะได้มาโชว์ในแฟชั่นวีกอย่าง Digital Fashion Week Bangkok เราไปเล่นให้นางแบบเดินบนแคตวอล์ก ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งจะมีคนจ้างหมอลำไปร้องให้นางแบบเดินที่สยามพารากอน หรืออย่างวันนี้แบรนด์อย่าง Jim Thompson ก็ให้เรามาร้องหมอลำให้นางแบบเดิน มันทำให้เรารู้สึกว่ามีคนที่เห็นค่าของงานเรา งานที่เราเลือกคืองานที่ให้คุณค่ากับเรา คิดว่างานของเรามีค่า

คนมักจะบอกว่าฟังสิ่งที่คุณร้องไม่รู้เรื่อง เพราะมีทั้งภาษาอีสาน ภาษาเขมร การที่คนฟังเพลงคุณร้องไม่เข้าใจ เพลงนั้นยังนับว่ามีค่ามั้ย

เรารู้สึกว่าดนตรีเป็นภาษาสากลที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกัน เราเคยเจอนักดนตรีชาวแอฟริกันคนหนึ่งชื่อคุณโจอี้ เขาเป็นนักดนตรีที่เก่งมาก เล่นเครื่องดนตรีเป็นทุกอย่าง เขาชอบมาเชียงใหม่ ทุกครั้งที่เขาเจอเราเขาจะบอกว่าเขาอยากเป็นเหมือนเรา เขาอยากร้องแล้วทำให้คนรู้สึกถึงรากเหง้า เขารู้สึกตรงนี้ เขารู้สึกทุกครั้ง แล้วเขาก็ร้องไห้เพราะสิ่งนี้ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงของเรา ซึ่งเขาว่าตัวเขาเองทำให้คนรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้

ล่าสุดวันนี้ก็เจอชาวต่างชาติตอนไปซ้อม เขาบอกว่า ‘เธอรู้มั้ยว่า เวลาฟังบีทของเธอ ฉันรู้สึกตรงนี้’ แล้วเขาก็ลูบตรงท้อง ซึ่งเราไม่รู้นะ แต่คิดว่ามันน่าจะเป็นคำตอบว่าจริงๆ แล้วดนตรีเป็นสิ่งที่เยียวยาคนจากข้างใน ต่างชาติที่เขาฟังไม่รู้เรื่องบางคนมานั่งร้องไห้หน้าเวทีก็มี เราเลยรู้สึกว่าภาษาไม่ใช่สิ่งสำคัญเลย ดนตรีเป็นภาษาสากลอยู่แล้ว

รัสมี Isan Soul ผู้ทำให้หมอลำไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในโลกดนตรีร่วมสมัย
 

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล