ธงชัย บุศราพันธ์ คือซีอีโอและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

เขาชวน The Cloud มานั่งคุยในห้องทำงานซึ่งอยู่ในอาคารด้านหน้าของโนเบิล เพลินจิต ผนังห้องตรงโต๊ะประชุมติดภาพถ่ายขาวดำไว้เป็นแนว มันคือภาพที่เขาถ่ายตอนไปภูฏาน เขาจริงจังกับการถ่ายภาพขาวดำมาเนิ่นนาน ถึงขนาดมีห้องมืดไว้ล้างอัดภาพเองที่บ้าน

ในบรรดาภาพขาวดำทั้งหมด มี 2 ภาพที่ถูกเติมสีด้วยสีไม้ นั่นเป็นฝีมือภรรยาของเขา ผู้ที่สนับสนุนเขาในทุกช่วงเวลาของชีวิต

ธงชัย บุศราพันธ์ CEO โนเบิล นักคิดต่างผู้ข้าม 3 วิกฤตใหญ่ด้วยการหาโอกาส

บนโต๊ะทำงานและชั้นด้านหลัง เต็มไปด้วยเลโก้ทั้งจรวด รถ และงานสถาปัตยกรรมดังๆ ของโลก เขาเป็นคนซื้อ ลูกเป็นคนต่อ

ธงชัย บุศราพันธ์ CEO โนเบิล นักคิดต่างผู้ข้าม 3 วิกฤตใหญ่ด้วยการหาโอกาส

ชายวัย 51 ปี คนนี้จริงจังกับการวิ่ง เขาผ่านสนามมาราธอนระดับเวิลด์เมเจอร์มาแล้ว 5 ใน 6 สนาม ปีที่แล้ว ถ้าไม่ติด COVID-19 เขาก็ควรจะเก็บบอสตันมาราธอนสนามสุดท้ายได้สำเร็จ

ไม่นานมานี้ โนเบิลมีหนังโฆษณาครบรอบ 30 ปี เป็นหนังโฆษณาที่อินดี้ไม่ต่างจากหนังโฆษณาตัวแรก เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงอะไรเกี่ยวกับงานของโนเบิลเลย แต่เล่าถึง แคทเธอรีน สวิตเซอร์ (Kathrine Switzer) ผู้หญิงคนแรกที่ลงไปวิ่งในเวทีบอสตันมาราธอนเมื่อ 50 ปีก่อน ในวันที่การแข่งขันนี้ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วม เธอโดนไล่จับ แต่ก็วิ่งจบ จนเกิดการเปลี่ยนกฎให้ผู้หญิงลงแข่งได้ นี่คือแนวคิด Be different ของโนเบิล ไม่ใช่แค่แตกต่าง แต่ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม

พื้นที่ชั้นล่างของอาคารสำนักงานโนเบิล เพลินจิต ริมถนนสุขุมวิท ควรจะทำรายได้ให้โครงการได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ซีอีโอคิดต่างคนนี้เลือกใช้มันเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เงินกลับคืนมา
เขาอยากเห็นคนมาเล่นสนุกกับพื้นที่ตรงนี้ ทั้งแสดงงานศิลปะ เลือกสินค้าน่าสนใจมาขาย มีเวิร์กช็อป มีอีเวนต์ รวมถึงชวนชาวกาแฟมาเปิดร้านกาแฟด้วยความคิดใหม่ๆ ทั้งหมดนี้ให้หมุนเวียนกันใหม่ทัั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่

ต้นปีนี้ ชื่อของเขาถูกพูดถึงในสื่อ ในฐานะผู้บริหารที่พาองค์กรทำรายได้มากถึงหมื่นล้าน ท่ามกลางปัญหา COVID-19

แต่เมื่อ พ.ศ. 2562 ชื่อของเขาปรากฏในสื่อมากกว่า เมื่อเขากลับคืนสู่โนเบิลในตำแหน่งซีอีโออย่างเหนือความคาดหมาย

พ.ศ. 2556 เรื่องราวของเขาเป็นที่ฮือฮาในวงการอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเขาซื้อที่ดินผืนใหญ่ระหว่างซอยสุขุมวิท 22 และ 24 ได้สำเร็จ ด้วยการจ่ายในราคาต่อตารางเมตรที่สูงที่สุดในประเทศ และปีเดียวกันนั้น เขาก็ได้จับมือกับครอบครัวลิปตพัลลภ พัฒนาพื้นที่นั้นเป็นคอนโดฯ Park 24 หลักหมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ชื่อของเขาเป็นข่าวใหญ่ของวงการ เมื่อเขาตัดสินใจลาออกจากโนเบิล บริษัทที่เขาสร้างมากับมือ

ถอยกลับไป พ.ศ. 2540 เขาคือเอ็มดีหนุ่มวัย 27 ปี ที่สร้างโนเบิลจากศูนย์ จนเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ แล้วก็เจอวิกฤตต้มยำกุ้งจนเสียศูนย์ในปีเดียวกัน แต่ก็พาองค์กรกลับมาได้ด้วยวิธีคิดที่นอกกรอบมาก

พ.ศ. 2534 เขาคือนิสิตบัญชี จุฬาฯ เพิ่งจบใหม่ เข้ามาทำงานที่โนเบิลตั้งแต่ยังมีพนักงานไม่ถึง 10 คน เขาแจ้งเกิดโนเบิลด้วยโครงการแรก โนเบิล พาร์ค ด้วยบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ไม่มีใครทำ พร้อมด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด และหนังโฆษณาที่แตกต่างจากผู้เล่นรายเดิมโดยสิ้นเชิง แบบเดียวกับการเกิดขึ้นของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ในยุคที่พีซีเป็นเจ้าตลาด

ในวัยเด็ก เขาอยู่ในตึกแถว เลยชอบขี่จักรยานไปเล่นในหมู่บ้านใกล้ๆ เขาชอบดูสนามหญ้า ดูบ้านเป็นหลังๆ พอโตขึ้นมาก็ชอบเข้าร้านหนังสือไปเปิดดูรูปบ้านสวยๆ ในต่างประเทศ ช่วงเรียนจุฬาฯ เขาทำโครงงานในงานจุฬาฯ วิชาการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ นั่นทำให้เขามั่นใจว่า เขาชอบทางนี้จริงๆ

โครงงานนั้นได้รับเสียงชื่นชมมากมาย พอเรียนจบ เขาก็ชวนเพื่อนที่ทำงานนั้นทั้งกลุ่ม มาบุกเบิกบริษัทโนเบิลด้วยกัน

ธงชัย บุศราพันธ์ CEO โนเบิล นักคิดต่างผู้ข้าม 3 วิกฤตใหญ่ด้วยการหาโอกาส

เจ้าของบริษัทคุณใจถึงมาก กล้าฝากโครงการมูลค่าพันกว่าล้านบาทไว้ในมือเด็กจบใหม่แปดคน

ใช่ (หัวเราะ) เขาให้โอกาสเราทำ ต้องบอกว่า เราลองผิดลองถูกเยอะมาก เพราะไม่มีใครรู้อะไรเลย แต่โชคดีที่โปรเจกต์แรกถูกคราฟต์บนความคิดที่มั่นคง ทุกอย่างที่เราทำวิเคราะห์แล้วว่าทาวน์เฮาส์ปัจจุบันมีข้อไม่ดียังไง เราอยากทำทาวน์เฮาส์ที่ดีกว่าเดิม เลยออกมาเป็นคอนโดเฮาส์ เป็นคอนโดฯ แนวราบ มีที่จอดรถรวมตรงกลาง แล้วมีทางเดินเข้าบ้าน เป็นนวัตกรรมเลย คนก็ชอบความแปลกใหม่ของสิ่งที่เราออกแบบ สิ่งที่เราให้ เปิดขายวันแรกก็ขายได้แปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ทันที

การทำที่จอดรถรวมในโนเบิล พาร์ค ถือเป็นตำนานของวงการอสังหาฯ เลย คุณคิดจากอะไร

คนมองว่าถนนต้องเชื่อมถึงหน้าบ้าน เพื่อให้เอารถไปจอดในบ้าน แต่ก็จะเกิดสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยดี คนเดินถนนก็ไม่ปลอดภัย เราเลยเอาที่จอดรถมารวมกันข้างนอก แล้วทำเป็นทางเดินเข้าไปแทน เอาเสาไฟลงใต้ดิน ทำเป็นพื้นที่สีเขียวให้ร่มรื่น แต่ละบ้านก็ได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องเสียพื้นที่จอดรถ แต่ก็ถกกันอยู่นานว่า คนไทยติดรถนะ ซื้อรถก่อนซื้อบ้านด้วยซ้ำ แล้วก็กลัวรถหาย รถตากแดด ไหนจะต้องถือของเดินตากแดดตากฝนเข้าบ้านอีก คนจะยอมเหรอ ก็ต้องไปพิสูจน์กันว่า สิ่งที่เราให้กับสิ่งที่เขาเสีย เทียบกันแล้วคนจะตัดสินใจซื้อไหม

ถ้าย้อนเวลากลับไปตัดสินใจอีกที ยังกล้าทำแบบเดิมไหม

ไม่กล้า (ตอบทันที) วันนี้รู้เยอะแล้ว วันนั้นทำเพราะไม่รู้ ไม่รู้ขนาดว่า สั่งทำบ้านตัวอย่างแล้ว ทำโบรชัวร์ ทำหนังโฆษณาแล้ว โปรดักต์ที่เราคิดว่าจะขายเป็นทาวน์เฮาส์ เจ้าหน้าที่ไม่ให้จัดสรร เพราะกฎหมายเขียนว่า ต้องมีถนนขนาดแปดเมตรถึงหน้าบ้านทุกหลัง ของเราไม่ถึง แต่ถนนในโครงการเราใหญ่กว่า ที่จอดรถใหญ่กว่า สมมติกฎหมายจัดสรรบอกว่า พื้นที่ร้อยไร่ต้องมีสาธารณูปโภคยี่สิบไร่ ของเรามีสามสิบเลยนะ คือทำดีกว่าที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ก็หัวเราะแล้วบอกว่า เขาไม่ได้สนว่าคุณทำดีแค่ไหน แต่สนว่าคุณทำตามกฎหมายกำหนดหรือเปล่า ให้ไปทำมาใหม่ เราไม่รู้ขนาดนั้น

ผมก็ไปอ่าน พ.ร.บ. ควบคุมจัดสรรที่ดิน พ.ร.บ. อาคารชุด เจอว่า ถ้าคุณมีของที่เป็นส่วนกลาง เช่น ที่จอดรถ แทงค์น้ำ คุณจดทะเบียนเป็นคอนโดฯ ได้ เพราะไม่ได้ระบุว่า อาคารชุดต้องสูงกี่ชั้น เราก็จดทะเบียนเป็นคอนโดฯ แล้วตั้งชื่อว่า คอนโดเฮาส์ ลูกค้าก็ยิ่งชอบ เพราะมีระบบแบบคอนโดฯ มาดูแล พิเศษขึ้นไปอีก แต่วันนี้ไม่ทำแน่นอน ไม่กล้าขนาดนั้นแล้ว (หัวเราะ)

ตอนนั้นวงการอสังหาฯ มองโนเบิลในมือเด็กหนุ่มเพิ่งจบยังไง

ก็ฮือฮา รู้สึกว่าพวกนี้มาใหม่ ไฟแรง แต่ไม่ได้คิดว่าต้องทำตาม เพราะทุกคนก็มีที่ทางของตัวเองอยู่แล้ว อาชีพของผมมีรุ่นบุกเบิกอย่าง คุณอนันต์ อัศวโภคิน ทำแลนด์แอนด์เฮ้าส์ แล้วก็มีคนเข้ามาเรื่อยๆ ผมเป็นรุ่นสุดท้ายที่เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปีสี่ศูนย์ แล้วเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ผู้บริหารที่โดนมีตั้งแต่อายุหกสิบมาถึงผม ซึ่งเด็กที่สุดคืออายุยี่สิบเจ็ด

หลังปีสี่ศูนย์อุตสาหกรรมนี้ก็หยุดเลย ตายไปเกือบห้าปี ไม่มีใครเข้ามาใหม่ เรายังเป็นเจ้าเดียวที่ทำโมเดิร์น จนช่วงปีสี่เจ็ดสี่แปดก็เริ่มมีอนันดา ออริจิ้น ผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา พวกนี้เป็นรุ่นน้องผมแล้ว เขาเข้ามาทำแนวโมเดิร์น ถึงวันนี้บริษัทที่อยู่หัวแถวก็เลิกทำบ้านหลังคาจั่ว มาทำบ้านโมเดิร์นในที่สุด

ธงชัย บุศราพันธ์ CEO โนเบิล นักคิดต่างผู้ข้าม 3 วิกฤตใหญ่ด้วยการหาโอกาส
ธงชัย บุศราพันธ์ CEO โนเบิล นักคิดต่างผู้ข้าม 3 วิกฤตใหญ่ด้วยการหาโอกาส

ผู้บริหารหนุ่มที่หยิบจับอะไรก็สำเร็จไปหมด พอเจอวิกฤตต้มยำกุ้งเข้าไป เป็นยังไงบ้าง

ก็หนักนะ ทำไมเราต้องมาเจอเรื่องพวกนี้ ในเวลาที่เราควรจะได้ก้าวต่อไปให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่มองย้อนกลับไป ผมว่าดีมากนะ ปีสามเก้าผมสมัครไปเรียนต่อโทที่เมืองนอก ได้โรงเรียนธุรกิจระดับโลกที่ดีมาก แต่ผมตัดสินใจไม่ไป เพราะอยากอยู่เอาบริษัทเข้าตลาดปีสี่ศูนย์ ผมอยากเห็นมันประสบความสำเร็จ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินเลย เพราะตอนนั้นผมไม่ได้มีหุ้น การไปเรียนอาจจะได้อะไร แต่การอยู่แก้ปัญหาในปีสี่ศูนย์ ให้บทเรียนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนจากที่ไหนเลย ทำให้รู้ว่าตอนลำบากที่สุด หมดหวังที่สุดเป็นยังไง ตอนที่เราอยากเอาชนะปัญหาต้องใช้อะไร หาโอกาสยังไง หาคนมาช่วยยังไง ถือเป็นจุดพลิกแนวคิดในการแก้ปัญหาทั้งหมดของผม

คุุณได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้น

ในอุตสาหกรรมของผม คนจำนวนหนึ่งอยากทำมาก เพราะเหมือนจะหาเงินง่าย งานไม่ค่อยหนัก ทุกอย่างดูดี แต่ที่เขาไม่เข้ามาทำกันเพราะไม่มีเงิน รู้สึกว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เงินเยอะ สิ่งที่ผมเจอปีสี่ศูนย์คือ ไม่ใช่หาเงินแล้วไปหาโอกาส แต่ต้องหาโอกาสก่อนแล้วค่อยไปหาเงิน

ตอนนั้นเราไม่มีเงินเหลือเหลือ โละพนักงานออกไปครึ่งหนึ่ง พนักงานที่เหลือมีเงินจ่ายเงินเดือนได้ต่ออีกหกเดือน ต้องเรียกทุกคนมาถามว่า จะรับเงินเลยไหม หรือจะอยู่ต่อด้วยกันอีกหกเดือนแล้วหาทางออกด้วยกัน ทุกคนบอกว่าอยู่ต่อ ก็มาช่วยกัน จนเราหาทางออกได้โดยไม่มีเงินสักบาท แต่พอหาโอกาสเจอ เงินก็มาเอง ฟังดูเป็นเรื่องแค่นี้ เหมือนไม่ยาก แต่โคตรยากเลย แล้วก็เป็น Mind Block ของคนทั่วไปที่คิดว่า ถ้าหาเงินไม่ได้ก็ไม่มีโอกาส ไม่ใช่ ต้องหาโอกาสก่อน

คุณมองหาโอกาสยังไง

ตอนนั้นหนี้ท่วม ขายของให้หมดหนี้ก็ไม่หมด ไม่รู้ว่าทางแก้คืออะไร เพราะเป็นครัั้งแรกที่เมืองไทยโดน ผมเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในโลก คงมีคนเคยเขียนว่า จะออกจากวิกฤตได้ยังไง ตอนนั้นมีอินเทอร์เน็ตแล้ว แบบต่อด้วยโมเด็ม ผมก็เข้าไปหาในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหนึ่ง เจอเคสว่า อเมริกายุคเจ็ดศูนย์เกิดวิกฤตที่เรียกว่า Savings and Loan อสังหาฯ พัง รัฐบาลต้องเทกโอเวอร์สถาบันการเงิน เอาสินทรัพย์ของสถาบันการเงินมาขายทอดตลาด ในหนังสือบอกว่า ใครก็ตามเข้าไปซื้ออสังหาฯ พวกนี้ได้ เดี๋ยวมันจะรีบาวนด์ขึ้นมา ทำให้เกิดกำไรมหาศาล ตรงกับประเทศไทยเลย ไทยเพิ่งเข้าโปรแกรมของไอเอ็มเอฟ ปิดสถาบันการเงิน ตอนนั้นยังไม่ถึงจุดที่จะยึดสินทรัพย์มาขายนะ แต่หนังสือบอกว่า เดี๋ยวจะเกิด เห็นทรงแล้วก็น่าจะใช่

ผมคิดว่านี่คือทางออกแน่ๆ ก็เดินไปพรีเซนต์กับบริษัทว่า เดี๋ยวรอให้เขาตั้งสถาบันการเงินขึ้นมาขายสินทรัพย์ เราต้องเข้าไปประมูล แล้วก็เกิด ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) ขึ้นมาจริงๆ แต่การเข้าไปดูข้อมูลของ ปรส. คุณต้องเอาเงินยี่สิบล้านบาทไปวางไว้เพื่อค้ำประกัน วันนั้นบริษัทผมเหลือเงินไม่เกินห้าสิบล้านบาท ผมกำลังจะขอเงินยี่สิบล้านไปวางไว้เฉยๆ ทำให้บริษัทอายุสั้นลงไปอีก บอร์ดก็งงว่าเราจะไปประมูลได้ยังไง เพราะไม่มีเงินเหลือเลย หนี้เพียบ คุณจะเข้าไปดูทำไม ผมก็บอกว่า ตามหนังสือที่ผมอ่าน เดี๋ยวมันจะเป็นแบบนี้ เราไม่มีเงินเหลือในประเทศแล้ว เดี๋ยวจะมีฝรั่งบินมาซื้อพวกนี้ไปบริหารต่อ

ฝรั่งที่บินจากวอลล์สตรีท นิวยอร์กมาเมืองไทย เขารู้จักกรุงเทพฯ รู้จักสามย่าน เพลินจิต รังสิตไหมว่าต่างกันยังไง เขาไม่รู้หรอก แล้วเวลาประมูลมันสั้นมาก แค่สองสามเดือนต้องจบราคาแล้ว เขาจะอยากได้อะไร ต้องอยากได้ข้อมูลที่บอกว่า ราคาที่เขาจะประมูลคือเท่าไหร่ ถ้าเราให้ข้อมูลนี้ได้ ก็ร่วมมือกับเขาได้ ในรูปแบบไหนก็ตาม แล้วคงมีทางออกตามมา พูดแบบนี้ทุกคนก็มองหน้าผมงงๆ เพราะคิดข้ามช็อตไปไกลมาก แต่เขาไม่รู้จะทัดทานผมยังไง ก็เลยให้เงินยี่สิบล้านไปดูข้อมูล

อีกมือหนึ่ง ผมก็ติดต่อเพื่อนที่เคยเรียนหนังสือด้วยกัน เขาทำงานที่เลแมน บราเดอร์ส นิวยอร์ก ผมเขียนอีเมลคุยกับเขาว่า ถ้าจะมีทีมมาประมูลที่เมืองไทยแนะนำให้ผมรู้จักหน่อยนะ เดี๋ยวจะไปพรีเซนต์ให้เขาฟัง แล้วก็มีฝรั่งคนหนึ่งบินมาเมืองไทยจริงๆ

นักสร้างบ้านผู้เชื่อในความต่าง ปั้นโนเบิ้ลจากดินเป็นดาว ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง แล้วกลับมากอบกู้ในฐานะเจ้าของ

พอฟังคุณพรีเซนต์แล้วเขาว่าไง

เขาตบโต๊ะเลย ถูกต้องทุกอย่าง นี่คือสิ่งที่ไออยากได้ เดี๋ยวจะบอกให้เจ้านายไอจ้างบริษัทยูไปทำงานด้วย เขาให้ค่าทำสองล้านบาท แต่ผมใช้คนทั้งบริษัททำเลยนะ ใช้เวลาทั้งเดือน เงินสองล้านมันถูกมาก แล้วก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้บริษัทเราหรอก ได้มาก็ยังติดลบอยู่บานเบอะ ผมก็คอตก แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องทำ ก็หวังว่าจะได้ร่วมงานกันต่อในอนาคต

การประมูลเขาแบ่งสินทรัพย์เป็นกองๆ กองละหมื่นล้าน สองหมื่นล้าน มีอยู่ยี่สิบกว่ากอง เขาถามว่าผมจะเลือกกองไหน ผมก็ไปเลือกมา เป็นของที่คิดว่าดี ซื้อมาแล้วทำต่อได้ ลิสต์ให้เขาเจ็ดกอง ดูแล้วเขาก็บอกว่า ขอไปคิดก่อนนะ

ในขณะเดียวกัน เขาก็เล่นไพ่สองหน้า เขาไปจ้างอดีตนายธนาคารทำงานแบบเดียวกับผม สุดท้ายเขาทิ้งของผมหมดเลย ไปใช้ของคนนี้ ผมดูแล้วก็บอกว่า กองพวกนี้มันขยะเลยนะ เอาไปพัฒนาต่อไม่ได้ ได้ไปนี่ยูตายเลย เขาก็บอกว่า ไม่ต้องห่วงเพราะเดี๋ยวจะมีคนไทยมาซื้อคืน คือนายธนาคารเขาไปตกลงกับลูกค้าเก่าของเขาแล้วว่า พอซื้อหนี้ออกมาจะขายคืนให้ ซึ่งผมมารู้เรื่องนี้ทีหลัง

อีกสิบห้าวันจะประมูล นายธนาคารขอให้ลูกค้าเก่าของเขาเอาเงินมาวาง เดี๋ยวฝรั่งจะเป็นนายหน้าเอาเงินก้อนนี้ไปประมูลให้ ปรากฏไม่มีใครวางเงิน เพราะไม่มีใครมีเงิน พอเจ้านายเขาบินจากเมืองนอกมาประชุมก่อนประมูลสองวันแล้วรู้ว่าห้ากองที่เลือก เรียกคนมาจ่ายเงินไม่ได้ ก็เหวอ เอาเงินมาหมดแล้ว ถ้าประมูลไม่ได้กลับไปก็โดนด่า เลยต้องเลือกประมูลอะไรสักอย่าง เขาหันมาถามผมซึ่งนั่งอยู่ปลายโต๊ะว่า นอกจากห้ากองนี้ยังมีอย่างอื่นน่าประมูลไหม ผมบอกว่ามี จะเอาไหม พอยูบอกว่าไม่เลือกของไอ แต่ไอก็ยังแอบทำข้อมูลต่อ อยากฟังพรีเซนต์ไหม พอเขาเห็นว่า เราเลือกจากสิ่งที่เราอยากได้ อยากทำจริงๆ เขาก็เชื่อว่า คงเป็นของดีที่เลือกแล้วจากขยะทั้งหมด

แต่เขาก็ไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เราบอกให้ประมูลราคายี่สิบบาท มันยี่สิบบาทจริงไหม เราบอกราคาเผื่อเพื่อให้ประมูลให้ได้หรือเปล่า ซึ่งเขาอาจจะเจ็บตัวได้ในอนาคต เขาถามผมว่า มีเงินในบริษัทเหลืออยู่เท่าไหร่ ให้เอามาหุ้นกับเขา เดี๋ยวเขาให้กู้ด้วย เพื่อการันตีว่า ราคาที่เราให้ไป เป็นราคาที่ถูกต้อง เราก็โอเค เอาเงินที่เหลือมาลงกับเขา

บริษัทคุณก็เลยเปลี่ยนสถานะจากที่ปรึกษาเป็นผู้ร่วมลงทุุน

ใช่ เราก็เลยกลายเป็นเจ้าของร่วมดื้อๆ ประมูลเสร็จเขาก็เสนอต่ออีกว่า อยากมาเพิ่มทุนในโนเบิล เราจะได้มีเงินทำต่อ พอเลแมน บราเดอร์ส มาเป็น Seed Investor ให้ เราก็ไปเพิ่มทุนกับคนอื่นได้อีก บริษัทก็ลอยขึ้นมาดื้อๆ เลย พ้นวิกฤตมาได้ คุณนึกออกไหมว่า โอกาสพาไปหาเงิน ไม่ใช่มีเงินแล้วจะได้โอกาส ถ้าไม่มีโอกาส เดินไปขอเงินใครเขาก็ไม่ให้หรอก แต่ถ้าคุณมีโอกาสเดี๋ยวก็จะมีคนเอาเงินมาลงให้เอง นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากปีสี่ศูนย์

คุณสร้างโนเบิลมากับมือ ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาขนาดนี้ ทำไมถึงลาออก

ตอนนั้นผมอายุสี่สิบสอง เป็นเอ็มดีมาสิบปี ผมทำงานเป็นลูกจ้าง ไม่ได้เป็นเจ้าของด้วย แม้ว่าน้าชายผมจะเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นบริษัทมหาชน เขาก็ไม่ได้มีหุ้นเยอะ หุ้นของน้าชายก็คงเป็นของเขาไปตลอดชีวิต เขาก็มีครอบครัวของเขา มันไม่ได้สืบทอดมาหาเรา ถ้าอยากเป็นเจ้าของ มีคนแนะนำว่า ให้ผมไประดมทุนมาซื้อหุ้น แล้วค่อยเอาเงินบริษัทไปใช้หนี้คืน ผมก็พยายามหาทาง แต่ก็ไม่เกิดขึ้นเพราะตอนนั้นน้าชายผมไม่ได้คิดจะขาย

สิ่งที่เร่งเร้าให้ลาออกคือผมถือเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะพ่อแม่ผมไม่ได้ทำงานแล้ว เขาต้องใช้เงินไปจ่ายหนี้ ซึ่งเขาทำไม่ได้ ผมก็ต้องทำแทน นั่นทำให้ผมเพิ่งรู้ตัวว่า ผมไม่มีเงิน ผมมีเงินเดือนที่โอเค ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินเก็บอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งถือว่าดีแล้วนะ มีชีวิตที่อยู่ได้โอเคเลย แต่ถ้าให้เลี้ยงดูทุกคนในครอบครัวพร้อมกัน แล้วใช้เงินแก้ปัญหาทั้งหลาย คงทำไม่ได้

ดังนั้น ผมเลยตกผลึกว่า ผมอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ซื้อบริษัทมาเป็นเจ้าของก็ไม่ได้ เงินก็ต้องใช้ เลยเหลือทางเลือกเดียวคือ ออกไปเริ่มต้นใหม่เอง เพราะมั่นใจว่า เรามีความสามารถพอ ตอนออกมาก็กดดันนะ ในวันที่ชีวิตมั่นคงแล้ว ลูกเรียนอยู่ชั้นประถม แล้วต้องกลับไปเริ่มต้นจากศูนย์ เมื่อก่อนไปหาใครคนก็รู้จักเพราะถือนามบัตรโนเบิล วันนี้ผมเป็นโนบอดี้ ต้องสร้างทุกอย่างใหม่หมด แต่ผมคิดว่าผมทำได้ ก็ไปยื่นใบลาออกเลย

นักสร้างบ้านผู้เชื่อในความต่าง ปั้นโนเบิ้ลจากดินเป็นดาว ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง แล้วกลับมากอบกู้ในฐานะเจ้าของ

ทำไมถึงเริ่มโปรเจกต์แรกด้วยของใหญ่หลักหมื่นล้านอย่าง Park 24

มันเป็นที่ที่ผมอยากทำที่สุด เห็นภาพชัดมากว่าจะทำอะไร แล้วก็ให้ผลตอบแทนมากพอที่จะเลิกได้เลย ถ้าทำโครงการเล็กๆ อาจจะต้องทำอีกยี่สิบปี ผมอยากเลิกแล้วไง ก็เลือกอันที่ทำแล้วเลิกได้เลย ผมหมายตาที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง เป็นแปลงที่เห็นในที่ประชุมของโนเบิลมาตลอดหลายปี เราเห็นว่ามีที่ดินขนาดสิบสองไร่อยู่ที่ซอยสุขุมวิท 22 แล้วทะลุอีกสามแปลงเป็นซอย 24 ที่ประชุมมองว่าอยากเก็บให้ครบเพื่อให้ออกซอยยี่สิบสี่ให้ได้ ถ้าจะซื้อต้องซื้อให้ได้ทุกแปลง ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อ ผมมองว่าไม่มีทาง คุณซื้อแปลงเล็กก่อน แปลงใหญ่ก็ขึ้นราคา คุณควรซื้อแปลงใหญ่ก่อนแล้วค่อยไปบีบแปลงเล็ก ถ้าเขาไม่ขาย ก็ออกแค่ซอย 22 เราคิดไม่เหมือนกัน พอผมลาออกก็ไปดูที่แปลงนี้ใหม่

คุณก็ตัดสินใจซื้อแปลงใหญ่ก่อน แล้วโน้มน้าวให้เจ้าของแปลงเล็กขาย ด้วยการให้ราคาต่อตารางวาที่สูงที่สุดในประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในตำนานการซื้อที่ดินในกรุงเทพฯ ไปเอาเงินมาจากไหน

ผมระดมเงินทั้งหมดที่มี ยืมเมียด้วย มีเงินอยู่เท่าไหร่ก็เอาไปวางมัดจำก่อน พอผมเจรจากับเจ้าของที่ดินจนเขายอม ผมมีเวลาสามเดือนในการหาเงินมาจ่าย สมมติว่าราคาทั้งหมดสี่พันบาท ผมเอาเงินที่หามาได้ทั้งหมดหนึ่งร้อยบาทไปวางมัดจำ แล้วมีเวลาอีกสามเดือนในการหาเงินอีกสามพันเก้าร้อยบาทที่เหลือไปจ่ายเพื่อปิดดีล ถ้าไม่จ่าย เงินหนึ่งร้อยบาทแรกก็หาย

นี่คือช่วงเวลาที่ผมเครียดที่สุดในชีวิต เพราะร้อยบาทแรกคือเงินของผมเอง ถึงจุดหนึ่งผมก็ไม่สามารถระดมทุนได้ มีอยู่วันหนึ่งผมกลับบ้านมาแล้วก็พบว่า กูหมดตัวแล้วนี่หว่า ไม่เหลือเงินแล้ว แล้วลูกเมียครอบครัวจะทำยังไงต่อ ตอนอายุสี่สิบสองล้มไปนี่เจ็บนะ หมดตัวตอนอายุเท่านี้นี่โหดมาก แต่ผมก็พยายามดิ้นรนจนได้เจอครอบครัวลิปตพัลลภซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผมอธิบายจนเขายอมมาร่วมหุ้นด้วย ก็เกิดเป็นโครงการ Park 24 ผมถือหุ้นสามสิบ เขาถือเจ็ดสิบ แต่ผมเป็นคนประกอบร่างทุกอย่างขึ้นมา

แม้จะเป็นวงเงินมหาศาล แต่คุณก็ยังเลือกทำโครงการแบบที่หลายคนมองว่าเสี่ยง

ผมค่อนข้างมั่นใจนะ เพราะมันอยู่ในทำเลที่ดี ผมทำแบบทุกอย่างเสร็จหมด ก็ไปพรีเซนต์กับธนาคาร ประธานแบงก์ขอมาคุยกับผมว่า ขอโทษนะ ทำไมคิดแบบนี้ ทำไมทำสองพันกว่ายูนิต ไม่ทำให้เป็นยูนิตใหญ่แล้วเหลือแค่สองร้อย ทุกคนมีคำถามเต็มไปหมดเลย ผมบอกว่า เชื่อผมเถอะ ผมทำธุรกิจนี้มา ผมมั่นใจว่าผมทำได้ เขาก็ว่า ถ้าธงชัยเชื่อแบบนี้ก็ยอม ทำแบบนี้ก็แล้วกัน แต่ขอติงไว้ก่อนนะว่ามันเสี่ยงมาก

พอเปิดมาก็ขายดี ประสบความสำเร็จ ทำให้ผมในวันนั้นอายุสี่สิบสาม สี่สิบสี่มีความมั่นคงอีกครัั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่า หลังจากเสร็จโครงการ Park 24 ผมจะเลิก จะกวาดเงินออกไปแล้วไม่ทำงานอีก ผมเสี่ยงกับชีวิตมามากพอแล้ว เสี่ยงจนไม่อยากเสี่ยงแล้ว

บริษัทของผมเป็นบริษัทเล็กๆ มีผมกับเลขา แล้วก็จ้างคนมาไม่ถึงสิบคน บริหารโครงการหมื่นหกพันล้าน พอทำจนเกือบเสร็จก็รู้สึกว่าบริษัทแบบนี้ บริษัทจดทะเบียนคงอยากได้ เพราะถ้าเอาผลประกอบการเราไปรวม กำไรเขาจะเพิ่มมหาศาล ราคาหุ้นก็จะเพิ่ม ต้องมีคนอยากได้ ผมไปคุยกับออริจิ้น โด่ง (พีระพงศ์ จรูญเอก) เขาชอบเลยขอซื้อไว้ ผมก็คุยกับทางครอบครัวลิปตพัลลภว่า เราขายกันเถอะ เขาก็โอเค ผมอยากเลิก เขาก็เลิกด้วย เราทำมาได้หกปีก็ขาย

ตอนอายุสี่สิบเก้า ผมมีเงินเยอะพอที่ชีวิตนี้จะไม่ลำบากแล้ว มีอิสรภาพทางการเงินเต็มที่ ทำอะไรที่อยากทำได้แล้ว วางมือจากทุกอย่าง เลิกสอนหนังสือด้วย หอบครอบครัวพาลูกไปเรียนต่อเมืองนอก ไปซื้อบ้านอยู่ที่ลอนดอน กะว่าอยู่ที่โน่นครึ่งหนึ่ง อยู่เมืองไทยครึ่งหนึ่ง

นักสร้างบ้านผู้เชื่อในความต่าง ปั้นโนเบิ้ลจากดินเป็นดาว ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง แล้วกลับมากอบกู้ในฐานะเจ้าของ

ไม่มีความท้าทายใดๆ เหลือแล้วหรือ

ผมทำทุกอย่างเองตั้งแต่ศูนย์ถึงร้อยเลยนะ สมัยอยู่โนเบิลผมมีลูกน้องสามร้อยกว่าคน อยากได้อะไรก็สั่งลูกน้องให้ไปทำ แต่ตอนนี้เหลือผมกับเลขาสองคน แค่ถือเทปวัดความกว้างถนนกับเจ้าหน้าที่เขต ยังต้องไปวัดเอง เพราะไม่มีคนอื่น ไม่รู้จะใช้ใคร ผมต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ได้เรียนรู้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เคยรู้ ตอนทำโนเบิล คนพูดว่า บริษัทน้าชายมัน มันถึงได้ดีแบบนี้ ไม่มีน้ามันสนับสนุนก็ไปไม่ได้หรอก เราก็ เออ ไม่เป็นไร จำไว้ ตอนออกมาทำเอง ก็ทำเองจริงๆ ผมบอกทีมงานว่า ไม่ต้องตามมา ผมจะออกไปคนเดียว แล้วเราก็ทำได้ เพราะฉะนั้น พิสูจน์ได้สองทีทั้งบริษัทใหญ่บริษัทเล็ก ก็น่าจะบรรลุกับวงการนี้แล้ว ควรจะพอได้แล้วนะ ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์แล้ว (หัวเราะ)

แล้วอะไรทำให้คุณกลับมาทำงานโนเบิลอีกครั้งในวัยสี่สิบเก้า

(ถอนหายใจ) เป็นเรื่องประหลาด ช่วงที่ผมไม่อยู่ โนเบิลก็อยู่ในมือผู้บริหารชุดเดิม แล้วก็มีคนคิดเทกโอเวอร์บริษัทจริงๆ มาซื้อหุ้นแข่งกันจนเกิดเดดล็อกในบริษัท ช่วงเจ็ดแปดปีที่ผมไม่อยู่ บริษัททำงานน้อยมาก ลดขนาดตัวเองลงเรื่อยๆ เพราะถ้าผลงานดี ราคาหุ้นก็ขึ้น คนพยายามเทกโอเวอร์ก็ต้องจ่ายแพง ทุกการประชุมผู้ถือหุ้นก็เอาตำรวจมาไล่จับกัน ทะเลาะกันเละเทะ

ผมผูกพันกับโนเบิล เพราะเพื่อนที่ผมพามาหกเจ็ดคนตั้งแต่ตอนเรียนจบ ถึงวันนี้เขาก็ยังอยู่ ลูกน้องผมก็เป็นคนรับมา บริษัทนี้เหมือนเป็นครอบครัวที่สองของผม เพียงแต่เจ็ดปีนี้ผมออกแล้วออกเลย รักษาระยะห่าง ต่างคนต่างอยู่ แต่ก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จนถึงจุดที่ผมเก็บเงินได้ โนเบิลก็แก้ปัญหาภายในได้พอดี เมื่อกลุุ่มผู้ถือหุ้นทั้งสองกลุ่มทะเลาะกันจนไปต่อไม่ได้ เอก็เลยซื้อบีสำเร็จ แต่พอหุ้นมากองที่เอ เอก็ไม่อยากทำต่อแล้ว เพราะในกลุ่มเอก็ทะเลาะกันเองอีก เอก็ต้องขาย ใครก็ตามที่มาซื้อโนเบิลก็เอาไปฉีกเป็นชิ้นๆ แบ่งขายได้เลย ถ้าบริษัทถูกแยก คนที่อยู่ต้องตกงาน ลูกน้องเก่าและเพื่อนก็ย่องมาหาผม เพราะรู้ว่าผมมีเงิน ผมสบายแล้ว

ผมไม่เคยคิดจะเดินกลับมา ตอนได้เงินก้อนผมก็ไม่คิดจะกลับมาทำงานอีก แต่โนเบิลเป็นเรื่องเดียวในชีวิตที่ทำให้ผมอยากกลับมาทำ เพราะมันเป็นตำนานที่ผมสร้างขึ้น ผมไม่อยากให้มันหายไป ไม่อยากให้พนักงานลำบาก คนรู้จักกันทั้งนั้น วันแรกที่ผมกลับมาที่โนเบิล พนักงานระดับท็อปสามสิบเปอร์เซ็นต์ของบริษัทเดินมาหาผมในห้อง ผมกวาดตาดู ตายแล้ว อยู่กันครบเลยนี่หว่า ไม่มีใครออกเลย ดังนั้น ที่นี่จึงเป็นเหมือนบ้านของเรา ถ้ามีปัญญารักษาบ้านของเราได้ ก็ควรทำ

นักสร้างบ้านผู้เชื่อในความต่าง ปั้นโนเบิ้ลจากดินเป็นดาว ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง แล้วกลับมากอบกู้ในฐานะเจ้าของ

เจ้าของและซีอีโอคนใหม่ถูกรับน้องด้วย COVID-19 เป็นยังไงบ้าง

วิกฤตมาก ผมโชคดีที่เอาตัวรอดมาได้ ถ้าให้จัดอันดับ ตอน Park 24 ถือว่าหนักสุด COVID-19 เบาสุด เจ๊งก็คือเจ๊ง ไม่เป็นไร มีการสำรองทรัพยากรไว้รองรับการเจ๊งประมาณหนึ่ง แต่ผมก็แบกหนี้ส่วนตัวไว้เยอะมาก ถ้าพลาด ผมก็อาจจะกลับไปศูนย์ใหม่ได้เหมือนกัน

ปีที่แล้วท่ามกลางวิกฤต COVID-19 โนเบิลทำยอดขายได้หมื่นล้าน กำไรสองพันล้าน ตัวเลขนี้บอกอะไรบ้าง

ฟังดูเยอะนะ แต่บริษัทขนาดนี้ ด้วยทรัพยากรที่มี โครงสร้างการเงิน บุคลากร ก็ต้องทำได้เท่านี้ จะมาทำห้าพันล้านเหมือนเดิมไม่ได้ ตัวเลขนี้บอกว่า ถ้าเรามีศรัทธาก็ทำสำเร็จนะ เวลานี้ (พฤษภาคม) ของปีที่แล้ว ผมก็เมาหมัดนะ จะให้คนไปดูที่ไซต์ยังไปไม่ได้เลย ทุกคนอยู่บ้าน แล้วจะขายของยังไง ไตรมาสสองปีที่แล้ว วิกฤตที่สุด มีหุ้นกู้ที่ต้องคืน เงินก็ตึง แบงก์ก็ไม่ให้กู้ ถ้าขายของไม่ได้ ไม่มีผลงาน ไม่มีกำไร คนก็ตกใจ ไม่กล้าลงทุน ออกบอนด์ใหม่ก็ไม่ได้ เราออกบอนด์พันห้า ขายได้ห้าร้อย ต้องหาเงินจากยอดขายมาโปะอีกพันนึง

โชคดีที่เราขายของได้ทั้งเมืองไทยและเมืองนอกพร้อมกัน ก็เลยราบรื่น คนงงว่าทำไมเรารีบลดราคากระหน่ำก่อนใครเลย พอมีผลงานเกิดขึ้น ตลาดให้ความเชื่อมั่น บอนด์ก็ขายได้ ถ้าตอนนั้นทำไม่สำเร็จ เรื่องก็คงออกมาอีกแบบนึงเลย

การกลับมาเป็นผู้บริหารรอบสอง มีอะไรต่างไปจากรอบแรกบ้าง

ผมบอกทุกคนว่า เราต้องโต ถ้าผมกลับมาคนเดียวก็คงทำแบบเดิมแน่นอน คือไม่ได้เปลี่ยนแปลงองค์กรมากมายนัก เลยชวนอีกสองท่านมาร่วมหุ้นด้วย ก็ช่วยทำให้แผนการที่ผมวางไว้ในใจเป็นรูปเป็นร่างได้ดีขึ้นเยอะ โนเบิลใหม่จึงมีภาพของสามผู้ถือหุ้น มีผม มี แฟรงค์ เหลียง จากฟัลครัม Fulcrum Global Capital ประเทศสิงคโปร์ และมีบีทีเอส เข้ามาช่วยกันผลักดันให้บริษัทโตขึ้น

การบริหารงานในวัยเลขห้าต่างจากวัยหนุ่มเยอะไหม

ต่างเยอะเลยครับ ความกล้าลดลง เราแก่แล้ว เรารู้ว่าที่เราทำมาได้ มีความโชคดีปนอยู่เยอะเหมือนกัน แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะโชคดีแบบนั้นตลอด อีกอย่างคือผม Well-balanced ขึ้น ไม่สุดโต่งเหมือนสมัยเดิม สมัยก่อนผมแทบจะเข้าไปจัดการทุกอย่างเอง คนที่มาทำงานให้ผมคือแค่ทำตามที่ผมพูด ไม่ต้องทำอย่างอื่น วันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ผมฟังคนอื่นเยอะขึ้น ตอนอยู่โนเบิลรอบแรก คนคุยกับผมไม่ค่อยได้หรอกเพราะผมนำอย่างเดียว แต่พอผมออกไปอยู่คนเดียว ต้องไปตามคนอื่น ผมก็เห็นวิธีทำงานแบบต่างๆ ก็เวิร์กดีเหมือนกัน ทำไมเราไม่ทำแบบเขาบ้าง

ตอนทำ Park 24 ผมลิสต์ได้เลยว่า ตอนอยู่โนเบิลผมทำอะไรผิดบ้าง เช่นเรื่องคน ตอนทำโนเบิลผมไม่สนใจจะคุยกับฝ่ายบุคคลด้วยซ้ำ ถือว่ามีหน้าที่แค่ทำเงินเดือน อย่างอื่นอยากทำอะไรก็ทำไป แต่กลับมารอบนี้ งานแรกๆ ของผมคือการรับสมัคร VP ฝ่ายบุคคล ผมสื่อสารกับเขาทุกวันว่าอยากเห็นอะไร ต้องการอะไร จะกำหนดระบบแรงจูงใจยังไง ประเมินผลยังไง ฝึกอบรมยังไง ประสบการณ์สอนว่า ในการทำงานไม่ใช่เราใช้แค่ความเชื่อตัวเอง เราต้องฟังคนอื่นด้วย ไม่ใช่เราถูกอยู่คนเดียว

เหมือนชีวิตคุณหยิบจับอะไรก็ประสบความสำเร็จไปหมด เคยมีโครงการที่ทำแล้วเจ๊งไหม

เยอะแยะ (หัวเราะ) อย่าง Playground! ทองหล่อไง ตั้งใจทำจะตาย แนวคิดมันถูกต้องมากเลยนะ นำสมัยมาก เป็นคอนเซปต์สโตร์แห่งแรกของไทย เป็นโปรเจกต์ที่ดูดี กิจกรรมดี ทุกอย่างแน่น คนทำมีความสุข แต่เราไม่ได้คิดเรื่องคอมเมอร์เชียลของมันเท่าไหร่เลย โมเดลการหารายได้ของมันไม่เวิร์กด้วยประการทั้งปวง ถึงจุดหนึ่งก็ต้องเลิกทำ เป็นบทเรียนว่า ก่อนจะทำอะไรก็ตัดสินใจให้ขาดว่า ทำไปเพื่ออะไร ในวัยเด็กเรามีความเชื่อว่า เราทำได้ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไปไม่รอด

ธุรกิจผมทำง่าย ได้เงินเยอะ เร็วด้วย พอไปทำค้าปลีก คนละเรื่องเลย กว่าจะได้เงินแต่ละบาท อะไรก็ไม่รู้ ของก็หาย ปิดบัญชีไม่ได้ เราขายบ้านมายี่สิบปี ไม่เคยทำบ้านหาย แต่เปิดห้างนี่ของหายประจำ พอต้องไปทำสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา เสียเวลาเรา ก็ต้องเลิก เพราะความอดทนไม่พอ

นักสร้างบ้านผู้เชื่อในความต่าง ปั้นโนเบิ้ลจากดินเป็นดาว ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง แล้วกลับมากอบกู้ในฐานะเจ้าของ

ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ ทำไมเราถึงยังควรซื้อคอนโดฯ

คนคิดว่า ทำไมเราต้องเป็นเจ้าของอสังหาฯ ทำไมไม่เช่าอยู่ เพราะในอนาคตคุณอาจจะเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่ เปลี่ยนเมือง คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของอะไรสักอย่าง รถก็ไม่ต้อง บ้านก็ไม่ต้อง ชีวิตคือการบริหารสิ่งที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของ คิดแบบนั้นก็ได้

แต่บ้านเป็นสินทรัพย์ที่ยังไงคุณก็ต้องใช้ แล้วก็มีเรื่องการเพิ่มขึ้นของมูลค่า เพราะเป็นของที่มีจำกัด ที่ดินในเพลินจิตมีอยู่เท่านี้ มันไม่มีเพลินจิตสองสามสี่งอกออกมาแล้ว แล้วก็มีเรื่องกฎหมายต่างๆ นานาที่เกี่ยวข้องด้วย อีกสามสิบปี ถ้าคุณอยากอยู่ที่สี่แยกเพลินจิต คุณก็ต้องซื้อคอนโดฯ นี้อยู่ เพราะมันมีอยู่แค่นี้เอง

ถ้าเราเชื่อว่าราคาจะขึ้นไปเรื่อยๆ การซื้อคอนโดฯ จึงไม่ใช่การบริโภค แต่เป็นการลงทุน พอคิดแบบนี้ คำถามก็จะเปลี่ยนเป็น จะลงทุนเมื่อไหร่ อย่างไร หาโครงสร้างทางการเงินยังไงมารองรับ ทุกคนไม่ได้มีเงินสด อาจจะต้องกู้ ดอกเบี้ยเป็นยังไง อนาคตจะเป็นยังไง ต้องบอกว่า COVID-19 ดึงดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำลงแบบที่ไม่เคยต่ำมาก่อน ตอนผมเรียนหนังสือกู้เงินซื้อบ้านดอกเบี้ยสิบสองเปอร์เซ็นต์ต่อปีนะ แล้วก็ลดลงมาเรื่อยๆ ตอนนี้เหลือสองเปอร์เซ็นต์ แล้วจะมีแบบนี้อีกนานแค่ไหน ถ้าไม่กู้วันนี้ถือว่าพลาดโอกาสในอนาคตไปเยอะเลย

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงทุกเปอร์เซ็นต์เพิ่มกำลังซื้อให้คุณเป็นสิบเปอร์เซ็นต์เลยนะ ถ้าคุณมีเงินเดือนแสนนึง คุณซื้อบ้านมูลค่าห้าล้านบาทได้ ด้วยดอกเบี้ยตอนนี้คุณซื้อบ้านได้สิบล้าน ถ้าคุณมีปัญญาผ่อน และซื้อตอนนี้ในราคาที่อสังหาฯ ยังไม่ขึ้น พอถึงวันที่วัคซีนมา เศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยมันโดดขึ้นแน่นอน อเมริกา ยุโรป อังกฤษ เป็นแบบนั้น เพียงแต่ไทยเรายังช้ากว่าประเทศอื่นอยู่เท่านั้นเอง นี่คือสิ่งที่คนอาจจะยังไม่มองไม่เห็น ถ้ามองเห็นแล้วคุณมีปัญญาซื้อ ก็รีบซื้อเลย

ทั้งซื้อไว้อยู่เอง และซื้อเพื่อลงทุน

มันมีเรื่องของเวลาด้วย ทุกคนอยากได้เงิน แต่บางคนอยากได้เงินมากในเวลาสั้น ก็เลยไปซื้อใบจองแล้วพรุ่งนี้เอามาขายต่อ อย่างนี้ผมไม่เรียกลงทุน มันคือการเก็งกำไร แทบจะเป็นการซื้อหวยแล้ว แต่ถ้าคุณซื้อเพื่อลงทุน แล้วปล่อยเช่า ได้สามสี่เปอร์เซ็นต์ ก็ยังดีกว่าเอาเงินไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยศูนย์จุดกว่าๆ เปอร์เซ็นต์ ถือไปอีกสิบปี ราคาตรงนี้ขึ้นอีกเท่าตัวแล้วค่อยขาย คิด IRR แล้ว ได้กำไรยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ทำไมจะไม่ลงทุนล่ะ แต่ถ้าคุณจะซื้ออสังหาฯ ต้องถามตัวเองว่ามีสายป่านยาวแค่ไหน ถ้าสั้นๆ ก็อย่าเลย เพราะการเข้าออกมันไม่มีสภาพคล่องเท่าไหร่

ตอนนี้คุณพักที่ไหน

บ้านในซอยร่วมฤดี ผมซื้อบ้านเก่ามา แต่รื้อออกไปแล้วเพราะเก่ามาก ตอนออกแบบผมคุยกับ พี่วิฑูรย์ คุณาลังการ นักออกแบบคู่ใจผมว่า ผมน่าจะอยู่ที่นี่ไปจนตาย ช่วยออกแบบให้ผมอยู่ได้ตลอด ผมให้โจทย์เขาว่า บ้านผมอยู่กลางเมืองมาก อีกหน่อยจะมีคนสร้างตึกล้อมผมแน่ๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมไม่ต้องการให้คนอื่นมองผม เลยออกแบบให้เวลาเดินเข้าไปในบ้านแล้วไม่มีใครเห็นเรา ก็เลยกลายเป็นบ้านที่มีคอร์ดอยู่ตรงกลาง กระจกทุกด้านจะล็อกเข้าหาตัวเอง คุณอยู่ในบ้านแล้วจะไม่เห็นใครเลย มีความสุขกับพื้นที่ด้านใน

พี่วิฑูรย์แกทำแต่โครงหลักๆ พอเสร็จแล้ว แกให้ผมไปหาของหาเฟอร์นิเจอร์ต่อเอง บ้านผม ผมต้องไปเลือกเอง จะได้มีความเป็นตัวเรา บ้านผมเลยมีเฟอร์นิเจอร์หลากหลายที่ผมชอบตั้งปนกันหมดเลย ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์จีนเก่าๆ จนถึง Mid-century ที่เป็นคลาสสิก ผสมกันแล้วเป็นตัวเรา

ถ้า The Cloud จะขอไปชมบ้าน

ได้สิ แต่ผมกำลังจะไปอังกฤษเดือนกว่าๆ ส่งลูกไปเรียน ไปคุยเรื่องธุรกิจด้วย บ้านผมอยู่แถวไฮปาร์ก คงได้วิ่งด้วย กลับมาเดี๋ยวเรานัดกัน

นักสร้างบ้านผู้เชื่อในความต่าง ปั้นโนเบิ้ลจากดินเป็นดาว ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง แล้วกลับมากอบกู้ในฐานะเจ้าของ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล