“อยากได้อะไรจากกรุงเทพฯ มั้ยครับ”

ผมพิมพ์ประโยคคำถามลงในกล่องแชทเฟซบุ๊กไถ่ถาม วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ก่อนออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนเขาที่น่าน

“สยามพารากอน” เขาพิมพ์ตอบกลับมา นี่แหละอารมณ์ขันของวรพจน์ คนอย่างเขามีเหรอจะอยากได้ศูนย์การค้า

หากใครติดตามงานของนักเขียน นักสัมภาษณ์ ผู้นี้สม่ำเสมอ ย่อมรู้ว่าเขาโบกมือลาเมืองหลวงที่ปักหลักมา 25 ปี ไปปลูกบ้านกลางป่าเขาที่จังหวัดน่านมาแล้วครบรอบ 1 ปีเต็มเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ไม่นาน ถ้าว่ากันด้วยตัวเลขวันเวลา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาเห็นฤดูกาลครบรอบ ร้อน ฝน หนาว เขาผ่านพบมาครบแล้วในดินแดนแห่งใหม่

เรานัดพบกันที่ศาลาฝั่งตรงข้ามสนามบินน่าน เขายิ้มทักทายด้วยทีท่าเป็นมิตรเหมือนทุกครั้ง ก่อนจะวาดขาขึ้นยานพาหนะสองล้อแล้วล่วงหน้านำทางรถยนต์ของผมและช่างภาพไปยัง ‘สวนไผ่รำเพย’ บ้านหลังล่าสุดในชีวิตเขา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขานำทางผม

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ คือชื่อที่ผมนึกถึงเสมอเมื่อพูดถึงใครสักคนที่เป็นต้นแบบในการทำงานด้านสื่อสารมวลชน เขาคือครูอาจารย์ที่นำทางผ่านงานที่ทำ

ในแง่ปริมาณ นับจาก เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง หนังสือเล่มแรก จนถึง วัยหนุ่ม หนังสือเล่มล่าสุดที่รวมความเรียงคัดสรรในรอบ 15 ปี เขามีงานเขียนมาแล้ว 24 เล่ม และยังเขียนอยู่สม่ำเสมอ

ในแง่คุณภาพ ใครหลายคนยอมรับตรงกันว่าในสนามอักษรเขาคือนักสัมภาษณ์มือหนึ่ง และในนามของสื่อมวลชน เขาพร้อมเอาชีวิตเข้าปะทะเรื่องราวต่างๆ เสมอเมื่อเห็นว่าเรื่องใดสำคัญ จำเป็น เสรีภาพสำคัญใช่ไหม-เขาต่อสู้ ความรู้จำเป็นใช่ไหม-เขาทุ่มเทศึกษา งานของเขาจึงแหลมคมและลงลึก

ที่สวนไผ่รำเพย เรานั่งคุยกันตั้งแต่ช่วงแสงแดดจัดจ้าจนแสงจันทร์ส่องสว่าง บทสนทนาเวียนวนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเจาะจงไปที่สิ่งที่มีความหมายกับชีวิตของเขาในวัยย่าง 48

“บางอย่างเราจะมากอดรัดมันไว้ไม่ได้ ต้องดูว่าอะไรที่สำคัญ มีความหมาย” วรพจน์ว่าอย่างนั้นข้างกองไฟที่เขาเป็นคนก่อขึ้นมา-กองไฟที่ทั้งร้อนแรง งดงาม และสว่างไสว เหมือนวัยหนุ่ม

ใช่, หากว่ากันตามพจนานุกรม ทุกคำมีความหมาย แต่ในชีวิตคนเราใช่ว่าทุกสิ่งจะมีความหมาย ยังไม่นับว่าบางสิ่งไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

ต่อไปนี้คือความหมายของสิ่งที่มีความหมายในชีวิต วรพจน์ พันธุ์พงศ์


บ้าน

น. ที่อยู่ เช่น เลขบ้าน เจ้าบ้าน, สิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย เช่น บ้านพักตากอากาศ บ้านเช่า, บริเวณที่เรือนตั้งอยู่ เช่น เขตบ้าน, หมู่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน, ถิ่นที่มีมนุษย์อยู่ เช่น สร้างเป็นบ้านเป็นเมือง

เคยนับเล่นๆ ไหมว่าชีวิตนี้ย้ายบ้านมาแล้วกี่ครั้ง

เราเกิดที่โคราช บ้านห่างจากตัวเมืองโคราช 50 กิโล อยู่โคราชบ้านที่เกิด 12 ปี จนจบ ป.6 แล้วก็เข้ามาอยู่ในเมือง บวชเณร 3 ปี พอจบ ม.3 ย้ายไปอยู่ราชบุรี 3 ปี จบ ม.6 แล้วก็สอบเข้าศิลปากร ซึ่งคณะอักษรฯ อยู่นครปฐม พอเรียนจบ 4 ปี ไปทำงานที่พัทยา บริษัทมีบ้านให้อยู่ ก็อยู่พัทยาประมาณ 6 – 7 เดือน แล้วก็ลาออก ถือกระเป๋าจากพัทยาเข้ากรุงเทพฯ อยู่กรุงเทพฯ มา 25 ปี แล้วก็ย้ายมาที่นี่

เหมือนคุณไม่ได้มองว่าบ้านคือสิ่งที่ต้องปักหลักอยู่กับที่

เราเกิดมาอยู่กับพ่อแม่ สัก 5 – 6 ขวบพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว เหมือนมันมีวันเวลาแค่นั้น ถัดจากนั้นเราก็ไปอยู่กับยาย พ่อก็แยกออกไป แม่ก็ไปหางานทำ พี่น้องก็จะกระจายไปหมด คนนี้ไปฝากบ้านนี้ คนนี้ไปฝากบ้านนั้น ฉะนั้น สำหรับเรามันเลยอยู่กับความไม่มั่นคง กับความไม่มีสิ่งนี้อยู่แล้ว

คนที่ไม่มีมี 2 อย่างคือ ไม่มีแล้วจะปรารถนามาก กับไม่มีก็ช่างแม่ง เหมือนคนไม่เคยมีกิน ยากจนมาก พอมีบางคนจะตะกละ เพราะไม่เคยมี แต่บางคนไม่มีอยู่แล้ว ฉะนั้น พอมีก็ดี ก็ค่อยๆ กินไป ดีใจ แต่ไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต

เห็นว่าบ้านที่น่านหลังนี้คุณทำเองทั้งซื้อวัสดุ ขุดดิน ลงเสา ปีนหลังคา ตอกตะปู ทำไมถึงเลือกทำเอง ไม่จ้างช่าง

มี 2 – 3เหตุผล ข้อแรกคือ น้องสาวและแฟนน้องสนใจอยากจะมาช่วย อยากมาเที่ยว เลยคิดว่าพอทำได้ กับอย่างที่สอง สำคัญกว่า คือถ้าจ้างช่างเราต้องมีคำตอบในใจบอกเขาว่าให้ทำยังไง นี่เราไม่มีอะไรในหัวเลย แล้วจะจ้างมาทำอะไร ถ้าจ้างช่างต้องเป๊ะ เขาจะได้คำนวณเงินถูก คำนวณเวลาถูก อันนี้ไม่รู้อะไรสักอย่าง ไม่ได้ว่าอยากจะประหยัดเงิน นั่นประเด็นรอง แต่ทำเองแน่นอนมันประหยัดตังค์มากๆ

บ้านหลังนี้ใช้เงินประมาณ 60,000 บาท เดือนหนึ่งอยู่กัน 3 คน ค่าอาหาร ค่าเบียร์ ค่าน้ำมัน ได้บ้านมาหลังหนึ่ง ได้ห้องครัว ได้มอเตอร์ไซค์มือสอง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 97,300 บาท คือเงินแสนหนึ่งมีทอน แล้วเราเป็นคนดื่มนะ ถ้าไม่มีเบียร์ถูกกว่านี้อีก (หัวเราะ)

เป็นคนประหยัด

ไม่ได้ประหยัด เราแค่ใช้ตามเงินที่มี เราไม่มีนโยบายว่าต้องประหยัด เรามีวิธีคิดแบบโลกทุนนิยม คือถ้ามีเงินคุณใช้ไป เงินมีไว้ใช้ ประเด็นคือคุณหาได้เท่าไหร่ ใช้ให้สัมพันธ์กันระหว่างความสามารถในการหากับการบริหาร มีเงินเยอะใช้ไปเลย ใช้ให้มัน อะไรที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยส่งเสริม ช่วยเหลือใครได้ ทำให้อะไรมันพัฒนาขึ้น คุณใช้ไปเลย แต่ถ้ามีน้อยคุณต้องทำยังไงล่ะ เราจะรับไม่ได้ จะรังเกียจตัวเอง ถ้ามีความทุกข์เรื่องเงิน สำหรับเรา เงินไม่มีจิตใจ มันบริหารง่ายกว่าเรื่องที่มีจิตใจ เรื่องจิตใจนี่นามธรรม งานเรานี่นามธรรม เขียนหนังสือนี่ยาก และต้องใช้เวลาเยอะ ฉะนั้น เรื่องยากในชีวิตเราเยอะอยู่แล้ว เราจะไม่ให้เงินมาสร้างความทุกข์

การที่คุณทำให้เงินมาสร้างปัญหาให้ชีวิตสำหรับเรามันโง่เขลา เงินมันกระจอก อะไรกระจอกอย่าให้มันมาสร้างปัญหาให้ชีวิต ที่ว่ากระจอกคือสมมติมี 24 ชั่วโมง เราให้เวลาคิดเรื่องเงิน 5 นาที ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าเงินไม่สำคัญ แค่เราให้เวลากับมันน้อย เงินสำคัญสิ ทำไมจะไม่สำคัญ สำคัญมากเลยด้วย แต่ชีวิตเรามีเรื่องอื่นที่สำคัญ ที่เราต้องเทกแคร์ ที่น่าสนใจ ที่มีค่ามีความหมายกับมนุษย์กว่านั้นอีกเยอะมากๆ อย่างเรื่องเพื่อน เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องงานสร้างสรรค์ เรื่องธรรมชาติ เรื่องงานศิลปะ เรื่องงานวรรณกรรม เงินเหมือนเป็นเพียงเชื้อเพลิง แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องมุ่งไป


เวลา

น. ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น เช่น เวลาเป็นเงินเป็นทอง ขอเวลาสักครู่

ตอนจะย้ายออกจากกรุงเทพฯ คิดนานไหม

คิดมาเรื่อยๆ ไม่ได้เพิ่งคิดเมื่อวานนี้ ค่อยๆ ดูตัวเอง ดูใจตัวเอง เราถามตัวเองว่าชีวิตนี้เราจะตายที่กรุงเทพฯ หรือเปล่า คำตอบคือไม่

เราอยู่กรุงเทพฯ มานาน แต่จะให้ซื้อบ้านที่กรุงเทพฯ เราไม่ซื้ออยู่แล้ว เพราะกรุงเทพฯ มันแพง อาชีพที่เราทำเงินมันน้อย ถ้ารวยอยู่กรุงเทพฯ น่ะเวิร์ก แต่ถ้าจนอยู่กรุงเทพฯ ไม่เวิร์ก คุณภาพชีวิตไม่ดี เรายกตัวอย่างเล่นๆ อยู่กรุงเทพฯ ถ้าคุณมีเงินสัก 30,000 ยังถือว่าค่อนไปทางคุณภาพชีวิตแย่ คุณก็ติดอยู่บนรถเมล์ รถไฟฟ้า บางสถานที่มันต้องมีรายได้ขั้นต่ำของมัน กรุงเทพฯ เราให้ 30,000 ต่ำกว่านี้ชีวิตคุณจะโดนกัดกร่อน คือแน่นอน เราเข้าใจ ทุกคนมันเลือกไม่ได้ขนาดนั้น แต่ถ้าคุณไม่พยายามที่จะเลือกเลย คุณก็จะใช้คำนี้ไปทั้งชีวิต จริงๆ ชีวิตมันพอเลือกได้บ้าง เราก็คิดมาเรื่อยๆ ค่อยๆ ดู น่าจะเกิน 5 ปี

แล้วถามว่าทำไมเลือกน่าน การเลือกที่มันไม่ได้อยู่ที่ใจคุณ การเลือกที่มันสัมพันธ์กับอีกร้อยเรื่อง คุณเอาแต่ใจไม่ได้ ข้อที่หนึ่งเลยคือ เงินคุณมีเหรอ แล้วถ้าไม่มีเครือข่ายคอนเนกชันเลยมันยาก ยกเว้นถ้าคุณมีเงินร้อยล้านมันก็ง่าย การออกจากกรุงเทพฯ มันต้องดูว่าคุณมีอะไรอยู่ในตัว คุณเอาแต่ใจไม่ได้เลย ของเรามันก็มีเรื่องเพื่อน เรื่องจังหวะโอกาส สำหรับคนที่เงินน้อยมันมีเรื่องพวกนี้เกี่ยวเยอะ

ที่พูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดี คุณเอาอะไรเป็นตัววัด

เลือกได้ มีเวลา มีเวลาเสพสุนทรียะ ไม่ใช่ปากกัดตีนถีบ จะนอนก็ไม่ได้นอน อันนั้นเลือกไม่ได้ คุณภาพชีวิตที่ดีต้องเลือกได้ วันนี้อยากกินหรูต้องเลือกได้ และทุกอย่างจะบวกกับเรื่องมีเวลา ถ้าไม่มีเวลาไม่เวิร์ก เวลาสำคัญที่สุด สำคัญมากๆ สมมติคุณได้เงินเดือนเดือนละแสน แต่คุณไม่มีเวลา คุณจะเสพอะไรตอนไหน มนุษย์มันประกอบด้วยร่างกายตัวเรา แล้วก็เวลา ถ้าคุณจัดการสองอย่างนี้ไม่ได้ ข้ามสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป มันก็ไม่สมดุล

แล้วการย้ายออกจากกรุงเทพฯ ทำให้เสียอะไรไปบ้างได้คิดไหม

เยอะแยะ เพื่อนที่นี่มีคนเดียว เพื่อนที่กรุงเทพฯ มีเป็นร้อย ความรู้ แหล่งวิชาการ เวทีเสวนา เขาไม่ได้มาจัดที่นี่ เขาจัดที่กรุงเทพฯ ดูไลฟ์มันไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่แค่ภาพบนเวที เราชอบข้างๆ เวที ข้างหลังเวที แต่มันก็ได้มาเยอะแล้ว เราก็เสพมาเยอะแล้ว เลิกมันดีกว่า ทีนี้มันอยู่ที่มุมมองของคุณว่า ไอ้คำว่ามีน้อยกว่า แล้วสิ่งที่คุณเลือกมันคืออะไร คุณต้องเข้าใจว่าเสียตรงนั้นแล้วคุณได้อะไร

คุณได้อะไร

อากาศ เวลา

คือในเรื่องข้อมูลต่างๆ เราทำมาอยู่แล้วประมาณหนึ่ง แต่อากาศ เวลา ความสบาย มันหาที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ยังไงเวลาที่กรุงเทพฯ ก็ไม่เท่าที่นี่ มันต้องอยู่บนถนน สูญเสียเวลาไปโดยว่างเปล่า แต่ที่นี่ไม่ต้องเสียไง เราเคยเขียนความเรียงชิ้นหนึ่งชื่อ อย่าบอกว่าไม่มีเวลาถ้าเราจะรักกัน คือเราเป็นคนที่ให้ค่าและสนใจเรื่องการมีเวลา พยายามทำตัวให้มีเวลา ไม่ว่ากับงานหรือกับเพื่อน ไม่ชอบอยู่ในภาวะที่ไม่มีเวลา มันแปลว่าจัดการชีวิตได้ไม่ดี ถ้าจัดการชีวิตได้ดีต้องมีเวลา เวลาคนพูดว่าไม่มีเวลา อยากจะจับใส่ถุงแล้วส่งไปฝาก กูไม่รู้จะใช้ยังไงแล้ว (หัวเราะ)

แล้วมนุษย์ต้องหายใจทุกวินาที เราอยู่กรุงเทพฯ เรานั่งรถเมล์ติดอยู่ตรงสี่แยก เราสูดอากาศแบบบัดซบมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ฉะนั้น เรารู้ว่าอากาศที่ไม่ดีเป็นยังไง และเราก็เคยไปเที่ยว เคยไปภูเขา ไปทะเล เรารู้ว่าอากาศที่ดีเป็นยังไง อากาศในโลกนี้ไม่ได้มีแค่ตรงแยกไฟแดงที่อโศก อากาศที่ดีกว่านั้นมี เราก็ต้องดิ้นรนหา

พอย้ายมาอยู่ที่นี่ชีวิตลำบากกว่าตอนอยู่กรุงเทพฯ ไหม

ถ้ามองผิวเผินอาจจะลำบาก แต่สำหรับเราเราไม่คิดว่าลำบาก แค่มันเป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยในเกมนี้ เราทำใจมาอยู่แล้ว เราไม่ใช่คนที่คิดว่าข้างหน้ามีแต่ดอกไม้ แล้วเรากำลังเดินเข้าไปในทุ่งดอกไม้ แค่เราเจออะไรเราก็ทำไป แก้ไป แต่แน่นอนว่านี่คือแผ่นดินที่เราเลือก มันก็ต้องดีประมาณหนึ่งแล้วล่ะ เราถึงเลือก ถูกไหม แต่คำว่าดีประมาณหนึ่งมันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่ไม่มีสิ่งที่หนัก

อย่างเมื่อคืนกำลังจะนอนมดมา คือนึกจะมามันก็มา แล้วมาตอนที่ง่วงแล้ว จะนอนแล้ว แต่คือคุณได้ดี คุณได้สิ่งแฮปปี้ไปแล้ว 90 อย่าง สิ่งที่แย่สักสองสามอย่างมันก็ต้องมีบ้าง เราต้องพร้อมที่จะยอมรับ คือดีร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีถูกไหม ดังนั้น เมื่อมีปัญหา มีความทุกข์ มีความยากลำบาก ต้องต่อสู้เผชิญ

การมาอยู่กับธรรมชาติทำให้คุณเรียนรู้อะไรใหม่บ้างไหม

ไม่มีความสุขที่สมบูรณ์ มันเคลื่อนไปเรื่อยๆ แล้วมันก็สลับกัน สมมติดีมากเลยจังหวะนี้ อีก 10 นาทีเดี๋ยวยุงก็มา มาสัก 10 นาทีก็หายไป แล้วดีมากเลย แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องยุงเดี๋ยวก็เป็นอย่างอื่น ตอนนี้เปิดน้ำไหล นาทีถัดไปมันอาจจะไม่ไหลก็ได้ ไฟนี่ดับได้ทุกวินาที คือเวลาที่คุณรู้สึกดีมากให้คุณรู้อยู่แก่ใจเลยว่าเดี๋ยวก็เหี้ย (หัวเราะ) แล้วก็ไม่นานด้วย ให้คุณรู้ไว้เลย แล้วถ้าคุณรู้ พอเหี้ยคุณจะขำ ประมาณว่ากูนึกแล้ว แต่ถ้าไม่นึกคุณจะตกใจ

โดยสรุปก็คือ คุณไม่ได้ทุกอย่างหรอก แต่สิ่งที่คุณได้ก็เยอะแล้ว ฉะนั้น เมื่อคุณเลือกและคุณได้ คุณก็เอนจอยกับมันไปเถอะ ถ้ามันเกิดอะไรขึ้น สะดุดอะไรก็แก้ ทำไม่เป็นก็ฝึก ถ้ามันต้องทำ


ความรู้

น. สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ เช่น ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์, สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ เช่น ความรู้เรื่องสุขภาพ ความรู้เรื่องนิทานพื้นบ้าน

ที่ย้ายออกจากกรุงเทพฯ มาอยู่กลางป่าเขานี่ไม่ใช่ว่าต้องการวางมือจากการทำงานหรือหมดไฟในชีวิตใช่ไหม

คนมองหยาบๆ ก็คิดว่ามาอยู่ตรงนี้คือหยุดแล้ว ก็มีคนแซวว่า อ๋อ พี่หยุดแล้ว พอแล้ว มาปลดปลงบนภูเขา เปล่า ไม่ได้หยุด แต่เขาไม่เข้าใจ เขามองภาพแค่ตรงนี้ คำว่าหยุดของเขามันคือออกจากเมืองมาอยู่ป่า แต่ของเราไม่ใช่ อันนี้มันเป็นแค่ที่อยู่อาศัย เราย้ายที่ แต่เราไม่หยุดในทางงาน ในทางการศึกษา ชีวิตต้องมีความรู้ ซึ่งเราทำอยู่ และเราเอาจริง

ทุกวันนี้สิ่งที่เราให้ค่าคือการทำงานสร้างสรรค์และการแสวงหาความรู้ เราไม่มีความปรารถนาเรื่องอื่น ตอนนี้เรากำลังเรียนภาษาฝรั่งเศสทางอินเทอร์เน็ตอยู่ ทำมาประมาณ 6 เดือนแล้ว แทบทุกวันเราก็จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปร้านกาแฟ แล้วก็ไปนั่งเรียน วันหนึ่งประมาณ 3 ชั่วโมง เราเรียนทุกวัน ฟังทุกวัน ดูสารคดี ดูหนัง ดูกีฬา ดูโชว์ ดู TED Talks ดูทุกอย่างเป็นภาษาฝรั่งเศส จะเอาจนเก่ง ไม่เก่งไม่ยอม แล้วก็มั่นใจมากว่าทำได้ ภาษาไม่มีอะไรเยอะ ก็แค่อยู่กับมัน

ทำไมถึงมาสนใจศึกษาเล่าเรียนเอาตอนนี้

ในยามที่ประเทศอ่อนแอที่สุด สังคมอ่อนแอที่สุด เราว่าหนทางเดียวที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ก็คือความรู้ อันนี้ก็เป็นความรู้หนึ่งที่เราอยากเรียนรู้ ไม่ได้อยากงอมืองอเท้าไปวันๆ อยากเป็นคนที่มีความรู้ แล้วอาชีพที่เราทำมันเป็นอาชีพที่ต้องมีความรู้น่ะ อะไรทำได้เพื่อการที่จะมีความรู้ เราก็ทำ ไม่มีความมุ่งหวังทางวุฒิปริญญาอะไร แต่ว่าจะทำไปเรื่อยๆ เอาจริงเอาจัง ตั้งอกตั้งใจ ปกติเรานั่งอย่างนี้ ถ้าวันไหนเราไม่เล่นกีตาร์ เราจะมีลำโพงอันหนึ่งเปิดภาษาฝรั่งเศสฟัง ทุกทีที่เราเข้าครัวทำกับข้าวเราก็จะเปิดคอมพิวเตอร์ในบ้านแล้วก็ถือลำโพงบลูทูธมาวาง

แล้วภาษาฝรั่งเศสจำเป็นยังไง

จำเป็นไม่จำเป็นไม่รู้ แต่เราพร้อมที่จะเริ่มต้น แล้วก็ไม่เอาอายุเป็นตัวตั้ง เราดีใจกับตัวเองที่เรากล้าเลือกและกล้าทำโดยไม่สนใจอะไร ทำไมเหรอ อยู่บ้านนอก อยู่กระท่อม อยู่จังหวัดน่าน อยู่บนภูเขา อายุ 48 ทำไมเหรอ จะเป็นนักเรียน มีอะไรหรือเปล่า ส่วนจะได้ใช้มั้ย ไม่แคร์ ประเด็นคือให้คุณรู้ไว้ก่อน เหมือนถ้าคุณขับรถเป็น ขับไปไหนเดี๋ยวว่ากันอีกที แต่เริ่มต้นขับให้เป็นก่อน ด้วยอำนาจของรถมันเพียงพอ แล้วเราโตแล้ว เราไม่ใช่เด็กๆ เรารู้ว่าอำนาจของภาษาคืออะไร แต่เราขี้เกียจมาตอบ สำหรับเรา เราไม่สนใจตรงนั้น สิ่งที่เราสนใจคือเมื่อเราเลือกที่จะเรียนเราก็ตั้งใจเป็นนักเรียนที่ดี และเราก็ภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเลือก เพิ่งรู้ว่าตัวเองรักเรียน ทุกวันนี้เป็นนักเรียนที่ดีกว่าสมัยเรียน ป.5 – ป.6 ม.3 – ม.4 ตั้งเยอะ


งาน

น. สิ่งหรือกิจกรรมที่ทำ, มักใช้เข้าคู่กับคำ การ เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน

ทุกวันนี้ทำงานน้อยลงไหม

ไม่ ชิ้นงานอาจจะดูน้อย แต่ก็ทำงานเหมือนเดิม คือเราโคตรชอบอาชีพนี้เลย มันเป็นอาชีพที่ดี ใครคิดอาชีพนี้ถ้าเจอตัวจะไปสวัสดีสักที ถือว่าฝีมือ คิดเก่ง น่าจะบอกตั้งแต่กูเรียน ป.5 ต้องให้ฟลุกไปเจอเอง (หัวเราะ)

20 ปีมานี้เรื่องงานเป็น 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต เราไม่เห็นอยากทำงานน้อยลง แล้วก็ไม่ได้คิดว่าทำมากหรือน้อย สนุกก็ทำไป เราไม่ใช่คนอายุ 20 แล้วนะ แต่เราพร้อมเสมอที่จะกระโดดเข้าใส่เรื่องที่เราเห็นว่ามีคุณค่าพอ ยกตัวอย่างตอนเราเขียนคอลัมน์ใน WRITER ตอนนั้นเราก็อายุประมาณสัก 45 แล้ว แค่จะเขียนคอลัมน์เราต้องนัดสัมภาษณ์ ต้องนั่งรถไป คือนั่งเขียนที่บ้านเงินก็ไม่ต้องเสีย เวลาที่ออกไปก็ไม่เสีย นั่งเขียน 3 ชั่วโมงก็เสร็จ แล้วเงิน WRITER ก็รู้อยู่แล้ว นิดเดียว ไปให้มันได้อะไรขึ้นมา มีแต่เสีย มีแต่เหนื่อย แต่เรารู้ไงว่าสิ่งที่ได้คืออะไร แล้วก็พร้อมจะไป ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่เอาอายุเป็นตัวตั้ง ถ้าเราเห็นว่าสำคัญก็ไป ไม่คิดว่าเขียนแล้วได้เงินแค่นี้จะไปทำให้เหนื่อยทำไม ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคืออยากทำงานที่มีคุณค่า มีพลัง

กำไรขาดทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต

ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ได้ (เสียงสูง) แล้วก็ไม่มีทางขาดทุนด้วย งานที่ทำไม่มีคำว่าขาดทุน จริงๆ คำว่ากำไรขาดทุนมันประกอบด้วยอีกหลายปัจจัย แต่ถ้าจะมองเรื่องเงินอย่างเดียวเลยก็ได้ สมมตินางแบบเดินแบบประมาณ 15 นาที รับเงินอยู่ที่ประมาณ 20,000 นี่เป็นข้อมูลเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ตอนนี้ไม่รู้ขึ้นไปเท่าไหร่ ในขณะที่นักเขียนเขียนคอลัมน์หนึ่งถึงทุกวันนี้ได้อยู่ประมาณ 2,000 เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่นางแบบเดินครั้งเดียวได้ครั้งเดียวนะ แล้วก็ชราภาพไปเรื่อยๆ แต่นักเขียน ถ้างานชิ้นนั้นมันดี มันก็ยังอยู่ไปอีก 50 ปี มันอาจถูกขายซ้ำไปอีก 20 ครั้ง ไม่แน่หรอกว่า 2,000 นั้นมันอาจจะกลายเป็น 70,000 ก็ได้ หรืออาจจะเป็นแค่ 2,000 เท่าเดิมก็ได้ มันก็แล้วแต่ฝีมือคุณ แล้วแต่สังคม แล้วแต่ผู้บริโภค มันมีหลายปัจจัย แต่ในเบื้องต้นคุณไม่ควรหมิ่นประมาท เพราะมันไม่แน่ อาจจะมากกว่านางแบบก็ได้ แล้วค่อนข้างจะมีเกียรติด้วย คือแน่นอนในเบื้องต้นเรื่องเงินมันน้อย แต่คำว่าน้อยมันประกอบด้วยอะไรอย่างอื่นอีกเยอะที่มันพอ คำว่าพอคือมันทำให้คุณอิ่มกับชีวิต มันทำให้คุณมีชีวิตชีวา มันทำให้คุณสว่างไสว

แล้วที่ว่าชอบอาชีพนี้ คุณชอบอะไร หลงใหลอะไร

หลายเหตุหลายปัจจัย ข้อแรกน่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติของอาชีพมันเข้ากับสันดาน คือถ้าไปทำอาชีพอื่นฉิบหายแน่ๆ นิสัยอย่างนี้จะไปทำอะไรได้ (หัวเราะ) อีกอย่างเราชอบงานสร้างสรรค์ ชอบงานศิลปะ ชอบความรู้สึกมนุษย์ ชอบความสัมพันธ์มนุษย์ ชอบฟังเรื่องเล่า เรื่องเล่าที่ดีๆ มันชื่นใจ เรื่องเล่าที่ดีๆ มันคล้ายน้ำตกสวยๆ ท้องฟ้าสวยๆ เพลงเพราะๆ แล้วเรื่องเล่ามันไม่ใช่แค่ท้องฟ้าสวยๆ เรื่องเล่าอำนาจมันสูง มันมีพลัง มันมีผลกับวิธีคิด เลือดเนื้อ ตัวตน มันเปลี่ยนแปลงมนุษย์ได้รุนแรง จากเหี้ยกลายเป็นดีได้เลย จากนอนกอดเข่าร้องไห้อยู่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เลย

แล้วเรื่องเล่ามันไม่ซ้ำ มันต้องคิดใหม่ตลอดเวลา ถ้าคุณทำขวด คุณคิดขวดได้ คุณใช้ขวดนี้ไปอีก 10 ปี แต่เรื่องเล่าคุณคิดได้ดีวันนี้ ชั่วโมงหน้าคุณก็ต้องคิดใหม่ คุณก๊อปปี้ประโยคเดิมไม่ได้ มันต้องวิวัฒน์ไปเรื่อยๆ มันคือการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง มันทำให้มนุษย์แข็งแรงขึ้น เติบโตขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ชาญฉลาดขึ้น มีรสนิยมที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องสำคัญมากคือเมื่อเราทำไปแล้ว ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ลุยแหลก เขียนหนังสือมันยาก จะเขียนให้ง่ายก็ได้ แต่มันไม่เวิร์กไง ให้เขียนพรุ่งนี้นั่ง 3 ชั่วโมงก็เขียนเสร็จ แต่คุณชอบมันแค่ไหน อย่างไร สมมติคุณเป็นช่างภาพ คุณถ่ายรูปเราไปลง คุณพอใจถึงที่สุดมั้ย สมมติเราตายไปหรืออะไรก็ตาม คุณสามารถพูดได้มั้ยว่าคุณมีรูปเราที่ดีที่สุดตั้งแต่มีช่างภาพถ่ายมา คือเวลาคิดเราคิดแบบนี้ไง ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้มันยาก ไอ้ถ่ายติดๆ ไปลงมันง่าย ยกกล้องขึ้นมามันก็ถ่ายติดทุกคนแหละ

ทำงานมานาน ทุ่มเทกับมัน ในชีวิตเคยได้รางวัลอะไรกับเขาไหม

เคยส่งประกวดครั้งหนึ่งตอนทำ ที่เกิดเหตุ เสร็จ ส่งประกวดรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด แล้วก็ได้ที่ 2 จริงๆ เราไม่ได้ไปทำเพื่อส่งประกวด แต่ว่าไปทำมาเสร็จแล้ว แล้วงานนั้นมันเป็นงานที่ต้องใช้เงิน พอพบว่ามีการประกวดก็เลยส่ง ถัดจากนั้นก็เลิกเข้าสู่วงการประกวด พออยู่ๆ ไปในประเทศนี้ สำหรับเรา เราแทบจะไม่เคารพรางวัลไหนเลย มันไม่น่าเคารพในทัศนะเรา ดังนั้น เราจึงเลิกยุ่ง เลิกสนใจรางวัลทั้งปวง แล้วก็อยากทำให้คนที่ยังอายุน้อยกว่าดูด้วยว่าไม่มีรางวัลก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างสง่างาม ทุกครั้งที่เขียนชื่อตัวเองก็จะเขียนแค่ชื่อ-นามสกุล ไม่เขียนมากกว่านี้

แล้วที่หลายคนยกย่องคุณว่าเป็นนักสัมภาษณ์มือหนึ่ง

เขาพูดเล่นกัน (หัวเราะ) แล้วคนเชื่อจริง คือเรานี่ไม่อะไรเลย เพราะว่าเรารู้ รู้ด้วยว่าอะไรเป็นอะไร

แล้วสำหรับมุมเรา คำนี้ถึงที่สุดแล้วมันเป็นคำด่า ไม่ใช่คำชม หมายความว่าคนฉลาดเขาจะไม่อยู่นาน ไม่มาย่ำอยู่อย่างนี้ มันไม่เติบโต มันไม่ทำให้เงินเพิ่มขึ้นมา มันต้องพุ่งขึ้นไป ตำแหน่งใหญ่ขึ้น เงินสูงขึ้น ไม่ใช่ทำงานแบบนี้ แบบเดิม ซึ่งอันนี้เราเข้าใจ แต่ปรัชญามันคนละอย่าง บางคนพุ่งขึ้นไปอย่างนี้ บางคนลงไปอย่างนี้ ลงแต่มันลงรากลึกไง มันไม่ได้ต่ำลง ซึ่งทัศนะที่มีต่อชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน คนอื่นเขามีลูกน้อง 20 คน นี่หันกลับมาก็อยู่คนเดียวเหมือนเดิม ทำอาชีพก็ทำเหมือนเดิม ถอดเทปก็ถอดเทปเองเหมือนเดิม

ประเทศไทยคำว่ามืออาชีพในการทำอะไรสักอย่างยาวๆ ยังไม่ค่อยมี ถ้าเปรียบเทียบเรื่องนี้กับญี่ปุ่นจะเห็นภาพชัด ที่นั่นใครชอบทำอะไรเขาสามารถอยู่แต่ตรงนั้น อย่างพ่อครัวก็เป็นพ่อครัว ไม่ใช่เป็นพ่อครัวเพื่อมุ่งไปเปิดร้านอาหารแล้วมีลูกน้องเป็นพ่อครัว 7 คน ทำร้านซูชิเขาก็ทำอยู่อย่างนั้น เสิร์ฟอยู่ 5 โต๊ะแค่นี้ ไม่ขยาย อยากกินก็จองล่วงหน้ามา 3 เดือน ในทัศนะเรา เราชอบอย่างนั้นมากกว่า

คือบางคนทำได้หลายอย่าง ทำอย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ แต่บางคนความสามารถความถนัดมันทำได้แบบนี้แบบเดียว แล้วก็ไม่ได้แปลว่าย่ำอยู่กับที่ด้วย ความสามารถ ศักยภาพ ประสิทธิภาพที่มีมันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แล้วถ้าเกิดว่าคุณเข้าใจผิด คุณก็ล้ม ก็แพ้ ก็เจ็บ เหมือนนักวิ่ง 100 เมตร กับ 400 เมตร ก็ไม่เหมือนกัน คุณต้องดูให้ดีว่าตัวคุณ เลือดเนื้อคุณ ลมหายใจคุณ คุณเป็นนักวิ่ง 100 เมตร หรือ 400 เมตร หรือ 1,000 เมตร หรือคุณเป็นนักวิ่งมาราธอน เลือกผิดมันก็คือการทำลายตัวคุณเอง เหมือนกับมีจุดแข็งอยู่แต่ไม่ใช้ แล้วทิ้งมันไป ทั้งนี้ที่เราพูด เราไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมให้คนย่ำอยู่กับที่นะ เราอยากเห็นคนเติบโต แต่ว่าคำว่าเติบโตนั้นเติบโตอย่างไร ถ้ามองตื้นเกินมันอาจเป็นการเลือกผิด พอผิดมันก็จะเจ็บ


วัยหนุ่ม

น. วัยที่มีอายุพ้นวัยเด็ก นับตามความนิยมตั้งแต่ ๑๕-๓๐ ปี, ใช้แก่ชาย

ผลงานของคุณเล่มหลังๆ พูดถึงคนหนุ่มสาวค่อนข้างเยอะ รวมถึงหนังสือเล่มล่าสุดคุณก็ตั้งชื่อว่า วัยหนุ่ม คุณสนใจอะไรคนวัยนี้

มันเป็นช่วงที่มนุษย์แข็งแรงที่สุด บ้าระห่ำที่สุด มีจินตนาการที่สุด มีความฟุ้งฝัน ความหวาน ที่สุด

มันบวกกันทั้งสองทาง ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ ร่างกายก็เป็นวัยที่ร่างกายแข็งแรงที่สุด จิตใจก็เป็นจิตใจที่ขอบเขตมันกว้างที่สุด คนแก่มันคิดเรื่องแบบนี้ไม่ได้หรอก เด็กคิดเรื่องแบบนี้ไม่ได้หรอก มันต้องหัวใจคนหนุ่มสาวเท่านั้นแหละถึงจะคิดถึงอย่างนี้ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันแข็งแรง เด็กก็ยังไม่แข็งแรงพอ และความรู้น้อยเกินไป คนชราความรู้คุณมี ประสบการณ์คุณมี แต่ว่าร่างกายคุณอ่อนแอเกินไป และคุณก็มีเรื่องอื่นพะรุงพะรังเกินไป มีแต่วัยหนุ่มสาวเท่านั้นแหละที่มันไม่ต้องยี่หระ ไม่ต้องแคร์ กับเรื่องพวกนี้มาก เรื่องที่เกิดขึ้นในโลกนี้แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์มันเป็นจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาว เพราะว่าจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวมันไม่มีขอบเขต อำนาจมันสูง พลังมันสูง แน่นอน มันมีความผิดเสมอๆ แหละ มีข้อบกพร่อง แต่ผิดวันนี้ พรุ่งนี้ก็แก้ใหม่

คำว่าหนุ่มสาวในนิยามของคุณสิ้นสุดที่อายุเท่าไหร่

คำว่าหนุ่มสาวสำหรับเรามันไม่ใช่เรื่องอายุ คนหนุ่มสาวบางคนก็ชราภาพมาก ผู้เฒ่าบางคนก็มีความเป็นหนุ่มสาวสูงมาก ฉะนั้นคือไม่ใช่เรื่องอายุ แต่เป็นเรื่องสปิริต เป็นเรื่องทัศนะต่อการมีชีวิต แล้วคนที่แวดล้อมชีวิตเรา ที่เราโตมา โดยเฉพาะวงการสื่อที่เราอยู่มา มันค่อนข้างอยู่ในความหมายของคนหนุ่มสาว ต่อให้หลายๆ คนอายุเยอะ แต่เขาไม่ใช่คนแก่ ส่วนเราเองก็แล้วแต่คนอื่นจะมอง ใครมองว่าอะไรก็ช่าง เราพยายามไม่คิดเรื่องพวกนี้ เราไม่ได้เอาอายุเป็นตัวตั้ง เป็นสันดาน คิดเรื่องอายุไม่เป็น อยากทำอะไรก็ทำ

คุณคลุกคลีกับคนหนุ่มสาวยุคนี้ไม่น้อย คุณว่ามีอะไรเหมือนหรือต่างจากคนหนุ่มสาวยุคคุณไหม

มันไม่ใช่เรื่องของเจน ไม่ใช่เรื่องยุคเรากับยุคนี้ ก็เหมือนเดิมแหละ เป็นเรื่องปกติ คือทุกยุคมันก็มีทั้งคนที่ใส่ใจกับคนที่ไม่ใส่ใจ มีคนที่เอาจริงเอาจังกับคนที่ไม่เอาจริงเอาจัง แล้วคนที่เอาจริงเอาจังมีไม่เยอะ พวกเพ้อเจ้อน่ะเยอะ พวกไม่ทำอะไรแล้วโอดครวญมีเยอะ ยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีมันดี ก็ยิ่งโอดครวญเข้าไปใหญ่ ไม่ทำงาน แต่เพ้อเจ้อ

ข้อแตกต่างอีกอย่างคือ พอเทคโนโลยีมันเจริญคนก็นั่งหน้าคอมฯ แล้วถ้าคุณไม่เคยออกไปตากแดดตากฝน คุณก็ไม่แข็งแรง มุมมองในตัวคุณ เรื่องเล่า ประสบการณ์ มันจะน้อย มันจะเบาบาง วิธีคิดอะไรก็จะตื้นไปอีกนิดหนึ่ง มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ คุณใช้ร่างกายน้อยเกินไปมันก็ไม่สมดุล ง่ายสุดคือคุณจะไม่แข็งแรง มนุษย์จะแข็งแรงเมื่อคุณใช้แรง อันนี้เป็นสัจจะ พอร่างกายคุณไม่แข็งแรงมันก็นำไปสู่วิธีคิดที่เปราะ พร่ำเพ้อ ฟูมฟายง่าย คือเมื่อคุณได้ความสบายตรงนั้น คุณก็ต้องรับความอ่อนแอบางอย่างไป

ถ้าย้อนมองวัยหนุ่มของตัวเอง คุณพอใจกับมันไหม

ศักยภาพน้อยไปหน่อย ทักษะน้อย หมายถึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่งาน แค่ขับรถไม่เป็นก็ผิดแล้ว ทักษะค่อนข้างน้อย เหมือนพอเจองานที่ทำแล้วก็ทำอยู่เรื่องเดียว มันเลยช่วยคนอื่นได้น้อย กับคนที่แวดล้อมประโยชน์มันน้อยไปหน่อย ในความเป็นผู้ชาย ในความเป็นคนร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัย น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้

อีกเรื่องคือตอนนั้นเรามองโครงสร้างไม่เป็น สนใจแต่จิตใจ ปัจเจก ชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยเรื่องส่วนตัว กับส่วนรวม ประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และโครงสร้างทางสังคม ถ้ามองแต่ตัวเอง มองแต่จิตใจ โดยไม่เข้าใจสังคม มันง่ายที่จะตีความผิด มีทัศนะผิดๆ ซึ่งเราเป็นแบบนั้นมานาน เพิ่งจะเห็นตัวเอง และพยายามปรับเปลี่ยน เช่น ตอนนี้เรื่องกฎหมายสำคัญ แม้เราไม่มีพื้นก็ต้องศึกษากฎหมาย เพื่อจะเข้าใจว่าหลายอย่างที่เป็นอยู่ ที่เขาเรียกว่ากฎหมาย แท้จริงมันไม่ใช่ คือเมื่อมนุษย์ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก การศึกษาผู้คนและสังคมเป็นสิ่งจำเป็น

ไปเจออะไรทำให้เริ่มตระหนักเรื่องการมองโครงสร้าง

หายนะในบ้านเมืองเราเป็นสิบๆ ปี

คือเราใช้คำว่าคนดี ความดี ใช้ศาสนา อธิบายการเมืองไม่ได้ อาจได้ในมุมศาสนาแต่น้อย หลักๆ สังคมการเมืองก็คือสังคมการเมือง เช่น ฆ่าคนเสร็จ บอกให้อภัยมันไม่ได้ ทางปัจเจก ญาติพี่น้องเขาอาจอโหสิ แต่กระบวนการยุติธรรมใช้วิธีอโหสิไม่ได้ เขาถึงมีศาล ใช้กระบวนการยุติธรรม

ไม่ใช่คนดีมันไม่ดีนะ การเป็นคนดีน่ะดี แต่คำว่าคนดีในสังคมไทยมันสะท้อนการติดกรอบสูง เชื่อและเชื่อง ข้อนี้สำคัญ และเป็นปัญหามาก เพราะเมืองไทยวาทกรรมเยอะ ถ้าคุณเชื่อและเชื่อง คุณเถียงไม่เป็น ถามไม่เป็น ตาย โดนหลอกทั้งปีทั้งชาติ เราเขียนบ่อยๆ ว่าคำถามมันทำให้คนเป็นคน


ถาม

ก. ตั้งปัญหาหรือประเด็นเพื่อให้ได้คำตอบ

ทำไมถึงเชื่อว่าคำถามทำให้คนเป็นคน

ไม่ถามมันเหมือนหุ่น เครื่องจักร ที่เคลื่อนไหวด้วยคำสั่งที่เขาป้อนใส่โปรแกรม คนคือมีความคิด มีหัวใจ อารมณ์ ความรู้สึก มีความปรารถนา มีอารมณ์ขัน และคนเราแตกต่างกัน

ไม่ถาม คุณก็เดินตามคนอื่น มันอาจดูง่ายดี ไม่ต้องคิด แต่ที่สุดจะลำบาก ทุรนทุราย เพราะไม่รู้ว่าตัวเองคืออะไร ต้องการอะไร คุณไม่เคยใช้เหตุผล คุณก็ไม่มีเหตุผล ไม่เคยหัดคิด คุณก็คิดไม่เป็น คุณก็ทำตามที่เขาว่าดี ที่เขาทำกัน ที่ใครๆ เขาก็ไป มันก็อยู่ไปแบบนั้น คุณไม่ถาม คุณก็เริ่มต้นด้วยการเชื่อ เชื่อนานๆ ก็ขังตัวเองอยู่ในห้องแคบนั้น ขังตัวเองนานๆ คุณก็กลัวไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง คำถามจึงเป็นบันได เป็นประตู เป็นก้าวแรกๆ ที่พามนุษย์ให้วิวัฒน์ พัฒนาขึ้นไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อารยะกว่า

แต่เท่าที่เห็นคนที่ไม่ถามก็มีชีวิตปกติ สุขสบายดี กลายเป็นว่าคนที่ถามมากๆ ด้วยหรือเปล่าที่เดือดร้อน

ก็ถูก แต่ความสบายที่ว่ามีหลายมิติ คุณรู้ได้ยังไงว่าสบายตลอดเวลา และภาคภูมิใจ ทระนง ที่ว่าสบายภายนอกหรือภายใน วันนี้หรือวันหน้า แล้วที่ว่าเดือดร้อน คุณรู้ได้ยังไงว่าเดือดร้อนทุกมิติ นักรบนี่เจ็บปวดนะ แต่เขาก็สง่างาม เขาภาคภูมิ ด้วยว่าเขาได้ปกป้องคนที่เขารัก แผ่นดินที่เขารัก และถ้าไม่มีใครยอมเดือดร้อนเลย คุณว่าโลกหมุนได้เหรอ ไม่มีใครยอมมือเปื้อนเลือด ใครจะฆ่าวัว คุณคิดว่าสเต๊กมันลอยมาจากฟ้าเหรอ ถามว่าถ้าไม่มีคนสู้ในร้อยปีพันปีที่ผ่านมา คุณคิดว่าคุณจะมีเสรีภาพเหรอ เสรีภาพไม่ได้ลอยมาจากฟ้า ไม่มีใครประทานให้ มนุษย์ต้องสู้มาด้วยเลือด ด้วยสมอง ด้วยแรงกายแรงใจ มายาวนาน

ไม่มีใครอยากเดือดร้อนหรอก แต่เรื่องบางเรื่องมันเป็นภารกิจที่ไม่อาจปฏิเสธ ไม่อย่างนั้นเราจะเคารพตัวเองได้อย่างไร อย่างเราเป็นนักเขียน เราก็ต้องเทกแคร์สิทธิเสรีภาพ เพราะนี่คือกระดูกสันหลัง ไม่มีสิ่งนี้มันทำงานไม่ได้ ย้อนกลับไปตรงคำถามที่บอกว่าไม่ถามก็สบายดี ใช่ มีคนแบบนั้นแน่ๆ แต่ทัศนะเรา รสนิยมเรา เราไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น เราอยากลงลึกไปในชีวิต เราอยากทำให้มันมีความหมาย เราอยากเล่าเรื่องของยุคสมัย เกิดอะไรขึ้นบ้าง ผู้คนของยุคสมัยทุกข์ สุข อย่างไร ปะทะเผชิญอะไร เราอยากฟัง เราอยากจดบันทึก มีปัญหาอะไร เราอยากฟัง อยากช่วยกันคิด ช่วยกันนำเสนอ หาทางเลือกที่หลากหลาย

ซึ่งมันก็ส่งผลให้ผลงานหลังๆ ของคุณเปลี่ยนแปลงไปมากจากเล่มแรกๆ

ยุคสมัยมันมีส่วนกำหนดนักเขียน เพราะนักเขียนทำหน้าที่บอกเล่า สมมติเราชอบการเขียนแบบ เศษทรายในกระเป๋า มาก ซึ่งจริงๆ ก็ชอบ แต่บ้านเมืองมันไม่อนุญาตน่ะ เราแช่แข็งตัวเองไว้กับ เศษทรายในกระเป๋า ไม่ได้ ต่อให้ชอบ เหมือนเราแช่แข็งตัวเองไว้ที่อายุ 28 ไม่ได้ คนก็จะบอกว่าคิดถึงงานแบบนั้น อยากให้เขียนแบบนั้น เราก็บอกว่าเราก็คิดถึง แต่เราเป็นคนที่ใช้ชีวิตไปตามสิ่งที่เราโตขึ้น สิ่งที่เผชิญเป็นไป ก็สังคมมันเป็นแบบนี้ คือไม่ได้อยากลำบาก ไม่ได้อยากเห็นคนทะเลาะกัน ไม่ได้อยากเห็นความขัดแย้ง แต่ว่ามันเป็นความจริงที่เกิดขึ้น อะไรที่เกิดขึ้น เราก็ต้องศึกษาสิ เราเป็นสื่อมวลชน ถ้าเราเป็นสื่อมวลชนแล้วเราไม่ไปทำสิ่งที่สำคัญ ถามย้อนกลับไปพวกที่อ่าน เศษทรายในกระเป๋า หน่อยเถอะว่ายังจะอ่านเรามั้ย เราไม่เชื่อหรอกว่าจะอ่าน เดี๋ยวก็บอกว่าปัญญาอ่อน

เราเดาว่าภาพหนึ่งที่คนมองเราหลังๆ 10 ปีมาก็ได้ มักมองว่าเราชอบเรื่องการเมืองอะไรราวๆ นั้น ซึ่งโคตรย้อนแย้ง กูไม่ได้ชอบเลย (ลากเสียง) กูชอบทะเลโว้ย ชอบภูเขา ชอบแม่น้ำ ชอบดอกไม้ ชอบนั่งข้างกองไฟ ชอบเดินเล่น ไม่ชอบม็อบ แต่ถ้ามี มันสำคัญ มันคือความจริง ในฐานะสื่อมวลชน ในฐานะนักเขียน มันปฏิเสธไม่ได้ มันจำเป็นต้องมีความรู้ ไม่เกี่ยวว่าชอบหรือไม่ชอบ เรื่องต้องทำก็ต้องทำ ช่วยไม่ได้น่ะ ในเมื่อเราเกิดมาในแผ่นดินนี้ ในวันเวลาแบบนี้ ปฏิเสธมัน ดูดายกับมัน เราจะนับถือตัวเองได้อย่างไร เลือดกองอยู่ตรงหน้า จะแบกเป้ไปทะเลเหรอ ใจร้ายไปมั้ย มันน่าเศร้าหน่อยๆ นะ แผ่นดินนี้ทำให้นักเขียน เศษทรายในกระเป๋า เดินเข้าสู่สนาม ความมืดกลางแสงแดด ทำให้นักเขียน เศษทรายในกระเป๋า ต้องไปปัตตานี นอนหาดทรายอยู่ดีๆ ก็ต้องมานอนในม็อบ เดินเข้าออกคุก ศาล งานศพ

ที่ว่าน่าเศร้านี่คิดอย่างนั้นจริงๆ ไหม หรือจริงๆ แล้วก็ภาคภูมิใจที่ได้ทำ

ไม่เศร้า เป็นการมองในมุมหนึ่งมากกว่า ว่ามันไม่น่าต้องมาแบบนี้ คนควรทำ ควรเป็น อย่างที่เขาชอบ

เราภูมิใจสิ ถ้าเราเย็นชาสิ ถ้าเรานิ่งดูดายสิ นั่นต่างหากที่น่าเศร้า คือเราไม่ชอบตัวเองตั้งหลายเรื่อง เช่น สันหลังยาวเกินไป เอาแต่ใจ เสเพลเกินไป แต่เราภูมิใจในงานที่เราเลือกทำ เรายอมเหนื่อย ยอมเจ็บ ยอมถูกมองผิดๆ ตายก็ตายตาหลับน่ะ ในฐานะคนทำงานสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง ไม่ได้กร่าง แต่เดินไปไหน เราไม่ต้องก้มหน้าหลบสายตาใคร และสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นรางวัลมากๆ คือคนอ่าน น้อย แต่มองไปเมื่อไรก็เจอ แม้ในคืนเดือนแรมเราเห็นพวกเขาและเธอเสมอ

เหนื่อย แต่ไม่ว่างเปล่าหรอก มันแล้วแต่ว่าคำว่าเหนื่อยที่ว่าคุณมองเห็นหรือเปล่าว่าทำแล้วมันได้อะไรมั้ย ถ้ามันแฮปปี้ก็โอเค มันคงไม่ใช่เรามาชื่นชมตัวเอง หลงลอยฟ้า สำหรับเราวันที่เราตายคนอาจจะมางานศพ 7 คน หรืออะไรก็ช่างมัน เพราะเราตายไปแล้ว แต่เราก็คงนอนอยู่ในโลงแล้วแบบ อืม โอเคนะ ไม่แย่เกินไปหรอก ในวันเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ส่วนดีก็คงมี ส่วนแย่ก็คงมี แต่บวกลบแล้วก็คงพอไหว ไม่ได้น่าอับอายอะไร ก็มีคุณูปการอะไรบ้างนิดๆ หน่อยๆ ฝากไว้เป็นที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ มีบาดแผลจำนวนหนึ่ง ก็ไม่เป็นไรหรอก


ทระนง

ก. ทะนง

ในหนังสือที่เขียนคุณมักใช้คำว่า ‘ทระนง’ บ่อยๆ คุณชอบหรือเชื่ออะไรในคำคำนี้

มันเป็นคำโบราณ ถ้าเป็นสมัยนี้เอาคำว่า ‘เท่’ แล้วกัน แต่ต้องตีความดีๆ เท่นี่ไม่ใช่ใส่รองเท้าแพงอะไรนะ ใส่รองเท้าแพงก็เท่แบบหนึ่ง แต่งตัวดีๆ ก็เท่ดี แต่น้ำหนัก คุณค่า ของมันเบาบางไปหน่อย คำว่าเท่มันควรเท่ทุกองค์ประกอบ แม้ว่าจะหลับตาก็เห็น คือรองเท้ามันต้องมองไปที่เท้าเนาะ มองไปที่คิ้วมันไม่เห็น แต่ทระนงมันคือขนาดหลับตายังรู้เลยว่าเท่ อำนาจมันขนาดนั้น แล้วชีวิตคนมันต้องเท่ ยิ่งคนทำงานสร้างสรรค์ไม่เท่ไม่ได้

ทำไมคนทำงานสร้างสรรค์ไม่เท่ไม่ได้

มันเชื่อมโยงกับเรื่องทระนงเนาะ ข้อแรกก็ต้องเคารพตัวเองได้ว่าทุกย่างก้าวลมหายใจ ทุกการผลิต คุณต้องภาคภูมิใจกับมัน พอทุกการผลิตเต็มที่ ทุ่มแรงกายแรงใจทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็ย่อมงอกงาม ย่อมได้ชิ้นงานที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในเบื้องต้นคุณจะไม่มีอะไรติดค้างในใจตัวเอง คุณย่อมหยิ่งทระนงในตัวเองมาก เราเคารพนับถือตัวเองได้ แล้วเมื่อเราเคารพนับถือตัวเองได้ เราจะกลัวใคร เดินเข้าไปในตลาดเราต้องหลบสายตาใคร ไม่ใช่ว่าดูถูกคนอื่นหรืออยู่เหนือคนอื่น แต่ว่าเท่ากัน

อาชีพเรามันมีอยู่ 2 อย่างคือ ระหว่างการยอมรับกับความนิยม บางคนมันไม่ถูกนิยมมาก แต่เป็นที่ยอมรับ คุณต้องดูเรื่องพวกนี้ให้ดี ถ้าคุณเข้าใจตัวเอง คุณโตพอ คุณต้องแยกแยะให้ถูก เข้าใจให้ได้ว่าบางคนต่อให้ทำยังไงมันก็ไม่ป๊อป ทำยังไงคนก็ไม่นิยม แต่เดินไปไหนใครก็ต้องยอมคุณ

คุณต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นที่นิยม กระทั่งหลายคนที่เป็นที่นิยมก็ไม่เป็นที่ยอมรับ คุณอยากตะเกียกตะกายไปสู่ความนิยม ทำอะไรก็ได้เพื่อความนิยม โดยที่ไม่ต้องการการยอมรับจากใครเลยก็ได้ แม้กระทั่งตัวคุณเอง ก็แล้วแต่คุณว่าคุณอยากเป็นคนแบบไหน ส่วนใครเป็นที่ยอมรับด้วยและเป็นที่นิยมด้วยก็ดี แต่ถ้าไม่มีคนมาเห็น คุณต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจไปกับมัน แม้ว่ามันก็คงว้าเหว่บ้างแหละในบางคืน มันก็คงเหงาไปในบางคืน มันก็เงินน้อยไปหน่อย แต่คุณมีสิ่งที่ทำให้คุณเคารพนับถือตัวเองได้ แล้วมันก็ตอบแทนคุณในแง่อื่นๆ


สัมพันธ์

ก. ผูกพัน, เกี่ยวข้อง, เช่น เขากับฉันสัมพันธ์กันฉันญาติ ข้อความข้างหลังไม่สัมพันธ์กับข้อความข้างหน้า

อีก 2 ปีคุณจะอายุ 50 แล้ว ทุกวันนี้มีอะไรที่ยังพ่ายแพ้เสมอๆ หรือยังเอาไม่อยู่อีกไหม

อาจจะไม่ใช่คำว่าพ่ายแพ้ คำว่าเอาไม่อยู่อาจจะตรงกว่า คงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เพราะมันนามธรรม เป็นเรื่องจิตใจ คือเรื่องเงินมันไม่มีจิตใจ มันง่าย แต่เรื่องความสัมพันธ์มันมีจิตใจ มันยาก ทั้งนี้หมายความทุกความสัมพันธ์นะ ทั้งเรื่องหญิงสาว ทั้งเรื่องเพื่อน ทั้งเรื่องผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มันต้องละเอียด ละเอียด ละเอียดไปเรื่อยๆ มันเป็นประเด็นซับซ้อนละเอียดอ่อน ต้องตั้งหลัก ต้องวางตัว ถ้าหละหลวม ปล่อยปละละเลย มันจะมีความทุกข์ง่าย อย่างเรื่องเงินทำความทุกข์ให้เราไม่ได้ แต่เรื่องนี้มันทำได้ ถ้าเรามีความทุกข์ เราจะมีความทุกข์จากความสัมพันธ์ ไม่ได้มีความทุกข์จากเรื่องเงิน

อายุที่เพิ่มขึ้นไม่ช่วยเลยเหรอ

อายุไม่ช่วย ช่วยแค่ว่าเวลามันเหลือไม่เยอะ ถ้าเราเจ็บป่วยกับมัน ถ้าเราทุกข์ระทมร้าวรานกับมันนานเกินไป เวลาของการทำงานสร้างสรรค์จะสั้นลง ซึ่งเราอยากทำงานสร้างสรรค์ แต่นั่นมันก็เป็นแค่หลักการไง มันก็ต้องลงไปในรายละเอียดอีก

ที่ว่าเอาไม่อยู่เป็นเพราะนิสัยส่วนตัวหรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์

น่าจะเป็นเพราะเรามากกว่า คือมีทุกคนแหละ แต่ว่ามากน้อย ระดับความหนักเบาแตกต่างกัน ของเราเราให้ค่าเรื่องนี้ไง ใครให้ค่าเรื่องอะไร เวลาที่มีความสุขมันก็มีความสุขมาก เวลาที่มีความทุกข์ก็มีความทุกข์มาก เวลาที่เราไม่ให้ค่ากับอะไร เช่นเราไม่ให้ค่ากับเรื่องเงิน เวลามีความสุขมันก็ประมาณหนึ่ง แต่เวลาทุกข์ไม่มี

คืออะไรที่เราแคร์มันทำให้มีความทุกข์ แล้วเรื่องพวกนี้บางทีมันเลือกไม่ได้ เกิดมาเลือดเนื้อดีเอ็นเอมันเป็นคนที่แคร์เรื่องนี้ ย้ำนะว่ามันไม่ใช่เรื่องความรักเรื่องหญิงสาวอย่างเดียว ต่อให้เป็นเพื่อน แค่กะพริบตาทีหนึ่งมันก็จะเซนซิทีฟมาก มันเร็ว เช่นกะพริบตาเราก็รู้แล้วว่าเพื่อนไม่พอใจ คือเซนส์มันเร็ว หลับตากูก็รู้

การที่เซนซิทีฟกับเรื่องนี้มันทำให้คุณใช้ชีวิตยากมั้ย

มันก็มีได้มีเสีย ตอนได้มันก็ดี แล้วก็ถ้าปีนี้อายุย่าง 48 มันยังเป็นอย่างนี้อยู่ แปลว่ามันคงเปลี่ยนไม่ได้แล้วแหละ ต่อให้ยากหรือไม่ยาก มันก็คงเป็นเช่นนี้ไป ทุกข์สุขหนาวร้อนก็คงต้องรับไป ก็มันเกิดมาเป็นเช่นนี้น่ะ ถ้าทำอาชีพอื่นคงแย่นะ แต่พอทำอาชีพนี้ ไม่ว่าเจออะไรมันก็เอามาทำงานได้ไง เราก็เปลี่ยนความทุกข์ร้อนเป็นงานสร้างสรรค์ ทั้งนี้ไม่ได้อยากเจอความทุกข์นะ ทำงานสร้างสรรค์แบบอื่นก็ได้ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้คุณใช้ชีวิตตัวคนเดียวกลางป่าเขาที่น่าน เกิดเป็นอะไรไปจะทำยังไง คิดไว้บ้างหรือยัง

ไม่ ก็ตายไป (หัวเราะ) ไม่เป็นไร เบื้องต้นทำได้แค่ระมัดระวัง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นก็เป็นไป มันไม่ใช่แค่ที่น่าน คือคุณอยู่กรุงเทพฯ มันก็ทุกวินาทีเหมือนกัน ป้ายโฆษณา รถไฟฟ้า มันก็ตกมาใส่คุณได้ตลอดเวลา หมายความว่ามันเท่ากัน ไม่ใช่อธิบายว่าเราอยู่ในที่ที่อันตรายกว่าคุณ ถ้าพูดเรื่องนี้คุณก็อันตรายบางแบบ เราก็อันตรายบางแบบ แต่เราก็ค่อนข้างระมัดระวังเท่าที่ระมัดระวังได้ ถ้าเกินกว่านั้นก็ว่าไป

คือสำหรับเราเรามีทัศนะว่ามนุษย์ตายได้ เราไม่ได้มีทัศนะว่าตายไม่ได้ ฉะนั้น ตายก็ตายไป ยังไงก็ต้องตายอยู่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ทางใดทางหนึ่ง ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่รู้ สิ่งที่รู้คือในระหว่างที่ยังมีชีวิต อยากทำอะไรที่คิดว่ามีคุณค่า ก็ทำ หมายถึงคุณค่ากับตัวเองนะ ย้ำว่าไม่ได้อยากเป็นนักบุญ ฉะนั้น เรื่องพวกนี้เราไม่เอามาเป็นประเด็นหรือว่าลังเลสงสัย กังวลใจอะไร แล้วก็ไม่ได้อยากมีอายุสั้นหรือว่าอยากมีอายุยาว ก็เป็นไป รับได้ เข้าใจได้

จริงๆ เราคิดว่าเราอยู่ในกลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายได้ แต่ว่ายาก เพราะว่ามันมีเรื่องที่ต้องทำอยู่ อยากทำงาน สนุก ฉะนั้น คงยังไม่ตายหรอก เอาเป็นว่า 25 ปีไม่มีอะไรคาใจ เราว่าเราได้ใช้ชีวิตไปตามวันเวลาและทำมาหมดแล้วแหละ เคยมีครอบครัว มีบ้าน มีลูก มีเพื่อน มีงานประจำ งานไม่ประจำ ไม่ค่อยมีอะไรที่ไม่เคย สิ่งที่ยังไม่เคยคือยังไม่เคยเป็นผู้หญิง นอกนั้นน่าจะเคยมาหมดแล้ว (หัวเราะ) แฮปปี้ดี ล้มลุกคลุกคลานอะไรไปบ้าง แต่บรรทัดสุดท้ายก็หันไปยิ้มกับมันได้

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan