กระดานไวท์บอร์ดในห้องเรียนสี่เหลี่ยม อาคารชั้นเรียนแบ่งเป็นห้อง ๆ พร้อมป้ายกำกับเลขห้องแขวนอยู่เหนือประตู น่าจะเป็นภาพจำในวัยเรียนของใครหลาย ๆ คน

ต่อมาเมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ห้องเหล่านั้นอาจขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นห้องเลกเชอร์ที่มีโปรเจกเตอร์และเตาปิ้งแผ่นสไลด์ (เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ) แขวนอยู่จุดกึ่งกลางหน้าห้อง ในทางกลับกัน ห้องเรียนของใครอีกหลาย ๆ คนอาจไม่ได้มีผนังปูนกั้นแบ่ง ไม่ได้มีคาบเรียน แต่เป็นพื้นที่โล่งกว้างกลางแจ้งพร้อมผนังล่องหน ล้อมรอบด้วยรั้วต้นไม้ และมีเพดานเป็นท้องฟ้าขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา

ภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ แหวกกฎคำจำกัดความของรูปแบบสถาปัตยกรรมสถานศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับห้องสี่เหลี่ยม การสำเร็จการศึกษาไม่ได้ตีตราด้วยปริญญาบัตร การแสวงหาความรู้ไม่ได้อยู่เพียงในตำรา และการก้าวไปสู่พื้นฐานที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2548 กำกับโดย จิระ มะลิกุล ผู้กำกับที่มักถ่ายทอดแนวคิดผ่าน วัฒนธรรม ประเพณี วลี และประโยคเด็ดไว้ในผลงาน เช่น “เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” จากภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ใน พ.ศ. 2545

มหา’ลัย เหมืองแร่ คือหนังเรื่องถัดมาของเขา เนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากซีรีส์รวมเรื่องสั้น ‘เหมืองแร่’ จำนวน 142 ตอน ของศิลปินแห่งชาติ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ถ่ายทอดเรื่องราวและความทรงจำที่เขาหวงแหนจากประสบการณ์ชีวิต หลังพ้นจากสถานะนิสิต เพราะรีไทร์ออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ตอนปี 2

หลังจากนั้น ตามความตั้งใจของบิดา อาจินต์ในวัย 22 ปีลงทะเบียนเข้าไปทำงานกับบริษัท เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง (Krasom Tin Dredging) อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลกระโสม จังหวัดพังงา ระหว่าง พ.ศ. 2492 – 2496 เป็นเวลารวมเกือบ 4 ปีที่เขาอยู่ในห้องเรียนชีวิตแห่งนี้ 

Coming of Age ในวัย 22 ปีของคุณอาจินต์นั้นพลิกผันเป็นที่สุด จากชีวิตนิสิตที่ได้เที่ยวเตร่ในกรุงเทพฯ สู่มหาลัยในชนบท ทำงานกับบริษัทเหมืองแร่ ออกสำรวจพื้นที่ สอบปลายภาคได้เลื่อนขั้นไปทำงานบนเรือขุดแร่ดีบุก การทำงานแบบที่ไม่ใช่นั่งรถเมล์ไปเช้าเย็นกลับหรือในออฟฟิศติดแอร์ แต่คือการไปเข้าค่ายตากแดดตากฝนกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งในวันแรกต่างเป็นเพียงคนแปลกหน้า ‘ที่ฟังนิทานตอนเด็กกันมาคนละเรื่อง’ แต่หลังจากนั้นกลับค่อย ๆ กลายเปลี่ยนเป็นเพื่อนที่รู้ใจประหนึ่งคนในครอบครัว

สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม

ภาพยนตร์ไม่ได้ถ่ายทำที่เหมืองกระโสม ซึ่งเป็นสถานที่จริงตามเนื้อเรื่องในหนังสือ เนื่องจากกาลเวลาผ่านมาหลายสิบปี ตัวเหมืองปิดกิจการลง เรือขุด เครื่องจักร ถูกรื้อถอนแยกชิ้นส่วนขายเป็นเศษเหล็กไปหมดแล้ว หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมภูมิประเทศรอบ ๆ ก็เปลี่ยนตามกาลเวลา ทีมงานโปรดักชันนำโดย เอก เอี่ยมชื่น ไล่หาโลเคชันที่เหมาะสมตั้งแต่ภูเก็ตขึ้นมาถึงพังงา จนสรุปสุดท้ายได้ปักหลักที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

โจทย์ใหญ่ของทีมงานคือ ต้องสร้างฉากห้องเรียนขนาดใหญ่ของเหมืองกระโสมแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นฉากออฟฟิศของนายฝรั่งและพนักงานเสมียน บ้านพักของกรรมกรเหมือง กระท่อมเพิงพัก ร้านค้า ร้านกาแฟ และหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือเรือขุดดีบุกจำลอง ซึ่งความยากอีกอย่างหนึ่งคือ การถ่ายทอดจิตวิญญาณตัวอักษรในงานเขียนของคุณอาจินต์ออกมาผ่านฉากและถอดมิติที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะกลิ่นความเลอะเทอะของดินโคลน ความดิบชื้นของป่า ความสดชื่นของสายฝน ความร้อนอบอ้าว ความเหนียวเหนอะหนะของเหงื่อไคล ความแข็งแกร่งใหญ่โตของเรือขุด เป็นต้น

สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม

1
เปิดเทอม

ฉากโลเคชันของเหมืองกระโสมและเรือขุดดีบุกในภาพยนตร์ ถ่ายทอดเสียงเครื่องจักรกึกก้องออกไปหลายกิโลเมตร ราวกับกำลังแข่งกับความเงียบของเสียงนกและสายน้ำในหุบเขาแห่งนี้ ฉากเผยให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ กำแพงภูเขาที่ทอดยาวออกไปปกคลุมด้วยความทึบรก สีเขียวขจีของป่าไม้ ความหนักอึ้งของหินและแร่ธาตุใต้พื้นดิน ความชื้นและสายฝน ท้องถนนดินโคลน

เป็นที่รู้กันดีว่า ฝนปักษ์ใต้ตกติดต่อกันเป็นสิบ ๆ วัน ตกจน “ภูเขาเปียกจนละลาย ใบไม้โงหัวไม่ขึ้น” กลายเป็นหนึ่งบทเรียนในหนังที่สอนให้เราทำตัวเป็น “ลูกน้องของธรรมชาติ… เป็นคนของป่า เป็นลูกอ่อนของความหนาว และเป็นเพื่อนกับฝน”

นอกจากการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ บทท่อนหนึ่งในภาพยนตร์ได้สร้างคำจำกัดความของคำว่า ‘บ้าน’ ที่กว้างและลึกซึ้งอย่างมาก แต่ละห้องของบ้านขยายใหญ่และกระจายออกไปในละแวกชุมชน มากไปกว่านั้น ห้องเหล่านี้ยังปรับเปลี่ยนฟังก์ชันตามเข็มนาฬิกาที่เคลื่อนไป เป็นความสวยงามของบทที่สะท้อนการอยู่อาศัยในเหมืองแร่ได้เป็นอย่างดี

สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม
สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม

“บ้านพักของเราเป็นเพียงที่นอนสำหรับหลบฝน ห้องส้วมของเราก็อยู่ในพุ่มไม้ ห้องกินข้าวอยู่ที่หาบขนมจีน และห้องรับแขกนั้น เราก็จัดกันขึ้นอย่างฉลาด ในร้านกาแฟ มันคือสโมสร… มันคือโรงมหรสพ มันเหมือนกรมประชาสัมพันธ์… แล้วตอนนี้โรงกาแฟกำลังจะกลายเป็นศาลตัดสินคดี… ที่สำคัญ โรงกาแฟยังแปรสภาพกลายเป็นบ่อนการพนันได้ด้วย… และโรงกาแฟก็คือโรงพยาบาลรักษาประสาทอันเสื่อมโทรมด้วยโรคคิดถึงบ้านของผมแต่เพียงผู้เดียว”

ตามข้อความข้างต้นนี้ เราจะเห็นว่าจุดรวมของคนในชุมชนคือโรงกาแฟ ร้านค้าของโกต้อง ที่ผู้คนต่างมาซื้อของ บ้างสังสรรค์กินเหล้าสร้างความสุขหลังเลิกงาน บ้างมาเพื่อปรับทุกข์และย้อมใจ ร้านกาแฟกลายเป็นห้องนั่งเล่นของครอบครัวเหมืองแร่ ส่วนบ้านพักเป็นเพียงพื้นที่ส่วนตัวที่ใช้นอนหลับพักผ่อน

บ้านพักของอาจินต์เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหลังคาจั่ว มีบานหน้าต่างรอบตัวบ้าน หน้าทางเข้ามีชานระเบียง ส่วนห้องครัวแบบก่อเตาฟืนอยู่ด้านนอก ภายในห้องพักมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น หลัก ๆ มีเพียงเตียง หมอน มุ้ง และโคมไฟที่ไฟฟ้าจะตัดในเวลา 5 ทุ่ม

สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม

2
ปลายภาค

เรือขุดดีบุกเป็นห้องเรียนที่โหดที่สุดของคนเหมืองแร่ เคลื่อนตัวไปตามแหล่งแร่ดีบุกจากข้อมูลในแผนที่สำรวจ เป็นบททดสอบความอดทนและความแข็งแกร่งของคนงาน พวกเขาต้องอยู่บนเรือขุดแห่งนี้หลายชั่วโมง เพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักร เติมฟืนไฟให้หม้อไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า จนเรือขุดกลายเป็นสถานที่ที่ชาวเหมืองใช้ชีวิตอยู่มากกว่าที่อื่น ๆ

ในภาพยนตร์ เราจะเห็นฉากของเรือขุดในทุก ๆ ช่วงเวลาของวัน ตั้งแต่ช่วงเช้า กลางวัน เย็น ไปจนถึงกลางคืน ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า การทำงานบนเรือขุดกลายเป็นชีวิตของคนเหมืองแร่อย่างแท้จริง

ฉากเรือขุดแร่ออกแบบและสร้างขึ้นจากการปะติดปะต่อภาพถ่ายเก่า ๆ ในสมัยนั้น รวบรวมจากบริษัทเหมืองทั้งในจังหวัดภูเก็ตและพังงา เนื่องจากค้นหาแปลนต้นแบบของเรือขุดไม่ได้ นอกจากนี้ ภาพความทรงจำของคุณอาจินต์ที่ช่วยให้คำปรึกษากับทีมผู้สร้างภาพยนตร์ ก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการออกแบบบรรยากาศการทำงานบนเรือขุดลำนี้ออกมา

จากอินเทอร์เน็ต ภาพเรือขุดสีขาวดำ ไม่ว่าจะเป็นของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด หรือ บริษัท เรือขุดแร่จุติ จำกัด และภาพเรือขุดในพังงา พ.ศ. 2479 โดยช่างภาพชาวอเมริกัน Robert Larimore Pendleton ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบหลาย ๆ ส่วน ซึ่งนำมาใช้อ้างอิงในฉากภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี

สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม
ภาพเรือขุดแร่ (Mining Dredger) จ.พังงา ใน พ.ศ. 2479
ภาพ : Robert L. Pendleton Collection

นิยามของสถาปัตยกรรมแบบ Modernism แบบดิบ ๆ หรือที่เรียกว่า ‘Brutalism’ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่เหมาะสมสำหรับเรือขุดแร่ เมื่อฟังก์ชันการใช้งานเป็นตัวนำที่สำคัญกว่าหน้าตาและลักษณะภายนอก ความสมดุลของโครงสร้าง ขนาด น้ำหนัก และหน้าที่ของเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นเครนของถังสายพานลำเลียงและเครื่องบอยเลอร์ เป็นตัวแปรหลักที่กำหนดแปลนเรือและตำแหน่งการทำงานของคนงานอีกด้วย ส่วนรูปทรงของช่องเปิด ปล่องควัน รูปทรงหลังคาและผนังสังกะสี ต่างเป็นสิ่งที่เข้ามาสนับสนุนการใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และบำรุงรักษาเครื่องจักรเหล่านี้ เช่น การป้องกันฝนและการระบายความร้อน 

สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม
สถาปัตยกรรมใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่เกินกว่าผนังสี่เหลี่ยม

ฉากการทำงานบนเรือขุดแร่ เผยให้เห็นกลิ่นอายในยุคที่อุตสาหกรรมบานสะพรั่ง การทำงานเป็นระบบของมนุษย์และเครื่องจักร เครื่องยนต์ หัวเรือขุด ถังสายพาน และเครื่องบอยเลอร์ผลิตไฟฟ้า ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแรงงานและหยาดเหงื่อของเหล่ากรรมกรเหมือง แต่ละคนมีหน้าที่และตำแหน่งประจำ ไล่เรียงตั้งแต่นายฝรั่งเป็นผู้บริหาร เสมียนคุมออฟฟิศ วิศวกรควบคุมเครื่องกล ช่างเครื่องจักร คนคุมคนงาน คนเติมฟืนเชื้อเพลิง คนงานขนแร่ คนตัดไม้ คนสั่งวัสดุ กระทั่งช่างสำรวจแร่ ทุกคนต่างเป็นเหมือนสายพานชีวิตที่ทำงานต่อกันเป็นทอด ๆ ราวกับฟันเฟืองของเครื่องจักรอย่างไรอย่างนั้น

ในขณะเดียวกัน เครื่องจักรก็ทำงานของมันไป เสียงครืดคราดดังไปทั่วบริเวณ ความร้อนจากหม้อไอน้ำแผ่กระจายออกมา ควันโขมงพวยพุ่งขึ้นไปตามปล่องไฟ พร้อมกับเศษของขี้เถ้าที่ตกลงมาตามสายฝน ลำเลียงแร่ที่ขุดมาได้ผ่านถังสายพาน คัดแยกและส่งออกไปทางท้ายเรือ ส่วนแร่ที่ขุดหามาได้ก็กลายมาเป็นเงินค่าแรงที่เลี้ยงปากท้องของเหล่าคนงานเหมืองต่อไป เมื่อเรือขุดค่อย ๆ จมลง เป็นสัญญาณบอกว่าการย้ายตำแหน่งขุดหาแร่ใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว

3
จบการศึกษา

ภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ ย้ำเตือนให้เราเข้าใจว่า การศึกษาหาความรู้และประสบการณ์ในการใช้ชีวิตไม่ได้จบหลังจากได้รับปริญญาบัตร เพราะแท้จริงแล้วมันเพิ่งเริ่มต้น ในทางกลับกัน ปริญญาชีวิตมาจากการสั่งสมประสบการณ์ทำงาน ได้เจอเจ้านายที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่รู้ใจ เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดให้กันโดยตรงไม่ได้ ถ้าจะทำได้ก็เพียงบอกเล่าให้ฟังถึงความทรงจำดี ๆ เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม เราคงจะบังคับหรือปรับเปลี่ยนความคิดของผู้อื่นไม่ได้โดยง่าย เพราะแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์ชีวิตที่หวงแหนแตกต่างกันออกไป

ห้องเรียนของอาจินต์ในเหมืองจาก ‘มหา'ลัย เหมืองแร่’ กับสถาปัตยกรรมที่กว้างใหญ่เกินกว่าห้องสี่เหลี่ยมในตึก

อีกสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นคือ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของสถานศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดไว้ในห้องสี่เหลี่ยม คำถามคือ การออกแบบอาคารห้องเรียน การวางแปลนอาคาร การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ มีส่วนช่วยส่งเสริมหรือปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในมุมที่กว้างขึ้นได้หรือไม่ การทุบผนังปูนทึบของห้องพักครู แล้วแทนที่ด้วยกระจกใส จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงอาจารย์ผู้สอนและลูกศิษย์ได้หรือไม่

สำหรับผมเอง การเดินทางมาศึกษาและทำงานในประเทศเนเธอร์แลนด์ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี เป็นประสบการณ์ที่ยังไม่สิ้นสุดลง แต่ก็เผลอคิดไม่ได้ว่า เมื่อวันที่ต้องออกเดินทางมาถึงอีกครั้ง เราจะคิดถึงประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้มากแค่ไหน เราจะพูดอะไรในวันสุดท้ายของการทำงาน เราจะพูดประโยคไหนเพื่อบอกลาเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ให้โอกาสมาตลอด คงสรุปเป็นประโยคสั้น ๆ เหมือนในหนังที่ว่า “เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ”

Citation and Image References :

จิระ มะลิกุล (ผู้กำกับ). พ.ศ. 2548 . มหา’ลัย เหมืองแร่ (ภาพยนตร์). GTH

ภาพเรือขุดจาก collections.lib.uwm.edu

TK Reading Club ตอน เหมืองแร่

Raremeat Blog, มหา’ลัย เหมืองแร่

The standard.co, 14 ปี มหา’ลัย เหมืองแร่ “อาจินต์ เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ”

ลงดาบ, 16 ปี มหา’ลัยเหมืองแร่

Writer & Photographer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ