ธุรกิจประกันอ่วม เจอพิษโควิด ขาดทุนระนาว
หน้าข่าวบนไทม์ไลน์ปรากฏขึ้น ชี้ให้เห็นชัดว่าธุรกิจประกันหลายแห่งในไทยกำลังย่ำแย่ในปีนี้ สาเหตุหลักเกิดจากการนำเสนอกรมธรรม์โควิด-19 แบบ เจอ..แต่จ่ายไม่ไหวและไม่จบ ด้วยการแพร่ระบาดที่ยาวนานกว่าที่ใครหลายคนคิด และกำลังจ่ายที่น้อยลงของประชาชนจากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง หากประเมินความเสี่ยงผิดพลาด ธุรกิจก็ล้มทั้งยืนได้ง่าย ๆ 

แต่ไม่ใช่สำหรับ อลิอันซ์ อยุธยา ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยที่อยู่คู่คนไทยมาครบรอบ 70 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอลิอันซ์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบรนด์ประกันแถวหน้าของวงการ ในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดช่วงหนึ่งของยุคสมัย พวกเขาต้อนรับ โทมัส วิลสัน ชายชาวสหรัฐอเมริกาวัย 60 ปี เข้ามาเป็นซีอีโอของบริษัทเมื่อตอนต้นปี

ตำราธุรกิจมักกล่าวเสมอว่า หนึ่งในหลักการบริหารองค์กรที่สำคัญคือ Put the right man to the right job at the right time. 

โทมัสคือคนคนนั้นสำหรับอลิอันซ์ อยุธยา

ด้วยประสบการณ์ด้านการเงินและบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เกือบ 30 ปี จากรอบโลก และกว่า 12 ปีในฐานะ Chief Risk Officer ของกลุ่มอลิอันซ์ เขาเข้ามาสานต่อภารกิจของธุรกิจประกันรายใหญ่นี้ให้เติบโตอย่างมั่นคง ไม่ลงไปเล่นในเกม เจอ จ่าย จบ ที่เสี่ยงและเป็นปัญหาบานปลายกับทั้งลูกค้าและธุรกิจในภายหลัง แต่ออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้เลือกสรร คำนวณความเสี่ยงอย่างเฉียบขาด และอยู่เคียงข้างผู้คนเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาเดือดร้อน  

โทมัส วิลสัน CEO Allianz Ayudhya : สร้างรากฐานให้แข็งแรง เพื่อประกันอนาคตที่ยั่งยืน

9 เดือนแรกของปีนี้และโทมัสในฐานะซีอีโอ เขานำบริษัทที่มีพนักงานราว 1,200 คน ให้สร้างเบี้ยประกันภัยรับปีแรกถึงกว่า 4,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบจากปีก่อน และนับจนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ บริษัทยังดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไปแล้วกว่า 16,000 เคส รวมมากกว่า 850 ล้านบาท

นอกจากผลประกอบการที่น่าประทับใจ โทมัสเชื่อว่าแก่นสำคัญของธุรกิจประกัน คือการอยู่เคียงข้างผู้คนและสังคมยามเดือดร้อน เขาใส่ใจและสานต่อภารกิจทางความยั่งยืนของอลิอันซ์ อยุธยา คำนึงถึง ESG (Environmental, Social และ Governance) เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทำ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและการช่วยเหลือชุมชน เช่น การจัดแคมเปญสนับสนุนอาหาร 1 ล้านมื้อให้ผู้คน ด้วยรายได้จากกรมธรรม์ และการจริงจังกับการจัดการขยะ 

การผสมผสานของทักษะด้านการบริหารความเสี่ยง ประสบการณ์ และความเป็นมนุษย์ของเขา ทำให้กำแพงทางภาษาและวัฒนธรรมไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ และช่วยนำทางองค์กรให้ผ่านพ้นปัจจัยภายนอกได้อย่างไม่น่ากังวลใจ 

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะเพอร์เฟกต์ ธุรกิจนี้แสนจะซับซ้อน เต็มไปด้วยรายละเอียด แต่นั่นทำให้มุมมอง การปฏิบัติ และวิธีปรับตัวภายในระยะเวลาอันสั้น ของกัปตันทีมที่รับมือและประเมินความเสี่ยงอันยากจะคาดเดามาทั้งชีวิตการทำงานเป็นเรื่องน่าเรียนรู้

ในวันที่โลกธุรกิจมีคำพูดเท่ ๆ ว่าความเสี่ยงที่สุดของธุรกิจยุคนี้คือการไม่กล้าเสี่ยงอะไรเลย เรานัดหมายคุยกับโทมัสที่ประเมินสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง ใจเย็น ไม่ผลีผลาม เพื่อถอดรหัสแนวทางการบริหารงานของเขา ให้องค์กรมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

โทมัส วิลสัน CEO Allianz Ayudhya : สร้างรากฐานให้แข็งแรง เพื่อประกันอนาคตที่ยั่งยืน

คุณย้ายมารับตำแหน่งซีอีโอที่ประเทศไทยในช่วงเวลาที่ท้าทายมาก ปีนี้ของคุณเป็นอย่างไร

เป็นปีที่มีความท้าทายอยู่แล้ว แต่บทบาทหน้าที่ของผมไม่ยากลำบากเท่าที่คาดไว้ตอนแรก

ผมโชคดีที่เข้ามาทำงานในองค์กรที่ทีมบริหารและพนักงานมีส่วนร่วมกันอย่างดีเยี่ยม องค์กรมีรากฐานที่แข็งแรง และโมเดลธุรกิจผ่านการพิสูจน์ให้เห็นว่า รับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี เราลงทุนอย่างระมัดระวัง เลยไม่ค่อยได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงิน ในขณะที่ธุรกิจบางรายต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และหนี้สิน 

ด้วยแนวทางนี้ เราหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์สำหรับโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ และการพิจารณารับประกันที่กลายเป็นปัญหาในภายหลังตามที่เราเห็นกันในข่าว แต่ให้ความคุ้มครองอยู่ภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์สำหรับลูกค้าที่มีประกันสุขภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะได้รับการดูแลเมื่อต้องการจริง ๆ ซึ่งตอนนี้เราจ่ายค่าสินไหมทดแทนเรื่องโควิด-19 ไปมากกว่าหนึ่งหมื่นหกพันเคส รวมมากกว่าแปดร้อยห้าสิบล้านบาทแล้ว โดยไม่ได้พิจารณารับประกันแบบไม่คำนึงถึงความเสี่ยงในอนาคต

รวมกันแล้ว ถือว่าปีนี้เป็นประสบการณ์เรียนรู้ครั้งใหม่ที่ดีของผม

ในวัย 60 ปี ทำไมถึงตัดสินใจรับตำแหน่งนี้ 

เมื่อมีโอกาสเข้ามา มันคงน่าเสียดายหากเราไม่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายและน่าสนใจ ผมเชื่อมากว่า ชีวิตคนเราควรทำอะไรที่แตกต่างเป็นครั้งคราว

สามสิบปีแรกของชีวิตผมอยู่ที่ซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย ในสหรัฐอเมริกา ส่วนสามสิบปีต่อมา ผมทำงานด้านการบริหารความเสี่ยงในยุโรป กับสถาบันทางการเงินและบริษัทที่ปรึกษามาตลอด ซึ่งผมคิดว่าทำแบบนั้นนานเกินไปด้วย โอกาสในการทำงานที่ไม่เหมือนเดิมจึงน่าสนใจมาก

อีกเรื่องคือภรรยาของผมเป็นคนไทย และเราตัดสินใจว่าจะเกษียณตัวเอง ใช้เวลาอีกสามสิบปีข้างหน้าที่ประเทศไทย 

เช็กลิสต์ของสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก ๆ ในฐานะผู้นำ

เรียนรู้เรื่ององค์กร คน ปัญหาที่เกิดขึ้น และคิดไอเดียว่าต้องทำอะไรบ้าง ผมรับตำแหน่งซีอีโอ รักษาการในช่วงสี่เดือนก่อนเริ่มจริง เลยพอมีเวลาทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ 

ส่วนด้านธุรกิจ ผมไม่ได้พลิกกระดานหรือเปลี่ยนแปลงอะไรยิ่งใหญ่ แต่ค่อย ๆ พัฒนาจากรากฐานเดิมที่แข็งแรง และให้ความสำคัญกับธุรกิจที่สร้างกำไรอย่างยั่งยืนมากขึ้น มากกว่าการสร้างยอดขายที่หวือหวา ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ตรงกับคุณค่าที่องค์กรยึดถือ ซึ่งสุดท้ายเราก็ยังเติบโต เมื่อนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงจบไตรมาสสาม ในขณะที่ตลาดกำลังถดถอย

คุณปรับตัวกับวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างไร 

ผมไม่ใช่คนไทย บุคลิกของผมก็ไม่ใช่ แต่ผมพยายามพูดสิ่งที่คิดอย่างตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ และชัดเจน เพื่อลดกำแพงทางภาษา บางครั้งผมอาจพูดตรงไป เมื่อเทียบกับการปฏิบัติตามปกติของคนไทย แต่จากที่ผมเคยทำงานมากับหลากหลายวัฒนธรรมรอบโลก ถ้าเราสื่อสารอย่างชัดเจนและด้วยความเคารพต่อผู้คน ความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างสบายใจและเชื่อใจจะเกิดขึ้น 

ถ้าผมไม่สร้างความสัมพันธ์แบบนี้ พนักงานไม่พูดกับผมตรงๆ ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ผมไม่รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผมมีปัญหาในฐานซีอีโอแน่ ๆ 

โทมัส วิลสัน CEO Allianz Ayudhya : สร้างรากฐานให้แข็งแรง เพื่อประกันอนาคตที่ยั่งยืน

คนและธุรกิจเดือดร้อนจากโควิด-19 เยอะมาก คุณบริหารองค์กรเพื่อดูแลพวกเขาอย่างไร โดยที่ยังรักษาคุณค่าขององค์กรและผลลัพธ์ทางธุรกิจ

ตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์ในปีนี้ ข้อเสนอของผมคือ เราควรคิดผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางในวงกว้าง กลายเป็นที่มาของ ‘ประกันสุขภาพ ปลดล็อค สบายกระเป๋า’ ที่เบี้ยประกันเริ่มต้นไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท แต่รับความคุ้มครองสูงสุดหนึ่งล้านบาทต่อรอบปีกรมธรรม์ ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลหลายกรณี ซึ่งนำเสนอตอนเดือนมีนาคมปีนี้ ก่อนเกิดการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะการวิเคราะห์หรือดวงชะตา แต่นั่นเป็นจังหวะที่ถูกต้องพอดี เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เจาะจงของคนในราคาที่เข้าถึงได้ ตามความตั้งใจของเรา

ในการบริการ เราช่วยเหลือลูกค้าให้พวกเขายังคงมีสภาพคล่องและไม่ต้องลำบากใจ ที่ต้องเลือกระหว่างการจ่ายเบี้ยประกัน กับการแบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เสนอการจ่ายเบี้ยประกันแบบทยอยจ่ายสิบสองเดือน แทนการจ่ายในครั้งเดียว จัดกิจกรรม Care Day ให้ตัวแทนได้ติดต่อหาลูกค้าเพื่อพูดคุย ถามสารทุกข์ และสอบถามว่าเรามีวิธีการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เช่น แจ้งว่าคุณสามารถกู้เงินออกจากกรมธรรม์ที่จ่ายเบี้ยประกันไป หรือเลื่อนการจ่าย ปรับแผนกรมธรรม์ ปรับลดวงเงินประกัน เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลายาก ๆ ไปได้ พร้อมกับประกันที่คนควรมีติดตัวไว้ในเวลาเช่นนี้ 

คุณและบริษัทยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมด้วย

นอกจากการดำเนินงานทางธุรกิจ เราลงทุนเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชน เช่น ปีนี้ เราจัดแคมเปญร่วมมือกับ SOS Thailand (Scholars of Sustenance) ทั้งเปิดโรงครัวทำอาหารช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนอาหารหนึ่งล้านมื้อจากรายได้ของกรมธรรม์ ชวนพนักงานและตัวแทนมาร่วมกัน ผมชอบทำอาหารอยู่แล้ว และถือโอกาสไปร่วมทำอาหารให้ชุมชนด้วย 

ผลดีอย่างหนึ่งคือ นอกจากมีผู้ได้รับประโยชน์ การกระทำเหล่านี้ให้ความรู้สึกต่างจากการนั่งเซ็นเอกสารในออฟฟิศ เพราะพนักงานจะได้พบเจอกับผู้คนจริง ๆ และเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เรายังจัดโปรแกรมด้าน ESG (Environmental, Social, Governance) โดยเน้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เราตั้งถังแยกประเภทขยะไว้ทั่วออฟฟิศ บันทึกข้อมูลขยะ ติดตั้งเครื่องเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์  

ทำไมบริษัทประกันต้องทำเรื่องนี้ เป็น CSR เพื่อภาพลักษณ์หรือเปล่า 

จริง ๆ แก่นหลักของธุรกิจประกันคือการปกป้องอนาคต ทำให้บุคคลและชุมชนรู้สึกมั่นใจและปลอดภัย นั่นคือหลักการทำงานที่เรายึดถือ และอยากขยายความช่วยเหลือเหล่านั้นไปให้ผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ทำได้ มันเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย

อย่างตอนแรกผมคิดว่าเราควรเตรียมแคมเปญสำหรับเมื่อเราเปิดประเทศ แต่ต้องขอบคุณ คุณพัช-พัชรา ทวีชัยวัฒนะ Chief Customer Officer ที่บอกว่าผมอาจมองโลกในแง่ดีเกินไป เราควรระมัดระวัง และสิ่งที่ควรทำคือ สนับสนุนและอยู่เคียงข้างผู้คนเมื่อเขาต้องการ ซึ่งรวมไปถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นเป็นวิสัยทัศน์ที่นำทางธุรกิจและงานด้าน CSR ของเรา

แน่นอนว่าเรามีเป้าหมายขององค์กรอยู่ เช่น การลดการใช้พลังงาน น้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ผมต้องบอกว่าทีมงานด้าน CSR และความยั่งยืนของไทยทำหน้าที่ได้ดีมาก พวกเขาคือผู้ประสานงานที่สร้างโอกาสให้พนักงานที่สนใจมีส่วนร่วมจริงๆ และผมยินดีที่พนักงานของเราร่วมกันทำสิ่งเหล่านี้เพราะอยากทำ

ในปีหน้า เราอยากหยิบประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นประเด็นในวงกว้างมากขึ้น และสนับสนุนชุมชนมากกว่านี้ด้วย

โทมัส วิลสัน CEO Allianz Ayudhya : สร้างรากฐานให้แข็งแรง เพื่อประกันอนาคตที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น มีผลิตภัณฑ์และองค์กรให้เปรียบเทียบด้วยปลายนิ้วมือ คิดว่าจุดเด่นของ อลิอันซ์ อยุธยา ที่อยู่ในใจคนคืออะไร

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แล้ว ผมมองว่ามีสองเรื่อง

หนึ่ง เราอยู่เคียงข้างและช่วยเหลือลูกค้าเมื่อพวกเขาต้องการตลอดเส้นทาง

เราอาจไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ที่ถูกที่สุด แต่คุณจะมั่นใจได้ว่า เมื่อเคลมมาถึงเราและผ่านการพิจารณา เราจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและสะดวกอย่างแน่นอน เราเข้าใจว่าลูกค้ามีหลายสิ่งต้องคิดอยู่ในใจ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือต้องเข้าโรงพยาบาล มากเกินกว่าจะมานั่งกังวลว่าจะถูกปฏิเสธการเคลมไหม และจริง ๆ แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานด้วย เช่น สวัสดิการของพนักงาน ผมเคยได้ยินจากฝ่าย HR ว่ามันเป็นความช่วยเหลือที่มากพอจะมีความหมายสำหรับพนักงาน

สอง ตัวแทนของเรา ผมคิดว่าพวกเขาใส่ใจลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าตลอดเส้นทางการใช้บริการเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นตัวแทนเสียงของลูกค้าด้วย นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของเรา

เบี้ยประกันจำนวนมากของบริษัทมาจากช่องทางตัวแทน ดูแลพวกเขาอย่างไรให้สร้างผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ

เราให้ความสำคัญกับเครือข่ายตัวแทนประกัน และช่วยพวกเขาสร้างแฟรนไชส์ กระบวนการทุกอย่างที่เรามีออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกเขาขายประกันได้สำเร็จ 

แต่ถ้าจะก้าวต่อไป ผมคาดหวังว่าเราจะพัฒนาพวกเขาให้เป็นผู้บริหารตัวแทนที่เติบโตได้มากขึ้น พร้อมกันกับการตอบโจทย์ลูกค้า เลยพยายามให้ความสำคัญและจัดสรรรางวัลให้กับตัวแทนที่ต้องการสร้างเครือข่ายของตัวเองมากขึ้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นและการเติบโต 

อลิอันซ์ อยุธยา มีพนักงานกว่า 1,200 คนและสำนักงานตัวแทนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ทำอย่างไรให้คนที่หลากหลาย มองเห็นเป้าหมายเดียวกันและมีพลังใจในการทำงาน

ผมเพิ่งทำงานที่นี่ได้ปีเดียว อาจตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่ผมเห็นว่าความภาคภูมิใจของเราในทางธุรกิจ คือการพิจารณารับประกันภัยอย่างระมัดระวัง และนั่นส่งผลต่อวัฒนธรรมของเราอย่างมาก

เราอาจไม่ใช่บริษัทที่พูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ได้เลย เรากำหนดวงเงินประกันให้คุณร้อยล้านบาท” นั่นคงไม่เกิดขึ้น และเราคงสูญเสียรายได้ให้กับบริษัทอื่นเพราะแนวทางนี้ แต่เมื่อผ่านขั้นตอนการพิจารณารับประกัน เราจะอยู่เคียงข้างคุณเลย พอกระบวนการเป็นแบบนี้แต่ต้น แต่ละฝ่ายมีคนที่เข้าใจและปฏิบัติด้วยแนวคิดแบบที่ว่า ทุกคนก็ทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลูกค้า 

โทมัส วิลสัน CEO Allianz Ayudhya : สร้างรากฐานให้แข็งแรง เพื่อประกันอนาคตที่ยั่งยืน

ทั่วโลกกำลังพูดถึงเรื่อง Digital Transformation คุณจะบริหารองค์กรอายุ 70 ปีนี้อย่างไร ให้พร้อมปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ 

เรากำลังปรับเปลี่ยนขั้นตอนทั้งหมดให้รองรับการทำงานทางดิจิทัล ตั้งแต่การหาลูกค้า ขาย พิจารณารับประกัน และจ่ายสินไหมทดแทน ตอนนี้เรามีเครื่องมือการขายแบบที่ไม่ต้องเจอหน้ากัน และยังเป็นไปตามระเบียบการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (AML) และ KYC (Know Your Customer) และจากการทำงานร่วมกับแบงก์แอสชัวรันส์ (Bancassurance) อย่างธนาคารกรุงศรี ตอนนี้เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรับพิจารณาประกันโดยใช้ Rule-based engine ส่วนสามสิบเปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะผ่านผู้พิจารณารับประกัน (Underwriter) ในกรณีพิเศษ

เรายังสนับสนุนให้เกิดการใช้กรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งท้าทายหน่อย เพราะลูกค้าอาจอยากได้เป็นเอกสารเก็บไว้เพื่อความอุ่นใจ แต่เรากำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและบริการโซลูชัน ที่ตอบโจทย์เหมือนเดิมด้วยการใช้กระดาษให้น้อยลง

ส่วนการเคลม เราประสบความสำเร็จในการพัฒนา API กับเครือข่ายโรงพยาบาลที่ช่วยให้ขั้นตอนการเคลมเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยการส่งเอกสารผ่านระบบอัตโนมัติ ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน และทำให้ระบบการจัดการเป็นอัตโนมัติ สรุปคือเราไม่นิ่งเฉย ปรับและลงทุนทั้งกระบวนการให้กลายเป็นดิจิทัล

กังวลว่าจะโดนดิสรัปต์บ้างไหม ตอนนี้สตาร์ทอัพด้าน InsurTech, FinTech รวมถึง HealthTech เติบโตขึ้นมาก ชนิดที่ว่าบริษัทใหญ่หลายแห่งตามไม่ทันแล้ว 

เราทำความเข้าใจอยู่เสมอว่า เทคโนโลยีใหม่อย่าง FinTech จะเข้ามาดิสรัปต์จุดไหนของ Value Chain บ้าง พวกเขาอาจเข้ามาตรงการหาลูกค้า เช่น เว็บไซต์หรือดิจิทัลโบรกเกอร์ แต่น่าจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่รายละเอียดไม่ซับซ้อน 

แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรามักขายดี เพราะมีคนที่ช่วยลูกค้าทำความเข้าใจข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ปกติมักจะซับซ้อน ส่วนประกันสะสมทรัพย์ก็เหมือนกัน มันเป็นเงินไว้ใช้สำหรับช่วงเวลาส่วนใหญ่หลังการเกษียณได้เลย ผมคงอยากรู้จักใครสักคน คุยกับเขาแบบเห็นหน้าหน้าค่าตา เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดที่ซับซ้อน มากกว่าการทำผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผมจึงคิดว่าการดิสรัปต์ตรงนี้อาจใช้เวลาอีกสักพัก

เรายังมี Data scientist เก่งๆ ที่ช่วยออกแบบการพิจารณารับประกัน มีการทดลองแบบต่าง ๆ ด้วยการใช้ AI ซึ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่เราทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว 

ถือว่าค่อนข้างอยู่ในจุดที่ปลอดภัย

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ถูกดิสรัปต์นะ เราตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และลองทดสอบอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้เราเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่เวลา เช่น เราลงทุนกับการพัฒนาเว็บไซต์ Healthy Living เพื่อสร้างเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่สนใจดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งยังไม่ได้เป็นช่องทางการขาย ณ ตอนนี้ แต่เราจะลงทุนต่อไป เป็นแหล่งให้ความรู้ผู้คนด้วย บางอย่างอาจคุ้มค่า บางอย่างอาจไม่เวิร์ก แต่เราจะทดลองและทำสิ่งที่เราควรทำมาโดยตลอด

โทมัส วิลสัน กับประสบการณ์บริหารความเสี่ยงกลางวิกฤต 30+ ปี ที่ช่วยพา อลิอันซ์ อยุธยา เติบโตทั้งทางธุรกิจและสังคม

บทเรียนการบริหารงานที่เรียนรู้เป็นพิเศษจากปีนี้

ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของพนักงาน ไม่ใช่แค่เพียงสำหรับองค์กรเท่านั้น แต่สำหรับตัวพนักงานกันเองด้วย จากประสบการณ์เป็น Chief Risk Officer ผมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มีลักษณะแตกต่างกันและเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ซึ่งครั้งนี้ต่างออกไปด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

ผมพอใจในเชิงความต่อเนื่องของธุรกิจที่เราให้พนักงานมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ทำงานจากที่บ้านได้ตั้งแต่เมื่อสิบแปดเดือนก่อน หรือตอนเริ่มเกิดการแพร่ระบาดใหม่ ๆ เลย แต่โจทย์ใหม่ที่ผมเรียนรู้ คือการหาทางให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมกับเพื่อนพนักงาน เพราะบางอย่างต้องขาดหายไปอยู่แล้ว เมื่อเราไม่อาจปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้เหมือนปกติ
ตอนนี้เราเริ่มเปิดให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว และในอนาคต จะอนุญาตให้บางส่วนสามารถ Work from Anywhere ได้ต่อไป โควิด-19 อาจไม่หายจากโลกไปเร็ว ๆ นี้ เป็น New Normal ที่เราต้องปรับตัวในการใช้ชีวิต

โจทย์หลังจากนี้ของคุณและอลิอันซ์ อยุธยา

มีสองมิติหลักที่กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้ที่ผมคิดว่าต้องเตรียมรับมือ เรื่องแรกคือ การปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลตามที่พูดไป อีกเรื่องคือ ต่อไปคนจะมีความรู้ทางการเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ประกอบกับค่าธรรมเนียมทางการเงินจะลดลง คนสามารถวางแผนเกษียณและกลยุทธ์การลงทุนผ่านหลากหลายวิธี เราคงต้องคิดกันว่าจะอยู่ในใจของลูกค้าได้อย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจนี้

เมื่อถึงเวลาที่ลงจากตำแหน่งนี้ คุณอยากถูกจดจำว่าอย่างไร

ในทุกงานที่ผ่านมา ผมจะภาคภูมิใจที่ทำให้บริษัทดีขึ้นกว่าตอนที่เข้ามา (Leave it better than when I arrive.) ทั้งเรื่องธุรกิจและคน อย่างตอนผมออกจาก McKinsey ผมมักได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นเจ้าพ่อของงานบริหารความเสี่ยง สำหรับที่นี่ ผมอยากทำเช่นเดียวกัน จากไปโดยมีรากฐานธุรกิจที่แข็งแรงและทีมที่เข้มแข็ง พร้อมจะเติบโตอย่างรุ่งเรืองต่อไปในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า

โทมัส วิลสัน กับประสบการณ์บริหารความเสี่ยงกลางวิกฤต 30+ ปี ที่ช่วยพา อลิอันซ์ อยุธยา เติบโตทั้งทางธุรกิจและสังคม

Questions answered by CEO of Allianz Ayudhya

1. ตื่นนอนกี่โมง ใช้เวลาในวันทำงานอย่างไรบ้าง

ผมตื่นประมาณตีห้าครึ่ง เข้าออฟฟิศตอนหกโมงครึ่ง และอยู่จนถึงหกโมงเย็น ระหว่างวันมีประชุมต่อเนื่อง ตอนเย็นจะทำอาหารให้ตัวเองกับภรรยาที่บ้าน และคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นวันนั้น เป็นชีวิตที่ราบเรียบมาก

2. อาหารไทยที่ชอบ

ส้มตำไข่เค็ม หมูย่างกับข้าวเหนียว ปลาดุกฟู และอาหารของภูมิภาคต่าง ๆ 

3. คำพูดติดปาก

“Minimum Effort, Maximum Impact”

ไม่ได้หมายความว่าให้คุณขี้เกียจนะ แต่ชีวิตมีอะไรให้คุณค้นหาตั้งมากมาย ถ้าคุณทำงานเสร็จในแปดชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นต้องทำสิบชั่วโมง คุณก็มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น กลับบ้าน ทำอาหาร ออกกำลังกาย ทำสิ่งที่คุณสนุกนอกเหนือจากงานด้วย

4. หนังสือที่อยากแนะนำให้พนักงานทุกคนอ่าน

ผมไม่อ่าน Non-fiction เลย ผมเจอเรื่อง Non-fiction ในการทำงานมากพอแล้ว และจริง ๆ ผมเคยเขียนหนังสือธุรกิจของตัวเองด้วย แต่คงไม่แนะนำเล่มนั้นหรอกนะ (หัวเราะ)

ถ้าให้แนะนำ จะเป็นนิยายมากกว่า ผมชอบอ่านนิยายไซไฟ แฟนตาซี ถ้าให้นึกเร็ว ๆ ตอนนี้ก็งานของ Robert Jordan หรืออย่าง Dune ที่เข้าฉายเป็นภาพยนตร์ช่วงนี้ ผมอ่านทั้งชุดจบไปสามรอบ

โทมัส วิลสัน กับประสบการณ์บริหารความเสี่ยงกลางวิกฤต 30+ ปี ที่ช่วยพา อลิอันซ์ อยุธยา เติบโตทั้งทางธุรกิจและสังคม

5. ชมรมที่คุณเข้าตอนมหาวิทยาลัย

ผมแต่งงานตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เรามีลูกคนแรกเร็ว และผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียน ถ้าให้เรียกเป็นชมรม คงเป็นชมรมคุณพ่อ

6. สิ่งที่คุณคิดถึงเกี่ยวกับประเทศบ้านเกิด

ครอบครัว พ่อแม่ผมยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาอายุเก้าสิบปีแล้ว ฝาแฝดผมก็อยู่ที่นั่น รวมถึงอดีตภรรยาและลูกทั้งสามคน ผมคิดถึงพวกเขา

7. เรื่องที่ทำให้คุณนอนไม่หลับ และสิ่งที่คุณมักทำก่อนนอน 

ไม่ค่อยมีนะ ช่วงนี้ก่อนนอน ผมจะอ่านหนังสือกับดูภาพยนตร์ เราได้นั่งดู Harry Potter กันใหม่อีกรอบ และเร็ว ๆ นี้เพิ่งจะดู Hometown Cha-Cha-Cha

8. ทริปการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิต

ตอนตัดสินใจย้ายไปทำงานที่ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนแรกผมคิดว่าจะทำงานอยู่ที่นั่นสองปี แต่หลังจากนั้นสามสิบปี ผมทำงานในต่างประเทศมาโดยตลอด และอีกสามสิบปีหลังจากนี้ที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งมองย้อนกลับไปตอนนั้น ผมไม่ได้คาดฝันเลยว่าเส้นทางจะเป็นแบบนี้

9. ทักษะที่อยากเรียนรู้ช่วงนี้

ภาษาไทย

10. หากต้องขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ในวันปัจฉิมนิเทศนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ คุณจะบอกอะไรพวกเขา

Minimum Effort, Maximum Impact กับตามหาสิ่งที่คุณจะสนุกในการทำงาน เพราะมันเป็นเวลาสองในสามของวัน ซึ่งมากเกินไปสำหรับสิ่งที่คุณไม่ได้สนใจ และหาทางทำงานนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุณจะได้ใช้เวลาอีกหนึ่งในสามที่เหลือไปกับเรื่องสำคัญอื่น ๆ

โทมัส วิลสัน กับประสบการณ์บริหารความเสี่ยงกลางวิกฤต 30+ ปี ที่ช่วยพา อลิอันซ์ อยุธยา เติบโตทั้งทางธุรกิจและสังคม

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน