Scrubb, 25Hours, Groove Riders และวงดนตรีชื่อดังอีกมากมีจุดเริ่มต้นจากที่นี่

ค่ายเพลงเล็กๆ อย่าง Smallroom, Panda Records หรือ Hualampong Riddim เป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังมาออกบูทที่นี่

แม้แต่นักเขียนดังอย่าง ‘นิ้วกลม’ ก็เคยยังมานั่งขายหนังสือทำมือกับเพื่อนๆ ‘ถาปัด จุฬาฯ ที่นี่

นี่คืองานในความทรงจำของวัยรุ่นไทยยุค 2000 เทศกาลดนตรีที่รวมคอนเสิร์ตจากศิลปินไม่จำกัดค่าย แผงเทปแผงซีดี หนังสั้น หนังสือทำมือ นิตยสารอินดี้ และคนรักดนตรีเกือบแสนคนไว้ในที่เดียวกัน

แต่กว่างาน Fat Festival จะประสบความสำเร็จจนเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนได้เช่นนี้ มีเรื่องราวมากมายและวิธีคิดสนุกๆ ที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน

Fat Festival

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ เฮนรี่ จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ โปรดิวเซอร์คนแรกของ ‘Fat Radio’ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ‘มหกรรมดนตรีฝนตกขี้หมูหัน..คนมันๆ มารวมตัว’ ตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้าย

(แม้ไม่ครบทุกงานก็ตาม!!)

 

1

Fat Festival เกือบล้มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ย้อนกลับไปเมื่อ 2544 ณ โรงงานร้าง ด้านหนึ่งติดวัด อีกด้านติดสุสาน มีอาคารไม้ 2 หลังที่ไม่ได้ใช้งานมาพักใหญ่ ภายในร้อนอบอ้าว เวลาพื้นสะเทือนหนักๆ ก็มักมีฝุ่นตกลงมาจากฝ้าเพดาน มองยังไงก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือทำกิจกรรมใดๆ ได้

แต่ Fat Radio คลื่นวิทยุเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มสตาร์ทได้ไม่ถึงปี กลับเลือกที่นี่เป็นสถานที่จัดงานครั้งสำคัญของสถานี

ศิลปินมากมายทั้งบิลลี่ โอแกน, Big Ass, Paradox, Siam Secret Service, Street Funk Rollors รวมทั้ง Pru ที่เพิ่งออกอัลบั้มแรกได้ไม่นานนัก ได้รับการชักชวนให้มาร่วมสนุก เช่นเดียวกับวงดนตรีน้องใหม่ที่ไม่เคยผ่านเวทีไหนมาก่อน อย่าง Groove Riders หรือ Sofa ก็ถือฤกษ์ดีเปิดตัวพบ (ว่าที่) แฟนๆ ก็คราวนี้เอง

“เป็นคอนเสิร์ตแรกของบุรินทร์ มันหันหลังร้องตลอดโชว์ คือมันอาย มันเขิน” พงศ์นรินทร์นึกถึงแล้วยังรู้สึกตลก

Fat Festival ครั้งแรกเกิดขึ้นด้วยแนวคิดหลักที่เขาบอกว่า “เราอยากมีเงินเดือนครับ” เพราะรายได้หลักของวิทยุมาจากการโฆษณา ซึ่งสปอนเซอร์จะเข้าก็ต่อเมื่อรายการเป็นที่นิยมและมีฐานผู้ฟังมากพอ แต่ปัญหาคือ Fat Radio ซึ่งเพิ่งแปลงร่างมาจาก Channel V FM เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 มีจุดยืนที่แตกต่าง

ที่นี่ไม่ได้เปิดเพลงฮิตเหมือนกับคลื่นอื่นๆ แต่ตั้งใจเปิดเพลงดีๆ ที่ทีมงานอยากฟัง ไม่ว่าจะเป็นของค่ายไหนก็ตาม ทำให้สปอนเซอร์ไม่มั่นใจว่าลงโฆษณาไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ รายได้ของสถานีเลยไม่เป็นไปตามเป้า

ที่ผ่านมา Fat Radio พยายามหารายได้ด้วยการจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ Bakery The Concert ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการจัดคอนเสิร์ตขายบัตรที่ Impact Arena เมืองทองธานี บัตรก็ขายหมดเกลี้ยง แต่ก็ไม่หมายความว่า Fat Radio มีคนฟัง เพราะคนซื้อส่วนใหญ่ก็คงเป็นแฟนคลับของค่ายขนมปังดนตรีนั่นเอง พวกเขาจึงอยากจัดงานอะไรสักอย่างเพื่อพิสูจน์ให้สปอนเซอร์เห็นว่า Fat Radio มีคนฟัง!

“เราเคยทำ A-Time กันมา เรารู้ว่าหน้าตาคนฟังเป็นอย่างไร แต่พอเรามาทำคลื่นใหม่ด้วยคอนเซปต์ที่ยากกว่าเดิม ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร จึงคิดอยากจะจัดงานที่เห็นหน้าตาคนฟัง อยากรู้จังว่าเขาเป็นใคร ความคิดนี้อยู่ในใจ แล้วพอดีกับมีทีมงานคนหนึ่งชื่อ ‘ป้าเอ’ ผ่านมาหน้าห้องแล้วบอกว่า น่าจะมีคอนเสิร์ตแล้วขายของด้วยนะ เราก็กลับมาคิดกัน เลยกลายเป็นที่มาของ Fat Festival”

แต่เพราะเมืองไทยไม่เคยมีงานรูปแบบนี้มาก่อน ที่พอเฉียดใกล้สุดคือ เทศกาลบันเทิงคดี’37 ของมาโนช พุฒตาล

สิ่งที่พงศ์นรินทร์ทำคือการชวนดะ อยากเห็นศิลปินคนไหนมาเล่นก็ชวนมาหมด อยากเห็นโจ้ วงพอส เล่นกับธีร์ ไชยเดช ก็ทำโชว์พิเศษให้ทั้งคู่เล่นด้วยกัน อยากเห็นดาจิม แร็ปเปอร์ใต้ดินมาโชว์บนดินเป็นครั้งแรก ก็ชวนมา จนออกมาคอนเสิร์ตที่ไม่ธรรมดาถึง 14 โชว์

Fat Festival

หลังเสร็จเรื่องโชว์ เขาก็คิดต่อว่างานนี้ควรมีของอะไรขายบ้าง แน่นอนว่าอย่างแรกก็คือเทปกับซีดี เขาติดต่อค่ายเพลงที่คุ้นเคย ทั้ง Bakery Music, Airport Studio, AV Studio, ร่องเสียงลำใย, Music Bugs, Indy Cafe, Undertone ฯลฯ มาเปิดบูทที่นี่ ซีดีหายากซื้อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว หรือแม้แต่อัลบั้มใหม่ๆ ที่ไม่เคยวางแผงที่ไหนมาก่อน เช่น smallroom002 songs from the audience ก็มีวางจำหน่าย

หนังสือทำมือที่กำลังฮิต เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสน เขาชวนนักเขียนไฟแรงมาปูผ้านั่งขายกันแบบแบกะดิน ถ้าใครจำได้ การ์ตูน hesheit ของวิสุทธิ์ พรนิมิตร (ผู้วาดตัวการ์ตูนมะม่วง) ฉบับรวมเล่ม 3 เล่มแรกวางขายที่นี่เป็นครั้งแรก

นิตยสารนอกกระแสก็ไม่รอดจากการถูกชวน open, summer, Bioscope, a day, Pomo, Katch และ MANGA KATCH ต่างมีบูทที่งาน Fat Festival

อีกหนึ่งโปรแกรมที่เขาคิดออกคือภาพยนตร์ ก็เลยกันพื้นที่ส่วนหนึ่งทำเป็นโรงหนังเฉพาะกิจ ฉายหนังสั้นและมิวสิกวีดิโอหายากจากผู้กำกับรุ่นใหม่ ทั้ง ปราบดา หยุ่น, ปราโมทย์ แสงศร, อาทิตย์ อัสสรัตน์, ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ, โสภณ ศักดาพิศิษฐ์ รวมถึง วิทยา ทองอยู่ยง กับหนังสั้น ทำไมต้องเป็นตลก ที่ได้ แจ๊ค แฟนฉัน มาสวมบทบาทนักแสดงเป็นครั้งแรก

โจทย์ต่อมาที่ต้องคิดคือ สถานที่จัดงาน เขานึกถึงโรงงานยาสูบเก่าข้างซอยเจริญกรุง 74

ครั้งหนึ่งที่นี่เคยถูกใช้จัดงานเล็ก ชิ้น สด ให้วงซีเปีย ในวันที่กลับมาออกอัลบั้ม ไม่ต้องใส่ถุง ด้วยความที่อยากได้สถานที่แปลกๆ บรรยากาศดิบๆ และคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก คนมาต้องตั้งใจมากันจริงๆ พงศ์นรินทร์จึงตัดสินใจเลือกที่นี่

แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่สำคัญเท่ากับทำอย่างไรให้สปอนเซอร์ยอมซื้องานดนตรีที่ไม่เคยมีให้เห็นมาก่อน

Fat Festival

“ไม่มีใครซื้อเลย มามีคนซื้อในนาทีสุดท้าย ประมาณเย็นวันศุกร์ วันจันทร์เราต้องโปรโมตในวิทยุแล้ว คือถ้าไม่มีสปอนเซอร์งานนี้ก็ต้องถูกยกเลิกไป คือเราจะไม่ทำโดยไม่มีสปอนเซอร์เด็ดขาด จำได้ว่าหวุดหวิดมาก”

ทว่ามีเงื่อนไขหนึ่งที่พงศ์นรินทร์ที่คาดไม่ถึง คือลูกค้าขอใช้ชื่อสินค้านำหน้าชื่องาน

แม้จะขัดกับรสนิยมการทำงานที่ผ่านมา แต่เพราะอยากเห็นงานนี้เกิดขึ้นจริง เขาจึงยอมรับข้อเสนอ

“ตอนนั้นเราก็พยายามคิดว่าจะสนุกกับชื่องานยังไงได้บ้าง ทำให้กลมกลืนที่สุด ถ้าจำโลโก้ Fat Festival ได้ มันแทบจะเหมือนคิดว่ามาจากฟอนต์ของสปอนเซอร์เลย แล้วก็ใส่พลุเข้าไปข้างหลัง อันนี้ต้องให้เครดิตฝ่ายศิลป์”

จากงานที่เกือบล้มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม Fat Festival กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดไว้มาก ผู้คนนับพันนับหมื่นต่างมารวมกันในวันที่ 1 – 2 กันยายน 2544 จนโรงงานเก่าๆ แน่นขนัด โดยเฉพาะวันที่ 2 คนยิ่งล้นหลามจากการบอกต่อกัน

“คนมาเยอะจนไม่น่าเชื่อ แต่ผมว่าครึ่งหนึ่งไม่น่าใช่คนฟังของเรา ดีเจเราเดินผ่านก็ไม่รู้จัก บางทีคนที่มาก็อาจแค่โหยหาอะไรแบบนี้โดยไม่รู้ตัว หรืออยากเสพอะไรบ้างเท่านั้นเอง”

Fat Festival Fat Festival Fat Festival

จากความสำเร็จแบบไม่ค่อยมั่นใจนัก พงศ์นรินทร์อยากพิสูจน์ความเชื่อของตัวเองอีก

หลังจากจัดงานที่โรงงานร้าง ปีต่อมาเขาก็เปลี่ยนไปจัดงานที่ห้างเกือบร้างอย่างอิมพีเรียลลาดพร้าวแทน

แฟนเพลงจำนวนมากไปต่อคิวที่บูท smallroom เพื่อรอรับซีดีเพลง ความรู้สึกของฉันที่มีเธออยู่ด้วยกันอีกหนึ่งคนบนโลกใบนี้ ของ Super Baker ซึ่งไม่มีขายและให้ฟังเฉพาะใน Fat Radio เท่านั้น เช่นเดียวกับวัยรุ่นอีกเพียบที่ไปยืนออหน้าพื้นที่จัดโชว์พิเศษ เพื่อรอรับตั๋วคอนเสิร์ตที่เหลือจากการเล่นเกมในวิทยุ คือตัวอย่างของบรรยากาศที่เกิดขึ้นใน Fat Festival 2

แม้งานนี้จะมีคนล้นหลามไม่แพ้กัน แต่ดูเหมือนพงศ์นรินทร์ก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดี เขามาเชื่อจริงๆ ว่า Fat Festival ประสบความสำเร็จตอนจัดงานครั้งที่ 3 ที่สวนสยาม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ต้องใช้บัตรเข้างาน

“สงสัยจะดังจริงๆ เพราะว่ามันไกลมาก เป็นครั้งแรกที่เราท้าทายคนมา เพราะที่เจริญกรุงก็ยังอยู่กลางเมืองนะ แค่บอกไม่ถูกว่าอยู่ตรงไหน ครั้งที่ 2 ก็แค่ลาดพร้าวนะ แต่สวนสยามนี่ชานเมืองของแท้ แล้วคนไปเยอะจริงๆ เราใช้การแจกบัตรไปตามที่ต่างๆ ฝากไว้กับนิตยสารบางเล่ม เช่น แพรวสุดสัปดาห์ ต้องไปตัดเอา บางส่วนฝากตามร้านเทป ที่รู้ว่าคนเยอะจริงๆ เพราะเราใช้ตัวเจาะบัตรแล้วก็นับ ปรากฏว่าวันหนึ่งได้ประมาณ 43,000 – 44,000 คน”

ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้ชื่อของ Fat Festival กลายเป็นเทศกาลดนตรีอันดับต้นๆ ที่วัยรุ่นนึกถึง และยังทำให้ Fat Radio กลายเป็นตัวแทนของคลื่นวิทยุระดับท็อปของเมืองไทย

แต่ในช่วงที่ทุกอย่างกำลังขาขึ้น พงศ์นรินทร์กลับตัดสินใจลาออกจากคลื่นที่เขาปลูกปั้นหลังจบงาน Fat Festival 3 ได้ไม่กี่เดือน

 

2

Fat Radio โตโตแบบไม่เหมือนใคร

หลังทำงานอยู่ที่ Click Radio ประมาณ 3 ปีกว่าๆ ก็เกิดความขัดแย้งภายในองค์กรขึ้น ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม เวลานั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตของบริษัท ตัดสินใจลาออก และชวนทีมงานบางส่วนไปด้วย หนึ่งในนั้นคือพงศ์นรินทร์ ซึ่งเป็นเหมือนคู่หู

“เราทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เด็ก เขามีอิทธิพลต่อชีวิตผมมาก ถ้าไม่มีพี่เต็ดป่านนี้คงเป็นหัวหน้าข่าวอยู่ที่ไหนสักแห่ง เขาดึงเรามาเขียนบทละครเวทีสมัยที่อยู่ปี 1 ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แล้วก็ดึงมาทำงานที่นี่ด้วย ความจริงไม่ได้อยากออก แต่เราเลือดสุพรรณ มาด้วยกันก็ต้องไปด้วยกัน”

ตลอดหลายสิบปีมานี้ชื่อของป๋าเต็ดอาจเป็นชื่อแรกที่ทุกคนคิด เมื่อพูดถึงคลื่นวิทยุที่สโลแกนว่า “โตๆ มันๆ” แต่หากผู้นำอย่างป๋าเต็ดขาดแม่ทัพที่บุกตะลุยทุกสมรภูมิอย่างเฮนรี่จ๋องแล้ว ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จได้

“ถ้าเอาตามนามบัตร พี่เต็ดเป็นคนดูแลทุกคลื่นในบริษัท ส่วนผมเป็นโปรดิวเซอร์คลื่น เราเป็นคนทำ เป็นคนควบคุมภาพรวม เป็นมือที่ทำให้เกิดขึ้น แต่ถ้าพูดให้ถูกเราทำงานแบบคู่หู พี่เต็ดเป็นครีเอทีฟที่เก่งมาก แต่เขาก็จะมีเป็นร้อยไอเดีย เราก็มีหน้าที่เลือกว่าอันไหนเวิร์ก อันไหนไม่เวิร์ก แล้วก็ทำไป โดยพี่เต็ดไม่ต้องมาสั่งว่าต้องมีทำนั่นทำนี่ เพราะสั่งไม่ได้อยู่แล้ว”

Fat Festival

จุดเริ่มต้นของ Fat Radio เกิดขึ้นหลังพงศ์นรินทร์ย้ายมาทำงานที่ Click Radio ประมาณ 1 ปี เดิมที่นี่ถือสัมปทานคลื่นวิทยุอยู่ 3 คลื่น คือ 102.5, 103.5 และ 104.5 คลื่นแรกเปิดเพลงสากล อีกคลื่นเปิดเพลง Easy Listening แต่คลื่นสุดท้ายยังไม่มีคอนเซปต์ชัดเจน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มตลาด ผู้บริหารเลยโยนโจทย์ให้ทำรายการที่เน้นกลุ่มผู้ฟังวัยรุ่น

“ความจริงเราไม่เข้าใจวัยรุ่นหรอก ถึงวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจ แต่ด้วยความที่เรามาทีหลังก็เลยอยากแตกต่าง ซึ่งข้อนี้มันอาจจะผิดก็ได้ เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าเขานิยมอะไรก็น่าจะทำเหมือนๆ กัน แต่เราเป็นพวกไม่ชอบย่านที่มีร้านทองทั้งย่าน หรือย่านที่มีร้านปืนทั้งย่าน คือไม่เกรงใจคนที่เปิดคนแรกเลยเหรอ อีกอย่างหนึ่งเรารู้สึกว่ารายการเพลงที่มีอยู่ในตลาด เปิดเพลงเหมือนกันหมดเลย จนรู้สึกว่าจะมีหลายๆ คลื่นไปทำไม

“เราเลยตั้งคอนเซปต์ว่าจะเป็นรายการที่เปิดเพลงทุกค่าย ไม่ต้องสนใจยี่ห้อ แต่ต้องเป็นเพลงที่เราชอบ พี่เต็ดเรียกเพลงแบบนี้ว่า เพลงป๊อปที่ดี เพลงดีที่ป๊อป ความจริงนี่เป็นวาทกรรมหน่อยๆ นั่งเถียงกันจะตายว่าคืออะไร เพลงดีที่ป๊อปคืออะไร มันไม่มีหรอก เปิดเพลงที่เราชอบ คำนี้ใช่ที่สุดเลย เพราะเราไม่ได้ไปสำรวจความเห็นที่ไหน คิดเอาของเราเอง แล้วก็ไม่เคยบอกว่านี่คือเพลงดีที่สุดหรือเพลงไทยที่คุณต้องฟัง ไม่กล้าอ้างอิงแบบนั้น เราบอกได้คำเดียวว่าเปิดเพลงที่เราชอบ”

แค่บอกรักเธอ ของหมีพูห์, วอน ของ The Peach Band, ทุกอย่าง ของ Scubb หรือ กลับมา ของ 2 days ago kids, ช่วงเวลา ของ Monotone เพลงที่คลื่นวิทยุทั่วไปไม่เปิด เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วเมือง เป็นการพิสูจน์ว่าหากดีจริงก็ย่อมกลายเป็นเพลงฮิตได้เหมือนกัน

“เราคิดว่าเราอาจจะไม่เหมือนใครบ้าง แต่เราไม่ใช่คนประหลาดถึงขั้นที่คุณจะชอบแบบที่เราชอบไม่ได้ อย่าง Fat Festival ก็เป็นงานของความหลากหลาย คุณต้องชอบสักอย่างในงานนี้แน่ เหมือนเราทำซูเปอร์มาร์เก็ต คุณไปเลือกเอาว่าจะชอบอะไร จะอยู่กับแผนกเครื่องครัว แผนกอาหาร นานหน่อย หรือจะสนใจครีมรักษาเบาะรถก็เรื่องของคุณ คนเราไม่เหมือนกัน”

จากความสำเร็จของงาน Fat Radio และ Fat Festival ทำให้พวกเขามั่นใจว่ายังมีคนอีกมากที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ซึ่งความเชื่อนี้ยังส่งต่อไปถึงสปอนเซอร์ด้วย จนสามารถนำแบรนด์ Fat ไปต่อยอดสู่กิจกรรมอื่นๆ ได้อีกเพียบ ทั้ง Fat Film, Fat Live, Fat Rama, Fat Award, Fat Band Rhythm & Horns, Fat Army ฯลฯ

หลังลาออก พงศ์นรินทร์มาตั้งบริษัทอีเวนต์ของตัวเองร่วมกับรุ่นน้อง ขณะที่ยุทธนาหวนกลับไปทำ Fat Radio อีกครั้ง พร้อมเปิดตัวนิตยสาร DDT ในอีกไม่เดือนต่อมา แต่ถึงพงศ์นรินทร์จะไม่ได้ทำงานที่ Fat Radio เขาก็ยังเข้ามาช่วยงานบ้างตามที่ถูกร้องขอ เช่น Fat Festival ครั้งที่ 4 ที่สนามม้านางเลิ้ง หรือรายการหนังหน้าไมค์

กระทั่งป๋าเต็ดอยากวางมือขอเปลี่ยนไปเป็นที่ปรึกษา เพราะต้องการมุ่งมั่นกับการบริหารค่ายเพลงสนามหลวงการดนตรี ก็เลยชักชวนพงศ์นรินทร์ให้กลับมาทำ Fat Radio เต็มตัวอีกครั้ง ในปี 2550 โดยมีงานใหญ่อย่าง Fat Festival 7 : ขอบคุณป้าเอ ประเดิมเป็นงานแรกๆ เพื่อขอบคุณผู้จุดประกายให้เกิดมหกรรมดนตรีนี้ขึ้นมา

 

3

..ก็แค่ก้มหน้าก้มตาทำต่อไป

“ผมไม่เคยฝันถึงการทำรายการวิทยุเลย เราอยากทำหนัง อยากเขียนบทหนัง แต่ว่าตอนนั้นภาค Film ยังไม่ค่อยมีอะไรก็เลยเรียนหนังสือพิมพ์แทน เพราะอย่างน้อยๆ ก็ยังได้เขียน”

ก่อนหน้านั้น ความเกี่ยวพันของพงศ์นรินทร์กับวงการวิทยุเมืองไทย เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวตอนอยู่ปี 3 เมื่อป๋าเต็ดซึ่งเพิ่งเริ่มต้นทำงานที่ A-Time ลากเขาไปนั่งเป็นเพื่อนในห้องจัดรายการวันที่คลื่น Hot Wave ออกอากาศนาทีแรก

จนกระทั่งเรียนจบ และเริ่มทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ได้ประมาณ 5 – 6 เดือน จู่ๆ ก็มีโทรศัพท์มาที่ออฟฟิศ ยุทธนาโทรมาเรียกให้เขาไปช่วยงานที่ A-Time

Fat Festival

พงศ์นรินทร์ในวัย 23 ปีตัดสินใจลาออก และตรงไปสมัครงานที่แกรมมี่ในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ เขาเรียกเงินเดือนสูงกว่าเดิม 3 เท่า เป็นเหตุให้ พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา บิ๊กบอส A-Time ต้องลงมาสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง โดยมีโจทย์สำคัญอยู่ที่คลื่น Green Wave

Green Wave ในวันนี้กับเมื่อปี 2536 ต่างกันสิ้นเชิง ตอนนั้นคลื่นวิทยุสีเขียวเปิดเพลงรักษ์โลกล้วนๆ เช่น โลกสวยด้วยมือเรา ส่วนดีเจก็พูดเรื่องรณรงค์ให้ผู้ฟังรักษาสิ่งแวดล้อม เรตติ้งก็อยู่ไกลถึงอันดับที่ 18

วันแรกที่เข้าไปพบพี่ฉอด สิ่งที่พงศ์นรินทร์เห็นคือโล่รางวัลเต็มตู้ และส่วนใหญ่ก็เป็นของ Green Wave เขาจึงถามไปว่า  “Green Wave นี้พี่ทำไปทำไม คือเห็นหลังพี่มีโล่เต็มเลย ทำเอาโล่หรือทำเป็น Business”

สายทิพย์ตอบทันทีว่า ต้องการทำเป็นธุรกิจ แต่ก็ยังรักษาประเด็นรักษาเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย

“ตอนนั้นผมบอกเขาไปว่า รายการที่ทำมันไม่ตอบสักโจทย์ ดีเจพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา เราต้องเก็บขยะ ต้องนั่นนี่ เปิดเพลงให้โลกเราสวย พวกเรามาช่วยกัน คนฟังก็เลยมีแต่คนรักสิ่งแวดล้อม พี่น่าจะต้องทำรายการที่คนไม่รักสิ่งแวดล้อมฟังมากกว่า ให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้เรื่องไม่สนใจได้เข้าใจและออกมาช่วยกัน ฉะนั้น ต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Green Wave เปลี่ยนแนวทางจากคลื่นสิ่งแวดล้อมแบบเขียวเข้ม มาเป็นคลื่นเพลง Easy Listening ที่เปิดเพลงฟังสบายๆ บางเพลงก็เป็นเพลงรักที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากแต่สอดแทรกแนวคิดแบบเนียนๆ เหมือนคนสั่งก๋วยเตี๋ยวแล้วสั่งน้ำอัดลมโดยไม่รู้ตัว

แม้วันนั้นพี่ฉอดจะสนใจแนวคิดและยอมรับอดีตผู้สื่อข่าวหนุ่มเข้าทำงาน โดยเพิ่มให้เงินเดือนให้เพียง 2 เท่า หากผ่านโปรแล้วถึงค่อยมาพิจารณากันใหม่ หากแต่การเสนอไอเดียกับทำจริงเป็นคนละเรื่อง

“วันที่เดินเข้าไป ลูกน้องทุกคนอายุเยอะและมีประสบการณ์กว่าเรามาก ก็เลยไว้หนวดก่อนเลย ต่อมาถึงค่อยมารู้ว่า เขาไม่เชื่อเราหรอก เพราะมันก็แค่เด็กไว้หนวดเท่านั้น ความยากคือจะทำยังไงถึงจะล้างเพลงแบบให้โลกเราสวย แล้วเปิด ลืมไปไม่รักกันแทน ซึ่งตอนนั้นเราก็พยายามพูด แต่เขาก็ไม่ค่อยเชื่อกัน เหมือนว่าเรากำลังต่อสู้กับทุกคนในออฟฟิศ โชคดีที่พี่ฉอดซื้อไอเดียเลยพยายามแบ็กเรา ไม่อย่างนั้นก็แย่เหมือนกัน”

พงศ์นรินทร์ยังจำได้ดีถึงวันที่ฝ่ายการตลาดขอนัดประชุมสรุปแนวทางการทำงาน เพราะเห็นว่าแนวทางใหม่ไม่สามารถขายโฆษณาได้เลย ระหว่างที่ทุกคนกำลังถกปัญหาของคลื่น เขาก็นั่งฟังและหยิบกระดาษขึ้นมาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ก่อนจะแจกให้ทุกคน

“ผมบอกเขาว่า ให้ช่วยเขียนปัญหาลงในกระดาษแค่นี้พอ จำได้ว่ามีเรื่องดีเจไม่ดัง คลื่นไม่ดัง เพลงน่าเบื่อง่วงนอน ผมก็รวบรวมแล้วบอกว่ารู้ปัญหาทุกอย่าง ที่พูดมาจริงทุกข้อ แต่ขอให้ทำไปก่อนได้ไหม ลองเดินไปขายราวกับว่านี่คือสิ่งที่วิเศษที่สุด แล้วมาดูกันว่าจะเป็นยังไง”

หลังทำไปได้พักหนึ่ง ความพยายามเริ่มเห็นผล สิ่งที่วัดความสำเร็จได้ดีที่สุดคือ ไม่ว่าจะเข้าธนาคารไหน ก็เปิด Green Wave เกือบทั้งนั้น และเมื่อมีผลสำรวจก็พบว่าความนิยมของของคลื่นสีเขียวขยับแบบก้าวกระโดด มาครองอันดับ 1 ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขายดีกว่าเดิมเป็น 10 เท่า

Fat Festival

พงศ์นรินทร์ขอเรียกประชุมฝ่ายการตลาดอีกครั้งโดยไม่บอกหัวข้อการประชุม แล้วแจกกระดาษแผ่นน้อยๆ ที่ทุกคนเขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว ให้ช่วยกันอ่านอีกครั้ง

“1 ปีผ่านไป ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนมีอย่างเดียวคือความสำเร็จที่เราได้รับ วันนั้นต้องขอบคุณที่ทุกคนแค่ก้มหน้าก้มตาทำ ถามว่าเชื่อมั่นในสิ่งที่คิดมั้ย เราเชื่อ แต่ไม่ได้เชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์ คิดว่ามันน่าจะเวิร์ก แต่ก็ไม่รู้จริงๆ ว่าจะเวิร์กหรือไม่ เราไม่ได้เห็นสิ่งนั้นในปลายทาง เราแค่เห็นทางว่าควรจะไปยังไง สิ่งที่ทำได้คือแค่ก้มหน้าก้มตาทำต่อไป”

การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ A-Time ทำให้พงศ์นรินทร์ไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา เขามักมองว่า วิธีการทำงานที่ดีที่สุด คือเดินหน้าต่อไป และทำให้ดีที่สุด ที่สำคัญคือพยายามหาความแตกต่าง เพื่อให้งานโดดเด่นและมีเอกลักษณ์

ตัวอย่างเช่นการทำ ‘Green Concert’ ด้วยความเชื่อว่าคอนเสิร์ตเพลงเพราะๆ ของศิลปินที่ยังไม่โด่งดังมากนักก็ขายได้

ศิลปินคู่แรกได้ขึ้นเวทีนี้คือ เบิร์ดกะฮาร์ท ซึ่งไม่เคยมีคอนเสิร์ตใหญ่มาก่อน จึงไม่แปลกที่ใครๆ ต่างตั้งคำถามว่าจะมีคนดูหรือไม่ แต่ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมาก จนเต็ม MBK Hall ทั้งสองรอบ

ต่อมาเมื่อจัดคอนเสิร์ตให้ ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ก็ประสบความสำเร็จอีก แกรมมี่จึงอยากให้ทำ Green Concert ให้ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ เขาก็เลยชวนพี่เบิร์ดมาร้องเพลงช้าเพราะๆ ที่พี่เบิร์ดอยากร้อง แต่ปกติไม่ค่อยมีโอกาสได้ร้อง เช่น หัวใจช้ำๆ, อยู่เพื่อใคร, ความรักเพรียกหา, เติมใจให้กัน ฯลฯ นับเป็นคอนเสิร์ตที่น่าจดจำอีกครั้งหนึ่งของซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของประเทศ

เช่นเดียวกับตอนมาทำ Fat Radio เขาก็ใช้ความคิดต่างสร้างผลงานขึ้นมามากมาย รวมถึงคอนเสิร์ตที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งอย่าง Fat Live – Friday

พงศ์นรินทร์เห็นว่า บอย-ตรัย ภูมิรัตน นักร้องนำ Friday แต่งเพลงไว้มากกว่า 300 เพลงและแต่งจากชีวิตของตัวเองด้วย จึงอยากทำคอนเสิร์ตที่มีเรื่องราว ให้บอยเล่าที่มาที่ไปของเพลงต่างๆ แต่ปัญหาใหญ่คือนักร้องหนุ่มเป็นคนขี้อายมาก พูดต่อหน้าคนดูไม่เก่ง แถมจำสคริปต์ก็ไม่ได้ จะทำ VTR ช่วยก็ดูไม่จริงใจเท่าการพูดเอง

คิดไปคิดมา ก็เห็นทางพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

“เราให้ตรัยเอา iPad ขึ้นไปถือในคอนเสิร์ตเลย แล้วก็พูดเลยว่า ผมเป็นคนพูดไม่เก่ง ดังนั้น วันนี้ผมจะอ่านนะครับ สวัสดีครับ ท่านผู้ชม ปรากฏว่าสนุกมาก!! แล้วเราก็จะมีปุ่มคอนโทรลอยู่ปุ่มหนึ่งเป็นเสียงจิ้งหรีด ถ้าเกิดมี Dead Air เวลาเงียบก็กดใส่เสียงจิ้งหรีด นี่คือการคิดจากสิ่งเขาเป็น เป็นการเปลี่ยนจุดอ่อนมาเป็นจุดแข็ง”

 

4

ถ้าต้องตาย..ขอตาย ‘ท่ายืน’

ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา เช่นเดียวกับ Fat Radio

หลังเปิดทำการมา 13 ปีเต็ม และโยกย้ายจากคลื่น 104.5 มายัง FM 98 ก็พบว่ามีปัญหาหลายอย่างที่แก้ไม่ตก ทั้งความนิยมของสื่อวิทยุที่ลดน้อยถอยลง คู่แข่งในตลาดที่เพิ่มขึ้น บวกกับปัญหาภายในองค์กร จนพงศ์นรินทร์เริ่มรู้สึกไม่สนุกกับการทำงาน

ปลายปี 2555 เขาจึงจัดงานที่เรียกว่า The Last FatFEST เพื่อทิ้งทวนกิจกรรมใหญ่ที่จัดมาต่อเนื่องมาถึง 12 ปี

“ความจริงก็ยังเป็นผู้นำอยู่นะ ในแง่ธุรกิจก็ยังอยู่ได้ แต่เราเริ่มเบื่อ เพราะช่วงหลังเริ่มมีคนพยายามสร้างภาพให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่ ก็เลยคิดว่าหยุดดีกว่า”

หลังจากอีก 7 เดือน Fat Radio ก็ยุติการออกอากาศทางคลื่นวิทยุ เปลี่ยนไปออกอากาศทางอินเทอร์เน็ตอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะปิดตัวถาวร หลังเฮนรี่จ๋องตัดสินใจแยกตัวมาทำคลื่นออนไลน์ใหม่ที่ชื่อว่าCat Radio’ แทน

พงศ์นรินทร์กล่าวว่า ความจริง Fat Radio เป็นเพียงยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น ไอเดียและจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์งานต่างหากที่สำคัญกว่า

หากแต่ต้องยอมรับว่าการทำสื่อวิทยุในยุคปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง เพราะผู้คนมีทางเลือกมากมาย เขาเปรียบเทียบให้ฟังง่ายๆ ว่า Cat Radio ทุ่มเททั้งสติปัญญาและพลังแรงกาย มากกว่าช่วงทำ Fat Radio แต่ดูเหมือนคลื่นใหม่จะเป็นที่นิยมสู้คลื่นเก่าไม่ได้ ทว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะท้อหรือล้มเลิก

“ผมพูดเสมอว่า อย่างมากก็เจ๊ง ไม่เห็นมีอะไรที่พิสดาร แต่ระหว่างทางก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำไป ทำอย่างตั้งใจ และสนุกสนาน ถ้าจะตาย ก็ให้ตายท่ายืน เราจะไม่นอนตาย หรืองอมืองอเท้าตาย เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครบังคับให้เราทำ เราเสี้ยนทำกันเองหมดทุกอย่าง เราอยากทำเราก็ทำ ทำในสิ่งที่เราสนุก นี่คือสิ่งสำคัญ

“ถ้าย้อนกลับไปมอง เราทำรายการวิทยุที่ไม่เคยมีมาก่อน เราทำคอนเสิร์ตที่ไม่เคยมีกลุ่มตลาด เราทำโรงหนังที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากดูอย่าง House Rama มันเป็นโจทย์ที่ยากอยู่แล้ว ดังนั้น ระหว่างทางก็อย่างอแงว่ายาก เพราะเรารู้อยู่แล้ว เราก็แค่สู้ให้สุด ถ้าไม่ไหวก็ต้องรับให้ได้”

Fat Festival

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของชายธรรมดาๆ ที่สร้างสิ่งที่ไม่ธรรมดา ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการดนตรีบ้านเรา

“ความจริงเราไม่ได้สร้างอะไรเลย ทุกอย่างมีอยู่แล้ว เพียงแต่เขาอาจไม่รู้ว่ามี อย่างพวกวงต่างๆ ก็มีมาก่อนเราอีก แต่การมีเราขึ้นมา ก็เลยมีคนกล้าทำเพลงแบบต่างๆ ที่เป็นตัวเองมากขึ้น และส่งผลให้วงการนี้เติบโตตามไปด้วย”

 

ภาพ พงศ์นรินทร์ อุลิศ

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว