แม้เราจะรู้จักกันมาหลายปี แต่ผมคุยกับ แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผ่านโลกออนไลน์มากกว่าโลกออฟไลน์

ใจอยากจะกล่าวโทษโลกโซเชียลฯ ที่ทำให้เราผลัดวันไม่ได้นัดพบกันในโลกจริงเสียที แต่ในอีกแง่ ผมคงไม่มีโอกาสรู้จักเขา หากปราศจากโลกที่ใครหลายคนสบประมาทว่าปลอม

ข่าวคราวล่าสุดที่ผมได้รับเกี่ยวกับเขา คือทีปกรและเพื่อนพ้องที่สนใจและเชื่อในสิ่งเดียวกันอันประกอบด้วย โตมร ศุขปรีชา, สฤณี อาชวานันทกุล, สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์, ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ แอลสิทธิ์ เวอร์การา ได้ร่วมกันเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ชื่อเค็มเข้มว่า ‘Salt Publishing’ ที่เน้นพิมพ์งานในหมวดวิทยาศาสตร์และปรัชญา โดยเขาเองรับหน้าที่เป็นผู้แปลผลงานของ Martin Ford ที่ชื่อ Rise of the Robots ซึ่งเขาตั้งชื่อไทยของหนังสือเล่มนี้ว่า หุ่นยนต์ผงาด

นั่นเป็นเหตุผลที่ผมนัดเจอเขาที่ร้านกาแฟใจกลางเมืองเพื่อไถ่ถามถึงสำนักพิมพ์ที่ทำ หนังสือที่แปล และสิ่งที่เชื่อในวันนี้วัยนี้

ในบรรดาคนหนุ่มสาววัยใกล้ๆ กันที่ผมรู้จัก เขาคือคนหนุ่มที่ทำงานหนักหน่วงที่สุดคนหนึ่ง โดยจุดร่วมของสิ่งที่เขาทำแทบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องพันผูกอยู่กับเทคโนโลยีและโลกออนไลน์ ไล่เรียงตั้งแต่สมัยก่อตั้งเว็บบล็อกสัญชาติไทยอย่าง Exteen มาจนกระทั่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนักข่าวที่ชื่อ The MATTER

แม้กระทั่งหนังสือที่เขาเขียนส่วนใหญ่ก็มักวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของเทคโนโลยีที่เขาเฝ้ามอง ติดตาม ศึกษา

ผมจึงประหลาดใจไม่น้อยเมื่อเขาพิมพ์ประโยคทีเล่นทีจริงมาในกล่องแชทเฟซบุ๊กระหว่างเรานัดพบเจอกันว่า “ทีปกรผู้เบื่อโลกออนไลน์”

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ที่คุณบอกว่าเบื่อโลกออนไลน์นี่พูดจริงหรือพูดเล่น

เวลาเราพูดว่าเบื่อเราไม่เคยพูดเล่นเลยนะ เราอยู่กับโลกออนไลน์มาสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยทำบล็อก Exteen หลังจากนั้นก็ไม่เคยไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ต้องคอนเนกต์เลย ถามว่าเบื่อไหม ก็เบื่อ ถ้าพูดไปก็อาจจะฟังดูรำลึกอดีต แต่ว่าอินเทอร์เน็ตสมัยก่อนตอนยังไม่มีเฟซบุ๊กมันช้ากว่านี้ ซึ่งความเร่งในระยะหลัง ด้วยความหุนหันพลันแล่นของสารที่ส่งไปส่งมาในโลกออนไลน์ ก็อดจะทำให้เราคิดไม่ได้ว่าโลกออนไลน์เป็นสถานที่ที่สะท้อนมุมที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ออกมาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมันทำให้เราเบื่อพอสมควร

มุมที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ที่ว่าหมายถึงอะไร

มีเยอะมากเลยนะ สมองของเรามีสองระบบ คือระบบที่เร็วกับระบบที่ช้า โลกออนไลน์มันใช้ระบบที่เร็วเสียเป็นส่วนมาก พิมพ์ตอบปุ๊บคนก็อ่านแล้ว หรือไลฟ์ด่าคนมันก็แป๊บเดียว ซึ่งกลับกัน ถ้าเราใช้มือเขียนลงบนกระดาษอาจจะไม่ได้เป็นข้อความแบบเดียวกัน เพราะมันใช้เวลา ความโกรธหรืออะไรมันก็ค่อยๆ ละลายไปแล้ว ตัวตนคนมีหลายด้าน แต่ด้วยความที่โลกออนไลน์มันเร็ว ทำให้เราหันด้านที่คิดเร็วใจเร็วออกไปสู่คนอื่น ซึ่งมักจะเป็นด้านที่คิดไม่จบ พอคิดไม่จบคนอ่านก็โกรธ บวกกับความสามารถในการกระจาย ก็เกิดดราม่า

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความสามารถในการลากคนออกจากบริบท เช่น เราไม่พอใจคนบนรถไฟฟ้า เราก็เลือกเล่าเฉพาะด้านที่ไม่พอใจลงบนออนไลน์ ซึ่งเราเลือกที่จะเล่าบางส่วนก็ได้เพื่อที่จะทำให้มีคนเห็นพ้องกับเรามากที่สุด แล้วเราก็รู้สึกแฮปปี้ที่มีคนมาด่าคนนี้เหมือนเรา

แล้วคุณนึกถึงวันที่พวกเราไม่มีเฟซบุ๊กออกไหม

ตอนนี้หลายคนพูดเรื่องอวสานเฟซบุ๊กนะ ซึ่งเราเองก็พยากรณ์ไม่ได้ แต่ก็มีคนบอกว่าตอนที่ My Space รุ่งเรืองก็ไม่มีใครคิดว่ามันจะตายเหมือนกัน แต่ว่าเฟซบุ๊กมันคงไม่ตายด้วยความนิยมที่ล่มสลายไป แต่มันอาจจะตายจากการที่มันถูกกำกับจากรัฐ จากอะไรอย่างอื่นมากกว่า มันจะถูกตัดตอนแขนขาออกไปเรื่อยๆ ทำให้มันอาจจะไม่มีอำนาจมากขนาดทุกวันนี้

ซึ่งก็มีคนที่ออกจากเฟซบุ๊กได้จริงๆ นะ แต่ว่าด้วยการงานและอาชีพของเรา เราเลยยังต้องอยู่กับเฟซบุ๊ก ซึ่งถ้าเราไม่ทำงานที่ทำอยู่เราก็อาจไม่ต้องเข้าเฟซบุ๊กแล้วก็ได้นะ แต่ถามว่าชีวิตแบบที่ไม่มีเฟซบุ๊กเลยมันเป็นชีวิตที่มีความสุขกว่าตอนนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์มั้ย ก็อาจจะไม่นะ เราคิดว่าสุดท้ายแล้วก็อย่าไปมองมันร้ายกาจ ตอนนี้เราเหมือนมองเฟซบุ๊กเป็นตัวชั่วร้ายที่ไม่มีข้อดีเลย ซึ่งไม่ใช่ มันก็มีข้อดีเยอะ แต่ว่าช่วงนี้ข้อเสียมันออกมาเยอะหน่อย แล้วคนเริ่มพูดถึงมากขึ้นเท่านั้นเอง

แง่งามมากๆ ของเฟซบุ๊กในมุมมองของคุณคืออะไร

แง่งามของมันคือการให้สิทธิ์ให้เสียงกับคนที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงมาก่อน ทำให้คนที่คิดเหมือนกันซึ่งอาจจะเป็นส่วนน้อยของสังคมรวมตัวกันได้และรู้ว่าพวกเขาก็มีที่อยู่

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

แล้วคุณคิดว่าปัญหาร่วมของคนยุคสมัยคุณที่ต้องเผชิญในโลกออนไลน์มีอะไรบ้าง

โซเชียลเน็ตเวิร์กมันทำให้เราเกิดความสัมพันธ์ที่อ่อนแอ เป็น Weak Connection เราไม่ค่อยมี Strong Connection กับใคร เพราะว่ามันไม่ได้เป็นการสื่อสารหนึ่งต่อหนึ่ง บนโลกออนไลน์เวลาเราอัพสเตตัสเราไม่ได้คุยกับคนคนเดียว เราพูดแล้วใครจะฟังก็มา ซึ่งมันไม่ได้เป็นบทสนทนา มันทำให้เกิดความสัมพันธ์จำนวนมากแต่อ่อนแอ รวมไปถึงพอเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กปุ๊บ มันทำให้เราแสดงออกทุกๆ ทาง ซึ่งในบางทางอาจจะทำให้เพื่อนไม่พอใจก็ได้ แล้วเพื่อนก็ค่อยๆ ห่างหายไปในแบบที่เราไม่รู้สึก มีคนเยอะมากเลยที่ผิดใจกันเพราะไปเห็นว่าคนนี้ไปกดไลก์เฟซบุ๊กคนที่ด่าเรา แล้วมันน่ากลัวอยู่อย่างหนึ่งตรงที่โซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าอะไรหายไป มันทำให้เรารู้สึกแค่ว่าอะไรที่มีอยู่

นอกจากเรื่องดราม่าง่าย นอกจากรู้สึกว่าติดต่อทุกคน แต่ความจริงไม่ได้ติดต่อใครเลย นอกจากเรื่องที่ตัวเองต้องเพอร์เฟกต์ตลอดเวลา โอ้โห เท่านี้ก็เยอะแล้วนะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วมันทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอนั่นแหละ เมื่อก่อนมันมีขอบเขตว่าเราดีแค่ไหนถึงจะพอ เช่น ในโรงเรียนห้องนึงมี 20 – 30 คน คนนี้เล่นบอลเก่งสุด คนนี้วิชาเลขเก่งสุด โอเค พอแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ได้ ต้องไปเทียบกับคนที่อินเดียสิ ไปเทียบกับนักวิชาการคนนั้นสิ แกไม่ได้เก่งที่สุด แกไม่มีทางเก่งที่สุดสักอย่าง ต่อให้แกเก่งที่สุดในโรงเรียนก็ตาม มันก็ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เหมือนจะรู้จริงก็รู้ไม่จริง สิ่งที่เหมือนจะถนัดก็ไม่ถนัด

แล้วที่คุณว่าเบื่อโลกออนไลน์ แต่งานที่คุณทำอยู่ก็เป็นงานในโลกออนไลน์ มันไม่ย้อนแย้งเหรอ

รู้สึกเหมือนติดกับไหมล่ะ คนจำนวนมากที่ทำสื่อออนไลน์รู้สึกว่าเราตักน้ำไปทิ้งทะเล หลายคนเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันไม่เห็นผลทันทีหรอก แต่มันขับเคลื่อนสังคมได้ มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมได้ นั่นคือความหวังแรกๆ ของคนที่มาทำสื่อออนไลน์ อย่างน้อยเราได้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในสังคมที่เปลี่ยนอะไรได้นิดหนึ่งก็ยังดี บทความเราไปกระทบกับใจใครสักคนหนึ่งได้ก็ยังดี ซึ่งมันก็เกิดอย่างนั้นแหละ พวกเราเขียนบทความลงออนไลน์เวลาที่มันไปทัชคน หรือเวลาที่มันไปเปลี่ยนอะไรได้สักครั้งหนึ่ง เราจะรู้สึกแฮปปี้ รู้สึกว่านี่แหละคือเหตุผลที่เราทำมัน แต่บางทีก็ต้องกลับมาชั่งน้ำหนักเหมือนกันว่าผลที่เกิดกับแรงที่ลงมันสมดุลกันมั้ย ซึ่งเป็นคำถามที่น่ากลัวสำหรับคนทำออนไลน์ทุกคน

คำถามคือมันมีวิธีใช้พลังงานของพวกเราที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ไหมในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตใครดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นคำถามที่เราคิดอยู่ในช่วงนี้ของชีวิต คือเราอาจจะยังเขียนลงออนไลน์แหละ แต่มันต้องด้วยความถี่เท่านี้มั้ย ด้วยจำนวนเท่านี้มั้ย ด้วยการที่ต้องหลั่งน้ำตาและเสียสติเท่านี้มั้ย

ทำงานบนโลกออนไลน์อยู่ดีๆ แล้วอะไรทำให้อยู่ๆ ลุกขึ้นมาเปิดสำนักพิมพ์ Salt Publishing

เราตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีสำนักพิมพ์แบบนี้ ทุกวันนี้มันหมดจากยุคสำนักพิมพ์ใหญ่ที่พิมพ์ทุกอย่างไปแล้วใช่ไหม คือในตลาดหนังสือเราต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้วหนังสือเราก็ขายได้ประมาณ 3,000 – 5,000 เล่ม แปลว่าตลาดหนังสือเป็นตลาดที่รองรับลูกค้าจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น ทางที่สำนักพิมพ์ควรจะไปคือทางที่เป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เกาะกลุ่มกับคนจำนวนไม่มาก และผลิตงานเฉพาะทางหรือเปล่า มันมีช่องว่างตรงนี้อยู่หรือเปล่า

อีกอย่างเราคิดว่าทิศทางของหนังสือวิทยาศาสตร์และหนังสือปรัชญาเป็นทิศทางที่เราไม่เห็นสำนักพิมพ์ไหนที่ทำหนังสือเพื่อหมวดนี้โดยเฉพาะ เราก็เลยทำขึ้นมา แล้วรู้สึกว่ามีหนังสือต่างประเทศเยอะแยะเลยที่ดีๆ น่าจะเอามาแนะนำให้กับคนไทย 3,000 – 5,000 คน เผื่อเขาจะเอาไปทำอะไรต่อได้

เปิดสำนักพิมพ์ ขึ้นมามองมันเป็นธุรกิจหรือทำเพื่อตอบสนองความอยากส่วนตัว

โอ้ย ทำหนังสือในไทยไม่รวยนะครับ โอเค รอมแพงอาจจะรวย เรารู้ว่าต้นทุนการพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งทั่วๆ ไปประมาณ 2 แสนบาท ขายได้ทั้งหมดอาจจะกำไรสักสองสามแสน แต่ถามว่าใช้เวลาในการแปลเท่าไหร่ ใช้เวลาในการเขียนเท่าไหร่ หารออกมาได้เดือนละเท่าไหร่ เราคิดว่าธุรกิจหนังสือไม่ใช่ธุรกิจที่บอกว่าฉันจะทำเพื่อหวังรวยอยู่แล้ว แต่อยู่ได้มั้ย ก็คงอยู่ได้

แชมป์ ทีปกร แชมป์ ทีปกร

ถ้าไม่หวังรวย แล้วหวังอะไร

ส่วนตัวเราทำเพราะรู้สึกว่าอยากให้มีหนังสือ Non-fiction ดีๆ ในไทยเยอะๆ ส่วนพี่ยุ้ย สฤณี ก็จะบอกว่าอยากให้มีหนังสือฟิกชัน Sci-Fi ในไทยเยอะๆ

เราคิดว่าฐานคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ฐานคิดที่เป็นการตั้งคำถาม ปรัชญา มันทำให้คนมีเหตุผล เราอยากสร้างสังคมที่มีเหตุผลเพื่อที่จะได้คุยกับคนที่มีเหตุผล เราเชื่อว่าหนังสือสามารถผลักดันคนให้มีแนวคิดแบบใดแบบหนึ่งได้

แล้วสำนักพิมพ์นี้จะผลักดันคนให้มีแนวคิดแบบไหน

มันจะผลักดันคนให้ตั้งคำถาม หนังสือของเราส่วนใหญ่มันอยู่บนฐานของคำถามที่ว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…’ หรือ ‘What if…’ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นการเตรียมตัวต่ออนาคตที่ดีมาก

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประชาชนทุกคนมีคะแนนพฤติกรรมเป็นของตัวเอง ทำดีต่อสังคมก็บวก ทำไม่ดีก็ลบ ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน หรือว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้านาซีชนะสงคราม ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นแบบฝึกหัดในการใช้ความคิดและเหตุผลที่ดี เรารู้สึกว่าถ้าคนได้รับสาร ได้อ่านแบบฝึกหัด หรือว่าได้ลองคิดตามเยอะๆ มันจะทำให้เขาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

ในต่างประเทศคนทำหนังสือประเภทนี้อยู่ได้ไหม

มันประสบความสำเร็จนะ คือหนังสือเล่มที่เลือกมาแปลไม่ใช่เล่มที่เป็นวิทยาศาสตร์เพียวหรือว่าเป็นปรัชญาเพียว แต่ว่าเป็นเล่มที่พยายามจะใช้วิทยาศาสตร์หรือปรัชญาเป็นเครื่องมือในการค้นหาคำตอบบางอย่าง อย่างเล่มของ พี่หนุ่ม โตมร ชื่อ เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด มันก็ตอบคำถามว่าเราเติบโตทำไม โดยใช้มุมมองทางปรัชญามาตอบ

หรือหนังสือเราที่ชื่อ หุ่นยนต์ผงาด มันก็ตอบคำถามตั้งแต่หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ได้จริงมั้ย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ตอบว่าได้ แล้วก็ถามต่อว่า เราจะทำยังไงกันดี ในแง่เศรษฐกิจเราควรจะทำยังไง รัฐควรจะกำหนดนโยบายยังไง แล้วในแง่ความเป็นมนุษย์เอง เราจะยังหลงเหลือความเป็นมนุษย์อยู่ไหม สำหรับคนที่นิยามตัวเองด้วยงาน สำหรับคนที่นิยามว่ามนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วถ้าหุ่นยนต์ทำงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ล่ะ จุดยืนของมนุษย์จะอยู่ตรงไหน มนุษย์คืออะไร หนังสือเล่มนี้ก็พยายามตอบคำถามโดยที่เชื่อมเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ และปรัชญา เข้าด้วยกัน

แล้วส่วนตัวคุณสนใจอะไรในหนังสือ หุ่นยนต์ผงาด

หนังสือเล่มนี้เสนอภาพในอนาคตที่ใกล้มากว่าถ้าหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วมันก็ไปไกลขนาดที่บอกว่าจะต้องเกิดนโยบายแบบนี้ขึ้นเพื่อปกป้องมนุษย์ หรือว่ามนุษย์จะต้องไปค้นหาความหมายของตัวเองผ่านทางไหน แล้วผู้เขียนมองไว้ว่ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ยังไง ต้องเป็นยังไงต่อไป

คืออ่านแล้วรู้สึกว่าเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ประมาณหนึ่ง แต่เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีข้อมูลมารองรับ และเกิดขึ้นจริงแล้ว เราอาจจะบอกว่าไม่เห็นเกี่ยวข้องกับไทยเลย เพราะไทยยังไม่มีแรงงานหุ่นยนต์ แต่พวกงานที่คนไทยเคยรับมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว สุดท้ายมันจะกลับไปที่ประเทศต้นทางทั้งหมด เพราะว่าการใช้หุ่นยนต์มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งมันทำให้คนที่เคยทำงานเหล่านั้นต้องไปแข่งกับหุ่นยนต์ในวันหน้า

เมื่อก่อนเรามองเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือของมนุษย์เสมอ เครื่องมือที่ทำให้เรามีความสามารถเพิ่มขึ้นในบางอย่าง เรามีรถยนต์เป็นส่วนขยายของขา เรามีทีวีเป็นส่วนขยายของตา เรามีหูฟังเป็นส่วนขยายของหู เรามีวิทยุเป็นส่วนขยายของปาก แต่หุ่นยนต์มันไม่ใช่ เมื่อไหร่ก็ตามที่มันทำงานได้ด้วยตัวเอง มันไม่ได้เป็นส่วนขยายของเราแล้ว มันคือจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ จากที่เป็นแค่เครื่องมือ ตอนนั้นมันจะกลายเป็นอีกตัวตนหนึ่งที่อยู่บนโลก

แล้วคุณเองมองหุ่นยนต์ด้วยความรู้สึกแบบไหน กลัว ตื่นเต้น หรือรู้สึกยังไง

เราไม่ได้กลัวมันมาก เราไม่ได้รังเกียจ ไม่ได้ชอบ แต่ว่ามันทำให้เรากลับมาถามตัวเองว่าถ้าวันหนึ่งที่หุ่นยนต์เขียนข่าวได้แล้ว ถ้าวันหนึ่งมันจับใจคนอ่านได้เหมือนที่ผู้เขียนซึ่งเป็นมนุษย์จับใจคนอ่านได้ แล้วมันจะเป็นยังไง มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เราต้องหาความหมายของชีวิตด้วยอย่างอื่นนอกจากงาน เพราะว่าเมื่อมีสิ่งประดิษฐ์บางอย่างที่ทำงานได้เหมือนเรา หรือทำได้ดีกว่าเรา แล้วหน้าที่ของเราคืออะไร แล้วความหมายของเราคืออะไร

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

คุณเชื่อว่าจะมีวันนั้นจริงใช่ไหม วันที่หุ่นยนต์ทำได้ทุกอย่างแทนมนุษย์

เชื่อ เพราะว่ามีตัวอย่างมากมายให้เห็น เราเห็นหุ่นยนต์วาดภาพได้ เห็นหุ่นยนต์เขียนบทกวีได้ เห็นหุ่นยนต์แต่งเพลงได้ แล้วเทคโนโลยีพวกนี้มันเป็นความเร่งแบบ Exponential คือยกกำลังขึ้นไป ดังนั้น อะไรที่เราเห็นในวันนี้มันจะดีขึ้น 2 เท่าในอีกไม่กี่เดือน และมันจะดีขึ้นอีก 2 เท่าในอีกไม่กี่เดือน วันหนึ่งหุ่นยนต์จะพิพากษาได้ จะเขียนงานได้ สัมภาษณ์ได้ ถ่ายรูปได้ ดังนั้น เราคิดว่าอีกไม่นานเราจะรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้เจ๋งดีว่ะ แล้วมารู้ทีหลังว่าหุ่นยนต์ทำ

จากที่เราเคยมองว่าหุ่นยนต์ทำอะไรพวกนี้ไม่ได้หรอก แต่ว่าวันหนึ่งมันจะทำได้ในระดับเดียวกัน และสุดท้ายมันอาจจะทำได้ในระดับที่ดีกว่ามนุษย์

แล้วมีอะไรบ้างไหมที่คุณคิดว่ายังไงหุ่นยนต์ก็แทนมนุษย์ไม่ได้

สิ่งที่หุ่นยนต์ทดแทนมนุษย์ไม่ได้คือมันเป็นมนุษย์ไม่ได้เท่านั้นเอง คือยังไงก็ตามคุณก็จะรู้สึกว่านี่คือหุ่นยนต์ อันนี้เป็นสิ่งที่มันทดแทนไม่ได้ ไม่ว่ามันจะน่ารักแค่ไหน ไม่ว่ามันจะดีกับคุณแค่ไหน แต่ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นหุ่นยนต์ มันก็จะเป็นหุ่นยนต์อยู่ดี อันนี้แหละที่ทดแทนไม่ได้ ซึ่งมันทำให้คนบอกว่าหุ่นยนต์จะทดแทนในงานดูแลผู้สูงอายุได้ช้าที่สุด เพราะว่าคนไม่สะดวกใจ แล้วก็เป็นปัญหาในเชิงเทคนิคด้วยว่าจริงๆ แล้วมันอาศัยความแม่นยำ อาศัยความคล่องแคล่วมากกว่าที่คิด ซึ่งเป็นทักษะของมนุษย์ที่ตอนนี้หุ่นยนต์ยังเลียนแบบไม่ได้ดีนัก

ในวันที่หุ่นยนต์ทดแทนมนุษย์ได้ทุกอย่าง หมายความว่าวันหนึ่งมนุษย์จะไร้ค่าหรือเปล่า

ถามว่ามนุษย์จะไร้ค่ามั้ย ก็ขึ้นอยู่กับว่าให้ค่ากับอะไร ถ้าให้ค่ากับผลผลิตของตัวเองก็ไร้ค่า

เรื่องปัญญาประดิษฐ์ เรื่องหุ่นยนต์ เป็นสิ่งที่ทำให้เราอ่านปรัชญาเยอะขึ้น เมื่อก่อนความหมายของชีวิตเราอาจจะเป็นการพัฒนาเพื่อให้ดีกว่าเมื่อวาน ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ก็มีคำถามว่าดีกว่าเมื่อวานแล้วยังไงวะ คือมันเกิดคำถามเยอะขึ้น ดีกว่ายังไง ดีกว่าคืออะไร เก่งกว่าเพื่ออะไร

สุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่าการตั้งคำถามเรื่องความประดิษฐ์ ความจริงหรือความไม่จริง มันจะทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นคุณสมบัติของมนุษย์อย่างความฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ ความรัก ศิลปะ จิตสำนึก จริงๆ แล้วมันคืออะไร มันคือสิ่งประดิษฐ์เหมือนกันหรือเปล่า

กับคำถามที่ว่าความหมายของชีวิตคืออะไร คุณเจอคำตอบหรือยัง

ไม่เจอ ซึ่งเรารู้สึกว่าความหมายก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์เหมือนกัน ทุกวันนี้ก็ยังกลับมาถามอยู่ว่าทำไปทำไมวะ แต่ก็อยู่ไป หิวก็กิน ง่วงก็หลับ เราคิดว่าในระยะใกล้มนุษย์จะยังไม่รู้คำตอบหรอก

แล้วคิดว่ามนุษย์จำเป็นต้องรู้มั้ย ความหมายของชีวิต

มีคนเขาบอกว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์คือการมีเป้าหมาย มีความหมาย ดังนั้น ถ้าเราเชื่ออย่างนั้น อาจจะจำเป็น ซึ่งอาจจะไม่มีวันเจอคำตอบ แต่สุดท้ายมนุษย์อาจจะแฮปปี้กับการวิ่งไล่ตามก็ได้

แชมป์ ทีปกร

ขอบคุณสถานที่ Oneday Hostel

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan