ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ผมได้ยินชื่อนี้ครั้งแรกขณะนั่งรถกระบะบุโรทั่งปุเลงๆ ผ่านหน้าวัดเก่าแก่ประจำชุมชนบ้านน้ำโจ้ที่ตอนนี้เปลี่ยนโฉมราวกับถูกเนรมิต หลังพวงมาลัยมิตรสหายสายไฟน์อาร์ตผ่อนคันเร่งแล้วชี้ชวนให้ดูประติมากรรมประหลาดตาบริเวณลานสนามหญ้าหน้าวัด ก่อนสาธยายให้ฟังฉับๆ ตั้งแต่แนวคิดผลงาน อัตลักษณ์ รวมถึงความโด่งดังของศิลปินผู้สร้างสรรค์มันขึ้นมา

สำหรับคนในแวดวงศิลปะ ชื่อของธงชัยคงเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี เพราะเขาเคยเป็นทั้งอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะไทยร่วมสมัยได้โดดเด่นอยู่ในระดับหัวแถวเมืองไทย ตั้งแต่ยุคแรกของผลงานจิตรกรรม ซึ่งนำลวดลายศิลปะโบราณมาต่อยอดผ่านกลวิธีศิลปะสมัยใหม่ จนถึง ‘ยุคสีน้ำเงิน’ ที่เลือกใช้สีน้ำเงินอัลตรามารีน (Ultramarine) มาเป็นโครงสีหลักถ่ายทอดมิติด้านอารมณ์ ความรู้สึก และสื่อสารนัยได้อย่างลุ่มลึก น่าอัศจรรย์ จนกลายเป็นลายเซ็นเอกลักษณ์ของงานจิตรกรรมและประติมากรรมแบบธงชัย

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

ยกตัวอย่างผลงานชุดมหาวิเนษกรมณ์ จิตรกรรมพุทธศิลป์ซึ่งหยิบยกเอาเหตุการณ์ตอนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชมานำเสนอสุนทรียะแตกต่างจากแบบแผนดั้งเดิม ด้วยเทคนิคประติมากรรมซ้อนภาพจิตรกรรม ดูลวงตา หนาหนัก และรุงรัง ประหนึ่งเป็นกิเลสที่ยากจะตัดขาด หรือชุดโลกียธรรม ที่ก่อร่างรูปทรงแปลกใหม่ชวนพินิจจากการผสานสรีระของคน สัตว์ สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา และลวดลายวิจิตรบรรจง เพื่อสะท้อนการดิ้นรนวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ 

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์
บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

ตลอดจนเป็นหนึ่งในคณะศิลปินที่ร่วมเดินทางไปรังสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับศิลปินรุ่นพี่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2554 

ไม่เพียงบูรณปฏิสังขรณ์วัด ถัดไปอีกไม่ไกล มีแนวรั้วกำแพงสูงใหญ่ซุกซ่อนกลุ่มอาคารสีเทาไว้เบื้องหลังอย่างลับๆ ท่ามกลางสวนลำไย ดงกล้วยน้ำว้า บ้านเรือนชาวบ้าน และร้านลาบของชุมชนขนาดเล็กในจังหวัดเชียงใหม่ ธงชัยกำลังมีแผนเปิดหอศิลป์ เมื่อมีโอกาสได้พบกัน นอกจากแลกเปลี่ยนพูดคุยเส้นทางชีวิต มุมมองศิลปะ และตัวตน ผมเทความสงสัยถามถึงความตั้งใจเหล่านี้ของเขา คำตอบนั้นน่าสนใจและน่าค้นหาพอกัน 

“ถ้าคิดแบบโง่ๆ สั้นๆ คือ สะใจ”

1

หอศิลป์สีเทา

แม้จะเลือกนัดหมายในช่วงบ่าย เพื่อยื้อเวลาให้ฟ้าฝนบรรเทาลงบ้าง ทว่าบรรยากาศยังคงอึมครึมอย่างไม่มีหวังได้เห็นแสงอาทิตย์ หญิงสาวในชุดลุยงานขัดถูรอยคราบบนพื้นละล้าละลัง ก่อนที่นายจะสั่งให้หยุดพัก เมื่อสังเกตว่าฟ้าเริ่มโปรยสัญญาณเตือนลงมาอีกระลอก

ผมขออภัยที่ขัดจังหวะสนทนา เขาจึงโบกมือให้หล่อนรีบเก็บสัมภาระหลบเข้าที่ร่มแล้วตรงมาทักทายผม พร้อมชวนไปนั่งพูดคุยกันในสตูดิโอ 

ธงชัยเป็นชายวัยกลางคนท่าทางทะมัดทะแมงและแต่งตัวเท่กระชากวัย จนแวบแรกทำให้ผมนึกไปถึงศิลปินชาวอังกฤษ เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) และอาจเพราะบุคลิกดังกล่าวผมจึงไม่ค่อยฉงนใจนัก เมื่อได้เห็นงานจิตรกรรมและประติมากรรมไทยวางรายล้อมรอบห้อง ที่ออกแบบตกแต่งในสไตล์โมเดิร์นเรียบโก้ ที่นี่เป็นสตูดิโอและพื้นที่เก็บรวบรวมผลงานส่วนตัวชั่วคราวของเขา ก่อนเตรียมขนย้ายไปติดตั้งในอาคารหลังข้างๆ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อาคารจัดแสดงผลงานศิลปะของ ‘หอศิลป์เทา’ 

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

“เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านเกิดของแม่ พอท่านเสียก็ส่งต่อให้เราดูแล แต่ด้วยความที่เรามีบ้านพักอยู่แล้วเลยตัดสินใจเปิดเป็นหอศิลป์ เหตุผลแค่อยากมาสร้างอะไรสักอย่างในที่ที่ไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง คิดแบบโง่ๆ สั้นๆ คือ ‘สะใจ’ สะใจที่ได้ทำอะไรในแบบที่ตัวเองอยากทำโดยไม่ต้องสนใจผลลัพธ์ สะใจว่าเราได้ทำเพื่อศิลปะที่เรารักแค่นี้พอแล้ว 

“ส่วนมันจะได้ผลอื่นๆ ตามมามั้ย อันนั้นก็แล้วแต่ว่าคนเห็นจะคุณค่าของมันแค่ไหน ถ้าเห็นค่าน้อยก็ได้น้อย เห็นค่ามากก็ได้มาก มันอาจจะไม่มีค่าเลย หรือมีค่าเท่าขี้หมาก้อนก็ได้ แล้วจะให้เราคาดหวังอะไร ในเมื่อเหล่านี้มันเป็นเรื่องเหนือการคอนโทรล ขนาดชีวิตตัวเองเรายังคอนโทรลไม่ได้ จะหมดลมหายใจเมื่อไหร่ยังไม่รู้ แล้วเราจะคอนโทรลคนมาชื่นชมหรือให้คุณค่ากับสิ่งที่เราสร้างเหรอ เป็นไปไม่ได้” ธงชัยคลายข้อสงสัย ถึงสาเหตุการมาลงทุนเปิดหอศิลป์ขนาดใหญ่ในชุมชนรอบนอก

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

ก่อนขยายความว่าชื่อ ‘ศิลป์เทา’ นั้นพ้องเสียงมาจากเส้น ‘สินเทา’ เส้นแผลงแบ่งมิติในงานจิตรกรรมไทย และอีกความหมายสื่อถึงสีสันเทาล้วนของหอศิลป์แห่งนี้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และวัดร่องขุ่น ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สองศิลปินที่เคารพรัก ผู้เป็นต้นแบบในการทำงาน และมีส่วนสำคัญยิ่งที่ช่วยผลักดันให้ความถนัดด้านศิลปะของเขาชัดเจนและเข้มข้นขึ้น จนกลายเป็นจุดยืนของชีวิต

2

เด็กชายขี้สงสัย

“ตั้งแต่จำความได้ แม่เล่าให้ฟังว่า เราเกิดในห้องแถวที่ครอบครัวเราเคยพักอาศัย วันนั้นเป็นวันศุกร์ แม่อดทนรอพ่อที่ยังไม่กลับจากวงไพ่นกกระจอกจนถึงตีสี่ สุดท้ายก็ทนไม่ไหวท่านคลอดเราตรงขั้นบันได แล้วไม่นานพ่อกับแม่ก็เลิกกัน พอโตขึ้น เราจึงกลายเป็นเด็กที่ค่อนข้างซุกซนและอยากดีอยากเด่น มุ่งเล่นแต่กีฬา ทั้งฟุตบอล วิ่งข้ามรั้ว วิ่งร้อยเมตร และทำได้ดีจนติดตัวแทนนักกีฬาโรงเรียนแทบทุกประเภท” 

ธงชัยย้อนความทรงจำที่ปลูกฝังให้เขากลายเป็นคนเอาจริงเอาจัง ก่อนเล่าต่อว่า หลังจากแยกทาง แม่ก็ย้ายกลับบ้านเกิดที่หมู่บ้านน้ำโจ้ โดยทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์จะแวะมารับเขาไปอยู่ด้วยกัน และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันกับวิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมถึงใกล้ชิดกับวัดวาอาราม กระทั่งสมัครใจเป็นเด็กวัดในช่วงปิดภาคเรียน 

กีฬาเด่นแต่การเรียนเป็นรอง ผลการเรียนของเด็กชายธงชัยจึงไม่ค่อยสู้ดีนัก และเหมือนจะรู้ตัวเองว่าคงไม่รอดถ้ายังฝืนไปต่อในสายสามัญ ดังนั้น ทันทีที่จบชั้น ม.ศ.3 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เขาจึงตัดสินใจเบนเข็มสอบเข้าเรียนด้านศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ เชียงใหม่ 

“พอย้ายมาเรียนศิลปะ เราก็ทำคะแนนได้ดีขึ้น ขนาดเรียนบ้างโดดบ้างยังอยู่ระดับต้นๆ ของชั้นตลอด คงเพราะมันเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบและถนัดด้วย ตอนเด็กๆ เราชอบวาดการ์ตูนมาก เวลาเรียนก็แอบขีดเขียน กลับบ้านก็หัดวาด นอกจากคะแนนเต็มวิชาพละ วิชาศิลปะเป็นอีกวิชาที่เรามั่นใจ จนคุณครูเลือกให้เขียนภาพปกวารสารประจำโรงเรียนเลย” 

อาจารย์ธงชัยยิ้มภูมิใจ ก่อนตั้งข้อสังเกตต่อว่า การได้เติบโตมากับวัดวาอาราม มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาซึมซับมุมมองด้านศิลปะไทย ซ้ำยังเป็นเด็กขี้สงสัยชอบเรียนรู้โดยซักไซ้ไต่ถาม หนหนึ่งเขาได้ปุจฉาเรื่องใบเสมา ธรรมจักร และลักษณะสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัดกับหลวงลุง พระครูอดิศัยสิริวัฒน์ จนถึงคำถามว่า เหตุใดวัดเก่าแก่เช่นนี้จึงไม่มีเจดีย์ คำตอบของพระครูราบเรียบ แสนธรรมดา ในเมื่อไม่มีแม้พระอุโบสถ ไหนเลยจะมีเจดีย์

เด็กชายอยากรู้อยากเห็นจำไม่ได้แล้วว่าวันนั้นตนเองรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินคำตอบ แต่ในเวลาต่อมา มันกลับกลายเป็นสิ่งมีค่าที่จุดประกายให้เขาได้หวนคืนสู่บ้านอีกครั้ง

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

3

ถนนศิลปะ

หลังจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เขาก็สามารถสอบเอ็นทรานซ์ผ่านเข้าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทันทีที่ทราบข่าวดี สุรสิทธิ์ เสาว์คง ครูคนแรกที่เขาเคารพยกย่อง จัดแจงร่างจดหมายถึงเพื่อนสนิท เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ขอฝากฝังให้ช่วยดูแลศิษย์รักระหว่างร่ำเรียนในรั่วมหาวิทยาลัย

เมื่อจดหมายไปถึงมือผู้รับ พลันธงชัยก็ได้รู้จักกับศิลปินรุ่นพี่ฝีมือฉกาจ ซึ่งคอยให้ความช่วยเหลือและชักชวนไปบ้านทุกศุก ร์เพื่อแบ่งปันความรู้ ทักษะ รวมถึงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ศิลปะแก่เขาผ่านประสบการณ์การทำงาน 

“แกเป็นคนมุ่งมั่นฉิบหายเลย แกจะไม่ยอมไปทำอย่างอื่นนอกจากเป็นศิลปิน นี่คือสิ่งที่แกเราสอนจากชีวิต หรือบางครั้งก็คอยจุดเติมพลังให้เราอย่ามัวหลงในความงามของชีวิต จนหลงลืมปณิธานของตัวเอง” ธงชัยแทรกเหตุการณ์ประทับใจอีกเรื่อง “แล้วก็สมัยนั้นนักศึกษาไม่มีใครได้มีสิทธิ์ไปหาลุงหวันเป็นการส่วนตัวนะ แต่พี่เหลิมพาเราไป พอได้เห็นความแน่วแน่ ความแม่นยำ และความมีพลังของท่าน มันก็ทำให้เราเกิดความฮึกเหิมในใจ ว่าสักวันเราจะต้องเป็นศิลปินแบบนั้นให้ได้” 

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์
บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

หากบันไดขั้นแรกของชีวิตทำให้เขาทะเยอะทะยาน การได้พบปะกับศิลปินแห่งชาติทั้งสองท่านคงเปรียบดังบันไดขั้นสอง ที่ทำให้เด็กน้อยในวันวานแน่วแน่เติบโตบนเส้นทางสายศิลปะเต็มตัว

ชีวิตนักศึกษาศิลปะของธงชัยเปลี่ยนไปเป็นคนที่จริงจังกับการเรียน เขาเคี่ยวกรำพัฒนาฝีมือจนได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์เฉลิมชัย ให้ไปช่วยแต่งแต้มผลงานจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะอยู่เพียงชั้นปี 2 ทว่าอาจารย์ที่ปรึกษาขอให้เขาผลัดผ่อนการเดินทางไปอีกปี ด้วยเป็นห่วงในภาระหน้าที่การเรียน

พอจบปีสาม เราก็ไปอังกฤษช่วยพี่เหลิมร่างภาพจิตรกรรมฝาหนังอยู่เป็นปี มีเวลาว่างก็ออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง ทั้งศิลปวัฒนธรรม ภาษา ระเบียบและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซึ่งมันค่อยๆ หลอมให้เราเป็นคนรอบคอบ ไตร่ตรองต่อชีวิต และมีจิตสำนึกสาธารณะมากขึ้น”

ผลการเรียนของธงชัยดีขึ้นตามลำดับหลังกลับจากอังกฤษ จนอาจารย์เห็นแววและทาบทามให้เขามาเป็นผู้ช่วยสอน ก่อนชวนให้บรรจุในตำแหน่งอาจารย์ แน่นอนว่าจังหวะนั้นเขาเลือกคว้าโอกาส… โดยไม่ทันได้ฉุกคิด 

“ตอนตัดสินใจว่าจะบรรจุ เราไม่ได้ปรึกษาพี่เหลิมเลย จนวันดีคืนดีเราบังเอิญเจอกัน แล้วพอเขารู้ว่าผมเป็นอาจารย์ก็โมโหชี้หน้าด่า ไอห่า ไอโง่ มึงคิดผิดมากๆ เพราะเหมือนเขาปั้นเรามา และตั้งความหวังให้เป็นศิลปินอิสระเหมือนกับเขา” 

“โกรธจริงจังเลยเหรอครับ” ผมกึ่งสงสัยกึ่งเห็นใจ

อาจารย์ธงชัยหัวเราะร่วน “ตอนนั้นน่าจะจริงนะ แต่พอเจอหน้าก็กอดคอกันอยู่ดี” 

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

4

ความคิดสร้างศิลป์

“เมื่อก่อนเราเคยคิดนะว่าศิลปะไทยนี่คือสุดยอด แต่พอได้เห็นงานศิลปะตะวันตกก็แทบอยากเขวี้ยงพู่กันทิ้ง เพราะสู้เขาไม่ได้ ความภาคภูมิใจแบบเดิมของเรา มันเป็นความภูมิใจเฉพาะตน แต่มันไม่สากล” 

นอกจากบทเรียนชีวิตการเดินทางการข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนแห่งศิลปะ ทำให้ธงชัยได้กลับมาทบทวนคุณค่าและความหมายของงานศิลป์ พร้อมตั้งคำถามกับตัวเอง ถึงวิธีการมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางที่จะสามารถผลักดันศิลปะไทยให้ก้าวเทียบสากล 

“หนึ่งเลยคือ ละวางอัตตา ไม่มัวหลงคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องสนโลก แต่เราต้อง ‘ยิ่งใหญ่และสนโลกด้วย’ สอง หากอยากได้รับการยอมรับ เราก็ต้องรู้จักยอมรับและให้เกียรติผู้อื่นก่อนเสมอ สิ่งเหล่านี้ช่วยเปิดทัศนคติและทลายกำแพงทางศิลปะให้สื่อไปถึงผู้คนทุกชาติ ทุกภาษา” ธงชัยประมวลตะกอนความคิด ซึ่งมีส่วนผลักดันให้การทำงานของเขาประสบความสำเร็จ 

การันตีจากรางวัลทางศิลปะหลากหลายเวที เช่น รางวัลศิลปกรรมยอดเยี่ยม การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัย ประจำ พ.ศ 2533 รางวัลที่ 1 เหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง จิตรกรรมแนวไทยประเพณี นิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 14 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 37 39 และ 40

ผมเหลือบมองผ่านผนังกระจกบานใหญ่ ข้างนอกฝนซู่ซาลงเป็นละออง จึงขออนุญาตลุกไปยืดเส้นยืดสาย พร้อมเดิมชมอาคารหอศิลป์ เขาตอบตกลงและอาสาจะนำผมไป แล้วก้าวขึ้นบันไดสูงขั้นที่ใช้วิ่งออกกำลังกายทุกเย็นย่ำอย่างกระฉับกระเฉง จนทำให้ผมแลดูเป็นคนหนุ่มที่ปวกเปียก

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์
บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

ด้านหน้าทางเข้าอาคารที่เขาหมายใจไว้ให้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะส่วนตัว ปรากฏวลี “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” เมล็ดพันธุ์ทางความคิดในการสร้างสรรค์งานที่เขาได้รับปลูกฝังมาจาก ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ปัจจุบันอาคารหลังนี้สมบูรณ์สุดใน 4 หลัง ซึ่งแบ่งออกเป็นอาคารแสดงผลงานศิลปะส่วนตัวทุกยุค อาคารแสดงผลงานของเหล่าเพื่อนฝูง อาคารสำหรับนิทรรศกาลหมุนเวียน และโซนคาเฟ่พักผ่อนหย่อนใจ

ส่วนภายในอาคารกว้างขวาง สีทึมเมารอบด้าน เพดานสูงโปร่ง และมีช่องแสงเรื่อเรื่องสวยงาม ผลงานจิตรกรรมบางส่วนถูกวางพิงผนังไว้รอติดตั้งบริเวณชั้นล่าง ส่วนชั้นบนมีจิตรกรรมพระพุทธบำเพ็ญทุกรกิริยา ตั้งสูงเด่นสะดุดตา ธงชัยบอกว่าชิ้นนี้เป็นผลงานล่าสุดในยุคสีน้ำเงินของเขา ซึ่งในอนาคตมีแผนการว่าจะต่อยอดสู่ประติมากรรมถวายประดิษฐานไว้ในหอพระพุทธบำเพ็ญ สถานที่ตั้งบำเพ็ญบุญกุศลแด่ผู้วายชนม์ของวัดน้ำโจ้ ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

5

สำนึกรักบ้านเกิด

ก่อนที่ ศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ จะจากไป ท่านเคยฝากฝังให้ธงชัย ซึ่งขณะนั้นขึ้นเป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ขอรับตำแหน่งทางวิชาการ เนื่องจากมีคุณสมบัติพร้อมสรรพ ทว่าเขากลับเลือกเดินบนเส้นทางที่ใครๆ ก็ไม่อาจคาดคิด นั่นคือลาออกมาเป็นศิลปินอิสระ

เราย้อนกลับมานั่งบนโซฟาสีเทาตัวเดิมภายในสตูดิโอชั่วคราว เพื่อฟังเรื่องราวแรงบันดาลใจที่ทำธงชัยสละหน้าที่การงานอันมั่นคงและกำลังรุ่งโรจน์

ระหว่างที่สอนหนังสืออยู่ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล เขาก็ช่วยซื้องานของเราสม่ำเสมอ ซึ่งอันที่จริงท่านตามซื้อมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาไม่ได้รับรางวัลอะไรเลยสักอย่าง จึงทำให้เราค่อยๆ มีทุนเลี้ยงดูตัวเอง มีกำลังใจในการทำงานศิลปะ จนถึงจุดหนึ่ง ก็รู้สึกว่าอยากออกมาทำตามปณิธานที่ตั้งใจไว้ แล้ววิธีคิด การใช้ชีวิต หรือ ‘โครงการสำนึกรักบ้านเกิด’ ของท่าน ก็มีส่วนจุดประกายให้เราอยากกลับมาทำประโยชน์ให้กับบ้านเกิดด้วย”

ในวันที่ธงชัยแวะเวียนมาดูที่ดินบ้านเกิดซึ่งแม่ทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติ มัคนายกก็ผ่านมากบอกว่าหลวงลุงถามถึง เมื่อนึกขึ้นได้ว่าไม่ได้กราบไหว้ท่านเสียนาน จึงรีบมุ่งหน้าตรงไปวัด

“พอเจอกัน ท่านก็ชี้มาด้านหลังแล้วบอกว่าสร้างแล้วนะเจดีย์ ตอนนั้นเราอ้ำอึ้งและตื้นตันบอกไม่ถูก ประจวบเหมาะกับช่วงก่อนเราทำงานชุดหนึ่งให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยได้เงินก้อนใหญ่ มองเห็นองค์เจดีย์ที่กำลังขึ้นองค์ค้างไว้ จึงรับปากกับท่านว่าจะช่วยสร้างต่อให้เสร็จ” ธงชัยชะงัก “เชื่อมั้ยว่าพอเจดีย์เสร็จสมบูรณ์ ท่านพระครูก็ถึงแก่มรณภาพทันที” 

หลังพิธีทำบุญของหลวงลุงผ่านพ้น ธงชัยก็กลับบ้านบ่อยขึ้น ด้วยมีเหตุให้สานสร้างซุ้มประตูชัยของวัด รวมถึงผุดความคิดว่าอยากนำผลงานศิลปะมาฝากไว้ให้บ้านเกิด ตามความรู้สึกเบื้องลึก ‘สำนึกรักบ้านเกิด’ ที่วนเวียนอยู่ในหัวอยู่ตลอดเวลา 

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์
บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

6

ค่าของความอิ่มใจ

ขณะที่สมองยังงุ่นง่านและมึนเบลอจนไขว่คว้าเสี้ยวความทรงจำก่อนหน้านี้ได้ไม่ชัดนัก เขาค่อยๆ ลืมตาขึ้นมาในห้องพักฟื้นเย็นเชียบ ท่ามกลางความว่างเปล่า ธงชัยเล่าว่า ปรากฏภาพนิมิตในหลวงรัชกาลที่ 9 เบื้องหน้า ทว่าร่างกายคล้ายถูกตรึงให้แน่นิ่ง จึงทำได้แค่อธิษฐานจิตกราบไหว้ พร้อมกับปวารณาตนว่า หากหายกลับไปเป็นปกติ ตนจะปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระพุทธรูปถวายเป็นมงคลชีวิต กระทั่งสติสัมปชัญญะเริ่มฟื้นคืนมา จึงได้รับรู้ว่าตัวเองน็อก เส้นเลือดในสมองแตกฉับพลันจากการทำงานหนักเกินกำลัง

“เรานอนอยู่ในห้องไอซียูสามวันและตั้งจิตปวารณาตนแทบจะสามเวลา ด้วยกลัวว่าตัวเองจะพิการ ไม่น่าเชื่อว่าคำอธิษฐานจะกลายเป็นจริง เราหายสนิท สุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติดังเดิมทุกอย่าง ก็เลยตั้งมั่นปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาสามองค์ และพระพุทธพระโพธิญาณตามคำมั่นสัญญา” เหตุการณ์ปาฏิหาริย์นี้ไม่เพียงพลิกชีวิต แต่ยังชุบชูแนวคิดและปณิธานของเขา 

“ระหว่างที่ปั้นพระพุทธพระโพธิญาณก็มีหลายคนสนใจ และขอให้หล่อเป็นสัมฤทธิ์ ผู้จัดการศิลปะของเราเลยบอกให้ทำขึ้นมาร้อยแปดองค์ สำหรับเช่าบูชา ปรากฏว่าภายในหนึ่งสัปดาห์หมดเกลี้ยง ได้เงินกว่าแปดหลัก ทีนี้ก็คิดต่อว่าในเมื่อเงินมันมาจากกุศลจิต เราจะเอาไปใช้จ่ายตามอำเภอใจคงไม่เหมาะสม จึงนำมาสร้างหอไตรพระโพธิญาณถวายวัด”

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

‘หอไตรพระโพธิญาณ’ ตั้งอยู่เบื้องซ้ายของซุ้มประตูชัย มีลักษณะเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ ที่โดดเด่นด้วยรายละเอียดงานสถาปัตยกรรมไทยอ่อนช้อยสวยงาม รวมถึงประดับตกแต่งด้วยองค์พระพุทธพระโพธิญาณทั้งภายนอกและภายในรวมกว่า 216 องค์ 

จากนั้นธงชัยก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์หอพระพุทธบำเพ็ญ หอกลอง หอระฆัง ตลอดจนสร้างสรรค์มกรคายนาคเฝ้าหน้าวัด ซึ่งมีรูปลักษณ์แตกต่างจากทั่วไป เช่น มีเกรียวหางและส่วนพังพานที่ลักษณะคล้ายใบโพธิ์ โดยอธิบายว่า ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อนำร่องแนวทาง ให้ช่างหรือศิลปินกล้าที่จะเปิดรูปลักษณ์ใหม่ๆ ทางศิลปะ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนงานศิลปะไทยให้เติบโต 

นอกจากนี้ เขายังนำผลงานบางส่วนจากชุดโลกียธรรม อาทิ สามขุม กิเลส ตัณหา กามา อรหันต์ มาถวายจัดแสดงไว้บริเวณลานหน้าวัดและบนแนวกำแพง แต่ความน่าสนใจคือ เหตุใดเขาจึงเลือกผลงานชุดนี้ที่มีองค์ประกอบเปิดเปลือย อย่างอวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง หรือเต้านม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาด้านศีลธรรมและความไม่เหมาะสม

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในมนุษย์ ไม่ต่างอะไรจากเราแก้ผ้าดูตัวเอง อีกอย่างเราก็มีแดนของเราเหมือนกัน เพราะเลือกจะไม่เอาเข้าไปไว้ในวัดให้เกิดเป็นที่หมองต่อพระสงฆ์ แต่ถามว่าพระสงฆ์ท่านเห็นมั้ย ท่านก็เห็นทุกวันอยู่ดี ฉะนั้นมันอยู่ที่ว่าเมื่อคุณพินิจพิเคราะห์สิ่งเหล่านี้แล้วคุณคิดอะไรต่อ หากเกิดเป็นกำหนัดหรืออารมณ์ อย่างนั้นคุณต้องไปควบคุมตัวคุณเอง คุณจะควบคุมที่ศิลปะเหรอ ในเมื่อศิลปะเปิดเผยให้คุณมองได้เห็นโลกียธรรม แล้วถามว่าผมกำลังทำให้ศาสนาเสื่อมหรือไม่ ผมคิดว่ากำลังพยายามทำให้ศาสนาเป็นเรื่องน่าสนใจมากกว่า เสื่อมหรือไม่เสื่อมมันอยู่ที่คนปฎิบัติ” 

ธงชัยเสริมว่า สำหรับเป้าหมายสูงสุดในการทำงานศิลปะ เขากล้าพูดได้เต็มปากว่าทำเพื่อตัวเองและต้องการแสดงตัวตน ทางเดียวกันก็มุ่งหวังให้ศิลปะเป็นสะพานเชื่อมแนวคิดทางพุทธศาสนาที่เขายึดมั่นออกไปสู่ผู้คนทั่วโลก ดังผลงานระยะหลังที่เขาหยิบจับธรรมะของพุทธะมาบอกเล่าในรูปแบบ ‘ธรรมศิลป์’ โดยผลงานชุดโลกียธรรมสะท้อนแก่นแกนนี้อย่างแจ่มชัด ผ่านนัยยะของกิเลส ผัสสะ ความรัก ความไคร่ ฯลฯ ซึ่งเกิดจากวินิจฉัยธรรมอันเป็นธรรมชาติของชีวิต 

“ตอนนำศิลปะชุดนี้ไปเสนอท่านเจ้าอาวาส ท่านชอบนะ บอกว่ามันเตือนสติคนดี เวลาดูปุ๊บต้องมีสติก่อน พอสติมาจึงเกิดสัมปะชัญญะ มีครบหมดแล้วค่อยสำรวจจิตใจตัวเอง เมื่อเตรียมใจได้และเข้าไปในวัด เราก็จะรู้ว่าเรามาที่นี่ทำไม”

กระนั้นธงชัยเปรยว่า ท่านเจ้าอาวาสก็ยังอยากทราบถึงจุดประสงค์ของการทำบุญที่ต้องสละทุนทรัพย์ส่วนตัวจำนวนมาก ซึ่งเขากล่าวแก่ท่านว่า ด้วยความเป็นคนชอบให้เงินแก่ขอทานสม่ำเสมอ แต่มีหลายหนที่ไม่อาจควักเพราะตนเองก็ขาดเหลือ การบูรณปฏิสังขรณ์วัดน้ำโจ้จึงเป็นความตั้งใจที่เขาเปรียบเทียบว่า เหมือนได้ทำบุญให้ทุกคนที่ผ่านวัดคนละ 5 บาท เพียงแต่จำนวนเงินนั้น คือค่าของความอิ่มใจจากการได้มองเห็นวัดที่สวยงามและงานศิลปะจากความอุตสาหะทุ่มเท 

“เงินห้าบาท หรือร้อยบาท มันใช้อะไรได้ไม่มาก แต่อิ่มใจเนี่ย มันอิ่มไปตลอด แถมยังวนมาอิ่มได้อีก ผมเชื่อว่าคนที่มาเห็นแล้วเป็นสุขก็น่าจะมีเยอะอยู่นะ” ธงชัยทิ้งท้าย

บนถนนศิลปินของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ กับการพาศิลปะกลับบ้านเกิดและเปิดหอศิลป์

หอศิลป์เทา (Hall Zinthao) ตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านน้ำโจ้ ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเปิดให้เข้าชมนิทรรศการผลงานศิลปะบางส่วนของธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ภายในปลายปีนี้ สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเพจ Facebook : หอศิลป์เทา

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ