เรื่องเล่าก่อนมาเป็นบ้าน ‘The SOULITUDE’ ของ อิ๊บ-วิชภา และ เล็ก-ชาญชัย มีทองคลัง นั้นน่าสนใจมาก ทั้งเบื้องหลังการตัดสินใจก่อนเลือกอยู่ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และการได้รู้จักสถาปนิก ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ จนกลายมาเป็นผู้ออกแบบบ้านและแลนด์สเคปให้ 

ทุกวันนี้อิ๊บเป็นนักศิลปะบำบัด ผู้ออกแบบกระบวนการศิลปะมนุษยปรัชญาเพื่อพัฒนาตนเองและส่งเสริมสุขภาวะ ขณะที่เล็กมีอาชีพเป็นโค้ชพัฒนาศักยภาพและการงานแบบองค์รวม (Holistic Life, Career & Executive Coach – PCC Accredited) ที่เนื้อหาการงานสอดคล้องไปด้วยกันได้อย่างดี และทั้งคู่ยังช่วยทำกิจการของครอบครัวของอิ๊บที่กรุงเทพฯ ด้วย

อิ๊บเล่าว่าก่อนจะพาตัวเองมาอยู่ใกล้ชิดศิลปะและธรรมชาติอย่างนี้ เคยทุ่มเททำงานอย่างหนักจนป่วย และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนให้หันมาทำงานที่มีความสนใจอย่างแท้จริงเพื่อบาลานซ์ชีวิต ซึ่งแน่นอน ขณะดูแลรักษาตัว เล็กก็ได้ปรับการใช้ชีวิตไปด้วยและหันมาเรียนรู้การทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพมาเกือบ 20 ปีที่แล้ว

“ที่ต้องกลับมาดูแลร่างกายเพราะอิ๊บเจอว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่อายุยังไม่ 30 เราจึงหันกลับมาให้ความสนใจเรื่องร่างกายและเรื่องภายในจิตใจควบคู่กันไปด้วย จากตรงนั้นอิ๊บถึงค่อยมาเจอศิลปะบําบัด และเป็นช่วงที่พี่เล็กก็ได้เจอสิ่งที่ตัวเองสนใจ คือการโค้ชชิ่งซึ่งเกี่ยวกับงานเทรนนิ่งด้านจิตใจ”

“จริง ๆ ตอนนั้นผมตั้งใจให้อิ๊บไม่ต้องทํางานแล้ว รักษาตัวไปเลย” เล็กเสริม

อิ๊บจึงเริ่มหยิบแคนวาสมาวาดรูปซึ่งเป็นสิ่งที่เคยชอบตั้งแต่วัยเยาว์

“อิ๊บร้างราการวาดรูปมานานแล้ว ปรากฏว่าตอนที่ไม่สบาย อย่างแรกที่ทำเลยคือไปซื้อแคนวาสกับสีมาวาดรูป รูปแรกที่วาดคือดอกบัว แล้วก็เอาไปถวายวัดที่นับถือ”

จากนั้นเธอจึงสมัครเรียนคอร์สศิลปะบำบัดที่เชียงดาว ซึ่งเป็นคอร์สต่อเนื่อง 3 ปี 1 ปีเรียนต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ และครั้งนั้นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิต 

Design with Nature 

“เคยคุยกับพี่เล็กว่าอยากมีบ้านต่างจังหวัด แค่พูดกันไว้เฉย ๆ ไม่ได้คุยรายละเอียดหรอกค่ะว่าต้องเป็นที่ไหนยังไง เหมือนเป็นความฝัน พออายุเยอะเราก็ไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ เนอะ และหลายครั้งที่อิ๊บมาเรียน ช่วงวันท้าย ๆ ของการเรียน 3 สัปดาห์นั้น พี่เล็กจะตามมาเที่ยว มารับอิ๊บกลับ เราทั้งคู่เลยเริ่มคุ้นเคยกับเชียงดาว เช่ามอเตอร์ไซค์ขี่บ้าง เดินไปตลาดบ้าง”

“ช่วงหลัง ๆ ที่มา พอตื่นตอนเช้าก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปบนถนน ภาพที่ประทับใจคือมีพระเดินบิณฑบาต และอากาศก็ยังหนาว ๆ อยู่ อย่างตรงถนนหลักของเชียงดาวยังมีหมอกคลุม เราว่าภาพนี้เหมือนกับตอนที่เราเรียนแล้วครูเล่าว่าชีวิตต่างจังหวัดนั้นสงบเงียบ ซึ่งเราไม่คิดว่าจะมีจริง ปรากฏว่ามาเชียงดาวแล้วได้เห็นภาพนี้ในชีวิตจริง จึงประทับใจมาก จนอยู่มาวันหนึ่งอิ๊บบอกว่าจะซื้อที่ เราจึงไม่ค่อยปฏิเสธเท่าไหร่” เล็กเล่าเสริม

“เชื่อไหมคะ วันหนึ่งตอนที่อยู่เชียงดาว ใจบ้านสตูดิโอจัดเวิร์กช็อป ‘Design with Nature’ ซึ่งเราเห็นโฆษณาโดยบังเอิญ เราว่าแปลกดี เพิ่งเคยได้ยิน และด้วยความที่ตั้งแต่อิ๊บป่วย เราหันเข้าหาธรรมชาติกันมากขึ้นก็เลยยิ่งสนใจ” อิ๊บเล่า ก่อนที่เล็กจะเล่าต่อ

“พออิ๊บบอกผม ผมก็เห็นด้วยว่า งั้นเราไปหาความรู้กันมั้ยว่าถ้าจะสร้างบ้านควรเป็นบ้านแบบไหน ตรงไหนเป็นบ่อน้ำ ตรงไหนเลี้ยงสัตว์ เพราะเราไม่รู้เรื่องกันเลย ซึ่งเราอยู่เชียงดาวอยู่แล้ว และเขาก็มาจัดเวิร์กช็อปที่เชียงดาวด้วย ไม่ไปไม่ได้แล้วใช่ไหม” (หัวเราะ)

“แล้วก็ตั้งแต่ซื้อที่เลย ที่อิ๊บบอกว่าจะมีบ้านกับสตูดิโอด้วยนะ เราก็สนับสนุนไอเดียเขา ปกติงานของเรา 2 คนก็สนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่แล้ว เราทำงานเทรนนิ่งด้วยกันหลายโปรเจกต์ ดังนั้น ถ้าจะมีที่ของเราเป็นเทรนนิ่งก็ดีงามมากมาย”

ทั้งคู่ช่วยกันเล่าว่าการได้ไปเรียนกับใจบ้านสตูดิโอเป็นเหมือนการเปิดโลกใบใหม่ในด้านสถาปัตยกรรมที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

“อิ๊บว่าถ้าเรามีที่ดินอยู่กรุงเทพฯ เราคงไม่คิดเรื่องนี้ แต่สำหรับเชียงดาว มันเป็นเรื่องสำคัญว่าเราจะทำอย่างไรให้บ้านกลมกลืนกับสภาพพื้นที่ทั้งหมด อันนี้ก็ได้เรียนและคุยกับ พี่ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร แล้วถูกใจถูกคอกัน เรียนจบเลยตั้งใจให้ทางสตูดิโอออกแบบบ้านให้ 

“เราเล่าให้พี่ตี๋ฟังว่า การงานของเราคือทำเทรนนิ่ง ทำงานกับผู้คน กับการพัฒนาจิตใจคน เราอยากได้ทั้งส่วนที่เป็นบ้านและส่วนที่เป็นที่ทำงาน เพราะการงานเราหลัก ๆ เป็นฟรีแลนซ์และได้ไปทำงานตามที่ต่าง ๆ เราคิดว่าการมีสตูดิโอบนที่ดินของเราเองก็เป็นความมั่นคงในรูปแบบหนึ่ง เหมือนมีจุดศูนย์รวมอะไรบางอย่าง”

พื้นที่ราว 5 ไร่ออกแบบให้เป็นบ่อน้ำราว 1 ไร่ สวนป่า และอาคาร 2 หลังวางในพื้นที่เชื่อมต่อกัน คือส่วนของบ้านและสตูดิโอหรือพื้นที่เวิร์กช็อป มีศาลาริมน้ำ ถัดไปคือบ้านพักแขก 2 หลังที่รองรับได้ถึง 6 คน

กำแพงอิฐโค้งด้านหน้าถัดจากสเปซทางเข้ากว้างขวาง ให้ความรู้สึกโอบอุ้มตัวบ้านและพื้นที่ทำงานด้านใน ซึ่งอาคาร 2 หลังดูแยกจากกัน แต่ก็ยังเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างลงตัว 

“อาคารที่นี่เปิดโล่งหมดเลย เพราะเราชอบลมธรรมชาติ เวลาอยู่ก็ไม่ค่อยเปิดแอร์เท่าไร บ้านจึงถูกวางทิศทางให้ลมเข้าเยอะ ๆ มีหน้าต่างกว้างและเยอะอยู่ในหลายด้าน และนอกจากสตูดิโอซึ่งเป็น Learning Space ที่รับผู้คนได้เยอะแยะแล้ว ยังมีห้องเล็ก ๆ อีก 1 ห้องที่ออกแบบให้โค้งด้วย ซึ่งเป็นห้องเดี่ยวสำหรับการทำงานบำบัดหรือเทรนนิ่งส่วนตัว” อิ๊บบอก

บ้านขนมปัง 2 ก้อน

“เราตั้งชื่อบ้านกันเล่น ๆ ว่า บ้านขนมปัง 2 ก้อน” (ยิ้ม) อิ๊บพูดขึ้นเมื่อเราถามถึงทรงโค้งด้านบนของอาคารบ้านและสตูดิโอ

“อย่างที่บอกนะคะ ที่นี่เป็นทั้งบ้านและที่ทํางาน พอเรามีบ้านต่างจังหวัดและมีงานเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาจิตใจ เกี่ยวกับการกลับมาหาตัวเอง ตอนทำบ้านหลังนี้เราจึงไม่ได้คิดภาพให้เป็นบ้านอย่างเดียว พอได้ที่ดินก็เห็นภาพนี้แต่แรกเลย และด้วยความที่เป็นเชียงดาว เราคิดว่าการงานเราเชื่อมโยงกับพื้นที่ ทำอะไรต่อไปได้อีกเยอะ 

“อืม คือไม่ใช่เรามีบ้านแล้วจะมีความสุขส่วนตัว แต่เราว่าด้วยพลังของเรา ด้วยพลังของเพื่อน ๆ ที่อยู่ในแวดวงที่ทำงานแบบนี้ด้วยกัน การมีพื้นที่แบบนี้ทำให้ทำอะไรได้อีกเยอะมากบนผืนดินแห่งนี้ ซึ่งจะทำให้เราได้ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ และเกิดประโยชน์กับคนอื่น ๆ”

“นี่คือเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกเลย จึงทำเป็นบ้านและสตูดิโอที่ไม่ได้ทํางานศิลปะส่วนตัว แต่เป็นเหมือน Learning Space เพราะเราทํางานกับผู้คน เราทำงานด้านการพัฒนาคน ทำงานกับองค์กร ทํางานเรื่องการศึกษา ทํางานกับพ่อแม่เด็ก”

จากนั้นเล็กจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า “ในภาพใหญ่เราอยากให้คนมีความสุข แต่รูปแบบของความสุขมีหลากหลาย เราว่าการทำให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุดก็ทำให้เกิดความสุขขึ้นได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เวลาที่เขามีปัญหา เราโค้ชแล้วเขามีทางออก เราก็รู้สึกว่าเขาหายทุกข์แล้ว เดี๋ยวเขาจะไปเจอความสุข หรือของอิ๊บเป็นศิลปะบําบัด เวลาที่ทํา เขาก็ได้อะไรกลับไปจากการทำงานศิลปะนั้น”

“เรียกว่าโชคดีอย่างหนึ่งที่เราไปในทางเดียวกัน อย่างสไตล์การเทรนนิ่ง อิ๊บออกแบบคอร์สให้ให้เบลนด์กันได้ ให้มีโค้ชด้วยมีศิลปะบำบัดเข้าไปด้วย แล้วใจความหลักของทั้งศิลปะและโค้ชก็คือการช่วยคนอยู่แล้ว เราทั้งคู่รู้สึกว่าดีจังเลยนะที่เราชอบอะไรเหมือนกัน เวลาออกแบบคอร์สหรือบ้านก็เลยคล้อยตามและส่งเสริมกันไป

“ที่นี่เป็นทั้งบ้าน ทั้งงาน ทั้งชีวิต รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันจริง ๆ ที่กรุงเทพฯ เรามีอีกงาน คือต้องช่วยกิจการร้านขายยาของครอบครัว ซึ่งอยู่กับความอึกทึกครึกโครมและความวุ่นวายตลอดเวลา แต่กับที่นี่คือความสงบและอยู่กับธรรมชาติ

“ตอนที่อิ๊บสนใจศิลปะมนุษย์ปรัชญา เพราะมีคำหนึ่งที่โดนใจเรา เรียกเราให้มาเรียนแบบตัดสินใจกระโดดเข้าไปเลยนะ” อิ๊บกล่าว “เขาเขียนไว้ว่า เราจะระบายสีเหลืองแบบไหนให้ส่องสว่างเข้าไปในหัวใจได้ เราก็เกิดคำถามว่า แปลว่าอะไร ส่องสว่างเข้าไปในหัวใจเหรอ เหลืองก็คือเหลือง เหลืองตามปกติ เหลืองพระอาทิตย์ เหลืองทาบ้าน แต่เหลืองที่ส่องสว่างเข้าไปในใจคืออะไรล่ะ เราก็เลยเกิดความสนใจมาก”

ซึ่งสิ่งเหล่านี้อิ๊บและเล็กบอกว่า เมื่อได้เรียนรู้เรื่องราวการพัฒนาจิตใจและการอยู่กับตัวเอง รวมถึงความสนใจพุทธศาสนา ทำให้มองเห็นว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่มาก การได้อยู่กับธรรมชาติทำให้ทุกคนรับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของตัวเองในธรรมชาติ และเชื่อมโยงตัวเองกับจิตใจตนเองอย่างลึกซึ้ง ทั้งคู่จึงเลือกใช้วัสดุในการสร้างบ้านที่แสดงเนื้อแท้ออกมา ไม่ว่าจะเป็นไม้ อิฐแดง ปูน และต้นไม้รอบ ๆ ตัว รวมถึงสวนป่าแบบ Rewilding ซึ่ง ตี๋ ใจบ้าน มาออกแบบให้

“ทั้งหมดตรงศาลาท่าน้ำที่เป็นไม้ก็เป็นไม้จริง ถึงผู้รับเหมาจะบอกว่า 7 – 8 ปีไม้จะผุ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะสัมผัสของการได้เหยียบพื้นไม้จริงกับไม้เทียมไม่เหมือนกัน เราอยากให้คนได้มาสัมผัสผิวของไม้แท้ ๆ เพื่อให้เขาเปิดการรับรู้กับธรรมชาติ เวลาทําคอร์สพวกนี้ คนจะตระหนักได้มาก จึงง่ายมากที่จะรับรู้ แต่ถ้าคุณฟุ้งซ่าน คุณจะไม่เกิดความตระหนักรู้กับผิวสัมผัสธรรมชาติเหล่านี้ รู้ไม่ทันสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง”

ห้องแสงดาวนำทาง

“เอาจริงห้องนั้นดัดแปลงได้หลายแบบ เป็นห้องโค้ชชิ่งเดี่ยว ห้องบำบัดเดี่ยว ห้องทำสมาธิก็ได้ ส่วนสีในห้องนั้น ตอนแรกคุยกันนานเหมือนกันนะว่าจะเอาสีไหน ก็ตัดสินใจทำห้องที่เป็นสีคราม ให้ความรู้สึกสงบแต่ยังอุ่น ไม่ได้เย็นมาก สงบแบบมีความอุ่น มีพลัง ส่วนเฟอร์นิเจอร์พี่เล็กบอกขอสีที่ตัดกันหน่อยนะ อยากให้มีลูกเล่น” 

อิ๊บเล่าถึงห้องเล็กสีน้ำเงินทรงโค้งสอดคล้องกับกำแพงอิฐ แต่ลูกเล่นไม่ได้อยู่แค่เพียงสีสันของผนังและเก้าอี้เท่านั้น ใจบ้านสตูดิโอออกแบบช่องแสงให้เป็นของขวัญแก่ครอบครัวนี้ โดยให้มีช่องแสงบนปล่องเพดานที่วางเหลื่อมกัน เมื่อแสงธรรมชาติส่องมาจะเกิดเงาที่น่าประทับใจมาก

“ผู้ออกแบบทําไว้ว่าพอแสงส่องลงมาปุ๊บ จะส่องลงมาตรงผนัง ซึ่งปีหนึ่งมีแค่ 2 ครั้ง เขาออกแบบไว้เป็นกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย โดยคำนวณทิศทางองศาว่าตรงไหนมุมของแสงตกกระทบผนัง คำนวณให้เกิดกลุ่มดาวนั้น”

“คนเดินเรือจะอาศัยกลุ่มดาวแคสซิโอเปียในการหาดาวเหนือ ซึ่งดาวเหนือเป็นที่ที่บอกทิศทาง สถาปนิกบอกว่าการงานของเราคล้ายกับกลุ่มดาวนี้ ห้องนี้จึงเป็นห้องสําหรับนําทาง นำทางชีวิต”

แบ่งปันความสันโดษที่ไม่โดดเดี่ยว

ความที่อิ๊บเรียนจบมาจากคณะอักษรศาสตร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอจะนึกคำสนุก ๆ สื่อความหมายได้ดีอย่างคำว่า ‘The SOULITUDE’ ซึ่งมาจากการเล่นคำว่า Soul และ Solitude

“คิดตั้งแต่แรกว่าชื่ออะไรดีนะ อยู่ ๆ คำนี้ก็ลอยมาเอง เราทั้งคู่กับชอบคำนี้ แปลว่าปลีกวิเวก” อิ๊บย้อนความคิดให้ฟัง ขณะที่เล็กช่วยเสริมความหมายว่า

“ถ้าแปลเป็นภาษาไทยจริง ๆ แบบง่าย ๆ คือโดดเดี่ยวก็ได้ แต่ตีความหมายไปได้เลยว่าเป็นแง่บวกแน่นอน คือโดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ไม่เหงา อธิบายได้ว่าเราแยกตัวออกมา เราอยากอยู่เงียบ ๆ คนเดียวเพื่อที่จะคิดถึงตัวเอง อยู่กับตัวเองให้เกิดความตระหนักรู้ เพื่อให้เกิดภาพสะท้อนอะไรต่าง ๆ ในหนังสือต่างประเทศมีคำหนึ่งบอกไว้ว่า Solitude เป็นสิ่งที่ชีวิตกําลังรอคอยอยู่”

“ใช่ค่ะ เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับชีวิต”

อิ๊บเล่าถึงเวิร์กช็อปที่จัดขึ้นที่บ้านในช่วงลอยกระทงที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำศิลปะบำบัดและเทรนนิ่งกับกลุ่มเพื่อนรุ่นแม่ ซึ่งทุกคนเป็นนักธุรกิจใหญ่ ทำงานแทบตลอดเวลา แต่เมื่อได้มาพักที่ The Soulitude และทำกระบวนการทางศิลปะบำบัดและเทรนนิ่งท่ามกลางธรรมชาติ ทุกคนต่างมีความสุขและได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

“มันเป็นความตั้งใจของเรา เวลาที่เขามาเที่ยวบ้านเรา เราตั้งเป้ากันว่าจะต้องทําให้เขาหยุดคิด แล้วก็ช้าลง ให้ตรงกับคอนเซปต์ Soulitude ตามชื่อบ้าน พอวันที่เขาจะกลับ เราถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนบอกว่ามีความสุขมาก อย่างคุณน้าท่านหนึ่งที่เราสนิทด้วย เขาบอกว่าเขาได้ทำอะไรช้าลง ได้หยุดหยิบมือถือเพื่อเช็กงาน เขาได้โฟกัสกับกิจกรรม เขาบอกว่าเขาได้เห็นตัวเองว่าเขาช้าลงได้ ซึ่งเราก็เองก็ดีใจมาก

“เราตั้งใจให้บ้านนี้ไม่ใช่แค่บ้านของพวกเราอยู่แล้ว เรามองเห็นภาพผู้คนที่จะแวะเวียนเข้ามาเพื่อมาดูแลตัวเองจริง ๆ ภาพที่เกิดขึ้นคือหลัก ๆ คนวัยทํางาน วัยสูงอายุ เข้ามาใช้พื้นที่เป็นพื้นที่ที่เข้ามาแล้วได้พัก ได้มาสงบ ไม่ได้อึกทึกครึกโครมหรือครื้นเครงขนาดนั้น”

บ้านที่พร้อมจะอยู่ด้วยกันไปจนแก่เฒ่า

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากเมื่อเราถามทั้ง 2 คนว่า ตอนทำบ้านนี้คิดถึงลูกชายด้วยไหม (ตอนนี้เรียนอยู่ที่อินเดีย เทียบระดับชั้นคือ ม.5) 

“คิดถึงสิ่งที่เราชอบและสร้างขึ้นมาก่อนครับ แต่พอดีว่าเป็นธรรมชาติ ซึ่งผมเชื่อว่าในรุ่นลูกผม (อาเซิน) ธรรมชาติเป็นของสําคัญแน่ ๆ เราไม่ได้ไปลงทุนในคอนโดหรือสร้างตึก เพราะฉะนั้น เลยไม่ได้กังวลว่าพ่อหรือแม่ทำสิ่งนี้เพื่อให้เขา แต่เขาก็เลือกได้ว่าจะยังไง เราไม่ได้กะเกณฑ์อะไรกับลูก ให้อิสระเขามากกว่า”

“ส่วนใหญ่เรามาที่นี่ บางคืนก็มานั่งที่ศาลาคุยกันบ้าง หรือนั่งเงียบ ๆ นิ่ง ๆ ในธรรมชาติบ้าง เป็นช่วงเวลาที่ได้พักผ่อน ได้อยู่แบบ Soulitude จริง ๆ”

ทุกวันนี้ทั้งคู่ยังช่วยกิจการครอบครัวอิ๊บอยู่ด้วย แต่จัดสรรเวลาได้ขึ้นมาเชียงดาวอยู่เนือง ๆ

“เพื่อนหลายคนถามว่า เราเอาพลังมาจากไหน เพราะพวกเราขึ้น ๆ ลง ๆ กรุงเทพฯ – เชียงดาว ไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว บางเดือน 1 ครั้ง บางเดือน 2 ครั้ง เราต้องแบ่งเวลา ถามว่าเป็นช่วงปีที่เราวิ่งเยอะเหมือนกันนะในการสร้างหรือทําอะไรที่ใช้กําลังมหาศาล ทั้งกําลังกาย กําลังทรัพย์ และอีกหลายอย่าง

“แต่ถามว่าทำได้ยังไง ทําไม 2 คนนี้ไม่เหนื่อยตายซะก่อน (หัวเราะ) เวลาเราอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นครอบครัวใหญ่ แต่ที่นี่คือพื้นที่ของเรา 2 คนจริง ๆ พื้นที่อิสระที่อยากทำบ้านในแบบที่ต้องการ ให้เป็นที่ทำงานในแบบที่พวกเราส่งมอบอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าในแบบที่พวกเราได้เรียนรู้ ได้รับมา 

“ที่นี่คือพื้นที่ครอบครัวที่เป็นพ่อแม่ลูก นี่แหละค่ะที่ทำให้เรายังมีแรงอยู่ มีพลังในการเดินทาง ไม่นั่งรถทัวร์ก็นั่งรถไฟหรือไม่ก็ขับรถ“

แล้วบ้านหลังนี้มีผลกับการงานไหม – เราถามทั้งคู่ 

“บ้านนี้ทำให้เห็นอารมณ์ตัวเองง่ายขึ้น พอเห็นอารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้นแล้ว เวลาทํางาน ถ้าเกิดหงุดหงิดปุ๊บ ก็จะรู้ได้เร็วว่าเราหงุดหงิดนะ มาที่นี่เหมือนเราได้รีชาร์จตัวเอง” เล็กตอบ

“ใช่ค่ะ เราทำพื้นที่นี้เพื่อคนอื่นด้วย แต่ก็ต้องไม่ลืมทำเพื่อตัวเราด้วย ความเป็นบ้านเติมพลังให้กับอิ๊บและพี่เล็กเสมอ คือทุกครั้งที่มาไม่ว่าช่วงสั้นจะยาว มีเวลาน้อยแค่ไหน ก็ต้องขอเวลาที่จะแบบได้รีชาร์จตัวเอง“ทุกครั้งเวลาเข้าเขตเชียงใหม่ เรารู้สึกว่าเหมือนได้กลับมาบ้านแล้ว” อิ๊บพูดพร้อมหันไปมองเล็ก
“บ้านหลังนี้คือที่ที่เรารู้สึกว่าจะอยู่ด้วยกันไปจนแก่เลย”

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ