27 กุมภาพันธ์ 2023
2 K

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการบริหารธุรกิจครอบครัว คือการหาจุดสมดุลว่าครอบครัวควรจะเข้าไปมีบทบาทในการบริหารธุรกิจมากน้อยเพียงใด

ในหลาย ๆ ธุรกิจนั้น สมาชิกครอบครัวเชื่อว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จมากกว่า หากให้บุคคลจากภายนอกครอบครัวที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม การไม่ได้มีบทบาทในการบริหารธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าครอบครัวจะละเลยบทบาทในการกำกับดูแลกิจการในฐานะผู้ถือหุ้นไปได้

Dow Jones & Company เจ้าของหนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดัง The Wall Street Journal เป็นตัวอย่างของธุรกิจครอบครัวที่นอกจากทายาทรุ่นหลังจะห่างเหินและขาดความผูกพันกับธุรกิจของตระกูลแล้ว สมาชิกครอบครัวยังไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารกิจการ จนในที่สุดก็รักษาธุรกิจครอบครัวไว้ไม่ได้

กำเนิด Dow Jones

บริษัท Dow Jones & Company หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Dow Jones’ นั้น ตั้งขึ้นในปี 1882 โดยผู้สื่อข่าว 3 คน คือ Charles Dow, Edward Jones และ Charles Bergstresser และเริ่มตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ธุรกิจ The Wall Street Journal ฉบับแรกในปี 1889

ในปี 1896 Dow Jones ได้เริ่มคำนวณ Dow Jones Industry Average (DJIA) หรือ ‘ดัชนีดาวโจนส์’ ซึ่งเป็นดัชนีราคาหุ้นของบริษัทสำคัญ ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดัชนีนี้ยังคงเป็นตัวเลขสำคัญในแวดวงการเงินและการลงทุนมาจนถึงทุกวันนี้

The Wall Street Journal สื่อธุรกิจที่เจ้าของไม่ดูแลจนปรับตัวไม่ทันและไม่เหลืออะไรเลย

จาก Barron สู่ Bancroft

หลังจาก Charles Dow เสียชีวิตในปี 1902 Clarence Barron นักหนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดังในขณะนั้นได้ซื้อบริษัทมาบริหารต่อและขยายกิจการจนเติบโต

นอกจาก Clarence จะเป็น President ของบริษัทและเป็นผู้จัดการของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal แล้ว เขายังเริ่มพิมพ์นิตยสารด้านการเงินชื่อ Barron’s อีกด้วย

สำหรับชีวิตส่วนตัวนั้น Clarence แต่งงานกับ Jessie Waldron ทั้งคู่ไม่มีลูกด้วยกัน แต่ Clarence รับเอาลูก 2 คนของภรรยา คือ Jane กับ Martha มาเป็นลูกของตน

หลังจาก Clarence เสียชีวิตในปี 1928 Hugh Bancroft ลูกเขยของเขาที่เป็นสามีของ Jane ได้รับช่วงกิจการต่อ จนกระทั่ง Hugh ฆ่าตัวตายจากอาการซึมเศร้าในอีก 5 ปีต่อมาด้วยวัย 54 ปี

ทายาทรุ่นสาม

Hugh กับ Jane มีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ Hugh Bancroft Jr., Jessie Bancroft Cox และ Jane Bancroft Cook

Hugh Jr. ลูกชายคนเดียวของทั้งคู่ เสียชีวิตในปี 1953 ด้วยวัยเพียง 44 ปี ทิ้งมรดกให้ภรรยาหม้ายและลูก 4 คน

Jessie ลูกสาวคนโต เป็นผู้นำครอบครัวรุ่นถัดมา Jessie เสียชีวิตกะทันหันหลังจากหมดสติกลางโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 100 ปีของบริษัทในปี 1982 ทำให้หลังจากนั้นทายาทตระกูล Bancroft ขาดผู้นำที่เป็นตัวเชื่อมสมาชิกครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน

ส่วน Jane ลูกสาวคนเล็ก เป็นกรรมการบริษัทมายาวนาน เธอเสียชีวิตในปี 2002

หนังสือพิมพ์ของคุณปู่

หลังจาก Hugh เสียชีวิต กิจการของ Dow Jones ได้ดำเนินต่อมาโดยมีผู้บริหารจากนอกครอบครัว Bancroft มาจัดการ

ส่วนหุ้นของบริษัทได้โอนไปให้กองทรัสต์ที่ทำหน้าที่ถือหุ้นและใช้สิทธิ์ออกเสียงแทนลูก ๆ ของ Hugh โดยลูก ๆ ได้รับเงินปันผลจากบริษัทผ่านกองทรัสต์

ลูก ๆ ของ Hugh และ Jane ที่นับเป็นทายาทรุ่นสามของตระกูล Bancroft มีความมุ่งมั่นในการรักษาธุรกิจครอบครัวให้ตกทอดไปสู่รุ่นถัดไป ถึงกับมีคติพจน์ว่า “Never sell Grandpa’s paper” คือหัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ยอมขายบริษัทให้คนนอกตระกูล

ครอบครัวจึงจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้น เพื่อให้มั่นใจว่าคนนอกครอบครัวจะมาทุ่มซื้อบริษัท Dow Jones ไปไม่ได้ โดยให้บริษัทมีหุ้น 2 ประเภทที่มีสิทธิ์ออกเสียงไม่เท่ากัน ทำให้ตระกูล Bancroft ยังมีสิทธิ์ออกเสียงส่วนใหญ่อยู่ แม้ว่าบริษัทจะเข้าจดทะเบียนและขายหุ้นใน New York Stock Exchange มาตั้งแต่ปี 1963 แล้วก็ตาม

The Wall Street Journal สื่อธุรกิจที่เจ้าของไม่ดูแลจนปรับตัวไม่ทันและไม่เหลืออะไรเลย

ไม่ปรับตัวเมื่อโลกเปลี่ยน

ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ธุรกิจของ Dow Jones ต้องเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้บริหารล้มเหลวในการคาดการณ์ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตที่พลิกโฉมธุรกิจสื่ออย่างรุนแรง จนทำให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่รวดเร็วและเพียงพอ

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ นี้ บริษัทกลับจ่ายเงินปันผลที่ไม่สะท้อนผลประกอบการที่ย่ำแย่ เช่น ในบางปีจ่ายเงินปันผลมากกว่ากำไรของบริษัท หรือจ่ายเงินปันผลแม้แต่ในปีที่ขาดทุน

เงินปันผลเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้ให้ทายาท Bancroft ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา โดยเฉพาะสมาชิกรุ่นอาวุโสที่มีหุ้นจำนวนมาก สมาชิกครอบครัวเหล่านั้นจึงพอใจกับการบริหารธุรกิจแบบที่เป็นอยู่และไม่เข้าไปก้าวก่ายการดำเนินกิจการ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกครอบครัวรุ่นหลังหลายคนเริ่มไม่พอใจการทำงานของผู้บริหาร และไม่เห็นด้วยที่บริษัทจ่ายปันผลจำนวนมากแทนที่จะใช้เงินนั้นลงทุนเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของธุรกิจ เนื่องจากทายาทรุ่นหลังเหล่านี้ให้ความสำคัญกับมูลค่าของหุ้นที่ตนจะได้รับเป็นมรดกในอนาคต

ตัวอย่างเช่น ในส่วนของธุรกิจบริการข้อมูลข่าวสารด้านการเงินให้แก่ลูกค้านั้น บริษัทคู่แข่งอย่าง Bloomberg, Thomson และ Reuters ได้ลงทุนเพื่อพัฒนาระบบอย่างมาก ในขณะที่ Dow Jones กลับไม่ได้ลงทุนอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน

หรือในส่วนของธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่ถึงแม้ว่าทั้งอุตสาหกรรมจะเผชิญความท้าทายที่จำนวนคนอ่านและโฆษณาลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ผลประกอบการของ The Wall Street Journal ก็ต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง The Washington Post และ The New York Times

The Wall Street Journal สื่อธุรกิจที่เจ้าของไม่ดูแลจนปรับตัวไม่ทันและไม่เหลืออะไรเลย

เมื่อครอบครัวไม่ใส่ใจในธุรกิจ

“ปล่อยให้มืออาชีพบริหาร” เป็นแนวทางที่ Jane Barron Bancroft ภรรยาหม้ายของ Hugh ปลูกฝังลูก ๆ ของเธอหลังจากที่ Hugh Bancroft เสียชีวิตและทิ้งธุรกิจเป็นมรดกไว้ให้ลูก ๆ

ตลอดหลายสิบปี ครอบครัว Bancroft จึงยึดมั่นในหลักการว่า จะไม่แทรกแซงการดำเนินกิจการของบริษัท จนถึงขนาดที่ผู้ละเมิดหลักการนี้จะถูกลงโทษโดยสมาชิกครอบครัวเลยทีเดียว

เช่น เมื่อบริษัทขาดทุนจากการลงทุนที่ผิดพลาดในปี 1997 ทายาทรุ่นสี่ 2 คนคือ Elisabeth Chelberg หลานตาของ Hugh Jr. กับ William Cox III หลานยายของ Jessie ได้วิจารณ์การทำงานของ Peter Kann ผู้เป็น CEO ในขณะนั้นออกสื่อ

ผลก็คือ สมาชิกอาวุโสของตระกูลไม่พอใจการกระทำของทั้งคู่ ได้ออกแถลงการณ์มาแก้ต่างให้กับผู้บริหารของ Dow Jones และยังไม่ให้ Elisabeth กับ William III เข้าร่วมประชุมกับสมาชิกครอบครัวอีกด้วย

วัฒนธรรมครอบครัวนี้นอกจากทำให้ไม่มีสมาชิกครอบครัวคนใดกล้าวิจารณ์การ

บริหารบริษัทแล้ว ยังทำให้ทายาทห่างเหินและขาดความผูกพันกับธุรกิจของครอบครัวอีกด้วย

The Wall Street Journal สื่อธุรกิจที่เจ้าของไม่ดูแลจนปรับตัวไม่ทันและไม่เหลืออะไรเลย

ข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดผลประกอบการของ Dow Jones ที่น่ากังวลทำให้ตระกูล Bancroft เริ่มให้ความใส่ใจกับธุรกิจมากขึ้น

ในปี 2006 ตัวแทนสมาชิกครอบครัวที่เป็นกรรมการบริษัทจากทายาท 3 สาย ได้แก่ Christopher Bancroft ลูกชายของ Hugh Jr., Leslie Hill หลานยายของ Jessie และ Elizabeth Steele ลูกสาวของ Jane กดดันจนบริษัทเปลี่ยน CEO ในปี 2006 จาก Peter Kann เป็น Richard Zannino

หลังจาก Zannino เป็น CEO ได้เพียงปีเศษ เขาได้รับเชิญให้ไปทานอาหารเช้ากับ Rupert Murdoch ในวันที่ 29 มีนาคม ปี 2007

Murdoch เป็นเจ้าพ่อแห่งวงการสื่อสารมวลชน ผู้สร้างบริษัท News Corp จนกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งนอกจากเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์กว่า 100 ฉบับทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเจ้าของกิจการสถานีโทรทัศน์ Fox สำนักพิมพ์ HarperCollins และโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม MySpace อีกด้วย

หลังจากอาหารเช้ามื้อนั้น Zannino ได้กลับไปแจ้งทายาทตระกูล Bancroft ว่า Murdoch ยื่นข้อเสนอขอซื้อบริษัท Dow Jones ด้วยราคา 60 เหรียญฯ ต่อหุ้น ซึ่งในขณะนั้นหุ้นของบริษัทซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคา 36 เหรียญฯ 

พูดง่าย ๆ ว่า Murdoch เสนอซื้อกิจการ Dow Jones ในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 67% เลยทีเดียว

The Wall Street Journal สื่อธุรกิจที่เจ้าของไม่ดูแลจนปรับตัวไม่ทันและไม่เหลืออะไรเลย

เสียงแตก

หลังจากได้ทราบถึงข้อเสนอของ Murdoch นั้น สมาชิกตระกูล Bancroft ได้แตกออกเป็น 2 พวก คือพวกที่ต้องการรับข้อเสนอกับพวกที่เห็นว่าไม่ควรรับ

สำหรับสมาชิกที่ต้องการให้รับข้อเสนอนั้น เหตุผลของหลายคนคือความไม่มั่นใจว่า Dow Jones จะอยู่รอดด้วยตัวเองได้ในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งอย่าง Thomson กับ Reuters ควบรวมกิจการกัน

Elisabeth Chelberg ที่เคยวิจารณ์การทำงานของผู้บริหาร Dow Jones เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้นบอกว่า ถึงแม้ว่าครอบครัว Bancroft อาจจะรักษากิจการของตระกูลได้เมื่อ 15 ปีก่อน แต่ตอนนี้กิจการตกต่ำจนสายเกินไปเสียแล้วที่จะปรับเปลี่ยนให้อยู่รอดได้

ส่วน Crawford Hill ทายาทรุ่นห้า ได้ส่งอีเมลหาสมาชิกทั้งครอบครัวว่า ตระกูล Bancroft กำลังชดใช้การที่ครอบครัวเพิกเฉยต่อการดำเนินกิจการของบริษัท Dow Jones ตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และถึงเวลาแล้วที่ครอบครัวต้องเผชิญกับความจริงและยอมรับข้อเสนอของ Murdoch

แต่ในขณะที่สมาชิกรุ่นหลังที่ไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้เงินปันผล และไม่ได้ผูกพันกับบริษัทมากนัก ต้องการขายบริษัทให้ Murdoch สมาชิกอาวุโสของครอบครัวกลับไม่ต้องการ

ตัวแทนครอบครัวที่เป็นกรรมการบริษัท 3 คนได้แก่ Christopher, Elizabeth Steele และ Leslie Hill ซึ่งเป็นแม่ของ Crawford เชื่อว่า Dow Jones ยังมีโอกาสอยู่รอดและมีมูลค่ามากกว่าที่ Murdoch เสนอ

นอกจากสมาชิกบางคนยังไม่เชื่อถือจรรยาบรรณของ Murdoch และเกรงว่า The Wall Street Journal จะสูญเสียความเป็นอิสระ ความน่าเชื่อถือ และความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพให้กับผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองของ Murdoch

พวกเขาคิดว่า หากจะต้องขายธุรกิจ ก็อยากขายให้คนอื่นที่มีจรรยาบรรณมากกว่า เช่น The Washington Post

ปิดดีล

ในปี 2007 นั้น สมาชิกตระกูล Bancroft มีสิทธิ์ในการออกเสียงในบริษัท Dow Jones ทั้งหมด 64% ซึ่ง 38% ต้องการให้รับข้อเสนอของ Murdoch เมื่อรวมกับเสียงอีก 29% จากผู้ถือหุ้นจากนอกครอบครัวที่ต้องการขาย Dow Jones เช่นกัน ทำให้เสียงที่สนับสนุนมีจำนวนเกินกว่าครึ่ง

เมื่อสมาชิกครอบครัวเองต้องการขายกิจการเช่นนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่อุตส่าห์ออกแบบมาเพื่อป้องกันคนนอกครอบครัวมาทุ่มซื้อกิจการจึงไร้ความหมาย

วันที่ 17 กรกฎาคม ปี 2007 กรรมการบริษัท Dow Jones ลงมติรับข้อเสนอของ Rupert Murdoch ซึ่งการซื้อขายได้เสร็จสิ้นลงในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2007 ด้วยมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 5 พันล้านเหรียญฯ

ถือเป็นการปิดตำนานของตระกูล Barron-Bancroft ในอุตสาหกรรมสื่อธุรกิจการเงินที่ดำเนินมากว่า 100 ปี

ความพ่ายแพ้ของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ที่เกิดจากการละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจครอบครัว

บทบาทของเจ้าของ

ภายหลังจากที่ขายธุรกิจไปแล้ว ทายาทของตระกูล Bancroft บางคนนึกเสียดายว่า Dow Jones ตัดสินใจผิดที่เลือก Peter Kann และ Richard Zannino มาเป็น CEO ในช่วงที่บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายซึ่งชี้เป็นชี้ตายถึงอนาคตของกิจการ

แต่จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ทายาทตระกูล Bancroft รักษาธุรกิจครอบครัวของตนเอาไว้ไม่ได้และต้องยอมขาย ‘Grandpa’s paper’ ไปในที่สุดนั้น เกิดจากความผิดพลาดของครอบครัว Bancroft เอง

ทั้งวัฒนธรรมครอบครัวที่ห้ามแทรกแซงหรือวิจารณ์การบริหารธุรกิจ แม้ว่าจะเป็นการทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของครอบครัวก็ตาม

ทั้งการให้ความสำคัญกับเงินปันผลที่มากเกินควร แทนที่จะใช้เงินนั้นลงทุนเพื่อให้ธุรกิจปรับตัวอยู่รอดได้ในโลกที่เปลี่ยนไป

ทั้งการไม่ปลูกฝังความรู้สึกผูกพันกับธุรกิจครอบครัวให้แก่ทายาทรุ่นหลัง ๆ ที่มีจำนวนมากขึ้น ไม่ได้เติบโตมาด้วยกัน และมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวที่น้อยลง

และที่สำคัญ คือความไม่ใส่ใจในการกำกับดูแลธุรกิจของทายาทเองในฐานะผู้ถือหุ้น

ตัวอย่างจากธุรกิจ Dow Jones ของตระกูล Bancroft นี้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าครอบครัวอาจจะเลือกไม่บริหารธุรกิจเอง แต่ครอบครัวไม่อาจละเลยบทบาทของเจ้าของกิจการในการกำกับดูแลธุรกิจไปได้

เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากธุรกิจประสบปัญหาใด ๆ ผู้ที่ต้องรับผลกระทบก็หนีไม่พ้นครอบครัวเจ้าของกิจการนั่นเอง

ความพ่ายแพ้ของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ที่เกิดจากการละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจครอบครัว
ข้อมูลอ้างอิง
  • Ellison, Sarah. War at the Wall Street Journal: Inside the Struggle to Control an American Business Empire, Houghton Mifflin Harcourt, Boston and New York, 2010.
  • www.familybusinessmagazine.com
  • knowledge.insead.edu/family-business
  • www.theguardian.com/media/2011/jul/13
  • www.newyorker.com/magazine/2003/11/03/family-business-6
  • www.wsj.com/articles
  • www.wan-ifra.org/2021/07
  • www.mholloway63.wordpress.com/2015/07/08
  • www.digitalcommonwealth.org/search/commonwealth:5x21tn284
  • www.nytimes.com/2020/02/22/business
  • www.thezog.wordpress.com/peter-kann
  • www.metro.co.uk/2022/06/23
  • www.wsj.com/articles/SB117892007040500431

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต