สถานีปลายทางของกาแฟ สำหรับหลายคนอาจอยู่ที่การชงใส่แก้วแล้วจิบ แต่เมื่อสังเกตว่าหลังจากเราเติมพลังคาเฟอีนใส่ตัวแล้ว มีขยะจำนวนมากแค่ไหนเกิดขึ้น ก็คงสัมผัสได้ว่านี่ไม่ควรจะเป็นจุดจบที่แท้จริง

สำหรับนักเวทย์ผู้เปลี่ยนเศษขยะให้เป็นทองอย่าง อ.สิงห์ อินทรชูโต การดื่มกาแฟเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการต่อยอดสร้างสรรค์อีกมากมาย อ.สิงห์อยู่ในวงการสร้างผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุมายาวนานถึงสิบกว่าปีแล้ว เขาเคยทดลองเสกสรรวัสดุใหม่จากของเหลือมากมาย ตั้งแต่หลอด พลาสติก ไม้ และกาแฟก็เป็นหนึ่งในนั้น

สาเหตุนี้เองจึงทำให้เราเลือกมาพูดคุยกับเขา เพื่อถามถึงวิธีการใช้กาแฟให้คุ้มหมดจนหยดสุดท้าย ในแบบที่คุณอาจนึกไม่ถึงมาก่อนเลยก็เป็นได้

สิงห์ อินทรชูโต

จากฉากสุดท้ายสู่ฉากใหม่

“มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่คนโบราณชอบเก็บของมาใช้ใหม่ ผมคิดว่าผมทำตามคนโบราณเลย” นี่คือความคิดเริ่มต้นของ อ.สิงห์

ในวันที่สร้างบ้านของตัวเองแล้วพบว่ามีเศษวัสดุเหลือมากมาย ขนาดที่นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน รวมถึงเมื่อไปออกแบบอาคารให้ลูกค้า ก็นำวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้างมาแปลงเป็นของแถมมากมายไว้ใช้ประกอบในอาคาร “พอโรงงานที่ขายวัสดุก่อสร้างมาเห็น เขาก็อยากให้เราเข้าไปดูโรงงานเพื่อช่วยลดเศษวัสดุของเขา ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็ลามไปเรื่อยๆ แล้วทีนี้”

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน อ.สิงห์กลายเป็นผู้เล่นสำคัญคนหนึ่งในวงการอัพไซเคิลวัสดุเหลือใช้ เขามีทั้ง Osisu บริษัทออกแบบเฟอร์นิเจอร์ส่วนตัว Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุแห่งใหม่ของไทยบนถนนราชดำริ รวมถึง Scrap Lab ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งนี้

ด้วยความที่งานเยอะจนถามไม่หวาดไม่ไหวขนาดนี้ เราจึงขอโฟกัสถามไปที่จุดเดียว คือสถานที่ให้กำเนิดวัสดุจากกากกาแฟ นั่นคือ Scrap Lab

Scrap Lab

จากขยะเก่าสู่โจทย์ใหม่

ที่มุมลึกสุดของตึกคณะสถาปัตยกรรม มีห้องขนาดไม่ใหญ่นักห้องหนึ่ง ภายในจุเอาความคิดแหวกแนวจำนวนมากไว้ในรูปแบบของชิ้นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสำเร็จแล้ว วางกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นและบนชั้นวาง

“ในฐานะของเราซึ่งเป็นนักวิจัย ก็ต้องหาวิธีการสอนเด็กให้คิดนอกกรอบเป็น หาโจทย์ที่ยังไม่ถูกแก้ ถ้าถูกแก้แล้ว เด็กไปหาคำตอบเอาตามกูเกิล ตามห้องสมุด ก็จะเจอ” ในความเห็นของ อ.สิงห์ Scrap Lab มีจุดมุ่งหมายหลักในการเป็นสถานที่สำหรับให้ลองคิดลองทำ เปลี่ยนเศษวัสดุที่อาจดูไร้ค่าเป็นสินค้าหน้าตาน่าซื้อใช้ หากยังไม่เวิร์กก็คิดใหม่ หากดีแล้วก็นำไปใช้ต่อ

เมื่อถามว่าโจทย์ที่ยังไม่ถูกแก้ จะเลือกอย่างไร อาจารย์ตอบว่า “เราไม่ได้เข้าไปดูในโรงงาน ยังไงก็ไม่มีทางรู้หรอกว่ามีเศษอะไรเยอะน้อยบ้าง แต่ก็สังเกตได้ง่ายๆ ว่าถ้ามันยังมีวัสดุมาให้เราทำตลอดเวลา ต่อให้ไม่ต้องไปนั่งนับก็จะรู้ว่ามันไม่หมด อย่างที่เยอะที่สุดคือพลาสติกอยู่แล้ว เช่น เศษกระดุม หลอด อย่างนี้มีมาเรื่อยๆ”

เนื่องจากคนนอกอย่างเราไม่มีทางรู้ว่ามีเศษอะไรเหลือในโรงงานบ้าง Scrap Lab จึงใช้วิธีการให้โรงงานเข้ามาติดต่อเสนอเศษเอง โดยจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในทุกเทอม ทำให้มีโจทย์แปลกใหม่โผล่มาให้ตื่นเต้นเสมอ เช่นถ้าเป็นโรงพยาบาลก็จะมีถุงน้ำยาล้างไต ผ้าห่อเครื่องมือผ่าตัด หรือถ้าเป็นโรงงานเนื้อสัตว์ก็จะมีเล็บหมู กระดูกไก่ ขนวัว เหล่านี้เป็นต้น

กาแฟก็เป็นหนึ่งในโจทย์ดังกล่าว ธุรกิจที่มาขอความช่วยเหลือเป็นใครไปไม่ได้นอกจากสตาร์บัคส์ ร้านกาแฟใหญ่ยักษ์ระดับโลก “เมื่อหลายปีมาแล้ว สตาร์บัคส์มาบอกว่าเห็นผมทำเรื่องขยะมาเยอะ อยากให้ช่วยเอาเศษวัสดุของเขาไปจัดการหน่อย ผมจบจากซีแอตเทิล กินกาแฟสตาร์บัคส์มานาน ก็เหมือนเห็นบริษัทของบ้านเรามาหาเรา”

จากตรงนี้เอง ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์วัสดุสุดสวยจากกากกาแฟใช้แล้ว

กระเบื้องกากกาแฟ

จากกากกาแฟสู่โต๊ะเก้าอี้

“เศษที่ได้รับมามีหลายอย่าง ทั้งซองฟอยล์ มีกล่องนม หลอด แก้วกาแฟ ไม้คน แล้วก็กากกาแฟ” ทางทีม Scrap Lab เริ่มต้นจากโจทย์หน้าตาคุ้นเคยก่อน เช่น กล่องนมและหลอด ใช้เวลาไม่นาน เศษเหล่านี้ก็กลายเป็นสินค้ามากมาย หลังจากนั้น จึงหันมาให้ความสนใจกับหัวใจของร้านกาแฟ และขยะที่มีปริมาณเยอะที่สุดจากร้าน นั่นก็คือกากกาแฟ

“เขาเสิร์ฟกาแฟวันนึงเป็นร้อยๆ แก้ว มีกากกาแฟเหลือเป็นกระสอบๆ ก็ยกมาไว้หน้าคณะพร้อมเขียนชื่อติดไว้ พอเราไปดู ราขึ้นเพียบจนเป็นสีเขียวอื๋อ ต้องทิ้งทั้งถุง เราเลยต้องบอกให้เขาเอาไปตากแดดมาก่อน เขาเลยขนมาอีกถุงนึง แล้วก็ให้เด็กๆ มาช่วยกันกางตากข้างหน้าคณะจนแห้ง พอแห้งแล้วก็เริ่มมาคิดว่าจะทำอะไรดี”

ประจวบเหมาะพอดีกับที่เพิ่งทำหินเทียมจากเศษกระดุมได้สำเร็จ เขาจึงคิดว่าน่าจะทำเช่นเดียวกันกับกากกาแฟได้ แม้ในตอนที่นำไปทดลองจะถูกแย้งว่าหินเทียมเป็นสารเคมีที่ไม่ย่อยสลาย แต่กากกาแฟเป็นอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายได้ ไม่ควรนำมาผสมกัน อาจารย์ก็ยังคงยืนยันทดลอง จนในที่สุดกากกาแฟก็รวมร่างกับส่วนผสมอื่นออกมาเป็นโมเสก กระเบื้อง และหินเทียม ทำให้ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขามีกากกาแฟซ่อนอยู่ทั่วร้าน ไม่ใช่แค่ในแก้วกาแฟเท่านั้น

หากเล่าแค่นี้ก็อาจฟังดูเหมือนทำง่ายคิดไวแล้วก็จบ แต่ในความเป็นจริงแล้วซับซ้อนยาวนานกว่านั้นนัก “พอลองผสมแล้วก็ต้องค่อยๆ กวน กี่รอบต่อนาที ความหนาแน่นเท่าไร อย่างอันนี้กว่าจะออกมาได้ก็ 6 – 7 เดือน ถ้าแบบที่ยังเห็นเค้าเดิมอยู่เยอะก็จะไม่นาน เพราะทำได้เลย แต่ถ้าให้เค้าเดิมไม่อยู่แล้ว ก็ต้องคิดนานทำนาน”

การแปรรูปจนแทบดูไม่ออกว่าทำจากกากกาแฟ ชวนให้คนทั่วไปอย่างเราๆ รู้สึกว่านี่เป็นวิธีช่วยโลกที่ไกลเกินเอื้อม แต่อาจารย์กลับบอกว่า “คนทั่วไปก็ทำได้ ผมก็คนทั่วไปนะ เครื่องมือมันมีอยู่แล้ว เราแค่ต้องคิดว่าจะใช้กระบวนการไหนกับอะไร ส่วนเวลาจะใช้เครื่องมือ ผมก็ต้องวิ่งไปหาตามที่ต่างๆ เหมือนกัน เศษกระจกก็ต้องไปตามโรงงานกระจก เศษไม้ก็ไปกรมป่าไม้ คนเราซื้อเครื่องมือไม่ได้ทุกอันหรอก”

แต่ถ้าไม่มีพลังหรือวัสดุปริมาณมากพอจะลงทุนทำตามอย่างอ.สิงห์ ก็ใช่ว่าจะทำอะไรกับกากกาแฟไม่ได้เลยนะ เพราะอาจารย์เองก็มีร้านกาแฟเล็กๆ ชื่อ Temple House ที่ข้างพระธาตุหริภุญชัยในลำพูน เมื่อมีกากกาแฟเหลือ พนักงานในร้านก็จะเอาไปโรยในสวน เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ “แต่ถ้าขายได้เยอะก็ไม่ค่อยดี เพราะกากกาแฟเป็นไนเตรท โรยไปมากๆ ต้นไม้จะเขียวอย่างเดียว ไม่มีใบ” อาจารย์พูดติดตลก

เก้าอี้

จากอดีตสู่อนาคต

“การทำสินค้าจากเศษวัสดุเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว” อ.สิงห์เล่าความเปลี่ยนแปลงตลอดสิบกว่าปีในวงการให้เราฟัง “แต่ก่อนเป็นเรื่องผิดปกติอย่างแรง คนคิดว่ามาทำอะไรเล่นๆ เอาเงินมาเผาเล่น จะมีคำถามแปลกๆ เช่น มีนางพรายสิงอยู่มั้ย มันจะทนแค่ไหน เป็นคำถามที่คนเดี๋ยวนี้ไม่ถามแล้ว”

“ผมว่าเทรนด์มันมาแล้วนะ ภาพรวมคือมีคนทำเยอะขึ้นจริงๆ บทความเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เยอะกว่าแต่ก่อนจริงๆ พวกบริษัทก็เริ่มมีนโยบายสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ และคนต้องการสินค้ารักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แสดงว่าจริงๆ ทิศทางมันดีขึ้น”

แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อถามว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ อาจารย์กลับตอบทันทีว่า “ไม่ได้เลย เพราะเราผลิตเศษเป็นสิบๆ เท่าของเศษที่เราแก้ เราจะแก้ไม่ได้เลย ตราบใดที่ผู้บริโภคยังใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบนี้ ถ้าครึ่งหนึ่งของคนไทยทำอย่างผมตอนนี้ มันจะแก้ได้ ตอนนี้มันมีแค่หลักร้อย มันไม่ทันหรอก”

แล้วถ้าอย่างนั้น จะยังทำไปทำไมล่ะ? “เพราะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” อาจารย์ตอบ “เราเกิดมาทำลายโลกอยู่แล้ว พื้นฐานเรามาจากความหายนะอยู่แล้ว เราไม่ควรทำอะไรที่เลวร้ายอีก ดังนั้น ต่อให้มันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ก็จะทำ”

“อีกอย่างคือ เรารู้ว่าสักวันนึงจะไม่มีวัสดุเหลือให้เราขุดมาใช้ ถึงวันนั้น ทุกคนก็ต้องเอาของรอบๆ ตัวที่มันเป็นขยะอยู่แล้วมาใช้ ถ้าตอนนั้นค่อยมาเริ่มหาองค์ความรู้ มันไม่ทันแล้ว เลยต้องมีคนที่สร้างองค์ความรู้พื้นฐาน และกระบวนการชัดเจนไว้ให้ก่อน ถ้าเมื่อไรจิตใจพร้อมทำ ก็จะเริ่มได้เลย”

แม้ใครจะมองว่าการนำเศษขยะมาอัพไซเคิล จะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่อาจารย์ก็ยังยืนยันอยู่เช่นเดิมว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย “โรงงานทุกโรงงานไม่อยากทิ้งเศษอยู่แล้ว เขาก็แก้ให้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ก็ยังเหลือเศษอยู่ดี เลยต้องมีคนมาแก้ปลายเหตุให้เขา มันมีหลายรูให้แก้เยอะไปหมด จะกลางเหตุ ปลายเหตุ ต้นเหตุ ใครแก้ตรงไหนได้ต้องรีบแก้ อุดมันทุกรูนั่นแหละ”

สิงห์ อินทรชูโต

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท