“ผมชื่อเทพครับ เป็นโลเคชันเมเนเจอร์”

ประโยคแนะนำตัวด้านบนกลายมาเป็นคำตอบของชื่อเพจ Theplocation (เทพโลเคชัน) ที่ไม่ได้ตั้งเพราะความเก่งกาจด้านการสรรหาสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่มีที่มาจาก เทพ-ธัญญเทพ สุวรรณมงคล เจ้าของเพจผู้จัดหาโลเคชันสำหรับถ่ายทำโฆษณา ภาพยนตร์ และละคร ซึ่งเขาหยิบเรื่องราวสถานที่และผู้คนที่พบเจอระหว่างทำงาน มาบอกเล่าผ่านตัวอักษรและรูปภาพอย่างออกรส

เทพ-ธัญญเทพ สุวรรณมงคล เจ้าของเพจ Theplocation (เทพโลเคชัน)

เทพมุ่งเดินบนเส้นทางโลเคชันเมเนเจอร์ตั้งแต่อายุ 25 โดยไม่สนใจเส้นทางอื่น สั่งสมประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ถ้าจะบอกว่าเขาคือนักจัดหาโลเคชันขั้นเทพคงไม่ผิดนัก เพราะหน้าที่หลักคือเฟ้นหาสถานที่แปลกใหม่ รวมทั้งประสานงานเพื่อให้การถ่ายทำราบรื่น 

“เพจเริ่มต้นจากความสนุก” เทพเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย ความที่เป็นนักเล่าเรื่องตัวยง เขาจึงสนุกทุกครั้งที่ได้แบ่งปันโลเคชันที่คนไม่เคยเห็น พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกเพจอย่างเป็นกันเอง ถึงขั้นกลายมาทำเพจจริงจังเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และมองเห็นโอกาสที่มากกว่า คือการเป็นโลเคชันเอเยนต์ควบคู่ด้วย

ครั้งนี้เทพพาเราลัดเลาะบ้านสีขาวหลังใหญ่ ตั้งตระหง่านกลางย่านลาดพร้าว หากนึกภาพตามคงเป็นคฤหาสห์ของพระ-นางในละครย้อนยุคสักเรื่อง บ้านหลังนี้เป็นบ้านนักเปียโนเลื่องชื่อ โอ่โถ่งพอที่จะมีหอจัดแสดงภายในบ้าน เจ้าบ้านต้อนรับอย่างเป็นกันเอง พร้อมกับเทพที่พูดราวกับสนิทกับเจ้าบ้านมาเนิ่นนาน

“เจอกันครั้งแรกก็เดินเข้ามาในบ้านเลย” 

Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ

จุติ-เทพ

เทพชวนเราย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นนักจัดหาสถานที่ขั้นเทพ 

“ตอนนั้นเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ก็รู้สึกเคว้ง กว่าจะรู้ตัวว่าชอบทำอะไรก็ตอนฝึกงาน ตอนแรกฝึกที่บริษัทสังกัดแกรมมี่ พาร์ทหนึ่งทำรายการ พาร์ทหนึ่งทำละคร จึงขอเปลี่ยนไปทำละครเพราะชอบบรรยากาศกองถ่าย จนอายุยี่สิบห้าปี มีรุ่นพี่ที่รู้จักโทรมาบอกว่า Matching Studio เขาหาคนทำโลเคชัน ก็ถามว่าคนทำโลเคชันคืออะไร เขาบอกไม่รู้ แต่จะมามั้ย ถ้ามาจะสอนให้

“งานแรกจำได้ว่าร้องไห้เพราะหาไม่ได้ ไม่เคยทำงานโลเคชันมาก่อนในชีวิต โจทย์แรกของ ม่ำ-สุธน เพ็ชรสุวรรณ สมัยนั้นดังมากเพราะเป็นผู้กำกับโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก ตามหาคฤหาสน์ในโฆษณามนุษย์สะดือ ร้องไห้เพราะหาไม่ได้ หัวหน้าไล่กลับบ้านพร้อมรถตู้แคสติ้ง 

“ตอนนั้นฝึกอยู่สี่เดือน จำได้ว่าวันที่หัวหน้าบอกว่าฝึกงานไม่ผ่าน อีกวันคุณปู่เสีย ช่วงเบญจเพสตอนนั้นหนักเลย หัวหน้าบอกให้กลับไปคิดดูว่าจะสู้ต่อมั้ย หรือจะไปทำอย่างอื่น สุดท้ายก็ลองอีกสามเดือน ฝ่าฟันจนได้เป็นพนักงานประจำ ทำงานที่ Matching Studio เจ็ดปี หลังจากนั้นก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์จนถึงปัจจุบัน”

เขาดำเนินอาชีพนี้ในฐานะฟรีแลนซ์เรื่อยมาสู่การทำเพจ Theplocation เพราะสนุกที่ได้แบ่งปันเรื่องโลเคชันแปลกใหม่ระหว่างทำงาน จนมองเห็นโอกาสใหม่ในการต่อยอดอาชีพ จึงเพิ่มบทบาทเป็นโลเคชันเอเยนต์ 

โลเคชันเอเยนต์ คือตัวแทนจัดการสถานที่ ทำให้คนสองกลุ่มที่มีความต้องการสอดคล้องกันมาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านที่อยากให้บ้านเป็นพื้นที่ถ่ายทำ และกองถ่ายที่ต้องการหาสถานที่ถ่ายทำ เพจจึงเป็นพื้นที่ตรงกลางในการสื่อสาร ที่ดำเนินการโดยเทพแห่งเทพโลเคชัน

“เรามองว่ามันเป็นสกิลล์เดียวกัน” เทพกล่าวถึงสองบทบาทที่เขาทำ 

“ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะเก็บบ้านหลังนี้ไว้ คนทำโลเคชันเมเนเจอร์ส่วนใหญ่มีอาวุธลับ เขาจะไม่บอกใครว่าเจอบ้านหลังนี้ แต่เราไม่ใช่ พอเรามีข้อมูลเยอะ เราต้องใช้ประโยชน์จากมันได้”

Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ
Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ

กรุง-เทพ

“โลเคชันเมเนเจอร์คือคนที่พาไปในที่ส่วนตัวได้ ที่สาธารณะใครๆ ก็ไปได้ แต่ถ้าอยากไปสถานที่ส่วนตัวต้องไปกับโลเคชันเมเนเจอร์”

หนึ่งในความเทพที่ต้องยกนิ้วให้กับเหล่าโลเคชันเมเนเจอร์ คือความสามารถในการค้นพบพื้นที่ปิดส่วนตัวสุดเจ๋งที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน พอกล่าวเช่นนั้น หลายคนอาจเกิดความสงสัยถึงที่มาของสถานที่เหล่านั้น เทพจึงเผยวิธีเพื่อคลายความสงสัย 

“ถ้าเป็นสมัยก่อนก็เคาะตามบ้าน โจทย์คืออยากได้ครัวโมเดิร์น เราก็ต้องวางกรอบความคิดก่อนว่าจะไปหาจากที่ไหน ถ้าอยากได้ครัวโมเดิร์นต้องไปหาที่บ้านคนรวย ต้องมีวิธีการว่าจะเข้าไปได้ยังไง คุยกับ รปภ. หน้าหมู่บ้าน ไปหานิติบุคคลหรือกรรมการหมู่บ้าน บอกว่าเราต้องการอะไร แล้วเขาจะนึกออกว่าบ้านไหนมีลักษณะแบบนี้ เราก็ฝากนามบัตรกับเขา ถ้าเจ้าของบ้านสนใจก็จะโทรกลับมา

“เขาเชื่อเราได้ไงว่าไม่ใช่โจร” เทพบอกติดตลกก่อนเราจะถาม คงเพราะท่าทางและวิธีการพูดคุยของเขาที่ทำให้เจ้าของบ้านไว้เนื้อเชื่อใจ 

“ถ้าสมัยนี้เห็นทางอินเทอร์เน็ต ทางเฟซบุ๊ก เห็นว่าที่นี่สวย เราก็บันทึกเก็บไว้แล้วค่อยตระเวนหาอีกที ผ่านไปแถวไหนก็จะถ่ายรูปไว้ เราว่างผ่านไปเส้นนั้นอีกเราก็จะแวะไป”

Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ

นักจัดหาโลเคชันแต่ละคนมีความถนัดตามพื้นที่แตกต่างกันไป สำหรับเทพมีความเชี่ยวชาญพิเศษย่านกรุงเทพฯ ตึกรามบ้านช่องในเขตเมืองกรุงเขารู้จักดีหมด เพราะเป็นคนไม่ชอบไปต่างจังหวัด และไม่อยากห่างครอบครัวเป็นเวลานาน 

“สมมติทำงานกรุงเทพฯ ได้ห้าพันบาท ไปต่างจังหวัดได้แปดพันบาท เรายอมทิ้งอีกสามพันบาทแล้วอยู่กรุงเทพฯ ดีกว่า ไปต่างจังหวัดปริมาณเงินได้เยอะกว่า แต่กรุงเทพฯ เราถนัดกว่า”

แม้จะเป็นโลเคชันเมเนเจอร์ขั้นเทพย่านกรุงเทพฯ ก็มีเหตุการณ์ปราบเซียนที่ต้องแสดงความสามารถในการจัดการ 

“มีงานหนึ่งถ่ายที่คลังพหลโยธิน จุดพักสินค้าที่มาทางรถไฟ ตอนนี้เป็นสถานีรถไฟกลางบางซื่อ เมื่อก่อนมีลานกว้างใหญ่มาก จึงใช้จัดเป็นงานคอนเสิร์ตสำหรับถ่ายโฆษณาเครื่องดื่ม M-150 แล้วคนขับรถบรรทุกแถวนั้นเข้ามาถามทีมงานว่าคอนเสิร์ตใคร ทีมงานบอก เสก โลโซ สมัยนั้น เสก โลโซ ดังมาก จึงตามมากันเป็นสิบๆ คัน คนงานนั่งดูเป็นร้อย นั่งดูไม่พอกินเหล้าเสียงดังด้วย ตอนถ่ายทำเราต้องอัดเสียง หัวหน้าเลยให้เราเข้าไปคุยกับเขา

“เขากินเหล้าอยู่เราก็ไปนั่งกินเหล้ากับเขา แล้วบอกว่าไม่มี เสก โลโซ การพูดตรงๆ ดีกว่า บอกไม่มีแน่ๆ ถ้ามีพี่มาด่าผมเลย พอรู้ว่าไม่มีเขาก็กลับบ้าน” 

Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ
Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ

เล่า-อย่างเทพ

“คนไทยชอบเรื่องผี ถ้าเล่าเรื่องผีลูกเพจจะชอบมาก”

เรื่องราวของบ้านโมเดิร์นหลังโอ่อ่าย่านพัฒนาการ กรุงเทพฯ ที่กองถ่ายใช้ถ่ายทำบ้านเป็นประจำ แต่กลับมีเรื่องเล่าลี้ลับชวนขนลุก 

ครั้งเมื่อเขาได้เข้าไปทำหน้าที่โลเคชันเมเนเจอร์ เทพหวาดกลัวอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อเข้าไปก็ได้พบบ้านโมเดิร์นที่มีห้องรับแขกแบบในฝันของกองถ่าย อีกทั้งเรื่องราวที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เขาเลือกเล่าตามความจริงที่พบด้วยลีลาชวนอ่าน จนทำให้มีคนแชร์เป็นหมื่นเพียงชั่วข้ามคืน ถึงขั้นรายการวิทยุโทรมาหาเพื่อให้เล่าเรื่องนี้ กลายเป็นโพสต์แจ้งเกิดในตำนาน ที่มียอดไลก์เพจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เทพหยิบมาเล่าตั้งแต่บ้าน ตึก สตูดิโอ โรงแรม โรงเรียน ห้างร้าน ไปจนถึงคฤหาสน์หลังใหญ่ สถานที่ไหนก็ตามที่ตรงคอนเซปต์กองถ่าย พร้อมมีเรื่องราวน่าติดตาม เขาเล่าหมด เรื่องราวเหล่านั้น บ้างพบเจอระหว่างทำงานในฐานะโลเคชันเมเนเจอร์ บ้างก็รู้จักจากตำแหน่งโลเคชันเอเยนต์ 

แต่ไม่ว่าจะค้นพบจากหน้าที่อะไร เรื่องที่เทพชอบเล่าเป็นพิเศษคือ ‘บ้าน’ 

“ทุกบ้านมีเรื่องราว” เทพกล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ถึงสาเหตุหลักที่ชื่นชอบเกี่ยวกับบ้าน บ้านพาเขาไปรู้จักคนในบ้าน ผ่านเรื่องเล่า สิ่งของ โครงสร้าง สถานที่ตั้ง ร้อยเรียงจนเป็นเรื่องราวเฉพาะของแต่ละหลัง เทพมักตั้งชื่อบ้านตามเรื่องราวเหล่านั้น 

“อย่างบ้านหลังนี้เรียกว่าบ้านเปียโน ถ้าเราพูดคำว่าเปียโน จะนึกถึงบ้านหลังนี้ทันที เราจะไม่เรียกศาลาสุทธสิริโสภาบ้านหลังนี้มีพ่อแม่ลูกห้าคน เล่นเปียโนกันทั้งบ้าน เราจะจำเรื่องราวได้ เราพยายามไม่เขียนยาว เพราะเราเป็นคนที่ชอบอ่านอะไรที่สั้นๆ คมๆ เขียนในสิ่งที่เราเห็นว่ามันน่าสนใจ แต่ถ้าอันไหนเขียนยาวคือเรื่องมันยาวจริงๆ”

เทพถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทความและภาพถ่าย โดยแต่ละเรื่องราวที่เขียนโดยเทพจะเป็นข้อความสั้น หากแต่ใจความกระชับ ดึงความสนใจด้วยจุดขายของสถานที่นั้น เขาเล่าด้วยภาษาเป็นกันเอง พร้อมถ้อยคำปนสนุก เหมือนพูดคุยกับคนรู้จักมักคุ้นที่กำลังแบ่งปันประสบการณ์สนุกจากการทำงาน 

ไม่เพียงวิธีการเล่าชวนติดตาม ภาพถ่ายที่เลือกมานำเสนอ ล้วนผ่านสายตาอันเฉียบคมของโลเคชันเมเนเจอร์แล้วทั้งสิ้น เพราะเขาเชื่อว่า ภาพถ่ายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ผู้ติดตามชื่นชอบ

“เราคิดว่าเราเป็นคนถ่ายรูปโลเคชันดี คือเรารู้ว่ามุมไหนคือจุดขาย อย่างห้องนี้เรารู้เลยว่ามุมนี้ขายแน่นอน” อีกทั้งภาพถ่ายโลเคชันที่ดี ต้องทำให้มองเห็นภาพรวมของสถานที่ทั้งหมด แม้จะไม่เคยไปสักครั้งก็ตาม

Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ
Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ

แฟน-พันธุ์เทพ 

จากวันที่ยอดไลก์มีเพียงนับร้อย จนวันนี้มีจำนวนผู้ไลก์กว่า 7,000 ถือว่าไม่น้อยสำหรับเพจที่เล่าเรื่องสถานที่ แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เทพก็ต้อนรับลูกเพจอย่างอบอุ่นเป็นกันเองเสมอ ตลอดระยะเวลาที่เปิดเพจ เขาจำลูกเพจทุกคนได้ เขาอ่านทุกคอมเมนต์ และที่สำคัญเขาตอบสนุก 

“เราจำลูกเพจได้ คนที่มาไลก์มาคอมเมนต์ตั้งแต่เพจเราหลักร้อย มีคนเคยบอกว่าเพจเราที่มันน่าสนใจเพราะเราเป็นคนตอบลูกเพจ เราก็พูดตามภาษาเรา เราเป็นคนชอบคุย ชอบตอบ ชอบแซวลูกเพจ”

เพจ Treplocation พาเขาไปรู้จักกับ ตาล-พารณี ยนตรรักษ์ แฟนเพจที่ส่งข้อความชวนเทพไปเยี่ยมเยือนถึงบ้าน บ้านของตาลเป็นโรงเรียนสอนเปียโนชื่อดัง หรือ ณัฐ สตูดิโอ สอนโดยครอบครัวนักเปียโนระดับประเทศ อีกทั้งมีหอแสดงภายในตัวที่เรียกว่า ศาลาสุทธสิริโสภา ประวัติอลังการจนเทพต้องไปชมให้เห็นกับตา 

ครั้งแรกที่เทพย่างกรายเข้าไปบริเวณบ้าน นอกจากตื่นตากับความอลังการของบ้านหลังโอ่อ่า หอแสดงโอ่โถ่ง เปียโนหลักล้าน พลันสะดุดตากับเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ Central Air อันโด่งดังในยุคก่อน ครอบด้วยกรอบไม้หายาก ถึงขั้นกล่าวชมเจ้าบ้านที่ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี 

“แอร์มันบอกยุค บ้านคนมีตังค์สมัยก่อนจะใช้ Central Air ย้อนไปสามสิบปีก่อนใครมีคือคนมีตังค์ มันคือการบอกเล่าเรื่องสมัยก่อน เราจึงเป็นคนชอบของเก่ามาก”

เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา เทพจัดกิจกรรมฉลองครบ 5,000 ไลก์ ด้วยการชักชวนลูกเพจเดินชมพัฒน์พงศ์มิวเซียมพร้อมกับเขา มีลูกเพจหลายคนให้ความสนใจ และกิจกรรมเดินทัวร์ครั้งนี้ ทำให้เขาได้รู้จักกับลูกเพจมากขึ้น 

“จริงๆ อยากให้เพจโตช้าๆ เรื่อยๆ ไม่ต้องเยอะมาก เราอยากรู้จักลูกเพจให้มากขึ้น อยากจัดกิจกรรมที่พาไปเดินสำรวจโลเคชัน เราเลือกสถานที่ให้แล้วพาไป เป็นโปรเจกต์ที่คิดไว้” 

Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ
Theplocation เพจที่เล่าเรื่องโลเคชันหายากในกองถ่ายผ่านสายตา Location Manager สุดเทพ

เทพ-พา-รักษ์

“ความสุขของการทำสิ่งนี้คืออะไร” เราถามเทพ เขานิ่งคิดเพียงชั่วครู่ก่อนจะตอบว่า 

“ประเด็นแรกคือลูก ลูกขับเคลื่อนให้ทำงานนี้อยู่ เราทำเพื่อลูก”

“เราต้องเลี้ยงที่บ้านด้วยอาชีพนี้ อยากเป็นพ่อที่เต็มที่ที่สุด ให้ลูกเรียนที่ดีที่สุด” นอกจากความรักของพ่อที่มีต่อครอบครัวแล้ว ความรักต่ออาชีพก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน 

“ความสนุกคือการได้เจอสิ่งใหม่

“เจอที่ใหม่ ผู้คน และเรื่องราว เราเป็นคนที่ตื่นเต้นทุกทีเวลาที่เจออะไรใหม่ๆ อย่างบ้านหลังนี้ ตอนเจอครั้งแรกเราตื่นเต้นมาก สวยไปหมด มันมีแพสชันในการหา เราจะมีสายตาที่เห็นว่าโลเคชันนี้รอด สวย ใช้งานถ่ายได้”

10 กว่าปีที่เทพเลือกทำอาชีพนี้ เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการมาตลอด ทั้งวงการกองถ่ายที่ต้องเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย แม้กระทั่งตัวเขาเองที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันสายอาชีพ อีกทั้งเขายังเห็นการแปรผันของโลเคชันที่เคยใช้ถ่ายทำ เทพค้นพบว่า ความท้าทายไม่ใช่แค่การมองหาสถานที่ใหม่ หากแต่เป็นการรักษาของเก่าให้ยังคงอยู่ 

“พอเห็นโลเคชันที่ถ่ายแล้วหายไปมันเศร้า บ้านใหม่ๆ ใครก็สร้างได้ แต่บ้านเก่าๆ มันหายาก”

คงจะดีไม่น้อยถ้ายังมีคนอยากอนุรักษ์

คงจะดีไม่น้อยถ้าเพจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารักษ์

คุยกับ เทพ-ธัญญเทพ สุวรรณมงคล ชายที่เป็น Location Manager มาทั้งชีวิตถึงเบื้องหลังสถานที่ถ่ายทำสุดเทพที่สรรหาโดยเทพแห่งวงการ

ขอขอบคุณณัฐ สตูดิโอ หรือ ศาลาสุทธสิริโสภา ที่เอื้อเฟื้อสถานที่

Writer

Avatar

จิตาภา ทวีหันต์

ตอนนี้เป็นนักฝึกหัดเขียน ตอนหน้ายังสงสัย ชาติก่อน (คาดว่า) เป็นคนเชียงใหม่ แต่ชาตินี้อยากเป็นคนธรรมดาที่มีบ้านเล็กๆ อยู่ต่างจังหวัด

Photographer

Avatar

ปรีชญา จงศรีสวัสดิ์

ช่างภาพที่เชื่อว่าการตายอย่างมีคุณภาพคือการตายด้วยของกินที่ดีและอร่อย