สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคยมีชายแก่ปริศนาเดินเข้ามาทัก ป๋อง-กพล ทองพลับ ซึ่งกำลังเตะบอลโกลรูหนูกับเพื่อนว่า ต่อไปเขาจะต้องเกี่ยวข้องกับโลกของวิญญาณ

วันนั้นป๋องได้แต่หัวเราะ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนกลัวผีที่สุดในโลก

ใครจะเชื่อว่าไม่กี่ปีต่อมา คำทำนายนี้กลับเป็นจริง

ป๋อง-กพล ทองพลับ

ชื่อของเขากลายเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงเมื่อพูดถึงเรื่องผี โดยเฉพาะ The Shock รายการวิทยุเล็กๆ ที่เขาบุกเบิกขึ้นตั้งแต่ 26 ปีก่อน ยังคงยืนหนึ่งในใจแฟนๆ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ละคืนมีผู้ฟังทางบ้านหลายสิบคนโทรศัพท์เข้ามาถ่ายทอดเรื่องเล่าสยองขวัญอย่างต่อเนื่อง บางเรื่องอย่างผีช่องแอร์ หรือยายสปีด ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย

เช่นเดียวกับกิจกรรมเดินสายสำรวจสถานที่สุดหลอนที่ขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยน ทั้งบ้านร้าง โรงงานเก่า สุสาน ป่าช้า ซึ่งเขาเป็นคนจุดประกาย ก็กลายเป็นกระแสโด่งดังในหมู่วัยรุ่นใจกล้าที่ต้องการท้าความกลัว

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับกูรูเรื่องผีแห่งยุค ผู้ทำให้โลกลี้ลับใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

ป๋อง-กพล ทองพลับ

01

ย้อนตำนาน..เส้นทางผี

…ข้าอยากได้เลือด เลือดดดด เลื้อดดดดด…”

เสียงร้องหวยโหยในเพลง ปอบผีฟ้า คือสัญญาณการเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งความสยองขวัญ คนนอนดึกทั่วกรุง ต่างคลุมโปงเปิด FM96 Smile Radio 1 รอฟังประสบการณ์หลอนจากทางบ้านด้วยใจระทึก

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2536 ดีเจช่วงไพรม์ไทม์อย่าง ป๋อง กพล ได้รับโจทย์จากผู้จัดการคลื่นวิทยุให้คิดรูปแบบรายการที่เหมาะกับเวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 ครั้งแรกเขาคิดถึงเรื่องทะลึ่งตึงตัง แต่เรื่องพวกนี้เป็นของแสลงของวงการวิทยุ โดยเฉพาะยุคที่ กบว. ยังเข้มงวดมากๆ จึงเบนเข็มไปยังเรื่องผีสางและสิ่งเร้นลับแทน

ป๋อง-กพล ทองพลับ

ป๋องรู้ดีว่าคนไทยกับเรื่องผีเป็นของคู่กัน ต่อให้น่ากลัวแค่ไหนก็ยังชอบเสพชอบฟัง หนึ่งในนั้นคือตัวเขาเอง ซึ่งกลัวผีมาตั้งแต่จำความได้ แต่กลับไม่เคยพลาดชมละครเขย่าขวัญอย่าง กระสือ หรือ ปอบผีฟ้า เลยสักครั้ง หรือเวลาเพื่อนๆ ล้อมวงเล่าเรื่องผี ก็มักเห็นป๋องแทรกตัวเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกอยู่เสมอ

“ผมเชื่อเรื่องผีมาตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่ได้เชื่อแบบซ้ายสุดหรือขวาสุด เชื่อแบบอยู่ตรงกลาง เพราะเราเติบโตมากับครอบครัวคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ พ่อแม่เป็นคนต่างจังหวัด เวลาปิดเทอมก็จะถูกส่งไปอยู่กับปู่ย่าตายาย จึงซึมซับวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งมีความเชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และส่วนตัวก็สัมผัสกับเรื่องลี้ลับมาตลอด คือไม่ได้เจอแบบมานั่งคุยหรือนั่งแหกอกนะ แต่เรารู้สึกได้ว่าเหตุการณ์ ณ วันนั้นมันไม่ปกติ ไม่ใช่สิ่งที่คิดไปเอง”

อีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะช่วงนั้นบนหน้าปัดวิทยุแทบไม่หลงเหลือรายการเล่าเรื่องผีเลย หลังหมดยุค ดึกๆ หมึกสีม่วง ของ อ๊อด-จักรกฤษ ศิลปชัย จึงถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะสร้างรายการผีตามสไตล์ตัวเอง

The Shock ออนแอร์ครั้งแรกในชื่อ Smile Shock รูปแบบเหมือนรายการเพลงทั่วไป ยกเว้นชั่วโมงที่ 2 มีการเปิดสายให้ทางบ้านเข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์หลอน โดยทุกครั้งก่อนเริ่มรายการ เขาจะเล่นเพลง ปอบผีฟ้า เวอร์ชัน ประภาศรี ศรีคำภา นำร่อง รวมทั้งใช้ซาวนด์ฝนตก ฟ้าร้อง หมาหอนสร้างบรรยากาศ และเชิญชวนให้ผู้ฟังดับไฟ หรือจุดเทียน 1 เล่มเพื่อเพิ่มอรรถรสการฟังให้น่ากลัวยิ่งขึ้น

เรื่องที่เล่าจะเน้นไปที่ประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นหลัก โดยป๋องพยายามสร้างอารมณ์ให้เหมือนมานั่งคุยกัน ไม่มีการจับผิด หรือแสดงอาการว่าไม่เชื่อ แต่จะพยายามเสริมและคอยสรุปเป็นระยะ เพื่อให้ผู้เล่ามีสมาธิ ควบคุมทิศทางของเรื่องได้ รวมทั้งยังช่วยทำให้ผู้ฟังทางบ้านเห็นภาพตามไปด้วย

The Shock จากรายการวิทยุเล็กๆ สู่รายการกูรูเรื่องผีแห่งยุคที่ทำให้คนนอนดึกทั่วกรุงคลุมโปงรอฟัง

“ส่วนตัวแล้วเป็นคนเปิดใจ พอมีคนโทรเข้ามา ใจเราเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะถ้าไม่เชื่อเราจะมีกำแพง แล้วฟังไม่สนุกเลย ผมไม่เคยสนใจด้วยซ้ำว่าเรื่องที่เล่านั้นจริงหรือไม่ ก็เหมือนเราเข้าไปดูหนังผีในโรง แต่นี่คือคุณนั่งฟังเรื่องผีอยู่ที่บ้าน เราจึงสนุกไปกับจินตนาการ สนุกไปกับเรื่องเล่า แต่ถ้าเรื่องไหนสวิงสวายหรืออัศจรรย์พันลึกมากๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าสนุกก็โอเค เหมือนดูหนังที่มันโอเวอร์แอคติ้งมากๆ เท่านั้นเอง

“แน่นอนว่าคนที่โทรศัพท์เข้ามามีทั้งเล่าดีบ้าง เล่าไม่รู้เรื่องบ้าง คละกันไป แต่เราก็ต้องพยายามคอนโทรลให้อยู่บนเส้นทางของเราให้ได้ เพราะความจริงแล้วเราทำหน้าที่เหมือนเป็นเทรนเนอร์มากกว่า เป็นเทรนเนอร์ที่บอกให้คนเล่าเรื่อง สู้นะ ลุยซิ เพื่อให้เขาวิ่งเข้าเส้นชัยไปพร้อมกับเรา

“แต่ยุคนั้นก็ไม่ได้มีแค่เรื่องน่ากลัวเท่านั้น เพราะแต่ก่อนดีเจไม่มีผู้ช่วย ต้องทำเองทุกอย่าง การสกรีนเรื่องก็ไม่มี เลยเจอเรื่องแปลกๆ อย่างผีแกงกะหรี่ไก่ ผีปลาช่อน ผีหมาดำ ผีโดราเอมอน ผีหมาดำคือโทรมาเล่าว่า ขับรถไปตอนกลางคืนแล้วมีผีหมาดำวิ่งตัดหน้า แล้วก็วางหูไปเลย ผีแกงกะหรี่ไก่คือพ่อแม่ไปงานศพ กลัวลูกจะหิวก็เลยแขวนแกงกะหรี่ไก่ไว้หน้าบ้าน เคาะเรียกลูกแล้วถุงตกลงมาแตก แกงกะหรี่ไก่ไหลเข้าบ้าน ลูกนึกว่าน้ำเหลือง เปิดมาเป็นแกงกะหรี่ไก่”

หลังออกอากาศได้ไม่นาน Smile Shock ก็กลายเป็นรายการยอดนิยมของคลื่น มีแฟนประจำเหนียวแน่น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น แต่ละคืนมีสายโทรศัพท์เข้ามาเล่าเรื่องไม่ขาดสาย บางคนเขียนจดหมายถ่ายทอดประสบการณ์ ส่งภาพถ่ายปริศนาที่ต้องสงสัยว่าอาจถ่ายติดวิญญาณ 

แต่สิ่งที่ทำให้รายการฉีกแนวและโดดเด่นกว่าใคร คือการเดินสายสำรวจบ้านผี

ช่วงแรกเขาใช้วิธีดึงเพื่อนดีเจไปร่วมทดสอบความกล้าตามสถานที่ต่างๆ ที่คนว่าเฮี้ยน เช่น สุสานวัดดอน บ้านร้างซอยรามคำแหง หรือหมู่บ้านอาถรรพ์ย่านวัชรพล แล้วก็โทรศัพท์กลับมารายงานความคืบหน้า มาตอนหลังที่เพื่อนๆ เริ่มไม่ว่าง จึงดึงตัวช่างประจำสถานีนาม โก้พริ้ว-วิวัฒน์ บุญญาภรณ์พิทยา เข้ามาเสริม ทำให้การรายงานมีสีสันและน่าติดตามมากขึ้น ซึ่งต่อมาโก้พริ้วผู้นี้ก็กลายมาเป็นบัดดี้ประจำตัวป๋องและ The Shock ถึงปัจจุบัน

“ถ้าให้ผมไปเอง ผมไม่ไปหรอก น่ากลัวจะตาย อยู่สถานีดีกว่า แล้วตอนนั้นเราเห็นโก้พริ้วมันเดินผ่านไปผ่านมา ก็รู้สึกว่าไอ้นี่ดูลูกทุ่งดี เวลาคุยแล้วดูจริงใจ เราเองก็อยากได้รายงานที่ดูจริงใจ เพราะทำรายการแบบนี้ เรารู้สึกว่าเสียงที่มันออกไปต้องทำให้คนฟังรู้สึกได้ว่ามันรู้สึกจริงว่ามันกลัวจริง ซึ่งโก้พริ้วมีตรงนี้อยู่ เลยทำให้คนฟังรู้สึกสนุกไปด้วยกัน

The Shock จากรายการวิทยุเล็กๆ สู่รายการกูรูเรื่องผีแห่งยุคที่ทำให้คนนอนดึกทั่วกรุงคลุมโปงรอฟัง

“พอทำไปสักระยะ เราก็รู้สึกว่าถ้าไปกันเองคนฟังจะหาว่าไปไม่จริง ก็เลยมานั่งคิดว่าชวนคนฟังไปด้วยดีกว่า พอประกาศก็มีคนสมัครเข้ามาเป็นพัน แต่เรารับได้แค่สี่ถึงห้าคน เพราะรถตู้คันหนึ่งนั่งได้แค่สิบคน จะขนรถบัสไปก็ไม่ไหว ไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้ใคร เลยเอาเฉพาะคนที่เป็นตัวแทน แต่ก็มีบางคนที่สมัครไม่ได้แล้วไปกันเอง ซึ่งเราไม่ส่งเสริมนะ เพราะหลายที่ค่อนข้างอันตราย อาจมีมิจฉาชีพแฝงอยู่ และปกติถ้าไปกับเราเราประสานกับเจ้าหน้าที่ตลอด หากเกิดเหตุอะไรขึ้นจะได้รู้ว่าอยู่ตรงไหน”

หลังออกอากาศได้ราว 2 ปีกว่าก็เกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน Smile Radio ป๋องจึงโยกย้ายรายการไปออกอากาศทาง Boom Radio ในเครือ Media of Medias ที่คลื่น FM 90 แทน พร้อมเปลี่ยนชื่อรายการเป็น Nighty Shock

ยุค Boom Radio ถือเป็นยุคทองของรายการผีอย่างแท้จริง

“ยุคนู้นใครจะฟัง Nighty Shock บางทีต้องรวมตัวเป็นทีม เพราะสมัยก่อนไม่มีฟังแห้ง ถ้าจะฟังย้อนหลังต้องใช้วิธีอัดเทป คือถ้าคนแรกจะฟัง คนอื่นก็จะไปนอนก่อน ถ้าง่วงก็จะไปปลุกคนที่เหลือให้มาอัดต่อ”

หากถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้รายการนี้ดังขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะกระแสความนิยมรายการผีเริ่มกลับมามากขึ้น ผ่านรายการโทรทัศน์ เช่น ชมรมขนหัวลุก เขย่าขวัญวันพุธ แต่อีกส่วนก็คงเป็นเพราะเรื่องที่เล่าในรายการน่ากลัวขึ้น อย่างสาวชุดดำ เรื่องเล่าคลาสสิกของสาวสองพี่น้องที่โบกเรียกแท็กซี่จากหน้าสถานบันเทิงให้ไปส่งหน้าวัดดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และก่อนวกรถกลับ พบพวกเธอในสภาพตัวขาดครึ่งเนื่องจากรถไฟทับ ก็เกิดขึ้นที่นี่

ในยุค Nighty Shock ก่อนออกอากาศจะมีทีมงานเข้ามาช่วยคัดกรองเรื่องคร่าวๆ ก่อน จึงมั่นใจได้ว่าสายที่เข้าหน้าไมค์จะเล่าเรื่องผีแน่นอน และเรื่องนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ป๋องให้ความสำคัญสูงสุด ที่สำคัญ วิธีนี้ยังช่วยละลายพฤติกรรมและลดความประหม่าของผู้ถ่ายทอด เวลาเล่าจริงๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เขายังเสริมความน่าสนใจของรายการ ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์รอบเที่ยงคืน หรือเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งของสถานีจัดแสดงภาพผี รวมถึงปั๊มเทปผีรวมเรื่องสยองขวัญ จัดพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ก 90 Shock โดยสำนักพิมพ์หมึกจีน ผลิตรายการ Night Shock ออกอากาศทาง ททบ.5 และร่วมแสดงในภาพยนตร์ ไนน์ตี้ช็อคเตลิดเปิดโลง เมื่อ พ.ศ. 2540 ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม

“สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมาก เพราะแทนที่จะเป็นรายการส่งให้คุณเข้านอน กลับเป็นรายการที่ไม่อยากให้คุณนอน จำได้ว่าเราจัดรายการกันที่ลาดพร้าว 101 ทุกคืนจะมีคนแห่มาดูเราจัดรายการคืนหนึ่งเป็นพัน แล้วตอนนั้นที่สถานีเป็นตัวอาคารสองชั้น ข้างล่างเป็นสตูดิโอ ข้างบนเป็นห้องจัดรายการ ข้างบนเราก็เอาภาพผีซึ่งยุคนั้นยังเป็นฟิล์มมาใส่กรอบแล้วให้แฟนรายการที่สนใจหรือไม่ได้ไปเดินสายได้ชม

“เช่นเดียวกับการฉายหนังรอบดึก เราก็เป็นเจ้าแรกที่ทำ เพราะมันสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะไม่มีคนมาดูมาก แต่ด้วยความที่รายการเราพีคมาก ปรากฏว่าคนมากันแบบมืดฟ้ามัวดินจนเต็มโรง ต้องลงไปกราบขอโทษ เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าจะมากันเยอะขนาดนี้ เลยไม่ได้ใช้วิธีสำรองที่นั่งไว้ก่อน” ป๋องสรุปความนิยมของรายการยุคนั้น

02

พลังผีคุ้มครอง

แต่ถึงรายการจะยอดฮิตมีแฟนคลับเหนียวแน่น ทว่าเส้นทางของ The Shock กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ป๋องเปรียบตัวเองเหมือนนักฟุตบอลพเนจรที่ย้ายสโมสรตลอด เพราะหลังอยู่ Boom Radio ได้ 2 ปีกว่าคลื่นก็ปิดตัว ต้องย้ายมาวิทยุโจรสลัด Pirate Rock Radio แต่อยู่ไม่นานก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องยุบคลื่น จนในที่สุดก็ลงเอยกับ Magic 98 Amazing Wave ในเครือ RS

แต่แล้วใน พ.ศ. 2542 ชีวิตของผู้ชายคนนี้ก็ถึงคราวพลิกผันครั้งใหญ่ เมื่อต้องออกจากงานกะทันหัน หลังเคว้งคว้างอยู่พักใหญ่ ต้อง-วีระเชษฐ์ ผ่องพรรณ ดีเจรุ่นพี่ ซึ่งเช่าเวลาวันเสาร์-อาทิตย์ตอนเที่ยงคืนอยู่ที่วิทยุ ททบ.5 FM94 ก็ชวนให้มาทำงานด้วย และที่นี่เองซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนของ The Shock ตลอดกาล

“ระหว่างคิดว่าจะไปสังกัดที่ไหนดี พี่ต้องก็มาชวนไปอยู่ด้วย ก็ไม่ได้มีรายได้หรือเงินเดือนหรอก อาศัยว่าขายโฆษณาได้ก็มาแบ่งกัน พอทำได้สักระยะหนึ่ง พี่ต้องจะไปเล่นการเมืองท้องถิ่น ก่อนไปก็บอกว่า ยังเหลือสัญญาอีกหนึ่งถึงสองเดือน ทำไปก่อนเถอะ ส่วนจะเอาต่อหรือเปล่าก็คุยกับทางสถานีแล้วกัน โดยตอนนั้นเราเปลี่ยนมาใช้ชื่อรายการเป็น The Shock แล้ว เพราะ พี่บอล (กิตติพัฒน์ ลิมพะสุต) จากรายการ ถามมาซิจ๊ะ…โดน บอกว่า เดี๋ยวไอ้นั่น Shock เดี๋ยวไอ้นี่ Shock มันหลาย Shock เหลือเกิน เลือกมาสักชื่อให้ชัดเจนไปเลยดีกว่า แล้วแกก็ตั้งชื่อ The Shock ให้

The Shock จากรายการวิทยุเล็กๆ สู่รายการกูรูเรื่องผีแห่งยุคที่ทำให้คนนอนดึกทั่วกรุงคลุมโปงรอฟัง

“จำได้ว่า วันที่ใกล้หมดสัญญา เราตัดสินใจพูดกับคนฟังตรงๆ ว่า รายการนี้จะหมดภายในสิ้นเดือน ถ้าใครอยากให้เราอยู่ต่อ หากมีสตางค์แล้วพร้อมสนับสนุนก็ยินดี คือมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป โชคดีที่มีแฟนรายการที่เป็นเจ้าของธุรกิจยื่นมือมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแม่อ้อยจากโรงภาพยนตร์ SF บุญทวีสังฆภัณฑ์ หรือร้านอาหารญี่ปุ่นโคโซซูชิ ช่วยกันมาคนละนิดคนละหน่อย จนเราพอมีเงินไปจ่ายค่าเช่าเวลาเองได้”

การสนับสนุนของผู้ฟังในช่วงวิกฤตที่สุดทำให้ป๋องมีกำลังใจลุกขึ้นต่อสู้ โดยเขามาได้ห้องว่างบริเวณตลาด อตก. ราคาไม่แพงนัก เปิดร้านอาหารเล็กๆ ชื่อ ‘ข้าวต้มผี The Shock’ พร้อมนำคอนเซปต์รายการมาแปลงเป็นชื่อเมนูแปลกๆ อย่างหม้อไฟบรรลัยกัลป์ ออร์เดิร์ฟท่านยม หม้อดินแวมไพร์ โดยคิดว่าจะนำรายได้ไปช่วยจุนเจือรายการให้อยู่รอด

“วิธีคิดของเราตอนนั้นก็ใช้วิธีบวกลบคูณหารง่ายๆ เลย เช่นถ้าเราต้องจ่ายค่าเช่าเวลาหนึ่งร้อยบาท ค่าเบ็ดเตล็ดหนึ่งร้อยบาท ก็ต้องหาเงินให้เกินสองร้อยบาท ส่วนที่เหลือคือกำไร ถ้าไม่ถึงแสดงว่าเราขาดทุน ซึ่งถ้าเดือนไหนหาไม่ได้ เราก็เอาเงินจากกระเป๋าซ้าย คือเงินที่ทำร้านมาใส่กระเป๋าขวา

“ช่วงนั้นชีวิตเราเปลี่ยนมาก จากสมัยที่อยู่สังกัด พอสิ้นเดือนก็ได้เงินเลย ไม่ต้องสนใจหรือรับผิดชอบอะไร แต่พอทำเองต้องแบกทุกอย่าง ต้องคิดเยอะขึ้น ทำยังไงให้ได้เงินซึ่งยากมาก เราเองก็ต้องปรับตัว จากที่เป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ก็ต้องออกไปพบปะผู้คน เดชะบุญที่หลายคนโตมากับรายการนี้ก็ยื่นมือช่วยเหลือ”

ด้วยพลังผีคุ้มครอง บวกกับความพยายามแบบไม่ลดละ ในที่สุด The Shock ก็ประคองตัวได้ ท่ามกลางสมรภูมิวิทยุที่หนักหน่วง เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างพยายามยึดครองคลื่น จนรายการเล็กๆ แทบไม่เหลือ

The Shock จากรายการวิทยุเล็กๆ สู่รายการกูรูเรื่องผีแห่งยุคที่ทำให้คนนอนดึกทั่วกรุงคลุมโปงรอฟัง

ป๋องพยายามเสริมช่วงต่างๆ เข้าไปในรายการ นอกเหนือจากการเปิดสายเล่าเรื่องผี อาทิ The Shock ย้อนรอย ดาราพาสยอง เปิดแฟ้มตำนาน Shock และบันทึกเรื่องแปลก เพื่อเพิ่มความหลากหลาย เช่นเดียวกับช่วงเดินสายที่มีการนำกิจกรรมแปลกๆ ท้าทายความกลัวเข้ามาผสม เช่น เล่นผีถ้วยแก้ว ใส่เสื้อกลับตะเข็บ หรือตะโกนท้าทายดวงวิญญาณ รวมทั้งนำอุปกรณ์ตรวจจับพลังงานที่นำเข้าจากต่างประเทศ

แต่จุดที่ทำให้ป๋องเป็นที่รู้จักในวงกว้างที่สุด คือการได้รับเชิญไปเป็นพิธีกรภาคสนามช่วงลองของในรายการ มิติลี้ลับ ทางช่อง 7 สีร่วมกับ กิ๊ก-มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2543 โดยเขานำประสบการณ์และข้อมูลจากการทำ The Shock มาประยุกต์ จน มิติลี้ลับ กลายเป็นรายการผีที่โด่งดัง และยังช่วยขยายฐานผู้ฟังทางวิทยุอีกทางหนึ่งด้วย

มิติลี้ลับ เป็นรายการที่เล่นกับเวลาจริง ไม่ถ่ายหัวค่ำ เพราะกติกาที่วางไว้คือ ถ้าอยากให้ทำก็ต้องถ่ายดึก ถ่ายหัวค่ำไม่ได้ความรู้สึก ต้องเที่ยงคืนแล้วเลิกเช้าจริงๆ เทปแรกนี่ ผมปิดรายการตอนเช้าสว่างเลย ลองนึกภาพดูบ้านมืดๆ แต่เราก็ได้เห็นอะไรก็ไม่รู้ที่ดำความมืด เป็นรูปร่างคน แล้วตอนที่ปิดรายการก็มีคนเห็นใครไม่รู้อยู่ตรงหน้าต่าง ทั้งที่ข้างบนไม่มีใครเลย คือเราเจอมาทุกรูปแบบแล้ว”

และนี่คือเส้นทางแสนวิบากที่ผลักดันให้ป๋องพารายการวิทยุเล็กๆ หยัดยืนมาได้จนทุกวันนี้

03

เกิดมาเป็นดีเจ

“ผมเป็นผู้ชายที่ทำอะไรเป็นน้อยมาก ภาษาอังกฤษก็พูดไม่เป็น จบกรุงเทพคริสเตียนฯ แต่กลัวฝรั่ง มอเตอร์ไซค์ก็ขี่ไม่เป็น ว่ายน้ำก็ไม่เป็น ทำได้อย่างเดียวก็คือจัดรายการวิทยุ ซึ่งเป็นสิ่งที่รักและชอบมากที่สุด”

ป๋องเกิดและเติบโตในสลัมย่านสุทธิสาร ครอบครัวไม่ได้มีฐานะมากนัก พ่อเป็นฝ่ายทะเบียนของสถาบัน AIT ส่วนแม่ก็เป็นแม่บ้านธรรมดา ทั้งคู่จึงคาดหวังให้ลูกชายคนโตรับราชการเป็นปลัดอำเภอ เพื่อชีวิตภายภาคหน้าจะได้สุขสบาย แต่เด็กหนุ่มกลับเป็นคนเรียนไม่เก่งเลย ทุกวันจะขลุกตัวอยู่ชั้นบน โดยบอกพ่อแม่ว่าอ่านหนังสือเรียน แต่ความจริงคื อ่านหนังสือบอล หนังสือโป๊ เล่นเกมทอยลูกเต๋าที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง และฟังรายการวิทยุ

“เราถูกหล่อเลี้ยงมากับสิ่งนี้ตลอด ทุกคืนจะต้องเปิดวิทยุฟัง พอได้ยินเสียงดีเจ เราจะรู้สึกว่าเขามีความสุขจังเลย ได้พูดได้เปิดเพลง มันเป็นแรงบันดาลให้รู้สึกอยากเป็นแบบนี้บ้าง ที่สำคัญ ผมรู้ตัวดีว่าเป็นคนหน้าตาไม่ดี ฟันก็เหยิน ตัวก็เตี้ย แต่เสียงที่ออกจากวิทยุ ไม่จำเป็นต้องใช้หน้าตา ใช้แค่เสียงก็พอ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าอาชีพนี้เหมาะกับเรา

“จำได้ว่าสมัยเด็กบ้ามาก จัดรายการให้เพื่อนฟังอยู่หลังห้อง ‘สวัสดีครับ วันนี้อยากฟังเพลงอะไรเป็นพิเศษ’ เพื่อนก็จะบอกชื่อเพลง เราก็ได้ครับ เดี๋ยวจัดให้หนึ่งบทเพลง เจ้าสาวที่กลัวฝน แล้วก็ร้องเอง กีตาร์ก็เล่นไม่เป็น แต่เราอยากเล่น”

ป๋อง-กพล ทองพลับ

ป๋องเรียนรู้เทคนิคการจัดรายการวิทยุแบบครูพักลักจำ ประโยคไหนเด็ดก็จดไว้ ด้วยความหวังว่าต่อไปจะมีโอกาสได้พูดแบบนี้ได้บ้าง

แต่ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจบมัธยมศึกษา เขาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่แทนที่จะเลือกนิเทศศาสตร์ กลับไปเข้าคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งมีแต่วิชาที่ไม่ถนัด ไม่ทันไรก็ถูกคัดชื่อออก ต้องย้ายมาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแทน แต่เรียนได้ 2 ปีเศษ คุณพ่อก็ป่วยเป็นโรคไตวาย ทำงานต่อไม่ได้ ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ป๋อง

เขาตัดสินใจหยุดเรียนและหางานทำ โดยเริ่มจากเป็นฝ่ายโปรดักชันคอยแบกกล้องแบกสายวิ่งตาม จากนั้นก็ขยับมาเป็นผู้ช่วยเขียนสคริปต์ ครีเอทีฟคิดสปอตโฆษณา และฝ่ายหาจัดหาสถานที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอของ RS

แต่ฝันหนึ่งที่ไม่เคยทิ้งเลยคือ การเป็นดีเจวิทยุ

สมัยนั้นคนที่เป็นผู้จัดรายการวิทยุได้ต้องมีใบผู้ประกาศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะนิเทศศาสตร์หรือคณะวารสารศาสตร์ก็จะส่งรายชื่อบัณฑิตที่เรียนจบไปสอบที่กรมประชาสัมพันธ์ แต่เนื่องจากไม่ได้เรียนมาสายนี้โดยตรง วิธีเดียวที่ป๋องทำได้ คือพาตัวเองไปเป็นสมาชิกชมรมนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์

“ตอนนั้นรอเรียกอยู่ปีกว่า ในที่สุดก็ถึงคิว แต่ด้วยความงี่เง่าของตัวเอง พอมีโอกาสแล้วไม่ยอมทำให้ดีตั้งแต่แรก ครั้งแรกเมาไปสอบ เพราะมีบอลจตุรมิตร เราก็เชียร์เสียงดังแหกปาก กินเหล้า ไปนอนบ้านเพื่อน พอสะดุ้งตื่นมาเหมือนในหนังเลย วันนี้สอบ น้ำไม่ได้อาบก็ไปเลย ปรากฏว่าโดนเรียกคนแรกเพราะเขาเรียงชื่อตามตัวอักษร ตอนสอบก็สะมะกึกสะมะกัก เสียงแหบเสียงแห้ง ร เรือ ล ลิง ไม่ได้เลย ก็ไม่ผ่าน ครั้งนั้นไม่ได้โทษใครเลย บอกตัวเองว่า กูผิดเอง กูไม่ดี กูทำไม่ได้

“แต่คงเพราะเป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็ก ชีวิตคือการแข่งขัน ต้องเอาตัวรอดให้ได้ พอนัดรอบสองก็บอกตัวเองว่าต้องคว้าให้ได้ เลยตัดสินใจออกวิ่ง ช่วงนั้น Rocky กำลังดัง Eye Of The Tiger ฟังแล้วคึกมาก วิ่งรอบหมู่บ้าน ใส่ฮู้ดเหมือน Rocky เลย อ่านหนังสือดังๆ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า คราวนี้สอบได้ ผ่านหมด ได้คนแรกเลย รุ่นนั้นมีได้สองคน ซึ่งพอได้ใบผู้ประกาศก็เหมือนเราได้อาชีพเพิ่ม จัดรายการวิทยุหรือเป็นดีเจได้แล้ว”

The Shock จากรายการวิทยุเล็กๆ สู่รายการกูรูเรื่องผีแห่งยุคที่ทำให้คนนอนดึกทั่วกรุงคลุมโปงรอฟัง

ป๋องเริ่มต้นชีวิตดีเจในฐานะลูกน้อง หน่อย-นงเยาว์ โอภาส ที่สตูดิโอไนท์ จากนั้นก็มาช่วย อ๊อด-จักรกฤษ ศิลปชัย ทำรายการ ดึกๆ หมึกสีม่วง ก่อนมาประจำการที่ Smile Radio และสร้างตำนาน The Shock เช่นทุกวันนี้

ตลอดการเป็นดีเจ ป๋องเจอแรงปะทะมานับครั้งไม่ถ้วน หลายคนมองว่ารายการที่ทำนั้นไร้สาระ บางคนโจมตีว่าเป็นพวกหากินกับผี แน่นอนว่าเขารู้สึกไม่พอใจ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปจึงตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ

“เราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีทางที่คนตรงหน้าทุกคนจะรักเราหมด อาจมีสักแปดสิบคนที่รักเรา กับยี่สิบคนที่ไม่ชอบเราเลย เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ซีเรียส ถึงใครจะว่าเราก็ตาม เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องเลวร้าย บางมุมอาจมองว่าไร้สาระ แต่วันก่อนเพิ่งคุยกับพ่อว่าเรื่องผีมีไว้เถอะ อย่างน้อยก็ช่วยเบรกคน ก่อนที่จะทำชั่ว ทำเลว ให้ฉุกคิดสักนิด

“ความรู้สึกนี้มีมาตั้งแต่เริ่มทำรายการ เราอยากเป็นตัวเบรกให้คนที่คิดจะทำไม่ดี รู้ว่ามีบาป มีกรรม มีนรก มีขึ้นสวรรค์ สิ่งเหล่านี้มันแฝงอยู่ในเรื่องเล่า เพียงแต่เราจะเลือกเสพมุมไหน แรกๆ ก็รู้สึกเหมือนกันว่าด่ากันจังว่ารายการไร้สาระ คำว่าสาระหรือไร้สาระวัดกันตรงไหน มีไม้บรรทัดวัดเหรอ มันใช้ความรู้สึกวัดใช่ไหม เมื่อใช้ความรู้สึกวัด ถ้าเปิดใจรับกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามา คุณจะรู้ว่าเรื่องเหล่านี้มีสาระอยู่ ในความที่ไม่มีสาระนั่นแหละ”

The Shock จากรายการวิทยุเล็กๆ สู่รายการกูรูเรื่องผีแห่งยุคที่ทำให้คนนอนดึกทั่วกรุงคลุมโปงรอฟัง

เกือบ 3 ทศวรรษของการทำหน้าที่ตรงนี้ ป๋องไม่เคยปันใจจากการเป็นดีเจเลย เขายังคงสนุกและมีไฟในการทำงานเสมอ แม้ทุกวันนี้งานบนหน้าจอโทรทัศน์จะมากขึ้นเรื่อยๆ หรือกระแสความนิยมของสื่อวิทยุจะซบเซาลงไปก็ตาม

“ในวัยห้าสิบสาม เอาจริงๆ ผมไม่ต้องทำก็ได้ แต่เรารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก เป็นภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ เราโตมากับวิทยุ กรีดเลือดมาออกมาก็เป็นคนวิทยุ ครั้งหนึ่งเคยนั่งเปรียบเทียบสื่อทั้งหมด วิทยุเงินน้อยสุด จัดมาเกือบสามสิบปี ค่าจัดนี่ชั่วโมงยังไม่ถึงพันเลย ทำอย่างอื่นได้เงินเยอะกว่า เหนื่อยก็เหนื่อย เพลียก็เพลีย แต่เรามีความสุข บางทีถ่ายรายการ คนอวดผี เสร็จสี่ทุ่ม ถ้าเป็นคนอื่นเข้าบ้านเลยนะ แต่เรายอมขับรถมาจัดรายการเพื่อสตางค์ไม่กี่ร้อย”

เพราะสำหรับเขาแล้ว วิทยุก็คือตัวตนและชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ กพล ทองพลับ นั่นเอง

04

The Shock’ Never Die

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า The Shock คือหนึ่งในสัญลักษณ์ความสำเร็จของสื่อวิทยุที่มีบทบาทและอิทธิพลทางความคิดของผู้คนมากมายหลากช่วงวัย และยังคงส่งต่อความสุขผ่านเรื่องราวน่าสะพรึงกลัวเป็นประจำทุกคืนทางสถานีวิทยุ FM 101 RR One

“แฟนของ The Shock เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนยุคโน้นที่ฟังเราก็แก่เฒ่าหมดแล้ว บางคนเป็นพ่อแม่ มีลูกมีเต้าหมดแล้ว เด็กรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาก็มาฟังบ้างเหมือนกัน เราเองก็พยายามปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย อย่างตอนนี้ก็มีรายการใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด แต่เราถือว่าไม่ได้แข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเอง และยังสนุกกับมันเหมือนเดิมเท่าที่มีเรี่ยวแรงทำ”

ป๋องบอกว่า ความหวังเดียวของเขาที่มีต่อ The Shock คือทำให้รายการยังอยู่บนหน้าปัดได้นานที่สุด แม้ว่าวันนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าเช่าสถานี สวนทางกับผู้ฟังทางวิทยุที่นับวันมีแต่น้อยลง เพราะหลายคนก็ฟังออนไลน์ผ่านทางช่องยูทูบ The Shock 13 หรือก็ฟังย้อนหลังไปเลย

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขายังยึดติดกับสื่อวิทยุ แต่อีกมุมที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ก็ไม่ต่างจากการตอบแทนบุญคุณผู้ฟังที่ให้เกียรติและสนับสนุนรายการเล็กๆ นี้มานานเกือบ 30 ปี

ป๋อง-กพล ทองพลับ

“เราน่าจะเป็นรายการหนึ่งที่อยู่นานที่สุดแล้วล่ะ แต่หากถามว่าคิดจะเติบโตไหม ก็ตอบได้เลยว่าไม่คิด เพราะรายการแบบนี้ไม่ได้เป็นรายการที่มีสาระ ไม่มีทางจะได้รางวัลหรอก เราแค่คิดว่าทำยังไงให้อยู่กับเรานานเท่านานได้ ซึ่งคนสำคัญที่อยากขอบคุณที่สุดก็คือคนฟัง ต่อให้เขาจะเล่าสนุกไม่สนุก เล่ารู้เรื่องไม่รู้เรื่อง สำหรับผมไม่ใช่ปัญหาเลย แค่เขาโทรเข้ามาก็ถือว่าให้เกียรติแล้ว นับเป็นเรื่องน่าปีติ”

ด้วยเหตุนี้ป๋องจึงพยายามผลักดันน้องรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาแสดงบทบาทหน้าไมค์ เสริมทัพของ The Shock ให้แข็งแกร่งขึ้น สมาชิกหลายคนอยู่กับเขามานับสิบปี ทั้ง โก้พริ้ว, เก่ง-ยิ่งยศ สวัสดิ์วงศ์ชัย หรือ ขวัญ-ไพโรจน์ ดำมินเศก

สิ่งหนึ่งที่เขามักย้ำกับทีมงานเสมอ คือต้องจริงใจกับผู้ฟัง เนื่องจากวิทยุเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเสียง เพียงแค่ได้พูดออกไป คนฟังก็สัมผัสได้ทันทีว่าดีเจคนนี้เป็นอย่างไร และที่สำคัญ ต้องไม่ลืมหน้าที่ของดีเจที่ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ต่อให้เหลือคนฟังแค่เพียงคนเดียวก็ตาม

ตลอด 26 ปีของ The Shock ไม่มีใครรู้ว่าปลายทางของตำนานบทนี้จะเป็นเช่นไร แต่สำหรับป๋องแล้ว สิ่งที่ได้รับกลับมา ไม่ว่าจะชื่อเสียง เงินทอง ความรัก ความผูกพันที่แฟนๆ มอบให้ก็นับเป็นชีวิตที่เกินคุ้มแล้ว และเขาก็ขอยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป ตราบใดที่ยังมีแรงใจและแรงกายเช่นนี้

“เวลามองกระจก ผมมักคุยกับตัวเองว่า ‘มึงโชคดีนะไอ้ป๋องที่มาถึงตรงนี้’ แล้วจริงๆ ชีวิตเราจะอยู่ได้สักกี่ปี เต็มที่ให้ไม่เกินหกสิบห้าก็ไปแล้ว แต่ผมก็มีความสุข เพราะถือว่าทำเต็มที่แล้ว ผมเคยบอกน้องๆ ว่า ถ้าวันหนึ่งกูตายไป หากมึงจะหยุดหรือทำต่อก็ได้นะ แต่พี่คงไม่หยุด เพราะนี่คือสิ่งที่เรารัก และทำให้เรามีวันนี้ได้” ป๋องทิ้งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ

สถานที่ถ่ายทำ : ร้านข้าวต้มผี The Shock

ขอบคุณ : คุณวิวัฒน์ บุญญาภรณ์พิทยา 


ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

สัมภาษณ์คุณกพล ทองพลับ วันที่ 22 ตุลาคม 2562

หนังสือธุรกิจศพ : เจาะลึกเรื่องจริงในธุรกิจความตาย โดยศราวุธ เอี่ยมเซียม เวิร์คพอยท์สำนักพิมพ์

วิทยานิพนธ์ เรื่องลี้ลับในรายการวิทยุ โทรทัศน์และโทรศัพท์ โดย สุทธิรักษ์ วินิจสร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย- นิตยสารมุงหลังคา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว