‘โรงแรมดุสิตธานีที่อาจจะถูกทุบ, ตึกศรีเฟื่องฟุ้งมี facade เหมือนหนามทุเรียน, ตรงบีทีเอสศาลาแดงมีตึกที่สวยแต่ไฟไหม้ไปแล้ว, ธนาคารกรุงเทพรูปร่างเหมือนคอมพิวเตอร์, ในซอยคอนแวนต์มีตึกแถวสวยๆ อีก 2 – 3 ตึก’

ข้างต้นคือข้อความที่ เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย ส่งมาในกล่องข้อความเมื่อผมถามว่าในย่านที่เรานัดพบกันมีอาคารใดน่าสนใจ

ผมรู้จักช่างภาพสถาปัตยกรรมผู้นี้ครั้งแรกจากเพจที่รวบรวมภาพถ่ายสถาปัตยกรรมเก่าๆ ชื่อ Foto_momo ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้ง

ภาพอาคารที่เขาถ่ายส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นหลากหลายประเภท ไล่ตั้งแต่อาคารสำนักงาน ธนาคาร โรงภาพยนตร์ โรงแรม และอื่นๆ อีกมากมาย โดยแทบทุกภาพที่เขาถ่ายล้วนมีรายละเอียดกำกับ ทั้งที่ตั้งอาคาร ปีที่สร้าง หรือชื่อสถาปนิกผู้ออกแบบ

เรานัดพบกันใกล้โรงแรมที่เสี่ยงต่อการถูกทุบที่เขาบอกมาในกล่องข้อความ เพื่อพูดคุยกันเรื่องอาคารเก่าที่เขาหลงใหล จากบทสนทนาทำให้ผมรู้ว่าแม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีกระแสที่คนเริ่มหันมาสนใจสถาปัตยกรรมยุคเก่ากันมากขึ้น แต่อาคารเก่าๆ ก็ยังเสี่ยงต่อการถูกทุบทำลายอยู่ดี

บางอาคารที่หายไปทำเอาหัวใจผู้คนที่เกี่ยวข้องเจ็บปวดคล้ายถูกทุบไปด้วย ขณะที่บางอาคารก็ตายไปอย่างเงียบเชียบคล้ายไม่เคยมีอยู่

“ความผูกพันเป็นตัวที่ทำให้คนออกมาเรียกร้อง ถ้าเป็นอาคารที่ไม่ได้ผูกพันกับคน มันจะถูกทุบหายไปในกาลเวลาอย่างเงียบๆ” ผู้ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจนนับจำนวนภาพไม่ถ้วนบอกผม

ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาพยายามตระเวนถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเก่าๆ ให้ได้มากที่สุด-ให้เร็วที่สุด ไว้เพื่อเป็นภาพที่ระลึก

ทั้งไว้ระลึกว่าอาคารเหล่านี้มีความสำคัญ รวมถึงไว้ระลึกในวันพวกมันหายไป

และบรรทัดถัดจากนี้คือบทสนทนาที่ระลึกถึงอาคารเก่าเหล่านั้น

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

คุณสนใจการถ่ายภาพตั้งแต่ตอนไหน

ตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องถ่ายสถาปัตย์ เวลาเรียนเราก็มีไปเปิดหนังสือดู ก็จะเห็นรูปอาคารสวยๆ ของต่างประเทศ เราก็สงสัยว่า เฮ้ย ทำไมสวยจัง เราอยากถ่ายให้ได้อย่างนี้ แต่ตอนนั้นยังไม่มีความรู้อะไร แค่รู้สึกว่าแล้วทำไมสถาปัตย์บ้านเราถ่ายไม่สวยเลย ถ่ายรูปไม่ขึ้น ก็โทษดินฟ้าอากาศ เมืองนอกฟ้าเขาสวย โทษอุณหภูมิ เราถ่ายสไตล์นี้ไม่สวยหรอก เสาไฟฟ้าเยอะแยะ สายไฟก็รก

แล้ววันหนึ่งอาจารย์ก็เชิญพี่สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ช่างภาพสถาปัตย์ที่ตอนนี้เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Fullstop มาบรรยาย พี่เขาก็เปิดสไลด์รูปสถาปัตย์ที่เขาถ่ายให้ดู มันเป็นรูปอาคารในยุโรปอาคารหนึ่ง ฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีน้ำเงิน มีเนินหญ้าสีเขียวเป็นฉากหน้า อาคารโผล่มานิดนึงเป็นยอดแหลม มีผู้ชายใส่สูทเดินอยู่ 3 คน แล้วภาพนี้มันพิเศษตรงที่บนท้องฟ้าด้านหลังมีเครื่องบินกำลังพุ่งทะยาน ปล่อยไอพ่นสีขาว

ภาพนั้นประทับอยู่ในความทรงจำนานมาก พี่สมคิดบอกว่า ภาพนี้มันพิเศษตรงที่เป็นจังหวะช่วงโมเมนต์เดียวที่เขาไปตั้งกล้องรอ บวกกับความบังเอิญ ดวง และประสบการณ์ คือถ้าภาพนี้มีแค่อาคารกับคนสามคนมันก็ธรรมดา แต่พอมีโมเมนต์วูบเดียวที่เครื่องบินบินผ่าน มันกลายเป็นหนึ่งวินาทีที่เกิดขึ้นแล้วรูปเพอร์เฟกต์ที่สุด และมันอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เราก็เลยเข้าใจความเจ๋งของการจับช่วงเวลาดีๆ นี่คือสิ่งที่รู้สึกว่าเราน่าจะเรียนรู้ น่าจะทำได้ มันเหมาะกับเรา เรามีความรู้ทางสถาปัตย์ มีคุณสมบัติที่จะทำได้

บางคนเข้าใจว่าถ่ายภาพสถาปัตยกรรมไม่น่ามีอะไรยาก แค่ตั้งกล้องแล้วก็กดชัตเตอร์ ความจริงมันง่ายขนาดนั้นไหม

อยู่ที่การวางแผน อย่างน้อยเราต้องทำการบ้านมาก่อนว่าเราคิดยังไงกับตึกนี้ แล้วจะถ่ายมันออกมายังไง ทิศทางแสงเราต้องรู้ มันจะมีช่วงจังหวะที่เพอร์เฟกต์ ซึ่งเราจะคาดเดาได้ถ้าเราใส่ใจมัน แล้วพอทำงานไปเยอะขึ้น เราจะพอเดาได้ว่าเดี๋ยวสักพักมันจะเกิดอะไรขึ้น เช่น แสงตอนเช้าช่วงหกโมงเจ็ดโมงสวยกว่าอยู่แล้ว ตอนเย็นต้องช่วงแสงแบบ twilight ตอนกลางวันถ้าเราคิดว่าแสงมันไม่ได้บ่งบอกอะไร ไม่สวย ก็ไม่จำเป็นต้องถ่าย สิ่งพวกนี้เราคาดเดาได้ เราก็ไปตั้งกล้องรอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้นเอง

คุณเชื่อในการรอคอย

ทุกวันนี้ก็รอคอยอยู่ คนมักเข้าใจว่าไปถึงจะถ่ายได้เลย บางทีมันไม่ง่ายขนาดนั้น มันจะเจอปัญหา เช่น รถมาจอด มีถังขยะ ป้ายโฆษณา ไฟไม่ติด กระจกไม่เช็ด ของที่เกินจากดีไซน์ของเขา เราต้องย้ายออกเพื่อความสมบูรณ์ มันเป็นงานใช้แรงงานเลยแหละ ถังขยะนี่ยกกันเป็นประจำ

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

คุณเริ่มสนใจสถาปัตยกรรมเก่าๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่

เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ผูกพันกับพวกวัด พวกฝีมือช่าง ก็เลยเลือกเรียนสถาปัตย์ไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจะเรียนต่างกับสถาปัตยกรรมหลักที่จะเรียนพวกอาคารโมเดิร์น พอเรียนจบสถาปัตย์ไทยมา ตอนใกล้จบเราก็ค้นหาว่าตัวเองอยากเป็นอะไร เพราะมันก็เลือกได้หลายทาง ไปเป็นอาจารย์ เป็นนักออกแบบ เป็นสถาปนิก ซึ่งคนที่จบสถาปัตย์ไทยในยุคนั้นหางานค่อนข้างยาก ใครจะไปจ้างออกแบบเรือนไทย มันน้อย แต่มันมีอีกทางที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ พวกทำงานอนุรักษ์

ผมเคยดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง Calmi Cuori Appassionati พระเอกทำอาชีพอนุรักษ์ภาพเขียน เราก็อยากจะเท่อย่างพระเอก อนุรักษ์อาคารที่มันจะตายแล้วให้ฟื้นขึ้นมา ซึ่งยังเป็นอาชีพที่ใหม่มากสำหรับคนไทยในยุคประมาณเมื่อปี 2545 ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์อาคารเท่าไหร่ แล้วพอดีตอนทำงานผมได้จับพลัดจับผลูไปอยู่ในทางของฝ่ายผู้รับเหมา ช่วงนั้นธนาคารไทยพาณิชย์กำลังเห็นความสำคัญของอาคารเก่า เขาเป็นเจ้าของอาคารเก่าหลายอาคาร เป็นพวกตึกที่มีบัวหัวเสาหรือที่เรียกว่าเป็นตึก Colonial ตึกพวกนี้เขามีกรรมสิทธิ์รีโนเวตขึ้นมาเป็นสาขา ผมก็ไปเป็นสถาปนิกประจำไซต์งาน คุมช่าง ตอนนั้นก็ใฝ่ฝันอยากจะไปเรียนต่อด้านอนุรักษ์ แต่ว่าก็ไม่ทะเยอทะยานพอ ไม่สำเร็จ แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจอาคารเก่าๆ

แล้วตอนไหนที่เริ่มถ่ายภาพอาคารเก่าสะสมจนกลายเป็นโปรเจกต์ Foto_momo

เริ่มมาจากเราไปถ่ายให้สมาคมสถาปนิกสยามฯ ทุกๆ ปีเขาจะมีการมอบรางวัลให้อาคารอนุรักษ์ดีเด่น เราก็ไปถ่ายมาหลายปี แรกๆ จะเป็นพวกอาคาร วัด ต่างๆ ที่ได้รับรางวัล พอปีหลังๆ สมาคมเริ่มจะให้ความสำคัญกับอาคารโมเดิร์นมากขึ้น ทีนี้เราก็ไปถ่ายตามต่างจังหวัด โคราช หาดใหญ่ แล้วก็รู้สึกประทับใจว่า เฮ้ย ต่างจังหวัดไกลๆ ยังมีอาคารเจ๋งๆ แบบนี้ซ่อนอยู่ พอเริ่มประทับใจ ไปไหนสายตามันก็จะเริ่มมองหา แล้วก็เลยถ่ายสะสมมาเรื่อยๆ เก็บเป็นคอลเลกชัน ที่จริงไอ้คำว่า Foto_momo มันก็ล้อมาจากชื่อองค์กรองค์กรหนึ่งด้วย คือ DOCOMOMO (Documentation and Conservation of Buildings, Sites and Neighbourhoods of the Modern Movement) องค์กรนี้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์อาคารช่วงโมเดิร์น ส่วนเรามีฝีมือแค่ถ่ายรูป เราก็เลยล้อเลียนว่าเป็น Foto_momo แล้วกัน เป็น Fotograph of the Modern Movement

ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้จริงจัง มาเริ่มจริงจังเมื่อข้อมูลเยอะขึ้น เพราะนอกจากไปถ่ายเรายังรีเสิร์ชข้อมูล ทั้งจากหนังสือเก่าๆ และจากการพูดคุย ทำให้เรารู้ว่าตึกนี้ใครออกแบบ สร้างปีไหน ข้อมูลพวกนี้ตอนแรกๆ เราจดเป็นแค่ short note ไว้ แต่พอมันมากขึ้นเป็นร้อยอาคาร เราต้องจัดระเบียบข้อมูลใหม่หมดถึงขนาดมานั่งพิมพ์เป็นตาราง แล้วเราก็จะเห็นภาพระดับหนึ่งว่าสถาปนิกคนนี้สไตล์จะเป็นอย่างนี้ เห็นลายเซ็นของเขา เห็นว่าตึกไหนสร้างก่อนหลัง แล้วลำดับพัฒนาการของการออกแบบเป็นยังไง นี่คือเบื้องหลังการทำงานที่มันหนักหนากว่าการออกไปถ่าย

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

จากที่รีเสิร์ชมาคุณคิดว่าอาคารยุคโมเดิร์นพิเศษตรงไหน

มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนจากรัฐสมัยเก่าไปเป็นรัฐสมัยใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านในยุคก่อน ยุคนั้นเมืองเริ่มขยาย เมืองเริ่มวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติว่าอยากให้เมืองเติบโตไปยังไง มันเป็นการสร้างเมืองในอีกยุคหนึ่งของไทย เหมือนเป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งที่ถูกทำไว้

ถ้าสังเกตเราจะเห็นพัฒนาการของเมืองว่าเป็นอย่างไร เราจะเห็นเลยว่าตามถนนสุขุมวิท สีลม สุรวงศ์ เพชรบุรีตัดใหม่ จะมีตึกพวกนี้ แล้วกระจายอยู่แค่นี้ มันจะไม่ออกไปถึงบางนา เพราะว่ายุคนั้นเมืองเจริญเท่านี้ ส่วนตามต่างจังหวัดก็ดูง่ายเลย มันจะเกาะกลุ่มกันตามตัวเมือง ตามถนนหลัก แม่น้ำสายหลัก ธนาคาร โรงภาพยนตร์ สถานที่ราชการ จะอยู่เป็นเครือข่าย พวกนี้มักจะต้องแย่งชิงทำเลที่ดี เช่น สี่แยก วงเวียนของเมือง ซึ่งถ้าวันหนึ่งอาคารเหล่านี้หายไป เราก็จะไม่เห็นอดีตที่เคยเจริญตรงนี้

แล้วคุณตระเวนถ่ายรูปอาคารเก่าๆ เหล่านั้นไปทำไม มันมีประโยชน์อะไร

ตอนแรกก็ถ่ายเอาสวยอย่างเดียว แต่พอทำไปทำมาก็รู้สึกว่าภาพถ่ายมันมีพลังบางอย่างที่กระตุ้นให้คนเข้ามาดูแล้วเห็นคุณค่าของสิ่งที่ถูกมองข้ามในชีวิตประจำวัน บางทีเราก็ถ่ายตึกที่ทุกๆ คนเห็นแล้วก็มองผ่านมันไป เราก็อาศัยพลังภาพที่ถ่ายออกมาแล้วสวย ทำให้คนที่มาดูฉุกคิด เห็นรูปแล้วอยากจะมาดูด้วยตาตัวเองจริงๆ ตระหนักขึ้นมาจริงๆ ว่ายังมีของพวกนี้อยู่รอบตัวถ้าเราสังเกต ผมคิดว่านี่คือพลังของภาพถ่าย

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

เพราะอะไรเราถึงมองข้ามความพิเศษของอาคารที่คุณว่าในชีวิตประจำวัน

อาจจะเป็นเพราะถ้าเราเห็นมันที่เดียวอาจจะไม่พิเศษด้วยมั้ง ทีนี้พอเราทำเป็นคอลเลกชัน มันจะเห็นความหลากหลาย เรื่องจำนวนเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นพลังของมันได้ ผมเลยอยากจะรวบรวมเป็นบันทึกเป็นคอลเลกชันให้ได้มากที่สุด เพราะคิดว่ายังไม่ค่อยมีใครรวบรวมเอาไว้ ตึกยุคโมเดิร์นถูกมองข้ามไปพอสมควร เรื่องการอนุรักษ์มันเริ่มมีกระแสไม่กี่ปีนี้เอง อย่างวัดหรือวังการอนุรักษ์นั้นเต็มที่อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงแล้ว แต่อาคารที่ผมถ่ายพวกนี้มันก้ำกึ่ง อยากจะบอกว่ามันเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่สมัยใหม่

บางตึกมันอาจจะไม่ได้สวยงามวิจิตรเหมือนวัดเหมือนวัง มันเรียบๆ กล่องๆ ไม่มีสิ่งประดับประดา ไม่ได้ทาสีด้วย ดูเหมือนทุบทิ้งไปก็ไม่เสียหาย แต่หลังๆ พอมันเริ่มทุบมากเข้ามันก็น่าเสียดายนะ เลยเป็นแรงให้ผมอยากรีบถ่ายรีบบันทึกไว้ ไม่ต้องถึงขั้นถูกทุบหรอก แค่ถูกเปลี่ยนหน้าตาต่อเติมผมก็เสียดายแล้ว

เสียดายอะไร

เสียดายความแท้ เสียดายความออริจินัลของมัน

สำคัญใช่ไหม ความแท้ ความออริจินัล

สำคัญสำหรับวงการสถาปัตย์ อย่างน้อยเราก็มีตัวอย่างให้คนรุ่นหลังดูได้ ถ้าเราไปต่อเติมดัดแปลงเสียหมด พอคนรุ่นหลังอยากจะดูก็หาดูไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วยนะ บางทีตึกในยุคโมเดิร์นที่เขาทำมันก็มีเหตุผลในเรื่องของยุคสมัย เช่น เรื่องของฟาซาด (Facade) สมัยก่อนมีไว้กันแดดตามสภาพภูมิอากาศที่เราเป็น ทีนี้พอผ่านยุคนั้นมาแล้ว การกันแดดแบบนั้นมันมีปัญหา มันไม่ตอบโจทย์กับยุคนี้แล้ว ทำให้อาคารข้างในมืด หรือพอติดแอร์ก็ไม่รู้จะเอาแอร์ไปวางไว้ไหน

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาคารเก่าถูกดัดแปลง

เขาก็ดัดแปลงไปเรื่อย หรือถ้าไม่คุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจเขาก็ทุบทิ้ง

ถ้าไม่ทุบทิ้ง เราควรทำอย่างไรกับอาคารที่ไม่เชื่อมโยงกับยุคสมัยแล้ว

อันดับแรก ก็น่าจะเปลี่ยนฟังก์ชันของมัน อย่างเคสพวกโรงภาพยนตร์แสตนด์อโลนเก่าที่ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัยแล้ว บางที่เขาก็ปิดไป บางที่ก็ปรับปรุงเป็นมีเวทีข้างใน สองคือ ถ้าไม่เปลี่ยนฟังก์ชันก็ทำฐานข้อมูลเก็บไว้ มีการสำรวจรังวัด การบันทึกภาพ การทำโมเดลจำลองไว้ เพื่อที่ว่าถึงแม้จะทุบไปแล้ว อีกกี่ร้อยปีจะย้อนกลับมาดูมันก็ยังมีข้อมูลให้ระลึกถึง เราก็ทำในฐานะของเรา คือการบันทึกข้อมูลนี่แหละ เพราะเราไม่มีสิทธิ์ไปบอกเขาให้หยุดทุบ

คุณรู้สึกยังไงเวลาเห็นตึกเก่าถูกทุบทำลาย

จริงๆ ก็เสียดาย แต่คงไปพูดอะไรมากไม่ได้เพราะเราไม่ใช่เจ้าของตึก คือถ้าทุบแล้วยังมีตัวอย่างอาคารประเภทนั้นให้ดูอีกก็ไม่เสียดายเท่าไหร่ แต่ถ้ามันเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ผมจะเสียดายมากเลย เช่น โรงหนังสกาลา ถ้ามันมีโรงภาพยนตร์แบบนั้นหน้าตาอย่างนั้นที่บางนา หรือในอีกหลายๆ ที่ก็ทุบไปเถอะ ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันเหลือหนึ่งเดียวแล้วเรายังทุบทิ้ง มันน่าเสียดาย

เราเองก็พยายามคิดในหลายๆ แง่ หลายๆ บทบาท เช่น ถ้าคนที่เป็นเจ้าของต้องมานั่งจมอยู่กับต้นทุนที่ไม่เกิดกำไรแบบนี้ เขาก็คงต้องปรับเปลี่ยน ทุบทิ้งไปสร้างอะไรที่มันคุ้มค่ากับตัวเงินมากกว่า แต่ความคุ้มค่ามันมองกันได้หลายวิธี อันนี้เรามองในแง่ที่เราเกี่ยวข้องกับสถาปัตย์ ภาพถ่าย ความงาม เราก็ตอบประมาณนี้ แต่ถ้าในแง่นักลงทุนเขาคงมองอีกอย่าง ในแง่ชาวบ้านที่เขาผูกพันกับอาคารนั้น เขาก็อาจตอบอีกอย่าง บางทีเขาอาจจะรู้สึกว่า เออ ตึกนี้ขยะเยอะเว้ย ทุบทิ้งไปได้ก็ดี คุณค่าพวกนี้มันตอบได้หลายอย่าง

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

ถ้ามันตอบได้หลายอย่าง เราควรจะตัดสินคุณค่าของอาคารเหล่านั้นจากมุมของใคร

ถ้าเป็นอาคารที่มีบทบาทกับสังคม บทบาทกับชุมชน ก็น่าจะให้คนในชุมชนนั้นเป็นคนร่วมการตัดสินใจ เช่น โรงภาพยนตร์หรืออาคารในมหาวิทยาลัย ถ้ามันจะถูกทุบหรือถูกปรับปรุงอะไรก็น่าจะรับฟังความเห็นของคนที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้ากรณีที่เป็นอาคารเอกชน เช่น ตึกสำนักงาน หมู่บ้าน เราคงไปยุ่งเกี่ยวกับเขาได้ยาก เขาก็มีสิทธิ์ของเขา ยกตัวอย่างเรื่องสถานทูตออสเตรเลียตรงสาทร มันสวยมากเลย ถือว่าสมบูรณ์มาก ถ้าถามถึงอาคารที่ประทับใจ สถานทูตออสเตรเลียคือหนึ่งในนั้น เป็นอาคารที่มีเซรามิกสีเหลือง ติดกระเบื้องโทนเขียว แต่ตอนนี้เขาย้ายสถานทูตออกไปแล้ว และจะขายที่ดินแปลงนี้ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าคนที่ซื้อจะเอาไปทำอะไรต่อไป ขึ้นอยู่กับทัศนคติของเจ้าของใหม่ คนที่รับช่วงต่อไป แต่ถ้าคิดในแง่การลงทุนแล้วมันคงต้องขึ้นเป็นตึกสูง เป็นคอนโดมิเนียม เพราะทำเลตรงนั้นมันดีมาก

แล้วมีเหตุผลไหนไหมที่เราควรเก็บอาคารเก่าไว้แทนที่จะสร้างอาคารที่ใหม่กว่า ทันสมัยกว่า

มันเป็นความหลากหลายของเมืองนะ ไม่ใช่เมืองมีอาคารใหม่เต็มไปหมดโดยไม่มีรากฐานประวัติศาสตร์เดิม การมีอยู่ของอาคารเก่าๆ จะเสริมประวัติศาสตร์ตรงนี้ให้ชัดเจน เเข็งเเรงขึ้น บางตึกยังก้ำๆ กึ่งๆ ระหว่างใหม่กับเก่า อายุมันยังแค่ 40 – 50 ปี มันไม่ได้เก่าแบบสมัยอยุธยาเลย แต่มันก็ไม่ได้ใหม่ มันถูกละเลย แต่ถ้ามันถูกยืดอายุไปอีก 50 – 100 ปี มันจะกลายเป็นของเก่าอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

แล้วคุณตั้งใจให้ Foto_momo เป็นส่วนหนึ่งในการยืดอายุให้สถาปัตยกรรมเก่าๆ ไหม

อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้คนหันมาสนใจ เราก็ไม่รู้ว่าพอทำแล้วมันได้ผลมากน้อยแค่ไหนนะ แต่ถ้าในมโนคติ เราก็อยากให้มันยืดอายุไปนั่นแหละ เราก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตามดู เวลาที่เราโพสต์ไป บางที่ที่เขาอยากให้เราไปถ่าย เขาก็จะบอกมา ก็มีหลังไมค์มาว่าตึกนี้สวยนะพี่ น่าจะถ่ายเก็บไว้หน่อย หรืออย่างบางทีก็มีบอกว่าตึกนี้จะทุบแล้วนะ

โปรเจกต์นี้คุณถ่ายอาคารเก่าไปแล้วกี่ที่ ได้นับไหม

ตอนนี้น่าจะร้อยห้าสิบกว่าแล้วนะ แต่ถ้าในลิสต์ที่ตั้งใจจะไปถ่ายรวมๆ แล้วน่าจะอยู่ที่ราว 200 เรามีกำลังแค่นี้ แค่ถ่ายภาพกับรีเสิร์ชเบื้องต้น จริงๆ เราอยากจะได้ข้อมูลที่ลึกกว่าที่เห็นในเพจ อยากจะไปเจาะประวัติในแต่ละอาคารให้ลึกๆ แต่เรายังไม่มีแรงหรือพลังมากพอ มันต้องอาศัยเครือข่ายเยอะเหมือนกัน เราก็ทำเท่าที่ทำได้ แต่ที่ผ่านมาเราทำแล้วมันสนุกด้วย เลยไม่รู้สึกว่ามันเหนื่อยอะไร

ทุกวันนี้คุณถ่ายรูปตึกใหม่ที่สวยบ้างหรือเปล่า

ก็มีแอบถ่ายเก็บไว้ อีก 10 ปี มันอาจจะเก่าก็ได้ แล้วรูปที่เราถ่ายอาจจะมีคุณค่าระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

แล้วอนาคตของโปรเจกต์ Foto_momo จะถูกต่อยอดไปเป็นอะไรบ้างไหมนอกจากลงรูปในเพจ

ถ้ามีคนขอความร่วมมือ ขอไปแชร์ หรือขอใช้รูป ผมก็ยินดี เพราะมีนักศึกษาไทยที่เรียนปริญญาโทอยู่ที่ญี่ปุ่นติดต่อมาเหมือนกันว่าเขากำลังรีเสิร์ชเรื่องนี้อยู่ พอดีเขาเห็นรูปที่เราไปถ่ายมามันดึงดูดกว่าที่เขาถ่าย แล้วที่เขาเรียนมันต้องมีการจัดแสดง exhibition เลยมาขออนุญาตว่าจะนำรูปไปใช้ได้ไหม นี่แหละ ข้อได้เปรียบของการที่เรามีทักษะในการถ่ายตึก คิดว่าถ้าเป็นช่างภาพแบบอื่นอาจจะไม่ได้มุมมองแบบสถาปัตย์ขนาดนี้ เราก็ยินดีเต็มที่ถ้ามันจะถูกเผยแพร่แล้วเป็นประโยชน์อะไรบ้าง แล้ววันหนึ่งก็อยากจะรวบรวมทำเป็นหนังสือให้มันถูกเก็บไว้เป็นเรื่องเป็นราว

การทำโปรเจกต์นี้สอนอะไรคุณบ้าง

สอนว่าอยากทำอะไรต้องทำเลย คือความเสียดายนี่มันเป็นความฝังใจนะ แบบว่า เฮ้ย ไม่ทันแล้วว่ะ ตึกนี้ถูกทุบไปแล้ว อย่างเช่นโรงแรม Siam Intercontinental ที่เป็นสยามพารากอนในปัจจุบัน อันนี้ผมไปถ่ายไม่ทัน น่าเสียดาย สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นช่างภาพเต็มตัว แต่เพื่อนบอกเราแล้วว่าเขาจะทุบ ไปถ่ายเก็บไว้สิ สวยดี แล้วสมัยนั้นมีรถไฟฟ้าแล้ว มุมจากข้างบนสวยเลย แต่ผมก็ไม่ได้ถ่าย ผัดวันประกันพรุ่ง ผ่านไปอีกทีกลายเป็นห้างสรรพสินค้าแล้ว มันก็เลยเป็นแรงผลักดันว่าถ้าเราอยากทำอะไรให้รีบทำ ผมเลยทุ่มเวลาและเร่งค้นคว้าหาข้อมูลอาคารที่ใกล้จะถูกทุบแล้วรีบไปถ่าย

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

มีอาคารไหนที่เคยไปถ่ายแล้วทุกวันนี้มันถูกทุบไปแล้วบ้างไหม

มีธนาคารกรุงศรีฯ ตรงสี่แยกเพลินจิต ตอนนั้นถ่ายเก็บไว้เล่นๆ ยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นโปรเจกต์อะไร เพียงแต่ว่าเราบังเอิญได้ถ่ายมา แต่ก็ไม่เคยเข้าไปถ่ายข้างใน ตอนนั้นชะล่าใจ รู้ว่าจะทุบก็ยังไม่อะไร ผ่านไปเดือนสองเดือน ทุบเกลี้ยงแล้ว

เวลาดูรูปอาคารเก่าๆ ที่ถูกทุบทำลายไปแล้วรู้สึกยังไง

เหมือนกลับไปดูรูปญาติโกโหติกาที่เสียไปแล้ว อยากจะกลับไปเดินวนถ่ายอีกทีก็ไม่มีโอกาสแล้ว

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo

ระลึกถึงอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์กับ วีระพล สิงห์น้อย เจ้าของเพจ Foto_momo
ขอขอบคุณ : วีระพล สิงห์น้อย

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล