23 พฤศจิกายน 2022
4 K

“การทำยางกับการทำกาแฟ มันมีบางอย่างคล้ายกัน”

เป็นหนึ่งในประโยคบทสนทนาของ เติ้ล-รังสิมันตุ์ ร่วมชาติ เจ้าของร้านกาแฟ The Rubberer หรือทายาทรุ่นสามธุรกิจทำยางในจังหวัดระยองที่สืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น

คาเฟ่ยางพาราแฝงตัวอยู่ในระยอง ไม่ได้ขายยางพาราและไม่ได้ขายกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่นำสองสิ่งนี้มารวมกันเป็นหนึ่ง ยางกับกาแฟเชื่อมโยงกันอย่างไร การทำสองสิ่งนี้คล้ายกันตรงไหน ที่สำคัญ ระยองมีสวนยางด้วยเหรอ เพราะจังหวัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องทุเรียนและผลไม้นานาชนิด รวมไปถึงทะเลสวย ๆ แต่กลับแทบไม่มีภาพจำของสวนยางเลย

เช้าตรู่วันศุกร์ เรารีบออกเดินทางปักหมุดไปยังตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เพื่อไขข้อข้องใจ แต่ไม่นานความสงสัยก็หายไป เมื่อล้อรถหยุดหมุนจอดอยู่หน้าร้าน พร้อมเสียงของพี่คนขับตะโกนมาว่า “ถึงแล้ว” ความสงสัยได้แปรเปลี่ยนมาเป็นความประทับใจแรกต่อร้านกาแฟขนาดใหญ่ ลานกว้าง โล่ง โปร่ง สบาย 

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

ด้วยการออกแบบอิงจากโรงยาง ทั้งรูปทรงและวัสดุจากอิฐก้อนใหญ่ รวมทั้งหลังคายาวยื่นพิเศษซึ่งผสมความชอบญี่ปุ่นเล็กน้อยของเติ้ล จึงทำให้ The Rubberer มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์สมชื่อ

เพียงแค่ข้างนอกยังคล้ายโรงยาง แล้วภายในร้านกาแฟพร้อมเสิร์ฟความอร่อยนี้จะมีอะไรเกี่ยวกับยางอีก ไม่รีรอ รีบจ้ำอ้าวเข้าไปดูกัน

ต้นยาง

เติ้ลเป็นคนระยองตั้งแต่เกิด มีธุรกิจติดตัวตั้งแต่วัยเยาว์ ผูกพันกับยางตั้งแต่จำความได้ เพราะทำมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยคุณตาเป็นเกษตรกร มีทั้งสวนผลไม้และสวนยาง ขายส่งมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน จนถึงคราคุณตาได้ถ่ายทอดมอบประสบการณ์ต่อให้คุณพ่อรวมถึงตัวเติ้ลเอง จึงทำให้เขารู้จักกระบวนการและวิธีกรีดยางเป็นอย่างดี 

“ตอนเด็กคุณพ่อชอบพาไปดูว่าทำอะไรยังไง วิธีการกรีดยาง การดูหน้ายาง”

ความสนุก ความสุขของเขาไม่ใช่การทำสวนยาง ทว่าเป็นการได้เข้าไปวิ่งเล่น และใช้เวลาอยู่กับคุณพ่อในสวน เวลาผ่านไป เด็กน้อยซุกซนวิ่งเล่นในสวนคนนั้น ก็ได้รับบทมาช่วยคุณพ่อดูแลธุรกิจครอบครัวและดูแลลูกน้อง ให้ทุกอย่างเรียบร้อยมากขึ้นกว่าเดิม โดยธุรกิจของเขาทำตั้งแต่ปลูกยาง กรีดยาง มาทำเป็นยางแผ่น และนำจำหน่ายทั้งรูปแบบของยางแผ่นและน้ำยางสด แต่ไม่ได้นำไปแปรรูปเป็นหมอนหรืออะไร ส่วนถ้าถามถึงนักทำยางมือทองล่ะก็ คุณพ่อยังคงดำรงตำแหน่งเช่นเคย

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน
The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

คาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นที่สร้างใหม่จึงออกแบบทรงคล้ายโรงยาง และเลือกใช้วัสดุเป็นอิฐสีเทา ส่วนข้างบนหลังคามีช่องใสเล็ก ๆ ให้แสงส่องลงมา อิงจากโรงยางที่ต้องใช้ความร้อนอบยาง เดิมที่นี่เคยเป็นพื้นที่ของสวนมะพร้าว โรงโม่มัน และโรงยางจริง ๆ มาก่อน การออกแบบคาเฟ่จึงไม่เพียงเน้นความสวยงามหรือความเสมือนจริง แต่อบอวลด้วยเรื่องราวความผูกพันของเติ้ลกับยางร่วมกันไปทั้งร้าน

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

โรงยางเดิมซึ่งเอาไว้ใช้อบยาง ทำยางแผ่น อยู่บนพื้นที่โซนด้านหลังร้าน แต่ตอนนี้ได้ทุบทิ้งไปแล้ว โรงยางใหม่สร้างใกล้ ๆ บริเวณโรงยางเดิมแทน 

ส่วนสวนยางจะเขยิบออกไปไกลหน่อย อยู่คนละที่กับโรงยาง ซึ่งสวนของเขาก็ติดกับสวนเพื่อนบ้านละแวกนี้ที่ปลูกยางเหมือนกัน เป็นอีกการการันตีว่าระยองมีคนปลูกยางมากพอสมควร เพราะสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นยางมากมายเลยทีเดียว

“ส่วนใหญ่ถ้านึกถึงระยองก็นึกถึงผลไม้ บางคนจะไม่รู้ว่าเรามียางพาราเหมือนกัน แต่ที่ระยองเขาก็ปลูกกันมานานแล้วครับ ตั้งแต่เด็กผมก็จำได้ว่าเป็นสวนยางแบบนี้เลย”

ลูกพี่ลูกน้องหรือญาติ ๆ ของเติ้ลในวัยนั้น หลายคนก็ทำอาชีพขายส่งน้ำยางเช่นเดียวกัน เวลาเลิกเรียนตอนเย็นก็มักมีผู้คนแวะเวียนมาเล่นกับเติ้ลในสวนอยู่บ่อยครั้ง 

“แต่ถ้าเทียบสมัยก่อน ตอนนู้นสวนยางมันก็เยอะกว่านะ มีช่วงหนึ่งยางราคาขึ้นกิโลเป็นร้อย เกษตรกรที่ทำสวนผลไม้อยู่แล้ว ก็เปลี่ยนมาทำสวนยางพาราเพราะราคาดีมาก” เขาพูดไปขำไป แต่ตอนนี้ด้วยพิษเศรษฐกิจทำให้ทุกอย่างกลับกัน เกษตรกรที่เคยทำสวนยาง ก็โค่นยางไปปลูกผลไม้ที่ราคาดีกว่า อย่างทุเรียน

แต่ในความโชคร้ายยังแอบมีสิ่งโชคดีเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ คือความพิเศษของยางที่ไม่อาจหาได้จากการปลูกผลไม้ชนิดไหน

“ยางเขามีอายุนาน 20 – 30 ปี”

นั่นแปลว่าการปลูกยางไม่จำเป็นต้องดูแลเยอะ “ถ้าไม่มีคนกรีดยางก็ไม่เป็นอะไร มันไม่เสียหาย แต่ถ้าเรามีคนกรีด เราก็ได้รายได้จากตรงนั้น” เติ้ลชี้ให้เห็นถึงข้อดีต้นยาง

แต่ก็ต้องเน้นความชำนาญด้วยเช่นกัน “ถ้าเรากรีดยางดี กรีดไม่เข้าแก่นต้น ก็จะทำให้ต้นยางให้น้ำยางเราไปได้นานเลย การกรีดยาง ดูแลหน้ายาง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ต้นยางผลิตน้ำยางออกมาได้นาน”

และความพิเศษอีกอย่าง ถ้าน้ำยางหมดต้นโดยเกิดจากการกรีดยางไม่ดี กรีดแล้วเข้าแก่นยาง ทำให้หน้ายางเสียหาย หรือต้นที่หมดอายุ ไปต่อไม่ไหว เขาสามารถตัดต้นยางนำไปขายได้ต่อแล้วก็ปลูกใหม่ มีความยืดหยุ่น แถมไม่ต้องฉีดยาเยอะแบบผลไม้ให้มากมาย นี่เป็นข้อดีเอกอุของการปลูกยาง

ต้นตอ

เห็นได้ชัดว่าเติ้ลเติบโตและผูกพันกับสวนยางมาตั้งแต่เล็ก จนถึงจุดหนึ่งเขาเริ่มสนใจอยากหาอะไรใหม่ ๆ ทำเพิ่มเติมจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ มีความสุขพร้อมสร้างรายได้ไปด้วยกัน

‘การกิน’ เป็นคำตอบของเติ้ล ผู้หลงใหลการได้ลิ้มรสอะไรอร่อย ๆ เอ็นจอยอาหารและเครื่องดื่ม ประจวบเหมาะเป็นช่วงที่ได้ชิมกาแฟรสชาติใหม่แบบที่เขาไม่เคยทานมาก่อน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมกาแฟบางตัวถึงมีหลายรสชาติ มีรสต่างกัน ไม่ได้มีเพียงรสเข้ม ๆ ขม ๆ อย่างที่เขาคุ้นเคย

“เฮ้ย! เหมือนเรากินอะไรก็ไม่รู้ มันแปลกดี มีเปรี้ยว มีหอม” 

จากความแปลกกลายเป็นความสนใจ ทำให้หันมาศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง และเริ่มอยากเปิดคาเฟ่เพื่อส่งต่อกาแฟรสชาติในแบบที่ชอบ

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

หลังจากได้ไปลองชิมกาแฟร้านต่าง ๆ อยู่พักใหญ่ เติ้ลก็ได้ไปเจอเมล็ดกาแฟไทยที่ชอบมาจากโรงคั่ว Cozy Factory ที่ทางโรงคั่วได้ไปพัฒนา และดูแลเกษตรกรสวนแม่บู่หย่า จังหวัดเชียงราย เขาเลยมีโอกาสได้ลองศึกษา เรียนรู้ และทำงานร่วมกับโรงคั่ว Cozy Factory ให้ช่วยออกแบบกาแฟเฉพาะของร้าน เป็นกาแฟไทย มีคาแรกเตอร์เอกลักษณ์ ไม่หวือหวามาก แต่มีอาฟเตอร์เทสดี หวาน ทานง่ายในทุกวัน

“กาแฟไทยอร่อยครับ สู้ต่างชาติได้เลย”

และหนึ่งในความสนุกของการทำกาแฟ คือการได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด เพราะคาแรกเตอร์ของกาแฟแต่ละตัวไม่เหมือนกัน มีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น กาแฟบางตัวกลิ่นฟลอรัล บางตัวเป็นฟรุตตี้

แล้วระยองปลูกกาแฟได้ไหม – เราถาม

“ผมว่าน่าจะปลูกโรบัสต้าได้ แต่อาราบิก้า สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ความสูงของระยอง ไม่เหมาะสมครับ” เขาตอบตามตรง

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

ต้นน้ำ-ปลายทาง

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

“แต่สุดท้ายเราก็ย้อนกลับมาอะไรที่เกี่ยวกับยางอยู่ดี” เขาพูดแซวตัวเอง

เติ้ลตั้งใจนำเรื่องราวยางมาเป็นคอนเซ็ปต์หลัก เพื่อแสดงให้เห็นตัวตนเขาและครอบครัว ให้ผู้คนได้เข้ามาสัมผัสความทรงจำดี ๆ ที่มีร่วมกับยาง ผ่านบรรยากาศร้าน สิ่งของ หรือแม้แต่ผ่านกาแฟที่เขาทำ

“เราคิดว่าการทำยางกับการทำกาแฟมีบางอย่างคล้ายกัน ความตั้งใจในการทำ ความประณีต ความใส่ใจ

“เรากรีดยางก็ต้องเป็นคนมีฝีมือกรีด หน้ายางถึงจะสวย ไม่ลึกเข้าไปในเนื้อยาง กาแฟก็เหมือนกัน เราต้องหาสารกาแฟจากต้นน้ำ มันมีความใส่ใจในกระบวนการทำครับ”

หากจิบกาแฟเสร็จ เดินออกมาหลังร้านสักนิด จะเจอมุมให้นั่งพินิจกับความทรงจำก้อนใหญ่ของเติ้ล เพราะสิ่งนั้นคือเครื่องรีดยางสมัยโบราณที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยคุณตา ซึ่งยังคงระบบแมนนวล ต้องใช้มือหมุน มีให้เลือก 2 ลาย และยังใช้งานได้ในปัจจุบัน เครื่องนี้ยังหมุนได้จริง แต่ตอนนี้ล็อกเอาไว้ให้คงอยู่ในสถานะเก็บความทรงจำ

“ยังใช้ได้ แต่อย่าใช้เลย” เติ้ลหัวเราะ

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน
The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

“เหมือนเครื่องบดปลาหมึกยักษ์!” เสียงของพี่ที่มากับเราพูดขึ้นมา

 “มีคนบอกแบบนี้เสมอครับ” เขาตอบกลับอย่างชอบใจ

เจ้าเครื่องบดปลาหมึกยักษ์หรือเครื่องรีดยางนี้ถือว่าเป็นแรร์ไอเท็มมาก น้อยคนที่เคยเห็นและเคยได้ลองใช้ เพราะตอนเติ้ลเกิดมาก็เหลือเพียงเครื่องดั้งเดิมที่ถูกเก็บไว้ และมาใช้เครื่องรีดยางที่มีมอเตอร์แทนในการทำงานแล้ว

“กระบวนการทำยางแผ่น เรานำน้ำยางสดมากรองแล้วใส่ในแบบ ใส่น้ำกรด รอเขาเซ็ตตัว แล้วเอาออกมาจากแบบ นำมาอัดให้แบนยาว แล้วนำไปเข้าเครื่องรีดยางเรียบและลายต่อ ออกมาเป็นแผ่นยางพารา ตากแดดแล้วก็นำมาเก็บเข้าโรงอบยางต่อ”

หากนึกภาพไม่ออก ให้ลองแหงนมองข้างบน จะพบแผ่นยางพาราแขวนเรียงรายตากแดดอยู่บนราวเหล็ก รอการเก็บในตอนเย็น เพราะหากฝนตกอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ หน้าฝนจึงไม่ค่อยเห็นแผ่นยางพาราตากอยู่หลังร้าน

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน
The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

คนส่วนใหญ่ที่แวะเวียนมาคาเฟ่แห่งนี้เป็นคนต่างที่ต่างถิ่นและไม่ค่อยคุ้นเคยกับยาง มุมนี้จึงกลายเป็นมุมโปรดของใครหลายคน กลายเป็นพื้นที่ของการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว

“ลูกค้าบางคนที่พาคุณพ่อคุณแม่มา เขาก็ประหลาดใจกับโซนนี้ ได้มาเห็นของโบราณ และทำความรู้จักยางพารา”

เติ้ลรู้สึกอิ่มเอมกับภาพบรรยากาศของผู้คนที่ได้มาลองชิมกาแฟฝีมือตน และมีความสุขร่วมไปกับความทรงจำของเขาที่มีต่อยาง ซึ่งอนาคตเติ้ลเผยว่าอาจจะมีอะไรใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีก พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เขาได้เปิดร้านกาแฟทำตามฝัน แต่ไม่ทิ้งธุรกิจยางอย่างแน่นอน 

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน
The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

อย่างอร่อย

สุดท้าย ถ้ามา The Rubberer อย่าลืมสั่งกาแฟเมนูซิกเนเจอร์ของทางร้านไปลองชิม เมนูที่เติ้ลตั้งใจทำและคัดสรรมาแล้วว่าดีแน่นอน

‘กาแฟดำ Black’ และ ‘กาแฟนม White’ คาแรกเตอร์เมล็ดกาแฟชัดเจน และผ่านการคิดค้นอัตราส่วน ปริมาณนม ปริมาณกาแฟด้วยความประณีต ใส่ใจอย่างเต็มเปี่ยมในทุกขั้นตอนว่าเหมาะสมกับเมล็ดกาแฟสวนแม่บู่หย่ามากที่สุด

The Rubberer คาเฟ่โรงยางพาราในระยอง เสิร์ฟความทรงจำพร้อมกาแฟฝีมือลูกหลานชาวสวน

ขอแนะนำเมนู ‘BlackPink’ กาแฟลิ้นจี่สีชมพูสดใส ทานแล้วได้ความสดชื่นตามมาในทันที แถมด้วยเมนู ‘Larisa’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงลิซ่าอย่างใด แต่เป็นชื่อลูกของเติ้ล วัยกำลังซนที่ชื่นชอบการดื่มน้ำส้มยูซุเป็นชีวิตจิตใจ คุณพ่อเติ้ลจึงนำความชอบของลูกมาเป็นแรงบันดาลใจ และกลายเป็นกาแฟส้มยูซุแก้วนี้

เยือนคาเฟ่พร้อมเสิร์ฟความอร่อยของกาแฟ ผ่านบรรยากาศร้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำจากยางพาราและของโบราณในวันวาน

หรือถ้าใครอยากได้กาแฟในรูปแบบเมล็ด ที่นี่ก็มีขายโดยตัวยอดนิยม คือ House Blend มีแบบคั่วกลางและคั่วอ่อน

คั่วกลางเป็นการเบลนด์ระหว่าง Washed Process, Honey Process และ Natural Process ให้รสชาติออกโทนดาร์กช็อกคาราเมล กลมกล่อม เปรี้ยวน้อย เป็นรสชาติที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เหมาะสำหรับนำไปทำเมนูกาแฟเย็น

  ส่วนคั่วอ่อน เป็นการเบลนด์ระหว่าง Washed Process และ Natural Process รสชาติออกโทนฟรุตตี้ สดชื่น เปรี้ยว ผลไม้อบอวล และมีอาฟเตอร์เทสหอมหวาน เหมาะสำหรับทำเมนูกาแฟร้อน ใครชื่นชอบรสผลไม้ต้องไม่พลาด

เยือนคาเฟ่พร้อมเสิร์ฟความอร่อยของกาแฟ ผ่านบรรยากาศร้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำจากยางพาราและของโบราณในวันวาน
เยือนคาเฟ่พร้อมเสิร์ฟความอร่อยของกาแฟ ผ่านบรรยากาศร้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำจากยางพาราและของโบราณในวันวาน

เมื่อพระอาทิตย์เริ่มตก ถึงเวลาต้องแยกย้ายกัน ระหว่างทางนั่งรถกลับกรุงเทพฯ เราเริ่มอยากทานกาแฟฝีมือบาริสต้าคนนี้ที่ The Rubberer อีกรอบแล้ว

The Rubberer

ที่ตั้ง : 41/1 ม.3 ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์, เวลา 07.00 – 16.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์, เวลา 08.30 – 16.00 น.

โทรศัพท์ : 09 4964 8008Facebook : The Rubberer

Writer

Avatar

ณัฐกฤตา เจริญสุข

อดีตนักเรียนวิชาออกแบบ ผู้ชื่นชอบการสาดสีสันลงบนงานศิลปะ สาดจินตนาการลงบนงานเขียน อยากส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ผ่านทางการสื่อสารทุกรูปแบบ

Photographer

Avatar

ชาคริสต์ เจือจ้อย

ช่างภาพอิสระและนักปั่นจักรยานฟิกเกียร์ ชอบสั่งกระเพราหมูสับเผ็ดน้อยหวานๆ