การใช้ชีวิตในต่างแดนนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เราคิดว่าใครหลายคนที่เคยไปเรียนที่ต่างประเทศนานๆ คงจะเห็นด้วยกับข้อความข้างบนนี้ การเป็นนักเรียนนานาชาติเพียงไม่กี่คนในกลุ่มชาว Native Speaker กลุ่มใหญ่ที่พูดกันคนละภาษา มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน และไลฟ์สไตล์คนละขั้ว อาจดูเป็นเรื่องรื่นเริงบันเทิงใจในตอนแรก แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้ว ความบันเทิงก็อาจกลายเป็นความบรรลัยในชีวิตได้ในเวลาต่อมาเช่นกัน

การเรียนที่อเมริกามีระบบที่แตกต่างกับที่ไทยพอสมควร

เราเชื่อว่าคนที่เคยติดตามดูซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางฝั่งอเมริกาคงพอจะเข้าใจความรู้สึกนี้ได้บ้าง เพราะที่อเมริกาเน้นให้เด็กคิดเอง ทำเอง รับผิดชอบเอง มากกว่าที่ไทย และเราต้องมีส่วนร่วมในคลาสเรียนอยู่เสมอ ขนาดนักเรียนอเมริกันที่ใช้ชีวิตอยู่กับระบบนี้มานานยังต้องเผชิญหน้ากับความกดดันเหล่านี้ เด็กไทยตาดำๆ ที่ทุกวันนี้ยังพูดภาษาอังกฤษสลับ Tense ไปมาอย่างเราจะไปเหลืออะไร

แต่การเรียนก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด ชีวิตคนเรายังมีปัญหารุงรังอีกมากมายที่ทำให้เราอยากเอาเท้าก่ายหน้าผากอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่ปัญหาเรื่องงาน การเงิน หรือแม้แต่สังคมเอง และเพราะด้วยความกดดันจากเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ ในหลายปีที่ผ่านมาอัตราคนเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในอเมริกาจึงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนักเรียนชาวอเมริกันและนักเรียนนานาชาติ

ปัญหานี้เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมอเมริกามากจนมีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เครือข่ายป้องกันการฆ่าตัวตายผ่านพื้นที่สาธารณะ โรงเรียน ทางบัตรโดยสารรถไฟ หรือแม้กระทั่งมีเพลงแร็พอย่าง 1-800-273-8255 ของ Logic ft. Alessia Cara และ Khalid ที่ตั้งชื่อเพลงเป็นเบอร์โทรศัพท์สายด่วนขององค์กรป้องกันการฆ่าตัวตายเอาไว้ ก็ถูกแชร์กระหน่ำจนตอนนี้คว้าไป 3 ร้อยล้านกว่าวิว

โรคซึมเศร้า, Pause for Paws

บัตรโดยสาร BART ในซานฟรานซิสโก

ด้วยปัญหาความเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายนี้เอง ทางวิทยาลัยในอเมริกามีการรับมือกับปัญหานี้ไว้เช่นกัน อย่างคอลเลจที่เราเรียนอยู่ในปัจจุบันก็มี Student Health Center เป็นเหมือนทั้งห้องพยาบาลที่ไม่ใช่แค่เข้าไปรักษาอาการทางกายอย่างเดียว แต่ยังนัดคุยเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการบำบัดทางจิตใจได้ด้วย บางครั้งแคมปัสก็มีการจัดงานสัมมนาเพื่ออธิบายเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือมีกิจกรรมพิเศษ เช่น กินอาหารเย็นและเล่นเกมร่วมกัน ให้นักเรียนได้มีโอกาสปล่อยผีกันบ้าง

แต่บริการพิเศษของทางวิทยาลัยทั้งหมดก็ไม่มีอันไหนถูกใจเราเท่ากิจกรรม Pause for Paws อีกแล้ว พูดให้เห็นภาพคือ บริการหยุดแวะแล้วมาเล่นกับน้องหมานี่เอง

บริการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยละลายความเครียดให้กับนักเรียนในช่วงใกล้สอบ ทางวิทยาลัยจะเชิญเหล่าน้องหมาที่เป็น Therapy Dog จากสมาคม Orange County SPCA (ขึ้นอยู่กับรัฐและสถานที่ด้วย อาจจะมีสมาคมแตกต่างกันไป) เข้ามาในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนเข้ามาทักทาย กอด เล่น หรือถ่ายรูป กับน้องหมาได้อย่างเต็มที่เพื่อคลายเครียด

แต่แค่เล่นกับน้องหมา หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่าเจ้าปุกปุยที่เป็น Therapy Dog นี้มีความแตกต่างจากเจ้าปุกปุยที่บ้านตัวเองยังไง

โรคซึมเศร้า, Pause for Paws

หนึ่งในน้องหมาจาก Pause for Paws

เราขออธิบายข้อมูลแบบย่อๆ ก่อนว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำสุนัขมาใช้งานในหลายบทบาทมาก แบบแมสๆ ที่เห็นได้ทั่วไปคือ น้องหมาตำรวจ น้องหมาดมกลิ่น น้องหมางานฟาร์ม หรือน้องหมากู้ภัย แต่นอกจากงานเหล่านั้นแล้ว น้องหมาที่อเมริกายังถูกฝึกให้ทำงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลอีกมากมาย อย่างเช่น น้องหมาที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการ น้องหมาช่วยเหลือคนที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์และจิตใจ และน้องหมาที่เป็นน้องหมาบำบัดด้วย

โรคซึมเศร้า, Pause for Paws

เจ้า Therapy Dog นี้คือน้องหมานักบำบัดนั่นเอง น้องจะถูกฝึกมาเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงและรับมือกับความผิดปกติด้านอารมณ์ของเหล่ามนุษย์ อย่างเช่นโรควิตกกังวล ความกลัวต่างๆ หรือความผิดปกติเวลาที่เกิดความเครียดมากๆ เจ้าพวกนี้จะถูกฝึกให้เชื่อง มีความอ่อนโยน อดทน เป็นมิตร และตอบสนองต่อผู้คนในทางบวก และพอจับสัญญาณความผิดปกตินี้ได้ปุ๊บ เจ้าสี่ขาพวกนี้ก็จะรู้หน้าที่ เข้าไปชาร์จตัวคนนั้นและแสดงท่าทางประมาณว่า กอดหนูหน่อยน้า จับหนูได้น้า เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกดีขึ้น ต้องบอกเลยว่าท่าทางของเจ้าตูบเหล่านั้นน่ารักมาก เชื่อเถอะว่า ถ้าเป็นทาสน้องหมาต้องถึงกับใจละลายแน่ๆ

แต่การจะเป็น Therapy Dog ก็ไม่ได้ง่ายขนาดที่จะเอาเจ้าปุกปุยตัวไหนมาเป็นก็ได้ เพราะน้องหมาและรวมถึงตัวเจ้าของเองต้องทดสอบเพื่อรับรองการเป็น Therapy Dog ก่อนเช่นกัน โดยส่วนมากแล้ว เราจะพบเจอ Therapy Dog ได้ตามบ้านพักคนชรา สถานฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย หรือพวกสำนักงานทางจิตวิทยา

โรคซึมเศร้า, Pause for Paws โรคซึมเศร้า, Pause for Paws

น้องหมาพวกนี้มีการออกอีเวนต์เดินสายไปเยี่ยมเยียนตามสถานที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เช่นกัน อย่างเช่น ในโรงเรียน สถานพยาบาล หรือว่าในสนามบินบางที่ ก็มีเจ้าพวกนี้คอยไปทักทายผู้คนเพื่อช่วยลดความกลัวในการขึ้นเครื่องบินด้วย

แบบที่เท่ๆ หน่อย เราอาจเคยได้ยินข่าวที่น้องหมาเข้าไปทำหน้าที่ดูแลและช่วยเป็นกำลังใจให้เด็กหญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายจนต้องขึ้นศาล และเพราะได้ความช่วยเหลือจากน้องหมานี่แหละ ทำให้ในที่สุดเธอกล้าที่จะบอกความจริงกับศาลในสิ่งที่เกิดขึ้นได้

สัตว์ที่เป็นนักบำบัดได้ไม่ได้มีแค่น้องหมาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเหมียว กระต่ายน้อย ม้า นก หรือสัตว์เลื้อยคลานก็เป็นได้หมดถ้าทำให้เราสดชื่นได้ เพราะว่าเป็นสัตว์อะไรก็ได้นี่แหละ เราถึงได้เห็นความสร้างสรรค์ของคนบางคนที่เลี้ยงสัตว์บางชนิด ทำให้ผู้โดยสารบางคนเวลาขึ้นเครื่องบินถึงกับช็อก เพราะอาจได้นั่งข้างเพื่อนร่วมทางที่เป็นไก่งวงหรือจิงโจ้ได้

ขอเม้าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวของเราหน่อย เมื่อปลายปีที่แล้วช่วงสอบปลายภาคเราเครียดมาก คือ แค่ตัวเองก็เครียดพอแล้ว แต่พอเดินไปถึงที่โรงเรียน บรรยากาศรอบข้างของคนที่อ่านหนังสือสอบ นั่งทำงานกันอย่างหัวฟูนี่ กระจายรังสีความกดดันเข้ามาให้เราเต็มๆ พอเราอยู่กับบรรยากาศแบบนี้นานๆ เข้ามันก็เหมือนเป็นโรคติดต่อที่ทำให้แม้แต่ตัวเราเองก็รู้สึกจิตตกไปด้วย

โรคซึมเศร้า, Pause for Paws

ระหว่างที่เรากำลังยืนเครียดเกี่ยวกับปัญหาบางอย่างและการสอบอยู่นั้น จู่ๆ ก็มีน้องหมาโกลเด้นรีทรีฟเวอร์สีน้ำตาลตัวหนึ่งเดินเข้ามาหาเรา เจ้าตูบตัวนี้เดินมานั่งลงตรงข้างหน้าพลางจ้องตาเราไม่กะพริบ เรายืนมองหน้าเจ้าตูบตัวนี้ด้วยความเอ็นดูแต่ก็ไม่กล้าเล่นกับน้อง เพราะที่อเมริกาเหมือนเป็นมารยาทที่ถ้าอยากเล่นกับน้องหมาตัวไหน เราควรขออนุญาตเจ้าของก่อน

เพียงไม่กี่วินาทีให้หลัง ผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งที่เหมือนจะเป็นเจ้าของน้องหมาเดินมาบอกเราว่า “น้องอยากให้เรากอด กอดได้นะ” สิ้นประโยคนั้นแค่นั้นแหละ ด็อกเลิฟเวอร์อย่างเราก็ถาโถมเข้าไปกอดและเล่นกับน้องตูบทันที

สิ่งที่เราสัมผัสได้ชัดเจนถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างเจ้าตูบที่เป็น Therapy Dog และเจ้าตูบธรรมดา (จากน้องหมาของญาติตัวเองนี่แหละ) เราพบว่า Therapy Dog จะมีความสุขุมอยู่มากกว่า เหมือนรู้ว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่อะไร ต้องปลอบประโลมคนตรงหน้าแบบไหน และค่อนข้างปล่อยตัวสบายๆ กับคนแปลกหน้า ต่างกับเจ้าตูบที่บ้านที่ถ้าเราเล่นด้วยแบบนี้ ป่านนี้คงวิ่งรอบบ้าน ไม่ก็หงายหลังขอให้เกาพุงแล้ว

โรคซึมเศร้า, Pause for Paws

เจ้าตัวนี้แหละที่เดินมาให้กอดถึงที่เลย

ไม่น่าเชื่อว่าแค่การได้เข้าไปกอด ลูบหัว ลูบตัว เจ้าปุกปุยมันจะช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้มากขึ้น จากที่ยืนเครียดกลายเป็นว่าความเครียดของเราเริ่มจางลงจนเรายิ้มออกมาให้กับเจ้าตูบตรงหน้าได้ แถมพอเราไปที่บูทของเหล่าน้องหมาที่มาให้บริการแก่พวกนักเรียน เราต้องเผลอยิ้มกว้างกว่าเดิมเพราะน้องหมาหลายตัวถูกแต่งตัวด้วยของประดับในวันคริสต์มาส และผ้าพันคอเพื่อต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสที่จะมาถึงตอนปลายปีได้อย่างมุ้งมิ้งมากๆ แถมเราก็ได้รูปถ่ายของน้องหมาบางตัวจากเจ้าของที่ทำมาแจกเป็นของที่ระลึกด้วย

เราได้คุยกับเจ้าของน้องหมาบางตัวในวันกิจกรรมบ้าง พวกเขาเล่าให้ฟังว่าน้องหมาพวกนี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกก่อนจะมาทำหน้าที่นี้ ถ้าน้องหมาที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ต้องมาพบเจอกับผู้คนเยอะแยะไปหมด มันอาจเกิดความเครียดขึ้นมาและอาจสร้างความอันตรายได้

ปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่มีกิจกรรมนี้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาประทับใจเหมือนกันในทุกๆ ปี คือรอยยิ้มของพวกนักเรียนหลังจากที่ได้มาเล่นกับน้องหมาเหล่านี้ และพวกเขาก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยนักเรียนไม่ให้เครียดจนเกินไป

โรคซึมเศร้า, Pause for Paws

รูปที่ระลึกน้องหมา

วันนั้นเราใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเดินวนไปวนมาเล่นกับน้องหมาตัวนั้นทีตัวนี้ทีในบูทเพลินจนโดนเจ้าของน้องหมาเหล่านั้นแซวว่าเราจะอยู่ให้ครบ 2 ชั่วโมงจนหมดเวลาเลยก็ได้นะ ก็แหม… เจ้าเท้าปุยพวกนี้น่ารักจะตายนี่เนอะ

กิจกรรมพวกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเทอมละครั้ง (ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันด้วย) ทางโรงเรียนเราจะเชิญน้องหมาเหล่านี้มาในช่วงการสอบปลายภาค โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 วัน วันละ 2 ชั่วโมง จากการคาดการณ์ของเราแล้ว เราคิดว่าผลตอบรับในกิจกรรมนี้ดีมากเลยทีเดียว เพราะแต่ละคนที่ได้เข้ามาใช้บริการนี้ ต่างก็มีรอยยิ้มออกมากันทุกคน รวมถึงเราเองก็ด้วย

เราคิดว่าการที่นักเรียนได้มาเล่นกับน้องหมาเพื่อผ่อนคลายตนเองแล้ว การได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโลกสี่ขาตรงหน้ายังช่วยปรับสมดุลของอารมณ์ได้อีกด้วย และปีนี้ทางโรงเรียนเราก็ได้จัดตารางเตรียมเชิญน้องเหล่าก๊วนสี่ขามาแจกจ่ายความสุขให้กับนักเรียนเรียบร้อยแล้ว

สำหรับเรา ประโยคที่บอกว่า “สุนัขเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์” เราคนหนึ่งขอเป็นพยานยืนยันว่ามันเป็นเรื่องจริงแหละ 🙂

Writer & Photographer

Avatar

วิศัลลยา เกื้อกูลความสุข

นักเรียนไทยในต่างแดน มีความฝันว่าอยากทำงานด้านท่องเที่ยวและเล่นดนตรีไปรอบโลก