19 กุมภาพันธ์ 2018
9 K

ครั้งหนึ่ง Edward N. Lorenz นักอุตุนิยมวิทยาและนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันเคยตั้งข้อสงสัยในทฤษฎี Butterfly Effect ว่า เป็นไปได้ไหมว่าพายุทอร์นาโดที่เท็กซัสอาจก่อตัวมาจากหนึ่ง (ในล้าน) ครั้งที่ผีเสื้อกระพือปีก

เหมือนที่โบราณว่าไว้ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เพราะความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อาจมาจากการกระทำที่มองไม่เห็น

กาแฟหนึ่งหยดจากไร่ของ วัลลภ ปัสนานนท์ อาจกำลังทำสิ่งเดียวกัน

คอกาแฟย่อมทราบดีว่านายกสมาคมกาแฟพิเศษไทยคนนี้คือผู้ขับเคลื่อนวงการกาแฟไทยให้พัฒนาไปสู่ทิศทางของ ‘กาแฟพิเศษ’ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สังคมกาแฟโลกกำลังให้ความสนใจ

แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า จากเมล็ดสู่ปลายลิ้นนั้น กาแฟต้องผ่านการเดินทางมาอย่างไร

ทำไมหนึ่งหยดจากต้นจึงสะเทือนถึงคนปลายน้ำ ที่แม้จะไม่ใช่คนดื่มกาแฟ ก็ยังได้รับผลกระทบจากมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชายคนนี้จะขอเล่าให้คุณฟัง ผ่านน้ำเสียงฉ่ำกาเฟอีนที่เข้มข้นถึงใจ ชวนให้ตื่นจากหลับใหลตั้งแต่ตอนที่จิบแรกยังไม่ทันจะไหลลงคอ

บทสนทนาเจือกาเฟอีนกับ วัลลภ ปัสนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย ว่าด้วยการเดินทางของกาแฟจากต้นและผลกระทบต่อชีวิตที่คนปลายน้ำอาจคาดไม่ถึง

ก่อนหยดแรก จะหยดลง

ในวันที่แดดร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ วัลลภ ปัสนานนท์ กลับนั่งจิบกาแฟดำร้อน (ที่คนเสิร์ฟบอกว่า “กาแฟจากไร่ของอาวัลฯ เองครับ”) อย่างสบายอารมณ์

ผมสีหมอกของเขาเส้นหนามีน้ำหนัก ตัดกับผิวคล้ำกรำแดด หนุ่มใหญ่วัย 60 ปีผู้คร่ำหวอดกับวงการกาแฟไทยมากว่าค่อนชีวิตคนนี้ยังเดินเหินได้อย่างมั่นคงกว่าบุรุษที่อ่อนกว่าเขาครึ่งหนึ่ง เขามาพร้อม ‘เครื่องแบบลุยสวน’ อันประกอบไปด้วยเสื้อขาวเนื้อบางคอปีน โดยมีแจ็กเก็ตสีเขียวขี้ม้าทับไว้ ดูละม้ายคล้ายแจ็กเก็ตที่ทหารในสมัยสงครามเวียดนามใส่ลงพื้นที่ แจ็กเก็ตตัวนี้เนื้อไม่หนา ทอมาจากผ้า fatigue ที่เหมาะอย่างยิ่งกับภูมิภาคที่อากาศร้อนชื้นในตอนกลางวัน และหนาวเย็นอย่างฉับพลันในตอนกลางคืน บ่งบอกให้รู้ว่าถิ่นที่เขาจากมานั้นมีสภาพอากาศเป็นอย่างไร

“บนดอยหนาวมาก ตอนนี้ก็ยังหนาวอยู่” วัลลภกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสไม่หาวนอน ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งบินตรงมาจากเชียงใหม่เมื่อเช้านี้เอง

ดอยที่เขาว่าคือดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่ตั้งของ Nine One Farm (นายวัลฯ ฟาร์ม) ที่ผลิต ‘กาแฟพิเศษ’ คุณภาพคับถ้วย หากคุณคือบุคคลที่นับว่าวันใหม่จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อได้จิบกาแฟแก้วแรกของวัน ย่อมเคยได้ยินชื่อ ‘ซิงเกิลพลัสโฟร์’, ‘ฟรุตตี้ฟลอร่า’, ‘ลานนาพาราไดซ์’ ไปจนถึง ‘ป่าเมี่ยงโอเปีย’ ผ่านหูมาบ้าง

แต่ถ้าไม่คุ้นหูเลยสักนิด ชีวิตของสุภาพบุรุษที่มีกาแฟเป็นพาหนะคนนี้จะทำให้คุณได้รู้ว่า กว่ากาแฟ 1 ถ้วยจะมาถึงมือคนดื่ม (และจิบจนหมดในไม่กี่นาที) นั้นต้องผ่านการเดินทางแรมปีที่หลายคนคาดไม่ถึง

“ผมเกษียณตัวเองตั้งแต่อายุสามสิบกว่าๆ” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทยหันหลังให้ชีวิตในป่าคอนกรีตไปสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ แต่สิ่งที่ทำให้วัลลภต่างจากคนปลูกกาแฟทั่วไปคือ เขาเริ่มปลูกกาแฟเพราะความรักธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะหลงใหลในกาแฟตั้งแต่ต้น

“ยุคนั้นกาแฟยังไม่เป็นที่นิยม คนรู้จักแต่กาแฟตามตลาด โอเลี้ยง โอยัวะ หรือไม่ก็กาแฟสำเร็จรูปเลย” วัลลภกล่าวด้วยรอยยิ้มเจือความหลังในยุคที่กาแฟสดแบรนด์ยักษ์ใหญ่ยังไม่เข้ามาเขย่าให้เกิดวัฒนธรรมคาเฟ่และการดื่มกาแฟสด เขาเล่าต่อว่า หลังจากที่เขาซื้อที่ดินบริเวณ อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งชาวบ้านเจ้าถิ่นได้ปลูก ‘ต้นเมี่ยง’ ไว้เยอะมากจนเป็นป่า เขาจึงตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่า ‘อาชีพอะไรที่พอจะทำได้ในพื้นที่นี้ โดยไม่ไปรบกวนต้นไม้ที่มีอยู่เดิม’

แน่นอนว่า คำตอบคือกาแฟ

“ถ้าเราจะปลูกข้าว มันก็ต้องการพื้นที่โล่ง ซึ่งนั่นอาจนำมาสู่การถางป่า หรือถ้าจะปลูกผลไม้เมืองหนาวก็ต้องถางพื้นที่และทำเป็นสวนเปิด มันไม่สามารถปลูกอยู่ในร่มเงาของพืชอื่นได้ แต่กาแฟอยู่ร่วมกับต้นไม้ต้นอื่นได้ และกาแฟน่าจะเป็นพืชชนิดเดียวที่ต้องการแสงแดดในการดำรงชีวิตแค่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นเท่านั้น มันอยู่ใต้ร่มเงาของพืชชนิดอื่นได้ โดยที่เราไม่ต้องไปตัด หรือไปถางต้นไม้ที่มีอยู่เดิมออกเพื่อเปิดพื้นที่ให้แสงแดดส่องถึง” วัลลภย้อนอธิบายเหตุผล

แม้ชายคนนี้จะเริ่มปลูกกาแฟจาก ‘ความจำเป็น’ ที่ต้องประกอบอาชีพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเดิมไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่วัลลภกลับมีอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้เขาไปไกลกว่าคนที่ทำหน้าที่แค่ ‘ปลูกกาแฟ’ นั่นคือการวิเคราะห์ความเป็นไปของตลาดได้ตรงตามความเป็นจริง

“เราทำไปเรื่อยๆ แล้วถึงรู้ว่าอาชีพเกษตรกรในเมืองไทยนั้นอยู่ยาก” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มจริงจังกับกาแฟ “เพราะไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวสวน หรือชาวไร่ ผลผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาตลาดคนกลาง ซึ่งเกษตรกรไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจและควบคุมไม่ได้ เรารู้สึกเลยว่าถ้าเราแค่ขายเมล็ดกาแฟดิบอย่างเดียว มันอยู่ยาก เพราะสุดท้ายก็เข้าตลาดคนกลางซึ่งอยู่ในธุรกิจสายอุตสาหกรรม ถ้าปีนั้นราคาดีก็พออยู่ได้ แต่ถ้าปีไหนราคาไม่ดี เราก็ต้องแบกภาระความเสี่ยงนั้นไป เลยคิดว่าถ้าเราแปรรูปเอง ขายเอง ทำร้านค้าเอง ทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ จนถึงจุดที่เราสามารถสื่อสารกับลูกค่าได้โดยตรง เราจะได้ตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าและสังคมต้องการได้อย่างตรงจุด และเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าให้กับกาแฟของเราได้มากขึ้น”

ในเมื่อเอาชนะกลไกราคาไม่ได้ ก็สร้างระบบขึ้นมาเองเสียเลย

คอนเซปต์ จากต้นจนจิบ หรือ seed to cup จึงเกิดขึ้นจากตรงนั้นนั่นเอง

นอกจากเป็นเจ้าของ Nine One Coffee แล้ว วัลลภยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย มีหน้าที่สนับสนุนให้ชาวสวนกาแฟหันมาปลูกกาแฟอย่างประณีต เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทยให้ทัดเทียมโลก และสอดคล้องกับวิวัฒนาการของกาแฟที่สังคมกาแฟโลกกำลังให้ความสนใจนั่นคือ ‘กาแฟพิเศษ’

“สิ่งที่สมาคมทำคือผลักดัน คัดเลือก ให้คะแนนกาแฟแต่ละตัวเพื่อเฟ้นหากาแฟพิเศษของไทย ทำให้เกิดภาวะตื่นตัวและการแข่งขันในหมู่คนรักกาแฟ นำไปสู่การพัฒนากาแฟไทยให้ไปอยู่ในจุดที่คอกาแฟระดับโลกยอมรับ” ว่าจบวัลลภพักจิบกาแฟดำอึกใหญ่

แม้จะสวมหมวกหลายใบ และทำงานหนักเกินวัยของคนอายุ 60 ปี แต่ชายตรงหน้ายังยิ้มแย้มแจ่มใส ลมหายใจเจือกลิ่นกาแฟของเขากำลังบอกอย่างชัดเจนว่า การที่คนเรียกเขาว่าเจ้าของไร่กาแฟ หรือนายกสมาคมนั้น ช่างฟังดูมีอำนวจใหญ่โตเสียจนเขาเองยังอดไม่ได้ที่จะอมยิ้มเขินๆ ให้กับตัวเอง เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาพอใจจะให้คนเรียกนั้นฟังดูเรียบง่ายกว่า 2 คำนั้นตั้งเยอะ

“ก็ชาวสวนครับ ผมเป็นชาวสวน” วัลลภตอบด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

อาจฟังดูเรียบง่ายเกินไป แต่ยิ่งใหญ่และหนักแน่นเหลือเกิน

วัลลภ ปัสนานนท์
วัลลภ ปัสนานนท์

ซิงเกิลพลัสโฟร์ ฟรุตตี้ฟลอร่า ป่าเมี่ยงโอเปีย กับการเพิ่มมูลค่ากาแฟพื้นบ้านสู่ระดับสากล

แน่นอนว่ากาแฟไทยนั้นมักถูกมองว่าเป็น ‘มวยรอง’ เมื่อเทียบกับรุ่นใหญ่ที่ไม่ทันได้ออกหมัดก็รู้รสชาติและได้กลิ่นทันทีเมื่อได้ยินชื่ออย่างกาแฟเอธิโอเปีย

วัลลภรู้ดีว่าการจะทำให้กาแฟไทยไปไกลกว่าที่เป็นอยู่นั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การลงเมล็ด เพาะต้นกล้า และดูแลต้นกาแฟอย่างพิถีพิถัน นั่นคือต้องรู้จักเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่นและต้องเรียนรู้การทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมเชื่อว่าการตลาดที่ดีที่สุดคือการทำคุณภาพสินค้าให้ดี” น้ำเสียงหนักแน่นของเขานั้นบ่งบอกเต็มหัวใจว่าของดียังไงก็ขายได้ “ถ้ายิ่งของดี แล้วสื่อสารออกไปดีๆ ก็ยิ่งเติบโตเร็ว แต่ถ้าของไม่ดี ต่อให้สื่อสารออกไปเร็วแค่ไหน ก็ไม่รอดอยู่ดี เพราะฉะนั้น ในมุมผมนอกจากความชัดเจนในคุณภาพของสินค้าแล้ว เราต้องสร้างเอกลักษณ์ สร้างชื่อ สร้างแบรนด์ขึ้นมา เพราะถ้าไม่มีชื่อ มันก็เหมือนไม่มีตัวตนให้คนสัมผัสได้”

จึงไม่น่าแปลกใจที่กาแฟหลายๆ ตัวของ 91 Coffee นั้น นอกจากจะลื่นคอแล้ว ยังมีชื่อลื่นหู จำง่าย และสะท้อนเอกลักษณ์ของกาแฟตัวนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน อย่างซิงเกิลพลัสโฟร์หมายความว่า เป็นกาแฟซิงเกิลออริจินที่บวกเพิ่มอีก 4 เงื่อนไข คือหนึ่ง กาแฟต้องอยู่ในระดับความสูง 1,000 เมตรขึ้นไป สอง เป็นกาแฟออร์แกนิก สาม เป็นกาแฟที่อยู่ใต้ร่มเงา ไม่ใช่กาแฟที่ปลูกในไร่เปิดโล่ง และสี่ เป็นกาแฟที่ใช้พลังงานธรรมชาติหรือพลังงานทดแทนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต อีกตัวที่หอมหวนชวนทานและติดหูไม่แพ้กันคือลานนาพาราไดซ์ ซึ่งวัลลภตั้งใจจะบอกที่มาว่านี่คือกาแฟพันธ์ดีที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของไทยนี่เอง แต่รสชาตินั้นไปไกลเหมือนขึ้นสวรรค์ นั่นคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการสร้าง ‘กาแฟพิเศษ’ ของเขาได้เป็นอย่างดี อีกตัวหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักจิบกาแฟนั่นคือป่าเมี่ยงโอเปีย ซึ่งล้อชื่อกาแฟเอธิโอเปียที่เขาโปรดปราน โดยวัลลภคัดแยกกาแฟสายพันธ์ุดีอย่างพันธ์ุทริปปิก้ามาพัฒนาต่อจนกลายเป็นป่าเมี่ยงโอเปียที่ให้กลิ่นหอมเบอร์รี่ขึ้นจมูก และฝากรสสัมผัสของผลไม้รสเปรี้ยวแฝงความสดชื่นให้คนจิบรู้ว่ากาแฟไทยไม่ใช่มวยรองอีกต่อไปในเวทีโลก

“เพราะถ้าไม่มีชื่อ ก็เหมือนไม่มีตัวตนให้คนสัมผัสได้” ท่ามกลางความเงียบ (ที่มีเสียงจิบกาแฟขั้นเป็นระยะ) ประโยคนี้ของวัลลภลอยมาอีกครั้ง

มันชวนให้ผู้ฟังคิดตามว่าจริงๆ แล้วการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่นนั้นช่างเรียบง่าย และดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีที่หลายคนรู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่ทำ

การตั้งชื่อที่วัลลภทำจึงเป็นมากกว่าการตั้งชื่อให้ฟังดูเก๋ไก๋ แต่มันคือการทำความฝันให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ คือการสร้างตัวตนที่สัมผัสได้ มีบอดี้อ่อนหนา มีรสหนักเบา มีลูกล่อลูกชนพลิ้วไหว ก่อนจะฝากอาฟเตอร์เทสต์เอาไว้ไม่ใช่แค่บนปลายลิ้น

แต่ฝากไว้ที่ใจ ซึ่งต่อให้กินน้ำเปล่าล้างปากสักเท่าไร ก็ไม่มีวันลืม

วัลลภ ปัสนานนท์

ต้นน้ำยั่งยืน ปลายน้ำยืนยง

จากคนปลูกกาแฟที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในป่าเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น กว่า 20 ปีที่ฝากชีวิตไว้กับกาแฟ สู่การเป็นเจ้าของไร่และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย แน่นอนว่าเป้าหมายต่อไปของเขานั้นไม่ใช่แค่การทำกาแฟให้มีคุณภาพดีเท่านั้น เพราะโจทย์ต่อไปที่ท้าทายให้เขาหาคำตอบอยู่นั้นคือ ทำอย่างไรวงการกาแฟไทยจึงจะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

“การที่จะทำให้ยั่งยืนได้คือ ต้องทำให้กาแฟไทยไปอยู่ในกระแสความสนใจของคนดื่มกาแฟ และต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของสังคมกาแฟโลก” วัลลภเล่าอย่างออกรส ก่อนจะแถลงไขว่าวงการนี้กว้างใหญ่แค่ไหน ไม่น่าแปลกใจเลยที่กาแฟจะเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วโลกเป็นอันดับสองรองจากน้ำมัน

“ภาพของธุรกิจกาแฟมีอยู่ 2 ส่วน ถ้าจะเปรียบเทียบธุรกิจกาแฟเหมือนบ้าน กาแฟสายอุตสาหกรรมก็เหมือนเสาหลักที่ค้ำยันบ้านหลังนี้ แต่ตอนนี้มีเสาอีกต้นนึงซึ่งเล็กกว่าละกลุ่มผู้บริโภคยังน้อยอยู่ นั่นคือกาแฟพิเศษ ซึ่งเป็นเสาต้นเล็กๆ ที่มาช่วยค้ำยันบ้านเช่นกัน ผมคิดว่ากาแฟไทยคงต้องอยู่ใน 2 กระแสนี้ กาแฟในสายอุตสาหกรรมก็ยังทิ้งไม่ได้ ใครที่มีพื้นที่หรือมีกำลังผลิตได้เยอะก็จะทำเชิงอุตสาหกรรม เราก็ไม่ควรจะละเลยทิศทางของกาแฟพิเศษซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการใหม่ เพราะฉะนั้น เรื่องกาแฟพิเศษที่สมาคมกาแฟพิเศษไทยกำลังผลักดันจึงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้กาแฟไทยยั่งยืน เพราะมันสอดคล้องกับกระแสสังคมกาแฟโลกที่เปลี่ยนไป อีกปัจจัยที่ทำให้สิ่งนี้ยั่งยืนคือเรื่องออร์แกนิก เพราะมันไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสุขภาพของคนท้องถิ่นที่ทำงานในไร่ด้วย เพราะคนที่ทำงานอยู่ในสวนกาแฟที่ไม่ใช้เคมี กับคนที่อยู่ในสวนผลไม้ที่ใช้เคมีเยอะๆ ก็ย่อมได้รับผลกระทบต่อสุขภาพที่ต่างกัน”

วัลลภพักดื่มน้ำเปล่า ก่อนละเล่าต่อทันทีว่าตอนนี้สังคมกาแฟโลกก็ไม่ได้สนใจแค่เรื่องกาแฟอย่างเดียว แต่ให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ผู้บริโภคในยุคนี้จะสนใจถึงที่มาของทุกผลิตภัณฑ์ ดังนั้น แค่พัฒนากาแฟให้มีคุณภาพระดับสากลนั้นจึงไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะเขามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่า นั่นคือการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำด้วยการปลูกกาแฟ

“เพราะกาแฟทางภาคเหนือส่วนใหญ่ปลูกบนดอย ปลูกที่แหล่งต้นน้ำ” วัลลภเล่าอย่างออกรส “ถ้าแหล่งต้นน้ำไม่แปดเปื้อนก็จะทำให้คนที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ที่ปลายน้ำได้รับผลกระทบน้อยลงไปด้วย แต่ถ้าแหล่งต้นน้ำไม่สะอาด คนที่อยู่บนพื้นราบก็จะได้รับผลกระทบตอนน้ำจากต้นน้ำไหลลงไป และพาสิ่งแปดเปื้อนจากบนดอยลงมา เพราะมันไหลตามลำห้วย ลำธาร ตามลำคลอง ลงเจ้าพระยา ซึ่งมันก็มากระทบถึงคนในเมือง คนที่ไม่ได้กินกาแฟก็ไม่ใช่ว่าจะไม่โดนนะครับ ลองคิดดูว่าคนปลูกข้าวแถวอยุธยา นครสวรรค์ นั้นใช้น้ำจากไหน ส่วนนึงก็ใช้น้ำฝน ส่วนนึงก็ใช้น้ำจากเจ้าพระยา และน้ำเจ้าพระยามาจากไหน ก็มาจากบนดอย ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเอาสารเคมีอะไรลงมาบ้าง ดังนั้น แม้แต่คนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟก็ต้องได้รับผลกระทบจากคนทำกาแฟเช่นกัน มันเป็นมุมที่กว้างมากๆ และกระทบไปทั่วเลย”

สิ่งที่วัลลภเล่ากลับชวนให้เราคิดว่า กาแฟหนึ่งหยดจากต้นน้ำที่เสื่อมโทรมอาจจะเทือนถึงคนปลายน้ำ ไม่ต่างจากที่คนโบราณกล่าวไว้ว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นเกินกว่าที่ตาจะมองเห็น

วัลลภ ปัสนานนท์

“จุดนี้เองที่กาแฟกลายเป็นพระเอกได้” เขาเล่าต่อด้วยน้ำเสียงภูมิใจกว่าทุกครั้ง “เพราะอย่างที่บอกไป มันอยู่ร่วมกับต้นไม้อื่นได้ กาแฟเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ไช่พืชล้มลุก ต่อให้มีต้นไม้ที่ใหญ่กว่า กาแฟก็เติบโตใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ได้ และต้นไม้ขนาดเล็กอย่างพวกวัชพืชที่อยู่คลุมดิน มันก็อยู่ใต้ต้นกาแฟได้ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้น กาแฟจึงเป็นเหมือนพระเอกที่เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจและดูแลสิ่งแวดล้อมไปได้ในตัว”

นอกจากนี้ วัลลภยังยกกรณีศึกษาที่กาแฟได้เข้าไปฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นั่นคือบริเวณดอยช้างที่เคยเสื่อมโทรมเพราะการปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น ตอนหลังชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟจนประสบความสำเร็จในระดับโลก และนำไปสู่การหยุดทำไร่เลื่อนลอย ส่งผลให้ทั้งชุมชนและธรรมชาติตรงนั้นยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้

“ป่าเมี่ยง ถ้าไม่มีกาแฟ ป่านนี้สภาพป่าอาจหายไปแล้วก็ได้” เขาถอนใจเบา แต่เป็นเสียงถอนใจของความโล่งอก “เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านอาศัยรายได้จากการปลูกเมี่ยง ซึ่งเป็นชากินใบ มีต้นใหญ่เหมือนต้นไม้ ปลูกกันเหมือนเป็นป่าเลย

แต่ตอนนี้ คนกินใบเมี่ยงมีน้อยลงเรื่อยๆ เหมือนคนกินหมากที่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้น เมี่ยงก็มีโอกาสที่จะต้องถูกตัดออกหรือเลิกปลูกไปเลย ถ้าเขาปลูกอย่างอื่นเพื่อเลี้ยงปากท้องก็อาจจะต้องตัดต้นไม้เดิมออกเพื่อทำสวน แต่โชคดีที่เมี่ยงกับกาแฟเป็นพืชที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันได้ เพราะฉะนั้น อาณาเขตป่าเมี่ยงจึงยังเขียวอยู่ ยังอุดมสมบูรณ์เหมือนป่าสงวน ป่าอุทยาน เลยด้วยซ้ำ”

การสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย พอดีกับที่กาแฟใกล้หมด

เขาค่อยๆ ละเลียดมัน กลืนช้าๆ เหมือนกำลังบอกเราว่า ถึงแม้ในถ้วยจะเหลือแค่หนึ่งคำสุดท้ายให้ได้จิบเพื่อจบบทสนทนา แต่นั่นยังไม่ใช่จุดท้ายสุดของการเดินทางของเขา

“เพราะสุดท้าย รสชาติต้องมาควบคู่กับสิ่งแวดล้อม” นั่นคือเป้าหมายใหม่ที่ชายวัย 60 ปีเพิ่งกล่าวไปด้วยน้ำเสียงเปี่ยมความหลงใหลในสิ่งที่ทำ “ทำยังไงจึงจะพัฒนารสชาติและต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่เราจะดูแลมันได้ นอกจากนี้ เราพยายามหลีกเลี่ยงสารเคมีเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติ คนทำงาน และคนดื่ม เพราะเราถือว่าผู้บริโภคเป็นคนที่จะค้ำจุนธุรกิจ ทำยังไงก็ได้ให้ผู้บริโภคและธรรมชาติอยู่กับเรานานๆ นั่นแหละคือความยั่งยืนของกาแฟ”

วัลลภจิบกาแฟจนหมดถ้วย ก่อนจะยิ้มเหมือนบอกเป็นนัยว่าการเดินทางสายกาแฟของเขานั้นยังไม่จบ

และจะไม่มีวันจบ

เพราะเขารู้ดีว่ากาเฟอีนในหนึ่งถ้วยกาแฟใบนี้ (หรือใบไหน)

ไม่เพียงทำให้หนึ่งชีวิตตื่นจากหลับใหล

แต่ยังทำให้หลายชีวิตตื่นรู้และมีแรงต่อสู้เพื่อวันใหม่… ไปด้วยกัน

วัลลภ ปัสนานนท์

เรายังมีเรื่องของกาแฟอีกหลายแง่มุมที่อยากเล่า แต่คงเล่าได้ไม่หมดในพื้นที่อันจำกัด จึงอยากชวนผู้อ่านไปสัมผัสและทำความรู้จักกับกาแฟที่งาน Thailand Coffee Fest 2018 เทศกาลขนาดใหญ่งานแรกของ The Cloud ที่รวมเรื่องราวของกาแฟไว้ตั้งแต่ต้นจนจิบ ในวันที่ 8 – 11 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่นี่ (งานนี้ลงทะเบียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายนะ) #SCATH #TheCloud #ThailandCoffeeFest #ThailandCoffeeFest2018

Writer

Avatar

กรกฎ อุ่นพาณิชย์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจและ 2 ช่องทางยูทูบ คือ Outsiders Journal เล่าเรื่องไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม การกินดื่ม และการเดินทางผ่านมุมมองของ ‘คนนอก’ และช่อง Americano Taste เล่าเรื่องแฟชั่นและสไตล์ที่เป็นมากกว่าแค่เสื้อผ้า และจะบอกทุกคนว่า ‘สไตล์คือความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่การเล่นแต่งตัวไปวันๆ’ นอกจากงานเขียน กรกฎยังหัดเย็บสูทเองในเวลาว่าง เพื่อเตรียมทำร้านตัดเสื้อในอนาคต

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ