ที่นี่น่าจะเป็นโรงเรียนที่เล็กที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นและสัมผัสมาในชีวิต

โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีคุณครูประจำ มีห้องเรียนห้องเดียว จุนักเรียนได้อย่างมากไม่น่าจะเกินยี่สิบสามสิบชีวิต พูดก็พูดเถอะ ร้านกาแฟบางร้านยังกว้างขวางกว่าสถานที่ที่เรียกตัวเองว่าโรงเรียนแห่งนี้เสียอีก

ผมนัดคุยกับ ซัน-อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้ก่อตั้งและเป็นครูใหญ่ที่วางรากฐานหลักสูตรต่างๆ ที่ห้องเรียนเพียงห้องเดียวของโรงเรียนแห่งนี้

โดยที่ด้านหน้ามีป้ายขนาดกะทะรัดกำกับไว้ว่า ‘Brick by Brick School of Conceptual Photography’

ก่อนหน้านี้ ซันอาจทำมาแล้วหลายอย่าง แต่บทบาทที่ทำให้ผมรู้จักเขาคือเป็นผู้ก่อตั้งเปิดเพจ ‘สยาม.มนุษย์.สตรีท’ ที่ขับคอยขับเคลื่อนวงการถ่ายภาพแนวสตรีทด้วยการให้ความรู้และหมั่นลงงานดีๆ ให้คนที่สนใจได้เสพ นอกจากนี้เขายังเปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องฟิล์มแบบครบวงจรที่ชื่อ ‘Husband and Wife’ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงเรียนที่ว่ามา

อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล

โดยไม่น่าจะเกี่ยวกับความหมายของชื่อ ผมรู้สึกเห็นแสงสว่างบางอย่างเมื่อได้นั่งลงพูดคุยกับเขา

ในบ้านเมืองที่งานศิลปะร่วมสมัยยังไม่ได้หยั่งรากลึก ในบ้านเมืองที่วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ยังเป็นสิ่งแปลกหน้า ซันลุกขึ้นมาเปิดโรงเรียนสอนถ่ายภาพเชิงแนวคิด (Conceptual Photography) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของงานศิลปะร่วมสมัยที่เขาสนใจ

เขาไม่ได้สอนว่ากล้องถ่ายภาพใช้ยังไง ต้องใช้รูรับแสงหรือสปีดชัตเตอร์เท่าไหร่ องค์ประกอบภาพที่ดีวัตถุต้องอยู่จุดใด แต่โรงเรียนของเขาสอนให้ผู้มาเรียนคิด คิด คิด และคิด โดยผู้ที่มาสอนแต่ละคลาสคือศิลปินรับเชิญผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งสิ้น

แม้โรงเรียนแห่งนี้จะเล็กเมื่อมองจากสิ่งปลูกสร้าง แต่เมื่อเรียนจบ ผมเชื่อว่าสำหรับผู้มาเรียน จะรู้สึกว่าโรงเรียนได้ขยับขยายจนใหญ่ที่สุดเท่าที่ในชีวิตเคยพบ

เพราะโรงเรียนของเขา จะกลายเป็นโลกทั้งใบ

Brick by Brick School of Conceptual Photography

อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล

ย้อนมองงานที่คุณทำมาจนกระทั่งมาเปิดโรงเรียน ล้วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ คุณหลงใหลอะไรในกิจกรรมนี้ถึงทำมาตลอด

ย้อนกลับไปคนยุคเรากล้องถ่ายรูปมันเป็นเรื่องพิเศษมากนะ มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่ธรรมดาสุดๆ ในยุคสมัยเราถ้าวันไหนคุณพ่อหยิบกล้องขึ้นมามันต้องเป็นวันพิเศษ หรือการที่เราได้กล้องคอมแพคไปทัศนศึกษา คุณพ่อก็จะต้องเดินไปซื้อฟิล์ม มันดูเป็นเรื่องจริงจัง พอกลับมาก็ต้องไปส่งล้าง ซึ่งเราลืมสิ่งนั้นไปแล้วจนกระทั่งวันที่เราออกจากงานประจำที่ทำมา 10 ปี เรารู้สึกว่ามันหมดแพสชันในชีวิตมาก ตอนนั้นเราได้แต่ความอิสระ แต่เราไม่รู้ทิศทาง

แล้ววันหนึ่งเราก็หยิบกล้องฟิล์มของพ่อออกมา ตอนนั้นพ่อเราเสียไปนานแล้ว ซึ่งพ่อทิ้งกล้องฟิล์มไว้เยอะมาก เราลองหยิบมาเล่นแล้วก็รู้สึกชอบ มันเหมือนไทม์แมชชีนที่ทำให้เรานึกถึงสมัยเราเด็กๆ เรานึกถึงพ่อ พอเรารู้สึกก็เริ่มถ่ายจริงจังขึ้น จนเป็นที่มาของสิ่งที่เราทำงานด้วย เราหันมาทำงานเรื่อง Analog Photography ทั้งหลาย

ที่ว่าแต่ก่อนการถ่ายรูปเป็นเรื่องพิเศษมาก แล้ววันนี้พอเทคโลยีพัฒนาขึ้น คุณคิดว่าคุณค่าของภาพถ่ายลดลงไหม

เราว่าคนมองมันด้อยค่าลง แต่ว่าพลังของภาพถ่ายยังเหมือนเดิมถ้าคุณใช้มันเป็น แค่คุณไปลดทอนคุณค่ามันเอง เพราะคุณไม่ได้ใส่ใจมัน ถามว่าในโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายเราได้ย้อนกลับไปดูสักกี่รูป เราว่ามันอยู่ที่วิธีคิดของคนเท่านั้นเอง เครื่องมือสะดวกก็ดีแล้ว คนก็เข้าถึงมากขึ้น เพียงแต่ว่าตัวคุณเองที่ไปลดคุณค่ามัน ไม่ได้คิดกับมันมาก ถ้าคุณคิดกับมัน มันก็มีคุณค่าเหมือนเดิมนั่นแหละ

นี่คือผมเปิดร้านขายฟิล์มด้วยนะ แต่ผมไม่เคยบอกหรือบ่นว่าคนสมัยนี้มันไม่เหมือนคนสมัยก่อนเลย ผมไม่คิดอย่างนั้น ผมรู้สึกว่ามันดีแล้ว เหมือนการมีรถคลาสสิกกับรถซีดานรุ่นใหม่ล่าสุด ผมชอบขับรถคลาสสิกก็แค่นั้น แต่มึงจะยอมรถตายกลางถนนตลอดเวลาเหรอ ก็เปล่า การมีทางเลือกมากมายให้เลือกมันดีแน่นอน

อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล

อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล

แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาสนใจการถ่ายภาพแนวสตรีทจนเปิดเพจ สยาม.มนุษย์.สตรีท คือตอนไหน

วันหนึ่งเราเริ่มรู้จักกลุ่ม Street Photo Thailand เราก็โพสต์รูปลงไป และเหมือนสิ่งที่เราโพสต์มันยังไม่ใช่ภาพถ่ายสตรีท เราก็สงสัยว่าแล้วมันคืออะไรวะ เพราะตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจ เราคิดว่างานถ่ายภาพแนวสตรีทก็คือแค่ถ่ายคนแก่ ถ่ายขอทาน ถ่ายคนที่อยู่บนท้องถนนไง แล้วตอนนั้นเขามีประกาศเวิร์กช็อปของกลุ่ม เราก็ไปเรียน แล้วรู้สึกเหมือนเปิดถูกกะโหลก คือการถ่ายภาพสตรีทมันอยู่ที่มุมมอง มันไม่ใช่เรื่องความสวยงามที่ตาเห็น มันขายกันที่มุมมองความคิดของเรา หลังจากนั้นเราก็ไปศึกษาประวัติศาสตร์งานศิลปะร่วมสมัยในโลกอย่างจริงจัง และฝึกหนักมาก ถ่ายทุกวัน จนเราเริ่มเข้าใจอะไรบางอย่าง เราจึงเริ่มเปิดเพจสยาม.มนุษย์.สตรีท เพื่อที่จะให้ความรู้กับคน

ที่ว่าเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพสตรีท คุณเข้าใจอะไร

การถ่ายภาพแนวสตรีทมันเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งงานศิลปะร่วมสมัยมันสำคัญที่คอนเซปต์ มันไม่สำคัญที่ตัวนี้ (ชี้ที่กล้อง) มันสำคัญที่ความคิด เราจะถ่ายทอดความคิดในตัวเราออกมายังไง แต่เมืองไทยเต็มไปด้วยการสอนว่า นี่คือปากกา นี่คือไส้ นี่คือหมึก มันเต็มไปด้วยการสอนเทคนิค ซึ่งไม่ผิดนะ เรารู้สึกว่าโอเค เพียงแต่ว่ามันเยอะเกินไปแล้วสำหรับเรา คุณเปิดยูทูบคุณก็รู้แล้ว มันมีเป็นล้านๆ คลิปแล้ว แต่ไม่มีใครคิดจะสอนว่า แล้วคุณจะถ่ายทอดตัวคุณออกมายังไง ไม่มีใครสอนว่าในหนึ่งหน้ากระดาษคุณอยากเล่าเรื่องของคุณ คุณควรจะเล่าแบบไหน

เปรียบเทียบเหมือนเราคุยกันแต่เรื่องปากกาว่าใช้ยี่ห้ออะไร ใช้ Montblanc หรือเปล่า กูใช้ Lamy นะ คือสำหรับเราปากกามันเอาไว้ขีดเขียนเหมือนกัน แต่ประเด็นคือสิ่งที่คุณจะเล่าคืออะไร คุณต้องคิดเรื่องนี้ให้แตกที่สุดต่างหาก สมมติว่าเป็นนักเขียนคุณก็ต้องรู้ว่าจะเขียนอะไรใช่ไหม ซึ่งพอผมเริ่มก้าวเข้าไปในโลกของงานศิลปะร่วมสมัยผมก็เริ่มรู้สึกสนุกกับมัน เริ่มรู้สึกว่าเราอยากมีโรงเรียนที่ให้ความรู้แนวนี้กว้างๆ ซึ่งงานเชิงคอนเซปต์มันง่ายสุด หมายความว่าเวลาคุณคิดอะไรคุณคิดให้มันเป็นคอนเซปต์ มันก็จะมีหลักให้คุณยึดว่าคุณจะพูดเรื่องอะไร พอคุณรู้ว่าจะเล่าอะไรคุณก็หาวิธีเล่ามันด้วยภาพ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิค คุณอาจจะถ่ายรูปไม่เป็นก็ได้

อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคลอาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล

ถ้าอยากให้ความรู้คนทำแค่ในเพจก็ทำได้ ทำไมต้องลุกขึ้นมาเปิดโรงเรียน

ผมรู้สึกว่าสื่อแค่นี้ยังไม่มากพอ บางทีคุณเห็นรูปแล้วคุณกดไลก์โดยที่คนยังไม่พิจารณารูปเลย แล้วบางคอนเทนต์คนมากดไลก์แต่ไม่ได้เข้าไปอ่าน ซึ่งบางคอนเทนต์เราตั้งใจหาข้อมูล ทำเป็น Archive แต่ก็ไม่มีคนอ่าน แต่เรารู้สึกว่ามันน่าจะมีคนที่สนใจ ซึ่งต้องมาเรียนเป็นเรื่องเป็นราว เราก็เลยรู้สึกว่าต้องทำโรงเรียน

เราเป็นคนเชื่อเรื่องการศึกษา แต่เราไม่ชอบเรียนหนังสือเลย คือเราไม่ชอบการศึกษาในระบบ เพราะเรารู้สึกว่าทำไมระบบการศึกษาต้องมาตัดสินให้เรา เช่น ทำไมเราต้องรู้สิ่งนี้ตอน ป.5 ใครเป็นคนกำหนด เราอาจจะอยากรู้เรื่องนี้ตอน ม.1 ก็ได้ หรือเราไม่อยากรู้เรื่องนั้นแต่อยากรู้เรื่องนี้แทนได้มั้ย แล้วใครเป็นคนตัดสินให้เรา เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นคนต่อต้านเรื่องพวกนี้ แต่การที่เราอยากให้การศึกษามันดี เราบ่นเฉยๆ ไม่ได้ เราต้องทำ

อีกประเด็นคือคนจะบ่นเรื่องวงการศิลปะเยอะว่า คนไทยไม่เสพงานศิลปะ เพราะพื้นฐานคนไทยไม่มีรากเหง้าของงานศิลปะร่วมสมัยเลย อย่างนิวยอร์กจะเป็นเมืองที่ศิลปะร่วมสมัยที่เข้มข้นมาก ซึ่งวิธีคิดของคนบ้านเขากับบ้านเราแตกต่างกัน บ้านเราจะยึดติดกับงานที่เป็น Traditional มากๆ ไม่เข้าใจงานที่เป็นโมเดิร์นหรือร่วมสมัยทั้งหลาย เพราะว่ารากฐานเราเป็นคนละแบบ ศิลปินก็จะบ่นว่าคนไม่ดื่มด่ำงานศิลปะ มีโฟโต้บุ๊กก็ไม่ซื้อ จนศิลปินก็หมดใจที่จะทำ แต่เรารู้สึกว่าบ่นไปก็เท่านั้น มันต้องไปแก้ที่รากเหง้า

เชื่อไหมว่าการเปิดโรงเรียนสามารถแก้ปัญหาที่มันฝังรากลึกได้

เชื่อ เรารู้สึกว่าการศึกษาแก้ได้ทุกอย่าง เพียงแต่มันยากมาก มันคือการหว่านเมล็ด มันไม่ใช่การตัดต่อกิ่ง มันจะโตช้าโคตรๆ หรือมันอาจจะโดนมดแดกก่อนก็ได้ แต่ว่าถ้ามันโตได้ มันจะหยั่งรากลึก

ซึ่งมันก็เชื่อมโยงกับชื่อ Brick by Brick จริงๆ เราชอบชื่อนี้มาเมื่อนานมากแล้ว สมัยวัยรุ่นเราดูเรื่องหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งตัวละครเขาพูดถึงเรื่องการที่เราจะทำอะไรสักอย่างมันก็เหมือนกับการก่ออิฐ ที่คุณต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ก่ออิฐทีละก้อน Brick by Brick คืออย่างนั้น ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเหมือนสิ่งที่เราทำ การที่คุณจะทำให้มันหยั่งรากลึก คุณก็ต้องหว่านเมล็ดอย่างเดียว คุณต้องใช้เวลากับมัน ค่อยๆ ทำ มันไม่มีอะไรที่รวดเร็วแล้วเห็นผลทันที คือเราเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องเวิร์กช็อปวันเดียวจบ โอเค บางอย่างอาจจะทำวันเดียวได้ แต่โดยรวมสิ่งที่เรากำลังจะสื่อสารต้องใช้เวลา

อย่างในเอเชียถามว่า ทำไมวงการศิลปะร่วมสมัยในญี่ปุ่นถึงโตได้ เพราะเขาเป็นประเทศที่เจริญแล้วหรือเปล่า มันก็คงส่วนหนึ่ง แต่ประเด็นก็กลับมาที่เรื่องการศึกษาอยู่ดี อีกอย่างการเรียนศิลปะคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องไปสร้างงานก็ได้ แต่คุณเรียนศิลปะเพื่อเสพงานให้สนุกขึ้น ถ้าคนมีความรู้ ต่อให้เขาจะผลิตงานไม่ได้ แต่เขาจะเสพงานได้ เวลาผมไปดูงานที่แกลเลอรี่ต่างประเทศก็มีทั้งเด็ก คนหนุ่มสาว คนแก่ ทำไมทุกคนมาดูงานศิลปะร่วมสมัยได้หมดเลย แล้วทำไมคนไทยไม่มีคนมาสนใจ มีแต่หน้าเดิมๆ วนกันอยู่แค่นี้

Brick by Brick School

อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล

การสอนถ่ายรูปก็มีเยอะแยะ แล้วโรงเรียนของคุณจะแตกต่างจากที่มีมายังไง

ต่าง เพราะเราไม่ได้สอนอย่างนั้นเลย ที่นี่ไม่ได้สอนเรื่องเทคนิคใดๆ ทั้งสิ้น ที่นี่สอนแนวคิดอย่างเดียว

ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีที่มีคนไทยเก่งๆ เยอะ มีคนไทยที่ไปเรียนนิวยอร์กกลับมาเยอะ เรารู้สึกว่าคนเหล่านี้สอนได้หมด เราก็จะดูจากผลงานของเขาว่าเขาเป็นคนเข้าใจตัวเองแค่ไหน งานเขาแสดงความเป็นตัวตนชัดเจนแค่ไหน เสร็จแล้วเราก็จะเริ่มคุยว่าเขาสนใจวิธีนี้มั้ย ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มาสอนเขาไม่เคยสอนแบบนี้กัน

เราคุยกับทุกคนที่มาสอนว่า ผมไม่ได้ให้มาสอนสิ่งที่คุณเป็นนะ แต่คุณต้องดึงสิ่งที่อยู่ข้างในตัวคนที่มาเรียนออกมา เช่นคอร์สของ นักรบ มูลมานัส เขาก็ไม่ได้มาสอนคอลลาจ แต่สอนเรื่อง Basic of Conceptual Art เราเชื่อว่าคนที่เป็นศิลปินเขาค้นพบแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร ซึ่งเราต้องการเอาวิธีที่เขาค้นพบนั่นแหละไปดึงสิ่งที่อยู่ข้างในคนอื่น สมมติในคลาสมี 8 คน คุณก็ต้องดึงสิ่งที่อยู่ในตัวเขาทั้ง 8 ออกมา เพราะฉะนั้นเมื่อวันที่จบคลาส 8 คนนี้จะทำงานที่ไม่เหมือนกันเลยสักนิด หรืออาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับคนที่มาสอนเลยก็ได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะเห็น เพราะฉะนั้นที่นี่ไม่มีการสอนชัตเตอร์สปีด รูรับแสง ไม่มีอะไรเลย

แล้วถ้าคนที่มาเรียนถ่ายรูปไม่เป็นมาก่อนทำยังไง

ไม่จำเป็น คือในแต่ละคลาสเราจะมีการกำกับว่าคอร์สนี้สำหรับบุคคลทั่วไปหรือสำหรับใคร อย่างคลาสของ นักรบ มูลมานัส เราไม่ได้เรียกร้องคุณสมบัติอะไรเลย คุณอาจจะถ่ายรูปไม่เป็นเลยก็ได้ แต่คุณสนใจงานศิลปะหรือเปล่าล่ะ ถ้าคุณสนใจคุณก็มาเริ่มจากงานเชิงคอนเซปต์ก่อน ซึ่งแค่คุณเอามือถือขึ้นมากดถ่ายคุณก็ทำงานศิลปะได้แล้ว

คือที่เมืองนอกเวลาเขาสอน เขาไม่ได้สอนเนื้อหา แต่เขาสอนเรื่องการถกเถียง การวิจารณ์ เข้าคลาสก็เอางานมาถกกันว่าคุณรู้สึกยังไง ชอบหรือไม่ชอบเพราะอะไร คือคุณไม่ต้องไปตัดสินใครเลย แต่คุณแสดงความเป็นตัวตนของคุณออกมา อีกคนที่ได้ยินเขาอาจจะคิดได้ว่า เออ ทำไมกูไม่เคยคิดมุมนี้เลย ซึ่งนี่คือเรื่องสำคัญที่สุดในการเรียนศิลปะ ซึ่งบ้านเราจะไม่รับเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ พอใครสักคนวิจารณ์คนก็จะคิดว่าอิจฉาล่ะสิ เรารู้สึกว่ามันยากมากที่จะพูดเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ในเมืองไทย แต่เราจะสร้างวัฒนธรรมนี้ ให้คนยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ซึ่งคุณอาจไม่ได้เชื่อเหมือนเขานะ แต่คุณยอมรับความคิดที่เห็นแย้งกับคุณได้ ซึ่งนั่นแปลว่าทุกเรื่องในสังคมมันก็น่าจะเป็นอย่างนี้ได้ นี่คือศิลปะกำลังสอนการใช้ชีวิตของคุณเลย 

โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรขาว อะไรดำ จบคลาสมันอาจจะยังเป็นคำถามปลายเปิดอยู่อย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าคุณจะได้เห็นว่า ความคิดของคุณมันมีมุมอื่นที่คนมองอีก แล้วคุณก็จะคิดได้ว่า เออว่ะ ทำไมแง่มุมนี้กูไม่เคยคิดวะ ซึ่งสุดท้ายมันสามารถต่อยอดงานของคุณออกไปได้อีก

มองในแง่การทำธุรกิจ คุณเองบอกว่า บ้านเรางานศิลปะร่วมสมัยก็ไม่ได้แข็งแรงมาก ตัวคอนเซปต์ของโรงเรียนก็สื่อสารให้คนเข้าใจได้ยาก ทำไมกล้าลุกขึ้นมาทำ

เราคิดเรื่องนี้อยู่หลายตลบมาก ตอนแรกเราก็คิดเหมือนกันว่าจะดำเนินธุรกิจยังไงให้มันไปรอด หรือเราจะเปิดสอนถ่ายรูปแบบที่เขาสอนกันไปเลยวะ ประณีประณอมหน่อย แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำสุดโต่งคนจะไม่รู้ว่าคุณกำลังพูดอะไร คุณต้องไปให้สุดทาง แล้วคุณค่อยหาวิธีสื่อสารกับคนอื่นให้ติด คือเราเริ่มต้นจากเรามีความเชื่อก่อน เราเชื่อว่าความเชื่อเราจะพาเราไปได้ เราเชื่อว่าก็กูเคยทำมากับมือนี่ไง กูเคยเรียนแล้วกูเข้าใจ เรารู้สึกว่าวิธีนี้จะต้องทำให้คนเข้าใจได้สิ แต่ว่าต้องลองผิดลองถูกไปอีกเยอะ ต้องยอมเจ็บปวดอีกยาวนานก่อน

แต่สุดท้ายเราต้องทำให้ทุกคนอยู่รอดให้ได้ การที่จะทำให้อะไรอยู่รอดได้ทุกคนที่มาร่วมกับเราต้องอยู่รอดด้วย ไม่ใช่เรารอดคนเดียว ที่เราเริ่มทำโรงเรียนขึ้นมาเราอยากทำให้มันขับเคลื่อนไปทั้งวงการ ในบ้านเราคนเป็นครูคือคนที่เงินเดือนน้อย ซึ่งเรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราต้องเอาคนที่เก่งโคตรๆ มาสอน แต่การที่เอาคนเก่งมาสอนคุณก็ต้องมีรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อให้เขา เขาต้องอยู่ได้ แล้วพอคนสอนเก่ง คนเรียนจะเก่ง และเราเชื่อว่าคนที่มีแพสชันในงานศิลปะเขาจะอยากมาสอน เพราะสำหรับเรา งานศิลปะจะมีความหมายก็ต่อเมื่อคุณได้ส่งต่อแพสชันของคุณให้กับคนอื่น สมมติคุณทำศิลปะชิ้นหนึ่ง คุณอาจจะภูมิใจ แต่ถ้าคุณสามารถทำให้อีกคนหนึ่งรู้สึกว่ากูอยากทำงานศิลปะ มันมีความหมายกว่า คือเราพยายามคิดเรื่องโมเดลนี้ให้ได้ว่าสุดท้ายแล้ว คนสอนได้อะไร คนเรียนได้อะไร เราได้อะไร

แล้วตัวคุณทำแล้วได้อะไร

เราอาจจะโตพอจนเริ่มรู้สึกว่าสิ่งสำคัญในชีวิตมันไม่ใช่การทำงานเพื่อตัวเอง แต่มันคือการทำงานเพื่อให้คนอื่นได้เติบโต คุณต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่เขาเก่งกว่าคุณอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณจะทำอะไรคุณก็มีแต่แก่ลง หมดแรงลง แล้วตายไปโดยไม่มีความหมายอะไรเลย ฉะนั้น เรารู้สึกว่าคุณค่าของการทำงานของเรามันคือการทำให้คนอื่นเก่งขึ้น สำหรับเรามันยั่งยืนกว่า การที่จะอยู่ได้ยาวนานกว่าคุณต้องส่งต่อให้ผู้อื่นด้วย ทำให้คนอื่นเก่งขึ้นด้วย แล้วเมื่อคนเก่งขึ้นเขาก็จะไปส่งต่อไปเรื่อยๆ มันจะเป็นการส่งต่อแบบอินฟินิตี้ เหมือนที่เราเคยรู้สึกตอนที่เราทำเพจสยาม.มนุษย์.สตรีท แล้วเราได้เห็นงานใหม่ๆ ที่เรารู้สึกว่าโคตรเจ๋งเลยว่ะ อย่างนั้นไม่ดีกว่าเหรอ

คือคุณทำงานคนเดียวมันไม่มีทางสนุกหรอก แต่สมมติวันหนึ่งเขาอ่านคอลัมน์คุณ แล้วเขาไปทำอะไรบางอย่างที่เจ๋งมาก สำหรับเรามันรู้สึกดีฉิบหายเลยนะ เรารู้สึกว่า เออ นี่แหละคือสิ่งที่มีความหมาย

Brick by Brick School of Conceptual Photographyหนังสือ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan