สงขลาเปรียบเสมือน Melting Pot แดนใต้ หลอมรวมวัฒนธรรมไทย จีน และมลายู ไว้อย่างลงตัว ผู้คนทั้งสามกลุ่มสามารถใช้ชีวิตอย่างกลมเกลียว ในขณะที่เชิดชูอัตลักษณ์และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างภาคภูมิ พหุวัฒนธรรมสะท้อนออกมาผ่านศาสนสถาน สถาปัตกรรม และวัฒนธรรมอาหาร ทำให้สงขลามีเอกลักษณ์น่าค้นหา โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่าซึ่งรุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์

แต่เสน่ห์เหล่านี้จะไม่ถูกค้นพบหรือถูกหยิบยกมาทำให้เกิดคุณค่า หากคนในชุมชนไม่ออกมาสำรวจเมือง

ทางภาครัฐและคนในพื้นที่มองเห็นปัญหานี้ จึงต้องการเชิญชวนให้ผู้คนออกมาทำความรู้จักกับชุมชนของตน เป็นเหตุผลให้ในปีที่ผ่าน ๆ มามีการจัดโครงการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่จะช่วยสร้างความผูกพันระหว่างคนและย่านเก่าเมืองสงขลา

ทว่า เมืองสงขลายามค่ำคืนยังขาดชีวิตชีวาอยู่ เมื่อเทียบกับกลางวัน 

เพราะไม่อยากให้อาทิตย์ตกเป็นอุปสรรคในการค้นพบเสน่ห์ของเมือง โครงการในปีนี้จึงเลือกจัดนิทรรศการแสดงแสงไฟ ‘The Wall at Songkhla 2022’ ขึ้น

การแสดงแสงไฟตามสถานที่ท่องเที่ยวที่คุ้นเคย มักเป็นการเล่นกับเทคนิคแสง สี เสียงที่ฉูดฉาด เป็นการชวนคนให้ออกมา ‘ชมแสง’ แต่การจัดแสดงแสงไฟที่ The Wall at Songkhla 2022 แตกต่างออกไปเพราะเป็นการตีความเรื่องราวของสงขลาผ่านดวงไฟ ซึ่งทำให้ย่านเมืองเก่ายามสิ้นแสงตะวันทั้งปลอดภัยและงดงาม เป็นการชวนให้คนออกมา ‘ชมเมือง’

The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการแสงไฟในสงขลา ชวนคนออกมาชมเมืองเก่ายามค่ำคืน

เปิดสวิตช์

นิทรรศการแสดงแสงไฟที่ย่านเมืองเก่าสงขลาในครั้งนี้ ถือเป็นโปรเจกต์ร่วมระหว่าง Creative Economy Agency (CEA) เทศบาลนครสงขลา คนในชุมชน และทีม Lighting Designers Thailand (LDT) โดยความร่วมมือเริ่มต้นขึ้นจากการที่ CEA ต้องการเข้ามาทำกิจกรรมซึ่งจะช่วยพัฒนาชุมชนสงขลาได้ การรับฟังและทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญมากต่อการสร้างโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จึงมีการระดมสมองขอความคิดเห็นจากคนในชุมชนถึงประเด็นที่พวกเขาต้องการพัฒนาหรืออยากเห็นเกิดขึ้นในเมืองสงขลา สุดท้ายจึงได้คำตอบว่า ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาอยากเห็น คือ 

หนึ่ง อยากให้เมืองปลอดภัย สัญจรสะดวก 

สอง อยากให้เมืองไม่เงียบเหงาในยามดึก 

สาม อยากให้มีการอนุรักษ์ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม 

และ สี่ อยากให้เมืองของพวกเขาสวยงาม

หลังจากนำปัญหาเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและหนทางแก้ปัญหา ก็พบว่า ‘แสงไฟ’ อาจตอบโจทย์เหล่านี้ได้ 

ด้วยเหตุนี้ CEA จึงจับมือกับ LDT กลุ่มนักออกแบบแสงไฟ Urban Lighting มืออาชีพที่มีแนวคิดว่าแสงไฟทำได้มากกว่าให้แสงสว่าง แต่เป็นเครื่องมือพัฒนาเมืองได้ โดยสิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงในการติดตั้งไฟคือบริบทแวดล้อมของเมืองและวิถีชีวิตของชุมชน เพราะหากไม่ทำความเข้าใจเรื่องนี้ แสงไฟที่ติดตั้งจะไปกลบเสน่ห์ของเมือง แทนที่จะส่องความน่าสนใจให้โดดเด่นขึ้น 

จากความร่วมมือของ 3 ฝ่ายที่มีเป้าหนึ่งเดียว คือ พัฒนาเมืองสงขลา จึงเกิดเป็น The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการทดลองใช้แสงไฟเปลี่ยนชุมขน 

The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการแสงไฟในสงขลา ชวนคนออกมาชมเมืองเก่ายามค่ำคืน

เล่าเรื่องด้วยแสง 

นิทรรศการจัดแสดงแสงไฟด้วยกัน 3 จุด 

The Wall 1 : The Prime Light (An-nur อันนูร) จัดแสดงที่มัสยิดอุสาสนอิสลามหรือมัสยิดบ้านบน มัสยิดที่อยู่คู่เมืองมายาวนาน และเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับอิสลามได้อย่างลงตัว 

The Wall 2 : Moonlight Serenade หรือ ‘ลำนำแสงจันทร์’ จัดแสดงในซอยดอกพวงคราม ข้างห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงทองภาคใต้ เป็นซอยที่คนนิยมมาเชยชมดอกพวกครามและวิวทะเลสาบในตอนกลางวัน 

The Wall 3 : Tale of the Sea หรือ ‘นิทานแห่งท้องทะเล’ จัดแสดงในตรอกข้างร้าน The Apothecary of Singora (Apo Store) เป็นทางเท้าที่เชื่อมระหว่างนครในและนครนอก 

เหตุผลที่เลือก 3 จุดนี้ เพราะทุกจุดคือตำแหน่งที่เชื่อมต่อเมืองได้ เดินเท้าถึงกันได้ทั้งหมด และทุกจุดมีเรื่องราวที่น่าสนใจแตกต่างกันไป ทำให้การจัดแสดงแสงไฟในแต่ละจุดมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง 

สำหรับ The Wall 1 : The Prime Light (An-nur อันนูร) มีการหยิบยกบทโองการในคัมภีร์อัลกุรอานบทหนึ่งชื่อ อันนูร ซึ่งพูดถึงพระองค์อัลเลาะห์ผู้มีรัศมีเจิดจรัสมาเป็นคอนเซ็ปต์จัดแสดงแสงไฟ 

The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการแสงไฟในสงขลา ชวนคนออกมาชมเมืองเก่ายามค่ำคืน

หลังจากทดลองติดตั้งไฟไปหลายแห่ง สุดท้ายมีการติดไฟหลักบริเวณหออาซาน โดมมัสยิด และบ่อน้ำหน้าต้นไม้ใหญ่ เพราะเป็นตำแหน่งที่ทำให้โครงสร้างของตึกชัดเจนขึ้นยามกลางคืน เป็นที่สังเกตเห็นในระยะไกลขึ้น และสื่อสารถึงความสว่างไสวของพระอัลเลาะห์ได้อย่างเหมาะสม 

การติดตั้งแสงไฟทุกจุดเลือกใช้วิธีที่สร้างผลกระทบกับสถาปัตยกรรมเก่าแก่ให้น้อยที่สุด และทำให้แสงไฟกลืนไปกับตัวอาคารมากที่สุด 

แมร์-ดนัย โต๊ะเจ ผู้ประกอบการซึ่งสนใจศึกษาประวัติศาสตร์สงขลา เล่าให้ฟังถึงความประทับใจเมื่อเห็นไฟที่ติดตั้ง 

“ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเมืองสงขลาคือความเป็นพหุวัฒนธรรม มีคน 3 กลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาช้านาน ในเขตเมืองเก่ามีศาสนสถานของทั้ง 3 ศาสนาอยู่กลางเมือง ซึ่งมีไม่กี่ที่ที่จะมีลักษณะแบบนี้ ฉะนั้นสิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่เราเชิดชูให้เป็นสิ่งที่โดดเด่นของเมือง

“ตอนย้ายมาอยู่สงขลาใหม่ ๆ บ้านผมอยู่ตรงกลางเมืองพอดี ตื่นเช้ามาเห็นไฟส่องเจดีย์วัดสวยงาม แต่พอหันมาทางมัสยิด มืดจัง มองไม่เห็นความสวยงามเลย ทั้ง ๆ ที่เราพยายามเชิดชูทั้ง 3 ศาสนา 

“ผมเลยดีใจมากที่ทาง CEA และ LDT ให้ความสำคัญกับมัสยิด การติดตั้งไฟในครั้งนี้เป็นการเติมเต็มให้กับคนในชุมชน และเป็นการยกระดับความโดดเด่นให้กับคนทั้ง 3 ศาสนาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ เหมือนฝันเลยครับ” 

The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการแสงไฟในสงขลา ชวนคนออกมาชมเมืองเก่ายามค่ำคืน

เดินต่อไปจากมัสยิดไม่กี่นาที ก็มีเสียงดนตรีแจ๊สที่ดังมาจาก The Wall 2 : Moonlight Serenade ‘ลำนำแสงจันทร์’ วิวทะเลสาบและดอกพวกครามเป็นภาพความฝันในตอนกลางวันภายในซอยที่จะสลายลงเมื่อสิ้นแสงสุดท้าย การติดตั้งไฟในจุดนี้จึงตั้งใจบันดาลให้ทั้งต้นพวกคราม ทะเลสาบ และตัวอาคารกลายเป็นดินแดนแห่งความฝันใต้แสงจันทร์ในตอนกลางคืนด้วย 

The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการแสงไฟในสงขลา ชวนคนออกมาชมเมืองเก่ายามค่ำคืน

“เราเห็นอาคารต่าง ๆ ดูธรรมดา ไม่มีอะไร แต่พอเอาไฟส่อง มันสวยขึ้นมาโดยไม่ต้องมีลวดลายหวือหวาเลย” แมร์ชวนมองความงดงามชวนฝันของ ‘กำแพง’ ที่ใช้จัดแสดง ซึ่งตอนกลางวันเป็นบ้านและร้านอาหารธรรมดา 

นอกจากนี้ยังมีวงดนตรีทรีโอของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยมาบรรเลงดนตรีสด ตั้งแต่แนวสวิง จนถึงเพลงรองเง็งพื้นเมืองภาคใต้คลอไปกับแสงไฟ เป็นที่มาของเสียงเพลงที่มาก่อนแสงในตอนต้น 

“เห็นว่าดอกไม้กับพระจันทร์สวยดี เลยอยากเพิ่มความสดชื่นขึ้นไปอีกด้วยเสียงเพลง ก็เลยชวนน้อง ๆ เขามาเล่น” ดร.เจร สุวรรณชาต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ผู้ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์และผู้ที่ชวนนักดนตรีมาในคราวนี้กล่าว 

“ที่สำคัญคืออยากโชว์คนสงขลาด้วยว่า มีวงเล็ก ๆ น่ารัก ๆ อย่างนี้ในเมืองของเราด้วย” 

เดินถัดไปอีกไม่ไกล เราก็มาถึง Wall ที่ 3 : Tale of the Sea ‘นิทานแห่งท้องทะเล’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง เกาะหนูเกาะแมว ว่ากำเนิดจากแมว หนู และสุนัขที่แย่งลูกแก้วกัน จุดนี้ใช้ความสวยงามของไฟเชิญชวนให้คนเดินผ่านทางเท้าที่เชื่อมนครในและนครนอกได้อย่างแยบยล เพราะหลายคนลองเปลี่ยนเส้นทางสัญจรปกติของตน แล้วเดินผ่านตรอกนี้เพื่อถ่ายรูป ระหว่างเดินดูเรื่องราวของสัตว์ทั้ง 3 ที่กำลังไล่จับลูกแก้วในยามค่ำคืน 

The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการแสงไฟในสงขลา ชวนคนออกมาชมเมืองเก่ายามค่ำคืน

ปั้น-พิมพรรณ สังข์กรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนากลยุทธ์พื้นที่สร้างสรรค์จาก CEA ทิ้งท้ายว่า ความสวยงามทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น หากคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ 

“จริง ๆ โดยลำพัง CEA และ LDT เข้ามาก็แปลกแยก แต่คนในพื้นที่ให้ความร่วมมือดีมากตั้งแต่เริ่มติดตั้งแสงไฟ ช่วยหาอุปกรณ์บ้าง ทางมัสยิดเลี้ยงข้าวบ้าง แล้วก็แบ่งปันพื้นที่ให้จัดแสดงแสงไฟด้วย” 

การทำงานร่วมกันยังทำให้คนในพื้นที่รู้สึกมีส่วนร่วมกับโครงการ และรู้สึกว่าแสงไฟเป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง

The Wall at Songkhla 2022 นิทรรศการแสงไฟในสงขลา ชวนคนออกมาชมเมืองเก่ายามค่ำคืน

ก้าวต่อไปเพื่อแสงไฟของชุมชน 

นิทรรศการแสดงแสงไฟในครั้งนี้ถือเป็นการทดลองทำโปรเจกต์ใหม่ในเมืองเก่าสงขลา เป็นการเตรียมให้ชุมชนพร้อมสำหรับการพัฒนาในขั้นต่อไป และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ตาม หากอยากให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง การทำโครงการในอนาคตจะต้องคำนึงถึงการขยายสเกลงานให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น 

“เห็นไหมครับว่าถนนทั้งเส้นนี้ยังมืดอยู่ เราหวังว่าจะมีการติดตั้งไฟที่ไม่รบกวนสายตา ทั้งสว่าง และสวยให้กับถนนหลายเส้นในอนาคต” นี่คือสิ่งที่แมร์ต้องการจะเห็น เขาเข้าใจดีว่าการติดตั้งไฟเป็นงานละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา แต่ “เราก็ค่อย ๆ ทำไป ไม่จำเป็นต้องเสร็จวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้ ผมคิดว่าถ้าเริ่มทำก็ มีหลายคนที่ยินดีจะช่วย” 

อีกประการหนึ่งคือ หลังจากวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2565 แสงไฟที่ใช้แสดงจะถูกถอดออกทั้งหมด เหลือไว้เพียงบางจุดบริเวณมัสยิดเท่านั้นที่จะอยู่ต่อถาวร หากจะให้แสงไฟกลายเป็นของชุมชนจริง ๆ ในอนาคต ต้องคำนึงถึงวิธีการยืดระยะเวลาติดตั้งให้ยาวนานขึ้น ถ้าถาวรได้ยิ่งดี 

“ระยะที่ไฟติดตั้งมันสั้นเหลือเกิน เราอยากให้เกิดขึ้นในระยะยาว เป็นแสงไฟที่ทั้งให้ความสว่างและสีสันกับเมืองจริง ๆ” เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้ง a.e.y. Space พูดในฐานะคนสงขลาคนหนึ่ง 

“จากการที่ได้พูดคุยและขอความคิดเห็นจากชุมชน พบว่าคนสงขลาไม่ได้ต้องการสิ่งที่หวือหวา แต่ต้องการอะไรที่อยู่ได้นาน ใช้ได้จริงแล้วก็สวยงาม” 

ขณะนี้ข้อจำกัดหลักคือ ไฟที่นำมาติดตั้งใช้งบประมาณค่อนข้างสูง หมายความว่าหากอยากให้ไฟอยู่ต่อ ต้องระดมทุนสนับสนุนจากหลายภาคส่วน แต่ข่าวดีคือ เมื่อไม่นานมานี้มีโครงการหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำให้แสงไฟให้เป็นของชุมชนอย่างแท้จริงเป็นไปได้

วัดศิริวรรณาวาส นิทรรศการแสงไฟในย่านเมืองเก่าสงขลา ที่ไม่ได้แค่ทำให้เมืองสวยปลอดภัยยามค่ำ แต่ยังช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมสงขลามากขึ้น

 ทาง LDT ได้ไปออกแบบแสงไฟให้กับ วัดศิริวรรณาวาส วัดเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของจังหวัดสงขลา สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างไทย-จีน-โปรตุเกส และตั้งอยู่ใกล้ชิดชุมชนมุสลิม 

วัดศิริวรรณาวาส จึงถือเป็นสถานที่แรก นอกเหนือจาก The Wall ทั้งสาม ที่ LDT ออกแบบแสงไฟให้ โดยไฟทุกดวงถวายให้วัดติดตั้งถาวร 

วัดศิริวรรณาวาส นิทรรศการแสงไฟในย่านเมืองเก่าสงขลา ที่ไม่ได้แค่ทำให้เมืองสวยปลอดภัยยามค่ำ แต่ยังช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมสงขลามากขึ้น

ปู-เชนทร์ บุญญโส ผู้ร่วมบูรณะและดูแลวัดบอกว่า ตัวเขาและชาวบ้านดีใจมากที่มีการนำดวงไฟ ซึ่งออกแบบมาอย่างเข้าใจการใช้งานและเข้าใจประวัติศาสตร์ของวัดมาติดตั้ง เพราะช่วยดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมชมมากขึ้น แสงไฟที่นำมาจัดวางทำให้ตัวอาคารดูสวยขึ้นกล้องกว่าแต่ก่อน คนที่มาก็จะได้รูปสวย ๆ ไปแชร์ต่อ ทำให้วัดเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น สำคัญที่สุด แสงไฟทำให้วัดที่เขารักดูงดงาม และช่วยเสริมให้บรรยากาศศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ส่องสว่างให้ผู้มาเยี่ยมชมเห็นคุณค่าของวัดศิริวรรณาวาสในแง่มุมต่าง ๆ อย่างที่เขามองเห็น

โปรเจกต์แสงไฟเล็ก ๆ ในสงขลาเหล่านี้ดูเรียบง่าย แต่ก็ฉายให้เห็นความตั้งใจของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการพัฒนาเมืองเก่าอย่างยั่งยืน โดยเคารพประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมือง รับฟังความต้องการของชุมชน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และนักสร้างสรรค์เข้ามาเสริมการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทะนุถนอมเมืองเก่าที่รักให้สวยงามน่าอยู่สำหรับทุกคน

วัดศิริวรรณาวาส นิทรรศการแสงไฟในย่านเมืองเก่าสงขลา ที่ไม่ได้แค่ทำให้เมืองสวยปลอดภัยยามค่ำ แต่ยังช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมสงขลามากขึ้น

 

Writer

Avatar

จันท์จุฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

ตอนเป็นเด็กหญิงคิดว่าถ้ามีพลังวิเศษไม่ได้ก็ขอเขียน ถ้าเขียนไม่ได้ก็ขอร้องเพลง ปัจจุบันเป็นนางสาวนักฝึกฝนตนเองให้ไวต่อความจริงใจ เพราะดันไปแอบชอบพลังวิเศษชนิดนี้ในตัวคน

Photographer

Avatar

ไลลา ตาเฮ

อดีตนักเรียนออกแบบที่สนิทกับกล้องถ่ายรูปมากกว่าเมาส์ปากกา สบายใจกับการเดิน 10 กิโลมากกว่าการวิ่ง 100 เมตร และเป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับการอากาศร้อน