หากคุณเป็นหนึ่งในสามล้านห้าที่ติดตามเพจข่าวอาชญากรรมที่ชื่อ ‘อีจัน’ คุณเคยสงสัยไหมว่า อีจันเป็นใคร

หรือคุณเคยสงสัยไหมว่า อีจันเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อายุเท่าไหร่ แล้วทำไมอีจันจึงพาตัวเองไปอยู่ในคดีฆาตกรรมต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน

ผมเองเก็บกุมความสงสัยเหล่านั้นไว้ในใจ จนกระทั่งวันหนึ่งก็ได้เบาะแสถึงผู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘อีจัน’ จากการแนะนำของนักข่าวรุ่นพี่ที่เคารพคนหนึ่ง และพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ จนในที่สุดเราก็นัดหมายกันบ่ายวันหนึ่งในฤดูฝน

สิ่งที่ดึงดูดให้ผมอยากคุยกับใครสักคนที่ไม่รู้แม้แต่ชื่อเสียงเรียงนามคือ ผลงานของเขา (หรือเธอ) ปฏิเสธได้ยากว่า ข่าวที่อีจันนำเสนอมีอิทธิพลต่อโลกโซเชียลฯ ไม่น้อย ยอดตัวเลขคนกดไลก์เพจเกิน 3 ล้านภายในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปีบ่งบอกอะไรได้มากมายในยุคที่เราก้มๆ เงยๆ อยู่ในโลกออนไลน์แทบทั้งวัน-ทุกวัน

นอกจากความหวือหวาแบบสื่อยุคใหม่ อีจันยังมีความเจาะลึก กัดไม่ปล่อย แบบนักข่าวยุคเก่า ซึ่งหาได้ยากบนโลกออนไลน์

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเดินทางไปสัมภาษณ์โดยแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผู้ที่ผมกำลังจะสัมภาษณ์ ไม่รู้ชื่อนามสกุล ไม่รู้รูปพรรณสัณฐาน ไม่รู้เส้นทางชีวิตที่ผ่านมา ไม่รู้นิสัยใจคอ ข้อมูลเดียวที่ผมรู้มาจากข้อความที่อยู่ในช่อง ‘Info’ เพจเฟซบุ๊กอีจัน

เพจอีจันเกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักข่าวอาชญากรรม ที่มีประสบการณ์ทำข่าวคดีมายาวนานกว่า 20 ปี และเห็นความอยุติธรรมที่มีในสังคมอย่างมากมายในทุกระดับ และทุกชนชั้น

พวกเราอีจันจึงเชื่อว่า การทำข่าวเผยแพร่ ตีแผ่ความจริง และยืนข้างความเป็นธรรม โดยปราศจากผลประโยชน์มืด คือ ความจำเป็นที่ยิ่งใหญ่ที่สังคมต้องการ

ดังนั้น อีจันจึงจะเป็นเพจที่ประกาศ แต่เรื่องจริง และมุ่งมั่นในการสร้างความรู้ทันต่อทุกกลโกง และความไม่เป็นธรรมในทุกรูปแบบของสังคม

เมื่อรถโดยสารของผมถึงที่หมาย ผมเดินลัดเลาะตามคำอธิบายของเสียงจากปลายสาย จนมาหยุดยืนอยู่ที่หน้าสำนักงานแห่งหนึ่ง เท่าที่สังเกตภายในห้องทำงานขนาดราว 35 ตารางเมตร บรรจุนักข่าวและทีมงานกว่าสิบชีวิต

หญิงสาวซึ่งเป็นเลขาฯ ของแหล่งข่าวเดินนำผมไปยังห้องประชุม

พี่จัน คนที่นัดมาแล้วค่ะ” ผู้เป็นเลขาฯ บอก ก่อนจะกวักมือเรียกผมเข้าไปในห้องนั้น

อีจัน หรือ พี่จัน ของน้องๆ ในทีม นั่งอยู่ตรงหน้าผม

ตรงหน้าของเธอ-ใช่ อีจันเป็นผู้หญิง มีโน้ตบุ๊กหนึ่งเครื่อง กระดาษเอสี่หนึ่งแผ่น และกล่องปากกาหลากหลายสีแบบที่นักเรียนใช้จดเลกเชอร์วางอยู่ข้างๆ พร้อมที่จะทำงานทันทีหากมีสายโทรศัพท์เข้าจากนักข่าวที่ลงพื้นที่

และเมื่อเธอให้สัญญาณของการเริ่มต้นสนทนา คำถามต่างๆ ที่ค้างคาก็พรั่งพรูออกมาราวห่าฝนที่เพิ่งหยุดลงไปเมื่อเช้า

อีจัน

ขอถามสิ่งที่ทุกคนคงอยากรู้ก่อน อีจันเป็นใคร

เราเป็นนักข่าว เราเรียกตัวเองว่าเป็นนักข่าวเสมอ ต่อให้ไม่อยู่องค์กรก็เถอะ เพราะว่างานเราเป็นงานข่าว แต่มันเป็นงานข่าวที่เรารับจ้างผลิตข่าวที่เป็นรายการ ฉะนั้นหมวกที่เราใส่อยู่ตลอดเวลาก็คือการทำข่าวอาชญากรรมเชิงซับซ้อน

เราเริ่มชีวิตนักข่าวอาชญากรรมที่ไอทีวี ตอนแรกเราเป็นนักข่าวสายการเมืองมาก่อนที่เนชั่น แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นอาชญากรรม เพราะว่าวันหนึ่งเราจะรู้ว่าความจริงคืออะไร ข่าวการเมืองมันเป็นข่าวนามธรรม แตะต้องไม่ได้ ทุกอย่างมันเป็นคำพูด แต่ถ้าเป็นอาชญากรรม เวลาตายตายจริง ความจริงมันอยู่ตรงหน้า เกิดความรู้สึกขึ้นจริงๆ ไม่ต้องโกหก หรือถ้าโกหกมึงก็โกหกจริงๆ แล้วเราชอบสิ่งนี้ เราชอบความจริง ข่าวอาชญากรรมคือของจริง ถ้าเขาสูญเสียก็คือเขาสูญเสียจริงๆ ไม่มีเรื่องที่เราต้องคิดซับซ้อน แต่สิ่งที่คิดซับซ้อนจะไปอยู่ที่กลโกง ความชั่วร้ายของมนุษย์

เราทำสิ่งนี้มาตลอด 10 ปี ทำรายการอาชญากรรมตั้งแต่รายการ ทำผิดอย่าเผลอ, ห้องสืบสวนหมายเลข 9, อาชญากรรมหน้า 1 จนมาถึงตอนนี้รายการ แฟ้มสืบสวน รูปแบบคือการนำเสนอคดีที่มีความสลับซับซ้อน ดูยาก เอามาย่อยให้ดูง่ายและมีความเป็นดราม่า เหมือนหนังอาชญากรรมหนึ่งเรื่อง นี่คือสไตล์เราที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน แต่เราไม่ใช่นักข่าวเปิดหน้าเนาะ ฉะนั้นจะรู้เฉพาะคนที่อยู่ในวงการ แต่จะไม่รู้ในวงกว้าง เพราะเราเป็นคนไม่เปิดตัว

มีความจำเป็นอะไรหรือเปล่าที่ต้องปิดว่าตัวเองเป็นใคร

ไม่ เราขี้เกียจ (หัวเราะ) เราเป็นคนไม่ชอบสังคมวงกว้าง เราไม่ไปสมาคมนักข่าว ถ้าเราต้องการจะอยู่ในวงการแบบนั้น เราก็อยู่องค์กรไปแล้วล่ะ นึกออกไหม เรามาจากไอทีวี เราผ่านองค์กรใหญ่มา เราเรียนรู้งาน เรียนรู้สังคม เรียนรู้ความชอบของตัวเอง ในที่สุดเรารู้ว่าเราไม่ได้ชอบสังคมแบบนั้น แต่เราชอบทำข่าว เราก็เลยมาสร้างบริษัทของเราเล็กๆ อยู่ในองค์กรที่เรามีความคิดแบบหนึ่ง สร้างวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง และเป็นองค์กรที่อยากทำอะไรก็ได้ คล่องแคล่ว ไม่มีตัวตน ไร้ร่องรอย ไม่มีอีโก้ ไม่มีหมวก ไม่มีอะไรเลย นอกจากตัวเอง แล้วก็เคารพตัวเอง เคารพงานมากๆ เคารพความจริงมากๆ เคารพทุกสิ่งที่เราทำ

คือเราจะบอกเด็กๆ ในทีมเสมอว่า พวกเราไม่มีอะไรเลยเนาะ บริษัทเราก็แทบจะอยู่ในรู ไม่มีมาร์เก็ตติ้ง แต่ก็มีคนเรียกเราไปทำงานตลอด งานไม่เคยขาด เราไม่มีอะไรเลย ถ้าเราจะอยู่ได้เราต้องเจ๋ง เราถึงจะทำสิ่งนี้ได้และยืนระยะมาถึง 10 ปีโดยที่คุณไม่ต้องโฆษณาตัวเอง

ทำยังไงถึงมีงานตลอด 10 ปีทั้งที่คุณไม่โปรโมตตัวเอง

คุณต้องเคารพงาน งานของเราต้องเดอะเบสต์ แหล่งข่าวจะต้องรักเรา อยากได้อะไรเราต้องได้ เอ็กซ์คลูซีฟแค่ไหนถ้าเราจะเอาเราต้องได้ ถามว่าเขาจะให้เราเพราะอะไร เพราะเขาเคารพเรา เคารพในงานเรา เขาชอบงานเรา สมมติมีแหล่งข่าวสักคน เราเชื่อว่าคนคนนั้นจะจำเราจนถึงปัจจุบัน ถ้าใครได้คุยกับเราจะจำกันจนถึงวันนี้

เพราะอะไรแหล่งข่าวจึงจดจำคุณได้

เพราะว่าเราเคารพงานของเราทุกชิ้น เราไม่เคยมั่ว เราไม่บิด ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรขึ้นมาเราจะทำความเข้าใจมันอย่างจริงใจ แล้วเราก็จะไม่ทำอะไรละเมิด อะไรที่เขาไม่สบายใจแล้วเราได้ประโยชน์ก็ไม่ทำ อีกอันที่ตั้งไว้เป็นปณิธานก็คือ ช่วยอะไรได้จะช่วย ต่อให้เราองค์กรเราเล็กกระจิ๋วหลิว บางทีเราก็ปิดคดีให้แหล่งข่าวได้ บางทีเราจับคนร้ายให้เขาได้ บางทีเขาได้เงินคืนจากการถูกโกง สำหรับเราแค่นี้พอแล้ว เราแค่ต้องการให้งานของเราเป็นประโยชน์จริงๆ

แล้วสิ่งหนึ่งที่เราทำ และเราเชื่อว่าไม่ค่อยมีใครทำก็คือการติดตามเคส ทีมเราจะทำตั้งแต่ทำไมจึงเกิด แล้วหลังจากเกิด มีผลอะไร แล้วมีอะไรที่เราต้องตามต่อ ส่วนใหญ่คนจะไม่ตามแล้ว พอหมดกระแสทุกคนจะลืมแหล่งข่าวคนนี้ไป แต่สำหรับทีมเรา บางคนยังโทรหากันอยู่เลย บางคนก็คบกันมาเป็นเพื่อนจนถึงบัดนี้ จบแล้วก็ยังคุยกัน คือเราไม่ได้ทำงานแบบผ่าน ความสัมพันธ์เราจึงไม่ผ่านด้วย บางคนก็ยังเจอกัน บางคนก็ยังเอาของมาให้ เหมือนเป็นเพื่อนกันไป คือเราเจอกันในช่วงชีวิตยากลำบาก คนจะมาเจอเราได้คือช่วงชีวิตยากลำบากนะ ฉะนั้นจึงบอกว่า อย่าเจอจันเลย (หัวเราะ)

คือเราไม่ได้ทำงานเพื่อนำเสนอข่าวออกไปเท่านั้น แต่เราต้องการผลมากกว่านั้น เราต้องการความคอมพลีตของบางคดีเท่าที่เราทำได้นะ ไม่ใช่ว่าปิดได้ทุกคดี ทำอีจันนี่คดีเข้ามาเยอะมาก

อีจัน

สิ่งที่คุณทำไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจเหรอ

เราว่ามันเป็นหน้าที่สื่อนะ (นิ่งคิด) ใช่มั้ย สื่อคือใคร สื่อคือคนที่นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสังคม แล้วก็มีหน้าที่เฝ้าระวัง คอยบอกสังคมว่ามันเกิดอะไรขึ้น คอยให้สังคมรู้เท่าทันว่าตอนนี้กลโกงมันเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว ในขณะเดียวกัน เราสร้างสังคมที่ปลอดภัยได้ถ้าเพียงแต่สังคมรู้จักตระหนักและช่วยเหลือกัน ฉะนั้นการแจ้งเบาะแสโดยใช้สื่อเป็นเรื่องสำคัญ หรือการใช้สื่อเป็นคนกลางประสานกับตำรวจก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำไม่ได้ ชาวบ้านไปพูดให้ตำรวจเข้าใจคดีไม่ได้ เราเป็นข้อต่อที่ดีได้ เราจะไปนั่งฟังชาวบ้าน เราชอบฟังคน เราเป็นนักสรุป เราก็สกัดเป็นประเด็นแล้วก็ประสานตำรวจ คดีนี้มันเป็นแบบนี้ มีเบาะแสประมาณนี้ ถ้าประเด็นมาชัด แนวสืบจะชัด พอแนวสืบชัด และตำรวจมีศักยภาพ มันจะไปต่อได้

เราตอบไม่ได้ว่าคือหน้าที่สื่อมั้ย แต่เราทำได้น่ะ แล้วเรารู้สึกว่าเราทำแล้วได้ประโยชน์ มันเป็นสิ่งที่หายไปในบางเคส จิ๊กซอว์ตรงนี้มันหายไป จิ๊กซอว์ที่เชื่อมระหว่างแหล่งข่าวกับคนที่มีศักยภาพในการจัดการ ฉะนั้น เวลาเราเห็นปัญหา เราสามารถบอกได้ว่า มันขาดจิ๊กซอว์นี้อยู่ แล้วแค่ต่อจิ๊กซอว์นี้เข้าไปคดีมันอาจจะคลี่คลายได้ ซึ่งเราทำได้เพราะว่าเรารู้จักคนเยอะ เราทำได้เพราะเป็นนักข่าว เราทำได้เพราะเราทำงานกับตำรวจมาเยอะ แล้วเราไม่ได้ทำงานกับตำรวจแบบคนขอข่าวนะ เราไม่ใช่คนขอข่าว แต่เราเป็นคนแลกข่าว เราร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ไปขอตำรวจว่า พี่คะมีอะไรบ้างคะ

ทำไมถึงเลือกที่จะแลกข่าว

เพราะเราทำงานไง เราเป็นคนทำข่าว ไม่ใช่คนขอข่าว คือเขาพูดอะไรเราก็อยากรู้แหละ แต่ในขณะเดียวกัน ข่าวข่าวหนึ่งมันไม่ได้เกิดจากการที่เราไปนั่งฟังคนคนหนึ่งพูดแล้วเป็นข่าว แต่มันเกิดจากการทำข่าว เพราะข่าวหนึ่งข่าวมันคือสถานการณ์ที่ไม่ใช่คนคนเดียวจะตอบอะไรได้ทั้งหมด มันต้องกี่คนล่ะ ก็แล้วแต่กระบวนการ ถ้ามันต้องไปถึงขั้นอัยการก็คืออัยการ ถ้ามันต้องไปถึงขั้นศาลก็คือขั้นศาล เราต้องตามไปจนจบ แล้วเราจะเห็นภาพรวมของเรื่องเรื่องหนึ่ง ของคดีหนึ่งคดี

กับแหล่งข่าวบางคน ถ้าพูดความจริงแล้วตัวเองจะเดือดร้อน เขายอมพูดกับคุณไหม

ก็เห็นยอมเล่ากันนะ เชื่อมั้ยว่าตอนที่เรายังลงสนาม ถ้าเจอผู้ต้องหา ผู้ต้องหาจะอยากคุยกับเรา เราเป็นนักข่าวนี่แหละ ตำรวจก็จะอยากคุยกับเรา โจรก็อยากคุยกับเรา แปลกมาก

โจรเขารู้จักคุณมาก่อนมั้ย

โจรบางคนเป็นแฟนคลับเรานะ (หัวเราะ) มีอยู่เคสหนึ่งยังจำได้จนถึงวันนี้ ตอนนั้นเราทำรายการ ทำผิดอย่าเผลอ แล้วมีคนร้องเรียนเคสนึงมา เราก็ไล่จับ แล้วจับไม่ได้ ก็ออนแอร์ไปว่าพลาด จับไม่ได้ โดนมันหลอก แล้วเราก็บอกในรายการไว้ว่า “แล้วเจอกัน”

เราเป็นคนทำแฟ้มคดี เราจะมีแฟ้ม บางคดีปิดแล้วก็เก็บ คดีที่ยังไม่ปิดมันจะยังอยู่บนโต๊ะเราเสมอ แล้วมีจังหวะต่อได้เราจะต่อ เคสนั้นผ่านไปนานเท่าไหร่ไม่รู้ แล้วอยู่ๆ มันต่อได้ โจรเขาใช้โทรศัพท์หรืออะไรสักอย่าง เขาปรากฏตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เราก็เอาทีมลงไปกับตำรวจ เตรียมกล้องเตรียมอะไรพร้อม ก็คุยกับพนักงานโรงแรมว่าเราเป็นใคร เคสนี้เป็นแบบนี้ เราขอความร่วมมือหน่อย ก็ถามเขาว่า “คนที่มาพักเป็นใคร” เขาก็เปิดให้ดูว่าเป็นคนนี้ “แล้วไปไหน” เพิ่งออกไปประมาณ 2 ทุ่ม ปกติเขาจะเข้ามาเวลานี้ “โอเค ขอบคุณมาก แล้วเขาเข้าประตูไหน” พอรู้แล้วเราก็เดินสำรวจ เราเป็นคนต้องเซอร์เวย์สถานที่ทุกครั้ง เช็กว่ามีทางเข้ากี่ทาง แล้วจังหวะนั้นเดินสวนกับโจรพอดี เราดูทะเบียนราษฎร์ก็รู้ว่าใช่ เราหันหลังเดินตามทันที แล้วเราก็เรียก “เฮ้ย” คือตั้งใจให้หยุด แต่เขาวิ่งเลย เราก็วิ่งไล่จับ กระชากเสื้อเลย แล้วทีมก็มา เราก็ถามว่า แค่เฮ้ยทำไมต้องวิ่ง เขาบอกว่า “แค่เฮ้ยผมก็รู้แล้วว่าเสียงพี่ ผมดูรายการพี่ทุกตอน” ตอนนั้นเราเป็นพิธีกรปิดหน้า แต่เราลงเสียง เขาบอกว่า “แล้วผมรู้ด้วยว่าวันนึงผมจะเจอพี่ ผมจะเกม เพราะพี่บอกว่า แล้วเจอกัน”

ถ้าให้วิเคราะห์ คุณคิดว่าทำไมผู้ต้องหาจึงอยากคุยกับคุณ

เพราะเราคุยง่าย คือพอถึงเวลานึงเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง เราก็อยากทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เล่าซิ ไปทำอีท่าไหน คิดอะไร แล้วรู้ไหมว่าจะเจออะไร แล้วมีปัญหามั้ย แล้วจะให้ช่วยอะไรมั้ย คำถามเรามีไม่เยอะหรอกเวลาคุยกับโจร เราแค่อยากรู้ว่าแผนประทุษกรรมตรงกับที่เราคิดมั้ย เราจะมีข้อมูลอยู่ว่าเขาทำอะไรบ้าง บางอันที่เรายังต่อจิ๊กซอว์ไม่ได้เราก็ถาม ถามเสร็จก็จบ ที่เหลือก็ถามว่าแล้วเป็นยังไง ติดต่อทางบ้านได้หรือยัง ให้โทรให้มั้ย เอาขนมมั้ย กินข้าวผัดมั้ย คือเราดูแลทั้งโจรทั้งผู้เสียหาย เราเป็นคนตรงกลาง เราก็คุยหมด คุณเคยเห็นเวลานักข่าวเลือกข้างมั้ย เขาจะคุยกับข้างนึง ไม่คุยกับอีกข้างนึง แต่เราไม่เป็น เราคุยกับทุกคน

ทำไมคุณคุยกับทุกคน เพราะบางคนอาจจะคิดว่าทำไมต้องไปคุยกับคนร้าย ทำไมต้องให้ความสำคัญกับคนเลว

แล้วทำไมต้องไม่คุยล่ะ มีเหตุผลมั้ย เกลียดเขาเหรอ ไม่เกี่ยว เราไม่เกี่ยวกับเขา เขาเลวก็ฟังเขา อยากรู้ว่าทำไมเขาจึงเลว จริงไหม เลวก็เลว เราต้องฟัง คำถามคือฟังแล้วโง่หรือเปล่าล่ะ ฟังแล้วโดนเขาใช้เป็นเครื่องมือหรือเปล่าล่ะ เวลาฟังแล้วต้องไม่โง่ บางทีเจอเคสบางเคสก็ต้องบอกเขาว่ามึงเลวจริงๆ ว่ะ รู้สึกผิดบ้างมั้ย คือเราต้องดูให้ชัดว่าเส้นถูกเส้นผิดคือเส้นไหน ถ้ากลัวคนเลียนแบบ ก็ต้องบอกให้ชัดว่าสิ่งที่เขากระทำมันมีผล ไม่อย่างนั้นคนจะเข้าใจผิด เหมือนกับเคสเปรี้ยวที่บางสื่อเล่นเยอะเกินไป บางทีมันอยู่ที่วิธีเล่า ความจริงมันคือความจริงอยู่แล้ว แต่บางครั้งเวลาเล่าทำให้ความจริงมันเปลี่ยน ต้องระวัง

นักข่าวสามารถมีน้ำเสียง มีความเห็นได้ไหม

ของเรามีน้ำเสียง กัด ด่า มีหมด

คุณไม่คิดว่านักข่าวมีหน้าที่เพียงเสนอข้อเท็จจริงเหรอ

ก็เราเป็นแค่คนคนหนึ่ง เพจอีจันเป็นแค่คนคนหนึ่ง ไม่ได้อยู่สำนักไหนนี่

นี่คือข้อดีของการที่อีจันเป็นเพจใช่ไหม

อิสระ เผอิญว่าเพจอีจันมันคือนวัตกรรมใหม่สำหรับเรา มันคือการทำข่าวอีกแบบหนึ่ง จากที่เป็นรายการทีวีแล้วมาทำออนไลน์ เราคิดเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะสื่อมันคนละชนิด คนเสพมีวิธีคิดแตกต่างกัน เราต้องตีโจทย์ให้ได้ว่าคนในนี้ (นิ้วเคาะที่โน้ตบุ๊กตรงหน้า) เขาเป็นยังไง กับคนในทีวีเป็นยังไง มันต่างกัน

อีจัน อีจัน

แล้วพบหรือยังว่าแตกต่างกันยังไง ระหว่างการทำรายการทีวีกีบทำเพจอีจัน

เราค้นพบว่าคนในนี้มีอิสระมากกว่า เราไม่มีข้อจำกัดของทีวี ไม่มีข้อจำกัดของอะไรเลยที่มันเคยเป็นข้อจำกัด เราไม่มีเซนเซอร์เว้ย (ยิ้ม) เราไม่มีเวลาที่บอกว่าต้อง 40 นาทีเว้ย แล้วเราก็รู้สึกว่าเพจเราเป็นมนุษย์ได้ ถ้าเราอ่านเพจสำนักข่าว เราไม่รู้ว่าสำนักข่าวเป็นใครใช่มั้ย แต่อีจันไม่ใช่ อีจันต้องมีความรู้สึก

ทำไมต้องมีความรู้สึก มันสำคัญยังไง

เพราะมนุษย์มันทัชมนุษย์ ถ้าคุณต้องการสื่อสารกับมนุษย์คุณต้องทัชมนุษย์ คุณไม่ได้ทัชกราฟิก คุณไม่ได้ทัชแบรนด์ ในความรู้สึกของเรานะ แล้วเราเชื่อว่าวิธีนี้มันสื่อสารกับมนุษย์ได้ดีที่สุด สมมติว่าเราจะเล่าเรื่องนี้ เราต้องหากลุ่มเป้าหมายให้ชัดว่าใครฟัง แล้วเขาจะฟังแบบไหน เราสื่อเหมือนกัน แต่จะสื่อยังไงให้เขาได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เราเล่าแบบเดิมแล้วเขาจะได้ คอนเทนต์ดีก็ไม่ได้แปลว่ามันจะได้ผล ถ้าคุณไม่ทำแพ็กเกจจิ้งหรือรูปแบบที่มันถูกต้องกับคนเสพ รูมันกลม เราเป็นสี่เหลี่ยมยัดเข้าไปมันไม่เข้านะ แล้วทำยังไงให้มันเข้า

เราเป็นคนที่เขียนหนังสือดีนะ และเราเขียนหนังสือยาวได้ด้วย คนที่ชอบอ่านจะชอบมาก แต่มันไม่ได้ผลกับออนไลน์ เราเคยลองแล้ว ในวันที่เพจอีจันเกิดใหม่เราก็เขียน มีคนอ่านนะ สามคน (หัวเราะ) คือคนไม่อ่าน เด็กในออฟฟิศยังไม่อ่าน เด็กรุ่นใหม่เขาไม่อ่านหนังสือแล้ว แล้วตอนที่อีจันเกิดอย่าลืมว่าเราเริ่มจากศูนย์ วันที่ทำเรายังโพสต์ไม่เป็นเลย

ปกติคุณใช้เฟซบุ๊กอยู่แล้วหรือเปล่า

เราก็เล่นเฟซบุ๊กเหมือนคนธรมดา แล้วพอมีความคิดว่าจะทำออนไลน์ก็เรียกประชุมเด็กในออฟฟิศว่าพี่จันจะทำออนไลน์

ทำไมอยู่ดีๆ คิดจะทำออนไลน์

เราคิดมานานแล้ว เรารู้ว่าโลกมันเปลี่ยนแล้ว มันจะต้องมูฟแล้ว แต่เราหาทางมูฟไม่เจอ เพราะว่าเราไม่ใช่คนถนัดเรื่องนี้ แต่จังหวะนั้นเป็นจังหวะที่ออฟฟิศมีเด็กเข้ามาใหม่ ใครจะเชื่อว่าคนที่สร้างเพจอีจันคือเด็กฝึกงาน

โชคดีองค์กรเราเล็ก เราเป็นพี่ใหญ่ ก็บอกทุกคนว่าตอนนี้จะเกิดโปรเจกต์ตัวนี้ขึ้นมา ขอให้ทุกคนหันหน้ามาให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ แต่ตอนที่เริ่มต้นเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า ก็ประชุมทั้งวันเลย ประชุมกันบ่อยมาก เด็กๆ ก็นั่งสอน พี่จันครับเฟซบุ๊กเป็นแบบนี้ ยูทูบเป็นแบบนี้ เขาสอนออนไลน์เรา เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เริ่มตั้งแต่เปิดเพจเฟซบุ๊กก่อน จุดแรกคือทำให้มีอีจันขึ้นมาก่อนในโลกใบนี้ แล้วจะทำคอนเทนต์อะไรเราเป็นคนกำหนด พอกำหนดก็จะมีเด็กๆ คอยบอก ภาษามันไม่ได้พี่จัน มันยาวไป (หัวเราะ) อ้าวเหรอ ก็นั่งแลกกัน ต้องแชร์หมด

คุณดูเป็นนักข่าวที่ไม่ค่อยยึดติดกับโลกเดิม

เราไม่มีอีโก้ ช่วงนั้นเราทำงานเยอะมาก ตีสองตีสามยังนั่งเล่นเฟซบุ๊กอยู่เลย เพื่อให้ได้ภาษา เราเป็นคนที่มีภาษาหนังสือ เพราะเราเป็นคนอ่านหนังสือ ฉะนั้นจะเห็นว่าภาษาของอีจันจะค่อนข้างเป๊ะ แต่บางอันก็มีลูกเล่น เราเอาสองอันมาผสมกัน คือเราต้องการความน่าเชื่อถือ แต่เราก็ต้องการความหวือหวา ฉะนั้นเราจะมีพาดหัวที่หวือหวา พอส่วนของเนื้อหาเราจะมีโครงสร้าง แต่เราจะไม่เขียนข่าวแบบโบราณ เราจะจับแต่ประเด็นที่เราต้องการแล้วมันทัชที่สุดเอามาใส่ รูปแบบพวกนี้เกิดจากการเรียนผิดเรียนถูก ลองโพสต์ดู แล้วก็สรุปกันว่า อ่อ แบบนี้ไม่ใช่ แบบนี้ใช่ เราลองทุกวัน มีของใหม่ไว้เล่นทุกวัน

อีจันมีหลายรูปแบบการนำเสนอมาก มันไม่มีแพตเทิร์น เราหมุนตามคอนเทนต์ วิดีโอก็มีหลายแบบ บางอันแค่แถลงข่าวแล้วใส่ซับไตเติล ซึ่งอันนี้ง่ายสุด หรือบางอันเล่าเป็นเรื่องก็มีการตัดคลิป หรือบางอันวิเคราะห์ หรือบางอันเป็นคลิปใหญ่ คือถ้าคุณเคารพคอนเทนต์คุณจะต้องบิดการเล่าให้เข้ากับคอนเทนต์ คุณไปดูสิ เราเล่าไม่เหมือนกันสักข่าวนึง เพราะแต่ละวิธีมันส่งอารมณ์ไม่เหมือนกัน

คุณเลือกยังไงว่าจะทำข่าวไหน

เราต้องเดาทางให้ออก ถ้าไปสู้กันในวันที่นักข่าวส่วนกลางมาทำข่าวนั้นกันหมด เราแพ้ หนึ่งคือ อุปกรณ์ไม่พร้อม เข้าไม่ถึงแหล่งข่าวเพราะคนไปเป็นร้อย ข่าวแบบนี้เราไม่สู้เพราะรู้ว่าเราแพ้ เราต้องดึงเกมให้ได้ ต้องรู้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวที่ดี คู่แข่งน้อย ถ้าเราไหวตัวทัน ส่งทีมไปก่อน ถ้ามีสื่อใหญ่แชร์เราก็จบแล้ว เราถือว่าเราชนะ แล้วถามว่าทำไมเขาจึงแชร์ ก็เพราะมันไม่มีสื่ออื่นไป แล้วทำยังไงเราถึงชนะได้ เราก็ต้องอ่านเกมขาด พอมีข่าวอย่างนี้เยอะขึ้นคนก็เริ่มรู้จักอีจันมากขึ้น

ที่คุณว่า “ต้องรู้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวที่ดี” ข่าวที่ดีเป็นยังไง

ข่าวที่มีความอินกับมนุษย์ สำหรับเรานะ ไม่ใช่ทุกคนตายจะเป็นข่าวใหญ่ การอ่านเกมตรงนี้สำคัญมากว่าคดีนี้จะเป็นคดีใหญ่หรือคดีไม่ใหญ่ ซึ่งมันก็มีวิธีคิดปกติ อย่างคดีเณรปลื้มเราไปก่อนเลย วันที่ขุดศพเณรปลื้มเราไลฟ์เฟซบุ๊กยอดแตะ 1 แสน ตอนแรกเราเห็นข่าวปุ๊บ เช็กข่าวกับผู้การฯ เราสั่งจองตั๋วเครื่องบินเดี๋ยวนั้นเลย คือเห็นแล้วมันรู้เลย

อีจัน

ทำไมชื่อเพจถึงเป็นอีจัน ไม่เป็นคุณจัน หรือพี่จัน

อันนี้ไม่ตอบได้มั้ย ขอเก็บไว้ก่อน แต่มันมีที่มา เราตั้งชื่อกันนานพอสมควร มีหลายชื่อ แล้วก็มาจบที่ชื่อนี้ เอาเป็นว่าวันที่เกิดคำนี้ขึ้นมา สิ่งแรกที่เราต้องทำเลยคือเราต้องถอดความเป็นตัวเราออกไปให้ได้ เพราะว่าสิ่งที่เราเคยทำทั้งหมดกับสิ่งที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตมันคือตัวเดียวกัน แต่คนละรูปแบบ ดังนั้นถ้าเราถอดออกไม่หมด เราจะเอางานเดิมไปยัดในออนไลน์

ในชีวิตไม่เคยมีใครเรียกอี (หัวเราะ) สองสามอาทิตย์นะที่ไม่มีใครยอมเอ่ยชื่อเพจในออฟฟิศ จนทุกคนเริ่มชิน เพราะมันคือแบรนด์ มันไม่ใช่เรียกตามความหมายนั้น

ตั้งแต่ทำเพจอีจันมา มันเคยทำคุณเดือดร้อนบ้างหรือยัง

เราทำข่าวอาชญากรรมมา 20 ปี เชื่อไหมว่าเรายังไม่เคยถูกฟ้องหมิ่นประมาทเลยสักครั้ง มันเป็นหน้าที่เรานะที่ต้องเล่าความจริงให้ได้โดยไม่ละเมิด บางคนเลือกที่จะไม่เล่าเพราะกลัวถูกฟ้อง แต่เราจะเล่า ถ้ามันเหี้ยเราจะเล่า เราจะถามตัวเองเสมอนะเวลาจะเล่าอะไรบางอย่างซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมต้องรู้ เราจะเขียนบนความจริง เราเชื่อในกฎหมาย ถ้าเราเขียนความจริงแล้วเราถูกฟ้อง เราจะมีข้อต่อสู้ ดังนั้นด้วยความที่เราเชื่อในสิ่งนี้ ทุกครั้งที่เราเขียนแล้วเกิดความคิดว่าจริงหรือไม่จริง เราจะตรวจสอบทันที เช็กให้ชัวร์ก่อนที่งานจะออกไป บางครั้งเที่ยงคืนเรายังให้น้องโทรถามแหล่งข่าวอยู่เลย ถ้าเราคั้นเอาความจริงออกมาได้ เราเชื่อว่าความจริงจะคุ้มครองเรา

ส่วนอันไหนไม่มีหลักฐานเราก็ต้องบิดวิธีเล่า ด้วยเหตุนี้จึงมีนิทานอีจัน นิทานอีจันไม่สามารถเล่าเป็นข่าวได้ แต่เราต้องเล่า เพราะว่าบางข้อมูลเป็นข้อมูลที่สังคมต้องรู้ แต่เราต้องเล่าเป็นนิทาน นี่คือวิธีระวังของเรา ถ้าทุกคนกลัวจะถูกฟ้องมันจะทำให้งานเราถูกตัดหน้างานไปครึ่งนึง ทำอะไรก็ฟ้องได้หมดแหละ

ปกติคุณดูซีรีส์สืบสวนสอบสวนบ้างไหม

ชอบ เราชอบดู CSI ชอบดูหนังสืบสวน เราชอบรายการข่าว เราชอบ 60 Minutes แต่ซีรีส์เกาหลีเราก็ดู ซีรีส์เกาหลีมีวิธีเล่าเรื่องที่สนุกมาก เวลาเราดูหนังเราดูวิธีเล่าเรื่อง ถ้าหนังไม่ดีดูแป๊บเดียวก็เลิก

บางคนบอกว่าชีวิตจริงยิ่งกว่าในหนัง คุณคิดอย่างนั้นไหม

เราพูดอย่างนี้ดีกว่าว่า มนุษย์มีชีวิตไม่เหมือนกัน ที่เรื่องเรื่องหนึ่งมาเป็นหนังได้เพราะมันมีไดนามิก มีขึ้นมีลง มีพีก มีเปลี่ยน มีคาดไม่ถึง แล้วก็มีทางแยก ชีวิตคนก็เป็นแบบนั้นแหละ เพียงแต่ว่าความเข้มข้นของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน อย่างเราอาจจะใช้ชีวิตเรียบง่าย เราไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา แต่อย่างคดีน้องจูนที่โดนสามีทุบหน้า อย่างนี้มีไดนามิกมาก เรื่องเขายิ่งกว่าหนัง เรื่องเขาควรจะเอามาทำหนังด้วยซ้ำ

ถามว่าถ้าให้เราดูชีวิตคน เราก็จะดูในเรื่องของเหตุและผล ความเป็นมา ก็เขาคิดได้เท่านั้นเลยทำแบบนี้ ความเลวของมนุษย์มันไปได้แค่ไหน อย่างบังฟัต คดีฆ่า 8 ศพ อาจจะไม่ใช่คนที่เราอยากคุยด้วยเลยก็ได้ คนที่ยิงเด็กได้ อย่างนี้เราจะไม่ค่อยอยากคุย เพราะว่ามันเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ

ถ้าต้องคุยคุยได้มั้ย

เขาจะทนได้มั้ยล่ะ คำแรกที่เราจะต้องถาม “ทำไมมึงเหี้ยจังวะ มึงยิงเด็กได้” นี่ไม่ใช่คนที่เราอยากคุย แต่ถ้าเป็นเปรี้ยว เราอยากคุย เปรี้ยวมีวิธีคิดบางอย่าง เปรี้ยวมีที่มาที่ไป เปรี้ยวมีวิธีสั่งสมความเป็นอาชญากร เขาเป็นอาชญากรในวิธีคิดเขา เขาเกิดมาแล้วถูกกระทำบางอย่าง แล้วก็นำมาสู่สิ่งนี้ คนอย่างนี้มีอยู่ในสังคมมากมาย ซึ่งเราควรจะต้องเรียนรู้แล้วตั้งรับด้วยซ้ำ มันอาจจะเป็นคนข้างๆ คุณก็ได้ ชีวิตคุณไม่มีทางหลีกหนีอาชญากร คนพวกนี้อยู่ใกล้ตัวคุณมาก คนอย่างเปรี้ยว คนอย่างหมูหยอง ที่พูดเรื่องฆ่าคนเหมือนมด คุณจำไว้เลยนะ แผนประทุษกรรมของคนพวกนี้มันใกล้เราเข้ามาทุกทีๆ มันเดินปะปนอยู่แบบนี้ตลอด นี่คือความจริงที่คุณจะต้องเรียนรู้

คุณห้ามพูดว่า “ในโลกใบนี้มีความโหดร้ายอยู่จริง แต่ถ้าเราไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเราจะไม่เจอ” นี่เป็นความคิดที่ผิด คุณต้องรู้ว่าในโลกใบนี้มันปะปนไปด้วยความดีและความเลวเสมอ คุณต้องรู้ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ คุณกำลังเป็นสีเทา ก่อนที่มันจะดำ ถ้าคุณไม่รู้ พอมันดำคุณจะทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นก่อนที่ไฟมันจะร้อน คุณต้องรู้ว่าอุณหภูมิเปลี่ยนแล้ว

อีจัน

แล้วเพจอีจันทำหน้าที่ให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งนี้หรือเปล่า

เราไม่พูดตรงๆ เราไม่สอน เพราะว่าคนในออนไลน์สอนไม่ได้ เป็นธรรมชาติ คนในออนไลน์รู้มากกว่าเรา เราต้องยอมเขา ลูกเพจจะไม่ได้เรียนรู้โดยตรง แต่เรียนรู้ผ่านวิธีเล่า ผ่านอะไรบางอย่างที่จะกระตุ้นเตือนบ่อยๆ เช่น เราเล่าในนิทานอีจันเรื่อง พ่อข่มขืนลูก แล้ววันนึงลูกเติบโตมามีลูก แล้วเขาก็ฆ่าลูกตัวเอง

เราเล่าเรื่องนี้ทำไม เราไม่ได้เล่าให้สังคมรุนแรงมากขึ้น แต่เราบอกเขาว่า เรื่องมันเศร้ามากนะ ฉะนั้นจำไว้หน่อย ถ้าคุณได้ยินเด็กมาร้องบอกคุณว่าเขาโดนกระทำ คุณต้องช่วยเขา ก่อนที่วันนึงเขาจะกลายเป็นอาชญากร แล้ววันนึงเขาอาจจะไม่ได้ฆ่าลูกตัวเองนะ แต่เขาฆ่าคุณด้วย แสดงว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราคือเมื่อได้ยินความทุกข์ยาก คุณต้องรีบช่วย แจ้งมาที่เราก็ได้ แจ้งตำรวจก็ได้ คุณต้องช่วย ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กโตมาแล้วเกิดเหตุการณ์แบบนั้น

คุณว่าในโลกที่อาชญากรอยู่ปะปนกับเรา เราควรจะใช้ชีวิตยังไง

วิธีอยู่ในโลกใบนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการอยู่บนความจริง เราต้องรู้ก่อนว่าโลกมันเป็นอย่างนี้แหละ ต้องยอมรับมันก่อน สองคือ อย่าพาตัวไปอยู่ในจุดจุดนั้น ถ้าเรารู้ว่ามันเสี่ยง สมมติว่าเราจะต้องเดินทางไปในที่เปลี่ยว คุณก็ต้องระวัง คุณก็ต้องเอาเพื่อนไป คุณก็ต้องมีโทรศัพท์ที่ชาร์จเต็ม แต่ส่วนใหญ่คนที่ถูกหลอกจะมีลักษณะของเหยื่ออยู่แล้ว เช่น เชื่อคนง่าย ขี้กลัว คิดไปเอง ฟุ้งซ่าน ทำให้เขาเกิดภาวะที่ว่าคนพูดอะไรก็เชื่อ เขาใช้ความเชื่อมากกว่าการพิสูจน์ ฉะนั้นคนแบบนี้จะตกเป็นเหยื่อง่าย เตือนคนพวกนี้ก็เตือนไม่ได้ ต้องให้เขาเรียนรู้ เดี๋ยวก็ฉลาดขึ้น คนจะฉลาดขึ้นทุกครั้งที่มีปัญหา

คุณอยู่กับข่าวฆาตกรรม เห็นคนฆ่าแกงกันมาทั้งชีวิตการทำข่าว มันทำให้คุณสูญสิ้นศรัทธาในความเป็นมนุษย์มั้ย

มันก็คือเรื่องที่เกิดขึ้น จำไว้ว่าทุกอย่างมีเหตุกับมีผล เมื่อมีเหตุ ผลย่อมเกิด ดับเหตุ ก็ดับผล เท่านั้นเอง เรื่องมันมีแค่นี้ มันไม่ได้ตีรวม เรื่องบางเรื่องทำให้เราหดหู่ใจ แต่มันก็เป็นเรื่องเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้นเอง เราไม่เอาเรื่องทุกเรื่องมาปนกัน มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างเป็นเหมือนกันไปหมด เพราะทุกอย่างมันเป็นไปตามเหตุตามผล แปลกไหม เราใช้อารมณ์ในการทำงานแต่เราไม่ใช้อารมณ์ในการใช้ชีวิต เราไม่ใช้อารมณ์กับเรื่องที่เกิดขึ้น ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะนั่งคุยกับผู้ต้องหาได้ ถ้ามันไม่เกินเส้นเกินไป มันมีอยู่ไม่กี่ข้อที่เราจะไม่เคารพคนพวกนั้น อย่างฆ่าเด็ก ฆ่าข่มขืน เราไม่เคารพ เจอก็ไม่อยากคุยกับคนพวกนี้

จำวันแรกที่เพจแตะหลักล้านได้มั้ย

เราทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้ เพราะเวลายอดในเพจขึ้นคือเวลาที่เรายุ่ง ระหว่างที่มันขึ้นช่วงนั้นจะมีข่าวพีกทุกครั้ง ข่าวจะทำให้เราลอยขึ้นแบบก้าวกระโดด แล้วเราจะไม่เคยรู้ว่าเรากำลังก้าวกระโดด จนกระทั่งเราทำงานเสร็จหรือข่าวซา เราถึงได้มาดูว่า อ้าว ยอดขึ้นแล้วเหรอ

วันที่ยอดไลก์เพจขึ้น 3 ล้านไม่มีใครรู้ตัวเลยนะ เพราะกำลังตามข่าวเปรี้ยว ซึ่งเรื่องเยอะมาก เราปั่นข่าวกันแทบไม่ทัน เราจำได้เลยว่ากราฟิกฉลอง 3 ล้านเป็นกราฟิกที่ง่อยมาก (หัวเราะ) มีพี่ที่คอยมอนิเตอร์บอกว่า 3 ล้านแล้ว เราก็ยังถามว่าแล้วไงล่ะ คือคลิปเรายังคาอยู่ที่คอมทุกเครื่องเลย ก็มีคนถามว่า อ้าว ไม่มีกราฟิกฉลอง 3 ล้านเหรอ เราก็คิด ยังจะเอากราฟิกอีกเหรอ อารมณ์นั้นคืองานกูไม่เสร็จ ลูกเพจรอกูอยู่

มีฉลองกันมั้ย

มีสัญญากันว่าถ้าครบล้านเราจะพาเด็กไปเที่ยว ตอนนั้นที่สัญญาน่าจะมียอดสักประมาณ 5 แสน ซึ่งเราคิดว่าคงปีหน้าถึงครบล้าน หันมาอีกที 3 ล้านแล้วเราก็ยังไม่ได้พาเด็กไปไหน (หัวเราะ) เพิ่งจะได้พาไปเมื่อต้นเดือนนี้เอง ซึ่งมันเลย 3 ล้านมาตั้งเยอะแล้ว

ตัวเลขคนกดไลก์เพจเกิน 3 ล้านภายใน 6 เดือนบอกอะไรคุณบ้าง

มันบอกว่าคนชอบเสพข่าวนะ ใครว่าข่าวเป็นเรื่องยาก คนชอบข่าว คนชอบข้อมูลตรง คนชอบไดนามิก หมายความว่าอะไรที่ไม่เป็นแพตเทิร์นมากเกินไป เราว่าสิ่งที่เราตีโจทย์มาทั้งหมดมันตอบโจทย์ ทุกอย่างอยู่ที่คอนเทนต์และวิธีเล่า แล้วนี่คือคำตอบที่ทำให้รู้ว่าคนต้องการอะไร พอรู้ว่าคนต้องการอะไร จุดแข็งของเราอีกข้อนึงก็คือ เราตอบทุกครั้งที่มันมีความต้องการ

คุณเป็นคนที่ให้ค่ากับตัวเลขคนไลก์ไหม

ให้ค่ากับความฉลาดของเรา แปลว่าเราเข้าใจคนดู ถ้าเราทำได้ดีไม่ได้แปลว่าเราเก่งนะ แต่แปลว่าเราตีโจทย์แตก มีเท่านั้นเอง ข่าวข่าวหนึ่งจะนำเสนอด้วยวิธีไหนอ่านให้ออก ถ้าเราอ่านออกก็จบ ทุกอย่างแข่งกันแค่นี้เอง เราไม่ได้แข่งกับใครเลยนะ เราแข่งกับคอนเทนต์ เราถึงบอกว่าเราต้องเคารพคอนเทนต์มากๆ

เราถามเด็กว่า ทำงาน 1 ชิ้นเหนื่อยมั้ย 3 ชั่วโมงกว่าจะเสร็จ ถ้าเหนื่อย ก็ทำให้มันดีที่สุด ทำให้เต็มที่ ฝากผลงานไว้ แล้วก็จบ หน้าที่เราทำแค่นี้ แต่ถ้าคุณใช้ 3 ชั่วโมงนี้ห่วย คุณก็เสียเวลา 3 ชั่วโมงนี้ไป แล้วคุณจะทำไปทำไม คุณนั่งทำเพราะต้องมีงานออกเหรอ ไม่ใช่ แต่สิ่งที่คุณทำมันมีคุณค่ากับคนดู มันมีคุณค่ากับสังคม คุณต้องรู้ว่าสิ่งที่คุณทำมันคืออะไร

อีจัน

เหมือนทุกคนในทีมเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่มีคุณค่ากันอยู่

มันไม่ใช่ความเชื่อนะ มันคือความจริง เช่นจับโจรได้ เช่นผู้เสียหายได้เงินคืน เช่นประกาศเบาะแสเจอเด็ก เช่นเราช่วยคนได้ทัน นี่คือความจริง

ความสุขของคนทำข่าวอาชญากรรมคือตอนไหน

สำหรับเราการปิดคดีคือเรื่องที่ดีที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นมันจะอยู่ในหัว คุณไขคดีไม่ออก มันคิดตลอดนะ คุณจะโล่งเมื่อคดีนั้นมันตอบคำถามคุณได้ พอคุณได้ตัวคนร้ายมามันจะกระจ่างทุกข้อ จริงๆ แล้วคนที่เป็นนักสืบทุกคนก็เป็นแบบนี้นะ เราเข้าใจเลยว่าทำไมนักสืบใหญ่ๆ ก่อนจะรับคดีเขาจะคิดเยอะ เพราะพอรับปุ๊บมันเลิกไม่ได้ มันจะคิด คิด คิด จนจบคดี ฉะนั้นวันที่ปิดคดีได้เราเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงกินเบียร์กัน เวลาเราร่วมสืบกับตำรวจ ซีนที่ดีที่สุดคือซีนกินเบียร์ ตำรวจเปิดเบียร์เมื่อไหร่แสดงว่าคดีจบแล้ว

คัฟเวอร์เฟซบุ๊กคุณเขียนว่า ‘อย่าสิ้นหวัง ความยุติธรรม…มีจริง’ คุณเชื่ออย่างนั้นจริงหรือ

‘อย่าสิ้นหวัง ความยุติธรรม…มีจริง’ เป็นชิพชิพหนึ่งที่เราใส่เข้าไปในสังคม คือมีจริงหรือไม่จริงไม่ต้องสนใจ แต่สนใจเถอะว่าในสังคมเราต้องมีความยุติธรรม เพราะในความเป็นจริงเราต้องการสิ่งนี้ เราจะมานั่งบอกทำไมว่ากูไม่เชื่อหรอกว่าในสังคมมีความยุติธรรม เราไม่ได้มีหน้าที่นั่งด่าความมืด แต่เรามีหน้าที่เปิดแสงสว่างให้ความมืดมันหายไป เพราะฉะนั้นเราต้องทำหน้าที่ เราต้องแกะคดี เราต้องดิ้นรนหาความยุติธรรมต่อไป

เราไม่ได้โกหกนะ ประโยคที่ว่า ‘อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ความยุติธรรม…มีจริง’ ไม่มีคำไหนโกหกเลย ถ้าคุณเชื่อว่ามันมีอยู่จริง คุณก็ต้องไป อย่าสิ้นหวัง สักวันมันจะเจอ

อีจัน

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan