24 พฤศจิกายน 2018
3 K

ล้อรถไฟบดขยี้รางเหล็กเสียงดังสนั่นไม่ขาดสายที่สถานี Centrale ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักกลางเมืองมิลาน รถไฟเคลื่อนออกจากสถานีขบวนแล้วขบวนเล่าพาผู้คนสัญจรทั้งเส้นทางใกล้และไกล ทั้งไปและกลับ

…แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้กลับมา

ใต้ชานชาลาสมัยใหม่ ยังมีรางเหล็กรุ่นโบราณและตู้รถไฟไม้เก่าคร่ำครึ ที่นานมาแล้วได้นำพาผู้คนกลุ่มใหญ่เดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่มีใครอยากจำ

…เอาชวิตซ์ (Auschwitz)

มิลาน อิตาลี

กันยายน ค.ศ. 1938 กฎหมายต่อต้านชาวยิวฉบับแรกได้รับการอนุมัติและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ยังผลให้ชาวอิตาลีเชื้อสายยิวตกเป็นชนชั้นสองในทันที สิทธิขั้นพื้นฐานในการเรียนและการทำงานถูกถอดถอน ยังรวมถึงมิตรภาพระหว่างผู้คนในสังคมเดิมกลับถูกแทนที่ด้วยความห่างเหินเย็นชาต่อเพื่อนร่วมชาติต่างเชื้อสาย

นับตั้งแต่ปี 1939 เยอรมนีภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้เข้ารุกรานหลายประเทศในยุโรปเพื่อแผนการกวาดล้างชาวยิวให้สิ้น และอิตาลีภายใต้การนำของ เบนิโต มุสโสลินี ก็ได้ประกาศตัวเป็นสหายร่วมรบเคียงบ่าเคียงใหล่กับเยอรมนีในวันที่ 10 มิถุนายน 1940 เป็นการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการพร้อมกับฝันร้ายขั้นกว่าของชาวยิวบนแดนพิซซ่านี้

ปลายปี 1943 หลังจากรถขบวนแรกนำชาวยิวนับพันออกจากกรุงโรมไปยังค่ายกักกันเอาชวิตซ์ สถานีรถไฟกลางกรุงมิลานก็รับช่วงส่งต่อผู้โดยสารไปยังปลายทางแห่งเดียวกัน

เป็นเวลาล่วงเลยมากว่าครึ่งศตวรรษหลังรถไฟขบวนสุดท้ายนำพาผู้คนพร้อมโชคชะตาไปสู่แคมป์ที่ Bolzano ภายหลังเอาชวิตซ์ถูกทำลายลง สถานีรถไฟแห่งเดิมยังคงอยู่พร้อมภาพความทรงจำมืดหม่นแห่งอดีตข้างใต้ความอลหม่านของปัจจุบันกาลด้านบน

มิลาน อิตาลี

Shoah หรือที่คนรู้จักกันในชื่อ Holocaust คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวครั้งประวัติศาสตร์นำโดยพรรคนาซีแห่งเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้พรากลมหายใจของผู้คนราว 11 ล้านคนไป หนึ่งในหลักฐานความโหดร้ายที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้คือ The Shoah Memorial of Milan และเป็นสถานที่เดียวที่เคยถูกใช้เพื่อเนรเทศชาวยิวออกจากเมืองซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน เดิมทีเป็นสถานที่จัดการและบรรจุพัสดุไปรษณีย์ข้างใต้สถานี Centrale แต่ระหว่าง ค.ศ.1943 – 1945 ได้ถูกใช้เพื่อพาชาวยิวขึ้นรถขนสัตว์ก่อนนำขึ้นไปต่อกับหัวรถไฟด้านบนเพื่อมุ่งหน้าสู่ค่ายกักกันที่นาซีสร้างขึ้นเพื่อรองรับกระบวนการกำจัดชาวยิว

มิลาน อิตาลี
มิลาน อิตาลี

สิ่งแรกที่เจอเมื่อผ่านทางเข้าคือกำแพงจารึกข้อความ “Indifferenza” ตัวโต หมายถึงความเพิกเฉยที่ผู้ไม่ถูกกระทำได้เคยมีต่อผู้ถูกกระทำอันเป็นหนึ่งในเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์

ก่อนเข้าถึงส่วนจัดแสดงจะต้องชำระค่าเข้าชม 10 ยูโร หากเป็นนักเรียนไม่ว่าจะอายุเท่าไรพกบัตรนักเรียนหรือไม่จะได้ส่วนลดราคาครึ่งหนึ่ง ถัดไปคือห้องชมภาพยนตร์ทรงเหลี่ยมตั้งกระจัดกระจายเป็นแถวรวม 7 ห้อง แสดงหลักฐานการมีอยู่จริงของความโหดร้ายผ่านเรื่องราวในวิดีโอ

มิลาน อิตาลี
มิลาน อิตาลี
มิลาน อิตาลี

กลิ่นอับอวลชวนให้อึดอัดในขบวนรถไฟไม้เก่าคร่ำ มีเพียงช่องลมเล็กๆ เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและอากาศภายนอกหากไม่นับประตูบานใหญ่ที่ถูกปิดสนิทเมื่อครั้งใช้งานบรรทุกชาวยิวบนเส้นทาง Milano-Auschwitz แสงไฟเบาบางจากพวงหรีดภายในขบวนส่องให้เห็นสภาพทึมทึบภายในที่เคยเหม็นคลุ้งไปด้วยสิ่งปฏิกูลจากร่างกายมนุษย์เมื่อถูกจำกัดอิสรภาพตลอดการเดินทางยาวนานกว่า 1 สัปดาห์

มิลาน อิตาลี
มิลาน อิตาลี
มิลาน อิตาลี

รายชื่อผู้ถูกเนรเทศจากบ้านเกิดปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่องบนจอบนผนังด้านหนึ่งด้วยความเคารพ เบื้องหน้าคือรางเหล็กและแผ่นจารึกช่วงเวลาในแต่ละครั้งที่ขบวนรถมุ่งหน้าสู่ปลายทาง แสงสว่างส่องลงมาจากช่องเปิดของรางลิฟต์ที่เคยใช้นำขบวนตู้ขนคนไปเชื่อมกับหัวรถจักรบนชานชาลาเบื้องบน สุดทางเดินนำไปสู่ห้องเงียบทรงกรวยคว่ำเพื่อให้ระลึกและทบทวนถึงเรื่องราวทั้งหมดที่ได้รับรู้มาจากการจัดแสดง

ฉันเดินกลับออกมาจากความเงียบงันภายในอาคารสู่ความอึกทึกภายนอก ก่อนก้าวขึ้นสถานีรถไฟเพื่อเดินทางกลับที่พัก แม้ส่วนจัดแสดงจะไม่ได้ใหญ่โต แต่หลักฐานที่จับต้องได้จากความเจ็บปวดในอดีตก็มากพอที่จะทำให้คนจากอีกซีกโลกที่แทบจะไม่มีความเชื่อมโยงกับ Holocaust จะรู้สึกอาลัยกับเรื่องราวทั้งหมด การคงอยู่ของสถานที่เพื่อการระลึกถึงความหลังแห่งความโหดร้ายนี้ไม่เพียงเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังส่งผ่านร่องรอยแห่งอดีตให้คนรุ่นใหม่ในทุกเชื้อชาติได้เรียนรู้ ยอมรับ และปรับปรุง เพื่อช่วยกันสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนโลกใบเดิม

มิลาน อิตาลี
มิลาน อิตาลี

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

นิธิตา เฉิน

นิธิตา เฉิน

นักเล่าเรื่องและครีเอทีฟอิสระผู้อยากสื่อสารประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้สนุกและสร้างสรรค์