เราเดินทางมาถึง ‘The Wall KhonKaen Family Space’ ก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย เพื่อเดินสำรวจหมู่บ้านขนาดย่อมกลางเมืองขอนแก่น มีผู้คนหลากวัยตั้งแต่เด็กจิ๋วยันผู้ใหญ่เดินกันขวักไขว่ มีร้านรวงหลายประเภท มีพื้นที่ให้นั่งหย่อนใจรับลมสบาย ๆ ก่อนสองเท้าจะเดินมาหยุดหน้าพิพิธภัณฑ์พระธรรมขันธ์โอสถ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวจากพระธรรมขันธ์โอสถ สู่ The Wall KhonKaen Family Space

เป็นโอกาสดีที่เรานั่งสนทนากับ เอิร์ธ-วชิระ ตราชู ผู้ก่อตั้งโครงการแห่งนี้ พ่วงตำแหน่งทายาทรุ่นสี่กิจการยาแผนโบราณ ถึงการเดินทางของ The Wall พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคนในครอบครัว โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อสร้างความสุขให้ผู้มาเยือน การเดินทางของเอิร์ธครั้งนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่าขวากหนามก็หาใช่อุปสรรค แต่กลับเป็นบทเรียนให้เขาและสถานที่ตรงหน้าเรียนรู้และเติบโต

เท้าความสักนิด ธุรกิจพระธรรมขันธ์โอสถเริ่มต้นในรุ่นทวดที่เดินทางพร้อมเสื่อผืนหมอนใบจากประเทศจีน จนทายาทรุ่นสอง (ปู่โบ ตราชู) ได้รับตำรายาจากพระธุดงค์ ท่านเป็นคนชอบทดลองและศึกษา จึงมุ่งเน้นศึกษาสมุนไพรจนสอบแพทย์แผนโบราณได้ สู่การตั้งห้างขายยาพระธรรมขันธ์โอสถ แรกเริ่มทำเลเดิมอยู่โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และย้ายกิจการมาจังหวัดขอนแก่น, สมัยก่อนคนละแวกนี้เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า พระธรรมขันธ์ทุ่งนา ซึ่งกิจการของครอบครัวดำเนินไปด้วยดี ตีตลาดด้วยการเร่ฉายหนังขายยา เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ จากโรงงานผลิตยาแผนโบราณ พัฒนาต่อยอดสู่โรงพิมพ์พระธรรมขันธ์ (เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์เอง) ที่ยังดำเนินสายพานการผลิตจวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 85 ปี

“ถ้า The Wall คือการเดินทาง ภาพที่พวกเราเห็นทุกวันนี้เป็นภาพที่เสร็จแล้ว แต่ว่าเรื่องราวความงามมันอยู่ระหว่างทาง เราผ่านอะไรมาเยอะครับ ส่วนหนึ่งธุรกิจยาแผนโบราณก็ดี ธุรกิจโรงพิมพ์ก็ดี ได้รับผลกระทบ ช่วงที่ถูก Disruption เยอะ ๆ ทำให้เรารู้ว่า เราจะอยู่เหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว”


เมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เอิร์ธทบทวนกับตัวเองว่าพื้นที่ที่มีจะกลายเป็นอะไรต่อ
“พ.ศ. 2558 เรามีความคิดอยากรีโนเวตพื้นที่ แต่ในความคิดก็มีความกลัว การจะก้าวผ่านอะไรสักอย่างเป็นเรื่องยากเสมอ โดยเฉพาะการที่เรามีคนรอบข้างอยู่ด้วย เราก็เลยตัดสินใจใช้วิธีถาม
“คนแรกที่เราต้องถามคือ พ่อ เพราะพ่อมีความเป็นเจ้าของ เป็นทายาท เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เราถามพ่อว่า ถ้าวันหนึ่งที่นี่ไม่เหมือนเดิม พ่อคิดเห็นยังไง สิ่งหนึ่งที่ได้ยินจากปากพ่อ พ่อบอกว่า พ่อไม่ได้ยึดติดเลยนะ พ่อเข้าใจทุกอย่าง ขออย่างเดียว ถ้าทำ แค่เดินเข้าห้องพระ จุดธูปไหว้ปู่แล้วบอกปู่ว่าจะทำ – เคลียร์ ต่อมาคนที่สองที่ต้องถามคือ แม่ คนที่สามที่ต้องถามคือ ภรรยา เราถามเขาว่า อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอะไร เขาบอกว่าอยากให้เป็นพื้นที่การศึกษา และ คนสุดท้ายที่ต้องถามคือ ตัวเราเอง เราถามตัวเองว่า แล้วเราจะทำพื้นที่แบบไหนกันที่มันยังให้แรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตอยู่”


แม้เผลอเดินหลงทางในขวบปีแรกจนกิจการเจ๊ง เพราะคิดทำเหมือนคนอื่นเขาทำกัน แต่เอิร์ธก็ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่คนสนิทให้หันกลับมาสำรวจตัวเอง ว่ามีอะไร ชอบอะไร และรักอะไร
“พอรุ่นพี่มาแนะนำ เราก็เห้ย ทำไมตอนแรกเราต้องทำเหมือนคนอื่นด้วย เราก็เลยกลับมาที่เรื่องราวของบ้านเรานี่แหละ พอพูดเท่านี้ พ่อเอานู่น เอานี่ที่เราไม่เคยเห็นมาให้ดู ทั้งรูปโรงพิมพ์เก่า ฉลากยาเก่า แผ่นเสียงเก่า นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องทำ เพราะเรารู้จักและเข้าใจมันดีที่สุด”
ในวันที่คุณพ่อเอาทุกอย่างมากางให้ดู คุณเห็นความเป็นไปได้อะไรบ้าง – เราถาม
“เห็นรากเหง้าของตัวเอง สารภาพเลยนะ เมื่อก่อนไม่เคยคิดสนใจเลยว่าประวัติตระกูลเรามาแบบไหน หลังจากนั้นเราเห็นความภูมิใจ เห็นความตั้งใจของปู่ เห็นความพยายามของพ่อ เห็นความพยายามของแม่ที่เลี้ยงลูก 3 คน ที่สำคัญ ไม่มีใครมีเหมือนบ้านเรา ใครบ้างมีพื้นที่แบบนี้ มีโรงงานยาแบบนี้ มีโรงพิมพ์แบบนี้ แถมอยู่ในทำเลดีแบบนี้ โจทย์มีแค่ว่าจะทำยังไงกับมันแค่นั้นเอง
“แล้วอีกอย่าง เราจะเลือกเป็นตัวเองหรือจะเลือกเป็นคนอื่น” – เขาเลือกข้อแรก

ทำเลที่ว่าตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นพื้นที่ปิดสำหรับสายพานการผลิต ไม่เคยมีคนนอกเข้ามายลโฉม เมื่อคนในย่านทราบข่าวการปรับพื้นที่เก่าแก่ทำเลทอง พรรคพวกมากมายขอเช่าพื้นที่ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นธุรกิจกิน ดื่ม เที่ยว – แต่นั่นเป็นความคิดของคนอื่น และเอิร์ธตัดสินใจแล้วว่าเขาเชื่อคนข้างกาย
ตอนเริ่มต้นรีโนเวตเอิร์ธรับหน้าที่สถาปนึก พื้นที่ในโครงการก่อร่างจากไม้เก่าที่เคยมี ชวนศิลปินท้องถิ่นมาเพนต์กำแผงด้วยเรื่องราวของผู้คนในพื้นที่ เขาได้แรงบันดาลใจจากสตรีทอาร์ตปีนัง

เขาออกแบบให้ The Wall KhonKaen Family Space เป็นหมู่บ้าน เพราะเขาเคยประทับใจตอนเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านแถบเนปาลที่สัมผัสความเป็นท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ภายในโครงการมีบ้านขนาดย่อมหลายหลัง จัดวางตามความตั้งใจของเอิร์ธ แซมด้วยสวนสารพัดพันธุ์ไม้ฝีมือพ่อกับลูกชาย และเขาตั้งเป้าหมายให้ที่นี่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคนจริง ๆ พร้อมกลับไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม

การชักชวนร้านรวงที่เข้ามาอยู่ภายในพื้นที่ก็เลือกจากคนที่มีความเชื่อเหมือนกัน หมายรวมถึงแรงบันดาลใจและการดำเนินชีวิตด้วย นอกจากร้านค้า โรงเรียนสอนศิลปะ ที่นี่ยังมีมุมจัดแสดงภาพถ่ายและเรื่องราวของโรงพิมพ์พระธรรมขันธ์และธรรมขันธ์โอสถ ตลอดจนแกลเลอรีขนาดกะทัดรัด


“เราอยากมีสักพื้นที่หนึ่งที่เรามีความสุขกับมัน นั่นคือแกลเลอรี การทำแกลเลอรีทำให้เรามีโอกาสกลับไปหาเพื่อน ๆ กลุ่มช่างภาพที่รู้จักกันมาเป็นสิบ ๆ ปี ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่ดีนะ เป็นพื้นที่หาคอนเนกชัน เป็นพื้นที่ให้ศิลปินในขอนแก่น เป็นพื้นที่ให้เพื่อน ๆ มาทดลองทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน”


การเกิดขึ้นของหมู่บ้านเดอะวอลล์ทำให้ย่านรื่นรมย์กลับมาคึกคัก พื้นที่สร้างสรรค์ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์คนทุกวัย และเป็นพื้นที่ที่สมาชิกในครอบครัวมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน
“การมีพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่เคารพซึ่งกันและกัน แบ่งปันซึ่งกันและกัน และต้องไม่เอาเปรียบกัน เพราะเรามองว่านี่คือหลักการของการอยู่ร่วมกัน
“เราอยากให้คนมาพื้นที่ของเราได้รับความสุขกลับไป เราชอบหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อว่า คนนอก ของ อัลแบรต์ กามูส์ เป็นหนังสือที่สั่นสะเทือนความรู้สึกเรามาก เขาพูดถึงกฎแห่งความสุข 4 ข้อ หนึ่ง อยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่ง สอง ละจากความทะยานอยาก สาม ทำงานสร้างสรรค์ และ สี่ รักใครสักคน – เราคิดว่าคนที่มาเขาต้องโดนสักข้อในกฎของอัลแบรต์ กามูส์” เจ้าบ้านหัวเราะน้อย ๆ
การเดินทางครั้งนี้ของคุณและเดอะวอลล์ ตอบโจทย์ 4 ข้อของอัลแบรต์ กามูส์หรือยัง
“เราว่าเราทำข้อสอบถูกทุกข้อนะ” เขาตอบด้วยน้ำเสียงมีสุข
“แน่นอนว่าระหว่างทางมันมืด มันตัน และมักมีเข็มทิศของคนอื่นมายัดใส่มือเราเสมอ แต่เราดันเชื่อเข็มทิศของตัวเอง เข็มทิศที่ว่าคือแรงบันดาลใจ คือความเชื่อ คือสัญชาตญาณ”
และเข็มทิศนั้นยังคงพาสถานที่ใจกลางเมืองขอนแก่นแห่งนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่หลงทาง
