ปกติเมื่อใครแทนตัวเองว่า ‘พี่’ ในบทสัมภาษณ์ ผมมักเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ผม’ หรือ ‘เรา’ แต่บทสัมภาษณ์นี้ผมตั้งใจคงคำว่า ‘พี่’ เอาไว้

ในความรู้สึกของผมและใครหลายคนที่เติบโตมากับรายการซูเปอร์จิ๋ว พี่ซุป-วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ คือพี่เสมอ แม้ว่าอายุวันนี้เขาจะเป็นอาซุปหรือลุงซุปสำหรับบางคนได้แล้ว

หากนับตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศในเช้าวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2534 จนถึงวันนี้ รายการ ซูเปอร์จิ๋ว ออกอากาศมาแล้วกว่า 26 ปี

ตัวเลข 26 ปี บ่งบอกอะไรบ้างในบ้านเมืองที่รายการเด็กคล้ายเป็นส่วนเกินของผังรายการ และสปอนเซอร์ก็วิ่งเข้าหารายการที่เรตติ้งดีกว่าอย่างละครหรือเกมโชว์

อย่างน้อยที่สุด, มันบ่งบอกว่า หากรายการใดรายการหนึ่งตั้งใจจะทำรายการเด็กจริงๆ โดยที่ไม่ได้หวังรวยทางลัดจากสิ่งนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้

อย่างมากที่สุด, มันบ่งบอกถึงความตั้งใจของคนคนหนึ่งที่พยายามประคับประคองสิ่งที่เขาใช้คำว่า ‘เรือลำเล็ก’ ท่ามกลางคลื่นลมและเรือลำใหญ่ที่แล่นประกบซ้ายขวา จากวันที่รายการเกือบต้องยุติเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เขาตัดสินใจขอทำรายการต่อด้วยตัวเอง จากพิธีกรเลื่อนสถานะมาเป็นเจ้าของรายการ และแบกรับความเสี่ยงทุกอย่างไว้เองในยุคต้มยำกุ้ง

และในที่สุดเขาก็ประคับประคองรายการมาจนถึงวันที่รายการเด็กได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากกับเขาบ้าง

วันนี้รายการ ซูเปอร์จิ๋ว โฉมใหม่ล่าสุด อย่าง ซูเปอร์เท็น สร้างปรากฏการณ์ทั้งในจอแก้วและจอทัชสกรีน ล้มล้างทฤษฎีรายการเด็กเดิมๆ เสียหมดสิ้น

ที่ว่ารายการเด็กต้องออกอากาศตอนเช้าๆ ถึงจะมีเด็กดู ซูเปอร์เท็น ออกอากาศตอน 5 โมงเย็นวันเสาร์

ที่ว่ารายการเด็กเรตติ้งน้อยนิด ซูเปอร์เท็น ครองเรตติ้งอันดับ 1 เมื่อเทียบกับทุกรายการที่ออกอากาศในช่วงเดียวกัน จากที่เคยมีเรตติ้งต่ำสุด 0.1 มาวันนี้เรตติ้งรายการเขาเคยทะลุไปถึง 2.3 ส่วนในโลกออนไลน์ 6 เดือนที่ผ่านมามียอดวิวรวมกันเกิน 500 ล้านวิวไปแล้วเรียบร้อย

แต่เหนืออื่นใด ตัวเลขที่ว่ามาไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่รายการนี้ได้สร้างขึ้นหรอก จากการพูดคุยกันทำให้ผมค้นพบสิ่งที่มีค่ากว่านั้น และสิ่งนั้นเองเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมรายการนี้ถึงอยู่มาถึง 26 ปีในประเทศที่คนทำรายการเด็กอยู่อาศัยด้วยความยากลำบาก

ส่วนสิ่งนั้นคืออะไร พี่ซุปของน้องๆ รออยู่แล้ว

ตอนเด็กๆ พี่ซุปเติบโตมากับรายการเด็กแบบไหน

ตอนที่พี่เป็นเด็กไม่ค่อยมีรายการเด็กนะ ถ้าจะมีก็น่าจะมีรายการ ผึ้งน้อย แต่ว่า ผึ้งน้อย เป็นรายการที่เราดูแล้วรู้สึกเหมือนว่ารายการนี้เด็กกว่าอายุเราตอนนั้น เป็นรายการที่รุ่นน้องของเราดู ไม่ใช่เรา ถ้าถามว่ารายการที่เด็กดูแล้วมีอิทธิพลต่อเราจริงๆ จะเป็นพวกการ์ตูน การ์ตูน 2 เรื่องที่มีอิทธิพลต่อชีวิตพี่คือ โดราเอมอน กับ อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา

       

ใช้คำว่ามีอิทธิพลเลยเหรอ

มีอิทธิพล พี่มีความรู้สึกว่าบางอย่างเราดูไปด้วยความเพลิดเพลิน ความสนุก แต่ว่ามันเกิดกระบวนการขัดเกลาวิธีคิดให้กับเรา พี่ว่า โดราเอมอน เป็นการสอนเรื่องจินตนาการ เรื่องของการทะลุกำแพงความฝัน โดยที่ไม่ได้สอนเลยนะ แต่สอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้ใหญ่หลายๆ คนชอบบอกว่าเด็กดูแล้วเดี๋ยวก็อยากเป็นโนบิตะกันหมดหรอก ซึ่งพี่ว่านี่คือเขาพูดกันอย่างไม่เข้าใจ ไม่มีใครอยากเป็นโนบิตะหรอก ไม่มีใครยอมเป็นโนบิตะด้วย เราไม่อยากเป็นโนบิตะ เราไม่อยากเป็นคนที่ร้องไห้ทุกวัน ต้องไปพึ่งใครสักคน แต่เราอยากมีเพื่อนเป็นโดราเอมอนนะ ส่วนอิคคิวซัง พี่ว่าเขาสอนปรัชญาเยอะมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้เรามารู้ตอนโตทั้งหมด

เหมือนพี่ซุปไม่เชื่อในประโยคที่ว่าการ์ตูนไร้สาระ

การ์ตูนก็ไร้สาระนั่นแหละ แต่ในความไร้สาระนั่นแหละคือสาระ คนชอบพูดว่า ไม่มีประโยชน์ ดูทำไม เสียงหัวเราะ 1 ครั้งไม่มีประโยชน์เหรอ โอ้โห หัวเราะ 1 ครั้งมันโคตรจะมีประโยชน์เลย

ตอนนั้นเชื่อมั้ยว่าของวิเศษของโดราเอมอนมันเกิดขึ้นได้ในโลกจริง

ตอนที่ดูก็มองเป็นแฟนตาซีนะ ก็มีความคิดว่าถ้ามีจริงก็ดี แต่ว่าตอนที่อ่านหรือตอนที่ดูก็มีความคิดว่าของวิเศษบางอย่างมีความเป็นไปได้ เช่นถ้ามีใบพัดที่มีความแรงมากพอ มันก็น่าจะบินได้แบบคอปเตอร์ไม้ไผ่นะ ซึ่งมันให้แรงบันดาลใจเรามาก แล้วเผอิญพี่ไปนิทรรศการที่ญี่ปุ่นเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เขาเอาของวิเศษโดราเอมอนมา แล้วบอกว่าอะไรที่ตอนนี้เป็นจริงแล้วบ้าง เช่น ผ้าคลุมล่องหน เขาก็บอกว่าตอนนี้มีกล้องอยู่ตัวนึง ถ้าถ่ายมาที่ตัวเรา มันจะเห็นว่าตัวเราโปร่งแสง หรือเขาบอกว่า ตอนที่ชิสุกะเผลอกินหัวแหวนเพชรแม่แล้วโนบิตะกับโดราเอมอนนั่งเรือลำนึงเข้าไปท่องในลำไส้ชิสุกะ คีบเอาแหวนเพชรออกมา ตอนนี้เราก็สามารถกลืนแคปซูลเข้าไปในท้องเพื่อไปดูว่าในท้องเรามีอะไร คือมันเป็นแรงบันดาลใจ

ย้อนไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ตอนที่พี่น้องตระกูลไรท์บอกว่าอยากบินได้แบบนก คนก็คงบอกว่าไอ้นี่มันบ้า พี่ทำโครงการนึงมา 13 ปีแล้ว เป็นรายการประกวดจินตนาการชื่อ ซูเปอร์ไอเดีย ซึ่งเด็กคิดอะไรหลายๆ อย่างที่น่าทึ่งมาก บางอันหยิบใช้ได้เลยนะ เช่น เด็กเสนอว่าเราน่าจะทำตะเกียบที่เป็นรูคล้ายๆ หลอด แล้วไม่ต้องมีช้อน เขาเรียกว่าตะเกียบหลอด หรือเด็กอีกคนบอกว่า เขาคิดจะทำรถไม่ใช้น้ำมัน เขาไปมีความรู้มาว่าไฮโดรเจนกับออกซิเจนผสมกันกลายเป็นน้ำ เขาเลยคิดว่าถ้าเขาแยก H20 ออกมาได้ แล้วเอาเฉพาะ H2 ไปใช้ รถก็จะสามารถขับเคลื่อนได้ หรือตอนที่เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด เขาก็จินตนาการเป็นตึกยาง พอเครื่องบินจะมาชน ตึกจะทำเหมือนเอวคอดหลบเครื่องบิน หรือชนแล้วเด้งดึ๋ง (หัวเราะ) คือฟังแล้วก็ดูแบบ แล้วมันจะยังไงต่อ แต่ไม่เป็นไร คือพี่ว่ามันคือการทำเวิร์กช็อปความคิดและจินตนาการ พี่มีความใฝ่ฝันส่วนตัวว่า มันน่าจะบรรจุวิชานี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาของประเทศเรา

มันสำคัญยังไงถึงกับต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา

มันคือการฝึกให้เด็กได้ใช้จินตนาการ ทำอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ มันเหมือนการฝึกให้เราหาวิธีการแก้ปัญหาในเวลาอันจำกัด และในอนาคตพี่ว่ามันประยุกต์ได้ เด็กมีจินตนาการดีๆ เยอะมาก เป็นจินตนาการของเด็กซึ่งผู้ใหญ่ไม่กล้าคิด เพราะผู้ใหญ่จะบอกว่า เฮ้ย หนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้หรอก สอง คิดทำไม สาม จะทำได้ยังไง สี่ แล้วงบประมาณล่ะ ห้า ทำอย่างอื่นดีมั้ย หก นี่ว่างนักหรือไง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดกับเด็ก

การอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงแบบที่ผู้ใหญ่คิดก็ถูกต้องแล้วไม่ใช่หรือ

พี่ว่ามันต้องเลือกใช้ ในวัยของเด็กพี่ว่ายังไม่ต้องถามหาความจริงหรอก คือวันนั้นเราบอกว่าเราบินไม่ได้ เพราะเราไม่รู้นี่ว่ามันจะมีเครื่องยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ขนาดนี้ ไปดูในหนังสือของ เลโอนาโด ดาร์วินชี สิ่งที่เขาขีดๆ เขียนๆ ไว้มันทำไม่ได้ในยุคนั้นหรอก แต่มันเป็นแรงบันดาลใจว่าเมื่อถึงวันนึงที่เทคโนโลยีมันพร้อม มันทำได้

ใครจะไปคิดว่าทุกวันนี้เราไม่ต้องมีสายโทรศัพท์แล้ว ถูกไหม ถ้าสมมติเมื่อ 20 ปีที่แล้วพี่บอกว่า เราสามารถโทรเห็นหน้ากันได้นะ คนก็ต้องบอก เฮ้ย บ้าหรือเปล่า ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องหาข้อสรุปในช่วงเวลานั้นในทุกสิ่ง เราเปิดให้กรอบมันยืดหยุ่นหน่อย โจทย์ของเราคือคุณคิดสิ่งใหม่บนโลกใบนี้ซิ สิ่งที่มันไม่เคยเกิดขึ้นแล้วมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดว่าจะทำได้ไม่ได้ สิ่งที่เราบอกกับเด็กๆ คือว่า ณ วันนี้มันยังทำไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่ขอให้ไปตั้งใจศึกษา ค้นคว้า แล้วก็ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ถ้าเกิดขึ้นจริงไม่ได้ด้วยตัวของเรา อย่างน้อยสิ่งที่เราคิดมันจะอินสไปร์คนอื่น

เวลาที่ฟังจินตนาการเด็ก แล้วรู้สึกว่าในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้หรอก พี่ซุปบอกเขามั้ย

ถ้าเป็นเรื่องจินตนาการเด็กพี่ไม่บอก เพราะว่าเราไม่มีสิทธิ์ตัดสินเลยว่าสิ่งที่เขาคิดถูกหรือผิด เราไม่ตัดสินจินตนาการ แม้กระทั่งโครงการที่เราจัดประกวดขึ้น เราก็ไม่ได้ตัดสินว่าทำได้ทำไม่ได้ ใช่หรือไม่ใช่ แต่มันจะเป็นการตัดสินจากการที่เราฟังจากหลายๆ คน แล้วเราคิดว่าจินตนาการของใครน่าจะเป็นตัวแทนในการได้รับรางวัลหรือเข้าสู่รอบต่อไป แต่เราจะไม่บอกว่าสิ่งที่คิดมามันไม่ได้เรื่องไม่ได้ความ

คือบ้านเรามีปัญหาเรื่องเวทีมันน้อย โครงการที่พี่ยกตัวอย่างมามันมาจากการที่คนชอบพูดว่าเด็กไม่มีความสามารถ แต่พี่ไม่ได้คิดอย่างนั้น พี่กลับคิดว่าเด็กมีความสามารถแต่เราไม่มีเวที ถามว่าในยุคที่เรายังเป็นเด็กตอนนั้นมีเวทีอะไรบ้าง ประกวดวาดรูป ร้องเพลง ความสามารถทางวิชาการ อ้าว แล้วถ้ามีเด็กบางคนทำอาหารเก่ง หรือเด็กบางคนมีจินตนาการที่พิเศษมากล่ะ มันไม่มีเวทีให้เขา แล้วเราก็จะรีบด่วนสรุปกันว่า เด็กไม่มีความสามารถ ไม่กล้าแสดงออก ซึ่งความจริงคือไม่ใช่ไม่แสดงออก แต่มันไม่มีเวทีให้ออกมาแสดง ดังนั้นเราก็เลยคิดว่าจากประสบการณ์ที่ทำงานตรงนี้มา 26 ปี หน้าที่เราคือการสร้างเวที ทำให้เวทีของเด็กมีความถี่เยอะๆ และกว้างที่สุด รองรับเด็กให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะโตไปเป็นอะไร แต่เขาเป็นอนาคตของเราแน่นอน

นี่คือเหตุผลที่พี่ซุปเคยบอกว่างานที่ทำเป็นการทำงานกับอนาคต

คือตอนพี่เป็นเด็ก ความฝันที่ไร้สาระที่สุดของพี่มีอยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรกก็คือครูถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แล้วในความเป็นจริงพี่ไม่กล้าตอบว่าไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ (เน้นเสียง) ตอนนั้นไม่รู้จริงๆ โห อยู่แค่ ป.4 เพื่อนก็ตอบกันสลอนเลย เป็นหมอ เป็นครู เป็นทหาร เป็นตำรวจ แล้วเขารู้จริงหรือเปล่า ไม่มีใครรู้หรอก แล้วเผอิญพี่เป็นคนที่นิสัยแต่เด็กคือไม่ชอบซ้ำกับใคร พี่ก็เลยบอกว่า ผมอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่เหยียบดวงอาทิตย์ได้แล้วไม่ตาย ครูก็บอกว่า บ้า นั่งลง (หัวเราะ) มันเป็นอารมณ์ตอบเหมือนกวนๆ แต่พี่ก็ไม่ได้อยากเป็นจริงๆ หรอก เราแค่ไม่อยากตอบซ้ำ ส่วนเพื่อนอีกคนชื่อประสิทธิ์ ลุกขึ้นยังไม่ทันตอบเลย ทุกคนในห้องบอก หมอ หมอ หมอ ประสิทธิ์เป็นหมอได้ครับ ครูก็บอกว่า เออ ประสิทธิ์ เธอเป็นหมอได้ ประสิทธ์ก็บอกว่า ครับ ผมเป็นหมอครับ แล้วทุกวันนี้ประสิทธิ์ทำอะไรรู้มั้ย

ทำอะไร

เป็นหมอ เรื่องจริง ประสิทธิ์เป็นหมอ เรียนโคตรเก่งเลย เมื่อสิบกว่าปีก่อนเจอประสิทธิ์โดยบังเอิญที่สยาม ด้วยสิ่งที่เป็นปริศนาในชีวิตพี่มาก พี่วิ่งไปหาประสิทธิ์เลย ถามว่าประสิทธิ์ทำอะไรอยู่ ประสิทธิ์บอกว่าเรียนแพทย์เฉพาะทาง พี่ก็ถามว่า ‘เฮ้ย ถามจริง ถ้าเลือกได้ตอนนี้ ไม่ต้องสนอะไรเลยนะ อยากเรียนอะไรวะ’ ประสิทธิ์บอกว่าวิทย์คอมฯ

เป็นไงล่ะ มันตรงกับทฤษฎีพี่เลย เราไม่รู้หรอกว่าเราอยากเป็นอะไร เพราะว่ากระบวนการเรียนรู้หรือการศึกษาในบ้านเรามันไม่ได้ทำให้เด็กค้นหาตัวเองจนเจอแล้วก็รู้ว่าอยากเป็นอะไร คือพี่ไม่ได้บอกว่าประสิทธิ์เป็นหมอไม่ดีนะ เขาเป็นหมอที่ดี เพียงแต่ว่าเขาก็ค้นพบว่าจริงๆ สิ่งที่เขาอยากเป็นคืออีกสิ่งหนึ่ง ดังนั้น นี่ถือเป็นโอกาสถ้าเราสามารถทำอะไรบางอย่างให้เด็กๆ  ได้เปิดประสบการณ์ไปเจอสิ่งที่หลากหลาย ทำให้พบเจอว่าเขาชอบอะไร แล้วเขาจะได้รู้ว่า อะไรที่มันใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นความสุขของเขาในชีวิต แล้วเขาจะได้ทำสิ่งนั้น ลองนึกภาพคนที่มีความสามารถแล้วทำงานทุกวันด้วยความสุขเพราะว่านี่คือความฝันของเขาสิ มันจะทะลุทะลวงขนาดไหน

แล้วความฝันที่ไร้สาระอีกเรื่องล่ะ

อีกเรื่องคือพี่อยากพาทีมไทยไปบอลโลก พี่ชอบเตะบอลพลาสติก แต่เตะไม่เก่งเลยนะ ตอนนั้นคุยกับเพื่อนว่า เฮ้ย อีก 4 ปีพวกเราจะพาไทยไปบอลโลก จำได้ตอนนั้นนั่งกินน้ำเต้าหู้กันอยู่ แล้วเพื่อนก็ถามว่า เฮ้ย แล้วเราจะไปยังไงวะ พี่ก็นิ่งไปพักนึง สงสัยเราต้องพายเรือไปว่ะ คือทุกคนต่างรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่พูดกันเล่นๆ แต่ว่าเรามาดูกัน ในวัย 15 ความฝันนั้นพี่มีสิทธิ์ฝันนะ ในวัย 19 พี่ก็ยังมีสิทธิ์ฝัน ในวัย 23 พี่ก็ยังมีสิทธิ์ฝัน แต่พอมัน 27 31 35 38 พี่จะพบว่าความฝันเหล่านั้นได้ล่มสลายไปแล้ว คุณไม่มีสิทธิ์เป็นสิ่งนั้นได้แล้ว คุณไม่มีทางได้ติดทีมชาติ คุณไม่มีทางได้ไปบอลโลกแล้ว ความฝันมันมีอายุของมัน คุณฝันอยากไปบอลโลกคุณต้องติดทีมชาติตอนอายุเท่าไหร่ล่ะ แล้วพอติดทีมชาติคุณจะต้องขับเคลื่อนทีมชาติของคุณอีก

แต่พี่เชื่อว่าความฝันส่งต่อกันได้ พี่ถึงพยายามจะพูดเรื่องเวที ถ้าเราไม่สามารถพาไทยไปบอลโลกได้ในยุคของเรา เราสามารถส่งเสริมให้เด็กของเรามีศักยภาพด้านกีฬาได้อย่างไรบ้าง ในความสามารถที่เรามี นี่คือสิ่งที่เรามองว่า บางไม้มันส่งต่อกันได้ พี่ถึงพยายามจะทำอะไรที่เป็นเวทีให้เด็กเยอะๆ

ตอนที่เริ่มทำรายการ ซูเปอร์จิ๋ว วันแรกพี่ซุปเป็นคนรักเด็กอยู่แล้วหรือเปล่า

ตอนนั้น พี่แอ้-กรรณิกา ธรรมเกษร ก็ถามพี่ว่า ‘ซุปรักเด็กมั้ย’ เราก็สงสัย ทำไมพี่เขาถามคำถามนี้ แต่เราเป็นคนไม่ค่อยหลอกตัวเอง แล้วก็จะไม่หลอกคนอื่น เราก็ถามตัวเองว่าเรารักหรือเปล่านะ เราว่าเราไม่ได้รักเด็กมากกว่าคนอื่น มีคนที่รักเด็กน่ะเรารู้ แต่เราไม่แน่ใจว่าเราเป็นคนที่รักเด็กมากกว่าคนอื่น เราก็รักเด็กเท่ากับทุกคนแหละ เราก็คิดเร็วๆ แล้วตอบไปว่า ‘ผมชอบเล่นกับเด็กครับ’ เราไม่ได้ตอบว่ารักเด็ก คือตอนนั้นเขากำลังจะทำรายการเกี่ยวกับเด็ก แล้วก็หาพิธีกร และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามาทำ ซูเปอร์จิ๋ว ในครั้งแรก

แล้วตอนไหนที่รู้ตัวว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ เพื่อทำรายการเด็ก

พี่ไม่คิดว่าพี่เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แต่เราค้นพบว่ามันเหมือนเป็นพันธกิจของเรา พอทำไป 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ปี 6 ปี จนถึงวันที่เราไม่ได้เป็นพิธีกรอย่างเดียวแล้ว แต่เราทำรายการนี้ด้วยตัวของเราเอง คือตอนนั้นรายการจำเป็นต้องเลิก ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไป คนมาบอกว่ารายการต้องเลิก ก็คงจะเลิก แต่สำหรับพี่ มันเป็นความรู้สึกหวิวๆ เฮ้ย มันไม่ใช่งานแล้วล่ะ มันเป็นมากกว่างาน มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราแล้ว

เราก็เลยบอกกับพี่แอ้ว่าถ้าจำเป็นต้องเลิก ผมอยากขอทำต่อ แล้วก็อยากลองเสี่ยงดูว่ามันจะเป็นยังไงในความสามารถที่เรามี ก็วัดกันสักตั้ง ดูว่าถ้าเราจะทำเพื่อสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นมากกว่างานจะไปได้นานขนาดไหน แล้ว ณ วันนั้นก็คิดอย่างเดียวเลย คือโลว์คอสต์มาร์เก็ตติ้ง ทำให้ถูกที่สุดในงบประมาณที่มี แล้วก็กะว่าแค่ไหนแค่นั้น ลองดูเผื่อได้ แต่องค์ประกอบอะไรที่มาเกื้อหนุนไม่มีเลยนะ เศรษฐกิจดาวน์สุดๆ ลูกค้ายกเลิกสัญญา ฟองสบู่แตก ตอนนั้นต้มยำกุ้ง ล้มระเนระนาด

จุดเปลี่ยนคือจุดไหน

เราทำไปสักพักนึง แล้วเรารู้สึกว่าถ้าเราทำแบบเดิมมันก็เหมือนสิ่งที่เคยทำแล้วจำเป็นต้องเลิก ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าเราต้องทำใหม่ แล้วที่เราบอกว่าเราทำรายการให้เด็กดู อยากทำรายการให้เด็กสนุก แล้วเด็กเขารู้สึกยังไง เราไม่เคยรู้ ถ้าอย่างนั้นเราลองคุยกับเขามั้ยล่ะ เราก็เลยทำวิจัย แล้วก็พบว่า เราคิดไปเองเยอะมาก

ที่ว่าคิดไปเองเช่นอะไร

พี่ว่าสิ่งที่อันตรายที่สุดของการทำรายการเด็กคือความปรารถนาดีฝ่ายเดียว อยากให้ อยากเตือน อยากสอน อยากบอก เด็กก็บอกว่ามันน่าเบื่อมาก ลำพังเรียนหนังสือก็น่าเบื่ออยู่แล้ว คือถ้าสมมติเราสามารถทำรายการให้เป็นโมเมนต์เดียวกับเด็กอ่านการ์ตูนได้ นั่นแหละ คือบรรลุของการทำรายการ

19 ปีที่ผ่านมาเราปรับรายการทุก 2 ปีนะ เราจะเปลี่ยนตลอดเวลา คือรายการเด็กต้องลงทุน การลงทุนมีหลายอย่างมาก ด้านโปรดักชัน ด้านฉาก ด้านของการเข้าหาเด็ก คีย์เวิร์ดอันนึงที่เราได้จากการคุยกับเด็กคือรายการเด็กเป็นของคนกรุงเทพฯ เด็กบอกว่าก็พี่อยู่แต่ในห้องส่ง นี่คือเหตุผลที่ ซูเปอร์จิ๋ว ยุคนั้นเดินทางเยอะมาก เดือนนึงอัดรายการ 40 ครั้ง คือมันเป็นความเชื่อของเรานะ บางคนก็บอกว่าเราทำผิด มันทำเกินรายการทีวี รายการทีวีไม่ต้องทำขนาดนั้น แต่เราก็บอกว่า เราก็ทำมากกว่ารายการทีวีไง เราทำเพื่อคลี่คลายความรู้สึกในใจเราที่จะเข้าถึงเด็กได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือพี่ไม่ได้มองงานที่พี่ทำเป็นธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วนะ เพราะถ้าทำธุรกิจแบบนั้นเราต้องไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่ทำงานที่เกี่ยวกับเด็ก เพราะการทำอะไรที่เกี่ยวกับเด็ก เราจะคิดถึงธุรกิจทั้งหมดไม่ได้ เราต้องคิดถึงเด็กด้วย มีข้อเสนอเยอะมากมาที่รายการ พวกชิงโชค พวกโทร 1900 เรารับไม่ได้เลยนะ มีข้อเสนอเยอะเลย คือถ้าเป็นในเชิงธุรกิจทำได้ไง แต่ถ้าในงานที่เราทำ บางอย่างทำไม่ได้

ที่เคยบอกว่าบ้านเรารายการเด็กมีน้อย ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น คิดว่ามันเป็นเพราะอะไร

เราอยู่ในประเทศที่ทุกคนเชื่อว่าเด็กคืออนาคต แต่ว่าองค์ประกอบในการสนับสนุน มันไม่ได้สนับสนุนมากพอ ดังนั้นคนที่ทำรายการเด็กมักจะอยู่ในภาวะที่ลำบาก แร้นแค้น คือธุรกิจของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ขับเคลื่อนผ่านโฆษณาถูกมั้ย ซึ่งโฆษณาพิจาณาจากเรตติ้ง รายการเด็กเรตติ้งไม่ดี ถามว่าเรตติ้งไม่ดีแล้วรายการเด็กอยู่ตรงไหน ก็อยู่เช้าๆ พอโฆษณาไม่มี งบประมาณในการผลิตก็น้อย พองบในการผลิตน้อยมันก็จะไม่มีโอกาสสร้างโปรดักชันที่ดึงเรตติ้งได้มากๆ มันเป็นวังวนที่ยากมาก คือในประเทศที่เขามีสภาพสังคม เศรษฐกิจ ต่างจากเรา เขาจะปฏิบัติต่อรายการเด็กต่างออกไป

พี่ซุปเคยสังเกตรายการเด็กของประเทศพัฒนาแล้วบ้างไหม ว่าเขาอยู่กันยังไง ยากลำบากเหมือนเราไหม

พี่เคยถามคนของสถานี NHK ว่า คอนเทนต์ที่คุณทำดีมากเลยนะ คนคิดคือใคร เขาบอกว่า เขาระดมเอเจนซี่ในญี่ปุ่นมาช่วยกันคิดคอนเทนต์ แล้วมันมี CG ในนั้นด้วย เลยถามว่า ใช้ตังค์เยอะมั้ย เขาบอกว่า ตอบไม่ได้ ไม่ใช่ไม่อยากตอบนะ แต่เขามีหน่วยงานที่ทำ CG ของเขาเลย พี่คิดในใจว่าบ้านเราคงอีกนาน

คือวิธีคิดต่างกันแล้ว เขามีหน่วยงานที่เชื่อว่าเด็กสำคัญ แล้วก็เชื่อว่ารายการโทรทัศน์ที่ดีมีประโยชน์ต่อเด็ก เขาก็จะมีองคาพยพต่างๆ มาร่วมมือกัน รายการนั้นเป็นรายการที่ระดมครีเอทีฟมารวมตัวกันเพื่อทำรายการให้เด็กดู มันมีแพสชันมาก พี่ดูแล้วถามเขาว่า คุณชัวร์นะว่านี่เป็นรายการเด็ก เพราะผมดูแล้วรู้สึกว่ามันเป็นรายการเกี่ยวกับการดีไซน์ เขาบอกว่า ใช่ นี่คือรายการเด็ก เพราะเราออกอากาศตอน 8 โมง มันคือกลุ่มเป้าหมายเด็ก เขาบอกว่าเขาได้ข้อสรุปกันแล้วว่าในอนาคตข้างหน้า มนุษย์จะมีความสามารถในการแข่งขันเท่าเทียมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เด็กญี่ปุ่นต่างจากเด็กประเทศอื่นคืออาร์ตไดเรกชัน เขาต้องการที่จะใช้ดีไซน์สร้างความต่างให้กับสินค้าญี่ปุ่นในอนาคต ดังนั้นเขาจึงปลูกฝังสิ่งนี้ให้กับเด็กของเขา โอ้ย ของเราคงอีกนาน นึกออกไหม

แต่พี่พูดหลายครั้งว่าเราจะไม่ร้องโวยวายนะว่าทำไมไม่มีคนสนใจ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่วันแรกที่เราทำ เรารู้อยู่แล้วว่าจะประสบภาวะนี้ เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะพายเรือไปอยู่ในมหาสมุทรที่มีคลื่นแรง แล้วในภาวะที่ฝนกระหน่ำก็จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ คือคนเขาก็เตือนแล้วว่าเรือเล็กอย่าออกจากฝั่ง แต่เราออกไปด้วยความเชื่อว่าเราต้องทำสิ่งนี้ ไม่มีใครบังคับเราเลย พี่ถึงไม่ตีโพยตีพาย ก็ทำของพี่มาเรื่อยๆ

แล้ว ซูเปอร์เท็น มีอะไรเปลี่ยนไป ทำไมมันจึงกลายเป็นกระแสอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

คือสถานีให้โจทย์เราว่ารายการเด็กไม่มีคนดู แล้วดูจากเรตติ้งมันก็น้อยจริงๆ ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำรายการเด็กที่มีเรตติ้ง แล้วรายการเด็กที่มีเรตติ้งคืออะไร ในเมื่อกลุ่มเด็กก็มีแค่นั้น ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำรายการเด็กที่ทุกคนดูได้ ซึ่งมันไม่ง่ายนะเพราะว่า ซูเปอร์จิ๋ว เดิมๆ ผู้ใหญ่ไม่ดูหรอก เราก็เลยคิดว่าเราต้องลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยทำ คืออารมณ์ทุบหม้อข้าวเลย จึงเป็นที่มาของการคิดรูปแบบของการเปิดเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถที่เขามี เพื่อแลกกับความฝันที่เขาอยากได้ ส่วนความฝันนั้นจะเป็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน บางคนก็มอบความฝันให้ตัวเอง บางคนก็มอบความฝันให้คนอื่น บางคนก็นำความฝันมาช่วยเยียวยาปัญหาในครอบครัว

ปกติเราจะติดภาพรายการ ซูเปอร์จิ๋ว อยู่ตอนเช้า ทำไม ซูเปอร์เท็น จึงย้ายมาอยู่ช่วงเย็น

ตอนแรกสุดรายการ ซูเปอร์เท็น จะอยู่ช่วงเช้านั่นแหละ แต่พอเราส่งเทปแรกไปให้สถานี ทันทีที่ดูเทปแรก เขาบอกว่ารายการนี้ดีพอที่จะอยู่ช่วงเย็นนะ อันนี้ต้องให้เครดิตทางสถานี เราจึงไปฉายช่วงเย็น ซึ่งในเรื่องเบื้องหลังของการทำงานยากมากนะ งบประมาณเราใช้ทีมกล้องที่ดีที่สุดในการทำโปรดักชัน จัดแสง ทำฉาก คือต้นทุนมากกว่าเดิม 3 เท่า ทั้งชีวิตไม่เคยทำแพงขนาดนี้ นี่คือแพงที่สุด แล้วปัญหาที่ตามมาคือลูกค้าที่เคยซื้อรายการไม่ได้ตามมาด้วย 2 เดือนแรกนี่ขาดทุนมหาศาลเลยนะ เนื่องจากว่าเราต้องอัดรายการไว้ล่วงหน้า สปอนเซอร์ยังไม่เข้า เพียงแต่พี่คิดว่าเราโชคดีที่ความตั้งใจที่เราทำมันส่งผล เราพบว่าสิ่งที่เราพยายามทำมันเป็นไปตามนั้นจริงๆ คือเราทำรายการเด็กเพื่อทุกคน แล้วพอดูข้อมูลเรตติ้งก็พบว่าเรตติ้งของกลุ่มเด็กดูเยอะกว่าเดิมเป็น 20 เท่า แล้วผู้ใหญ่ก็ดูเยอะมาก ล่าสุดเรตติ้งเราขยับมาอยู่ที่หนึ่ง เมื่อเทียบกับรายการอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน

คิดว่าทำไม ซูเปอร์เท็น จึงมีคนดูมากมายมหาศาลขนาดนี้ทั้งที่เป็นรายการเด็ก

เผอิญว่าสิ่งที่เราทำคงโดนใจคน ตรงที่ว่าคลิปไม่ได้ยาวมาก เรื่องราวชีวิตน่าสนใจ ทุกคนรู้สึกทึ่ง ว้าว แล้วก็ภูมิใจไปกับเด็ก กับอนาคตของประเทศ คือทุกคนคงรู้สึกเหมือนที่พี่รู้สึก ว่าเรามีที่พึ่งแล้ว เราเห็นพีเตะบอลเราก็รู้สึกว่า ถ้าเด็กคนนี้ได้รับการทะนุถนอมจากวันนี้ไปจนถึงอนาคต เรามีสิทธิ์ไปบอลโลกจริงๆ นะ

หรือเราดูเด็กบางคนที่มีความชำนาญในการจำ เราก็รู้สึกว่า เห้ย ถ้าเราป้อนข้อมูลให้เขาดีๆ เด็กคนนี้เป็นอะไรก็ได้ จะเป็นหมอ เป็นสถาปนิก เป็นนักวิทยาศาสตร์ คือพี่รู้สึกว่า ซูเปอร์เท็น ทำให้ทุกคนมองเห็นอนาคตของประเทศผ่านการมองเด็กแต่ละคน เหมือนกับที่พี่เคยเห็นมาตลอด แล้วพี่อธิบายไม่ได้

พี่คิดว่า ซูเปอร์เท็น คือการขยายภาพที่ทีมงาน ซูเปอร์จิ๋ว เห็นมาตลอดยี่สิบกว่าปีว่าประเทศเรามีอนาคตนะ เพราะว่าเด็กคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทุกประเทศ สำคัญกว่าเพชร สำคัญกว่าทองคำ เพราะว่าคุณขุดมาเจอเพชรมันก็คือเพชร คุณขุดมาเจอดีบุกมันก็คือดีบุก แต่คุณเจอเด็กคุณไม่สามารถบอกได้เลยว่าเขาจะเป็นอะไร เป็นหมอ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นได้หมดแม้กระทั่งคนวิ่งราว ขึ้นอยู่กับการเจียระไนจากผู้ใหญ่

ทุกวันนี้รายการ ซูเปอร์จิ๋ว เปลี่ยนแปลงไปมาก แล้วมีอะไรบ้างไหมที่ไม่เปลี่ยนแปลง

เจตนารมณ์เราไม่เปลี่ยน เรายังยืนยันจะทำรายการเป็นเวทีให้เด็ก ยกตัวอย่างเช่น น้องพีที่ยิงชนคาน ถามว่าพีเก่งเพราะ ซูเปอร์เท็น มั้ย ไม่ใช่นะ เขามีต้นทุนของเขามาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราทำให้คนดูเห็นว่า เด็กคนนี้มีอนาคตนะ แล้วก็ต่อยอดตรงที่มีผู้ใหญ่เห็น คิง เพาเวอร์ อุปการะเด็กคนนี้จนก้าวขึ้นสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คือพี่ไม่ได้รู้สึกเลยว่า ซูเปอร์เท็น ทำอะไรให้เด็กพวกนี้ หน้าที่ ซูเปอร์เท็น คือเป็นเวที เป็นบันได เด็กเดินมาเขาก็สูงขึ้นนิดหนึ่ง คนก็มองเห็นเขา แต่เขามีของเขามาเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว

แล้วท่ามกลางเด็กจำนวนมากมายมหาศาลในประเทศ รายการให้ค่ากับเด็กแบบไหน เลือกเด็กยังไง

สิ่งที่เราคุยกับทีมงานคือจะแยกออกเป็นองค์ประกอบหลายๆ อย่าง หนึ่งคือ เราไปดูเด็กที่มีความชำนาญในสิ่งที่เขาชำนาญ สองคือ ลองไปดูเด็กที่ลำบาก ไปดูเด็กที่ขาดโอกาส ซูเปอร์เท็น น่าจะเป็นโอกาสให้กับเขาได้ อย่างเช่นน้องใบตอง ซึ่งเล่นดนตรีได้ค่อนข้างหลากหลาย อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ว่าถามว่าดีมหัศจรรย์มั้ย ก็ไม่ถึงกับมหัศจรรย์ แต่ว่าตัวเขาน่าสนใจตรงที่ว่าชีวิตเขาลำเค็ญมาก ทุกครั้งหลังเลิกเรียนเขาจะไปเล่นดนตรีไทยเปิดหมวก เพราะแม่ทำงานไม่ได้ แม่โดนรถชน เหล็กต่อทั้งตัว ยืนนานไม่ได้ นั่งนานไม่ได้ เขาไปเล่นตามงานศพ พอเล่นตามงานศพเสร็จ ก็ไปขอปันข้าวจากครัวเพื่อไปกินวันรุ่งขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ทีมงานสะอึกก็คือพอเราฟังชีวิตเขา แล้วเรารู้สึกว่าทำไมชีวิตน้องหนักอย่างนี้ แต่ตัวน้องเขาไม่รู้สึกอะไรเลย เด็กเขาไม่รู้สึกว่าชีวิตเขาหนัก เพราะนี่คือชีวิตของเขา

เวทีวันนั้นพี่ร้องไห้แบบเละเทะเลยนะ วันนั้นคือทุกคนบนเวทีร้องไห้ กรรมการก็ร้องไห้ มีอยู่คนเดียวที่ไม่ร้องไห้คือเด็กคนนั้น น้องใบตองไม่ร้องไห้ คือพอกรรมการฟังเรื่องราวชีวิตเขาแล้วรู้สึกเหมือนกันว่าทำไมชีวิตหนูหนักขนาดนี้ แล้วสิ่งที่เขาอยากได้ คือเขาอยากได้กระเป๋าใส่ซอ ซึ่งมันถูกมาก แค่พันกว่าบาท ถามว่าทำไมถึงอยากได้กระเป๋าใส่ซอ เพราะว่านั่งมอเตอร์ไซค์แล้วมันกระแทกกับรถ แล้วถ้าซอเป็นอะไรไปเขาจะไม่มีอุปกรณ์ในการดูแลครอบครัว แล้วแม่เขาก็บอกว่า ทุกวันนี้สิ่งที่น้องถามแม่มีอยู่แค่เรื่องเดียวคือ เย็นนี้มีงานมั้ยแม่

พี่บอกกับน้องๆ ในทีมว่า ถ้าเราไปถึงจุดที่เด็กที่ไม่ได้มีความสามารถมหัศจรรย์ แต่เราสามารถเล่าเรื่องเขาผ่าน ซูเปอร์เท็น ได้ นั่นแหละคือความสำเร็จที่แท้จริง ทุกวันนี้คนทึ่งกับเด็กที่มีความสามารถมหัศจรรย์ใช่ไหม เพราะนี่คือแกนของรายการ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถนำเสนอเด็กที่มีความสามารถในระดับมาตรฐาน แต่เราเล่าเรื่องเขาแล้วทำให้คนรู้สึกชื่นชมได้ นั่นแหละ ความสำเร็จของพวกเรา

สิ่งที่พี่ซุปมักจะบอกกับเด็กๆ ที่ได้เจอให้เขาจดจำไปจนโตคืออะไร

พี่ก็บอกว่าทะนุถนอมตัวเองไว้ เป็นเด็กดีแบบนี้ตลอดไปนะลูก เราอยู่กับเขา 5 ชั่วโมง 6 ชั่วโมง เราไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้หรอก แต่เราสามารถสร้างโมเมนต์ที่ดีให้กับเขาได้ บางสิ่งที่พี่บอกกับเด็กๆ พี่ไม่ได้พูด แต่พี่ใช้วิธีการของการทำรายการโทรทัศน์ ทำให้เราได้ครีเอตโมเมนต์บางอย่างที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เราได้สร้างความรู้สึกนั้นให้กับเด็ก แล้วพี่เชื่อว่าอันนี้จะเป็นต้นทุน เป็นพลังให้กับชีวิตของเขา สิ่งเหล่านี้พี่ไม่ได้บอกหรอก แต่ทีมงานทุกคนช่วยกันทำ เสียงปรบมือ คำชื่นชมจากกรรมการ ข้อแนะนำ ข้อคิดเห็น จะทำให้เด็กๆ รู้สึกภูมิใจกับตัวเอง และเดินอยู่บนเส้นทางที่ไม่ผิดพลาด เพราะว่าตัวเขารู้แล้วว่าเขามีคุณค่า ทุกคนทำให้เขารู้สึกจากสิ่งที่เขามีอยู่ แล้วเมื่อคนรู้สึกภูมิใจกับตัวเอง มีคุณค่ากับตัวเอง เขาก็จะทะนุถนอมอนาคตของตัวเอง

เคยมีเด็กเดินเข้ามาขอบคุณพี่ซุปบ้างมั้ย

เราต้องขอบคุณท่านผู้ชม แล้วพี่รู้สึกอย่างนี้มาโดยตลอด ทุกครั้งที่มีเด็กเดินมาบอกว่าโตมากับ ซูเปอร์จิ๋ว พี่รู้สึกขอบคุณที่มาเติมกำลังใจให้กับเรา เพราะนี่คือความสุขของคนทำงาน มันเหมือนกับคุณขายลูกชิ้น ขายเกาเหลา แล้วมีคนเดินมาบอกว่า ตอนเด็กๆ เคยกินร้านคุณนะ มันเป็นความสุขนะ แล้วตลกมากเลย ในเฟซบุ๊กมันเพิ่งจะมีแจ้งเตือนสเตตัสวันนี้เมื่อปีที่แล้ว วันนั้นมีเด็กคนนึงเขาอัดรายการกับพี่ แล้วเขาบอกว่า ‘พี่ซุป แม่หนูเคยมาออกรายการกับพี่ด้วยนะ’ พี่ก็ถามว่า ยังไงนะ แล้วก็บอกน้องว่าแป๊บนึงนะ เดี๋ยวพี่จูงมือไปหาแม่ แล้วแม่ก็บอกว่า ‘หนูเคยออกรายการพี่จริงๆ ตอนนั้นหนูมาแสดงละคร’ แล้วเขาก็พูดชื่อเด็กคนหนึ่งที่พี่จำได้ขึ้นมา แล้วแม่น้องเขาก็ส่งรูปนี้มาให้ (เปิดโทรศัพท์ ยื่นรูปให้ดู) เป็นรูปตอนที่เขาเคยออกรายการ ตอนนี้เขามีลูกแล้ว

เราถามอย่างนี้ว่า เราเกิดมาทำไม แล้วอะไรคือสิ่งที่เรามีความสุขในทุกวัน พี่เคยสะสมโมเดลอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งตู้ของพี่เต็มไปด้วยโมเดล แล้วพี่ไปร้านของเล่นแล้วพบว่าโมเดลที่มีมันมากกว่าในร้านของเล่นแล้ว หลังจากนั้นพี่ก็เลิกสะสมเลย พี่คิดว่ามันเป็นอารมณ์เดียวกับ ฟอร์เรสท์ กัมพ์ ที่วิ่งๆ อยู่แล้วอยู่ดีๆ ก็หยุดวิ่ง คนก็งงว่าทำไมหยุดวิ่ง คือมันเหมือนบรรลุซึ่งความฝัน แต่ในสิ่งที่พี่ทำอยู่ตรงนี้ พี่รู้สึกว่าอันนี้คือความสุขที่เราได้ทำสิ่งนี้อยู่ พี่รู้สึกว่าการที่เราได้เป็นเวทีให้เด็กเดินขึ้นมาแล้วก้าวขึ้นไปคือความสุข พี่มีความสุขกับสิ่งนี้ นี่คือพลังใจ

พี่เคยไปงานวันเด็ก ตอนนั้นจัดกับช่อง 9 เด็ก 8,000 คน แล้วพี่เล่นเกมเสียงแหบเลยนะ แต่เรามีความสุขมาก จริงๆ หน้าที่เราคือการทำให้เขามีความสุขนะ แต่พอเขามีความสุข เรากลับมีความสุขมากกว่า นั่นคือสิ่งที่พี่รู้สึกว่ามันคือความหมายของชีวิต เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับการบอกว่านี่คือหน้าที่ของเรา มันอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดมาในครั้งนี้ก็ได้

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ