ในบรรดาซีรีส์ Netflix ครึ่งหลังของปี 2022 เรื่องที่น่าจับตามอง มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกันครับ เรื่องแรกคือ 1899 ของผู้สร้าง Dark เรื่องที่สอง The Midnight Club ของ Mike Flanagan (ผู้สร้าง The Haunting of Hill House กับ Bly Manor

และเรื่องที่มาก่อนใครเพื่อนที่ผมภูมิใจนำเสนออย่างยิ่ง คือ The Sandman (TV series) ซีรีส์มหากาพย์แฟนตาซีที่ดัดแปลงจากคอมิกชื่อดังของ Neil Gaiman (ผู้แต่ง American Gods, Good Omens, Caroline และ Stardust) เรียกได้ว่าเป็นผลงานสร้างชื่อที่สุดของผู้แต่งคนนี้ และเจ้าตัวยินดีปรีดาเป็นอย่างมากหลังจาก 30 ปีที่มีการพยายามดัดแปลงเป็นหนัง/ซีรีส์แต่ล้มเหลว The Sandman ฉบับซีรีส์ได้เกิดขึ้นในยุคที่ทุกอย่างพร้อมที่สุด

ในฐานะแฟนตัวยงผลงาน Neil Gaiman (อ่านว่า ‘นีล เกแมน’ นะครับ เจ้าตัวเคยออกมางอนคนเรียกนามสกุลผิดมาแล้ว) และแฟนซีรีส์ที่อ่านแล้วอ่านอีกหลายรอบ เลยอยากพาไปทำความรู้จักกับ The Sandman ว่าเกี่ยวกับอะไร และทำไมถึงห้ามพลาดเรื่องนี้ โดยเริ่มจากแนะนำเบื้องต้น ไล่เรียงถึงที่มาที่ไป วิบากกรรม ไปจนถึงจุดเด่นของซีรีส์ ซึ่งขณะเขียนบทความนี้ผมได้ชมครบ 10 Episode แล้ว แต่จะไม่เผยรายละเอียดสำคัญเพราะอยากให้ไปชมกันเอง

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

The Sandman ว่าด้วยเรื่องราวของ Dream หรือ Morpheus เจ้าแห่งความฝันที่ตัวผอม ผิวซีดเซียวในชุดคุมโทนสีดำ ผู้เป็น 1 ใน 7 เทพกลุ่ม Endless (ผมขอถือวิสาสะแปลว่า ‘เทพอนันตกาล’) ถูกเรียกตัวและคุมขังโดยมนุษย์สุดโอหังที่ต้องการฝืนธรรมชาติเป็นเวลา 105 ปี 

เมื่อเวลาผ่านไป เขาหนีออกมาได้ แต่จักรวาลมีโครงสร้างเหมือนบ้านหนึ่งหลัง และในเมื่อเป็นเวลานับศตวรรษที่ปราศจาก 1 ใน 7 เสาหลักสมดุลของจักรวาล ผลกระทบย่อมเกิดขึ้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จึงเป็นหน้าที่ของ Morpheus ที่ต้องทำให้ทุกอย่างกลับคืนมาครับ โดยเริ่มจากภารกิจตามหาไอเท็ม 3 สิ่ง คือ หน้ากาก ถุงทราย และทับทิมเปลี่ยนแปลงความเป็นจริง

ตัวละคร Dream ถูกตีความในแบบฉบับของนีล อิงจากความเป็นเทพความฝันและเล่นกับมิติความฝันในเชิงจิตวิทยาอย่างไม่เคยมีคอมิกเรื่องไหนในเวลานั้นทำมาก่อน และพาผู้อ่านโลดแล่นไปกับองค์ประกอบและทฤษฎีความฝันของตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง สร้างสรรค์ ผสมผสานกับเวทมนตร์ เต็มไปด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติ อิงศาสนาคริสต์ตามสไตล์ ความทะเยอทะยานสุดแสนจะน่ากลัวของมนุษย์ปุถุชนเมื่อมีอำนาจในกำมือ และมีตัวละครอันเป็นเอกลักษณ์น่าจดจำ

ถ้าจะว่ากันด้วยที่มาของตัวละคร The Sandman หรือ Dream คงต้องเท้าความไปถึงต้นขั้วซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่แถบยุโรปครับ เรื่องราวของ Sandman เริ่มต้นด้วยการเป็นนิทานพื้นบ้านที่ไม่มีจุดกำเนิดชัดเจนเท่าไหร่นัก สิ่งที่ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดค้นหาเจอ นอกจากคำบอกเล่าคือ เรื่องราวที่เขียนในศตวรรษที่ 18 โดยนักเขียนชาวเยอรมันที่ชื่อ E.T.A Hoffman เล่าเรื่องของ Der Sandmann ชายในยามวิกาล จะออกตามหาเด็ก ๆ ที่ไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน จากนั้นก็เอาทรายโรยบนตาจนลูกตาหลุดออกจากเบ้า แล้วเก็บมันใส่ถุงที่พกมาด้วย (สยองขวัญใช่เล่นเลยนะเนี่ย) จากนิทานก่อนนอนสำหรับขู่เด็กไม่ยอมนอนและไม่ใช่สำหรับเด็ก จน Sigmund Freud เอาไปใช้อ้างอิงในทฤษฎีจิตวิเคราะห์

ต่อมามีอีกเวอร์ชันที่เป็นมิตรกับเด็ก ๆ มากขึ้นของ Hans Christian Andersen ว่าด้วยเรื่องราวของ Ole Lukøie ชายในชุดนอนและถือร่ม ภายหลังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Sandman

นั่นทำให้ทำไปทำมา จากนิทานพื้นบ้าน Sandman กลายเป็นเทพแห่งความฝันและผูกโยงกับช่วงเวลาหลับใหลของผู้คนซะอย่างนั้น และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็ได้กลายมาเป็น ‘ฮีโร่’ ในที่สุด ในคอมิกของค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง DC ที่เป็นเจ้าของฮีโร่ Iconic อย่าง Batman และ Superman

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

ในช่วงเวลานั้นมีปรากฏการณ์หนึ่งเรียกว่า ‘British Invasion’ นิยามการมาของนักเขียนคอมิกจากอังกฤษ ซึ่งเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา 3 คนในนั้นคือ Alan Moore (ผู้แต่ง Watchmen, The League of Extraordinary Gentleman, V for Vendetta และ Swamp Thing), Grant Morrison และ Neil Gaiman ครับ

ก่อนหน้านั้น นีลเป็นนักวารสารหรือนักข่าว แล้วเข้าสู่โลกของคอมิกโดยการอ่าน Swamp Thing ของ Alan Moore และการได้รู้จักกับอลัน ซึ่งนอกจากชี้ทางแล้ว ยังเป็นผู้ขัดเกลานีลในเส้นทางสายนี้อีกด้วย หรือจะเรียกว่าอลันเป็นอาจารย์ของนีลก็ว่าได้ครับ แน่นอนว่าคนมีของมักจะถูกมองเห็น ในตอนนั้น Karen Berger บรรณาธิการของ DC ได้อ่านคอมิกเรื่องแรกของนีลที่ชื่อ ‘Black Orchid’ เธอจึงชวนมาเขียนคอมิกให้กับค่ายลูกของ DC ชื่อ Vertigo ที่จะโจ่งแจ้งทั้งเพศ ภาษา ยาเสพติด และความรุนแรง “เราต้องการ Sandman คนใหม่ เอาแค่ชื่อไปใช้ แล้วจะเปลี่ยนจะทำอะไรกับมันก็ขึ้นอยู่กับคุณเลย” นี่คือสิ่งที่ Karen บอกนีล 

จึงเกิดเป็นคอมิก The Sandman ขึ้นในปี 1989 ครับ ซึ่งกลายเป็นว่าคอมิกที่มีตัวละครชื่อกลาง ๆ กับอยู่ในค่ายกระแสรอง ยอดขายพุ่งทะยานจนแซงผลงานอาจารย์ตัวเองอย่าง อลัน มัวร์ และขายดีกว่าคอมิกฮีโร่ Iconic ของค่าย DC อย่าง Superman และ Batman ในตอนนั้นซะอีก ในช่วงที่แรก ๆ The Sandman สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยความเฉพาะตัวของปกและเนื้อเรื่อง คือทำให้ผู้หญิงหันมาสนใจคอมิกอีกด้วย จากที่ในช่วงเวลานั้นปกติจะมีแต่เด็กผู้ชายอ่านซะส่วนใหญ่ 

The Sandman ยังเปลี่ยนนิยามของคำว่าคอมิก ซึ่งหลังจาก The Sandman ประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์และรายได้ จากความมีเอกลักษณ์ในเรื่องราว ความกล้าเล่า ความกล้าหยิบจับวัตถุดิบและตัวละครใน DC มาเล่นตามใจชอบอย่างไม่มีขอบเขตและเงื่อนไข 

นีลสองจิตสองใจเรื่องการดัดแปลง The Sandman เพราะเขาไม่แน่ใจและนึกภาพไม่ออกเลยว่ามันจะกลายมาเป็นหนังได้ยังไง แต่เมื่อมีโอกาส ก็อยากเห็นมันเกิดขึ้นและพยายามผลักดันอยู่เหมือนกัน เขายึดหลักข้อหนึ่งในการดัดแปลง The Sandman เสมอมา นั่นก็คือ “ผมยอมให้ไม่มีหนัง Sandman ซะยังดีกว่ามีหนัง Sandman ที่แย่”

นั่นก็เพราะทั้งในมุมของนีล The Sandman ขึ้นชื่อเรื่องความยากในการดัดแปลงและเต็มไปด้วยคำถามจากผู้อ่านคอมิกว่า “จะทำออกมาได้จริง ๆ หรือ” เพราะทั้งเสื้อผ้า พร็อพ ฉากหลัง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ต้องใช้ทุนสร้างสูงมหาศาล และติดชะงักอยู่ระหว่างกลางของการทำให้ตรงต้นฉบับจนไม่ได้มีอะไรใหม่แปลกตาเลย กับการเนรมิตฉากตอนใหม่โดยที่ยังคงแก่นเดิมและความรู้สึกเหมือนตอนอ่านไว้ได้ อีกทั้งยังมีวัตถุดับให้หยิบจับจำนวนมาก ตัดสินใจยากพอสมควรว่าจะหยิบตรงไหนมาใช้ หรือทิ้งตรงไหน

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

นั่นก็เพราะก่อนที่จะมี Netflix และซีรีส์เฟื่องฟูอย่างทุกวันนี้ ละครโทรทัศน์และทีวีโชว์ดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมเท่าไหร่นัก อีกทั้งนักแสดงยังมีการแยกเกรดกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเหตุผลที่เพิ่งกล่าวไปว่าคอมิกเต็มไปด้วยจินตนาการและต้องใช้ทุนสร้างสูง ทำให้ก่อนหน้านี้ The Sandman มีทางเลือกเดียวคือสร้างเป็น ‘ภาพยนตร์’ และมีการปลุกปั้นมาตั้งแต่ยุค 90 กับทาง Warner Bros. แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีบทที่ควรค่าแก่การนำไปสร้างสักที (บางบทนีลบอกว่าเป็นบทหนังแย่ที่สุดที่เคยเห็นมาในชีวิตด้วยซ้ำ)

เวอร์ชันที่ดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุด คือราว ๆ ปี 2013 ที่ David S. Goyer จะนำมาดัดแปลงร่วมกับนีลและนักแสดงน่าจับตามองอย่าง Joseph Gordon-Levitt แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลความสร้างสรรค์ไม่ลงรอยกัน Joseph จึงถอนตัวและโปรเจกต์ก็ตกไปอยู่ในหุบเหวอีกครั้ง จน Warner Bros. ตัดสินใจสร้างป็นทีวีซีรีส์แทน และการมีอยู่ของ Netflix (กราบงาม ๆ ในฐานะแฟน The Sandman และ นีล เกแมน) ซีรีส์เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นครับ หลังจาก 30 ปี

ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นธรรมดา แต่ในสภาวะพร้อมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในตอนนี้ ในยุคที่เทคโนโลยีล้ำพอที่จะถ่ายทอดจินตนาการไร้ขอบเขตของ The Sandman ลงในหน้าจอได้ และให้ความสำคัญกับเงินทุนที่สูง อีกทั้งลูกรักยังได้รับการดูแลโดยผู้ให้กำเนิดอย่างนีล เกแมน เองอีกด้วย นีลได้ออกมาบอกภายหลังเซ็นสัญญาว่า ดีใจมากที่ไม่เคยมีหนังเรื่องนี้มาก่อน เพราะนี่คือรูปแบบการนำเสนอที่ดีที่สุด ถูกที่ถูกเวลาแล้ว

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

“อะไรคือความหมายของการเป็นราชา” นี่คือสิ่งที่ นีล เกแมน คิด ก่อนที่จะลงมือปลุกปั้นเรื่องราวของ The Sandman และต่อยอดไอเดียด้วยคำถามนี้ เกิดเป็นตัวละครต่าง ๆ และเนื้อเรื่องที่มีคุณสมบัติ ‘เหนือกาลเวลา (Timless)’ หรือไม่เคยเก่าแม้จะนำมาอ่านในยุคไหน และมีความเป็นตัวของตัวเองชัดเจนเสมอ

The Sandman ฉบับซีรีส์ของ Netflix นับว่าเนรมิตรพร็อพ เสื้อผ้า ฉากอันวิจิตร ภาพงดงาม เอฟเฟกต์กับฉากทั้งสำคัญและฉากยิบย่อยต่าง ๆ กับจัดเต็มความดาร์กแฟนตาซีได้อย่างกำลังดีและน่าติดตาม (แม้จะพูดไม่ได้ว่าสำหรับทุกคน) โดยเป็นการหยิบยกเรื่องราวของ ‘Preludes and Nocturnes’ กับ ‘The Doll’s House’ ที่รวม ๆ กันราว 15 ตอนจากทั้งหมด 75 ตอนมาใช้เล่าเรื่องครับ (หมายความว่าถ้ากระแสดี เรามีแนวโน้มจะได้ดู The Sandman ทั้งหมด 5 ซีซั่นเลยทีเดียว) ที่จะเล่าช่วงต้นของ Dream ในระหว่างคุมขังและตามหาสิ่งของสำคัญเพื่อทวงอำนาจเจ้าแห่งความฝันกลับคืนมา ด้วยการตีความใหม่ด้วยเนื้อเรื่องที่ร่วมสมัย เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน โดยมีนีลเป็นผู้เลือกด้วยตัวเองเช่นกันว่า จะคงไว้ ตัด เปลี่ยนอะไรไหนบ้าง เพื่อให้ The Sandman ออกมาดีที่สุดในรูปแบบซีรีส์

ด้วยความเป็นซีรีส์ดัดแปลงที่มีเงื่อนไข คือไม่ใช่ดัดแปลงอย่างตรงไปตรงมาเพียงอย่างเดียว แต่ด้านเนื้อหา ภาพ การเล่าเรื่องยังต้องสอดคล้องกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ด้วย ซีรีส์ The Sandman จึงปรับเปลี่ยนรายละเอียดไปพอสมควรครับ ตั้งแต่การเพิ่มระยะเวลาคุมขังจาก 70 กว่าปีเป็น 105 ปี เพื่อให้เรื่องเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน Pacing การเล่าเรื่อง บทบาทและการปรากฏตัวของตัวละครที่สลับสับเปลี่ยนและเพิ่ม/ลดความสำคัญ การตีความบางฉากใหม่ให้เล่าเป็นซีรีส์ได้ และมีการเพิ่ม เสริม เติม แต่งเรื่องราวให้กับตัวละครบางตัว 

ต้องพูดว่าแม้บางจุดจะเสียดายที่ยังทำไม่ถึงคอมิก (ตามวิสัยของการเป็นซีรีส์ดัดแปลง ซึ่งเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของก้อนน้ำแข็งมหึมาที่เรียกว่า ‘คอมิก/หนังสือต้นฉบับ’ แล้ว) และสารภาพตามตรงว่า รู้สึกเสียดายที่อดเห็นบางอย่างไป หรือบางอย่างเปลี่ยนไปในอีกทางที่รู้สึกว่าในคอมิกยอดเยี่ยมกว่านี้ แต่ก็ยังมีหลายอย่างที่ซีรีส์ตีความออกมาได้ดีคนละแบบกับคอมิก และน่าสนใจไม่แพ้กันเลยครับ

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

แม้จะบอกว่าซีรีส์มีองค์ประกอบของการเป็นมหากาพย์แฟนตาซี แต่จุดเด่นและจุดขายของซีรีส์ The Sandman อยู่ที่ ‘เอกลักษณ์’ มากกว่า ฉะนั้น เราจะได้เสพแก่นใน Pacing แบบค่อยเป็นค่อยไป แบบ Character-driven (การขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยตัวละคร) มากกว่าฉากบู๊ล้างผลาญหรือปล่อยเวทมนตร์สู้กันอย่างเมามัน หรือถ้าหากมี (ฉากต่อสู้หรือเหตุการณ์เข้มข้น) ก็ถ่ายทอดตรงนั้นออกมาอย่างมีสไตล์

ฉากที่ผมชอบอย่างฉากสู้ด้วยกาพย์กลอนและมโนภาพแบบ 4DX อินจริง สัมผัสได้ ที่แปลกตาพอ ๆ กับหน้าตาของปลาน้ำลึกจากก้นทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อีพี 24/7 ที่ดำเนินเรื่องในร้านอาหาร เป็นสถานที่ปิดที่เดียวทั้งอีพี แต่ใช้สถานที่เดียวและตัวละครที่ใส่มาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวได้อย่างคุ้มค่า ตึงเครียด หดหู่ เข้มข้น และน่าจดจำ 

ไปถึงจนอีพีที่ Dream ได้คุยกับ Death นี่ก็เป็นอีกอีพีที่ดัดแปลงรายละเอียดแต่ยังคงไว้ซึ่งความยอดเยี่ยม และแก่นจากคอมิกเรื่องชีวิตและความตายอย่างครบถ้วนครับ ด้วยฉากที่เรียบง่ายและไม่หวือหวาด้วยซ้ำ

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

หนึ่งในการตีความใหม่ที่ควรพูดถึงคิดว่าเป็น ‘การแคสติ้ง’ เพราะด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ทัศนคติผู้คนในสังคมเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นก็ได้เปลี่ยนไป เช่น การเปิดกว้างทางเพศและสีผิว หรือการไม่ยึดติดหรือให้ค่ารูปลักษณ์มากไปกว่าตัวตน ซึ่งอันที่จริงต้องบอกว่าคอมิคอย่าง The Sandman นับว่ามาก่อนกาล ด้วยการสร้างข้อถกเถียงเรื่องเพศและบทบาททางเพศมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว จึงเป็นเรื่องดีที่ในฉบับซีรีส์ของ Netflix นั้น นีล เกแมน เป็นผู้คัดนักแสดงกับมือทุกคนด้วยตัวเอง และเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับตัวละครตามเห็นสมควร

ตัวละครนำอย่าง Dream ที่รับบทโดย Tom Sturridge และตัวละครหลักที่คงเดิมไว้ การแคสติ้งถือว่าทำได้ดีมาก ส่วนการเปลี่ยนแปลงนั้น ตัวละครญาติกันอย่าง Death, Desire, บรรณารักษ์ความฝัน Lucienne, John Constantine และนักแสดงที่รับบทเป็น Lucifer Morningstar รวมไปถึงตัวละครรองและตัวละครประกอบ มีการเปลี่ยนให้เป็นทั้งตัวละครผิวสี เอเชีย Non-binary เปลี่ยนจากเพศชายเป็นเพศหญิง เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ชาย-หญิงเป็นความสัมพันธ์ของตัวละครเพศเดียวกัน และผลคืออย่างที่กล่าวไป ซีรีส์มีความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติมากขึ้นกว่าในฉบับคอมิก

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

อีกจุดเด่นของ The Sandman คือการตีความสไตล์ นีล เกแมน สำหรับเรื่องนี้ว่าด้วยเทพอนันตกาลแล้ว Dream (ความฝัน) เป็นหนึ่งใน 7 เทพอนันตกาลที่จะมาปรากฏตัวในซีรีส์เรื่องนี้ ได้แก่ ความตาย (Death) พี่สาวของ Dream, การทำลายล้าง (Destruction), โชคชะตา (Destiny), ความสิ้นหวัง (Despair), ความปรารถนา (Desire) และความคุ้มคลั่ง (Delirium) ซึ่งค่อนข้างเป็น Dysfunctional Family พอสมควร เพราะแม้จะเป็นพี่น้องหรือญาติกัน นอกจากไม่ค่อยคุยกันแล้ว ยังไม่ถูกกัน ไม่ค่อยเจอกัน (เพราะแต่ละคนมีความรับผิดชอบของตัวเอง) และยังขอความช่วยเหลือกันไม่ค่อยได้อีกด้วยครับ

เมื่อสังเกตจะพบว่า เทพอนันตกาลเป็นเทพที่มาจากการตีความของความเป็นไปในจักรวาลนี้ หรือ The Endless ก็คือเสาหลักทั้ง 7 ของความเป็นจริงที่คอยค้ำยันให้จักรวาลหรือมิติความเป็นจริงคงตัวเป็นรูปเป็นร่าง เหมือนที่ American Gods ของนีลนำความเชื่อมาอยู่ในรูปแบบ Avatar ที่มีร่างเป็นตัวเป็นตน เช่นการจับเทพองค์เก่าอย่างเทพแถบนอร์ส อย่างโลกิและโอดิน มา VS กับเทพโทรทัศน์ เทพโลกาภิวัตน์ และเทพเทคโนโลยี แล้ววัดกันเลยว่าใครจะอยู่ใครจะไป

สิ่งหนึ่งที่อยากให้หลายคนเข้าใจคือคอนเซ็ปต์ของเทพใน The Sandman ที่ นีล เกแมน แสดงความชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ร่างกายและลายเส้นเป็นแค่เปลือกนอก สิ่งสำคัญที่สุดคือคอนเซ็ปต์ภายใต้นั้น อัตลักษณ์/ตัวตนภายใน และความหมายที่เทพแต่ละองค์มี กับบทบาทการขับเคลื่อนของตัวละครแต่ตัวมากกว่า 

ฉะนั้น สำหรับนีลแล้ว ไม่ว่าในคอมิกจะเป็นเพศไหน ผิวสีไหน สุดท้ายแล้วมันคือเปลือกนอกในเชิงอัตวิสัย (Subjective) มากกว่าวัตถุวิสัย (Objective) กล่าวคือ เทพในเรื่องเรื่องนี้ไม่มีตัวตนหรือรูปทรงที่แน่นอน และจะเห็นแตกต่างกันออกไปในสายตาของแต่ละคน เช่น บางคนเห็น Dream เป็นคนผิวสี หรือในคอมิก ตัวละครมนุษย์ดาวอังคารค่าย DC อย่าง Martian Manhunter ก็เห็น Dream เป็นเทพแห่งดาวอังคาร 

เหมือนในโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยวัฒนธรรมประเพณี ทัศนคติ สภาพแวดล้อม องค์ความรู้ สิ่งที่เข้าถึงได้ ทำให้ผู้คนในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละวัฒนธรรม ในแต่ละศาสนา ในแต่ละกลุ่มค่านิยมความเชื่อ มองหรือมีทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งคนละอย่าง และให้ค่าหรือตีความมันคนละแบบนั่นเองครับ

30 ปีที่รอคอย เมื่อ The Sandman การ์ตูนขึ้นหิ้งของ Neil Gaiman ได้กลายเป็นซีรีส์ Netflix

เชื่อว่าคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ไม่ว่าจะอ่านคอมิกหรือไม่ น่าจะเห็นตรงกันว่าการดัดแปลง The Sandman จากคอมิกสู่ซีรีส์ Netflix น่าจับตามองและน่าตื่นเต้นไม่น้อย การเดินทางทำภารกิจสำคัญของ Dream เพื่อกอบกู้ทุกอย่างกลับคืนมา ซีรีส์แฟนตาซีโปรดักชันอลังการกับทุนหนาที่สุดเรื่องหนึ่งของ Netflix และการเนรมิตโลกดาร์กแฟนตาซีที่ให้ความรู้สึกสดใหม่นี้จะเป็นเช่นไรและออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน ไปพิสูจน์พร้อมกันกับ 10 อีพีของ The Sandman ซีซั่น 1 รับชมได้แล้ววันนี้ทาง Netflix ครับ

ข้อมูลอ้างอิง

www.theguardian.com/culture/2013/oct/22/how-we-made-sandman-gaiman

en.wikipedia.org/wiki/The_Sandman_(comic_book)

history.howstuffworks.com/history-vs-myth/who-is-sandman.htm

bleedingcool.com/tv/the-sandman-neil-gaiman-now-relieved-film-adaptation-was-never-made

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ