“เครียดจัง อยากกลับบ้านไปกอดหมา”

ไม่น่ามีแค่เราคนเดียวที่คิดแบบนั้น ในวันที่ปัญหาชีวิตรุมเร้า หรือต้องต่อสู้กับสภาวะซึมเศร้ากลางเมืองใหญ่ การเล่นกับน้องหมาเพื่อบรรเทาความเครียดคงเป็นสิ่งที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าเป็นการวิ่งออกจากออฟฟิศกลับบ้านไปกอดหมา หรือพาตัวเองไปฝังตัวอยู่ตาม Dog Cafe ช่วงสุดสัปดาห์

บทสนทนาวันนี้ที่เราได้คุยกับ Therapy Dog Thailand ได้ยืนยันว่า เราไม่ได้คิดไปคนเดียว

Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน

กลุ่ม Therapy Dog Thailand ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มเพื่อน 6 คน ที่มีความเชื่อร่วมกันในพลังการบำบัดของน้องหมาและหัวใจที่อยากช่วยเหลือคนอื่น โอ-ศิริวรรณ โอสถารยกุลเชอรี่-พรรษชล ถาวรวงศ์เก๋-สุฤดี สุนทรวัฒน์บี๋-ปรารถนา จริยวิลาศกุลบิ๊ค-อุษณีษ์ จริยวิลาศกุล, และ นก-ทัศนีย์ อุดมแก้วกาญจนา

กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาด้วยความตั้งใจอยากจะสร้างสุนัขนักบำบัดที่ได้มาตรฐานระดับโลกขึ้นในประเทศไทย เน้นฝึกสอนทั้งเจ้าของสุนัขและสุนัข ให้ใช้น้องหมาของตัวเองมาดูแลและบำบัดตัวเองหรือผู้อื่นได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ฝึกสอนโดยคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ขอแค่มีสุนัขที่เลี้ยงไว้และสนใจอยากฝึกตัวเองให้เข้าใจหลักการบำบัด เพื่อที่จะนำน้องหมา มาดูแลตัวเอง คนในครอบครัว หรือขยายวงออกไปได้จนถึงผู้คนในสังคม ก็ยื่นใบสมัครเข้ามาเทรนด้วยกันได้ทั้งนั้น

บทเรียนที่ 1

สุนัขบำบัด VS สุนัขนักบำบัด

สุนัขบำบัด หรือการใช้สุนัขเพื่อสร้างความสุขและความผ่อนคลายไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่การฝึกสุนัขให้เป็น ‘นักบำบัด’ มืออาชีพ น่าจะเป็นอะไรที่คนไทยเราไม่คุ้นเคยกันเท่าไหร่นัก โอเล่าเปิดพื้นฐานก่อนเลยว่า

“เมืองไทยเราจะคุ้นชินการทำงานของสุนัขร่วมกับคน เช่น สุนัขนำทาง สุนัขกู้ภัย สุนัขดมกลิ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ เราเรียกว่า Service Dog แต่ Therapy Dog คือสุนัขในบ้านที่มีเจ้าของ ซึ่งเจ้าของและสุนัขจะฝึกพร้อมกัน ทำงานเป็นทีม เพื่อให้มีคุณสมบัติในการช่วยบำบัดดูแลผู้อื่น” เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเจ้าของใช้สุนัขให้เป็นเครื่องมือหมออย่างหนึ่ง ที่ใช้ช่วยดูแลผู้ป่วย 

เมื่อเปรียบน้องหมาเป็นเครื่องมือบำบัด ผู้ใช้งานจึงสำคัญไม่แพ้เครื่องมือ 

สิ่งที่ Therapy Dog Thailand ผลักดัน จึงเป็นการฝึก ‘ผู้เลี้ยง’ ไปพร้อมๆ กับสุนัข เพื่อให้กลายเป็นผู้ใช้น้องหมาเป็นเครื่องมือบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

บี๋เล่าเสริมถึงความแตกต่างระหว่าง สุนัขบำบัด กับ สุนัขนักบำบัด ว่า “เราอาจจะชินกับการกลับบ้านมากอดหมา นั่นคือสุนัขบำบัดฉันแล้ว โดยธรรมชาติของน้องหมาทุกตัวมีพลังรักษา มีงานวิจัยมากมายว่า วิธีการที่น้องหมาสร้างความสัมพันธ์กับคนอยู่ใน Neural Pathway เดียวกับการสร้างความสัมพันธ์ของแม่และลูก เราจึงรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย แต่เรื่องสุนัข ‘นักบำบัด’ เป็นเรื่องใหม่ เวลาเลี้ยงตามปกติเราอาจจะไม่ได้เข้าถึงศักยภาพสูงสุดของสุนัข การจะก้าวข้ามจากสุนัขน่ารักมาเป็นนักบำบัดมืออาชีพ เขาต้องทำงานคู่กับเจ้าของที่ผ่านการฝึกมาตามหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน เมื่อเจ้าของรู้ว่าสุนัขของเรามีพลังหรือศักยภาพอะไรบ้าง จะช่วยให้สุนัขบำบัดคนอื่นได้อีกมาก”

Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน

บทเรียนที่ 2

สอนให้เข้าใจทั้งคนและสุนัข

การฝึกเจ้าของสุนัขและสุนัขให้พร้อมสำหรับการบำบัดไม่ได้ทำกันเล่นๆ ต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ 30 ชั่วโมง มีการสอนสัปดาห์ละครั้ง เพราะกลุ่มคนที่สุนัขนักบำบัดดูแลได้นั้นมีหลากหลาย และแทบทุกบ้านจะมีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ ตั้งแต่เด็ก ผู้สูงวัย ผู้ป่วยทางสมอง ผู้พิการรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นกว่าเจ้าของและน้องหมาจะมีความรู้ ย่อมต้องผ่านหลักสูตรที่ไม่ธรรมดา ถ่ายทอดจากคุณหมอ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เรียนและฝึกในสถานที่จริง เพื่อสร้างประสบการณ์และความคุ้นเคย เพื่อให้การบำบัดเกิดประสิทธิภาพ 

หลักสูตรการสอนเจ้าของและสุนัขให้เป็นนักบำบัดของ Therapy Dog Thailand นั้น เดินทางข้ามทวีปมาจากยุโรปเลยทีเดียว

โอเล่าว่า หลังจากรู้จัก Therapy Dog ก็ค้นหาข้อมูลและองค์กรที่ทำเรื่องนี้ จนมาลงตัวที่หลักสูตรของ Therapy Dog Associaltion Switzerland VTHS องค์กรไม่แสวงหากำไรจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีประสบการณ์เรื่องสุนัขนักบำบัดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1991

อีกทั้งประเทศสวิตเซอร์เป็นประเทศที่ทุกคนทราบดีว่ามีคุณภาพชีวิตดีประเทศหนึ่งของโลก หลักสูตรของที่นี่จึงมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของทั้งผู้รับและผู้ให้เป็นสำคัญ ในหลักสูตรจะให้ความรู้พื้นฐานกับเจ้าของ เกี่ยวกับผู้ที่จะรับการบำบัด สำหรับการนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันกับคนในครอบครัว หรือเวลาออกไปทำงานจริงเพื่อให้ความสุขแก่ผู้อื่น และยังให้สำคัญกับความสุขของสุนัข ไม่ได้ใช้สุนัขเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว แต่ใส่ใจตั้งแต่อายุของสุนัขที่เหมาะจะมาฝึกเป็นนักบำบัด เพราะสุนัขวัยเด็กที่กำลังซนยังไม่ใช่ช่วงทำงาน เขาควรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เล่นเหมือนเด็กคนหนึ่ง หรือแม้กระทั่ง การกำหนดเวลาเพื่อปฏิบัติงานก็ควรทำเพียงแค่ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อรักษาสุขภาพจิตของสุนัขด้วย เพราะหากสุนัขถูกใช้งานมากเกินไป ก็จะทำให้เขาไม่มีความสุข และเมื่อสุนัขไม่มีความสุข ก็จะไม่สามารถมอบความสุขให้แก่ผู้คนได้เช่นกัน

Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน

บี๋เสริมว่า การฝึกในเซสชันแรกๆ ของหลักสูตร เจ้าของสุนัขจะได้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ การสื่อสาร และทำความเข้าใจมนุษย์อีกคนหนึ่ง ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ในขณะเดียวกันเจ้าของยังจะได้เข้าใจพฤติกรรมสุนัข รู้จักสังเกต อาการ ความเครียด ซึ่งจะมีทั้งสัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพฤติกรรมสุนัขโดยเฉพาะ และนักจิตวิทยาจะมาสอนเป็นเรื่องราว และเนื่องจากเป็นการฝึกในกลุ่มเล็กๆ ครูผู้ฝึก และสัตวแพทย์นักพฤติกรรมสุนัข จะดูละเอียดถึงพฤติกรรมสุนัขเป็นรายตัวว่า สุนัขแต่ละตัวมีพฤติกรรมอย่างไร ชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมกับผู้คนแบบใด 

“ในเซสชันของแต่ละสัปดาห์จะเป็นบทเรียนความรู้เกี่ยวกับผู้คนหรือผู้ป่วยที่แตกต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้ป่วยซึมเศร้า ก็จะมีการเจาะลึกให้ความรู้ในแต่ละสัปดาห์ถึงความต้องการเฉพาะกลุ่มของผู้ที่เข้ารับการบำบัด เช่น ผู้สูงอายุที่นอนอยู่บนเตียง จะต้องพาสุนัขเข้าหาท่าไหน ความสูงระดับไหน หรือผู้ป่วยเดินไม้เท้า สุนัขต้องไม่กลัว หรือขวางไม้เท้า หรือแม้กระทั่งการเข้าหาเด็กๆ สุนัขควรอยู่ระดับใดของเด็ก คำแนะนำสำหรับเด็กๆ ในการเล่นกับสุนัข หรือวิธีการพูดคุยกับผู้ป่วยซึมเศร้า เป็นต้น” โอพูดถึงรายละเอียดของหลักสูตรที่ลงลึกขึ้นไปอีก

Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน
Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน

นอกจากการนำหลักสูตรจากสวิตเซอร์แลนด์มาเป็นมาตรฐานแล้ว ทางกลุ่มได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาให้คำปรึกษา ปรับบทเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทย ทั้งในเรื่องความรู้สำหรับเจ้าของสุนัขและตัวสุนัขเอง อาทิ คุณขรรค์ ประจวบเหมาะ จากมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย พญ.นาฏ ฟองสมุทร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง จากมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.เพลิน ประทุมมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็ก แพทย์จากโรงพยาบาลศรีธัญญา สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในส่วนของสุนัข ดร.นสพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสุนัข จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณรุ้งจิต ตั้งจิตเจริญ นักพฤติกรรมสุนัข และ คุณโรเจอร์ โลหนันทน์ ผู้ก่อตั้งสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เป็นต้น 

หลายคนสงสัยว่า เมื่อเรียนจบและสอบผ่านจนได้รับ Certificate แล้ว เวลาออกไปบำบัดจริงๆ ต้องทำอย่างไร ทางกลุ่มอธิบายว่า กรณีที่ใช้สุนัขนักบำบัดเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัว สามารถทำได้โดยการสังเกตความต้องการของคนในครอบครัว และตัดสินใจว่าจะใช้สุนัขมาช่วยอย่างไรได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น แต่กรณีที่นำสุนัขนักบำบัดไปบริการในสถานพยาบาลหรือสถานพักฟื้นผู้ป่วย เจ้าของสุนัขจะต้องปรึกษาและทำงานร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ นักกายภาพบำบัด หรือบุคลากรทางการแพทย์ขององค์กรนั้นๆ เพื่อให้การบำบัดบรรลุเป้าหมาย เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยต่อผู้เกี่ยวข้องทุกคน

Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน

บทเรียนที่ 3

สอนให้รู้จักรักและรู้จักให้ 

ความน่าสนใจของ Therapy Dog Thailand ไม่ได้มีแค่ตัวหลักสูตรที่สอนให้ความรู้กับทั้งฝั่งเจ้าของและน้องหมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรู้ขั้นต้นที่สุด คือการดูแลตัวเองและคนรอบตัวได้ด้วย เพราะเมื่อพูดถึงสุนัขนักบำบัด ขอบเขตไม่ได้จำกัดอยู่แค่ต้องเป็นผู้ที่ต้องการการบำบัด ผู้ป่วย ผู้พิการ หรือผู้มีความต้องการพิเศษเท่านั้น ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนล้วนต้องการความรักและความสุข ด้วยความอ่อนโยน ความไว้ใจ และความอบอุ่นไม่มากก็น้อย

“หากในบ้านเรามีผู้สูงวัย แล้วเราไม่รู้ว่าจะพูดคุยกับเขาอย่างไร ก็ใช้สุนัขเป็นตัวเชื่อมได้” โอยกตัวอย่างประกอบ “เราพาสุนัขเข้าไปนั่งซบลงบนตักคุณยาย เป็นเหมือนการชวนคุณยายคุยโดยใช้สุนัขเป็นบทสนทนา ซึ่งอาจทำให้คุณยายเริ่มถามว่า น้องหมาอายุเท่าไหร่ ก็เป็นการสร้างบทสนทนาเล็กๆ หรือคุณตาจากที่นอนนิ่งๆ บนเตียง อาจจะยกมือขึ้นลูบหัวสุนัข ขยับร่างกายบ้าง และสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีปัญหาหรืออาการป่วยเท่านั้น หรือกับเด็กๆ ที่ไม่ชอบ ไม่กล้าอ่านหนังสือ กลัวอ่านผิด หรืออ่านออกเสียงเบา เราอาจจะให้เด็กอ่านหนังสือให้สุนัขฟัง เด็กก็จะกล้าอ่านมากขึ้น” 

“เพราะสุนัขจะไม่ตัดสินเขา ไม่ชี้ว่าเขาอ่านผิด เด็กก็จะผ่อนคลาย มีสมาธิและมั่นใจมากขึ้น” เชอรี่พูดถึงจุดเด่นของน้องหมาที่เรานึกไม่ถึง

หากเราลองมองออกไปไกลกว่าบริบทภายในบ้านอาจจะเห็นว่า พลังเยียวยาของสุนัขอาจแผ่ออกไปสร้างความอบอุ่นให้กับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมได้ด้วยเหมือนกัน Therapy Dog Thailand จึงพยายามผลักดันให้สุนัขนักบำบัดได้รับการยอมรับ สามารถเข้าไปส่งมอบความสุขได้ในหลากหลายสถานที่ แม้ว่าบริบทกฎหมายในปัจจุบันจะยังไม่เปิดรับมากนักก็ตาม

“ทุกวันนี้เราเข้าคุยกับคนเยอะมาก หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งหลายที่ เคยมีกิจกรรมที่นำสุนัขเข้าไปให้เด็กและผู้สูงอายุเล่นด้วย เช่น โครงการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นที่พักผู้สูงอายุ เคยมีคนใจดีพาสุนัขเข้าไปให้ผู้สูงวัยได้เล่นอย่างเพลิดเพลิน แต่ก็ยังมีผู้สูงอายุบางท่านกลัว ไม่มั่นใจในมาตรฐานของสุนัข และความปลอดภัย ซึ่งนี่นับเป็น Pain Point ของสุนัขที่เข้าไปบำบัดในสถานที่ต่างๆ ของเมืองไทย นี่จึงเป็นจุดหลักสำคัญที่ทาง Therapy Dog Thailand เน้นย้ำ ถึงการมี Certificate ที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้สุนัขนักบำบัดมาสร้างความสุขให้กับทุกคนในสังคม ดังนั้นกว่าจะเริ่มต้นเข้ามาเรียนได้ ทั้งเจ้าของและสุนัขเอง ต้องผ่านการสอบความสามารถ การตรวจสุขภาพตามมาตรฐานของสวิตเซอร์แลนด์ และภายหลังจากการเรียน ก็ต้องมีการทดสอบสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง ว่ามีความพร้อมสำหรับการได้รับ Certificate การเป็น Therapy Dog Thailand อย่างแท้จริง” โอเล่า

กระบวนการฟังดูยาก แต่ทางกลุ่มเชื่อว่าหน้าที่การเป็น ‘สุนัขนักบำบัด’ มีความสำคัญ และจะช่วยเหลือผู้อื่นได้จริงๆ และหากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเปิดใจ ผู้รับการบำบัดก็ได้สัมผัสถึงประโยชน์จากสิ่งนี้

Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน
Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน

บทเรียนที่ 4

สอนให้ครั้งหนึ่ง คิดถึงตลอดไป

นอกจากจะได้วิชาความรู้เรื่องสุนัขเพื่อใช้ในการบำบัดตัวเองและคนในครอบครัว รวมไปถึงผู้คนรอบตัวเราแล้ว Therapy Dog Thailand ยังคาดหวังจะมอบความสุขที่อยู่กับผู้เรียนได้ตลอดไป ผ่านชุมชนของคนที่รักและเชื่อสิ่งเดียวกัน ทีมงานเล่าให้เราฟังว่า คนส่วนหนึ่งตั้งใจมาเรียนเพื่อไปดูแลคนใกล้ตัว แต่อีกส่วนหนึ่งคือคนที่ไม่ได้คิดถึงตัวเองเลย แต่คิดว่าเป็นฉันกับหมา รวมพลังกันเพื่อทำให้คนอื่น

“ในขั้นตอนการรับสมัครเจ้าของและสุนัขเข้ามาร่วมฝึก จะมีการโทรไปสัมภาษณ์ด้วย มีอยู่ท่านหนึ่งเล่าว่า น้องเขาเป็นโรคซึมเศร้า และเขาเชื่อว่าสุนัขที่เขาเลี้ยงอยู่น่าจะช่วยอะไรได้ น่าเสียดายว่าเพิ่งจะมีหลักสูตรแบบนี้เกิดขึ้น เพราะตอนนี้น้องเขาเสียไปแล้ว แต่วันนี้อยากสมัครเข้ามาเทรนกับเรา เพราะเชื่อว่าเขาและน้องหมาน่าจะช่วยคนอื่นได้อีก” เก๋เล่าถึงผู้สมัครที่มีหัวใจเดียวกัน

ผู้สมัครบางคนบอกว่า เขามีพ่อแม่สูงอายุในบ้าน ถ้าไม่เลี้ยงน้องหมา พ่อแม่คงเฉาไปแล้ว อีกเคสหนึ่งบอกว่า ผมเคยเป็นซึมเศร้า ผมหายแล้ว และผมก็อยากช่วย” บี๋เล่าประวัติของผู้มาเรียน

Therapy Dog Thailand หลักสูตรสุนัขบำบัดที่ฝึกทั้งคนและหมาให้เยียวยากันและกัน

บทเรียนที่ 5

สอนว่าความสุขส่งต่อได้ไม่รู้จบ

ภาพฝันในอนาคตของทีม Therapy Dog Thailand คืออยากเห็นชุมชนคนและสุนัข เรียกว่า Therapy Dog Thailand Community ที่น่ารักเหล่านี้ขยายตัว และส่งต่อพลังบวกออกไปให้กับผู้คนในสังคมแบบยั่งยืน

“เราเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ที่เริ่มต้นสิ่งนี้เป็นธุรกิจเพื่อต่อยอดการสร้าง Ecosystem ของการใช้สุนัขนักบำบัดให้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทยแบบยั่งยืน ต้องบอกว่าวันนี้เราควักกระเป๋าตัวเองมาทำ เพราะเราเห็นปลายทางที่เป็นประโยชน์จริงๆ กับสังคมไทย เห็นประโยชน์ตั้งแต่คนใกล้ตัว ไปจนถึงคนอื่นๆ ในสังคม เราอาจจะไม่ได้ตั้งต้นด้วยการขอรับเงินบริจาคหรือการขอเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เพราะเราคิดว่า เรากำลังทำเรื่องใหม่ ดังนั้นการพูดไม่ได้มีน้ำหนักดีพอเท่ากับการลงมือทำ เราเลยขอลงมือทำก่อนเพื่อเริ่มให้คนในสังคมได้เห็นและยอมรับ และถ้าคิดว่าจะเริ่มทั้งที ก็ต้องทำให้จริงให้ได้มาตรฐานให้กับสุนัขนักบำบัดในเมืองไทย ในขณะเดียวกัน เราก็อยากสร้างชุมชนให้ทุกคนได้เข้ามาทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน เพื่อคืนกลับไปสู่สังคม ทุกคนจะได้เห็นทั้งศักยภาพของตัวเองและน้องหมาที่จะช่วยเหลือดูแลคนอื่นอีกด้วย” โอพูดถึงภาพฝันที่อยากเห็น

“การตั้งชุมชนนี้ (Therapy Dog Thailand Community) จะมาจากห้าเปอร์เซ็นต์ของรายได้เรา โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ เพื่อให้ชุมชนนี้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เมื่อผู้เรียนเรียนจบหลักสูตร และสอบผ่าน ก็จะได้รับประกาศนียบัตรจาก Therapy Dog Thailand According to Therapy Dog Association Switzerland และได้เป็นสมาชิกของชุมชนโดยอัตโนมัติ โดยชุมชนนี้จะประกอบไปด้วยที่ปรึกษาโครงการซึ่งเป็นทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ที่จะมาร่วมทำกิจกรรมจิตอาสากับเราในแต่ละเดือนไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น บ้านเด็กและมูลนิธิต่างๆ ที่ต้องการได้รับการบำบัด โดยแต่ละครั้งก็เป็นเหมือนการมาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้ทำงานกุศลไปด้วยกัน”

“องค์กรที่เป็นที่ปรึกษาและพันธมิตรของเรา เป็นเสมือนคนที่ช่วยเปิดประตู เมื่อมีคนเปิดรับ เราเองก็จะดันไปให้สุด สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งใหม่ และเราทุกคนก็เริ่มต้นทำสิ่งนี้อยู่บนความเสี่ยง ทั้งการควักเงินของตัวเอง และชวนเพื่อนๆ มาลงแรงทำร่วมกัน แต่ความเสี่ยงนี้เป็นการเสี่ยงที่เรามองว่ามีปลายทางที่คุ้มค่า เพราะเราเชื่อว่า เราจะได้ก็เมื่อเราพร้อมที่จะให้” บี๋ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดหลักของกลุ่ม

Therapy Dog Thailand กำลังเปิดรับสมัครผู้เรียนพร้อมน้องหมา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.therapydogthailand.org หรือ Facebook : Therapy Dog Thailand

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู