“ตีลูกกอล์ฟให้ถึงดวงจันทร์ ถึงพลาดก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว”

ประโยคสุดคลาสสิกจากโฆษณา ‘ทีมกอล์ฟสิงห์’ เมื่อหลายสิบปีก่อน น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้เปิดเรื่องราวของ ธงชัย ใจดี

ไม่มีใครในประเทศไทยไม่รู้จักชื่อของเขา เพราะนี่คือนักกีฬาชายไทยที่ก้าวออกไปเป็นดวงดาวที่ส่องแสงสว่างอยู่ในวงการกอล์ฟอาชีพโลก ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

12 แชมป์เอเชียน ทัวร์ 8 โทรฟี่ยูโรเปียน ทัวร์ และ 1 พีจีเอ ทัวร์ แชมเปียนส์ บนแผ่นดินอเมริกา อีกทั้งยังทำเงินรางวัลสะสมตลอดอาชีพการเล่นกอล์ฟได้ทะลุ 600 ล้านบาท

ประวัติศาสตร์หน้าแล้วหน้าเล่าของวงการกอล์ฟไทย ถูกขีดเขียนโดย ธงชัย ใจดี ทั้งที่เขาเริ่มต้นทุกอย่างช้ากว่าคนอื่น กว่าจะจับก้านเหล็กหวดวงสวิงครั้งแรกก็ตอนอายุ 16 ปีแล้ว แถมออกสตาร์ทเทิร์นโปรตอนวัยแตะเลข 3

ในวันนั้นแทบไม่มีใครเชื่อเลยว่า ธงชัย ใจดี จะมาได้ไกลขนาดนี้ แต่โปรผู้นี้ก็สวมหัวใจสิงห์อันกล้าแกร่ง ออกเดินทางไปสู่การแข่งขันระดับโลกจนประสบความสำเร็จกลับมา และส่งต่อแรงบันดาลใจไม่รู้จบให้แก่นักกอล์ฟไทยในยุคหลังจากนั้น 

3,000

แสงแดดประเทศไทยสาดส่องและแผดเผาผิวหนังของร่างชายคนหนึ่งจนมีริ้วรอยไหม้เกรียม ทว่าตัวเขายังคงปาดเหงื่อที่ไหลริน เดินแบกถุงกอล์ฟด้วยตัวเอง ไปตีลูกให้ลงหลุมแล้วหลุมเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ได้ตัวเลขอย่างที่เขาตั้งใจวันละ 3,000 ครั้ง

เขาปลุกตัวเองตื่นตั้งแต่ตี 5 และซ้อมหนักจนถึง 3 ทุ่มของทุกวันตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยมีเป้าหมายและความฝันในการไปคัดตัว สู่การเป็น ‘นักกอล์ฟทีมชาติไทย’

แต่ระหว่างบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ธงชัยกลับยิ้มที่มุมปากและเอ่ยว่า “ที่ผมบังคับตัวเองให้ฝึกซ้อมได้หนักขนาดนี้ เพราะชีวิตผมเคยลำบากมากกว่านั้นเยอะ ฝึกแค่นี้สำหรับผมสบายมาก

“ผมเห็นกอล์ฟมาตั้งแต่เกิด เพราะบ้านอยู่ติดกับสนาม แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้มีโอกาสมาเล่น เพราะนี่เป็นกีฬาสำหรับคนที่มีเงินมากถึงจะเล่นได้ อีกอย่างตัวผมไม่ได้สนใจกอล์ฟด้วย ผมชอบเล่นฟุตบอลมากกว่า

“สนามกอล์ฟของทหารที่ลพบุรีนี่แหละคือสนามฟุตบอลของผมกับเพื่อน ๆ ตอนดึกผมกับพรรคพวกจะแอบข้ามรั้วเข้าไปเตะบอลกัน เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ไม่ต้องใช้เงินมาก ลูกฟุตบอลแค่ลูกเดียวก็เล่นกันได้เป็นกลุ่มแล้ว”

ธงชัยอาจไม่เคยคิดฝันว่าวันหนึ่งจะได้กลายมาเป็น ‘นักกีฬาชาวไทย’ ที่แฟนกอล์ฟทั่วโลกรู้จัก แต่การเติบโตอยู่ข้าง ๆ กรีนหญ้า ก็คงส่งอิทธิพลไม่น้อยให้เขาได้ซึมซับกีฬาชนิดนี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว เริ่มจากการประดิษฐ์ไม้กอล์ฟโดยใช้ไม้ไผ่บ้าง พลาสติกบ้าง เพื่อเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ

ไปจนถึงการเข้าไปงมหาลูกที่ตีตกในคลองของสนามกอล์ฟ เพื่อนำมาขายต่อ หาเงินค่าขนมไปโรงเรียน ธงชัยก็เคยทำเป็นประจำมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ

แชมป์ PGA Tour แรกในวัย 52 ของ ‘ธงชัย ใจดี’ โปรระดับโลกที่เริ่มจากงมลูกกอล์ฟในสนามขาย

“ซื้อลูกกอล์ฟไหมครับ” ธงชัยในวัยหนุ่มเอ่ยปากถามลูกค้าที่เข้ามาตีกอล์ฟในสนาม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้มารู้จักนักธุรกิจในจังหวัดท่านหนึ่ง

“ตอนนั้นผมอายุ 16 ปี เป็นจังหวะเดียวกับที่ข้อเท้าเริ่มมีปัญหา ส่งผลต่อการเล่นฟุตบอล ผมก็เอาลูกกอล์ฟมาขายให้กับนักธุรกิจคนนั้น ท่านเอ่ยปากพูดขึ้นมาว่า ‘ลองตีให้ดูหน่อยสิ’ ผมก็ปฏิเสธไปเพราะผมตีไม่เป็น อุปกรณ์ก็ไม่มี

“แต่ท่านก็ลองให้ผมหัดตีกอล์ฟเรื่อย ๆ บางครั้งก็แอบเดินตามท่านไปตี 4 – 5 หลุม ที่บอกว่าต้องแอบเพราะผมไม่ได้เป็นเมมเบอร์ ถ้าสารวัตรทหารเห็น ผมต้องโดนไล่ออกจากสนามแน่ ไม้กอล์ฟอันแรกในชีวิตผมก็ได้มาจากไม้เก่าของท่าน รวมถึงท่านยังเป็นคนที่เสียค่าสมัครสมาชิกกอล์ฟคลับให้ผมอีกด้วย”

ในความคิดของ ธงชัย ใจดี เขาคิดแค่ว่าเมื่อได้รับโอกาสให้ได้มาสัมผัสกับกีฬาชนิดนี้แล้ว สิ่งเดียวที่คงทำได้ดีที่สุด คือ พยายามตอบแทนด้วยผลงานที่ดีที่สุด เท่าที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งจะทำได้ในทุกรายการที่เดินทางไปแข่ง ทั้งแมตช์การกุศลและตามทัวร์นาเมนต์สมัครเล่น

“ครั้งแรกที่ผมลงแข่งกอล์ฟสมัครเล่นในประเทศไทย ผมเห็นเสื้อแข่งของนักกีฬาหลายคนติดโลโก้ ‘สิงห์’ เพราะสิงห์สนับสนุนวงการกอล์ฟไทยมายาวนาน ผมน่าจะเป็นเจเนอเรชันที่ 2 – 3 ของสิงห์แล้วด้วยซ้ำ จวบจนถึงวันนี้ สิงห์สนับสนุนนักกอล์ฟไทยมาน่าจะเจเนอเรชันที่ 10 แล้วมั้งครับ

“ผมเคยคิดนะว่า ถ้าวันหนึ่งได้มีโลโก้สิงห์มาติดอยู่บนเสื้อแข่งบ้างคงเท่ไม่น้อย จนกระทั่ง พี่เปี๊ยก-ศุภพร มาพึ่งพงศ์ (ผู้บรรยายกีฬา) แนะนำให้ผมรู้จักกับ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี นายก็ให้การสนับสนุนผมมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 1995 จนถึงทุกวันนี้ ยาวนานไหมครับ”

อย่างที่ธงชัยบอก ไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่มีสปอนเซอร์เป็นสิงห์ แต่เขาพบเห็นนักกีฬาจำนวนมากในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้รับเงินเดือนจากบุญรอดบริวเวอรี่ รวมถึงการสนับสนุนจนกลายเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนากอล์ฟในเมืองไทย เพราะนักกอล์ฟที่ลงแข่งเกือบทั้งหมด ล้วนมีสิงห์เป็นผู้ให้โอกาสและอยู่เคียงข้างพวกเขา

แชมป์ PGA Tour แรกในวัย 52 ของ ‘ธงชัย ใจดี’ โปรระดับโลกที่เริ่มจากงมลูกกอล์ฟในสนามขาย

เรียนรู้จากความลำบาก 

แม้ธงชัยเริ่มต้นจับไม้กอล์ฟครั้งแรกตอนเรียนอยู่ชั้น ม.4 ซึ่งค่อนข้างช้า แต่ความขยันฝึกซ้อม ก็ทำให้ภายในระยะเวลา 3 ปี ธงชัย ใจดี ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นดาวรุ่งที่ตีกอล์ฟได้ไม่ธรรมดา

เขาจึงได้บรรจุเข้ารับราชการที่ศูนย์สงครามพิเศษ ลพบุรี ในโควตานักกีฬากอล์ฟ เพื่อแข่งขันให้หน่วยในกีฬากองทัพบก และที่นี่เอง ธงชัยได้พบกับบทเรียนชีวิตที่สอนให้เขารู้จักคำว่า ‘อดทน ระเบียบวินัย และการเอาชนะใจตัวเอง’

“ผมไม่ได้นึกถึงการเป็นโปรกอล์ฟเลย คิดแค่ว่ากีฬานี้ทำให้ผมได้เป็นข้าราชการ มีเงินเดือน มีสวัสดิการเลี้ยงดูครอบครัว เลยอยากซ้อมและเล่นให้เต็มที่ ให้คุ้มกับโอกาสที่ได้มา 

“มันยากมากสำหรับผมในตอนนั้น เพราะผมบรรจุแบบไม่ได้ผ่านการเป็นนักเรียนนายสิบมาก่อน ก็เลยต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ เราต้องอดทน มีระเบียบวินัย มีความเข้มแข็งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพราะสังคมทหารมีแค่เจ้านายกับลูกน้อง เราต้องทนให้ได้ ถ้าไม่ไหวก็ต้องลาออกไป

“ชีวิตการเป็นทหารของผม ทำงานครึ่งวัน อีกครึ่งวันซ้อมกอล์ฟ ถ้าวันไหนเข้าเวรก็ทำงานเต็มวัน ไม่ได้ซ้อม ถ้าช่วงของการฝึก ผมจะไม่ได้ซ้อมเลย ด้วยความที่หน่วยของผมเป็นหน่วยรบ จึงต้องถูกส่งไปฝึกหลักสูตรพลร่ม 1 ปี และหลังจากนั้นก็ถูกส่งไปเรียนหลักสูตรจู่โจม เป็นเวลา 3 เดือนที่ไม่ได้กลับบ้านเลย

“นั่นคือช่วงเวลาที่หนักสุดแล้วในชีวิต ในตอนที่ฝึกหลักสูตรจู่โจม จะกินก็ไม่ได้กิน จะนอนก็ไม่ได้นอน บางวันโดนฝึกแบบ 24 ชั่วโมง บางสัปดาห์ไม่ได้อาบน้ำเลยในช่วงการฝึก เพราะเป็นการจำลองสถานการณ์รบ มีทั้งภูเขา ทะเล และป่าเบื้องต้น

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวันนั้นคือ ถ้าร่างกายเราไหว เราจะไปถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเจอกับความยากลำบากแค่ไหน ผมก็จะไม่ท้อและถอดใจ

“ตอนที่ฝึกหลักสูตรจู่โจม ผมลำบากมาก เสียเหงื่อไปเป็นโอ่งได้ แต่ก็ผ่านมาแล้ว จนได้เครื่องหมายเสือคาบดาบมาประดับบนอก

“ดังนั้น ทุกเรื่องในชีวิตไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน เราก็จะต้องผ่านไปให้ได้ ผมนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เรื่องความอดทน การดูแลร่างกาย ระเบียบวินัย มาปรับใช้กับตัวเองในตอนเล่นกอล์ฟ

“ผมเคยฝึกซ้อมวันละ 12 – 13 ชั่วโมง ตีวันละ 2,000 – 3,000 ครั้ง เพราะผมอยากติดทีมชาติมาก ซ้อมอย่างนี้อยู่ 1 ปีเต็ม ผมบอกกับตัวเองว่า ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้จะเหนื่อยมากก็ตาม

“เพราะลำบากกว่านี้ผมก็เคยทำมาแล้ว การเป็นทหารสอนให้เป็นคนที่อดทนจริง ๆ”

แชมป์ PGA Tour แรกในวัย 52 ของ ‘ธงชัย ใจดี’ โปรระดับโลกที่เริ่มจากงมลูกกอล์ฟในสนามขาย

อย่ามองกลับหลัง

ผลพวงจากความสำเร็จในการกวาดเหรียญทองซีเกมส์ 1995 ที่จังหวัดเชียงใหม่ของทีมกอล์ฟชายไทย ทั้งประเภทเดี่ยวและทีม ย่อมสร้างความคาดหวังให้กับคนไทย เมื่อมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 1998 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเวียนมาถึง บรรยากาศรอบสนามจึงเต็มไปด้วยกองเชียร์ที่แห่เข้ามา เพราะอยากเห็น ‘กอล์ฟชายไทย’ กอบโกยเหรียญระดับทวีปมาครองต่อหน้าคนทั้งชาติ

“จากการฝึกซ้อมหนักตลอด 1 ปี ผมก็ได้ติดทีมชาติไทย ตอนปี 1995 และอยู่ในทีมชุดที่คว้าเหรียญทองซีเกมส์ที่เชียงใหม่

“ช่วงเก็บตัวซ้อมทีมชาติเกือบ 5 ปี ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ผมไม่ใช่นักกอล์ฟที่ทักษะดีมากนัก ช่วงแรกผมตีโดยอาศัยความรู้สึก แต่ก็ได้รับการขัดเกลาและคำแนะนำต่าง ๆ ในทีมชาติมีเก็บสถิติด้วย

“ทำให้ตอนหลังออกสวิงได้ดีขึ้น จนช่วง 1 ปีก่อนแข่งเอเชียนเกมส์ 1998 ตอนนั้นเป็นช่วงพีกที่สุดของผม ซ้อมดีมาก และเริ่มมองถึงการออกไปเป็นโปรกอล์ฟอาชีพแล้ว

“พอถึงช่วงเวลาแข่งเอเชียนเกมส์ ปรากฏว่าเรากดดันตัวเองจนเล่นพลาด เพราะแฟน ๆ กีฬาชาวไทยและสื่อมวลชนเริ่มตั้งความหวังกับกอล์ฟชายไทยว่าไปถึงเหรียญทองได้

“ผมไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับแรงกดดันขนาดนั้น ทุกอย่างในสนามจึงออกมาไม่เหมือนที่เคยทำได้ตอนซ้อม มันจึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนให้ตัวเอง”

จบการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในบ้านเราปี 1998 กอล์ฟทีมชาติไทยกลับบ้านแบบมือเปล่า ไม่ได้แม้กระทั่งเหรียญทองแดงติดมือกลับมาเลย

ธงชัย ใจดี ยอมรับว่าเขาผิดหวังและเสียใจกับผลงาน แต่ก็ไม่ปล่อยให้อดีตย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง ความพ่ายแพ้เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องพบเจอ ฉะนั้น เราต่างเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ จงอย่าให้อดีตที่ไม่เป็นดั่งใจ มาฉุดรั้งตัวเราไม่ให้ไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

“เป็นธรรมดาถ้าเราตั้งใจทำอะไรสักอย่าง แล้วมันไม่เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการก็ย่อมเสียใจ แต่ความพ่ายแพ้ไม่ได้ทำให้เราตาย เรายังมีชีวิตและลมหายใจอยู่

“เราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีนักกอล์ฟคนไหนในโลกที่ชนะได้ทุกสนาม เราแค่ต้องเรียนรู้กับมัน เติบโตก้าวต่อไป ผมเลยไม่ได้อยู่กับความเสียใจนานนัก เพราะผมจะไม่หันหลังกลับไปมองอดีต มันผ่านไปแล้ว ไม่มีใครย้อนเวลากลับไปได้

“ตอนที่ผมตัดสินใจอยากออกไปเทิร์นโปร ผมรู้ตัวว่าจะต้องเจอกับคนเก่งอีกมากมาย ผมต้องเล่นคนเดียว ไม่เหมือนตอนเป็นมือสมัครเล่นที่ส่วนใหญ่เราเล่นเป็นทีม วันไหนเราเล่นไม่ดี ก็ยังมีเพื่อนร่วมทีมช่วย

“ผมรู้ว่ากอล์ฟอาชีพอาจทำให้ผมต้องพบเจอกับความผิดหวังอีกนับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งระดับการแข่งขันสูงขึ้น ก็ยิ่งท้าทายมากขึ้น แต่ผมก็พร้อมที่จะออกเผชิญหน้ากับมัน เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เราอยากพัฒนาตัวเองให้ไปได้ไกลกว่าเดิม”

สวมหัวใจสิงห์

ลมหนาวปลายปี 1999 ผ่านพัดเข้ามากระทบร่างของ ธงชัย ใจดี เหมือนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า การเริ่มต้นในเส้นทางนักกอล์ฟอาชีพกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ไม่มีใครรู้ว่าชายไทยวัย 30 ปีที่เพิ่งเทิร์นโปรจะไปได้ไกลแค่ไหน แม้กระทั่งตัวเขาเอง รวมถึงผู้สนับสนุนที่กล้าลงทุนเม็ดเงิน เพื่อสานฝันให้ธงชัยเปลี่ยนสถานะจากมือสมัครเล่นมาเป็น ‘โปรกอล์ฟอาชีพ’

แต่ในวันหนึ่งที่ธงชัยเริ่มมีความฝันใหญ่ขึ้น นั่นคือการเทิร์นโปรแข่งในระดับเอเชียน ทัวร์ เขายอมรับว่าลำพังแค่ตัวเขาคนเดียว คงไม่มีทางไปถึงจุดนั้นได้แน่นอน เนื่องจากการเล่นอาชีพมีค่าใช้จ่ายสูง

สันติ ภิรมย์ภักดี จึงเป็นคนที่เขานึกถึง ธงชัยตัดสินใจหอบความฝันไปบอกเล่ากับผู้ใหญ่ที่ตนเรียกว่า ‘นาย’ และบทสนทนาก็จบลงเพียงระยะเวลาสั้น ๆ

พร้อมไหม ถ้าพร้อมแล้วจะรออะไร ทันทีที่สิ้นประโยคนี้จากผู้บริหารบุญรอดบริวเวอรี่ ประตูสู่เวทีระดับโลกของ ธงชัย ใจดี ก็เปิดกว้างออกทันที

“ทุกครั้งที่ผมชนะ ท่านจะเป็นคนแรกที่ส่งข้อความมาแสดงความยินดี บางปีผมอาจทำผลงานได้ไม่ดี ท่านก็มีแต่กำลังใจให้ตลอด ‘สู้ ๆ ไม่เป็นไร ปีหน้าเอาใหม่ เล่นกอล์ฟให้สนุก’

“ทุกครั้งที่ออกไปแข่งขัน ผมจึงพยายามสู้กับทุกอุปสรรคที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะยากแค่ไหน ผมก็สู้เต็มที่ให้สมกับที่ได้รับโอกาส

“คุณสันติท่านเป็นคนที่มีแต่ให้ ไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน ขอให้เรามีอนาคตที่ดี เลี้ยงดูครอบครัวได้ และเป็นคนดีของสังคมก็พอ ท่านไม่ได้ต้องการอะไรอย่างอื่นจากเราเลย

“พวกเราทีมนักกอล์ฟของสิงห์เคยถามคุณสันตินะครับว่า เราจะตอบแทนสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร คุณสันติตอบกลับทุกคนมาว่า ไม่ต้องตอบแทนอะไรท่านเลย เมื่อไหร่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว อย่าลืมที่จะส่งต่อโอกาสเหล่านั้นให้กับคนอื่น ๆ ใช้ประสบการณ์ที่มีสร้างคนรุ่นต่อ ๆ ไป” เจ้าของโรงเรียนสอนกอล์ฟธงชัย ใจดี และผู้ก่อตั้งมูลนิธิธงชัย ใจดี เพื่อสานต่อโอกาสให้เด็กยากไร้ได้เล่นกอล์ฟเผย

วงสวิงสู่ดวงดาวของ ‘ธงชัย ใจดี’ จากเด็กงมลูกกอล์ฟในสนามขาย สู่นักกอล์ฟศึกเอเชีย ยุโรป และแชมป์ PGA Tour ในวัย 52 ปี

ชนะใจตัวเองและสนามให้ได้ก่อน

ปีแรกในการเป็นนักกอล์ฟอาชีพในเอเชียน ทัวร์ ของ ธงชัย ใจดี จบลงแบบมือเปล่า ทำได้ดีสุดคือติดท็อป 5 ในบางรายการ

ทว่าเพียงไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากนั้น ธงชัยก็พุ่งทะยานขึ้นไปสู่การเป็นมือ 1 ของทัวร์ เดินหน้ากวาดแชมป์ต่อเนื่องแทบทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 รายการ จนทำเงินรางวัลสะสมสูงสุดในฤดูกาลของเอเชียน ทัวร์ ได้ถึง 3 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น หนึ่งในรายการที่เขาชนะเลิศ (เมย์แบงก์ มาเลเซียน โอเพ่น ปี 2004) จัดเป็นทัวร์นาเมนต์โคแซงชั่น จึงทำให้ธงชัยได้สิทธิ์ไปเล่นยูโรเปียน ทัวร์ แบบไม่ต้องคัดเลือก ซึ่งเวลานั้นไม่ค่อยมีนักกอล์ฟชายจากภูมิภาคเอเชียที่ได้ไปแข่งในยูโรเปียน ทัวร์ ที่ระดับความเข้มข้นและเงินรางวัลสูงกว่าเอเชียน ทัวร์

“ผมเป็นโปรไทยยุคแรก ๆ ที่ได้เล่นยูโรเปียน ทัวร์ แบบเต็มตัว ปีแรกที่ได้เล่นในยุโรป ผมตกรอบบ่อยมาก เพราะเราไม่เคยเล่นในสภาพอากาศแบบนี้

“บ้านเราฝนตกเม็ดใหญ่ก็เลิกแข่งแล้วใช่ไหม แต่ที่ยุโรป บางวันเจอกับลม ฝน และหนาว เราก็ต้องเล่นให้ได้ อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียสก็ต้องตีต่อ

“ผมท้อเหมือนกันในช่วงปีแรก เคยคิดจะเลิกก็มี แต่มาคิดอีกที ตอนเป็นทหารลำบากกว่านี้ยังทนได้เลย ก็ต้องสู้ต่อไป ตราบใดที่ร่างกายยังไหวอยู่

“อย่างเรื่องภาษา ตอนมาใหม่ ๆ ผมก็ยังพูดไม่ค่อยได้ เวลาเดินทางไปต่างประเทศผมเคยกลัวด่านตรวจคนเข้าเมือง กลัวกรอกข้อมูลไม่ถูก แต่เรื่องภาษาจำเป็นมากหากอยากจะแข่งในยุโรป ผมจึงซื้อหนังสือ เรียนพูดอังกฤษ 96 ชั่วโมงด้วยตนเอง มาอ่าน ศึกษาด้วยตัวเอง ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ ทุกวันนี้ก็ยังพกติดตัวมาอ่านอยู่

“ผมพยายามสังเกตว่า เวลานักกอล์ฟให้สัมภาษณ์เขาพูดอะไรกันบ้าง ก็ฝึกจากตรงนั้น เรื่องแกรมมาร์ผมอาจไม่เก่ง เพราะผมเน้นจำเป็นประโยค เป็นคำที่ใช้ในการเล่นกอล์ฟมากกว่า แต่ตอนนี้ก็สื่อสารได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

“ผมเคยใส่เสื้อกันฝนตัวใหญ่ซ้อมกลางแดดบ้านเรานี่แหละ เหงื่อออกท่วมตัวเลย แต่ก็ต้องทนเพื่อให้ตัวเองชินกับเสื้อกันฝน เวลาไปแข่งจริงที่ยุโรป หากต้องหยิบเสื้อกันฝนมาใส่ เราก็จะตีได้ไม่มีปัญหา”

จากที่เคยตกรอบอย่างสม่ำเสมอในปีแรก ธงชัยเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นในปีต่อ ๆ มา จนอันดับดีขึ้นและก้าวขึ้นเป็นอีกหนึ่งนักกอล์ฟแถวหน้าของการแข่งขันในยุโรป ด้วยการกวาดแชมป์ยูโรเปียน ทัวร์ มาครองถึง 8 รายการ

เขายืนยันว่า ทุกความสำเร็จล้วนมาจากการฝึกซ้อมหนักและความกล้าที่จะเดินต่อไป แม้ช่วงเริ่มต้นอาจต้องพบกับความผิดหวังเข้ามารบกวนใจบ่อยครั้ง แต่เขาก็เลือกปักหลักยืนสู้กับมันหลุมแล้วหลุมเล่า จนสุดท้ายก็ปักหมุดหมายของนักกอล์ฟไทยบนทวีปยุโรปได้อย่างเต็มภาคภูมิ

“ผมเป็นคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานดี แต่ขยันซ้อม ชอบเรียนรู้ตลอดเวลา และพยายามหาโอกาสให้ตัวเองเสมอ ผมไม่กลัวที่จะก้าวต่อไปในสเต็ปที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเราคิดออกมา (เล่นอาชีพในยูโรเปียน ทัวร์) แล้ว เราก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด มันไม่ตายหรอกครับ เพราะถ้าตาย นักกอล์ฟที่มาแข่งในยุโรปคงตายหมดแล้ว

“อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองสู้ไม่ได้ เราเป็นคนไทย สรีระเป็นรอง หรือเราสู้ไม่ได้ เพราะเราไม่คุ้นกับอากาศ อย่าเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นข้อจำกัดให้ไม่กล้าที่จะออกมา

“เพราะถ้าเราชนะใจตัวเองไม่ได้ เอาชนะสนามไม่ได้ ก็คงเป็นแชมป์ไม่ได้หรอกครับ หากผมมายุโรปแล้วไม่สู้ เล่นแค่หวังเข้ารอบ ผมจะมาทำไม”

ตีลูกกอล์ฟให้ถึงดวงจันทร์

ความสำเร็จและเงินรางวัลที่กอบโกยได้มากมายหลายร้อยล้านบาทในยูโรเปียน ทัวร์ ไม่ได้ทำให้เขาอิ่มตัวกับอาชีพนี้จนหมดความท้าทายและไฟในการแข่งขัน

ตรงกันข้าม สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดหนักทั่วยุโรป จนทำให้เขาไม่ได้แข่งขันนานถึง 14 เดือน กลับยิ่งปลุกไฟในตัวธงชัยให้กระหาย อยากไปแสดงความท้าทายใหม่ ด้วยการคว้าแชมป์ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่เป็นแหล่งรวมตัวของสุดยอดนักกอล์ฟมือดีแถวหน้าของโลก

“ช่วงที่เป็นมือ 1 เอเชีย และติดท็อป 50 ของโลก ผมเคยมีโอกาสไปแข่งขันที่อเมริกาบ้าง ปีละไม่กี่แมตช์ แต่ผลงานของผมไม่ค่อยดีนัก เพราะนักกีฬาเจ้าถิ่นเขาคุ้นสนามมากกว่า อีกทั้งรูปแบบการเล่นก็แตกต่าง ที่อเมริกาต้องตีลูกให้สูง มันยาก

“ไม่เหมือนที่ยุโรป ตอนนี้ผมปรับตัวได้ สนุกกับการแข่งขัน เพราะเรามีประสบการณ์ ผมจึงมีเป้าหมายอยากเอาชนะรายการในอเมริกาให้ได้ จนมาถึงปี 2020 – 2021 โควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้ในยุโรปไม่มีทัวร์แข่ง ส่วนที่อเมริกาเริ่มมีการผ่อนปรน

“แล้วก็มีทัวร์สำหรับซีเนียร์ (การแข่งขันสำหรับนักกอล์ฟที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป) เรายิ่งรู้สึกสนุกและอยากเข้าไปเล่น เพราะมีแต่คนเก่ง ๆ หลายคนที่เคยชื่นชม เคยติดตามดูเขามานาน บางคนเราไม่เคยมีโอกาสเล่นกับเขาในยุคที่เขารุ่งเรือง แต่วันนี้เราก็ได้มาแข่งกับเขาในสนามเดียวกัน

“ผมเลยตัดสินใจบินมาอยู่อเมริกา 9 เดือนเต็ม ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2021 เพื่อคัดตัวเข้าร่วมการแข่งขัน ผมต้องเริ่มตั้งแต่ไปคัดตัวกับนักกอล์ฟนับพันคน เพื่อหา 5 คนเข้าไปเล่น เนื่องจากช่วงโควิด-19 มีการจัดอันดับใหม่ ผมจึงต้องมาคัดตัวทุกรายการเพื่อเก็บสะสมคะแนน และหาโอกาสให้ตัวเองได้ลงเล่นในทัวร์แต่ละรายการ”

ธงชัย ใจดี ไม่เคยชนะการแข่งขันอาชีพประเภทเดี่ยวมานานถึง 6 ปีแล้ว นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายได้แชมป์ เฟรนช์ โอเพ่น ปี 2016 ทว่าความพ่ายแพ้ไม่อาจหยุดยั้งให้เขาล้มเลิกหรือคิดแขวนก้านเหล็ก ธงชัยยังคงออกไปคัดตัวและลงแข่งในทุกโอกาสที่มีสิทธิ์

จนมาถึงรายการ American Family Insurance Championship ซึ่งเป็น PGA Tour Champions ที่มีเงินรางวัลสูง ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเงินสูงถึง 360,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 12.24 ล้านบาท) โปรวัย 52 ปี คัดตัวไม่ผ่านในรอบ Monday Qualifiers เขาจึงตัดสินใจจะกลับไปฝึกซ้อมที่เมืองแอตแลนตา โดยได้จองตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางแล้ว

วงสวิงสู่ดวงดาวของ ‘ธงชัย ใจดี’ จากเด็กงมลูกกอล์ฟในสนามขาย สู่นักกอล์ฟศึกเอเชีย ยุโรป และแชมป์ PGA Tour ในวัย 52 ปี

กระทั่งทางผู้จัดการแข่งขันแจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎ ธงชัยจึงได้รับโควตาเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ และเรื่องราวหลังจากนั้นก็เป็นประวัติศาสตร์…

“ในวันที่อายุมากขึ้น แน่นอนว่าสายตาเราไม่คมชัดเหมือนเดิม อ่านไลน์ไม่ขาดเหมือนแต่ก่อน แต่นั่นก็ทำให้เราต้องทำการบ้านเยอะขึ้น สิ่งสำคัญคือการดูแลร่างกายก่อนบินมาแข่งที่อเมริกา ผมใช้เวลาถึง 3 วันในการตรวจร่างกายทุกอย่าง สแกน MRI เพื่อเช็กว่าส่วนไหนบกพร่อง หลังเป็นอย่างไร สมอง ช่องท้อง หัวใจ ทุกอย่างโอเคไหม

“เพราะการจะเป็นแชมป์ คุณต้องฟิตสมบูรณ์พร้อมทั้งสัปดาห์ แข่ง 4 วัน คุณต้องรักษาระดับการเล่นให้สม่ำเสมอ ถ้าไม่พร้อมจริงก็ไม่มีทางเป็นแชมป์ได้เลย ผมไปถึงสนามนี้ ตอนแรกก็ไม่คาดคิดว่าจะเป็นแชมป์หรอก

“แต่พอได้ลองซ้อม ผมยังคุยกับแคดดี้เลยว่า สนามเข้าทางผมมาก ทั้งที่ไม่เคยลงแข่งที่นี่ ผมใช้เวลาในการกลิ้งลูกหาจังหวะ เช็กบนกรีนนานมาก ถ้าเราเปิดดี เราก็มีโอกาส

“ผมโชคร้ายที่หลุมทำคะแนนตีไปติดต้นไม้ ทำให้สถานการณ์ผมตามหลัง แต่ในจังหวะถัดมา ผมทำเบอร์ดี้ได้ยาวทีเดียว ผมจึงพลิกนำ 1 คะแนนก่อนแข่งหลุมสุดท้าย”

ธงชัยได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมทั่วประเทศ ซึ่งต่างชื่นชมในหัวใจอันเป็นนักสู้ของโปรไทยวัย 52 ปี ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากแค่ไหน เขาก็ฝ่าฟันจนได้สัมผัสแชมป์ PGA Tour Champions เป็นครั้งแรกในชีวิต

แม้เป็นการแข่งขันระดับซีเนียร์ แต่ความโหดหินก็ไม่น้อยเลย และนี่คงเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเขาได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้โปรไทยรุ่นต่อ ๆ ไป กล้าที่จะออกไปสู่เวทีระดับโลก

“น้อง ๆ รุ่นใหม่พัฒนาขึ้นเยอะ ปัจจุบันเรามีนักกอล์ฟไทยใน LPGA นับ 10 คน ส่วนในเอเชียน ทัวร์ เรามีคนไทยเล่นอยู่เกือบครึ่งของทัวร์ เพราะนักกอล์ฟบ้านเรามีศักยภาพขึ้นมาก และทางสิงห์เองก็ให้การสนับสนุนเด็กไทยมาตลอด ตั้งแต่รุ่นก่อนหน้าผมจนถึงรุ่นใหม่

“อย่าง โปรแพตตี้-ปภังกร ธวัชธนกิจ ก็เป็นแชมป์ระดับเมเจอร์ LPGA มาแล้ว หรืออย่าง น้องทีเค-รัชชานนท์ ฉันทนานุวัฒน์ คนนี้น่าจับตามอง เพราะอายุแค่ 15 ปี แต่น้องขยัน มุ่งมั่นเกินวัย จนเอาชนะในรายการอาชีพของผู้ใหญ่ได้ รอแค่จังหวะและโอกาสเท่านั้น

“ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่น้อง ๆ มีโอกาส อยากให้น้องทุกคนในทีมกอล์ฟของสิงห์ตั้งใจและทำมันให้ได้ เพราะมันอาจเปลี่ยนชีวิตน้องได้เลย เช่น หากได้ลงแข่งในรายการโคแซงชั่น ก็อยากให้น้องพยายามเล่นให้ดีที่สุด เพื่อจะได้คว้าสิทธิ์ไปแข่งในยูโรเปียน ทัวร์ แบบไม่ต้องคัดตัว

“ผมอยากให้น้อง ๆ เด็กไทยรุ่นใหม่ได้ออกมาเล่นทัวร์ใหญ่ ๆ เพื่อนำชื่อเสียงกลับไปสู่ประเทศไทย”

คำโฆษณาของสิงห์ เคยบอกว่า “ตีลูกกอล์ฟให้ถึงดวงจันทร์ ถึงพลาดก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว” คงเป็นไตเติ้ลที่เหมาะสมกับชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ ธงชัย ใจดี ในวัย 52 ปี

เขาอาจเริ่มต้นช้าและไม่ได้มีต้นทุนชีวิตที่เป็นแต้มต่อ แต่เพราะความมานะบากบั่น ไม่เคยกลัวล้มเหลวและขยันทุ่มเทให้กับกีฬาชนิดนี้แบบสุดตัวอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งให้เขามาไกลเกินกว่าจะมีใครจินตนาการ หากมองจากวันแรกที่จับไม้กอล์ฟตอนอายุ 16 ปี

“สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในตัวผมคือ ผมสู้ ผมไม่ท้อ และมีเป้าหมายชัดเจน ถ้าวันนี้ทำสำเร็จเป้าหมายที่หนึ่ง ผมก็ต้องมองหาเป้าหมายใหม่เพื่อให้ตัวเองได้เดินหน้าต่อไป ผมเหลือแชมป์เมเจอร์ที่ยังไม่เคยได้ ก็ยังเป็นเกียรติยศที่ผมอยากคว้ามาครองให้ได้

“ตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมก็ยังจะเล่นกอล์ฟต่อไป สู้มันไปทุกวัน จนกว่าจะเดินไม่ได้ ผมถึงค่อยเลิกเล่น แต่ถ้าตอนนี้ผมยังเดินไหว ยังตีได้ในระดับนี้ ผมคงไม่มีทางล้มเลิกความฝัน ผมยังคงตื่นมาและพร้อมที่จะสู้กับชีวิตในเช้าวันใหม่เสมอครับ”

Writer

Avatar

อลงกต เดือนคล้อย

เจ้าของเพจ alongwrite และบรรณาธิการบทสัมภาษณ์แห่ง Main Stand