“Rock Step, Step, Step”
“Rock Step, Step, Step”
ระหว่างที่ดนตรีกำลังบรรเลงจากบนเวที เสียงพูดย้ำไปย้ำมาให้จังหวะเท้าก็คลอไปด้วย ผู้คนที่ยืนเฉย ๆ หันรีหันขวาง เริ่มลองย่ำตามที่นักดนตรีสอนอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป แต่ยิ่งท้องฟ้ามืดลงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทวีความดุเดือดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนความสนุกเมามันแผ่ไปทุกอณูอากาศของสถานีรถไฟสมัย ร.5
จากที่อยู่บ้านกักตัวกลัวโรคระบาด เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กลางปี 2022 คนก็ทะลักทลายออกมาเที่ยวเล่นตามอีเวนต์ต่าง ๆ รวมไปถึงการ ‘เต้นสวิง’ ที่จัดแล้วจัดอีก รู้ตัวอีกที นี่ก็กลายเป็นอีกกิจกรรมฮิตที่คนกรุงไม่อยากพลาด
สวิง ถือเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของชีวิตชีวาหลังโรคระบาด และมีส่วนร่วมในการทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง เงียบกริบไร้คนเดินถนน กลับมามีสีสันด้วยเสียงเพลง ผู้คนในเมืองได้มีปฏิสัมพันธ์กันทางร่างกาย ได้จับมือ หมุนตัวเต้นไปด้วยกัน แทนที่จะต้องมองตากันผ่านจอ
การเต้นประเภทนี้ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่หรือเพิ่งเข้าเมืองไทย แต่กระแสในคราวนี้แรงกระเทือนผู้คนวงกว้างจนยกให้เป็นกรณีศึกษาในหัวข้อเมืองได้ ยังไม่พอ กลุ่มผู้ขับเคลื่อนวงการสวิงยุคใหม่ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการทำให้สวิงแจ๊สกลายเป็นความสุขในชีวิตประจำวันของทุกคนในเมือง แนวคิดการโอบรับความหลากหลายของมนุษย์ ทั้งเพศ วัย และฐานะ รวมถึงมีความเห็นอย่างร้อนแรงในเรื่อง Public Space ที่เอื้อต่อการแสดงออกทางศิลปะด้วย
ในวันที่มีการเต้นสวิงกันในสถานีหัวลำโพง ภายใต้โครงการ ‘UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร’ เราขอเวลาช่วงหนึ่งหลังซาวนด์เช็กจาก The Stumbling Swingout และ Jelly Roll Dance Club มาพูดคุยกันในคอลัมน์เมียงเมือง
เต้นรำกับความหลากหลาย
‘The Stumbling Swingout’ เป็นวงดนตรีสวิงแจ๊สที่เริ่มจากกลุ่มนักเต้นมารวมตัวกันและตั้งใจจะสร้างประสบการณ์การเต้นที่ดีที่สุดผ่านดนตรี ส่วน ‘Jelly Roll Dance Club’ เป็นโรงเรียนสอนเต้นที่มุ่งสร้างนักเต้นขึ้นมาให้กับคอมมูนิตี้ และจัด Social Dancing ทุกสัปดาห์ สองกรุปนี้กึ่ง ๆ จะเป็นเนื้อเดียวกัน บางคนที่มาคุยกับเราวันนี้ก็อยู่แค่หนึ่ง แต่บางคนก็อยู่ทั้งสองที่
‘แจ๊ส’ นั้นเป็นแนวดนตรีที่แยกย่อยไปได้อีกหลายสไตล์ สไตล์ที่ The Stumbling Swingout เล่นเรียกว่า ‘สวิง’ ซึ่งค่อนข้างเรียบง่ายแต่สนุกสนาน ชวนให้ทุกคนขยับแข้งขา เรียกได้ว่าเป็น Pop Music ของยุค 1920 – 1940 ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะสหรัฐฯ ประเทศแถบยุโรป ไปจนถึงญี่ปุ่น
เป้าหมายหลักที่ The Stumbling Swingout ตั้งไว้ คือการกระจายสิ่งที่พวกเขาชอบไปในวงกว้าง เขาอยากทำให้ทุกคนเข้าถึงดนตรีแจ๊สได้ ทำให้คนรู้ว่าดนตรีแบบนี้ไม่ได้ฟังยาก ต้องนั่งตัวเกร็ง หรือต้องเป็นไฮโซโบใหญ่ถึงจะคู่ควร
“ไม่จำเป็นต้องเป็นวงป๊อป วงเมนสตรีม แต่วงแจ๊สอย่างเราก็เอนเตอร์เทนคนได้” สมภพ กุละปาลานนท์ พูดอย่างมั่นใจ เขาเป็นผู้ดูแลวง เป็นเจ้าของโรงเรียนเต้น และเป็นผู้ผลักดันวงการสวิงแจ๊สสำหรับนักเต้นในประเทศไทย “เราไม่ได้เป็นแค่ Musician แต่เราเป็น Entertainer เราถึงซ้อมกันหนักมาก”
“Count Basie เขาพูดไว้ว่า ถ้าเราเล่นดนตรีแล้วผู้คนไม่ขยับเท้าตาม เราจะเล่นไปเพื่ออะไร” สุ-สุไลมาน สวาเลห์ Frontman ของวงและเจ้าของโรงเรียนเต้นเอ่ยอย่างร่าเริง เขาคือคนที่ถือไมค์พูด “Rock Step, Step, Step” พาทุกคนในสถานีเต้นไปด้วยกัน
นอกจากนี้ พวกเขายังมีอีกเป้าหมายสำคัญที่กำลังมุ่งไป ในการผลักดันให้นักดนตรี-นักเต้นเป็นอาชีพหลักได้จริง ๆ เพราะในขณะที่ต่างประเทศ สองอย่างนี้ใช้หาเลี้ยงชีพได้ แต่ที่ไทยกลับเป็นแค่กึ่งงานอดิเรก จากที่เห็นว่าพวกเขาเองก็มีงานประจำทำต่างหาก
ช่วงยุค 1940s สวิงได้จางหายไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเทรนด์ทั่วโลกก็กลับมาอีกทีประมาณ 30 ปีที่แล้ว ราวช่วงปี 1980s บูมสุด ๆ ช่วง 1990s ค่อย ๆ ขยายมาเอเชีย และเดินทางมาถึงประเทศไทย เริ่มมีคนเต้นกันอยู่ที่ดาดฟ้าบ้านตัวเอง แล้วก็กลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งจัด Public Event ได้ราวปีละครั้ง โดยคนมาเข้าร่วมก็จะเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มอยู่แล้ว หรือไม่ก็ชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำการเต้นสวิงยุคใหม่เข้าไปในสังคมไทย
จากที่ 10 ปีก่อนนั้น สวิงในประเทศไทยต้องพึ่งพาวงต่างประเทศ นักเต้นต่างประเทศเยอะ มาคราวนี้ The Stumbling Swingout และ Jelly Roll Dance Club ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาด้วยตัวเอง
ในขณะที่วงตั้งมาได้ 5 ปีแล้ว Jelly Roll Dance Club เพิ่งเริ่มมาได้ 4 เดือน ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียนสอนเต้นสวิง แต่เป็นกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจจะสร้างวัฒนธรรมสวิงแจ๊สในไทยให้เข้ากับค่านิยมคนรุ่นใหม่ในสากลโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใส ความเท่าเทียม หรือความหลากหลายทางเพศ
วัฒนธรรมการเต้นสวิงสมัยก่อนนั้นมีความ Binary สูง แบ่งเป็นฝ่าย Ladies และ Gentlemen โดยบทบาทในการเต้น Leader ที่ต้องฟังดนตรีและส่งสัญญาณต้องเป็น Gentlemen ส่วน Follower ที่เป็นฝ่ายรับสัญญาณต้องเป็น Ladies ไปตามระเบียบ แต่ Jelly Roll ผลักดันให้ Gender Fluid มากขึ้น ใครจะนำใครจะตามก็ได้ เพศเดียวกันเต้นด้วยกันก็ได้ หรือหากอยากเปลี่ยนสลับบทบาทกลางเพลงขึ้นมาก็ได้เหมือนกัน ไม่ได้เป็นภาพที่แปลกอะไรเลย
“ตามประวัติศาสตร์มันมีการต่อสู้เพื่อที่จะดันศิลปะนี้ให้กลายเป็นของทุกคน” โอชิต-ชิษณพงศ์ ธนาธีรสวัสดิ์ เล่า เขาเป็นเจ้าของโรงเรียนผู้วางไดเรกชันของ Jelly Roll Dance Club และเป็นคนช่วยจัด Public Event อย่าง ‘เติ้ง ลี่ Swing’ ที่เยาวราช
โอชิตหมายถึงการที่แจ๊สมาจากคนผิวดำ แต่เมื่อคนขาวเริ่มสนใจบ้าง ก็ทำให้แต่ละบอลรูมมีการแบ่งแยกสีผิว เช่น บอลรูมนี้จ้างแค่นักดนตรีผิวขาว เข้าได้เฉพาะคนผิวขาว บอลรูมนี้จ้างแค่นักดนตรีผิวดำ เข้าได้เฉพาะคนผิวดำ เวลาถัดมาถึงมี Savoy Ballroom ที่แรกของโลกแบบไม่มีการแบ่งแยก – นั่นแหละคือจิตวิญญาณของการเต้นสวิง ซึ่งเป็นศิลปะสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
“Jelly Roll เองก็ยึดจิตวิญญาณนั้นเหมือนกัน ตอนนี้บริบทสังคมเปลี่ยนไป มีกลุ่ม Minority ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก เราก็ทำให้สวิงไปถึงคนเหล่านั้นด้วย อย่าง Non-binary เขาไม่ต้องลำบากใจ เพราะเราเปลี่ยน Lead และ Follow ให้เป็นแค่วิธีการเต้นเฉย ๆ” โอชิตพูด
“นี่เป็นครั้งแรกที่มีการสอนสลับบทบาทระหว่างการเต้น ไม่เคยมีคอร์สแบบนี้มาก่อน เราส่งเสริมให้ใครเป็นอะไรก็ได้จริง ๆ” เจ้าของโรงเรียนและครูสอนเต้น แพท-พิมพ์นรี ปิยะบุญสิทธิ เสริมขึ้น
พวกเขาตั้งใจทำให้คอมมูนิตี้สวิงในทศวรรษนี้ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำให้คนจากหลากหลายที่มาได้สนุก ได้เต้น ได้เล่น ทำอะไรบ้าบอร่วมกัน ตามท่อนเพลงที่ว่า “When I see your jelly roll. Then I lose all my self-control.” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Jelly Roll Dance Club
ที่ผ่านมาคนมักพูดเสมอว่าการเต้นสวิงเป็นกิจกรรมที่แพง แต่ Jelly Roll กำลังก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นโดยการเปิดทางเลือก สำหรับผู้ที่อยากเรียนเต้นสวิงฟรี ในกิจกรรม Public Event ที่พวกเขาจัดให้ผู้คนเข้าร่วมได้บ่อย ๆ
‘เมือง’ ไม่ได้หมายถึงแค่สถานที่ แต่รวมถึงผู้คนด้วย หากผู้คนในเมืองมีความรู้สึกว่าถูกนับรวม มีโอกาสได้มีส่วนร่วมเท่าไหร่ เมืองก็มีชีวิตชีวามากขึ้นเท่านั้น
สวิงแดนซ์ แมสได้แล้ว
Public Space มีได้ยัง?
จากที่การเต้นสวิงเป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม เหล่าคลื่นลูกใหม่ของวงการก็เริ่มนำเสนอสิ่งนี้ให้คนจำนวนมากขึ้น ๆ จนคนกรุงเทพฯ เริ่มรู้ว่านี่ไม่ใช่เพลงฟังยาก และเริ่มชินกับ Public Event ที่จัดบ่อย ๆ
“ตอนนั้นเป็นช่วงปลาย ๆ โควิด คนเขาอั้นนานแล้ว แล้วก็เปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. ด้วย มูฟเมนต์ของสังคมมันพลิกเลย บรรยากาศตอนนั้นทำให้ทุกคนกลายเป็น Active Citizen มากขึ้นเยอะ ทุกคนพร้อมใจกันออกจากบ้าน” ปอน-ลดา ภู่พัฒน์ นักร้องนำ-นักเต้น เล่าบ้าง
การเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะปลดล็อกให้เล่นดนตรีในที่สาธารณะได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่แทบจะตรงข้าม ครูแพทสอนเต้น ใช้คำว่า “อยู่ดี ๆ ความฝันมันก็ง่ายขึ้นเยอะ”
ในช่วงแรก ๆ ที่ อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ เรารู้สึกได้ว่าทาง กทม. ได้จัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะหลาย ๆ อย่างจนเป็นที่ฮือฮาไปทั่ว ทั้งเทศกาล ‘กรุงเทพฯ กลางแปลง’ ที่เดินสายฉายหนังตามย่านต่าง ๆ ทั้งเทศกาล ‘กีฬากรุงเทพ’ ที่มีทั้งแข่งชักเย่อ วิ่งเปี้ยว หมากกระดาน และ ‘งานดนตรีในสวน’ ที่ชาวสวิงแดนซ์รอคอย
วันที่จัดงานดนตรีในสวนครั้งแรกเมื่อกลางปี 2022 ที่ The Stumbling Swingout ได้ไปเล่นนั้น คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่กระหายดนตรีสดเพราะไม่ได้ฟังมานาน จากที่ทางวงเดาไว้ว่าคนจะมาไม่เกิน 400 คน กลับกลายเป็นเกิน 1,000 คน พอผู้ว่าฯ ชัชชาติขึ้นมาเต้นด้วย ก็ทำให้ข่าวงานวันนั้นไปไกลกว่าเดิมอีก และจากเดิมที่งานดนตรีในสวนเหมือนว่าจะมีการแสดงของไม่กี่วง หรือไม่กี่แนวเพลง ภาพจำของคนก็เริ่มเปลี่ยนไป
สิริรวมแล้ว The Stumbling Swingout ไปเล่นใน Public Event 5 ครั้งใน ปี 2022 และหากรวมปีนี้ไปด้วย ก็นับได้ 10 ครั้งแล้ว เลื่อนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กเจอโปสเตอร์งานเต้นสวิงกันไม่รู้คนละกี่รอบ เดี๋ยวเพื่อนคนนี้ก็ไปเต้น เดี๋ยวเพื่อนคนนั้นก็ไปจอย ดูเหมือนว่านี่จะกลายเป็นอีกกิจกรรมประจำของคนกรุงไปแล้ว
เมื่อการเต้นสวิงทำให้เราเห็นพลังในการรวมคน ก็พาให้เราเห็นศักยภาพในการจัดกิจกรรมนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ และเห็นศักยภาพของแต่ละพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อมกัน
“พื้นที่สาธารณะก็มีการใช้งานและผู้ใช้งานหลายประเภทได้ พื้นที่ที่มีมูลค่ามากไม่ควรถูกล็อกไว้ในมีฟังก์ชันเดียว” นักร้องนำผู้เป็นอดีตภูมิสถาปนิกให้ความเห็น
“เราคาดหวังว่าเจ้าของสถานที่หรือหน่วยงานรัฐที่บริหารพื้นที่ จะได้สัมผัสว่าเมื่อพื้นที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานจะเป็นยังไงบ้าง แล้วมันจะปลดล็อกในแง่ไหนได้บ้าง อาจจะจัดการให้พื้นที่มันสาธารณะมากขึ้น”
Public Space มีหลายแบบอย่างที่กล่าว ผู้คนที่หลากหลาย มีงานอดิเรก มีไลฟ์สไตล์ต่างกัน อาจฝันถึงพื้นที่คนละแบบ เมื่อถามทุกคนว่าในฐานะนักดนตรีและนักเต้นแล้วอยากได้แบบไหน พวกเขาก็ตอบว่าอยากได้พื้นที่ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ผลักดันให้ผู้คนอยากออกมาแสดงฝีมือ และทำให้ศิลปะเป็นสิ่งธรรมดาสอดแทรกในชีวิตประจำวันของคนทั่ว ๆ ไป ไม่หรูหราจนจับต้องไม่ได้
Public Space อาจไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง แต่อาจเป็นอาคารที่มีอยู่เดิม ซึ่งในประเทศไทยก็มีสถาปัตยกรรมเก่าสเปซดี ๆ ที่ยังแข็งแรงอยู่มากมาย หากมีโอกาสได้ปรับปรุงสักหน่อย เราอาจมีพื้นที่สาธารณะไว้ทำกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น
ถ้าใครได้ไปเห็นการทดลองใช้พื้นที่และสถาปัตยกรรมในประปาแม้นศรี เป็น Public Space ชั่วคราว เมื่องาน Bangkok Design Week 2023 ที่ผ่านมา คงจะพอนึกภาพออก
งาน ‘ลุมพินีสถาน : วัฒนธรรมบันเทิงยุค 50s – 60s’ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน มันทำให้เราเห็นว่า คนไม่ได้ต้องการแค่สวนสาธารณะ แต่เขาอยากได้พื้นที่สาธารณะแบบอื่น ๆ ที่ใช้เต้นได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงคุณป้าที่เต้นลีลาศ คนอายุน้อยที่เต้นสวิง (หรือแม้แต่ชาว Cover Dance เกาหลี-ญี่ปุ่น) ก็ต้องการพื้นที่ด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่างานในวันนั้นจะเป็นการเต้นข้างหน้าอาคาร เพราะสภาพด้านในยังไม่พร้อมรองรับก็ตาม
งานเต้นสวิงที่หัวลำโพงในครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เรา ผู้คนในฮอลล์ รวมไปถึงผู้มีอำนาจทั้งหลาย คงได้เห็นศักยภาพของสถาปัตยกรรมเก่ามากขึ้น เพราะได้สัมผัสประสบการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้มาก่อน
ปอนเห็นว่าปัญหาหนึ่งคือพื้นที่ศิลปะที่มีตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน และหากรัฐเป็นเจ้าของพื้นที่หรืออาคารเก่าสักอาคาร รัฐก็มักจะให้สัมปทานเอกชนไป สุดท้ายอาจกลายเป็นห้างสรรพสินค้า ทั้งที่สิ่งที่ควรทำคือบริหารจัดการพื้นที่เสียใหม่ ทำให้เป็น Public Space ที่คนเข้ามาใช้ได้
สำหรับเรา คำว่า ‘ใช้ได้’ นั้น หมายถึงใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องวิ่งวุ่นทำเรื่องทุกครั้ง ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าผู้มีอำนาจได้ตั้งกฎเกณฑ์ไว้แบบเต็มไปด้วยข้อแม้ จนทำให้ผู้คนขาดอิสระในการใช้พื้นที่ ซึ่งอาจเพราะเกรงว่าจะจัดการยาก หรือกลัวว่าคนที่มาใช้จะไม่ดูแลรักษาสถานที่
สุดท้ายแล้วก็อาจจะเป็นประเด็นหลักที่ผู้มีอำนาจต้องนำไปคิดต่อ ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่การค่อย ๆ ปลูกจิตสำนึกในการดูแลพื้นที่สาธารณะของผู้คน ไปถึงการหาจุดสมดุลที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์กว่าเดิม
“ถ้าเรามอง Value เป็นตัวเงิน ฟังก์ชันก็จะซ้ำ ๆ อยู่ที่การเป็นศูนย์การค้าหรือตลาดขายของเท่านั้นแหละ แต่ถ้าเรามองว่า Value คือการสร้างคนมีสุขภาพจิตดี มีพื้นที่แสดงความสามารถ เราจะลงทุนมันในอีกรูปแบบหนึ่ง นี่เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์”
เราต่างได้เห็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการแสดงออกทางศิลปะในต่างประเทศว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ในอนาคตจะได้เห็นแบบนั้นที่บ้านเราไหม นอกจากรัฐต้องตัดสินใจแล้ว Active Citizen ที่ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมตัวกันจัดงานสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสียงเรียกร้องสิ่งที่ประชาชนควรได้รับ ก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน
น่าดีใจที่ The Stumbling Swingout และ Jelly Roll Dance Club นักดนตรี-นักเต้นที่กำลังบูมยุคนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่ครุ่นคิดเรื่องสังคมไม่น้อย
สนุกไปไกลและไกลขึ้นอีก
“ผมว่ามันสำคัญมากเลยที่คนจะต้องออกจากบ้าน ในขณะที่ค่านิยมตอนนี้เราพยายามรวบรวมคนที่หลากหลายมากขึ้น ส่งเสริมให้ทุกคนเป็นตัวเองมากขึ้น เท่ากับว่าสังคมจะมีความแตกต่างสูงมาก การที่ให้คนออกมาเห็นความหลากหลายของคนอื่น ได้เรียนรู้กันและกัน ถึงเป็นสิ่งจำเป็น” โอชิตตอบเมื่อเราโยนคำถามกว้าง ๆ ไปว่า ทำไมถึงอยากให้คนออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน
พวกเขาเชื่อในบาลานซ์ของชีวิต อยู่บ้านสบาย ๆ ก็ดี แต่ออกจากบ้านมาเต้นก็ดีไม่แพ้กัน คุณอาจได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ได้ยิ้มให้คนแปลกหน้าที่อาจกลายเป็นเพื่อนในอนาคต ที่สำคัญ มันเป็นการ ‘Step outside your comfort zone’ อีกรูปแบบหนึ่ง
สเตปต่อไปของทั้ง 2 กรุป คือการทำให้สวิงเข้าไปอยู่ในใจคนวงกว้างมากขึ้น จากที่ทำให้เป็นมิตรต่อทุกเพศ ต่อไปก็ต้องเข้าถึงคนทุกวัย ตอนนี้ที่คนมาร่วมกิจกรรมส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ก็อยากให้คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย ได้เข้าร่วมอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกว่าแก่เกินเต้น
“เราอยากเป็นตัวแทนประเทศไทยไปทำความรู้จักกับตัวแทนประเทศต่าง ๆ ใน Southeast Asia ด้วย” เนะ-วรนัทธ์ ม่วงศิริ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวง The Stumbling Swingout ทิ้งท้าย ที่ผ่านมาวงต่างประเทศหลาย ๆ วงก็เคยถูกจ้างมาเล่นในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่มีวงสวิงแจ๊สไทยที่โด่งดังจนได้ไปเล่นให้นักเต้นในต่างประเทศได้ นี่คือสิ่งที่พวกเขาหวังว่าจะทำให้ได้ในอนาคตข้างหน้า
สำหรับเรื่องเต้น ที่ไทยจะเน้นความสนุกสุดเหวี่ยง ไม่เป๊ะเรื่องเทคนิค ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็มีสไตล์การเต้นที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไป คงสนุกดีถ้าเราได้ไปเล่นให้เขาบ้าง และเขามาเล่นให้เราเต้นบ่อยกว่าเดิมไปอีก นึกภาพ Public Space ดี ๆ ที่ใช้จัดอีเวนต์ไว้รอแล้ว