หากเหลียวมองไปรอบๆ คุณอาจพบว่า ‘งานออกแบบที่ดี’ อยู่ใกล้กว่าที่คิด นอกจากถ้วยกาแฟเก๋ใช้งานง่ายบนโต๊ะ งานออกแบบเหล่านั้นอาจซุกซ่อนอยู่ในเมืองที่คุณอาศัย เช่น สวนสาธารณะแห่งใหม่ที่เพิ่งขับรถผ่านมา หรืออาคารดีไซน์ดีตรงหัวมุมถนน

นอกจากการออกแบบจะช่วยแก้ปัญหา ทั้งเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้สิ่งรอบตัวเรา ถ้ารวบรวมงานออกแบบที่อยู่ตรงนั้นตรงนี้มัดรวมเป็นก้อนใหญ่ เชื่อไหมว่ามันจะทรงพลังขึ้นจนช่วยเพิ่มพลังเมืองทั้งเมืองได้

ขอแนะนำให้คุณรู้จักโปรแกรมที่ชื่อว่า The World Design Capital (WDC)

WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation

นี่คือโปรแกรมที่ริเริ่มโดย World Design Organisation (WDO) องค์กรเอกชนระดับนานาชาติซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมภาคการออกแบบอุตสาหกรรม พวกเขามองว่า ณ วันที่ประชากรโลกกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง การออกแบบได้ช่วยพัฒนาเมืองทั้งในแง่เพิ่มเสน่ห์ดึงดูด พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความยั่งยืน 

โปรแกรมนี้จึงคัดเลือกเมืองที่โดดเด่นด้านการออกแบบขึ้นมาเป็น ‘เมืองหลวงด้านการออกแบบของโลก’ ซึ่งเป็นทั้งการกำหนดขอบเขต (Area Designation) เชื่อมโยงสิ่งมีคุณค่าเข้ากับพื้นที่ที่ชัดเจน และเป็นการให้ ‘รางวัล’ เมืองแห่งนั้น พูดอีกอย่างคือ โปรแกรมนี้หยิบเรื่องการออกแบบมาเป็นตัวชูโรง เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้แก่เมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation
WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation

แต่รางวัลด้านการออกแบบก็มีอยู่เยอะแยะนะ-คุณอาจสงสัย

สิ่งน่าสนใจคือ โปรแกรมนี้ไม่ใช่แค่การเชิญแต่ละเมืองมาขึ้นเวทีแล้วมอบถ้วยรางวัล แต่ยังออกแบบโปรแกรมโปรโมตเมืองเพื่อฟูมฟัก ขับเน้นเรื่องการออกแบบที่แทรกอยู่ในเนื้อเมืองให้เปล่งประกาย และช่วยสร้างเครือข่ายเมืองที่ใส่ใจเรื่องการออกแบบซึ่งจะช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกันต่อไป อีกทั้งมีรายงานสรุปผลชัดเจน เป็นเครื่องยืนยันว่าโปรแกรมนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

เชิญเรียนรู้วิธีคิดของโปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้ ‘เรื่องเล่า’ ของการออกแบบระดับเมืองกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง

ออกแบบสนามแข่ง

The World Design Capital เป็นโปรแกรมที่จัดขึ้นทุก 2 ปีมาตั้งแต่ปี 2008 โดยมี ‘เมืองหลวงด้านการออกแบบของโลก’ มาแล้วหลายเมืองหลายทวีป อาทิ เฮลซิงกิ โซล เคปทาวน์ และเม็กซิโกซิตี้

แน่นอนว่าเมืองเหล่านี้ไม่ได้ถูกจับฉลากเลือกมา แต่ผ่านกระบวนการคัดสรรเข้มข้นโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ประธานของ WDO ผู้เป็นนักออกแบบและสถาปนิกชื่อดัง ตัวแทนจาก Bloomberg Philantropies และ Chief Design Officer จากบริษัทเป๊ปซี่

WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation

สนามนี้เปิดให้เมืองทั้งเล็กใหญ่เข้าร่วมแข่งขันได้ โดยต้องแจกแจงว่าที่ผ่านมาได้ใช้การออกแบบมาพัฒนาเมืองอย่างไร แผนที่วางไว้หากได้รับเลือกคืออะไร รวมถึงระบุงบที่จะได้รับจากภาครัฐ หลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการคัดเลือก ซึ่งรวมถึงการไปเยี่ยมเยียนเมืองที่เข้ารอบสุดท้ายกันจริงๆ เป็นเวลา 2 วันเต็ม

เมื่อได้ชมเมืองเรียบร้อย จะมีการคัดเลือกรอบสุดท้ายก่อนประกาศชื่อเมืองที่ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการ โดยเมืองแห่งนั้นจะมีเวลาเตรียมตัวอีก 2 ปีเพื่อเปิดประตูเมืองต้อนรับชาวโลกในฐานะ ‘เมืองหลวงด้านการออกแบบของโลก’ เต็มภาคภูมิ

กระบวนการเตรียมตัวนั้นเป็นการทำงานประสานกันระหว่างส่วนกลางของ WDO กับระดับท้องถิ่น และเข้มข้นไม่ต่างจากกระบวนการคัดเลือกเลย

ออกแบบ ‘เมืองหลวงด้านการออกแบบ’

  การเป็นเมืองหลวงด้านการออกแบบของโลก หมายถึงการที่แต่ละเมืองได้เล่าเรื่องตัวเองผ่านมุมการออกแบบ ด้วยรูปแบบหลากหลายและสร้างสรรค์ 

นอกจากกิจกรรมที่ต่างกันตามบริบทเมือง สิ่งที่เราอยากหยิบมาเล่าให้คุณฟังคือ เซ็ตกิจกรรมหลักจากโปรแกรมของ The World Design Capital ที่เรียกว่า ‘Signature Event’ ซึ่งออกแบบไว้ได้น่าสนใจ 

หากเมืองของคุณได้รับเลือก 8 อีเวนต์ด้านล่างนี้คือกิจกรรมที่คุณจะได้ยินข่าวในสื่อ หรืออาจได้ไปเข้าร่วมเองด้วย

WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation
WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation

1. WDC Signing Ceremony

  กิจกรรมทางการอย่างแรกสุดของเมืองที่ได้รับเลือก และเป็นกิจกรรมหลักอย่างเดียวที่อยู่นอกเวลา 1 ปีของโปรแกรม พิธีลงนามอาจฟังดูเป็นการเป็นงานน่าเบื่อ แต่นี่คือโอกาสของเมืองที่จะรวมพลผู้เกี่ยวข้องหลัก ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากภาครัฐ ชุมชนนักออกแบบ สื่อ และภาคธุรกิจ กิจกรรมนี้ยังเป็นเหมือนการประกาศตัวที่ชวนให้คนในเมืองเริ่มภาคภูมิใจในความสำเร็จครั้งนี้

2. World Design Street Festival

  เฟสติวัลที่เป็นสิ่งจับต้องง่ายและน่าสนุกนี้เป็นกิจกรรม Kick-off ของโปรแกรมทั้งปี ประกอบด้วยสารพัดกิจกรรมตั้งแต่คอนเสิร์ต เวิร์กช็อป นิทรรศการ จนถึง Open House ของสตูดิโอออกแบบ งานนี้จัดเพื่อชวนคนทั่วไปรวมถึงนักท่องเที่ยวให้มีส่วนร่วม และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการออกแบบช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ 

3. World Design Spotlight

กิจกรรม 1 วันที่จะไฮไลต์ความสำคัญของการออกแบบในฐานะเครื่องมือพัฒนาเมือง และจัดแสดงจุดเด่นที่ทำให้เมืองได้รับเลือกและการออกแบบที่สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับนานาชาติ

4. World Design Experience

มาถึงกิจกรรมที่ยิงยาว 1 สัปดาห์กันบ้าง งานนี้จัดแสดงงานดีไซน์จากทั่วโลก ซึ่งเราแวะไปแจมได้แบบ Interactive แน่นอนว่าน่าสนใจทั้งกับคนทั่วไปและเหล่าสื่อมวลชน

5. World Design Policy Conference 

กลับสู่โหมดการประชุมจริงจัง ด้วยกิจกรรมการประชุมที่เปรียบเหมือนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความเห็นและความรู้สำหรับนานาประเทศที่ใส่ใจเรื่อง Design Policy ถ้าใครสนใจเรื่องงานออกแบบ นี่คือโอกาสที่จะได้พบกัน

6. World Design Network Cities Meeting

ฟอรั่มสำหรับ Municipal Representatives เพื่อโอกาสที่จะร่วมมือกัน และช่วยให้ประเทศเครือข่ายยังกระตือรือร้นที่จะขับเคลื่อนเรื่องการออกแบบต่อ

7. WDC Design Week Forum

ฟอรั่มรวมผู้จัด Design Week ทั่วโลกมาแบ่งปันประสบการณ์ เป็นงานที่มีประโยชน์กับเมืองซึ่งยังไม่ได้จัดสัปดาห์ด้านการออกแบบด้วย

8. WDC Convocation Ceremony

และท้ายสุด คือพิธีปิดที่สรุปทบทวนไฮไลต์และบทเรียนจากปีแห่งการเป็นเมืองหลวงด้านการออกแบบของโลก รวมถึงส่งต่อตำแหน่งเมืองหลวงฯ สู่เมืองถัดไป เป็นงานทางการส่งท้ายที่ชวนผู้เกี่ยวข้องหลักกลับมารวมตัวอีกครั้ง

อย่างที่บอกเมื่อครู่ว่า นอกจาก 8 กิจกรรมนี้ แต่ละเมืองยังมีกิจกรรมอื่นที่ต่างกันไป แต่ Signature Event ทั้งหมดนี้ คือเครื่องมือที่ช่วยสาดสปอร์ตไลต์ให้เมืองและเรื่องการออกแบบเมืองอยู่ในสายตาผู้มีอำนาจรวมถึงประชาชนตลอดปี

และแน่นอน ทุกสิ่งที่ทำช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงน่าชื่นใจให้เมืองแห่งนั้น

ผลลัพธ์การออกแบบ

ลองนึกภาพเมืองของคุณกลายเป็นสถานที่ซึ่งมีกิจกรรมสนุกสร้างสรรค์เรื่องการออกแบบอยู่ไม่ขาด มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุน รวมถึงเพื่อนใหม่อย่างเมืองอื่นๆ มาเยี่ยมเยียน เมื่อ 1 ปีผ่านไป ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย

ทั้งความรู้เรื่องดีไซน์ที่คนในเมืองอาจซึมซับไปทีละน้อย ฐานะการเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่เข้มแข็งขึ้น เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนถึงพันธมิตรที่เพิ่มพูน 

ในปี 2010 กรุงโซลที่ได้รับเลือกในปีนั้นและมาในธีม ‘Design for All’ มีคุณค่าด้านแบรนด์เพิ่มขึ้น 891,079 ล้านวอน (ประมาณ 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้ขึ้นเป็นอันดับที่ 9 ของ Global Urban Competitiveness Index 2010 และยังได้สร้างแลนด์มาร์กชิ้นใหญ่อย่าง Dongdaemun Design Plaza ที่ออกแบบโดยซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid)

WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation

ขยับมาฝั่งเฮลซิงกิที่ได้เป็นเมืองหลวงฯ ในปี 2012 และเลือกใช้ธีม ‘Embedded Design’ ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดี ชนิดที่ 2 ใน 3 ของคนเฮลซิงกิได้แจมกิจกรรมกันถ้วนหน้า หลังจากนั้น ทางเมืองยังได้จัดโปรแกรม Design Driven City ยาว 2 ปีเพื่อรักษามวลเรื่องการออกแบบที่กำลังเข้มแข็งให้อยู่ต่อไป 

และเมื่อข้ามทวีปมายังฝั่งเมืองเคปทาวน์ที่ได้รับเลือกในปี 2014 และมาในธีม ‘Live Design-Transform Lives’ ก็ระบุว่าเงินทุก 1 แรนด์ (สกุลเงินแอฟริกาใต้) ที่ลงทุนกับงานนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 2.46 แรนด์ และยังช่วยให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทางสังคมอย่างสูง

WDC โปรแกรมที่ช่วยฉายไฟให้เรื่องเล่าการออกแบบเมืองเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง, World Design Organisation

The Wold Design Capital จึงไม่ใช่แค่ถ้วยรางวัลที่วับวาวอยู่บนชั้น หรือตำแหน่งประดับเพิ่มในประวัติเมือง แต่เป็นโปรแกรมออกแบบดีที่ช่วยให้เมืองซึ่งใส่ใจเรื่องงานออกแบบดียิ่งกว่าเดิม

พูดแล้วก็อยากให้เมืองในไทยได้ร่วมสนุกกับเขาบ้างจัง

ภาพ : wdo.org/programmes/wdc/

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S