เสื่อกกสีสันฉูดฉาด ลายไทยบนล่างล้อมเต็มผืนเสื่อ สวยงามแต่ขาดเอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่ชวนตั้งคำถามว่าเสื่อไทยไปไกลกว่าการเป็นเสื่อปูนั่ง ปูนอนได้หรือไม่ แต่คนที่จะตอบคำถามเราได้ดี คงเป็นคนที่เห็นปัญหาแล้วพัฒนาจนพิสูจน์ได้ว่าเสื่อกกไทยไปไกลถึงเสื่อโลกได้! แถมไม่ได้เป็นแค่เสื่อ แต่เป็นกระเป๋า เป็นโฮมแวร์และสารพัดของกุ๊กกิ๊ก

อุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ, Thorr

อุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ สาวอำนาจเจริญเจ้าของ Thorr แบรนด์ของตกแต่งบ้านร่วมสมัยพ่วงสินค้าแฟชั่น ที่หยิบจับปัญหาของหัตถกรรมไทยที่เธอเห็นจนชินตาอย่าง ‘เสื่อกก’ มาแต่งนิด เสริมหน่อย ให้โดดเด้งโดนใจคนรุ่นใหม่ โดยเธอไม่ได้ใส่แค่ความตั้งใจเต็มเปี่ยมลงไป แต่ยังใช้ความสามารถและประสบการณ์จากการทำงานด้านการออกแบบและการทำการตลาดมาทำให้สิ่งที่เธอคิดและฝันกลายเป็นจริง สร้างมูลค่าให้หัตถกรรมพื้นบ้านมากกว่าสิ่งที่มันเคยเป็น

และกำไรของเธอเป็นการให้โอกาสชาวบ้านในชุมชนและจังหวัดข้างเคียงในภาคอีสานมีรายได้มั่นคงและยั่งยืน เธอเติมพลังให้หญิงสาวชาวอีสานได้มีตัวตนในครอบครัวด้วยการสร้างงาน ให้ลูก ให้หลานได้ภูมิใจกับการเป็นเด็กต่างจังหวัด ภูมิใจกับต้นทุนชีวิต ที่มีทั้งมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ ใช่ เธอกำลังพัฒนางานควบคู่ไปกับการพัฒนาคน ยาก ท้าทาย เต็มไปด้วยปัญหา แต่เชื่อเถอะว่า สิ่งเหล่านั้นจะทำให้คนและงานเติบโตไปพร้อมกันอย่างงดงาม

ชักอยากจะรู้ว่าเธอใช้กลยุทธ์ใดพิชิตหัวใจสายคราฟต์ให้อยู่หมัด ปูเสื่อกกเบลนด์สีคราม แล้วฟังพร้อมกัน

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

คนบ้านเดียวกันที่มองเห็นปัญหาคนบ้านเดียวกัน

“เราทำ Thorr เหมือนเรากำลัง Reflect ความเป็นตัวเรา” 

อิ๋งเป็นสาวอำนาจเจริญ เธอถูกหล่อหลอมมาด้วยศิลปะ วัฒนธรรม และความงามจากแดนอีสาน 

Thorr เลยเป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นจากการกลับไปหารากของตัวเองด้วย ‘หัตถกรรมจักสานเสื่อกก’ 

สิ่งที่เธอมองเห็นไม่ใช่ลำแสงเจิดจ้าว่าเสื่อกกได้ไปต่อ แต่เธอกลับมองเห็นปัญหาของการไม่ได้ไปต่อ แล้วเลือกจะพัฒนา ‘ราก’ ของเธอ ให้แข็งแรง ด้วยประสบการณ์ ความสามารถ และมุมมองทันสมัย เพื่อพี่น้องและของดีของภาคอีสาน

“เราเห็นเสื่อที่ชาวบ้านทอมีแต่ลายซ้ำกัน ไม่มีอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ แทบดูไม่ออกว่าเสื่อผืนนี้มาจากร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ด้วยความสงสัยเลยเสิร์ชดูว่าชาวบ้านทอลายกันยังไง ไปเจออุปกรณ์ทอเสื่อจากท่อพีวีซีที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ท่อหนึ่งเซ็ตจะทอได้หนึ่งลาย เราเลยเข้าใจทันทีว่า ลายไม่ได้กำหนดด้วยวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ แต่ถูกกำหนดด้วยคนผลิตเครื่องมือ ทำให้เรากลับมาคิดว่า ‘เราจะทำยังไงให้เสื่อกกน่าใช้กว่านี้’ 

“เพราะเสื่อกกถูกจำกัดให้เป็นแค่เสื่อปูนั่งกินข้าว เราก็คิดต่อว่าเพราะอะไรคนถึงมองแบบนั้น ถ้ามองแบบฉาบฉวยคงเป็นเรื่องสีและการดีไซน์ สอง คุณภาพการผลิต ชนิดของต้นกก ความคงทนถาวร สาม ช่องทางจำหน่าย นั่นเป็นปัญหาหลักที่ทำไมเสื่อกกถึงขายในกลุ่มคนรุ่นใหม่และ Luxury ไม่ได้” อิ๋งเฉลยปัญหาว่าทำไมเสื่อกกไม่ได้ไปต่อ

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ
Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

คนขายเสื่อที่เคยเป็น Designer, Creative, Art Director และ Sale

ปัจจุบันอิ๋งเป็น Product Manager เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลตลาดใหม่ บุกเบิก ผลักดัน และสร้างความต้องการในตลาด ถ้าหากย้อนกลับไป เธอเรียบจบสาขาออกแบบ จะว่าไปก็กลมกล่อมในตัวเธอเอง แถมเป็นข้อดีเสียอีกที่จะได้หยิบยกประสบการณ์จากทั้งสองสายงานมาพัฒนาของดีชุมชนให้ดังไกลระดับนานาประเทศ กกไทยจะไปกกโลก!

“ตอนเรียนออกแบบเราถูกฝึกเรื่องวิธีการคิด ทุกอย่างต้องมีปัญหาก่อน มันถึงจะเกิดอีกสิ่งหนึ่ง ปัญหาอาจไม่ได้นำไปสู่ดีไซน์ที่สวยงามอย่างเดียวก็ได้ แต่ปัญหาในที่นี้คือปัญหาในการทำการตลาด ปัญหาในการผลิต ปัญหาในการปลูก และถ้ามองเห็นปัญหา เราจะรู้ว่าต้องทำยังไงต่อ และเราอาจได้เปรียบตรงที่เคยปั้นสินค้าบางอย่างให้ขายได้มาแล้ว

“เราเลยเป็นเหมือนนักการตลาดที่เป็นดีไซเนอร์ พอจะรู้บ้างว่าของดีอย่างเดียวหรือสวยอย่างเดียวไม่มีทางขายได้ มันต้องการการตลาดที่ดีด้วย และคนนั้นต้องเป็นคนบ้าบิ่นประมาณหนึ่งที่จะทำมาร์เก็ตติ้งกับของง่ายๆ

“เราไม่มั่นใจว่าเราจะเป็นนักออกแบบที่เก่ง แต่เรามั่นใจว่าเราเป็นเซลล์และนักการตลาดที่ดี” เธอมองขาด!

คนอื่นมองว่าอิ๋งกำลังขายเสื่อ สำหรับเธอ เสื่อเป็นแค่แมททีเรียล เธอกำลังขายเทคนิคและเรื่องราวต่างหาก

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ
Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

ทุกปัญหาย่อมมีทางออก 1

อิ๋งเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยการลงพื้นที่ ชักชวนแม่ช่างทอขนเสื่อมาดูด้วยกัน มีทั้งหมดกี่ผืน มีทั้งหมดกี่ลาย ระหว่างดูไปดูมา เธอชอบบางอย่างแค่ในบางอย่างเท่านั้น เพราะของเดิมลายค่อนข้างซับซ้อน สวยแต่เยอะ เธอเปรียบอย่างเห็นภาพให้เราฟังว่า เวลานึกถึงใครสักคน คนคนนั้นต้องมีบุคลิก แบรนด์ก็เช่นเดียวกัน บุคลิกจะทำให้คนจดจำเราได้

“เสื่อกกของเราต้องเป็นของบ้านๆ ที่ดูถ่อมตัว แต่มีรสนิยม มีความวูบวาบ ฉาบฉวย แต่ไม่ถึงกับ Aggressive และไม่ต้องดูเหนือกว่าคนอื่นตลอดเวลา ไม่ต้องดูฟุ่มเฟือยตลอดเวลา มันดูดีได้ในความพอดีและชัดเจนในจุดยืนของเรา”

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ
Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

Thorr เลยตั้งจุดยืนของตัวเองไว้ 3 ข้อ หนึ่ง ต้องจับตลาดกลุ่มบนให้ได้ สอง ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องคุณภาพและราคา  สาม ต้องเป็นสากล ใช้งานได้จริง และไม่ขายดราม่า ซึ่งข้อสุดท้ายน่าสนใจ เราเลยยกมือให้เธออธิบายเสริมอีกนิด

“เราจะไม่ให้เรื่องการขายเพื่อกระจายรายได้มาก่อนดีไซน์ที่สวยและใช้งานได้จริง เพราะถ้าเอาการกระจายรายได้เพื่อชุมชนขึ้นก่อน คนจะไม่โฟกัสว่าของดีหรือไม่ดี สวยหรือไม่สวย เขาไม่กล้าติ จะซื้อของเพราะสงสาร แต่เรารู้สึกไม่เท่ และแม่ช่างทอก็คงรู้สึกไม่เท่ด้วย แต่มันจะเจ๋งมากถ้าคุณทำแล้วมันขายได้ มันถูกใช้งาน แบบนั้นเราจะภูมิใจกับมันมากกว่า แล้วยิ่งลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ในมุมของเราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเขามี Loyalty กับแบรนด์เราจริงๆ”

ทุกปัญหาย่อมมีทางออก 2

ส่วนปัญหาที่คุณหมอต้องเรียกเข้าพบด่วนคือเรื่องการทอลายเดิมซ้ำไปซ้ำมา จนขาดเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

อิ๋งบอกกับเราว่าการทอมี 2 แบบ แบบใช้อุปกรณ์กับแบบใช้ทักษะช่างทอ แบบแรกเธอเจอปัญหา ถ้าจะทอ 10 ลาย ต้องมีท่อพีวีซี 10 ชุด เจ้าของแบรนด์เลยเลือกการทอแบบที่สอง โดยให้คนทอที่มีทักษะชำนาญสอนคนที่ทอไม่เป็น เริ่มต้นจากลายที่ทอง่าย เพราะ หนึ่ง ลายมินิมอล น้อยแต่มาก จะขายดี สอง ความสวยงามยังอยู่ สาม เป็นผลดีกับช่างทอ

ถ้าคนเป็นแฟน Thorr (ที่ไม่ใช่เทพเจ้าสายฟ้า) จะเห็นว่าเจ้าของแบรนด์คลั่งไคล้สี Navy Blue มากที่สุด มีดำบ้าง แดงบ้าง สับเปลี่ยนสัดส่วนสีตามความพอดี บางทีเธอเล่นสนุกด้วยเทคนิคมัดย้อมบ้าง เล่นลายบาง อย่างลายดอกพิกุล เป็นหนึ่งในลายที่อยู่ในลายขิต เธอเลือกมาเพียงลายเดียวแล้วทอซ้ำจนเกิดเป็นดอกพิกุลต่อกัน เราว่าโมเดิร์นไปอีกแบบ

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

“เราลงทุนให้ชาวบ้านลองผิดลองถูก ลงทุนให้เรามีความรู้มากขึ้น เพื่อให้เขาเข้าใจ ให้เขาเห็นประโยชน์จากการทำสิ่งนี้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตอนนี้มีคนมาขอทอกับเราเยอะขึ้น มีคนปลูกต้นกกเยอะขึ้น แล้วไม่ใช่เฉพาะในหมู่บ้านเรา สำหรับเขา เขาเห็น Thorr เป็นโอกาส ไม่ใช่เพียงแค่แบรนด์ที่ทอเสื่อกก” สาวอำนาจเจริญเล่าให้เราฟังด้วยความภูมิใจ

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

ปัจจุบันช่างทอเสื่อ ช่างทอผ้า ช่างเย็บกระเป๋าไม่ได้มีแค่ในจังหวัดอำนาจเจริญ แต่ขยายคอมมูนิตี้ไปยังจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างบุรีรัมย์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี แถมแบ่งปันรายได้ให้กับชุมชนอื่นที่ถนัดต่างกัน เช่น งานเย็บกระเป๋ายกให้จังหวัดอุบลฯ เป็นมือหนึ่ง จักสานตะกร้าใบโก้ต้องกาฬสินธุ์ และงานผ้าทอมือย้อมครามต้องชุมชนเขมราฐ

ตั้ง Mideset ที่ดี เพื่อให้มีการทำงานที่ดี

เป็นอันรู้กันว่าแม่ๆ ช่างทอสะสมประสบการณ์ชีวิตมามาก การจะชวนกันปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างก็ดูยากเสียหมด อิ๋งเลยต้องใช้เทคนิคพูดคุยเพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน กฎข้อแรก ต้องแสดงเจตนารมณ์ชัดเจน สอง แสดงความจริงจังและจริงใจ สาม เป็นผู้นำ ให้ช่างทอรุ่นครูรู้ว่าถึงเขาไม่เอา เราก็ไม่หยุด ลงเสื่อกกผืนเดียวกันแล้ว ต้องไปให้สุด!

“แต่ก่อนเขาจะทอให้เสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้เงินเร็วๆ งานจะไม่เรียบร้อย เราต้องทิ้งเยอะมาก ตอนหลังเราเลยทำให้เขามี Mindset ที่ดีก่อน ซึ่ง Mindset ที่ดีจะกำหนดวิธีการทำงานของเขา Mindset แรก ฉันทอไวได้เงินไว เจ๊งก็ช่าง

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ
Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

“เราเลยเปลี่ยนให้เขาคิดใหม่ อย่าทอเอาตังค์เรา ให้ทอเอาตังค์ลูกค้า ถ้าทอเอาตังค์เรา เราตังค์หมดก็แค่เจ๊ง ป้าก็แค่ไม่มีงาน แต่ถ้าตั้งใจทำให้สวยแล้วงานมันขายได้ มีตังค์ลูกค้ากลับมา ป้าก็ได้ส่วนแบ่ง ทำงานต่อได้ยาวๆ เพราะเรารักษาคุณภาพได้ แล้วเราก็ให้คนเก่งสอนคนอ่อน ถ้าใครสนใจก็มาเรียนรู้ เรียนรู้เสร็จคนนี้เก่งเรื่องนี้ให้ไปสอนคนนั้นต่อ”

จากการคลุกคลีตลอด 2 ปี สอนกันไปสอนกันมา ป้าสอนหลาน หลานสอนลุง ทำให้อิ๋งจำฝีทอของช่างแต่ละคนได้ แล้วความน่ารักน่าเอ็นดูของช่างทอคือเวลาส่งชิ้นงานจะเขียนบรรจงลงลายมือชื่อบนกระดาษห้อยติดไว้ด้วย อิ๋งเลือกไม่เอาออก มาแบบไหน ส่งลูกค้าแบบนั้น กลายเป็นเสน่ห์ เหมือนงานคราฟต์ไทยมีชีวิต และลูกค้าก็ได้รู้ที่มาของเสื่อผืนนั้นด้วย เราว่าสิ่งละพันอันน้อยเหล่านั้นจะถูกเล่าต่อ มากกว่าการสร้างการรับรู้ กลับเป็นสร้างความสุขใจทั้งคนทอและคนรับ

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

เสื่อกกอีสานที่อยากเป็นหนึ่งในใจคุณ

หลังพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างก้าวกระโดด Thorr ได้ออกงานแฟร์ชื่อดังของเมืองไทยจนแบรนด์เป็นที่รู้จัก ก้าวไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ได้ไปงานแฟร์ต่างประเทศอย่าง Maison & Objet 2018 สุดยอดงานที่สายอินทีเรียต้องยอมรับ

“ตอนนั้นเราเหมือนผีเสื้อที่อยากจะออกบิน เราสนุกกับมัน สนุกกับการเรียนรู้ เหมือนเริ่มรู้ใจกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น เลยเอาตัวตนของเราออกมาอยู่ในงานได้เยอะขึ้น และเราอยากเห็นงานของเราไปอยู่ในหนังสือแต่งบ้าน ไปอยู่ในของที่เป็น Common Use ของสถาปนิก หมายความว่าเราอยากเห็นโอกาสในการเอาของไปใช้ในงานที่หลากหลาย” อิ๋งเล่า

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

แน่นอนว่าจะกว่ามาถึงจุดนี้และกว่าจะไปถึงจุดนั้น ไม่ง่าย 

“เรามีอารมณ์ผิดหวังเหมือนกันนะ แต่ทุกครั้งที่อยากหยุด มันจะมีอะไรมาผลักให้เราไปต่อ สิ่งที่ทำให้เราดีขึ้น คือการที่ชาวบ้านมาบอกเราว่า เขาทำงานให้เราแล้วมีเงินให้หลานไปโรงเรียน เขามีเงินเก็บ เขารู้สึกมีคุณค่า แล้วคนที่ทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง งานของเราทำให้ผู้หญิงรู้สึกมีตัวตนในครอบครัวมากขึ้น ออกแนว Empower Women นิดหน่อย” 

เธอหัวเราะ ก่อนจะเสริมว่า “ทำไมผู้หญิงจะออกแรงทำงานไม่ได้ ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก เราบอกเขาว่าเธอหาเงินได้ เธอต้องเชื่อฉัน พอเขาทำงาน เขาอยู่ได้ ครอบครัวเขาก็มีความสุขขึ้น เพราะว่าภรรยามีรายได้ ลูกเขาก็รู้สึกว่าแม่มีงานทำเหมือนกัน” เธอเล่าจนเราฮึกเหิม

Thorr แบรนด์คราฟต์อีสานที่ใช้การตลาดพัฒนาเสื่อกกจนคนมักหลายเด้อ

ทอที่เป็น Thorr

ก่อนจบบทสนทนา เราถามคำถามธรรมดากับผู้หญิงตรงหน้าว่า “ความสุขของการทำ Thorr คืออะไร”

เธอนิ่งไปครู่ ก่อนจะตอบเรากลับมาว่า

“ถ้าความสุขมันเป็นแค่ความสุขของตัวเราเอง เราเลิกทำไปแล้ว มันเหนื่อยเกินไป แต่ว่าความสุขของการทำทอไม่ใช่การทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่ออุดมการณ์ ทำเพื่อคนอีกหลายคน ทำเพื่ออนาคต เราอยากเห็นงานมันดีขึ้นในทุกวัน อยากเห็นช่างทอเก่งขึ้น อยากเห็นชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น อยากเห็นเด็กในชุมชนภาคภูมิใจในต้นทุนของตัวเอง ไม่ต้องอายว่าฉันเป็นเด็กต่างจังหวัด เราต้องเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นในส่วนที่เราทำได้

“มันเรียบง่ายมากเลยนะ เราแค่ต้องถามตัวเองว่ายังมีความสุขกับการทำมันมั้ย ส่วนที่เรามีความสุขคือส่วนไหน ส่วนที่เราเหนื่อยคือส่วนไหน มันแก้ได้มั้ย เราอยากทำงานคราฟต์ไทยให้เป็นมืออาชีพ เหมือนต่างชาติที่เขาขายกัน 

“เราอยากเห็นสินค้าไทยเป็นแบบนั้น เลยพยายามคิดแบบผู้ประกอบการรายเล็ก เราต้องดูแลตัวเองให้ได้ดีที่สุดก่อนที่จะคาดหวังความช่วยเหลือจากใคร เมื่อเขาเห็นสิ่งที่เราตั้งใจทำจริงๆ แล้วมันจะมีทางไปต่อเอง” 

มันเรียบง่ายมากเลยนะ

จงเป็นทอ ที่เป็น Thorr

Thorr

108/134 หมู่บ้านธนาสิริ หมู่ 9 ตําบลบางกร่าง อําเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

ติดต่อ 09 0908 7888

Facebook: Thorr Living

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ