ไม่ว่าจะสนใจกีฬาสนุกเกอร์หรือไม่ ผมอยากชวนให้นึกภาพตาม

เด็กชายคนหนึ่งอายุ 8 ขวบ หัดเล่นสนุกเกอร์ โดยมีพ่อซึ่งแทงสนุกเกอร์ไม่เป็นคอยให้คำแนะนำ และเรียนรู้กันเองพ่อลูก โดยไม่พึ่งพาโค้ชอาชีพแต่อย่างใด ท่าแทงของเขาถูกคนในวงการล้อกันสนุกปากเนื่องจากประหลาดและแตกต่างจากคนทั่วไป บางคนถึงขั้นดูถูกว่าเด็กคนนี้ไม่มีอนาคตในเส้นทางสนุกเกอร์

เด็กคนที่ว่า ตอนอายุ 10 ขวบ เขาได้ 2 เหรียญเงินจากกีฬาเยาวชนแห่งชาติ

ตอนอายุ 11 ขวบ เขาคว้าแชมป์สนุกเกอร์นักเรียนภาคนครหลวง

ตอนอายุ 12 ขวบ เขาเอาชนะนักสนุกเกอร์มือโปรได้ในการแข่งขัน 6 แดงนานาชาติ

ตอนอายุ 13 ขวบ ได้ 1 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดง กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่จังหวัดกาญจนบุรี

ตอนอายุ 14 ขวบ คว้าแชมป์แสงโสม 6 แดง โอเพ่น

ตอนอายุ 15 ขวบ คว้าแชมป์เยาวชนแห่งประเทศไทยรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี และติดทีมชาติเป็นครั้งแรก

ซึ่งที่ไล่เรียงมานี้เป็นความสำเร็จเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น-หาใช่ทั้งหมด

เด็กคนนั้นชื่อ ซันนี่-อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ ฉายาของเขาคือ ซันนี่ สายล่อฟ้า

ผมรู้จักซันนี่ขณะเขาอายุ 22 ปีผ่านข่าวกีฬาที่ไหลมาในหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก หลังจากที่เขาต่อสู้กับ Ronnie O’Sullivan (รอนนี่ โอซุลลิแวน) นักสอยคิวชาวอังกฤษได้อย่างสูสีในรายการ UK Championship 2017 โดยแพ้ไปฉิวเฉียด 6 ต่อ 5 เฟรม

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวคราววงการสนุกเกอร์อาจไม่รู้ว่า รอนนี่ โอซุลลิแวน คือนักสนุกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง คล้ายเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต เขาคว้าแชมป์มาแล้วนับไม่ถ้วนและเป็นเจ้าของสถิติมากมาย

ไม่ว่าจะมองมุมไหน ทั้งดีกรีและประสบการณ์ ในแมตช์นั้นนักสอยคิวชาวไทยควรพ่ายแพ้อย่างหมดรูป จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สื่อมวลชนจะพากันยกย่องนักสนุกเกอร์ดาวรุ่งผู้นี้ที่ต่อสู้จนเกือบเอาชนะนักสอยคิวเจ้าบ้านอย่างรอนนี่ได้

สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงผลงานบนโต๊ะ หากใครรู้เรื่องราวชีวิตของเขากว่าจะก้าวมาถึงตรงนี้ ย่อมเห็นตรงกันว่าซันนี่ฝ่าฟันอะไรมามากมายเกินวัย

จากนักเรียนโฮมสคูลเขาต่อสู้จนกลายเป็นนักสนุกเกอร์อาชีพ จากแกะดำในวงการสนุกเกอร์ไทยเขาสู้ต่อจนกลายเป็นดาวรุ่งที่วงการสนุกเกอร์โลกยอมรับ

ผม ซันนี่ และคุณพ่อของเขา สรายุธ ส่งเสริมสวัสดิ์ นั่งคุยกันข้างๆ โต๊ะสนุกเกอร์ที่ตั้งอยู่กลางบ้านก่อนจะถึงเวลาซ้อมของเขา และจากการพูดคุยกันผมพบว่าชีวิตของสองพ่อลูกคล้ายเกมสนุกเกอร์ไม่น้อย บางเฟรมชนะสบายๆ ในขณะที่บางเฟรมก็พ่ายแพ้หมดรูปจนเกือบถอดใจยอมแพ้

โชคดีที่สำหรับชีวิต ยังมีเฟรมถัดไปให้แก้มือ

เฟรมที่ 1

ความจริงหลายเรื่องที่เขาและผู้เป็นพ่อช่วยกันเล่าข้างโต๊ะที่ปูด้วยผ้าสักหลาดสีเขียวฟังแล้วสร้างความรู้สึกหลากหลาย

ทั้งประหลาดใจ ประทับใจ ภูมิใจ เศร้าใจ สุขใจ อิ่มใจ ปะปนกันไปครบรสชาติชีวิต

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ซันนี่มีชีวิตที่แตกต่างจากเด็กส่วนใหญ่ตรงที่เขาเลือกเส้นทางการศึกษาแบบโฮมสคูลแทนที่จะเข้าศึกษาในระบบอย่างเด็กคนอื่นๆ

“ตอนแรกผมก็ไปโรงเรียนอยู่อาทิตย์หนึ่งแล้วไม่ชอบ รู้สึกมันวุ่นวายเสียงดัง อีกอย่างเราต้องนั่งเรียนบวกเลขหลักเดียว ซึ่งผมทำได้หมดแล้ว มันก็เลยเกิดอาการเบื่อ ตอนกลางวันไม่ง่วงแต่ก็โดนบังคับให้นอน คนที่ไม่หลับไม่นอนจะโดนตี เราก็แกล้งหลับ ถึงเวลาเราก็แกล้งตื่น พอพ่อถามว่าเป็นยังไงบ้าง ผมก็บอกพ่อ ซึ่งพ่อมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับโรงเรียนอยู่แล้วแต่พ่อไม่ได้บอกว่าอะไร พ่อก็เลยไปศึกษากฎหมาย ตอนนั้นมี พ.ร.บ. การศึกษาปี 2542 ออกมารองรับโฮมสคูลพอดี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากในวงการศึกษาไทย ช่วงนั้นที่บ้านผมทำขนมเค้กขาย เราก็เรียนที่บ้าน แล้วก็ช่วยทำไปด้วย เมื่อก่อนตรงนี้เป็นพวกเตาอบ พวกเครื่องทำขนมปัง” ซันนี่ย้อนเล่า

อย่างที่เขาว่าไว้ พื้นที่ที่มีโต๊ะสนุกเกอร์ตั้งอยู่แต่ก่อนเป็นพื้นที่ของเตาอบและเครื่องทำขนมปัง จนกระทั่งวันที่สนุกเกอร์กลายเป็นเครื่องมือที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในบ้านหลังนี้

ตอน 8 ขวบผมอยากเล่นกีฬา คุณพ่อก็ให้เลือกระหว่างกอล์ฟ สนุกเกอร์ และยิงปืน เพราะคุณพ่อเป็นนักกีฬายิงปืนทีมชาติ เคยได้รองแชมป์เยาวชนเอเชีย แต่ตอนนั้นเราเด็กมาก รู้สึกว่าการยิงปืนมันอันตราย ก็เลยเลือกระหว่างกอล์ฟกับสนุกเกอร์ พ่อก็พาไปดูการแข่งขัน แล้วผมชอบสนุกเกอร์มากกว่า”

บางทีการเริ่มต้นบนเส้นทางยาวไกลมันก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และวันนั้นเขาก็ก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางสนุกเกอร์โดยที่ไม่รู้เลยว่าปลายทางของเส้นทางนี้จะนำพาเขาไปสู่ดินแดนที่ไม่อาจจะจินตนาการได้

“ตอนนั้นเราไม่ได้เริ่มต้นด้วยความคาดหวัง มันเป็นแค่โปรเจกต์หนึ่ง” ผู้เป็นพ่อเล่าลงลึกในรายละเอียดเมื่อแรกเริ่ม “การศึกษาในโรงเรียนจะมีกิจกรรมนอกหลักสูตรใช่ไหม แต่โฮมสคูลคุณสามารถแปลงกิจกรรมนอกหลักสูตรได้ ซึ่งการเล่นสนุกเกอร์ของซันนี่ถือเป็นโครงงานระยะยาว มันไม่เหมือนโครงงานทำแม่เหล็กไฟฟ้า ไอ้นั่นมันทำแป๊บเดียวก็เสร็จ เดี๋ยวก็ต้องหาโครงงานอย่างอื่นอีกใช่มั้ย แต่อันนี้ไม่ใช่

“โครงงานนี้มันสอนทั้งเรื่องการปฏิบัติตัวในสังคม การเรียนรู้กติกาสังคม การอยู่ร่วมกับคนอื่น การแข่งขันกับคนอื่น จะได้รู้ว่าน้ำใจนักกีฬาเป็นยังไง ความรับผิดชอบในการเป็นนักกีฬาเป็นยังไง มันสอนหมดเลยนะ มันรวมอยู่ในนี้หมดแล้วคุณจะเอาอะไร อย่างสถิติเราก็สอนบนโต๊ะได้ แทงลูกน้ำเงินหลุมยาวสิบลูก จดไว้ว่าแทงลงกี่ลูก แล้วก็มาหารดูค่าเฉลี่ย คือพอเราเก็บสถิติอย่างนี้เราจะได้เอาข้อมูลพวกนี้มาประมวลผล ปรับปรุงแก้ไข แล้วเราก็เริ่มวงจรนี้ใหม่ ลองทำ เก็บผล ประมวลผล ทดลองทำใหม่ นี่คือขั้นตอนทางสถิติ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนา

สถิติเขาใช้เพื่อการพัฒนารู้หรือเปล่า” คุณพ่อหัวเราะหลังคำถามชวนคิดต่อบ้านเมืองที่การเก็บสถิติต่างๆ ยังไม่แข็งแรงนัก

“ครั้งแรกเป็นยังไง จับไม้แล้วรู้สึกว่าเกิดมาเพื่อสิ่งนี้เลยไหม” ผมย้อนถามชายตรงหน้าถึงวันแรกที่จับไม้คิว

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ครั้งแรกในชีวิต ผมจับลูกมาตั้ง แทงลูกน้ำเงินหลุมกลาง

“แล้วแทงทีแรกก็ลงเลย

เฟรมที่ 2

หนึ่งในเรื่องที่น่าประหลาดใจที่สุดสำหรับผมคือการที่ซันนี่หัดแทงสนุกเกอร์กับผู้เป็นพ่อซึ่งไม่ได้มีวิชาสนุกเกอร์ใดๆ ติดตัว แทนที่จะจ้างโค้ชมากประสบการณ์มาปูพื้นฐาน

เรียนรู้ไปพร้อมกัน-พ่อของนักสนุกเกอร์หนุ่มว่าอย่างนั้น

“เนื่องจากผมมีความรู้พื้นฐานด้านฟิสิกส์ ด้านคณิตศาสตร์ ผมเป็นคนคิดง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องวิธีการแทง ผมคิดว่า เฮ้ย ทำไมถึงแทงลง” ผู้เป็นพ่อเล่าเมื่อผมถามถึงวิธีการสอน “ผมก็มาคิดว่าจะแทงยังไง แล้วก็บอกว่า ลูกลองทำซิ ทำตามที่พ่อบอกนะ ก็คือพ่อลูกเล่นด้วยกัน เด็กๆ เขาก็ยังไม่รู้หรอกว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น แล้วมันจะดีหรือไม่ดี แต่เขาทำ ไอ้เราก็ต้องมาประมวลผล เรื่องระบบเหลี่ยมในการแทง

“คุณเคยแทงมั้ยล่ะ วันนี้เราแทงตรงนี้แล้วลง พออีกวันหนึ่ง หรืออีกชั่วโมง พอไม่ใช่ตรงนั้นแล้วกลับแทงไม่ลงแล้ว แทงหนาไปหรือบางไป แล้วสุดท้ายเราจะเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน แล้วเรื่องเหลี่ยมมันเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงหรือมันควรจะไม่เปลี่ยนแปลง เราก็ต้องคิด”

“คือเอาวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์มาใช้” ผมถามทวนตามที่เข้าใจ

“อ้าว ก็มันไม่มีทางอื่น เราก็ต้องเอาสิ่งที่เราเรียนรู้ในอดีตมาเป็นรากฐานในการสร้างแนวความคิดของเรา ผมเรียนรู้ใหม่หมดเลย ผมไม่ได้ไปทางที่คนอื่นเขาใช้กัน เพราะว่าอะไรรู้มั้ย” ว่าถึงตรงนี้ผู้เป็นพ่อนิ่งเงียบให้ผมคิดตาม ก่อนจะพูดต่อ

“ผมดูว่า 20 ปีที่ผ่านมามีใครเก่งกว่า ต๋อง ศิษย์ฉ่อย มั้ย เฮ้ย นอกจากจะไม่มีใครเก่งกว่าคุณต๋องแล้ว คนที่เก่งแก่ๆ ทั้งนั้นเลยว่ะ ผมรู้แล้ว แสดงว่าเทคนิคการเรียนรู้วิธีการแทงสนุกเกอร์ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้เด็กรุ่นใหม่แซงหน้าคุณต๋องหรือแม้แต่แซงหน้า รมย์ สุรินทร์ ได้ คิดดูแล้วกัน แล้วมันจะเหลืออะไร คิดง่ายๆ เลย ถ้าเราไปฝึกตามคนอื่น เราก็อยู่กลุ่มข้างหลังเขา”

เมื่อคิดได้อย่างนั้นพ่อลูกจึงออกแบบวิธีการซ้อมและรูปแบบการแทงด้วยตัวเอง

“เราก็พยายามดูว่าคนเก่งๆ เขาแทงยังไง แต่ในชีวิตจริงมันไม่มีใครบอกคุณหรอกว่ากูเก่งขึ้นมาเพราะกูซ้อมแบบนี้ ตอนนั้นมีคนชื่อ PJ Nolan เขาทำโปรแกรมการซ้อมนักกีฬาขึ้นมาลงเว็บไซต์ เพื่อดึงดูดให้คนไปซ้อมกับเขา เราก็ไปดึงวิธีมาเลย นอกนั้นก็ออกแบบเองบ้าง อ่อนจุดไหนเราก็ออกแบบเอง แบบฝึกแต่ละอันมันก็จะมีจุดประสงค์ในการซ้อม”

ไม่แปลกที่ในวงการสนุกเกอร์ไทยซันนี่จะเป็นคล้ายตัวประหลาด หรือจะว่าเป็นแกะดำก็ไม่ผิดนัก หลายคนอาจไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งตอน 9 ขวบซันนี่เคยเข้าไปยังศูนย์ฝึกสนุกเกอร์ที่รายล้อมด้วยนักกีฬารุ่นพี่ โดยการแนะนำของผู้ใหญ่ในวงการสนุกเกอร์ที่เห็นแววของเขา แต่ก็อยู่ได้เพียง 5 เดือน

“ตอนนั้นเขาประเมินเลยว่าซันนี่ไม่มีอนาคต” ชายผู้เป็นพ่อเล่าถึงความอึดอัดในช่วงเวลานั้น โชคดีอย่างหนึ่งของกีฬาคือมันวัดผลกันได้ผ่านการแข่งขัน ไม่ใช่วัดกันด้วยถ้อยคำของใครคนใดคนหนึ่ง

“ตอนนั้นฟังแล้วท้อมั้ย” ผมถาม ก่อนที่ผู้เป็นพ่อจะชิงตอบ

จะไปท้อทำไม ถ้าชีวิตคุณมัวไปท้อกับคำพูดของคนอื่นก็ตายแล้ว”

เฟรมที่ 3

ตลอดชีวิตของซันนี่เผชิญคำสบประมาทและคำถากถางมานับไม่ถ้วน แต่เขาก็ใช้ผลงานบนโต๊ะปิดปากทุกเสียงได้เสมอๆ

ถ้วยรางวัลในไทยเขากวาดมาแล้วเกือบทุกรายการที่ลงแข่ง-จะเอาอะไรอีก

หนึ่งในสิ่งที่เขาโดนวิจารณ์มากที่สุดคือวิธีการแทงที่ผิดหลักการที่คนทั่วไปว่าถูกต้อง แม้กระทั่งทุกวันนี้เขาก็ยังคงโดนคนเข้ามาคอมเมนต์ต่อว่ากันอย่างสนุกปาก

“มีอะไรที่คุณทำแล้วคนบอกว่ามันผิดบ้าง” ผมถามให้เขาแจกแจง

“ท่ายืน มันไม่ตรงในตำราเลย” ซันนี่ตอบสิ่งที่เขาโดนโจมตีมากที่สุด

“ทั้งหมด ทุกอย่าง” คุณพ่อเสริม “ขนาด Joe Johnson (โจ จอห์นสัน) ที่เป็นคอมเมนเตเตอร์เห็นซันนี่แทงยังบ่นออกทีวีเลยนะ เขานั่งคู่อยู่กับ John Parrott (จอห์น แพร์ร็อตต์) ซึ่งทั้งสองคนนี้เคยเป็นแชมป์โลกทั้งคู่ ตอนนั้นซันนี่กำลังแทงเข้าเบรก เกินร้อยแต้มแล้ว โจบอกว่ายังไงคนที่สอนเด็กคนนี้คงไม่สอนให้แทงแบบนี้หรอก มันตลก คือเขาว่าเรา ทีนี้คนพากย์อีกคนก็เงียบ แล้วสักพักก็พูดว่า แต่เด็กคนนี้เขากำลังจะชนะรอนนี่ โอซุลลิแวน นะ เขาคงไม่สนใจหรอกว่าจะยืนยังไง ขอให้เขาแทงชนะก็แล้วกัน คือเหมือนเขาเถียงกันเอง”

“แล้วเวลาได้ยินคนวิจารณ์ท่าทางการแทง เคยคิดไหมว่าต้องปรับให้ถูกต้องตามที่เขาว่า” ผมถามในสิ่งที่สงสัย

“ไม่ครับ ก็ผมใช้แล้วมันได้ผลน่ะ” ซันนี่ตอบทันที

“จะบอกให้ว่าเราไม่ได้ตั้งเป้ากับการยืนสวย หรือการยืนให้ถูกต้อง คือคุณไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะต้องยืนท่าเดิมทุกครั้ง ถูกไหม แต่มันต้องยืนถนัดเท่านั้นเอง ไม่ปวดขา ไม่ปวดหลัง และลง” พ่อของซันนี่เน้นที่คำท้าย

“ในโลกนี้มีอีกคนที่ทุกคนบอกผิดคือ John McEnroe (จอห์น แมคเอนโร) เขาโดนมากที่สุดเลย คนบอกว่ามึงต้องเป็นโรคปวดหลังแน่ๆ ถ้ามึงเสิร์ฟท่านี้ แต่โอ้โห เขาเสิร์ฟเก่งฉิบหาย

“หรือในยุคของผมมีนักเทนนิสคนนึงชื่อ Björn Borg (บียอร์น บอร์ก) สมัยนั้นมีตำราออกมาเลย วิจารณ์หมดเลยว่าเขาผิดทุกอย่าง การจับไม้ การตี วงสวิง แต่หลังจากที่คนวิจารณ์ว่าเขาผิด ไอ้นี่เป็นแชมป์วิมเบิลดัน 7 สมัย คือเขามีวิธีในการตีที่ล้ำหน้ากว่าคนยุคนั้น ตรงนี้คือสิ่งที่เราบอกว่าถ้าอย่างนั้น ในเมื่อเราเรียนรู้ร่วมกัน เราก็จะทำอะไรที่มันมากกว่า โดยหวังว่าถ้าไม่ดีมันก็เละไปเลย

“ลองดู ชีวิตหนึ่งน่ะ ใช่ไหม” ชายผู้เป็นพ่อและโค้ชทิ้งคำถามโดยไม่ต้องการคำตอบจากผม

เฟรมที่ 4

หนึ่งในรายการที่เปลี่ยนชีวิตซันนี่มากที่สุดคือการแข่งขันสนุกเกอร์เยาวชนชิงแชมป์เอเชียที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี 2015

ผู้คว้าแชมป์รายการนี้จะได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพโลก ซึ่งปัจจุบันหากไม่นับซันนี่ มีนักสอยคิวชาวไทยเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้สิทธิ์ในการแข่งขันสนุกเกอร์ระดับอาชีพ

“ซันนี่ถูกส่งไปตาย” พ่อของเขาว่าอย่างนั้นเมื่อพูดถึงการแข่งขันในครั้งนั้น “คือจีนเขาเป็นเจ้าภาพ นักกีฬาของเขาได้แทงบนโต๊ะที่เขาซ้อมมา แล้วถามว่าจีนไม่อยากได้แชมป์ตรงนี้เหรอ เขาจะยอมให้เราเปิดเพลงชาติไทยเหรอ”

นักสอยคิวหนุ่มเล่าว่าในขณะที่ชาติอื่นส่งนักกีฬาเข้าร่วมได้เพียง 2 – 3 คน แต่จีนส่งนักสนุกเกอร์เข้าแข่งขันถึง 10 คน ซึ่ง 3 ใน 10 คือสุดยอดดาวรุ่งที่ดีที่สุดของประเทศ

“บนผนังเขาติดรูป 3 คนนี้ ขนาดใหญ่เท่าตัวคน” ซันนี่เล่าให้เห็นภาพ

สุดท้ายนักสอยคิวทีมชาติไทยผู้นี้สามารถฝ่าฟันเข้ารอบชิงชนะเลิศไปพบกับ Yuan Sijun นักสอยคิวที่อยู่ในรูปขนาดเท่าตัวคนที่่เขาเล่า

เหมือนอะไรจะไม่เป็นใจเมื่อ 4 เฟรมแรกซันนี่แพ้รวด ซึ่งตามกฎการแข่งขัน หากใครชนะ 6 ใน 11 เฟรมก่อนจะเป็นผู้คว้าชัยไปครอง ถึงตอนนั้นกองเชียร์ต่างถอดใจเพราะมองมุมใดนักสนุกเกอร์ชาวไทยก็กลับมายาก เล่นที่บ้านเขาเมืองเขา กองเชียร์ก็กองเชียร์เขา แต่คล้ายซันนี่เกิดมาเพื่อสร้างเรื่องไม่ธรรมดาให้เกิดขึ้น เมื่อหลังจากนั้นนักสอยคิวชาวไทยชนะรวด 6 เฟรม คว้าตั๋วไปลุยเวทีสนุกเกอร์อาชีพโลกกลับบ้านได้สำเร็จ

แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เมื่อเขาพบว่าคุณสมบัติตัวเองไม่เข้าข่ายนักกีฬาที่สมาคมบิลเลียดแห่งประเทศไทยจะสนับสนุนงบในการเดินทางไปแข่งขันอาชีพโลก ไม่ต้องพูดถึงสปอนเซอร์สนับสนุนใดๆ เพราะเขาลุยกันมาเพียงสองคนพ่อลูก

เมื่อไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินและจ่ายค่าที่พัก ความฝันในการบินไปอังกฤษเพื่อเข้าแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกจึงเป็นหมัน

“มันเหมือนเราอยู่ฝั่งนี้แล้วเห็นฝั่งข้างหน้า แต่สะพานมันขาด” ซันนี่เปรียบเปรยช่วงเวลาที่เกือบทำให้เขาเลิกเล่นสนุกเกอร์

“ตอนนั้นผมขับรถอยู่ ก็สงสัยว่าลูกเบื่อเหรอ ลูกเป็นอะไร ทำไมดูไม่กระตือรือร้น แล้วซันนี่ก็ร้องไห้ ผมตกใจเลย แล้วเขาพูดว่าอะไรรู้ไหม เขาบอกว่า เขานึกว่าพอได้แชมป์แล้วพ่อแม่จะได้สบายสักที ผมได้ยินแล้วผมร้องไห้เลย นี่คือจิตใจของลูกเราจริงๆ แล้วตรงนั้นทำให้ผมฮึด คิดหาทางที่จะดึงเขาขึ้นมาจากหลุมนี้

“มันฆ่าเรา แต่เราไม่ตาย” ไม่แน่ใจว่าประโยคนี้คุณพ่อตั้งใจบอกใครบางคนหรือสื่อสารกับโชคชะตา

“ถามว่าตอนนั้นเราเฟลแล้วทำยังไง ผมก็ตั้งโปรแกรมเลย ให้ความหวัง ถามเขาว่ายังอยากเล่นอยู่มั้ย ซึ่งเขาก็ไม่ค่อยอยากเท่าไหร่แล้วล่ะ แต่ผมก็บอกว่าจะเลิกก็ได้ แต่ลูกผ่านมาขนาดนี้แล้ว ลูกต้องไปชิงแชมป์โลกเว้ย ไม่รู้ ลูกได้สิทธิ์แล้ว จะปล่อยมันไปอย่างนี้ได้ยังไง คุณต้องไปเล่นที่นั่น ที่เชฟฟิลด์

“ไม่รู้แหละ เชฟฟิลด์อยู่ตรงไหน แต่เราจะไป”

เฟรมที่ 5

คุณต้องชนะการแข่งขันดิวิชั่น 1 ให้ได้ 2 รายการ เพื่อให้ได้เงิน 3 แสนบาท” พ่อของนักสนุกเกอร์ตรงหน้าพูดถึงแผนการที่จะหาเงินบินไปแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกที่อังกฤษ

สุดท้ายซันนี่ก็ขึ้นจากหลุมได้จริงๆ เมื่อสามารถคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ในประเทศมาครองได้ 2 รายการตามที่พ่อวางไว้ แถมด้วยเงินรางวัลพิเศษอีก 3 หมื่นบาทจากการทำเบรกสูงสุดของการแข่งขัน

“ตอนได้เงินมาแม่ของซันนี่ก็ถามว่า จะให้ลูกออกไปอีกเหรอ ที่เขาถามเพราะตอนนั้นที่บ้านก็ต้องการใช้เงิน ถ้าไปคือเงินก้อนนี้ละลายหายไปแน่นอน เพราะคุณไปแข่งชิงแชมป์โลกครั้งแรก คุณยังไม่มีประสบการณ์อะไรเลย แล้วถ้าตกรอบแรกไม่ได้เงินรางวัลอะไรเลยนะ เท่ากับเงิน 3 แสนคือหมดเลย” คุณพ่อเล่าถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

“แล้วทำไมยอมเสียเงิน 3 แสน” ผมสงสัย

“ก็ตอนนั้นคิดว่าลูกเราคงเลิกเล่นสนุกเกอร์แหงอยู่แล้ว อย่างน้อยเราก็จะได้พูดได้ว่าครั้งหนึ่งกูไปมาแล้วนะ มันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่คุณต้องทำ คุณเล่นมาสิบกว่าปีเพื่ออะไร เพื่อที่จะไปเล่นในรายการชิงแชมป์โลกครั้งหนึ่งไง ตกรอบแรกก็ไป ไม่รู้ล่ะ” ท้ายคำตอบผมเห็นรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าผู้เป็นพ่อ

จริงอย่างที่พ่อซันนี่ว่าไว้ เมื่อสุดท้ายเขาตกรอบแรกสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก โดยแพ้รุ่นพี่ร่วมชาติอย่าง เอฟ นครนายก ไปอย่างสูสี 10 ต่อ 9 เฟรม แต่ที่ไม่เหมือนที่พ่อเขาว่าคือซันนี่ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่าแต่อย่างใด

แม้เขาจะไม่ได้เงินรางวัล แต่วันนั้นเขาได้พบกับชายปริศนา ผู้ที่คล้ายว่าฟ้าส่งมาให้ต่ออายุซันนี่บนเวทีสนุกเกอร์โลก

“ตอนจะกลับปรากฏว่ามีคนอินเดียคนหนึ่งมาถามว่าไปแข่งรอบคัดเลือกที่เปรสตันไหม เพราะที่นั่นกำลังจะมีแข่งรอบคัดเลือก 3 รายการคือ Indian Open ที่อินเดีย Riga Masters ที่ลัตเวีย แล้วก็ World Open ที่จีน เราก็บอกเขาว่าไม่ไปหรอก แล้วผมก็เล่าเรื่องของเราให้เขาฟัง พอเขารู้ว่าเรามีปัญหาทางการเงิน เขาก็บอกว่าไปเถอะ เดี๋ยวไอออกเงินให้ ทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม ให้ลูกได้สัมผัสเกม ครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเขาเองก็มีลูกเล่นสนุกเกอร์เหมือนกัน”

แปลกดี บางเรื่องราวที่เขาเล่าทำให้ผมรู้สึกว่ามนุษย์ช่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจ ในขณะที่บางเรื่องเล่ากลับทำให้ผมรู้สึกว่ามนุษย์ช่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่งดงาม

จากการแข่งขันรอบคัดเลือก 3 รายการนั้น ซันนี่สามารถคว้าสิทธิ์ไปแข่งขัน Indian Open ได้สำเร็จ และเป็นเวทีนี้เองที่วงการสนุกเกอร์โลกเริ่มมองเห็นความสามารถของเด็กหนุ่มวัยเพียง 21 ปีเมื่อเขาสามารถทะลุเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้าย โดยในรอบ 2 เขาเอาชนะ Mark Davis (มาร์ก เดวิส) นักสนุกเกอร์ชื่อดังไปได้ 4 ต่อ 2 เฟรม

“ตอนเดินออกมาจากสนามทุกคนก็ให้กำลังใจ” ซันนี่เล่าถึงบรรยากาศวันที่เขาตกรอบ 8 คนสุดท้าย “Anthony McGill (แอนโทนี่ แมคกิลล์) นักสนุกเกอร์ชาวสกอตแลนด์ เขารู้ว่าผมจะเลิก เพราะเราบอกว่ารายการสุดท้ายแล้ว ไม่มีเงิน

“เขาเดินมาบอกว่า ยูอย่าเลิกนะ ยูเป็นนักสนุกเกอร์ระดับอายุเท่านี้ที่ดีที่สุดของโลกแล้ว”

เฟรมที่ 6

สุดท้ายเขาก็ไม่ได้เลิกแทงสนุกเกอร์แต่อย่างใด

ตรงกันข้าม กลับไปไกลกว่าเดิมเมื่อผู้เป็นพ่อตัดสินใจเอาบ้านไปจำนอง เพื่อนำเงินมาเป็นทุนตั้งต้นในการพาลูกชายเดินสายแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพ

ซึ่งการแข่งขันที่คล้ายเป็นการป่าวประกาศกับชาวโลกว่า ฉันคือของจริง ก็คือแมตช์ที่นักสอยคิววัย 22 พบกับ รอนนี่ โอซุลลิแวน ในการแข่งขัน UK Championship ซึ่งถือเป็นการแข่งขันสนุกเกอร์รายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

อย่างที่ว่าไว้ตั้งแต่ต้น มองมุมใดก็ไม่มีใครกล้าคิดว่าซันนี่จะเอาชนะรอนนี่ได้ เพราะดีกรีของทั้งสองแตกต่างกันเกินไป พูดก็พูดเถอะ ตอนที่รอนนี่เข้าสู่การแข่งขันระดับอาชีพครั้งแรกซันนี่ยังไม่ลืมตาดูโลกเลยด้วยซ้ำ

แต่ภาพที่ปรากฏผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วอังกฤษและทั่วโลกผ่านช่อง BBC และ Eurosport เมื่อเริ่มการแข่งขันคือ นักสนุกเกอร์ชาวไทยออกนำรอนนี่ 2 ต่อ 0 เฟรม และต่อสู้ได้อย่างไม่เกรงกลัวศักดิ์ศรีของคู่ต่อสู้ผู้เป็นตำนานแต่อย่างใด ก่อนจะแพ้ไปอย่างฉิวเฉียด 6 ต่อ 5 เฟรม

เป็นความพ่ายแพ้ที่น่าเสียดาย แต่ไม่มีอะไรให้เสียใจ ตรงกันข้ามนี่เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมากๆ ด้วยซ้ำ

ในชีวิตคนเราจะมีสักกี่ครั้งกันที่มีโอกาสภูมิใจกับความพ่ายแพ้

“วันนั้นนักข่าวทุกคนเดินมาจับมือผม แล้วก็บอกว่าสิ่งที่ซันนี่ทำในคืนนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้เห็นมาหลายปีแล้ว และหวังว่าแมตช์ที่รอนนี่เจอกับซันนี่จะได้รับเลือกให้เป็น match of the year” คุณพ่อเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

ตราบใดที่ไม่มีใครล่วงรู้อนาคต คงไม่มีใครบอกได้ว่านับจากวันนี้ชีวิตของซันนี่จะพบเจออะไรบ้าง จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งหมด ตัวอย่างของรุ่นพี่ในวงการสนุกเกอร์มีให้เห็นมากมาย แต่เชื่อเถอะว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะตราตรึงอยู่ในใจเขาและเป็นแหล่งพลังงานยามก้าวไปบนเส้นทางเขาที่เลือกเดิน

“บรรยากาศวันนั้นมันวิเศษมาก ยิ่งใหญ่มาก” ซันนี่ย้อนเล่าเหตุการณ์สำคัญในชีวิต “พอแข่งเสร็จรอนนี่เขาก็เก็บของเดินออกไป ซึ่งปกติคนดูก็จะเดินออกตาม แต่วันนั้นคนยังนั่งกันอยู่เต็มฮอลล์ คนดูเหล่านี้เขาต้องรอบัตรคิว 3 ชั่วโมงกว่าเพื่อจะเข้ามาดูรอนนี่แข่ง ซึ่งตอนนั้นผมก้มลงไปเก็บของอยู่

“พอตอนผมลุกขึ้นมา คนดูในนั้นก็ยืนขึ้นปรบมือ standing ovation”

แม้วันนั้นเขาจะพบกับความพ่ายแพ้ แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่าเขาเดินออกจากสนามแข่งขันอย่างผู้ชนะ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล