เวลาพูดถึงธุรกิจครอบครัว เรามักเน้นย้ำเสมอว่าการส่งต่อธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากไม่วางแผนให้ดี ธุรกิจก็อาจจะพังได้

ตัวอย่างหนึ่งของนักธุรกิจที่ไม่ได้บ่มเพาะทายาทในครอบครัว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้วางตัวผู้บริหารคนนอกไว้ ทำให้ในที่สุดไม่มีคนรับช่วงบริหารกิจการต่อ นักธุรกิจคนนั้นคือ Sir Run Run Shaw ผู้ก่อตั้ง The Shaw Brothers Studio และสถานีโทรทัศน์ TVB ซึ่งบุกเบิกการผลิตภาพยนตร์จีนกำลังภายในชื่อดังอย่าง มังกรหยก รวมถึงสถานีโทรทัศน์ระดับแนวหน้าของฮ่องกงที่สร้างนักแสดงชั้นนำอย่าง โจวเหวินฟะ

ด้วยความที่ไม่ได้มีแผนสืบทอดกิจการต่อ กว่า Sir Run Run Shaw จะวางมือจากการบริหารธุรกิจอายุก็ปาเข้าไปถึง 103 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่แก่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว

Shaw Brothers Studio ธุรกิจครอบครัวที่ผู้บริหารอายุ 103 ปี และไม่มีผู้สืบทอด

กำเนิดธุรกิจพี่น้อง

Sir Run Run Shaw เป็นน้องคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 6 คนของครอบครัว แรกเริ่ม พี่น้องตระกูลชอว์ได้ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจครอบครัวที่เซี่ยงไฮ้ ก่อนขยายไปปักหลักมั่นคงในสิงคโปร์และฮ่องกงมาจนถึงปัจจุบัน

จุดกำเนิดของธุรกิจในเซี่ยงไฮ้เริ่มจากการตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ชื่อ Tianyi Film Company หรือที่รู้จักกันในชื่อ Unique Film Productions หรือ Unique ในปี 1925 โดยมีพี่ชายคนโต Runje Shaw เป็นผู้นำ

Runje ได้ส่งน้องคนที่ 3 Runme ไปสิงคโปร์เพื่อตั้งธุรกิจขายภาพยนตร์ให้ชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 1 ปีถัดมาในปี 1926 เมื่อ Run Run น้องคนสุดท้องอายุได้ 19 ปี ก็ได้ติดตามไปช่วยพี่ชาย Runme ที่สิงคโปร์อีกแรงหนึ่งด้วย

Shaw Brothers Studio ธุรกิจครอบครัวที่ผู้บริหารอายุ 103 ปี และไม่มีผู้สืบทอด

เส้นทางสู่ธุรกิจร้อยปีที่สิงคโปร์

ธุรกิจของ 2 พี่น้อง Runme และ Run Run ในช่วงแรกมีชื่อว่าบริษัท Shaw and Shaw ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Shaw Organization ขยายกิจการ เปิดโรงภาพยนตร์ สร้างสวนสนุก และยังสร้างภาพยนตร์มาเลย์อีกด้วย ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจบันเทิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้น ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เล่ากันว่าในช่วงสงครามตอนญี่ปุ่นบุกสิงคโปร์และมาเลเซีย สองพี่น้องตระกูล Shaw ต้องฝังทรัพย์สินเงินทองอัญมณีเพื่อหลบซ่อนทหารญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อสงครามจบก็ขุดสมบัติขึ้นมาเป็นทุนในการฟื้นฟูกิจการ

บริษัท Shaw Organization ยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลาร่วมร้อยปีแล้ว โดยเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ชั้นนำในสิงคโปร์

ใครไปเที่ยวสิงคโปร์อาจจะเคยไป Shaw House and Centre บนถนน Orchard ที่มีโรงหนังและห้างสรรพสินค้า Isetan คอมเพล็กซ์นี้ถือเป็น Flagship ของ Shaw Organization ในปัจจุบัน

Shaw Brothers Studio ธุรกิจครอบครัวที่ผู้บริหารอายุ 103 ปี และไม่มีผู้สืบทอด

ที่มั่นใหม่ในฮ่องกง

ตัดภาพกลับไปที่บริษัท Unique ฐานที่มั่นในการผลิตภาพยนตร์ของตระกูล Shaw ที่เซี่ยงไฮ้

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา สตูดิโอของบริษัทถูกกองทัพญี่ปุ่นทำลายไปในปี 1937 พี่ชายคนโต Runje จึงตัดสินใจเกษียณ วางมือจากธุรกิจ

Runde น้องชายคนที่ 2 เข้ามารับช่วงกิจการต่อจากพี่ชาย โดยย้ายกิจการจากเซี่ยงไฮ้ในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ตกอยู่ใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ไปยังฮ่องกง และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Nanyang ต่อมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นบริษัท Shaw and Sons

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1957 น้องชายคนเล็ก Run Run ย้ายจากสิงคโปร์ไปฮ่องกง และรับช่วงกิจการผลิตภาพยนตร์จาก Runde เพราะเขาหันไปเน้นธุรกิจลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โรงหนัง และการจัดจำหน่ายภาพยนตร์

เจ้าพ่อแห่งหนังกังฟู

Run Run ได้ตั้งบริษัท Shaw Brothers Studio ผลิตภาพยนตร์จีนโดยใช้โมเดลการถ่ายทำในสตูดิโอแบบฮอลลีวูด ซึ่งธุรกิจของ Shaw Brothers Studio ได้เจริญรุ่งเรืองตลอดช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970

ความสำเร็จของ Shaw Brothers Studio มีหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งจากการที่คู่แข่งทางธุรกิจเครื่องบินตกเสียชีวิต ทั้งจากการที่ Run Run ทุ่มเททำงานหนัก และจากความคิดสร้างสรรค์ของเขาที่เริ่มสร้างหนังที่มีเสียงในฟิล์ม (Sound-in-Film) หรือการนำศิลปะกังฟูมาประกอบในภาพยนตร์

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะรู้จักหรือเคยชมภาพยนตร์จีนกำลังภายในจากค่ายนี้ เช่น มังกรหยก กระบี่ไร้เทียมทาน เดชเซียวฮื่อยี้ ความรักในหอแดง ชอลิ้วเฮียง หรือ ฤทธิ์มีดสั้น

ความสำเร็จของหนังกำลังภายในของ Shaw Brothers Studio ทำให้ Run Run ได้สมญาในวงการว่าเป็นเจ้าพ่อหรือ Godfather แห่งหนังกังฟู แต่ถึงอย่างนั้น ธุรกิจของ Shaw Brothers Studio ก็เริ่มซบเซาในช่วงทศวรรษ 1980 เพราะคนรุ่นต่อมาไม่สนใจภาพยนตร์จีนแบบเดิม ๆ จนในที่สุดบริษัทได้เลิกผลิตภาพยนตร์ใหม่ไปในปี 1986

ส่วนตัวเขาก็หันไปโฟกัสธุรกิจโทรทัศน์ Television Broadcasts Limited (TVB) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง ซึ่งเขาก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1967 และยังเป็นผู้บริหารอีกด้วย

TVB เติบโตเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ผลิตรายการภาษาจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นสื่อที่สร้างดารานักแสดงชั้นนำอย่าง โจวเหวินฟะ และนักร้องอย่าง เลสลี จาง

บั้นปลายที่หลายหลาก

สำหรับชีวิตบั้นปลายของพี่น้องตระกูล Shaw นั้น พี่ชายคนโต Runje Shaw ใช้ชีวิตหลังเกษียณต่อไปในเซี่ยงไฮ้จนเสียชีวิตที่นั่นในปี 1975 ด้วยวัย 79 ปี มีลูก 6 คนกับภรรยา อดีตดาราภาพยนตร์ชื่อดังในสังกัดของ Unique

พี่ชายคนรอง Runde Shaw เสียชีวิตที่ฮ่องกงในปี 1973 ด้วยวัย 74 ปี มีลูกสาว 1 คนและลูกชาย 7 คน บริษัท Shaw and Sons ของเขาปัจจุบันดำเนินกิจการด้านการลงทุนและบริหารอสังหาริมทรัพย์

พี่ชายคนที่ 3 Runme Shaw เป็นนักธุรกิจชั้นนำในสิงคโปร์ ตั้ง Shaw Foundation องค์กรสาธารณกุศลที่มีวัตถุประสงค์ในการคืนกำไรจากธุรกิจกลับสู่สังคม บริจาคเงินให้กับสถานศึกษาต่าง ๆ มากมาย Runme เสียชีวิตที่สิงคโปร์ในปี 1985 ด้วยวัย 84 ปี มีลูกชาย 2 คนและลูกสาว 4 คน

ส่วนน้องชายคนสุดท้อง Run Run Shaw ที่ย้ายจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกงก็บริจาคเงินสร้างสาธารณสมบัติต่าง ๆ มากมายไม่แพ้กัน ว่ากันว่ามีอาคารมากกว่า 5,000 แห่งในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในจีนและฮ่องกงที่เขาบริจาคเงินสร้างและตั้งชื่อตามเขา

Run Run Shaw ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก Queen Elizabeth II ให้เป็น Commander of the Order of the British Empire ในปี 1977 คนจึงเอ่ยนามเขาว่า Sir Run Run Shaw ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่ถึงแม้ว่า Sir Run Run Shaw จะอายุมากขึ้น ๆ เขาก็ยังไม่วางมือจากธุรกิจ และเป็นผู้บริหารต่อเนื่องมาจนได้ชื่อว่าเป็น Boss หรือ เจ้านาย ที่อายุมากที่สุดในโลก

Shaw Brothers Studio ธุรกิจครอบครัวที่ผู้บริหารอายุ 103 ปี และไม่มีผู้สืบทอด

มากประสบการณ์ หรือ อยู่นานเกินไป

โดยทั่วไปแล้ว การมีผู้บริหารที่ตำรงตำแหน่งยาวนานอาจเป็นผลดีต่อธุรกิจ เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ เข้าใจองค์กร มีบารมีที่สั่งสม มีเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจราบรื่น

แต่การดำรงตำแหน่งที่ยาวนานเกินไปก็อาจส่งผลเสียมาต่อธุรกิจเช่นกัน เพราะทำให้ธุรกิจขาดการเปลี่ยนแปลง ไม่มีแนวคิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่คิดนอกกรอบเดิม ๆ ธุรกิจก้าวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางการงานของคนในองค์กรอีกด้วย

แล้วการที่ Sir Run Run Shaw เป็นผู้บริหารนานขนาดนี้ดีหรือไม่ดีต่อธุรกิจ

คำถามนี้มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะในปี 2006 เขาป่วยเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคปอดบวม ราคาหุ้น TVB กลับดีดตัวสูงขึ้นเกือบ 20% สะท้อนถึงความคาดหวังของผู้ถือหุ้นว่า การป่วยของเขาน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร

แต่เมื่อหายป่วยแล้ว Sir Run Run ก็ยังกลับไปทำงานต่อที่ TVB เหมือนเดิม

ธุรกิจไร้ทายาท

หนึ่งในเหตุผลที่ Sir Run Run Shaw ไม่ยอมวางมือจากธุรกิจแม้ว่าจะมีอายุร่วมร้อยปี เพราะเขาไม่มีแผนสืบทอดบริหารกิจการต่อ ต่างจากธุรกิจของพี่ชาย Runde และ Runme ที่มีทายาทรับช่วงต่อ

เขาแต่งงาน 2 ครั้ง มีลูกชาย 2 คนและลูกสาว 2 คนกับภรรยาคนแรก แต่ไม่มีใครทำงานที่ Shaw Brothers หรือ TVB เลย ส่วนภรรยาคนที่ 2 ก็ไม่มีลูก จึงไม่มีทายาททางสายเลือดที่จะสืบต่อธุรกิจ เมื่อเขาตัดสินใจเกษียณอายุในปี 2010 ในอายุ 103 ปี เขาจึงส่งต่อการบริหาร TVB ให้แก่ภรรยาที่อายุ 79 ปี

แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว ก็ตัดสินใจขาย TVB ไป ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2014 ที่ฮ่องกงด้วยวัย 106 ปี

เรื่องราวของ Sir Run Run Shaw สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของธุรกิจครอบครัว ได้แก่ การสืบทอดธุรกิจ ซึ่งถ้าหากสืบทอดไปสู่ทายาททางสายเลือดไม่ได้ ทางเลือกที่เหลือก็คือการหาผู้บริหารจากภายนอก หรือขายกิจการในขณะที่กิจการกำลังรุ่งเรือง

การยื้อบริหารธุรกิจนานเกินไปอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจได้ โดยเฉพาะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน

และท้ายที่สุดแล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องขายธุรกิจไปอยู่ดี

Shaw Brothers Studio ธุรกิจครอบครัวเจ้าของหนังกำลังภายใน ที่ผู้บริหารมีอายุมากที่สุดในโลก และไม่มีผู้สืบทอด

ข้อมูลอ้างอิง

Morten Bennedsen and Joseph P.H. Fan, The Family Business Map, Palgrave Macmillan, New York, 2014.

https://en.wikipedia.org/wiki/Runje_Shaw

https://en.wikipedia.org/wiki/Runde_Shaw

https://en.wikipedia.org/wiki/Runme_Shaw

https://en.wikipedia.org/wiki/Run_Run_Shaw

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต