22 กุมภาพันธ์ 2022
3 K

“พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องของใคร”

นี่ไม่ใช่คำถามแบบกำปั้นทุบดิน แต่เป็นการชวนให้คิดย้อนกลับไปอย่างลึกซึ้ง

อย่างที่ทราบดีว่าเรื่องโครงการพื้นฐานควรเป็นรากฐานที่มาจากรัฐ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐนี้ให้ความสำคัญกับอะไร อันจะส่งผลต่อไปสู่คุณภาพชีวิตของประชาชน พื้นที่สาธารณะโดยรัฐจึงเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญด่านแรกที่รัฐมีหน้าที่วางผัง วางแผน มอบให้กับคนและเมือง

และในเมื่อคำว่าสาธารณะความหมายคือ ทั่วไป-เพื่อคนส่วนรวม-ร่วมกัน ฉะนั้น คำถามต่อมา มันจึงเป็นเรื่องของทุกคนได้ไหม แล้วจะเป็นพื้นที่แบบไหน หรือพื้นที่ ‘ของใคร’ ได้บ้าง

เราขอตอบคำถามนี้ด้วยการพาไปพบกับพื้นที่สาธารณะของเอกชน หรือ Private Own Public Space (POPS) พื้นที่สาธารณะอีกประเภทที่น่าสนใจ ซึ่งแม้เอกชนเป็นเจ้าของ แต่ก็สร้างขึ้นเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ อย่าง ‘The Ribbon Dance Park’ ที่เขตฉูเจียง เมืองซีอาน ประเทศจีน ทางเดินเชื่อมต่อกับคลับเฮาส์ของโครงการ The Grand Milestone Art Centre และสะพานข้ามถนนไฮเวย์ กับ ป๊อก-อรรถพร คบคงสันติ ภูมิสถาปนิก แห่ง TROP : terrains + open space บริษัทออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมไทย เจ้าของรางวัลระดับโลกหลายเวที

The Ribbon Dance Park ทางเดินสาธารณะเมืองจีนโดยสถาปนิกไทย เชื่อมผู้คนด้วยดีไซน์เขียว

ก่อนการมาของทางเดินสีขาวคดโค้ง พลิ้วไหว ขนาด 200 เมตร เดิมทีหน้าโครงการ The Grand Milestone Art Centre มีเพียงสะพานลอยทอดยาวเพื่อข้ามถนนไฮเวย์ไปอีกฝากซึ่งสูงถึง 10 เมตร ด้วยความชันขนาดนั้น จึงยากที่จะมีใครมาใช้งานจริง กลายเป็นพื้นที่ตาบอดตัดขาดจากชุมชนโดยรอบ ทางโครงการจึงมีแผนมอบพื้นที่ด้านหน้าเซลล์แกลเลอรี่และคลับเฮาส์นี้ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ต่อทั้งผู้คนและเอื้อให้คนมีโอกาสเข้ามาที่โครงการมากขึ้น ประกอบกับแผนการพัฒนาเมืองของประเทศจีนที่มีข้อกำหนดไว้ว่า ทุกการพัฒนาโครงการใหม่ของเอกชน จะต้องสร้างพื้นที่สาธารณะคืนให้กับเมืองด้วย

โจทย์แรก ทางโครงการอยากให้สร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งไว้บนถนนข้างล่าง เพื่อให้คนรู้ว่าข้างบนมีอะไรอยู่ แต่ภูมิสถาปนิกเจ้าของบริษัทออกแบบผู้สารภาพว่าไม่อยากทำเพียง Sculpture ยักษ์ ก็เก็บโจทย์ไปคิดต่อ

The Ribbon Dance Park ทางเดินสาธารณะเมืองจีนโดยสถาปนิกไทย เชื่อมผู้คนด้วยดีไซน์เขียว

“เรากลับไปคิดว่าจะทำ Sculpture ให้มีประโยชน์ได้อย่างไร มองดูสะพานลอยไม่มีคนข้ามเพราะบันไดมันสูงไป ซึ่งตรงข้ามมีคอนโดเต็มเลย มี Botanic Park เราเลยคิดเปลี่ยนบันไดตรงนี้เป็นแรมป์ยาว ๆ แต่พื้นที่ก็ไม่ได้ยาวขนาดนั้น เลยต้องขดไปขดมาเพื่อให้มันได้ระยะ 200 เมตร”

“เราทำ Sculpture ให้ แต่ไม่ใช่เอาไว้มองอย่างเดียว เดินได้ด้วย ซึ่งคนผ่านไปผ่านมาหรือขับรถมาก็จะเห็น ในขณะเดียวกันประชาชนฝั่งตรงข้าม คุณลุง คุณป้า ก็เดินข้ามถนนมาได้ ” ป๊อกเล่าแนวคิดการทำทางเดินที่เชื่อมต่อกับฝั่งตรงข้ามและเดินไปที่ Botanic Park ข้างกันให้ฟัง

ผลพลอยของการขดตัวไปมาคล้ายริบบิ้นในการเต้นระบำดั้งเดิมของจีน นอกจากชื่อ The Ribbon Dance คือพื้นที่บางส่วนโผล่จากหน้าผาโค้งเป็น Cantilever เพื่อให้ไปทักทายกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ให้เห็นว่าเป็นไฮเวย์ ได้ยินเสียงรถขวักไขว่ มีส่วนสูงที่กว่า 10 เมตรเชื่อมเพื่อกับสะพานลอยเดิม บางช่วงลาดลงไปเชื่อมกับทางเดินหน้าเซลล์แกลเลอรี่ และการลดความชันด้วยวิธีนี้ยังทำให้เดินได้ง่ายต่อทั้งเด็ก ผู้สูงวัย ผู้พิการ

อีกข้อจำจัดที่ท้าทายคือ ความสูงระดับบนหน้าผา ซึ่งอาจตกลงไปได้และเป็นพื้นที่อับสายตา เขาใช้การออกแบบแก้ปัญหานี้ด้วยการทำราวกันตก เป็นรั้วโปร่งมีช่องว่าง 10 เซนติเมตรอยู่ระหว่างกัน เวลามองตรง ๆ เหมือนเป็นอุโมงค์ แต่ถ้ามองข้าง ๆ จะเห็นสวนแบบไม่มีอะไรมาบัง ในขณะเดินก็จะเห็นมุมมองที่แตกต่างกันไปด้วย และช่องว่างนี้ยังเชื้อเชิญให้พืชพรรณโดยรอบเข้ามามีส่วนร่วมสร้างบรรยากาศระหว่างการเดิน เกิดภูมิทัศน์แบบไดนามิกที่เปลี่ยนรูปแบบและสีสันได้ตลอดทั้งปี ส่วนการเลือกพรรณไม้แต่ละชนิด ก็เน้นพืชพื้นถิ่นของซีอาน เช่น หญ้าพื้นเมืองและต้นซีดาร์ที่เติบโตและปรับตัวต่อสภาพอากาศหนาวได้โดยไม่ต้องดูแลมาก

The Ribbon Dance Park ทางเดินสาธารณะเมืองจีนโดยสถาปนิกไทย เชื่อมผู้คนด้วยดีไซน์เขียว
The Ribbon Dance Park ทางเดินสาธารณะเมืองจีนโดยสถาปนิกไทย เชื่อมผู้คนด้วยดีไซน์เขียว

หลังจากสร้างเสร็จ ทางเดินแห่งนี้กลายเป็นจุดพบปะใหม่ รวมถึงเป็นพื้นที่ออกกำลังกายทั้งเช้าและเย็นของชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นการเชื่อมพื้นที่และผู้คนเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

“เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หนึ่งคือมันต้องมี Sense of Place ในจุด ๆ นั้น ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้พัฒนา ถ้าเราไปจะอยู่ใหม่ก็ต้องทำให้คนท้องถิ่นเขารัก เขาเอ็นดู ถ้าทำให้พื้นที่เพื่อนบ้านรอบ ๆ มันดีขึ้น ทำให้มีประโยชน์โดยที่ไม่ได้เสียอะไร โครงการเราก็วินด้วย มูลค่าโครงการก็จะสูงขึ้น อะไรก็ตามที่มันสวยอยู่คนเดียวมันไม่เวิร์ก

“เราทำงานตอบโจทย์ลูกค้า แต่ในขณะเดียวกันเรื่องพวกนี้เป็นโครงสร้างกระดูกสันหลังที่เราไม่ลืมในฐานะแลนด์สเคปดีไซเนอร์ ทุกงานต้องมี 2 เรื่อง คือเรื่องที่ตอบโจทย์กับคน และเรื่องที่ตอบโจทย์กับธรรมชาติ” เขาขมวดคอนเซ็ปต์การทำงานทั้งหมดอีกครั้งอย่างเห็นภาพ

ทางเดินสาธารณะรางวัลระดับโลกฝีมือภูมิสถาปนิกไทย ที่สร้างความชีวิตชีวาใหม่ให้ย่านและสร้างประโยชน์ให้ผู้คน

พื้นที่สาธารณะจากเอกชน แถมยังอยู่นอกเมืองหลวงแห่งนี้ ได้รับรางวัล Jury Winner จาก Architizer ในหัวข้อ Public Landscape ในปี 2021 นั่นไม่เพียงการันตีความคิดอันแหลมคมของผู้ออกแบบ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่สาธารณะที่เขามอง

พื้นที่สาธารณะจะทำให้ชีวิตคนในเมืองดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จริง ๆ แล้วต้องมีทุกที่ เราเป็นมนุษย์ ต้องการเข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ซึ่งพื้นที่สาธารณะก็คือคน มันเกี่ยวกับชีวิตเรา เราต้องการอะไรบ้าง มันก็ควรมีพื้นที่สาธารณะแบบนั้น และมันไม่จำเป็นต้องเป็นสวน ทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตคนที่เราไม่ต้องซื้อเขา ไม่ต้องไปจ่ายตังค์ เพื่อให้เราจะได้นั่งตรงนี้ก็คือพื้นที่สาธารณะ จริง ๆ สถานที่ราชการก็เป็นพื้นที่สาธารณะ วัดก็เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่พื้นที่สาธารณะเราน้อยลงเรื่อย ๆ พื้นที่สีเขียวก็อีกเรื่องหนึ่งนะ พื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องเขียว แต่ว่าใช้งานได้ ซึ่งเรายิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่

ทางเดินสาธารณะรางวัลระดับโลกฝีมือภูมิสถาปนิกไทย ที่สร้างความชีวิตชีวาใหม่ให้ย่านและสร้างประโยชน์ให้ผู้คน

“งานนี้ พอลูกค้าเขาเห็นด้วยกับไดเรกชันแล้วเสนอรัฐบาล รัฐบาลก็ชอบและสนับสนุน มันเลยได้รับความร่วมมือด้วยดี อันนี้สำคัญมาก เพราะการที่รัฐบาลสนับสนุนมันเป็นเรื่องที่ดี”

ป๊อกอธิบายต่อว่าการทำงานในจีน ทำให้เห็นถึงนโยบายผังเมืองส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ จากการให้สิทธิพัฒนาพื้นที่หรือโครงการใหม่ ๆ แก่เอกชน โดยเอกชนก็ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวตามที่รัฐกำหนด ซึ่งจะต่อยอดเป็นพื้นที่สาธารณะอื่นใดก็ได้

“เป็นวิธีของรัฐบาลจีนที่ผมคิดว่าเขาฉลาดมากเลย คือเขาจะมีนโยบายภาพรวมของเมืองอยู่แล้ว สมมติว่าจะตัดพื้นที่โซนด้านนี้ของเมืองไว้เป็นการพัฒนาโปรเจกต์ใหญ่ แต่เนื่องจากเขาทำพื้นที่ใหม่ที่เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาเลยวางนโยบายพื้นที่สีเขียวว่าจะให้เป็นอย่างไรได้ ซึ่งฝั่งรัฐบาลก็มีพื้นที่สีเขียวหลักของแต่ละโซนที่เขาจะพัฒนา ในขณะเดียวกันเอกชนที่จะได้พื้นที่ในการพัฒนาโครงการของตัวเอง และต้องมีหน้าที่พัฒนาพื้นที่สีเขียวแปะหน้าโครงการตัวเองด้วย ทำให้เกิดระบบเน็ตเวิร์กของพื้นที่สีเขียว เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มที่เอกชนเป็นคนลงทุน ซึ่งทุกอย่างจะเกิดจากการลงทุน ก็คือรัฐบาลลงทุนให้พื้นที่ ส่วนเอกชนก็ต้องลงทุนค่าก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าดูแลอะไรพวกนี้ เขาทำกันเป็นระบบ เป็นจริงเป็นจัง ไม่ใช่เป็นการขอความช่วยเหลือ มันเป็นกฎเลย แล้วก็วินวินกันทุกฝ่าย

“เอาตรง ๆ ถ้าประเทศที่เจริญแล้วเรื่องพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องของรัฐ รัฐที่มีคุณภาพเขาก็จะแชร์เรื่องพื้นที่สาธารณะกัน ถ้ากำลังมันไม่พอ ใครช่วยได้ก็อยากให้ช่วย ตอนนี้ในไทยหลาย ๆ โครงการเอกชนเขาก็อยากช่วยและมีทำไปบ้างแล้ว แต่สิ่งเดียวคือต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เราไม่มีพื้นที่นะ ถึงเราจะไม่มีพื้นที่ทำสวนขนาดใหญ่ แต่เรามีพื้นที่ราชการที่ล้อมรั้วทั้งหมด เรามีพื้นที่ใต้ทางด่วนที่ประชาชนก็เริ่มได้ใช้ มีของเอกชนที่เปิดรั้วให้ได้ แต่ต้องเปลี่ยนข้อกฎหมาย ถ้ารัฐใส่ใจก่อน อะไรก็ทำได้ มันแค่ Mindset และสุดท้ายมันจะต้องดี อันนี้คือสิ่งที่เราเชื่อ”

นี่คงเป็นคำตอบที่สนับสนุนว่า พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องของ ‘ใคร’ บ้าง

ทางเดินสาธารณะรางวัลระดับโลกฝีมือภูมิสถาปนิกไทย ที่สร้างความชีวิตชีวาใหม่ให้ย่านและสร้างประโยชน์ให้ผู้คน
ทางเดินสาธารณะรางวัลระดับโลกฝีมือภูมิสถาปนิกไทย ที่สร้างความชีวิตชีวาใหม่ให้ย่านและสร้างประโยชน์ให้ผู้คน

ภาพ : TROP : terrains + open space

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)