เรื่องเล่า 6 ประการของ ‘บ้าน’ ที่แปลว่าเท่าเทียม บ้านหลังนี้ชื่อว่า The Setara

The Setara เป็นภาษาอินโดนีเซีย ออกเสียงว่า เดอะเซอตารา

The Setara เป็นที่รวมความทรงจำและตัวตนของ ต้น-สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ เจ้าของบ้านผู้สนใจประวัติศาสตร์ มีแพสชันด้านการทำอาหาร และงานศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร

The Setara เป็นบ้านพักผ่อนที่ผสมผสานความชอบ จากการทำงานค้นคว้าเรื่องราวสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคอย่างจริงจังของทั้งเจ้าของบ้าน สถาปนิกผู้สร้างต้นแบบ คือ ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และบริษัท HUES development ของสองสถาปนิกหญิงผู้ลงมือพัฒนาลายเส้นสเก็ตช์ 5 – 6 แผ่นจากอาจารย์ชาตรี ให้กลายเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและขุนเขาในจังหวัดเชียงใหม่

และนี่คือเรื่องเล่าน่าประทับใจ 6 ประการของบ้านที่แปลว่าเท่าเทียมหลังนี้

The Setara บ้านของคนบ้าอาร์ตเดโค ที่ออกแบบจากโรงพยาบาลร้างและตึกมากมายในลพบุรี

ประการที่ 1
เป็นบ้านที่สะท้อนตัวตน ความทรงจำ และการเดินทาง

“ผมเกิดและโตในนิคมสร้างตนเองที่พระพุทธบาท สระบุรี เรียนที่อำเภอเมืองลพบุรี สองพื้นที่นี้สำหรับผมคือหนึ่งเดียวกัน ตั้งแต่ ป.1 ทุกวันผมต้องไปโรงเรียนที่ลพบุรี ตอนเย็นก็กลับมาบ้านที่สระบุรี

“อำเภอพระพุทธบาท สระบุรี กับอำเภอเมืองลพบุรี อยู่ติดกัน เป็นพื้นที่ร่วมของโครงการนำร่องในการพัฒนานิคมสร้างตนเองแห่งแรกของประเทศไทย เป็นคล้าย ๆ ความใฝ่ฝันของรัฐบาลใหม่ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สร้างเมืองรูปแบบใหม่ ทดลองสร้างรูปแบบอาคารราชการเป็นอาร์ตเดโค มีการจัดสรรที่ดินทำกิน เป็นนโยบายเพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำกิน เป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะเกิดนิคมหลายแห่งทั่วประเทศ ที่สำคัญ จังหวัดลพบุรีเป็นเมืองใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2483 มีการออกแบบอาคารต่าง ๆ มากมาย ในช่วงเวลานั้นลพบุรีเป็นเมืองที่ทันสมัย มีโรงหนัง มีโรงพยาบาลอานันทมหิดล มีอาคารสำคัญทางราชการ ผมได้เห็นอาคารเหล่านั้นมาตั้งแต่เด็ก”

คุณต้นเริ่มเล่าที่มาของความทรงจำที่เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ จากลพบุรีเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นไปเรียนต่อที่มาเลเซีย ทำวิจัยที่อินโดนีเซีย และทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ก่อนจะย้ายมาลงหลักปักฐานทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างในทุกวันนี้

“ผมสนใจประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่นอกเมืองหลวง เราชอบงานสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค สะสมมาตั้งแต่เด็ก ๆ ตึกต่าง ๆ ในลพบุรี วงเวียน หรือแม้กระทั่งกรงสัตว์ในสวนสัตว์ มันคืออาร์ตเดโคแทบทั้งหมด เมื่อผมได้ไปศึกษาต่อ ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ได้ไปรู้จักอาร์ตเดโคที่บันดุง ซึ่งทุกวันนี้บันดุงเป็นเมืองที่มีอาคารอาร์ตเดโคสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

The Setara บ้านของคนบ้าอาร์ตเดโค ที่ออกแบบจากโรงพยาบาลร้างและตึกมากมายในลพบุรี
The Setara บ้านของคนบ้าอาร์ตเดโค ที่ออกแบบจากโรงพยาบาลร้างและตึกมากมายในลพบุรี

“ผมศึกษาด้วยความชอบ ผู้เชี่ยวชาญคือเพื่อนผม อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ตอนผมกลับจากอินโดนีเซีย ได้ไปฟังอาจารย์ชาตรีนำเสนอเรื่องนี้ในเวทีไทศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2551 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟังแล้วตื่นเต้น สิ่งที่เขานำเสนอคือบ้านเรา ทำไมเราไม่เคยรู้รายละเอียด หรือเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นอาร์ตเดโค ทำไมต้องมีเสา 6 ต้น ทำไมต้องมีหน้าต่าง 6 บาน ทำไมต้องมีลวดลายแบบนั้น หรือการถอดรหัสอื่น ๆ ฟังแล้วสนุก จากนั้นก็เข้าไปคุย แล้วก็เป็นเพื่อนกันครับ ผมเลยได้ไปดูอาคารเก่าหรือสิ่งที่คณะราษฎรทำไว้เป็นอาร์ตเดโคกับอาจารย์ชาตรี

“เมื่อไปอ่าน ศึกษา เก็บเอกสารจริง วัตถุทางประวัติศาสตร์จริง พอจะทำบ้าน ก็คิดว่าเวลาที่เราอยู่ในบ้าน เราอยากอยู่กับอะไรบ้าง เราอยากอยู่กับความทรงจำของเรา อยากอยู่กับของที่เราเก็บ อยากอยู่กับกิจกรรมที่เราชอบ ผมชอบทำกับข้าว มีของที่เรารัก มีสเปซ และมีรูปทรงที่เป็นความทรงจำหรือสิ่งที่ชอบ บ้านหลังนี้คือบ้านที่ตามใจคนอยากได้”

จากความทรงจำกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เมื่อคุณต้นทาบทามอาจารย์ชาตรีให้เป็นผู้ออกแบบบ้าน โดยตั้งใจให้เป็นอาคารอาร์ตเคโด อาจารย์ชาตรีเลือกตึกปฏิบัติการแพทย์ในโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ซึ่งคุณต้นคุ้นเคย เป็นต้นแบบหลัก ร่วมกับองค์ประกอบบางส่วนของอาคารศัลยกรรม ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลอานันทมหิดลเช่นเดียวกัน

“สำหรับผม ความน่าสนใจของตึกปฏิบัติการแพทย์คือความร้าง (คุณต้นชี้ให้ดูภาพถ่ายตึกปฏิบัติการแพทย์ที่ใส่กรอบแขวนประดับบ้านไว้ พร้อมอธิบายเพิ่มเติม) ภาพอาคารผมถ่ายไว้เยอะ หลายช่วง แต่ผมชอบภาพนี้ เพราะถ่ายในเดือนเมษายนซึ่งแล้งมาก พอถ่ายภาพออกมามันดูเหงา ตึกขนาดใหญ่ก็ดูเหงาอย่างนี้แหละ

“ผมชอบความร้างของตึก เพราะในปัจจุบันไม่มีการทำงานใด ๆ และไม่เคยถูกบูรณะจริง ๆ จึงให้ความรู้สึกดิบมาก ๆ รู้สึกได้ถึงการใช้งานวันแรกจนถึงวันที่ถูกปล่อยร้าง เด็กลพบุรีสมัยก่อนคุ้นเคยกับโรงพยาบาลอานันทมหิดล เวลาจะไปทำฟัน ประกวดฟัน หรือทำกิจกรรมที่โรงเรียนพาไป ก็จะเข้าออกโรงพยาบาลนี้ตลอด ตอนเด็ก ๆ ยังไม่รู้อะไรมาก แต่พอโตขึ้นก็เริ่มเห็นมิติอื่น ความชอบก็มากขึ้น

The Setara บ้านของคนบ้าอาร์ตเดโค ที่ออกแบบจากโรงพยาบาลร้างและตึกมากมายในลพบุรี

“ส่วนตึกศัลยกรรม เป็นตึกที่ตัวอาคารเหมือนเรือดำน้ำเลยครับ เราก็เอาหน้าต่างมาใช้กับบ้าน และไอเดียอีกอันหนึ่งที่นำมาใช้ คือส่วนของชั้นลอยที่เปิดให้มองลงมายังโถงด้านล่าง ในตึกศัลยกรรมนั้น นักเรียนจะขึ้นไปบนชั้นลอยเพื่อมองลงมายังชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ผ่าอาจารย์ใหญ่

“พอจินตนาการว่าเราเป็นนักเรียนที่กำลังมองการผ่าตัดจากด้านบน ผมว่ามันเป็นการออกแบบที่เท่มากใน พ.ศ. 2481

“ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ ผมคิดว่า เวลาได้เห็นว่าเรามาจากไหน เราเกิดมายังไง เราถูกหล่อหลอมมาด้วยอะไร เราเชื่อมโยงกับอะไร มันทำให้รู้สึกว่า เออ ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เหมือนกับเราได้เชื่อมต่อ เราเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าให้ฟัง หลังจากนั้นเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่จะถูกเล่าต่อไปข้างหน้า ผมคิดว่าความเป็นตัวตนของเราก็คือ ยิ่งรู้ประวัติศาสตร์ว่าเรามายังไง จะรู้สึกว่าเราเป็นคนที่เล็กมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกกาลเวลาผ่านไป”

ประการที่ 2
เป็นบ้านอาร์ตเดโคที่ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในแกลเลอรี่ และย้อนกลับเข้าไปในประวัติศาสตร์

การนำรูปแบบสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะ มาเป็นบ้านอยู่อาศัยหรือบ้านพักผ่อน เรียกว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ เพียงลอกแบบสิ่งที่ตามองเห็น เพราะสเกลและฟังก์ชันการใช้งานแตกต่างกันมาก ดังนั้น ไม่เพียงหน้าตาของต้นแบบอาคารที่สำคัญสำหรับบ้านหลังนี้ แต่การเข้าใจความงามกับเนื้อหาความเป็นมาของสถาปัตยกรรมในยุคดังกล่าว รวมถึงเข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็ว่าได้

คุณต้นบอกว่าในมุมมองของตนที่นับถือคริสต์ศาสนา การได้ทำงานร่วมกับทีมที่ดีนั้น คิดว่าเป็นเพราะพระเจ้าวางแผนไว้แล้ว “การทำบ้านอย่างนี้ ถ้าคนไม่เข้าใจ ก็คงไม่ได้ออกมาลงตัวแบบนี้ คือพูดได้ว่าบ้านหลังนี้มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ผม อาจารย์ชาตรี และ HUES development ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปนิกที่สนใจอาคารอาร์ตเดโคในยุคราษฎร จึงเกิดเป็นส่วนผสมที่สำคัญของ The Setara ครับ”

คุณต้นกล่าวก่อนแนะนำ ออม-กุหลาบ เลิศมัลลิกาพร และ หมู-ณัฐชานันท์ โลห์ประเสริฐ สองสถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท HUES development ซึ่งมาพัฒนาต้นแบบสเก็ตช์จากอาจารย์ชาตรีให้กลายเป็นบ้านหลังนี้

แรกทีเดียวคุณต้นมองหาคนมาวางผังแลนด์สเคปให้บ้าน เพราะในตอนนั้นมีวิศวกรช่วยถอดแบบสเก็ตช์ให้กลายเป็นแบบก่อสร้างอยู่แล้ว จึงได้นัดพบกับคุณออมที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง

The Setara บ้านของคนบ้าอาร์ตเดโค ที่ออกแบบจากโรงพยาบาลร้างและตึกมากมายในลพบุรี

“พอได้ฟังเรื่องราวที่มาของบ้าน ออมตื่นเต้นมาก กลับไปเล่าให้คุณหมูฟัง เราทั้งคู่เห็นตรงกันว่าอยากทำ งานอื่น ๆ เราไม่เคยบอกลูกค้าว่าอยากทำนะคะ จะให้ลูกค้าตัดสินใจเอง แต่ตอนนั้นตั้งใจบอกคุณต้นว่าจะให้ทำตรงไหนก็ได้ แลนด์สเคปก็ได้ เราอยากมีส่วนร่วมในโปรเจกต์ อยากดูมันไปด้วยกัน ออมว่าโปรเจกต์นี้พิเศษมาก เราจึงต้องตรงไปตรงมากับความรู้สึกของเรา

“แบบสเก็ตช์ของอาจารย์ชาตรีมีประมาณ 5 – 6 แผ่น มีแปลนแล้วก็รูปบ้าน ถ้าไปเขียนโดยใช้ต้นแบบเป็นบ้านโมเดิร์นสมัยใหม่ จะดูแข็งมากหากไม่ลงรายละเอียด เราเลยตัดสินใจขอพัฒนาต่อ และอาจารย์ชาตรีก็เห็นด้วย ก่อนลงมือเราก็ขอคุณต้นว่า ถ้าทำแบบเสร็จแล้ว ขอไปให้อาจารย์ชาตรีตรวจนะ แล้วก็ได้คุยกันกับอาจารย์ชาตรี ส่วนรายละเอียดของบ้านที่เหลือเราก็คุยกับคุณต้น”

คุณหมูเล่าเสริมว่า “ด้วยความที่เราน่าจะคิดตรงกัน เพราะเราอินกับแบบร่างสเก็ตช์ของอาจารย์ชาตรี และเราว่าบ้านมันน่าจะไปได้ไกล ไปได้ดี คือตัวงานสถาปัตยกรรมเป็นงานในยุคก่อน ซึ่งโอกาสที่เราจะได้กลับไปทำงานสถาปัตยกรรมในยุคนั้นมันยากมาก” เธอหันไปมองหน้าคุณออม ก่อนที่คุณออมจะให้ข้อมูลเพิ่มว่า

“ใช่ค่ะ ส่วนใหญ่งานที่ได้ทำจะเป็นแนวสมัยใหม่ งานนี้จึงดึงดูดเราทั้งคู่เหมือนกัน ถ้าถามเหตุผลก็คือ หนึ่ง เราสนใจเนื้อหาของคณะราษฎร สนใจเรื่องประวัติศาสตร์สังคมอยู่แล้ว และสอง คือ ในตัวงานสถาปัตยกรรมมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันอยู่ในนั้น มีภาษา มีความหมาย มีอะไรบางอย่างที่เราอยากเรียนรู้อีกเยอะ

“พอดูงานอาร์ตเดโคเก่า ๆ หรือดู Reference ส่วนใหญ่เป็นอาคารสาธารณะ ตึกหรืออาคารขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อต้องมาทำเป็นบ้าน สเกลต้องเล็กลงเยอะ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทาย จะทำยังไงให้ดูอบอุ่น ดูเป็นบ้าน ไม่ใช่เข้าไปอยู่ในออฟฟิศ โรงพยาบาล หรือศาลากลาง นี่คือโจทย์ที่เราต้องคิดเยอะ ๆ

The Setara บ้านของคนบ้าอาร์ตเดโค ที่ออกแบบจากโรงพยาบาลร้างและตึกมากมายในลพบุรี

“ฟังก์ชันบ้านหลังนี้ไม่เหมือนบ้านทั่วไป ต้องมีพื้นที่รับแขกที่จะมานั่งตรงโน้น ตรงนี้ เดินไปข้างบน หรือเดินดูของสะสมของคุณต้น ที่นี่จึงคล้ายแกลเลอรี่นิดหนึ่ง เราก็ต้องออกแบบให้ไปด้วยกันได้ ทั้งในส่วนที่เจ้าของบ้านและครอบครัวอยู่ รวมทั้งส่วนที่เพื่อน ๆ จะเข้ามาใช้พื้นที่”

สถาปนิกทั้ง 2 ท่านอธิบายว่า ก่อนลงมือพัฒนาแบบ จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลให้มาก

“เพราะตัวต้นแบบมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะอาร์ตเดโคมีความหมายทั้งทางประวัติศาสตร์และมีความหมายต่อเจ้าของบ้าน มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างอยู่ในนั้น เรากลัวว่าอาจจะหลุดคอนเซ็ปต์ได้ จึงต้องทำการบ้านเยอะ ค้นคว้าข้อมูลเยอะมากค่ะ

“นอกจากนั้นก็ต้องดูสเกลบ้านด้วย คือตึกสมัยนั้นจะเป็นสาธารณะใช่ไหมคะ เราก็ดูบ้านในยุคสมัยนั้นควบคู่ไปด้วย ศึกษาอินทีเรียบ้านในยุคนั้นเพิ่ม เอามาผสมกัน แล้วก็เก็บฟาซาดหรืออื่น ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจของคุณต้นเอาไว้ด้วย ที่สำคัญคือ การพัฒนาแบบต้องดูว่าจะเอาอะไรมาใช้ตรงไหนให้เหมาะสม ไม่ใช่ว่าดึงมาแล้วไม่เข้ากับตัวบ้าน

“ตอนที่เปลี่ยนฟังก์ชัน ก็ต้องมาออกแบบใหม่ว่าทำยังไงให้ได้มู้ดนั้น ต้องมองสเก็ตช์ของอาจารย์ชาตรีให้ออก ต้องดูให้เป็นอาร์ต ต้องเข้าใจมันก่อนให้ได้ ไม่ใช่แค่ก็อปปี้มา เพราะถ้าถอดแบบร่างมาแปลงเป็น 3 มิติเลย มันจะขาดความคิดบางอย่าง ดังนั้น ระหว่างทางจึงต้องเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของดีไซน์ ของพื้นที่ เพื่อให้ออกมาได้ใกล้เคียงสเก็ตช์ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่ใกล้เคียงแบบเหมือน แต่ใกล้เคียงในเชิงความหมาย

“อย่างแรกเราจึงต้องตีความก่อนว่า อะไรจะเป็นกิมมิก เป็นการบ่งบอกเรื่องราว เรามาตีความหมายใหม่ทั้งหมดเลยว่าอะไรอยู่ตรงไหน เช่น หน้าต่างเรือดำน้ำที่คุณต้นส่งมา จะอยู่เป็น Approach ของทางเข้าบ้าน ทีนี้ก็มาดูว่าจะเข้ากันไหม สเกลจะได้ไหม อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราต้องกลับมาคราฟต์ใหม่ คือ เอาไอเดียต่าง ๆ มาโยนแล้วกลับมาปั้นใหม่ให้มันออกมาจนโอเค เจ้าของบ้านและอาจารย์ชาตรีก็ต้องเห็นด้วย”

คุณออมกับคุณหมูช่วยกันเล่าย้อนถึงวันที่ทำงานอย่างหนัก ในช่วงพัฒนาแบบก่อนลงมือสร้างจริง ส่วนคุณต้นพาเดินชมบ้าน พร้อมพูดภาพรวมว่า

The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน
The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน

เราดึงเอากลิ่นของตึกปฏิบัติการมา อย่างตรงนี้เป็นพื้นที่ทำกับข้าว ส่วนห้องนอนอยู่ด้านล่าง แบ่งสัดส่วนไป เดิมทีมีบันไดขึ้นไปบนดาดฟ้า เพื่อให้เหมาะกับงบประมาณและใช้งานได้จริง แบบแรกที่อาจารย์ชาตรีเขียนร่างไว้ให้ ตรงบันไดทางขึ้นด้านบน เราทำเหมือนตึกปฏิบัติการเลย คือเป็นบันไดปูนโค้งขึ้นไปข้างกรอบหน้าต่าง ส่วนหน้าต่างตรงห้องอาหารที่เป็นผนังบ้านนี้ ออมกับหมูออกแบบเพื่อให้มองเห็นพระอาทิตย์ตกดินจากตรงนี้”

ไม่เพียงรูปทรงอาคารและฟังก์ชันที่เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างหนักของสถาปนิกและเจ้าของบ้าน เพื่อให้เกิดความลงตัวในรูปแบบของอาคารอาร์ตเดโค แต่ดีเทลการแต่งบ้านและการเลือกใช้สีกับอาคารหลังนี้ยังมีความพิเศษ รวมไปถึงรูปแบบหัวเสาที่รั้วของบ้าน

“การออกแบบรายละเอียดคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานดูเป็นอาคารอาร์ตเดโค ต้องเลือกสรรวัสดุมากค่ะ เพราะเราย้อนกลับไปใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุแบบยุคนั้นไม่ได้ แต่ละอย่างกว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น (หัวเราะ) ทุกอย่างต้องไม่หลุดเลย อย่างกระเบื้องกรุเคาน์เตอร์ครัว จะไปซื้อกระเบื้องใหม่เลยก็ไม่ได้ เลยต้องหาโรงงานทำกระเบื้องแบบแฮนด์เมดได้ที่แม่ริมเซรามิก โปรเจกต์เราเล็กมาก ก็ต้องไปขอให้เขาทำให้เฉพาะ”

ส่วนการใช้สีของบ้านหลังนี้ คุณออมเขียนอธิบายไว้ในเว็บไซต์นำเสนองานของบริษัทว่า “เราออกแบบ Pantone Set ขึ้นมาใหม่สำหรับอาคารหลังนี้ โดยตั้งชื่อว่า The 2475 เซ็ตสีที่จัดทำขึ้น เราเลือกสีงานที่ปรากฏบ่อย ๆ ในงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร”

คุณต้นเล่าว่าหัวเสาของรั้วที่เห็นด้านหน้า มีต้นแบบมาจากประตูโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศไทย ชื่อ โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง อยู่ที่เกาะคา สร้างใน พ.ศ. 2481 โดยปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้เหมาะกับพื้นที่

“รั้วของบ้านเอาแบบหัวเสา ซึ่งเป็นอาร์ตเดโคในโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศไทย แต่ด้านบนของจริงตามแบบจะเป็นหัวลูกศรขึ้นไป เรามาปรับให้แบน และประตูจริงแคบมากครับ ผมก็มาปรับให้กว้างขึ้น ส่วนสีเขียวขี้ม้าเป็นสีของหัวเสาทุกวันนี้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเดิมเป็นเขียวแบบไหน”

เมื่อพูดถึงเนื้อหาความงามของอาคารอาร์ตเดโด คุณต้นเล่าอย่างมีชีวิตชีวาว่า

อย่างหนึ่งคือการกลับไปหารูปทรงที่เป็นเบสิกของลายเส้นสมมาตร ซึ่งออกแบบจัดวางเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของยุคสมัยในการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก ถ้าเราย้อนกลับไป ผมว่ามันเท่โดยตัวเองอยู่แล้วในเชิงช่วงเวลา แต่การมาของงานศิลปะสถาปัตยกรรมยุคนั้น ซึ่งพูดเฉพาะส่วนที่ผมศึกษานะครับ ผมคิดว่ามันไม่ได้มาโดด ๆ เพราะอาคารจำนวนมากสร้างเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เป็น Public Space หรือ Public Use อาจารย์ชาตรีเรียกว่า PWA (Public Works Administration)

“ในทางประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของอาคารพวกนี้ เป็นอาคารที่ภาครัฐทำเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมาอยู่ในพื้นที่ของเอกชน ผมว่ามันสนุก เพราะมันต่างกัน อย่างอาคารที่เป็นโรงหนังกับอาคารที่เป็นศาลาว่าการจังหวัด และอาคารที่เป็นบ้านส่วนตัว เราก็จะเห็นการเล่นกับรายละเอียดเพื่อทำให้เกิดสุนทรียะ หรือการทำให้เกิดความงามจากความแข็งทื่อ ที่ต้องดูขึงขังในแง่ของการเป็นอาคารรัฐ แต่พอบ้านส่วนตัว มันมีภาวะของการลดทอนให้มันสวย ผมชอบ

“มันต้องใช้การออกแบบหรือการเล่นกับสรีระที่เป็นรูปทรงเดียวกัน แต่ทำยังไงให้ดูสวยไม่เหมือนกัน มันคือการบิด เหมือนเราเอารูปทรงเรขาคณิตหรือเลโก้มาบิดให้สวยได้ไม่เหมือนกัน ผมว่าเท่ดี นอกเหนือไปจากประวัติศาสตร์ที่อยู่ข้างหลัง

“การกลับไปหาช่วงเวลานั้น คุณออมกับคุณหมูเขาทำงานเยอะในเรื่องการออกแบบ หาสี หากลิ่น หาแรงบันดาลใจ ผมว่ามันไม่ง่ายที่จะกลับไปวันนั้น แล้วเข้าใจอารมณ์การออกแบบที่เราจะเข้าถึง และฟื้นให้เป็น Revivalism ได้ ต้องทำการบ้านเยอะ นี่อาจเป็นชิ้นเดียว เป็นงานคราฟต์ ผมยังถามเขาเลยว่าจะได้ทำอีกไหมเนี่ย”

The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน

“คงไม่ได้ทำ คงไม่มีแล้วค่ะ มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วก็คงไม่มีใครจ้างด้วย” คุณออมตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

คุณต้นเล่าเชื่อมโยงถึงงานสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นร่วมสมัยใน พ.ศ. 2475 – 2490 อย่างสั้น ๆ ว่า

“บางครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงเดียวกันของประเทศเรากับเพื่อนบ้านก็เชื่อมกันนะ พอมองย้อนกลับไป มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระนาบเดียวกัน อาร์ตเดโคเป็นสิ่งที่เข้ามาในช่วงเดียวกัน ที่ฟิลิปปินส์ก็มีอเมริกาเข้ามาวางรากฐาน จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราเห็นตึกอาร์ตเดโคที่มาจากอเมริกาเต็มไปหมดเลย

“ส่วนในอินโดนีเซีย มีอาคารที่ดัตช์สร้างเป็นเมืองอาร์ตเดโคที่บันดุง ซึ่งเป็นเมืองสมัยใหม่ก่อนที่จะเป็นเอกราช อาคารอาร์ตเดโคที่เยอะที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ใน Southeast Asia ก็อยู่ที่นั่น อาคารเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายสาธารณะของดัตช์ เขาต้องการลดความไม่พอใจของคนที่นั่น พยายามแก้ปัญหาในอินโดนีเซียที่เขาปกครอง สปิริตบางอย่างของคำนี้ มันคือความเท่าเทียม แล้วตัวอาร์ตเดโคก็มาพร้อมกับไอเดียการเป็นสถาปัตยกรรมของความเท่ากัน คือ การตีความของคนออกแบบ และการเปลี่ยนแปลงของสปิริตของหลัก 6 ประการ

“พอตีความออกมาเป็นรูปทรงของอาคารก็เป็นแบบที่ว่า ในบ้านเราที่เห็นหลายที่ เช่น ตึกไปรษณีย์กลางบางรัก อาคารในถนนราชดำเนิน ตึกสถาปัตย์ฯ ตึกเคมีฯ ที่จุฬาฯ ตึกในอุเทนถวาย สนามศุภชลาศัย เป็นต้น ก่อนหน้านี้คนอาจลืมไป ไม่ได้เชื่อมโยงว่ามันคืออาร์ตเดโค ส่วนตอนนี้คนเริ่มกลับมาสนใจ แต่จะกลับไปลึกขนาดไหนก็แล้วแต่ อาร์ตเดโคในโลกตะวันตกก็ยังคงมีการอนุรักษ์อยู่ มีกลุ่มในเฟซบุ๊ก มีในลาตินอเมริกา ในอเมริกา ทั่วโลกมีหมด นี่คือความเท่ที่มาจากความเรียบซึ่งเต็มไปด้วยความหมาย

“พอเราเห็นความเชื่อมโยงและเข้าใจว่าอาคารพวกนี้มีที่มาที่ไป ก็ยิ่งเกิดความสนใจ เรื่องเหล่านี้อยู่ในท้องถิ่น แต่ไม่ได้อยู่ในแบบเรียน บางท้องถิ่นก็เป็นเรื่องเล่า เป็นเรื่องปะติดปะต่อกันมา เกินจริงบ้าง แต่ก็มีมูลบางอย่างนะ

“เราก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในการออกแบบอาคารของโลกเหมือนกัน เพียงแต่ว่ากลุ่มอาคารชุดนี้ ถูกออกแบบและจัดการด้วยนโยบายสาธารณะของรัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมันอยู่ที่บ้านเรา นี่คือความพิเศษของที่ที่ผมจากมา”

The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน

ประการที่ 3
เป็นบ้านที่เกี่ยวเนื่องกับเลข 6 (ไม่เว้นแม้แต่เรื่องบังเอิญ)

เรื่องราวของเสา 6 ต้นใน The Setara ปรากฏในวิดีโอที่คุณต้นทำขึ้นเป็นการส่วนตัว เพื่อบันทึกที่มาและความทรงจำเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ ช่วงหนึ่งคุณต้นบรรยายไว้ว่า

“รายละเอียดต่าง ๆ ทั้งอาจารย์ชาตรีและบริษัท HUES development ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อจะธำรงไว้ซึ่งค่านิยมหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งทำให้บ้านหลังนี้พิเศษในเรื่องการนำค่านิยมหลัก 6 ประการมาอยู่ในตัวบ้าน”

ขณะที่ HUES development เขียนถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเลข 6 ไว้ในเว็บไซต์ว่า

“บ้านหลังนี้ได้วางอยู่บนเสาทั้งหมดเพียง 6 ต้น และวางบนช่วงเสาที่มีระยะห่างเท่า ๆ กันทั้งหมดที่ระยะ 6 x 6 เมตร ความสูงอาคารรวม 6.6 เมตร ยกระดับพื้นสูงจากที่ดิน 0.6 เมตร สัดส่วนเส้นโค้งในบ้านใช้รัศมี 0.6 เมตร ทั้งหมดนี้เราได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่นิยมใช้เลข 6 จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎรในงานสถาปัตยกรรมสมัยนั้น”

ในแง่การออกแบบบ้าน 1 หลัง แต่มีเสาเพียง 6 ต้นนั้น จะรองรับฟังก์ชันได้มากน้อยเพียงใด คุณออมอธิบายว่า

“ตอนพัฒนาแบบจากอาจารย์ชาตรี เราบอกไปว่าทำไม่ได้ทั้งหมดจากแบบร่างแรก ตอนนั้นก็ต้องคุยกับคุณต้นว่า อะไรที่เป็นของสำคัญสุดของคอนเซ็ปต์นี้และน่าเก็บไว้ อย่างเสา 6 ต้นเราต้องทำให้ได้ ถือเป็นเรื่องยากนะคะ เพราะมันน้อยมาก ลองนึกภาพเวลาทำห้อง มันจะมีเสามารับตรงจุดที่คิดว่าควรเพิ่ม แต่คอนเซ็ปต์ของบ้านหลังนี้ คือ เสา 6 ต้น และระยะห่างแต่ละเสาคือ 6 เมตร ทุกด้านเลย

“พอเริ่มพัฒนาแบบ เราจึงตั้งใจไว้เลยว่า อันไหนที่ใช้เลข 6 ได้ ก็จะพยายามใช้ อย่างความสูงของบ้านก็ 6.6 เมตร มันทำให้เราสนุกกับงานน่ะค่ะ ตั้งใจว่าต้องทำให้ได้ อันไหนยากก็ต้องคุยกับวิศวกรว่าจะทำยังไงได้บ้าง ถ้าเพิ่มเสาไม่ได้ก็ใช้การเพิ่มคาน หรือเสาอาจลึกหน่อย คือตรงไหนปรับได้ก็จะปรับ แต่ฐานความคิดเรื่อง 6 x 6 นี่คงไว้ตามแบบร่างแรก”

คุณหมูเสริมว่า “ความคิด 6 x 6 มันไม่ได้ยาก จุดที่ยากคือจะต้องจัดฟังก์ชันทั้งหมดให้อยู่ในพื้นที่แค่นี้ให้ได้”

เดินทางผ่านเรื่องราวเลข 6 ที่เป็นหัวใจของบ้านแล้ว ยังมีเลข 6 ที่เกี่ยวพันอย่างบังเอิญอีกหลายเหตุการณ์ เมื่อไล่ย้อนถึงช่วงเวลาพัฒนาแบบดีไซน์จนแล้วเสร็จพร้อมสร้าง คุณออมบอกว่าใช้เวลาราวครึ่งปี (6 เดือน) และเมื่อลงมือก่อสร้าง ทีมช่างที่เข้ามาทำบ้านของคุณต้นก็มีด้วยกัน 6 คน

“ผมว่าการทำงานบ้านหลังนี้ค่อนข้างราบรื่นในแง่การก่อสร้าง คนที่ทำ ช่างรับเหมาก็คุยกันรู้เรื่อง เขาเก่งนะผมว่า อ้อ! คนทำก็มี 6 คนด้วยความบังเอิญ เขามากัน 3 ครอบครัว มาอยู่ที่นี่ตลอดช่วงก่อสร้าง”

The Setara ใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 6 เดือน (เริ่มต้นมกราคม เสร็จสิ้นมิถุนายน ซึ่งคือเดือน 6)

ประการที่ 4
เป็นบ้านที่สร้างมิตรภาพ

หากกล่าวว่าบ้านหลังนี้ที่เกิดจากความร่วมมือของเจ้าของบ้าน นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และทีมสถาปนิกที่เพิ่งรู้จัก จนได้กลายเป็นเพื่อนในท้ายที่สุด ดูจะไม่เกินเลยจริง ๆ เพราะจากบทสนทนาระหว่างกันที่พูดถึง The Setara นั้นเต็มไปด้วยความทรงจำและเสียงหัวเราะ

คุณต้นเล่าถึงตอนคุยกับสองสถาปนิกสาวว่า “ผมคิดว่าเขาต้องเป็นคนที่โอเคนะ แน่นอนว่าทุกคนคงอยากได้งาน แต่เราไม่ได้เป็นบ้านโปรเจกต์ 10 – 20 ล้าน ไม่ได้อลังการอะไร ตอนเริ่มต้นเราอาจจะคุยกันไป รู้จักกันไป ทีนี้พอเจอกันบ่อย ก็คุยกันง่ายขึ้น พื้นที่ช่องว่างระหว่างกันก็ลดลง เป็นเหมือนเพื่อนกันไป”

“ออมชอบการทำงานบ้านหลังนี้ค่ะ ชอบตรงที่มันทำให้เรามีเพื่อน”

“The Setara ทำให้สิ่งปกติที่เราเห็นในแง่ความสัมพันธ์ของเจ้าของบ้านกับสถาปนิก ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างกับผู้ถูกว่าจ้างในทางข้อสัญญา มีอะไรมากกว่านั้น ที่แน่ ๆ คือผมไม่เคยเจอคนที่ ‘ขอทำได้ไหมคะ’ อย่างนี้ (หัวเราะ)”

“พวกเราไม่เคยรู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัว มารู้จักตอนทำงานกับคุณต้นนี่แหละค่ะ แต่พอเจอกันครั้งแรกนี่คุยกันยาวถึงเที่ยงคืนเลย (หัวเราะ)”

“จากบ้านหลังนี้ ผมรู้สึกว่าคุณออมกับคุณหมูมี Ownership ในการออกแบบ ไม่ใช่แค่ทำผลงาน แต่เขาทำงานที่รัก และมันก็เป็นบ้านที่เรารักด้วย”

ประการที่ 5
เป็นบ้านที่เจ้าของบ้านชอบทำอาหาร และแบ่งปันมื้ออร่อยกับเพื่อน ๆ

“นอกจากเรื่องบ้าน ที่ชอบและสนุกอีกอันคือ การทำให้สูตรอาหารเก่ามีชีวิต” คุณต้นพูดขึ้นด้วยดวงตาเป็นประกาย

“โดยที่เราไม่รู้ว่ารสชาติต้นฉบับเป็นยังไงนะครับ เพราะคนเขียนสูตรอาหารสมัยก่อนเขาไม่ได้เขียนละเอียด ตัวอย่างเช่นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ตำราแม่ครัวทันสมัยนิยม มีแกงชนิดหนึ่งชื่อว่า แกงประชาธิปไตย ในสูตรให้ใส่น้ำตาลทราย ถ้าเรารู้จักประวัติศาสตร์อาหาร การใช้น้ำตาลทรายในตอนนั้นมันไม่ง่ายนะ แล้วทำไมถึงเกิดขึ้นล่ะ

“มันเกี่ยวกับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแห่งแรก เมื่อ พ.ศ. 2481 ซึ่งตอนนั้นกำลังการผลิตไม่เยอะหรอก แต่คนทำตำราเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลสมัยนั้น เพื่อแนะนำให้คนใช้น้ำตาลทราย ตอนอ่านครั้งแรก ๆ ผมรู้สึกว่าการใช้น้ำตาลทรายสมัยนั้น ในปีนั้น มันแปลกมาก เลยลองทำดู พอทำออกมาปุ๊บ ซอสของเขาเหมือนกับซอสผัดไทยเลย ดังนั้น เซนส์ซอสผัดไทยของเรา Combination ของการเกิดน้ำมะขามกับน้ำตาล มันไม่ใช่ Combination ธรรมดา แต่มีที่มาที่ไป แกงประชาธิปไตยก็คล้าย ๆ กัน

The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน

“ที่ได้ชื่อว่าแกงประชาธิปไตย เพราะอาหารสูตรนี้เกิดขึ้นในปีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาที่เกิดสิ่งใหม่ ๆ ในประเทศ และผมก็ชอบชื่อนี้ ซึ่งเป็นชื่อเก่าของอาหารนี้เลย แต่ความหมายก็แล้วแต่ผู้คนจะมอง”

คุณต้นยังสะสมตำราอาหารจากหนังสือเก่าไว้มากมาย “ผมมีตำราจากหนังสือเก่า หนังสืองานศพคนนั้นคนนี้ในคณะราษฎร ที่มีเยอะ ๆ คือสูตรของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ซึ่งมีสูตรอาหารแปลก ๆ ใหม่ ๆ ให้ได้ลองทำ”

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจและแพสชันในการทำอาหาร คุณต้นย้อนความหลังสมัยเด็กว่า โตมาในครอบครัวที่เป็นร้านค้า แม่จึงยุ่งกับการทำงานแทบทั้งวัน ส่วนตนก็ต้องช่วยทำอาหาร

“ผมโตมาในยุคสมัยที่ไม่ได้ซื้อกินทุกวัน ที่บ้านเราต้องทำกับข้าวกินเอง ผมเป็นคนช่วยและทำเองบ้าง ไม่รู้หรอกว่าทำแล้วดีหรือไม่ดี แต่ตัวเองกินได้ ที่สำคัญคือสนุก และสนุกมากขึ้นเมื่อเข้าใจเทสต์กับโครงสร้างของมัน พอโตขึ้น เวลาทำอาหาร ยิ่งศึกษาเรื่องอาหารก็ยิ่งสนใจที่มาของเครื่องปรุง ประวัติศาสตร์การเดินทาง โปรตุเกส-มาเก๊า โปรตุเกส-โมซัมบิก โปรตุเกส-กัว เราก็เห็น อ้อ! พืชพรรณอาหารพวกนี้มากับการล่าอาณานิคม

“คนเรียนประวัติศาสตร์มักจะเนิร์ด ต้องรู้ ต้องแกะสิ่งที่อยู่ข้างหลังออกมา อย่างเนื้อตุ๋นวันนี้ เป็นโปรตุเกสผสมกับกวางตุ้ง เมนูเต้าหู้ที่จะทำ ทำให้เราย้อนไปถึงว่า เต้าหู้เป็นโปรตีนราคาถูกที่รัฐบาลยุคคณะราษฎรสนับสนุนให้กิน หลายอย่างผมก็ใส่ส่วนผสมที่เป็นของผมเข้าไปด้วย”

The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน
The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน

ประการที่ 6
บ้านที่เท่าเทียม… เป็นบ้านที่เท่ากัน

ช่วงหนึ่งของการสนทนา คุณออมพูดถึงความหมายของบ้านขึ้นมา แล้วอธิบายเชิงความงามตามมุมมองของสถาปนิกว่า “Setara แปลว่า ความเท่าเทียม ซึ่งแบบบ้านก็แบ่งเป็น 2 ด้านที่เท่ากัน เราจึงแบ่งบ้านออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ผนังนี้เป็นแกนแบ่งครึ่ง เป็นสมมาตรของอาร์ตเดโค ซึ่งเป็น 2 ก้อนที่สมมาตร แต่เราออกแบบให้ 2 ฝั่งสูงไม่เท่ากันเพื่อความสวยงามค่ะ ถ้าสูงเท่ากัน จะดูเป็นก้อนและตันมาก”

“ผมคิดว่าบ้านต้องมีชื่อ ถ้าทำทั้งทีก็ทำให้มันมีประวัติศาสตร์ มีชีวิต เหมือนเราไปปลุกชีวิต ปลุกสปิริตบางอย่างขึ้นมา โดยนำความเป็นส่วนตัว ความทรงจำ และการเดินทางของเราที่ได้ไปเห็นอาร์ตเดโคในที่อื่น ๆ มาอยู่ในบ้าน

“ผมชอบคำนี้แต่ไม่สามารถคิดเป็นภาษาไทยได้ บางทีเราต้องการจะ Code และใครอยากรู้ก็ไป Decode เอา เหมือนกับสิ่งที่ถูก Code ไว้ในอาคารใช่ไหมครับ ที่ออมเล่าถึงเสา 6 ต้น สูง 6 เมตร และจากตรงกลางไปซ้าย 6 เมตร ตรงกลางมาขวา 6 เมตร สูงขึ้นไป 6 เมตร 60 เซนติเมตร และรัศมี 0.6 เมตร”

ระหว่างการพูดคุย มีเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ถูกยกขึ้นเฉพาะเจาะจงกับคำถามใด ๆ หากแต่เรื่องราวนั้นถูกเล่าขึ้นมาในจังหวะพอเหมาะพอดีและมีพลัง

“วันที่บ้านเสร็จ จำได้เลยว่าภาพแรกที่ผมถ่าย เป็นภาพช่างก่อสร้างที่ทำบ้านผมทั้ง 6 คนด้านหน้าบ้าน ตอนนั้นช่างทั้งหมดกำลังเก็บของเตรียมกลับบ้าน แสงก็สวยด้วย ผมเดาว่าเขาคงไม่เคยได้ถ่ายภาพกับบ้านที่สร้างมาก่อน เขาก็อายกันนะ แต่มีคนหนึ่งยืนด้วยความภูมิใจมาก

“คนแรกที่ควรจะได้ถ่ายภาพกับบ้านของผมต้องเป็นคนนี้สิ คือแรงงานที่ทำ พวกเขาควรเป็นคนที่ถูกบันทึกเป็นกลุ่มแรกกับบ้านของผม”

The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน
The Setara HUES development  บ้านอาร์ตเดโคที่มีเสา 6 ต้น ห่างกัน 6 เมตร สูง 6.6 เมตร สร้าง 6 เดือน เสร็จเดือน 6 ด้วยคนงานแค่ 6 คน

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ