เงากิ่งไม้เต้นไปมาทอดยาวลงมาบนบานหน้าต่างเหมือนแขนขาของสัตว์ประหลาด เสียงตะกุกตะกักในความมืดบวกกับจินตนาการสุดล้ำ ไม่แน่ใจว่าจากความกลัวหรือพลังเหนือธรรมชาติ เสียงดนตรีประกอบในความเงียบที่จู่ ๆ ก็ดังขึ้นมาฉับพลัน กลิ่นอายของหนังสยองขวัญที่กระตุกอารมณ์ของผู้ชมจนแทบลืมหายใจ 

ภาพยนตร์สยองขวัญกับสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่มาเป็นแพ็กคู่เหมือนแชมพูกับครีมนวด และยากจะแยกออกจากกันได้ เรามักจะได้ยินเรื่องราวสิ่งลี้ลับและพลังงานที่สิงสถิตอยู่ตามสถานที่ อาคาร และส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผีช่องแอร์ ผีในตู้เสื้อผ้า ผีบ่อน้ำ ผีตามทางเดิน ผีคลานลงมาจากบันได มิติลี้ลับหลังรูผนังกำแพง ผีบนคานโครงสร้าง รวมไปถึงผีที่สิงอยู่ตามสถาปัตยกรรมเสื่อมโทรมอย่างสุสานเก่า บ้านร้างที่ผุพัง โรงพยาบาลร้าง หรือโรงแรมหลอน เป็นต้น

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

ในเดือนของเทศกาลฮาโลวีน คอลัมน์ Set Design อยากเชิญทุกท่านร่วมแกะรอย ‘The Shining’ หรือในชื่อไทย โรงแรมผีนรก หนังสยองขวัญจาก ค.ศ. 1980 ของผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความใส่ใจในรายละเอียดของมุมกล้องและการออกแบบฉากเบื้องหลังสุดใหญ่โตมโหฬาร 

ความแตกต่างจากภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยมีโมเมนต์ของความหลอกหลอนแบบผีตุ้งแช่ The Shining ถ่ายทอดมุมมองความหลอนเชิงจิตวิทยาของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในอดีต และพลังงานเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นในโรงแรมสุดหลอน The Overlook Hotel ที่สามารถเปลี่ยนมนุษย์คนหนึ่งให้กลายเป็นปีศาจร้าย ซึ่งบ้าคลั่งและน่ากลัวกว่าผีตัวไหน ๆ

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นโดยดัดแปลงโครงเรื่องจากนวนิยายสยองขวัญใน ค.ศ. 1977 โดย สตีเวน คิง (Stephen King) เรื่องราวของ Jack Torrance นักเขียนนวนิยายที่รับงานเป็นผู้ดูแลโรงแรมอันห่างไกล เขาพา Wendy ภรรยา และ Danny ลูกชายวัย 5 ขวบ มาอยู่ด้วยกันในโรงแรมเป็นเวลา 5 เดือน ระหว่างปิดทำการชั่วคราวในฤดูหนาว หน้าที่หลักของเขาคือดูแลความเรียบร้อยและคอยปรับหม้อต้มความดันของโรงแรม ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเขาในการหาสถานที่เงียบ ๆ เขียนหนังสือเล่มใหม่ไปด้วย

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

Danny เป็นเด็กมีจิตสัมผัสและนิมิตทางจิต หรือในหนังเรียกความสามารถนี้ว่า ‘Shining’ เขาอ่านความคิดผู้คน สื่อสารทางกระแสจิต และมีนิมิตพยากรณ์ที่น่ากลัวอยู่บ่อยครั้ง โดยมักจะสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเพื่อนในจินตนาการที่ชื่อว่า Tony 

ตั้งแต่ต้นเรื่อง เขาสัมผัสถึงพลังงานชั่วร้ายภายในโรงแรมแห่งนี้ จากโรงแรมที่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมชั่วคราวของแขกผู้มาเยือน และเป็นสถานที่ทำงานของพนักงานโรงแรม กลับกลายมาเป็นบ้านเขาวงกตขนาดใหญ่สำหรับหนึ่งครอบครัว

ไม่ว่าจะด้วยพลังชั่วร้ายเหนือธรรมชาติ หรือความอ้างว้างของการอยู่อาศัยในโรงแรมอย่างโดดเดี่ยว มันส่งผลต่อสภาพจิตใจของ Jack จนคลุ้มคลั่งเสียสติ เรื่องราวในภาพยนตร์ใช้ฉากของโรงแรมแห่งนี้สร้างภาพหลอกหลอนที่สูบกินความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ราวกับว่าตัวอาคารมีความรู้สึก มีความโกรธ มีความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตซึ่งจารึกไว้ และกำลังชำระแค้นเหล่านั้น

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

ฉากโรงแรม Overlook เป็นหนึ่งในตัวละครที่โดดเด่นที่สุด ภายนอกถ่ายทำจากสถานที่จริงของโรงแรม Timberline Lodge ในรัฐออริกอน แต่ทว่าฉากสำคัญต่าง ๆ อย่างแบบจำลองหน้าตึกบางส่วนและพื้นที่ภายในโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นห้องโถง ห้องพัก ห้องน้ำ ห้องบอลรูม ทางเดิน รวมไปถึงส่วนบริการหลังบ้านของโรงแรมนั้น ล้วนสร้างขึ้นในสตูดิโอถ่ายทำชื่อ Elstree Studios ประเทศอังกฤษ โดยอ้างอิงแบบการตกแต่งภายในจากโรงแรม Ahwahnee ในเขตอุทยานแห่งชาติ Yosemite สหรัฐอเมริกา

เป็นที่รู้กันว่าผลงานของ Kubrick ขึ้นชื่อเรื่องรายละเอียดขององค์ประกอบภาพ มุมกล้อง และความสมบูรณ์ของฉากเป็นอย่างมาก เขาใช้ฉากและพื้นที่สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือดำเนินเรื่อง ถ่ายทอดความสยองขวัญและความวิกลจริตที่เปลี่ยนไปของตัวละคร

I

เขาวงกต

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

ซีนเปิดของภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้มุมกล้องที่ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ เผยให้เห็นถึงภาพถนนคดเคี้ยวแทรกตัวผ่านไปตามไปภูเขาหลายลูก จากตีนเขาที่ปกคลุมไปด้วยหญ้าและต้นไม้สีเขียว ไล่มาเรื่อย ๆ มาจนถึงจุดที่ตั้งของโรงแรมบนเนินเขาที่พื้นหญ้ากลับถูกปกคลุมด้วยหิมะ ความยาวของฉากเปิดบ่งบอกถึงระดับความสูงและความห่างไกลจากตัวเมืองและผู้คน สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวของโรงแรมแห่งนี้ ต่อมาด้วยสภาพอากาศและพายุหิมะ ทำให้ตัวละครตัดขาดกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง

ขนาดของอาคาร ทางเดินยาวสุดลูกหูลูกตา และผนังกำแพงของห้องพักภายในของโรงแรม สร้างสภาพแวดล้อมเสมือนเขาวงกต ทำให้สมาชิกในครอบครัวเรียกหากันแทบไม่เจอ สร้างบรรยากาศที่น่าขนลุก แม้แต่สวนโรงแรมเองก็ออกแบบเป็นเขาวงกตพุ่มไม้รูปทรงเรขาคณิตบดบังวิสัยทัศน์และสร้างความรู้สึกอึดอัด ในฉากหนึ่ง จะพบว่า Jack กำลังจ้องไปที่โมเดลจำลองของสวนในห้องโถงของโรงแรม ตามตำนานของชาวกรีกแล้ว เขาวงกตคือสถานที่จองจำ Minotaur อสูรร้ายที่มีหัวเป็นวัว ร่างกายเป็นมนุษย์ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว Jack จะกลับกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่อาศัยอยู่เขาวงกต ตามที่ปรากฏในฉากไล่ล่าครั้งสุดท้ายของภาพยนตร์

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

อีกหนึ่งฉากสุดไอคอนิกที่ทำให้เห็นบรรยากาศของเขาวงกตภายในส่วนทางเดินห้องพักของโรงแรมคือซีนทัวร์โรงแรมผ่านมุมมองของ Danny บนรถสามล้อสำหรับเด็กไปตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว มุมมองกล้องที่ต่ำลงมาตามระดับสายตาของเด็ก การถ่ายโดยใช้มุมมองจุดเดียว (One Point Perspective) ช่วยเน้นและตอกย้ำความรู้สึกโดดเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ เสียงดังของล้อจักรยานเปลี่ยนไปตามผิวสัมผัสของพื้นแต่ละห้อง แม้แต่ลายรูปทรงเรขาคณิตบนพรมทางเดินและลายของวอลเปเปอร์ ก็เชื่อมต่อกันไปโดยไร้รอยต่อ สร้างภาพลวงตาให้รู้สึกว่าโรงแรมมีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าที่เป็นอยู่จริงมาก

II
กระจกภาพสะท้อน ฝาแฝด และความสมมาตร

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

กระจกเงาอีกหนึ่งในเทคนิคที่ Kubrick นำมาใช้ในหลายฉาก ๆ บางฉากตัวละครพูดกับตนเองอยู่หน้ากระจก บางฉากถ่ายทำโดยกล้องมองผ่านกระจกไปที่นักแสดง ในฉากที่ Danny ใช้ลิปสติกเขียนคำว่า ‘REⱭЯUM’ (เหล้ารัมแดง) บนประตูห้องน้ำ แต่คำสะท้อนผ่านกระจกในห้องนอน ตัวอักษรสะกดว่า ‘MURDƎЯ’ สื่อสารแจ้งเตือน Wendy แม่ของเขา ขณะที่ Jack กำลังใช้ขวานจามไปที่ประตู กระจกและการสะท้อนอาจเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นจริงกับจินตนาการ โลกในอดีต (วิญญาณ) กับโลกปัจจุบัน (มนุษย์) 

ในรูปแบบเดียวกันกับการสะท้อนของกระจก วิญญาณเด็กหญิงฝาแฝดที่ปรากฏขึ้นในฉากหนัง นัยยะหนึ่งสะท้อนถึง 2 สิ่งที่สร้างความสมมาตรในตัวมันเองเมื่ออยู่คู่กัน แต่ในอีกนัยยะก็มองได้ถึงความขัดแย้งระหว่างรูปลักษณ์ ระหว่างต้นฉบับและสำเนาทำซ้ำ เรื่องราวของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอดีต และเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นซ้ำรอยในปัจจุบัน

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้
The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

การตกแต่งภายในด้วยสไตล์ที่แตกต่างกันระหว่างยุคคลาสสิกกับยุคโมเดิร์นระหว่างห้อง The Gold Ballroom กับห้องน้ำสีแดงที่อยู่ติดกัน ในขณะที่ห้องบอลรูมแสดงถึงบรรยากาศงานปาร์ตี้ในยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ของโรมแรม ไฟประดับผนังเพดานและแชนเดอเรีย ส่องประกายแสงสีทองไล่ระดับตัดไปกับผนังห้องสีแดง ความหรูหราของบริกรและแขกผู้ร่วมงาน ตัดมาที่บรรยากาศในห้องน้ำที่ทาสีผนังด้วยสีแดงประกอบกับแสงไฟสีขาวแสงสว่างจ้า การใช้สีที่ขัดแข้งในการฉากภาพยนตร์อาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารทางจิตวิทยา เผยอารมณ์ บุคลิก และสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปของตัวละคร

The Shining สถาปัตย์ในโรงแรมที่เป็นต้นแบบของหนังสยองขวัญจนถึงวันนี้

แน่นอนว่าคำจำกัดความของหนังสยองขวัญนั้นแตกแขนงออกไปในหลายรูปแบบ The Shining อาจไม่ใช่ภาพยนตร์น่ากลัวที่สุดสำหรับใครหลาย ๆ คน โรงแรมผีสิงที่ไม่มีผีวิ่งออกมาหลอกหลอนไล่ฆ่าคนเหมือนหนังเรื่องอื่น ๆ ความสวยงามอันน่าสยดสยองของตัวฉากและสถาปัตยกรรมของโรงแรมที่ถ่ายทอดความโดดเดี่ยวผ่านการอยู่อาศัยเพียงลำพัง ความบ้าคลั่งจากความเครียดในการหาทางออกจากเขาวงกต การไต่ระดับความบ้าคลั่งของตัวละครที่ค่อย ๆ ดำเนินไปตามกรอบเวลาของท้องเรื่อง ในขณะเดียวกัน ฉากของโรงแรม Overlook ก็ค่อย ๆ แสดงความเฮี้ยนออกมา พร้อมกับความวิปลาสของตัวละครที่เพิ่มขึ้น ราวกับว่าโรงแรมแห่งนี้มีชีวิต และกำลังคอยเฝ้าดูผู้อยู่อาศัยทุกย่างก้าว

ฉากในตำนานของโรงแรม Overlook สร้างแรงบันดาลใจให้กับหนังยุคใหม่ ๆ มากมายหยิบยืมนำไปประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ประกอบศิลป์ มุมกล้อง วิธีการถ่ายทำ การจัดแสงไฟ และอื่น ๆ แนวทางการสร้างภาพยนตร์ที่บ้าคลั่งของ Stanley Kubrick นี้เองที่ทำให้ The Shining ยังคงเป็นตำนานของหนังสยองขวัญมาจนถึงทุกวันนี้

รูปภาพและข้อมูลอ้างอิง :

Kubrick, Stanley. The Shining. Warner Bros., 1980.

https://ksamaarchvis.wordpress.com/2015/12/13/the-shining/

https://reelrundown.com/movies/Impossible-to-Overlook-Set-Design-in-The-Shining

https://www.archdaily.com/291430/films-architecture-the-shining

https://faroutmagazine.co.uk/david-lynch-names-his-favourite-werner-herzog-film/

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ