THINKK Studio คือสตูดิโอด้านงานออกแบบภายใน เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ ย่านพัฒนาการ ที่พัฒนาผลงานให้ไปไกลและน่าประทับใจถึงเวทีงานออกแบบต่างแดนอย่างมิลานและปารีส

มีเก้าอี้ โต๊ะ แจกัน โคมไฟ ของเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย แต่พวกเขามีวิธีทำให้แตกต่าง และของใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาในลูกเล่นและกระบวนการคิด

เริ่มตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน ในวันที่งานดีไซน์แฟร์แบบยุคสมัยนี้เพิ่งเริ่มเป็นเทรนด์ในไทย

ก่อตั้งโดยสองนักออกแบบมากฝีมืออย่าง เดย์-เดชา อรรจนานันท์ และ พลอย-พลอยพรรณ ธีรชัย จากความคิดที่ว่า ไม่ได้ตั้งใจทำของที่จะขายดีแน่นอน

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

“เราตั้งใจจะทำของที่ดีกับตลาด คนใช้งาน และอุตสาหกรรม ไม่ได้ทำตามเทรนด์ เพราะฉะนั้น ของที่ปล่อยออกมาใหม่ก็ยากที่จะขายได้ในช่วงแรก แต่เราเชื่อแบบนั้นและก็ยังทำแบบนั้นอยู่” เดย์และพลอยนั่งลงข้างกันในห้องประชุมที่รายล้อมไปด้วยผลงานออกแบบและหนังสือ เพื่อเล่าถึงความคิดในวันริเริ่มธุรกิจ

ทั้งสองเชื่อว่างานออกแบบที่ดีไม่ใช่แค่เพียงสวยงาม แต่ต้องแก้ไขปัญหาบางอย่าง และควรคิดให้ลึก ให้ครบทุกมิติ เพื่อสร้างงานออกแบบที่ทวีคุณค่า

ทั้งการใช้งาน กระบวนการผลิต การตลาด ผลดีต่อชุมชน และเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนเรื่องหนึ่งของทศวรรษ ที่นักออกแบบอย่างพวกเขาเข้ามามีบทบาทได้

เช่น ออกแบบชิ้นงานที่เนรมิตขึ้นจากวัสดุเหลือทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ Design from Waste of Agriculture (DEWA)

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

 ล่าสุด พวกเขาเพิ่งขึ้นเวทีเป็นวิทยากรในงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together เพื่อเล่าแนวคิดของกระถางสุดเก๋และถุงพลาสติกรักษ์โลก ภายใต้โครงการ Upcyling Upstyling by GC ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่กำลังตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนจากแนวคิดให้เกิดเป็นการทำจริง

THINKK Studio มีวิธีคิดงานออกแบบสร้างสรรค์อย่างไรให้สนุกและตอบโจทย์ตลอดทั้ง 12 ปีที่ผ่านมาในฐานะธุรกิจ ที่ไม่คิดถึงเพียงแค่ตัวเอง แต่รวมถึงคนรอบข้าง และจะเติบโตต่อไปในทิศทางใด ในวันที่งานดีไซน์เริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นในประเทศไทย

ขอชวนคุณมา THINKK ไปด้วยกัน

01 

คิดฝัน

เดย์และพลอยพบกันครั้งแรกขณะเรียนด้านการออกแบบภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สิ่งที่เรียนและสภาพแวดล้อมของวงการออกแบบไทย ณ ขณะนั้น ต่างเชื้อเชิญให้ทั้งสองมีความสนใจในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์

สำหรับเดย์ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของและพื้นที่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้าต่อ

“ปกติในการทำงานออกแบบภายใน เราต้องเลือกเฟอร์นิเจอร์มาตกแต่งพื้นที่อยู่แล้ว เวลาเอาเข้าไปวางในตำแหน่งต่างๆ มันจะกำหนดฟังก์ชันการใช้งานของพื้นที่ได้เลย เช่น ตรงนี้เป็นห้องประชุม ตรงนี้เป็นห้องเรียน และยังบ่งบอกประวัติศาสตร์และรสนิยมของผู้ใช้งานได้อีกด้วย” เดย์อธิบายความน่าสนใจของการผสมทั้งสองศาสตร์เข้าด้วยกัน

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

ส่วนพลอย เธอเริ่มคิดกับเพื่อนว่า ในอนาคตอยากออกแบบและขายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ไทยที่เป็นเอกลักษณ์

“ช่วงนั้นงานแฟร์กำลังเริ่มเฟื่องฟู เราเห็นว่าสินค้าที่ขายมีแบบนำเข้ามาขายในราคาค่อนข้างสูง แต่ต่างชาติก็ยินดีซื้อ เพราะถือว่าเป็นงานที่ผ่านการออกแบบจากมืออาชีพระดับโลก และสินค้าดีไซน์ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่ร้านที่ออกแบบ ผลิต และขายเองของไทยตอนนั้นยังมีน้อยมาก” พลอยเสริม 

ในแถบยุโรป ผู้คนจำนวนมากใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน และมองว่าเฟอร์นิเจอร์คือสิ่งที่สื่อสารตัวตน หรือกระทั่งจุดเด่นของประเทศ ทำให้ผลงานน่าสะสมและได้รับคุณค่าตามมาด้วย พลอยคิดว่าไทยก็ควรมีวัฒนธรรมและงานเช่นนั้นมากขึ้น

ทั้งสองเก็บสิ่งที่สนใจอยากเรียนรู้และความฝันไว้ ทำงานในแวดวงเพื่อเก็บประสบการณ์ จากนั้นลาออกมาเริ่มรับงานของตัวเองในชื่อ THINKK Studio อย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ก่อนพกชื่อนี้ติดตัว แยกย้ายกันไปเรียนต่อ เดย์เลือกเรียนด้าน Design for Luxury & Craftsmanship ที่ École cantonale d’art de Lausanne (ECAL) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และพลอยเรียนด้าน Spatial Design ที่มหาวิทยาลัย Konstfack ประเทศสวีเดน

02 

คิดจากไทย ส่งไปไกลระดับอินเตอร์

ไม่นาน ชื่อของ THINKK Studio ก็เริ่มโดดเด่นเป็นที่รู้จักในวงการออกแบบต่างประเทศ ด้วยผลงานอันสร้างสรรค์ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

Weight Vases คือแจกันทรงกรีกที่มีแท่นโปร่งประคองดอกไม้ เป็นโปรเจกต์จบการศึกษาของเดย์ ที่ไปเตะตาบริษัทเฟอร์นิเจอร์สัญชาติฝรั่งเศสจนเกิดการซื้อไปผลิต และสื่อต่างพากันพูดถึง

ส่วนพลอยก็ไม่น้อยหน้า ชุดโคมไฟตั้งโต๊ะรูปทรงคล้ายของเล่น CONST ถูกคัดสรรไปจัดแสดงในแกลเลอรี่ชื่อดังของ Rossana Orlandi ที่มิลาน และได้รับคำชื่นชมจากเจ้าของที่สายตาเฉียบคม

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

ผลงานเหล่านี้ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำงานให้แก่ตัวเอง และเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือในระดับสากล

แต่แล้ว พวกเขาก็ตัดสินใจกลับไทย

“ถามว่ามีเสียดายไหม ก็มีเสียดายนะ แต่วงการเฟอร์นิเจอร์สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และมีคนในประเทศที่โดดเด่นอยู่แล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่ง บ้านเราก็มีข้อดีและโอกาสหลายอย่างเหมือนกัน” พลอยเล่าย้อนกลับไปในวันที่ตัดสินใจ

“ที่ไทยเราทำต้นแบบและทดลองไอเดียได้ง่ายกว่า อยู่ต่างประเทศเราไม่สามารถเดินไปเจอคุณลุงบนถนนที่ช่วยเชื่อมงานให้เราได้ทันที เวลาจะสั่งผลิตทีถือเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนและวางแผนมาก” เดย์เสริม พวกเขาเลือกใช้ข้อดีตรงจุดนี้ให้เป็นประโยชน์ สานต่องานที่เคยมี และคอยผลักดันผลงานให้ไปจัดแสดงทั้งในและต่างประเทศเรื่อยๆ แทน

ผลงานของ THINKK Studio ได้รับการพูดถึงในซีกโลกตะวันตกอยู่เรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือผลงานเก้าอี้ไม้สัก Batten ที่ชนะการประกวดของ Tectona แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติฝรั่งเศสในวาระครบรอบ 40 ปี ด้วยการออกแบบที่ตรงกับดีเอ็นเอของบริษัท และโต๊ะกระจกลอนโค้ง Fluted Glass Table ที่ได้รับ Best of Year Award จากนิตยสาร Interior Design 

03

คิดละเอียด ตั้งแต่ขั้นตอนแรก

“เราถามลูกค้าเยอะเลย” เดย์เริ่มเผยกระบวนการและความคิดที่ซ่อนอยู่ภายในงานออกแบบแต่ละชิ้นที่เฉิดฉาย “เราต้องรู้ว่าพื้นฐานองค์กรเขาทำงานด้านไหน ใช้วัสดุอะไร ทักษะเป็นอย่างไร ลูกค้าเดิมเป็นใครบ้าง อยากให้เราไปช่วยตรงส่วนไหน มีบรีฟมาแล้วหรือเปล่า หรือสร้างใหม่หมดเลย” 

เพราะคำถามที่ดี จะนำมาสู่คำตอบที่ดี

“เราคิด วิเคราะห์ และสร้างโจทย์ที่น่าสนใจตั้งแต่กระบวนการแรก เพราะมันจะสร้างผลลัพธ์ใหม่ได้ แล้วลงไปศึกษาหาข้อมูล ทดลองกับทุกวัสดุและการผลิต ดูว่าจะก้าวพ้นขีดจำกัดเดิมๆ ไปให้สุดทางได้หรือเปล่า” พลอยเสริม โจทย์ของพวกเขาจึงมีทั้งจากชาวบ้านและแบรนด์หรูหรา

ด้วยเหตุนี้ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าสไตล์ของ THINKK Studio เป็นแบบใดได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพราะพวกเขาเปลี่ยนวิธีคิด และสร้างสรรค์โจทย์ในมุมใหม่ๆ ให้น่าสนุกอยู่เสมอ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

เช่น เก้าอี้ Stamping ที่พลอยยกให้เป็นหนึ่งในผลงานตัวโปรดในช่วงนี้ ซึ่งนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ Why Do We Need Another Chair ใน Bangkok Design Week 2020 

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

โจทย์ตั้งต้นคือ ธุรกิจปั๊มชิ้นส่วนโลหะขนาดเล็กกำลังประสบปัญหาการแข่งขันจากต่างประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า ทำให้ต้องปิดตัวไปหลายแห่ง

พลอยและเดย์จึงเข้าไปสำรวจและเรียนรู้อย่างละเอียดว่า เครื่องจักรอายุราว 50 ปีในโรงงานทำอะไรได้บ้าง พนักงานมีศักยภาพด้านใด วัสดุเป็นแบบไหน ก่อนออกแบบให้กลายเป็นเก้าอี้โลหะปั๊มสไตล์ยุค 80 ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีจากนักออกแบบและสื่อ ส่วนตัวโรงงานเองก็มีอีกหนึ่งหนทางที่มากกว่าแค่การรับผลิตแบบเดิมๆ ให้ไปต่อ

04 

 คิดถึงชุมชน

THINKK Studio ยังใช้วิธีการคิดแบบมองให้ครบทุกมุม ทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของประดับของตัวเองในนาม THINGG เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขายสินค้าของชุมชน

“เราเคยไปช่วยออกแบบ เพิ่มมูลค่าให้สินค้าของผู้ประกอบการชุมชนต่างๆ แต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้เจอตลาดที่รองรับงานออกแบบในระดับสากล ทำให้ของขายไม่ค่อยได้ ทั้งที่มีคนที่ต้องการอยู่ แค่วางอยู่ผิดที่ แล้วของก็ไม่ได้ไปต่อ”

พวกเขาเคยออกแบบโคมไฟ SARN ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ โดยนำใบลานจากชุมชนมาสานให้เป็นงานหัตถกรรมที่สวยงาม นำไปขายในตลาดชุมชน แต่ไม่ได้ผลตอบรับตามคาดหวัง อาจเพราะกลุ่มคนที่มาเดินซื้อไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบงานออกแบบ

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

จน THINKK Studio ลองรับมาช่วยขาย และนำไปจัดแสดงในงาน Maison&Objet ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

“นักออกแบบระดับโลกเดินเข้ามาถามว่าอันนี้ทำจากอะไร เขาชอบมาก มีคนสนใจซื้อสินค้าของเรา เขามองว่าการซื้อสินค้าแบบนี้ทำให้เงินกลับไปที่ชุมชน อยากสนับสนุนงาน และมีเอเจนซี่ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในยุโรป เราเลยรู้ว่ามันขาดตัวเชื่อมสินค้าท้องถิ่นของไทยให้ไปขายได้ในระดับสากล” พลอยเล่าจุดกำเนิดของแบรนด์ใหม่ และการผันตัวมาเรียนรู้วิชาการตลาดมากขึ้นระหว่างทาง

เมื่อของที่ใช่ไปเจอคนที่ใช่ได้ง่ายขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง ชุมชนก็ไม่ต้องสูญเสียโอกาสแบบเดิมอีกต่อไป

05

คิดใส่ใจรอบข้างให้ครบวงจร

วัสดุทางเลือกและการรักษาสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่อยู่ในใจ THINKK Studio มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา

นักออกแบบเป็นวิชาชีพที่ผลิตผลงานใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งตามมาพร้อมกับการใช้ทรัพยากร หากไม่คิดให้ครบถ้วนก็มีโอกาสสร้างมลภาวะเพิ่มให้แก่โลกใบนี้ และสร้างผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่เริ่มทำงานตอบโจทย์สิ่งที่เราให้คุณค่าได้มากขึ้น ปีที่ผ่านมามีน้องๆ กลุ่มใหม่เข้ามาดูงานดีไซน์แฟร์เยอะมากขึ้น เลยอยากทำอะไรที่สร้างบันดาลใจให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้คิด สนใจ และเห็นแง่มุมการออกแบบที่มีประโยชน์ต่อสังคมด้วย” เดย์เล่าภารกิจใหม่ในใจเขา ในวันที่ THINKK Studio ถือเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในวงการออกแบบไทย

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในงานที่แสดงความใส่ใจเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนและสร้างสรรค์คือ โปรเจกต์เชิงทดลอง City Materials ที่ชวนอาสาสมัครมาค้นคว้าวิจัยวัสดุเศษเหลือที่ถือเป็นตัวแทนของคนเมืองกรุง จนเหลือเป็น 6 อย่าง จากนั้นนำมารังสรรค์แบบเป็นงานชิ้นใหม่ที่สามารถกลับเข้าไปจัดตั้งอยู่ในบริบทเดิม เช่น เปลี่ยนก้านธูปให้กลายเป็นของสักการะรูปสัตว์น่ารักๆ สำหรับใช้ในวัด เปลี่ยนกากกาแฟเป็นโคมไฟประดับร้านกาแฟ

นอกจากเปิดมุมมองเรื่องงานออกแบบกับสิ่งแวดล้อมให้คนเมืองแล้ว งานเหล่านี้ยังช่วยจุดประกายให้เกิดบทสนทนากับบรรดานักวิจัยอีกด้วย

“นักวิจัยมีองค์ความรู้ที่ลึกมาก ตอบได้หมดเลยว่าวัสดุจะอยู่ได้กี่ปี เอากลับมาใช้ได้ไหม เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า แต่ปัญหาที่เขาเจอคือ ไม่เห็นปลายทางว่าจะนำไปทำอะไรต่อ ถึงมีการเรียกว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

“ส่วนเราพอมีความรู้เรื่องคุณสมบัติวัสดุเบื้องต้นและรู้จักว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เราทำสิ่งเหล่านี้เป็นของต้นแบบออกมาได้ก่อน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยที่มีความต้องการจริงๆ นักวิจัยจะได้ไม่ต้องวิจัยในสิ่งที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าปลายทางคืออะไร” ทั้งสองวาดภาพให้เราเห็นกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างครบวงจรที่พวกเขากำลังพยายามขับเคลื่อนอยู่ เพื่อให้เกิดการใช้วัสดุที่นักออกแบบไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอีก

ถ้าทั้งฝ่ายออกแบบ วิจัย และผลิต ได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากทางภาครัฐ คงมีงานออกแบบใหม่ๆ ที่ลูกเล่นแพรวพราวและมีคุณค่าให้เราติดตามขึ้นอีกเยอะ

06

คิดเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ

การออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก นอกจากเป็นสิ่งที่ควรทำแล้ว ยังช่วยเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้มาทำงานร่วมกันและสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ 

“เรามองเห็นความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเยอะมากๆ ทุกคนมองหาอะไรที่จะอยู่ได้ในระยะยาว เช่น โรงแรมห้าดาว ห้างร้านต่างๆ เขาอยากรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์นี้จะอยู่ได้กี่ปี วางเอาต์ดอร์ได้ไหม แต่ในท้องตลาดยังไม่ได้มีตอบโจทย์อย่างจริงจัง หรือไม่ก็เป็นในเชิงทดลอง สั่งทำชิ้นเดียวมากกว่า แต่เราอยากทำให้มันเป็นอุตสาหกรรมจริงๆ เพื่อที่จะได้เกิดวงจรการผลิตงานเพื่อความยั่งยืนที่สมบูรณ์” พลอยเล่า

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

ในปีนี้เพื่อขยับเข้าใกล้ความตั้งใจนั้นไปอีกขั้น THINKK Studio จึงร่วมมือกับสองผู้ประกอบคู่ค้าของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ในโครงการ Upcyling Upstyling by GC 

คู่แรก พวกเขาร่วมมือกับแสงรุ่งกรุ๊ป ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ถังหมัก ถังขยะ และแกลลอนพลาสติก โดยนำเศษจากการผลิตสิ่งนี้เหล่านี้ นำมาออกแบบให้กลายเป็นกระถางต้นไม้ ที่ปรับแต่งขนาดของกระถางได้หลากหลายรูปแบบ 

“เราเดินเข้าไปดูในโรงงานแล้วเห็นว่ามีขั้นตอนหนึ่งที่เขาใช้คัตเตอร์กรีดส่วนเกินของภาชนะทีละใบออกอย่างประณีต ก็เลยสร้างเป่าหนึ่งแม่พิมพ์ให้มีหลายรูปแบบในอันเดียว แล้วใช้การตัดที่โรงงานถนัดเพื่อทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดและฟังก์ชันต่างๆ เช่น กระถางแขวน แจกัน ที่ใส่อุปกรณ์” เดย์อธิบาย ขั้นตอนนี้ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ไปมากอีกด้วย

คู่สอง พวกเขาจับมือกับลาวัณย์วิสุทธิ์ พลาสติกไทย ผู้ผลิตถุงพลาสติก ภายใต้โจทย์ที่ให้นำกระบวนการและเครื่องมือที่มีอยู่ในโรงงานปัจจุบัน คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นถุงพลาสติกรีไซเคิลหลากสีสันสะท้อนแสง ตามสีเศษพลาสติกต่างๆ และสกรีนข้อความเด่นๆ ว่า ‘REUSE ME, I WANNA BE WRINKLED’ เพื่อชูเสน่ห์ทางแฟชั่นของรอยย่นยับที่เกิดขึ้นบนถุง

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

จุดเด่นของถุงพลาสติกนี้คือความหนาและเหนียวเป็นพิเศษ ใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง ไม่เกิดการปลิวหรือฉีกขาดแบบถุงพลาสติกเดิมๆ 

หลังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ ลาวัณย์วิสุทธิ์ก็ได้รับการติดต่อจากแบรนด์ต่างๆ เข้ามาที่โรงงานเพื่อพัฒนาถุงรูปแบบใหม่ๆ ร่วมกัน

“ต่อไปการคิดถึงสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในชีวิตประจำวันของคน ธุรกิจต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย” เดย์สรุป

07

คิดเพื่อคนที่อยู่ด้วยกัน

THINKK Studio เป็นบริษัทขนาดกะทัดรัดประมาณ 9 คนที่รวมพลนักออกแบบฝีมือดี และเปิดโอกาสต้อนรับคนรุ่นใหม่ให้ได้เก็บประสบการณ์ผ่านการฝึกงานหรือทำนิทรรศการต่างๆ เพื่อให้เกิดการทดลองและเรียนรู้ร่วมกัน
“สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือ ประสบการณ์และโอกาสในการสร้างผลงาน เรามองว่าสมัยก่อนหายาก เลยอยากให้คนรุ่นใหม่ตอนนี้ได้ทำ” พลอยเล่า “เด็กรุ่นใหม่ที่มาทำงานด้วยก็สอนอะไรเราเยอะมาก เขาทันสมัยกว่า ทำให้เราเห็นว่าปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ถ้าเราไม่พัฒนาก็จะตกยุค และต่อไปไม่มีใครเก่งแค่คนเดียวได้แล้ว”

ในอนาคตเธอยังมีความฝันที่จะเปิดเป็นโรงเรียน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้การออกแบบอย่างลึกซึ้ง

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

การก้าวขาเข้าสู่วงการผู้ประกอบการ ยังทำให้ทั้งสองได้เรียนรู้การคิดระยะยาวไปในอนาคต เพื่อคนที่ทำงานด้วยกันในวันนี้มากขึ้นด้วย

“แต่ก่อนเราไม่ได้วางแผนธุรกิจขนาดนั้น พยายามออกแบบและทำงานปัจจุบันให้ดีที่สุด แต่พอเราโตขึ้น มีหลายเรื่องที่เราต้องฝึกฝน ทั้งเรื่องการบริหารเงิน รวมถึงเรื่องดูแลคนด้วย ว่าเราจะทำให้คนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับเราได้อย่างไร มีความสุขและเติบโตไปด้วยกัน

“เลยเริ่มวางแผนจริงจังว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหน เพราะสุดท้ายแล้ว เราอยากทำธุรกิจที่สร้างรายได้ คนเห็นค่า และได้ให้กลับไปยังคนที่ทำงานร่วมกับเรา” พลอยยิ้ม

08

คิดถึงอนาคตของเรา

ปัจจุบัน THINKK Studio รับงานออกแบบหลากหลายสไตล์ ให้กับทั้งเอกชนและองค์กรภาครัฐ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการประสบการณ์และสายตาอันเฉียบแหลมด้านการออกแบบในธุรกิจของตัวเอง และขายสินค้าในแบรนด์ THINGG 

ความช่ำชองหลากหลายด้านเหล่านี้ทำให้พวกเขาเริ่มได้รับโจทย์สนุกๆ และเป็นงานที่ตรงกับตัวตนของธุรกิจมากขึ้น แถมยังทำให้รอดพ้นจากช่วงเวลายากๆ อย่าง COVID-19 ได้ด้วย เพราะถึงบางจุดจะได้รับผลกระทบ ก็ยังมีโอกาสอื่นๆ รองรับอยู่

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

ส่วนความฝันก้าวต่อไป เป็นสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ของพวกเขามาตั้งแต่สมัยเรียน

“เราอยากให้ที่แห่งนี้เป็นที่ที่คนต่างชาติมาไทยแล้วอยากรู้ต่อว่างานดีไซน์ของไทยเป็นอย่างไร อยากแวะมาดูที่สตูดิโอ หรือนึกถึงเราเมื่อมีโจทย์ที่ต้องใช้ดีไซน์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน เวลาไปต่างประเทศ ก็อยากให้วันหนึ่งไปเจอเฟอร์นิเจอร์ไทยที่ชัดเจนและโดดเด่น คนอื่นมองแล้วรู้ว่ามาจากการออกแบบประเทศเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของเรานะ มันคงไปคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องมาตรฐานดีเป็นภาพรวมทั้งหมดเลย เราอยากเห็นภาพแบบนั้น”

Lesson Learned 

เดย์ : “ถ้าเป็นนักออกแบบ สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวผลิตภัณฑ์ ตัวผลงาน อยากให้โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มากที่สุด เรื่องอื่นๆ เป็นแค่องค์ประกอบเสริมที่จะทำให้งานไปไกลมากขึ้น”

พลอย : “ถ้าเราใส่ความคิด ความตั้งใจที่ดีลงไปในผลิตภัณฑ์ เราเชื่อว่าคนจะรับรู้ได้เมื่อเห็นผลงาน ถ้าเราทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นบอกเล่าเรื่องราวบางอย่าง มันจะมีคุณค่ามากขึ้น มากกว่าของที่ทำเพื่อให้ขายดีหรือตามเทรนด์เฉยๆ” 

THINKK Studio สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการคิดเปลี่ยนของเดิมๆเป็นของที่ตอบโจทย์คนและสิ่งแวดล้อม

GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานประชุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก National Geographic และเครือข่ายพันธมิตรที่รวบรวมกว่า 40 ผู้นำความคิด นวัตกร และนักธุรกิจจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม การสร้าง Business Model เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem)

งานนี้มุ่งหวังการแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในรูปแบบ Circular in Action รวมพลังปฏิวัติการใช้ทรัพยากรโลก เพื่อสร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืน โดยถอดบทเรียนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน วิถีการพึ่งพาตนเอง…ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า เปลี่ยนแนวความคิดสู่การปฏิบัติที่พร้อมขยายผล ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงที่เข้าใจง่ายและเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวัน SMEs องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสังคม เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมให้การนำแนวคิด Circular Economy ขยายผลออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะสร้าง ‘วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ ร่วมกัน (Tomorrow Together)

เข้าชมทุก Speaker ทุก Session ย้อนหลังได้ที่นี่

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู